การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3104 (LAW3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 250,000 บาท ต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์
ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี จึงมีคําสั่งโอนคดีไปยัง
ศาลแขวงอุดรธานี

Advertisement

คําสั่งโอนคดีของศาลจังหวัดอุดรธานีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ
คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมี พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 250,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณ เป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็น ราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 250,000 บาท ดังนั้นจึงทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจ พิจารณาพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

 

ข้อ 2. นายทองแท้ฟ้องว่านางแม้นวาดทําสัญญาเช่ารถยนต์กับนายทองแท้ (รถยนต์ราคา 300,000 บาท) โดยตกลงเช่าเป็นเวลาสามเดือน ค่าเช่า 100,000 บาท เมื่อถึงกําหนดคืนรถยนต์ นางแม้นวาดไม่ยอม
ส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้ ขอให้ศาลพิพากษาให้นางแม้นวาดส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้
ต่อมานางแม้นวาดยื่นคําให้การว่ารถยนต์เป็นของนางแม้นวาดโดยนางแม้นวาดได้ซื้อรถยนต์จาก
นายทองแท้แล้ว นางแม้นวาดจึงไม่ต้องคืนรถยนต์ให้นายทองแท้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ
ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวงตามมาตรา 26 แต่อย่างไรก็ดีผู้พิพากษาคนหนึ่ง ย่อมมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของ ศาลนั้น ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 25 เว้นแต่ถ้าเป็นผู้พิพากษาประจําศาลจะไม่มีอํานาจตามมาตรา 25 (3) (4) หรือ (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองแท้ฟ้องว่านางแม้นวาดทําสัญญาเช่ารถยนต์กับนายทองแท้ (รถยนต์ราคา 300,000 บาท) เมื่อถึงกําหนดคืนรถยนต์ นางแม้นวาดไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้ ขอให้ ศาลพิพากษาให้นางแม้นวาดส่งมอบรถยนต์คืนนายทองแท้นั้น คําฟ้องให้ส่งมอบทรัพย์คืนนั้น โดยหลักแล้วถือว่า เป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมไม่มีอํานาจในการพิจารณาพิพากษา จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางแม้นวาดได้ยื่นคําให้การว่ารถยนต์เป็นของนางแม้นวาด โดยนางแม้นวาดได้ซื้อรถยนต์จากนายทองแท้แล้ว นางแม้นวาดจึงไม่ต้องคืนรถยนต์ให้นายทองแท้ การที่นางแม้นวาดได้ให้การโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของนางแม้นวาด คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดี ที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ และเมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาท ไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น ผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามมาตรา 25 (4)

สรุป ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาคดีนี้ได้

 

ข้อ 3. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นายเอกกับนายหนึ่ง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดและผู้พิพากษาประจําศาล เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเอก ไต่สวนมูลฟ้องลําพังคนเดียว เห็นว่าคดีนี้ไม่มีมูล ดังนี้ ถ้านายเอก

(ก) นําสํานวนไปให้นายหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกันกรณีหนึ่ง

(ข) นําสํานวนไปให้นายโทผู้พิพากษาตรวจสํานวนทําคําพิพากษายกฟ้อง แต่นายโทป่วยต้องพัก
รักษาตัวที่โรงพยาบาล นายตรีเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากนายโทจึงนําสํานวนมาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 กรณีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือ
คดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด
ไว้ในมาตรา 30 แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีนายเอกกับนายหนึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัด และผู้พิพากษาประจําศาล เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีนั้น ย่อมถือว่าเป็น องค์คณะที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 และในวันไต่สวนมูลฟ้องนั้น นายเอกได้ไต่สวนมูลฟ้อง เพียงลําพังคนเดียวก็ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะตามมาตรา 25 (3) ได้กําหนดไว้ว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจของ ศาลนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีอัตราโทษเท่าใดก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเอกผู้พิพากษาคนเดียวได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่าคดีนั้น ไม่มีมูลและเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง และคดีดังกล่าวมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษเกินกว่า อัตราโทษตามมาตรา 25 (5) นั้น กรณีนี้ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น เมื่อนายเอกเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง นายเอกจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 29 (3) กล่าวคือ นายเอกจะต้องนําสํานวนคดีนั้นไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วยคําพิพากษานั้นจึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ดังกล่าว ถ้านายเอก

(ก) จะนําสํานวนไปให้นายหนึ่งตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกันนั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้ว่านายหนึ่งจะเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีดังกล่าวก็ตาม แต่
นายหนึ่งไม่ได้ร่วมในการพิจารณาและไต่สวนมูลฟ้องในคดีนั้นแต่อย่างใด นายหนึ่งจึงลงลายมือชื่อเพื่อทําคําพิพากษามายกฟ้องคดีนั้นไม่ได้

(ข) นําสํานวนไปให้นายโทผู้พิพากษาตรวจสํานวนทําคําพิพากษายกฟ้อง หรือเมื่อนายโทป่วย ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายตรีผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากนายโทนําสํานวนมาตรวจและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อมีเหตุจําเป็นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (1) ดังกล่าวนั้น ผู้ที่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้อง ร่วมกับนายเอกนั้นจะต้องเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้น ตามมาตรา 29 (3) เมื่อนายโท หรือนายตรีมิใช่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จึงไม่มีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องร่วมกับนายเอกได้

สรุป ทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement