การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสุเทพได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวเพลินที่กรุงเทพมหานคร นายอุทัยบิดาของนายสุเทพได้ทําสัญญาหมั้นนางสาวเพลินกับนางอรสาผู้เป็นมารดาด้วยแหวนเพชร 1 วง ที่ต่างจังหวัด โดย นายสุเทพและนางสาวเพลินไม่ทราบ ต่อมานางสาวเพลินไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรส แต่นายสุเทพ ต้องการจดทะเบียนสมรสจึงต้องการฟ้องให้นางสาวเพลินจดทะเบียนสมรสด้วยตามสัญญาหมั้น ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ถ้านางสาวเพลินไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรส นายอุทัยจะฟ้อง เรียกค่าทดแทนจากนางสาวเพลินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั่น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่ อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอุทัยบิดาของนายสุเทพได้ทําสัญญาหมั้นนางสาวเพลินกับนางอรสา ผู้เป็นมารดาด้วยแหวนเพชร 1 วงนั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว การหมั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ ตามมาตรา 1439 ประกอบมาตรา 1440

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัย มีว่า นายสุเทพจะฟ้องให้นางสาวเพลินจดทะเบียนสมรสด้วยตาม สัญญาหมั้นได้หรือไม่ เห็นว่าตามมาตรา 1438 กฎหมายได้กําหนดไว้ว่า การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาล บังคับให้สมรสได้ ดังนั้น นายสุเทพจึงไม่สามารถฟ้องให้นางสาวเพลินจดทะเบียนสมรสด้วยได้

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัย มีว่า ถ้านางสาวเพลินไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรส นายอุทัยจะฟ้อง เรียกค่าทดแทนจากนางสาวเพลินได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน กรณีผิดสัญญาหมั่นตามมาตรา 1439 ประกอบกับมาตรา 1440 นั้น จะต้องเป็นคู่สัญญาหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคแรก เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า

นางสาวเพลินไม่ใช่คู่สัญญาหมั้น นายอุทัยจึงไม่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวเพลินตามมาตรา 1439 และมาตรา 1440 ได้ นายอุทัยต้องไปฟ้องเอากับนางอรสามารดาของนางสาวเพลินซึ่งเป็นคู่สัญญาหมั้น

สรุป นายสุเทพจะฟ้องให้นางสาวเพลินจดทะเบียนสมรสด้วยตามสัญญาหมั้นไม่ได้ และถ้า นางสาวเพลินไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรส นายอุทัยจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวเพลินไม่ได้เช่นกัน

 

ข้อ 2 นายชาติชายจดทะเบียนสมรสกับนางสมศรีแม่หม้าย แต่ความจริงยังไม่ได้หย่ากับสามี ต่อมาเมื่อทราบความจริง ปู่ของนายชาติชายต้องการให้ทําการสมรสใหม่ แต่นางสมศรีได้หนีไปก่อน จึงไม่ได้ ทําการหย่ากัน นายชาติชายต้องการทําให้ปู่พอใจจึงทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวสมส่วน โดย มีข้อตกลงกันว่าจะไม่มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาและจะหย่ากันหลังจากนั้นปีเศษ ปู่นายชาติชาย ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 ไร่ ให้นายชาติชาย และนายชาติชายได้รางวัลสลากกินแบ่งอีกห้าล้านบาท เช่นนี้ การสมรสระหว่างนายชาติชายกับนางสมส่วนจะมีผลอย่างไร และทรัพย์สินต่าง ๆ จะเป็น ของใครบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1458 “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดง การยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1498 “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทํามาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็น สมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติชายจดทะเบียนสมรสกับนางสมศรี โดยที่นางสมศรียังไม่ได้ หย่ากับสามี ย่อมถือเป็นการสมรสซ้อนอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 การสมรสระหว่างนายชาติชายกับนางสมศรี จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 และเมื่อนายชาติชายได้ทําการสมรสกับนางสาวสมส่วนอีก โดยหลักย่อม สามารถทําได้ ไม่ถือเป็นการสมรสซ้อน เพราะการสมรสครั้งแรกตกเป็นโมฆะแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายชาติชายจดทะเบียนสมรสกับนางสาวสมส่วน โดยมีข้อตกลงกันว่า จะไม่มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาและจะหย่ากันหลังจากนั้นปีเศษ ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1458 ที่กําหนดให้ การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น การสมรสระหว่างนายชาติชายกับ นางสาวสมส่วนจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

เมื่อการสมรสระหว่างนายชาติชายกับนางสาวสมส่วนตกเป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่เกิดความสัมพันธ์ ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น ที่ดิน 2 ไร่ ที่นายชาติชายได้รับมาจากปู่ อันเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (3) และรางวัลจากสลากกินแบ่ง 5 ล้านบาท ที่นายชาติชายได้รับระหว่างสมรส อันถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชาติชายแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1498 วรรคสอง ที่กําหนดว่า เมื่อการสมรสตกเป็นโมฆะแล้ว ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาหลังการสมรสคงเป็นของฝ่ายนั้น

สรุป การสมรสระหว่างนายชาติชายกับนางสาวสมส่วนมีผลเป็นโมฆะ และทรัพย์สินต่าง ๆ คือ ที่ดิน 2 ไร่ และรางวัลสลากกินแบ่งจํานวน 5 ล้านบาท จะเป็นของนายชาติชาย

 

ข้อ 3 นายสําราญกับนางรัตนาเป็นสามีภริยากัน ในระหว่างการสมรสบิดานางรัตนาได้ให้พระเครื่อง 1 องค์กับนางรัตนา และนางรัตนาได้ให้แก่นายสําราญ ต่อมานายสําราญได้ให้แก่นายเพชรซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ที่นับถือ นายสําราญโชคดีถูกรางวัลจากสลากกาชาด 1 ล้านบาท จึงนําไปเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ 1 ห้อง ไว้ทําการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อตอนเกษียณอายุ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางรัตนาแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนางรัตนาจะบอกล้างการให้พระเครื่องกับนายเพชร และขอให้ศาลเพิกถอนการเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ” มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือ พื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ นางรัตนาจะบอกล้างการให้พระเครื่องกับ นายเพชรได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นางรัตนาได้รับพระเครื่อง 1 องค์จากบิดา ย่อมเป็นสินส่วนตัวของนางรัตนาตาม มาตรา 1471 (3) เมื่อนางรัตนาได้ให้พระเครื่องที่เป็นสินส่วนตัวแก่นายสําราญ ย่อมถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1459 พระเครื่องจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนายสําราญตามมาตรา 1471 (3) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มา ระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา นายสําราญจึงมีอํานาจจัดการพระเครื่องโดยให้พระเครื่องแก่นายเพชรได้ ตามมาตรา 1473

เมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส แม้ว่านายสําราญได้ให้พระเครื่องดังกล่าวแก่นายเพชรแล้ว นางรัตนาก็ยังคงมีสิทธิบอกล้างการให้พระเครื่องแก่นายเพชรได้ โดยนางรัตนาสามารถบอกล้างในเวลาใดก็ได้ ที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกําหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้อง ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตตามมาตรา 1469 และจากข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า นายเพชรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทําการหรือมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตแต่อย่างใด ดังนั้น นางรัตนาจะบอกล้าง การให้พระเครื่องกับนายเพชรไม่ได้

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยคือ นางรัตนาจะขอให้ศาลเพิกถอนการเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ได้ หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสําราญถูกรางวัลจากสลากกาชาด 1 ล้านบาท ถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะ ถือเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส แต่การที่นายสําราญนําเงินรางวัลไปเช่าซื้ออาคารพาณิชย์โดยไม่ได้รับ ความยินยอมจากนางรัตนานั้นไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 (1) – (8) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด นายสําราญจึงสามารถเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ตามลําพังได้ ดังนั้น นางรัตนาจะขอให้ศาลเพิกถอนการเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ตามมาตรา 1480 ไม่ได้

สรุป นางรัตนาจะบอกล้างการให้พระเครื่องกับนายเพชรไม่ได้ และจะขอให้ศาลเพิกถอน การเช่าซื้ออาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้เช่นกัน

 

ข้อ 4 นายพิจิตรกับนางแก้วฟ้าเป็นสามีภริยากันแต่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง นางแก้วฟ้าจึงได้กลับไปอยู่กับบิดามารดาเป็นเวลา 3 ปี โดยนายพิจิตรได้ขอให้กลับมาอยู่ด้วยกัน แต่นางแก้วฟ้า ก็ยังต้องการอยู่กับบิดามารดาต่อไป ต่อมานางแก้วฟ้าทราบจากเพื่อนว่า นายพิจิตรได้ไปเที่ยว มีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการเป็นบางครั้ง เช่นนี้ นายพิจิตรจะฟ้องหย่านางแก้วฟ้า และนางแก้วฟ้าจะฟ้องหย่านายพิจิตรได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคําสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ นายพิจิตรจะฟ้องหย่านางแก้วฟ้าได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายพิจิตรกับนางแก้วฟ้าซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง นางแก้วฟ้าจึงได้ กลับไปอยู่กับบิดามารดาเป็นเวลา 3 ปีแล้วนั้น ไม่ถือเป็นกรณีที่สามีหรือภริยาจงใจจะทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน หนึ่งปีอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (4) อีกทั้งไม่ถือเป็นกรณีที่สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะ เหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี อันถือเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) แต่อย่างใด เพราะเป็นกรณีที่นางแก้วฟ้ากลับไปอยู่กับบิดามารดาโดยนายพิจิตรได้ขอให้นางแก้วฟ้ากลับมา อยู่ด้วยกัน แต่นางแก้วฟ้าไม่ตกลง จึงไม่ใช่การสมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปีที่จะฟ้องหย่าได้ ดังนั้น นายพิจิตรจะ ฟ้องหย่านางแก้วฟ้าไม่ได้

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยคือ นางแก้วฟ้าจะฟ้องหย่านายพิจิตรได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ นายพิจิตรได้ไปเที่ยวมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการเป็นบางครั้งนั้น ไม่ถือเป็นการร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อันจะถือเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) แต่อย่างใด ดังนั้น นางแก้วฟ้าจะฟ้องหย่านายพิจิตรไม่ได้เช่นกัน

สรุป นายพิจิตรจะฟ้องหย่านางแก้วฟ้าไม่ได้ และนางแก้วฟ้าก็จะฟ้องหย่านายพิจิตรไม่ได้ เช่นกัน

Advertisement