การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3103 (LAW 3003) ป.พ.พ.ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายเมฆได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.ฝน ด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงินสดอีก 2,000,000 บาท และให้สินสอดแก่บิดามารดาของ น.ส.ฝน เป็นเงินสดจํานวน 500,000 บาท น.ส.ฝน ได้ลาออกจากงาน เพราะวางแผนจะแต่งงานและย้ายไปอยู่กับนายเมฆที่ต่างจังหวัด ต่อมา น.ส.ฝน ทราบว่านายเมฆ ได้กลับไปอยู่กินกับ น.ส.ฟ้า คนรักเก่าซึ่งได้เคยเลิกรากันไปแล้ว น.ส.ฝน จึงไม่ต้องการสมรสกับนายเมฆและได้ทําการบอกเลิกสัญญาหมั้นกับนายเมฆ แต่นายเมฆไม่ยอมอ้างว่า น.ส.ฝน ทราบอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนทําการหมั้นว่าตนเคยอยู่กินกับ น.ส.ฟ้า มาก่อน ถ้า น.ส.ฝน ไม่ยอมสมรสด้วย จะฟ้อง น.ส.ฝน ฐานผิดสัญญาหมั้น ส่วน น.ส.ฝน ต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายเมฆและ น.ส.ฟ้า ดังนี้ นายเมฆ และ น.ส.ฝน จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”
มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”
มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1445 “ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.ฝน ด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงินสด อีก 2,000,000 บาทนั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว การหมั้นย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง เมื่อ น.ส.ฝน ได้ลาออกจากงาน เพราะวางแผนจะแต่งงานและย้ายไปอยู่กับนายเมฆที่ต่างจังหวัด ต่อมาภายหลัง การหมั้น น.ส.ฝน ทราบว่านายเมฆได้กลับไปอยู่กินกับ น.ส.ฟ้า คนรักเก่าซึ่งได้เคยเลิกรากันไปแล้ว การที่ น.ส.ฝน ไม่ต้องการสมรสกับนายเมฆ และได้ทําการบอกเลิกสัญญาหมั้นกับนายเมฆนั้น น.ส.ฝน ย่อมสามารถทําได้ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่ามีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 และ เมื่อ น.ส.ฝน มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ตามกฎหมาย นายเมฆจึงไม่สามารถอ้างได้ว่า น.ส.ฝน ผิดสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1439 นายเมฆจึงไม่สามารถฟ้อง น.ส.ฝน ฐานผิดสัญญาหมั้นได้
และเมื่อเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นดังกล่าวนั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้น อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้น ดังนั้น น.ส.ฝน จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายเมฆได้ตามมาตรา 1444 และค่าทดแทนที่ น.ส.ฝน สามารถเรียกจากนายเมฆได้คือค่าทดแทนตามมาตรา 1440
ส่วนกรณีของ น.ส.ฟ้า ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับนายเมฆคู่หมั้นของ น.ส.ฝนนั้น เมื่อ น.ส.ฟ้า ไม่รู้ว่า นายเมฆได้หมั้นกับ น.ส.ฝนแล้ว น.ส.ฝน จึงไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ฟ้าได้ตามมาตรา 1445
สรุป นายเมฆจะฟ้อง น.ส.ฝน ฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
น.ส.ฝน สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายเมฆได้ แต่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ฟ้า ไม่ได้
ข้อ 2 ณ สมรภูมิแห่งหนึ่ง สิบเอกไอ่ได้รู้จักกับ น.ส.กะรัตซึ่งเป็นพยาบาลประจําหน่วย และได้ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันมาตลอดในสนามรบ ทั้งสองเกิดเห็นใจและรักใคร่ชอบพอกัน และต้องการร่วมเป็นร่วมตาย จึงได้แสดงเจตนาสมรสกันต่อหน้าสิบตรีชาคริต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยสิบตรีชาคริต ได้จดแจ้งการแสดงเจตนาขอทําการสมรสของบุคคลทั้งสองไว้ อีก 1 สัปดาห์ต่อมา น.ส.กะรัต ได้เงินรางวัลจากการชนะเลิศการประกวดพยาบาลดีเด่นเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ได้มีการประกาศยุติการรบ สิบเอกไอ่กับ น.ส.กะรัตจึงเดินทางกลับบ้าน และเย็นวันนั้นสิบเอกไอ่ได้ซื้อสร้อยคอทองคํา 2 บาท เพื่อเป็นของขวัญที่ตนได้กลับบ้าน ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ทั้งสองคนจึงได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน โดยแสดงหลักฐานการแสดงเจตนาจะสมรสของตนต่อนายทะเบียน
ขอให้วินิจฉัยว่า
(ก) การสมรสระหว่างสิบเอกไอ่ กับ น.ส.กะรัต มีผลหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย
(ข) เงินรางวัล 50,000 บาท และสร้อยคอทองคํา 2 บาท เป็นของใคร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1460 วรรคหนึ่ง “เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทําการจดทะเบียนสมรสต่อ นายทะเบียนได้ เพราะชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ใน ภาวะการรบหรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทําการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทําการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทําการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทําการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวัน จดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
วินิจฉัย
(ก) ตามอุทาหรณ์ การที่สิบเอกไอ่และ น.ส.กะรัตได้แสดงเจตนาจะสมรสกันนั้น เป็นการสมรส ที่เกิดในภาวะการรบซึ่งถือว่าเป็นการสมรสเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้
ตามนัยของมาตรา 1460 และเมื่อทั้งสองคนได้มีการแสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าสิบตรีชาคริตซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น และสิบตรีชาคริตได้จดแจ้งการแสดงเจตนาขอทําการสมรสของบุคคลทั้งสองไว้ เป็นหลักฐาน และต่อมาทั้งสองคนได้จดทะเบียนสมรสกันภายใน 90 วันนับแต่วันที่อาจทําการจดทะเบียนต่อ นายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานการแสดงเจตนาจะสมรสของตนต่อนายทะเบียน ดังนั้น การสมรสระหว่าง สิบเอกไอ่กับ น.ส.กะรัตจึงมีผลสมบูรณ์ และให้ถือว่าการสมรสมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ ทั้งสองคนแสดงเจตนาจะทําการสมรสกันต่อหน้าสิบตรีชาคริตตามมาตรา 1460 วรรคหนึ่ง
(ข) และเมื่อการสมรสระหว่างสิบเอกไอ่ และ น.ส.กะรัตมีผลสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ดังนั้น การที่ น.ส.กะรัตได้เงินรางวัลจากการชนะเลิศการประกวดพยาบาลดีเด่นเป็นเงิน 50,000 บาท หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และสิบเอกไอ่ได้ซื้อสร้อยคอทองคํา 2 บาท ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เงินรางวัล 50,000 บาท และสร้อยคอทองคํา 2 บาท จึงเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มา ระหว่างสมรส
สรุป
(ก) การสมรสระหว่างสิบเอกไอ่ และ น.ส.กะรัต มีผลสมบูรณ์ และให้ถือว่าการสมรสมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
(ข) เงินรางวัล 50,000 บาท และสร้อยคอทองคํา 2 บาท เป็นสินสมรส
ข้อ 3 นายใหญ่คบหาดูใจกับนางสาวเล็ก ก่อนที่ทั้งสองจะไปจดทะเบียนสมรสกัน นายใหญ่กับนางสาวเล็ก ทําสัญญากันว่า เมื่อสมรสกันแล้วให้นายใหญ่มีอํานาจจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดย นายใหญ่ นางสาวเล็ก และพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อในสัญญานั้น วันต่อมานายใหญ่และนางสาวเล็ก ได้ไปจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสและไม่ได้นําสัญญาดังกล่าวแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส หลังจากนั้นนายใหญ่ถูกปลดออกจากงาน นายใหญ่ได้นําเงินชดเชยจากการออกจากงานจํานวน 500,000 บาท ไปซื้อที่ดิน 1 แปลง โดยใส่ชื่อ นายใหญ่ในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายใหญ่แอบคบกับนางสาวน้อย นางสาวน้อยขอเงินนายใหญ่เพื่อจะลงทุนค้าขาย นายใหญ่นําที่ดินที่ซื้อไว้ไปจดทะเบียนขายฝากกับนายจิ๋วในราคา 500,000 บาท เพื่อนําเงินมาให้นางสาวน้อย นายใหญ่บอกกับนายจิ๋วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตน โดยนางเล็กไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการขายฝากที่ดินนั้น ต่อมานางสาวน้อยได้บอกนางเล็ก ว่าตนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายใหญ่แล้ว และนายใหญ่จะหย่ากับนางเล็กเพื่อมาสมรสกับตน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) นางเล็กจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นางเล็กจะเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้อยโดยที่นางเล็กไม่ประสงค์จะหย่ากับนายใหญ่ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1466 “สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย สองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหา ริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”
มาตรา 1523 วรรคสอง “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้
และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานองชู้สาวก็ได้”
วินิจฉัย
(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายใหญ่กับนางสาวเล็กได้ทําสัญญาก่อนสมรสว่าให้นายใหญ่ มีอํานาจจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งสองไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้นําสัญญาก่อนสมรสดังกล่าวแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ สัญญาก่อนสมรสนั้นจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1466 ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สิน จึงต้อง บังคับตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่นายใหญ่ได้นําเงินชดเชยจากการถูกปลดออกจากงานจํานวน 500,000 บาท ซึ่งเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสไปซื้อที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส เมื่อนายใหญ่นําที่ดินนั้นไปขายฝาก จึงเป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 (1) ที่สามีและภริยา ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนางเล็กไม่ได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการขายฝากที่ดินนั้น นางเล็กย่อมมีสิทธิฟ้องศาลขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายใหญ่ได้บอกนายจิ๋วว่าที่ดินนั้นเป็นของตน และนายจิ๋วไม่ทราบว่า ที่ดินนั้นเป็นสินสมรส จึงถือว่านายจิ๋วซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต และเมื่อนายจิ๋วได้จ่ายเงินค่าที่ดิน ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนให้แก่นายใหญ่ จึงเข้าข้อยกเว้นของมาตรา 1480 ดังนั้น นางเล็กจึงฟ้องศาลให้เพิกถอน สัญญาขายฝากที่ดินไม่ได้
(ข) การที่นางสาวน้อยได้บอกกับนางเล็กว่าตนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายใหญ่แล้ว และนายใหญ่จะหย่ากับนางเล็กเพื่อมาสมรสกับตนนั้น ถือว่านางสาวน้อยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงตนว่า มีความสัมพันธ์กับนายใหญ่ในทํานองชู้สาวแล้ว ดังนั้น นางเล็กจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้อยได้ตาม มาตรา 1523 วรรคสอง โดยที่นางเล็กไม่ต้องหย่ากับนายใหญ่แต่อย่างใด
สรุป (ก) นางเล็กจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินไม่ได้
(ข) นางเล็กสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางสาวน้อยโดยที่นางเล็กไม่ประสงค์จะหย่ากับนายใหญ่ได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ตกลงหย่ากันโดยมีการทําเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อนายไก่และนางไข่ และมีพยานสองคนลงชื่อเป็นพยาน หลังจากนั้นนางไข่ก็ไปอยู่กิน ร่วมกันฉันสามีภริยากับนายดํา และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายแดง ต่อมานายไก่เกิดความหึงหวง บอกให้นางไข่กลับบ้าน นางไข่ปฏิเสธ
(ก) การทําหนังสือหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่ มีผลในทางกฎหมายอย่างไร
(ข) นายไก่จะฟ้องนางไข่ว่ามีชู้ ยกย่องนายดําเป็นสามีอีกคนหนึ่ง โดยการฟ้องหย่าได้หรือไม่
(ค) เด็กชายแดงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายไก่และนางไข่ได้ตกลงหย่ากันโดยมีการทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และมีพยาน 2 คนลงชื่อเป็นพยานนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 แต่เมื่อนายไก่และนางไข่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า การหย่าโดยความยินยอมระหว่างนายไก่และนางไข่จึงยังไม่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 1515)
(ข) การที่นางไข่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายดํานั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นางไข่มีชู้เพราะนางไข่ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่อยู่ ดังนั้น นายไก่ย่อมถือเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1)
(ค) เมื่อนายไก่และนางไข่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เพราะการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง (เนื่องจากการหย่ายังไม่สมบูรณ์) การที่นางไข่มีบุตร 1 คน คือเด็กชายแดง เด็กชายแดงย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนางไข่ตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ เพราะเด็กชายแดงได้เกิดในขณะที่ นางไข่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ตามมาตรา 1536
สรุป (ก) การตกลงหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่มีผลไม่สมบูรณ์
(ข) นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ได้
(ค) เด็กชายแดงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก