การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3103 (LAW 3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายทองมาชอบพอรักใคร่กับนางสาวแพรวได้ตกลงที่จะทําสัญญาหมั้นในวันที่ 1 กันยายน เมื่อถึงวันทําสัญญาหมั้นนายทองมาได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แก่นางสาวแพรว แต่ไม่สามารถนํารถยนต์มามอบให้เป็นของหมั้นตามที่ตกลงกันไว้นายทองมาจึงเขียนสัญญากู้เป็นจํานวนเงิน 500,000 บาท มอบไว้ให้แทนโดยจะส่งมอบให้ภายหลัง นายทองมาและนางสาวแพรวได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา จนนางสาวแพรวตั้งครรภ์ ครั้นอยู่กินกันถึง 7 เดือนเศษก็เกิดทะเลาะกันบ่อยครั้ง นายทองมาจึง แจ้งให้นางสาวแพรวไปทําการจดทะเบียนสมรส แต่นางสาวแพรวไม่ยินยอม นายทองมาจึงฟ้องว่านางสาวแพรวผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นทั้งหมด นางสาวแพรวก็ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ ด้วยว่าเป็นของหมั้นของตน เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) นายทองมาจะฟ้องว่านางสาวแพรวผิดสัญญาหมั้นและให้คืนของหมั้นทั้งหมดได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่นายทองมาชอบพอรักใคร่กับนางสาวแพรว จึงได้ตกลงทําสัญญาหมั้นกันโดยได้ส่งมอบ แหวนเพชรให้แก่นางสาวแพรว แต่ไม่สามารถนํารถยนต์มามอบให้เป็นของหมั้นตามที่ตกลงกันไว้ นายทองมาจึงเขียนสัญญากู้เป็นจํานวนเงิน 5 แสนบาท มอบไว้ให้แทนโดยจะส่งมอบให้ภายหลังนั้น การหมั้นระหว่างนายทองมากับนางสาวแพรวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง เนื่องจากได้มีการส่งมอบทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้น คือ แหวนเพชรให้แก่นางสาวแพรวแล้ว ส่วนเงิน 5 แสนบาท ที่ได้ทําสัญญากู้ไว้นั้น มีเจตนาจะ ให้กันในวันข้างหน้า ไม่ได้มีการส่งมอบให้แก่กันในวันหมั้น เงิน 5 แสนบาท จึงมิใช่ของหมั้นแต่อย่างใด

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายทองมาและนางสาวแพรวได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาจนนางสาวแพรวตั้งครรภ์ และครั้นอยู่กินกันถึง 7 เดือนเศษก็เกิดทะเลาะกันบ่อยครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าทั้งสอง ได้ละเลยไม่นําพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนั้น การที่นายทองมาได้แจ้งให้นางสาวแพรวไปทําการจดทะเบียน สมรสกัน แต่นางสาวแพรวไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรสนั้น นางทองมาจะถือว่านางสาวแพรวผิดสัญญาหมั้น และจะฟ้องเรียกเอาแหวนเพชรซึ่งเป็นของหมั้นคืนจากนางสาวแพรวตามมาตรา 1439 ไม่ได้

(2) การที่นายทองมาทําสัญญากู้เงินมอบไว้แทนรถยนต์นั้น เมื่อเงินจํานวน 5 แสนบาท ตาม สัญญากู้นั้นไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นางสาวแพรวจะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ โดยอ้างว่าเป็นของหมั้นของตนไม่ได้

สรุป

(1) นายทองมาจะฟ้องว่านางสาวแพรวผิดสัญญาหมั้นเพื่อเรียกคืนของหมั้นไม่ได้

(2) นางสาวแพรวจะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้โดยอ้างว่าเป็นของหมั้นของตนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2 นายนิพร อายุ 25 ปี รักกับนางสาวน้ำผึ้ง อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นลูกน้องในบริษัท นายนิพรไม่ต้องการ ให้ใครทราบจึงทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวน้ำผึ้งโดยไม่บอกให้ใครทราบแม้กระทั้งญาติพี่น้อง บิดามารดาของทั้งสองฝ่าย หนึ่งปีต่อมาบิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้งจึงทราบก็ไม่พอใจ เพราะต้องการให้นางสาวน้ำผึ้งทําการสมรสกับนายทองแท่งซึ่งมีฐานะดี จึงต้องการฟ้องให้เพิกถอน การสมรส และเมื่อศาลเพิกถอนการสมรสแล้ว บิดามารดาจะให้ความยินยอมแก่นางสาวน้ำผึ้ง ให้จดทะเบียนสมรสกับนายทองแท่งทันที เช่นนี้

(ก) บิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้ง จะฟ้องขอเพิกถอนการสมรสได้หรือไม่

(ข) การสมรสของนายทองแท่งกับนางสาวน้ำผึ้ง จะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา”

มาตรา 1453 “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทําการสมรสใหม่ได้

ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน…”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1510 “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวใน มาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้ สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์

การฟ้องขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้ ให้มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันทราบการสมรส”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนิพร อายุ 25 ปี รักกับนางสาวน้ำผึ้ง อายุ 18 ปี และได้ทําการจดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่บอกให้ใครทราบแม้กระทั่งญาติพี่น้องบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ นางสาวน้ำผึ้งซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทําการสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา การสมรสระหว่างนายนิพรกับนางสาวน้ำผึ้งจึงเป็นโมฆียะตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 (1) และมาตรา 1509 และกรณีดังกล่าวนั้น

(ก) ถ้าหนึ่งปีต่อมาบิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้งทราบและไม่พอใจ จึงต้องการฟ้องขอเพิกถอน การสมรสระหว่างนายนิพรและนางสาวน้ำผึ้งนั้น บิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้งซึ่งเป็นบุคคลที่อาจให้ความยินยอม ตามมาตรา 1454 ย่อมสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1510 เพราะสิทธิ์เพิกถอนการสมรสยังไม่ระงับเนื่องจากนางสาวน้ำผึ้งยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และไม่ปรากฏว่านางสาวน้ำผึ้งมีครรภ์ อีกทั้ง บิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้งได้ใช้สิทธิฟ้องขอเพิกถอนการสมรสภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสมรสดังกล่าว

(ข) เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสแล้ว การสมรสระหว่างนายนิพรและนางสาวน้ำผึ้ง ย่อมสิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 และนางสาวน้ำผึ้งจะทําการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสิ้นสุดการสมรสนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 310 วัน ตามมาตรา 1453 ดังนั้น การที่บิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้งได้ยินยอมให้นางสาวน้ำผึ้ง จดทะเบียนสมรสกับนายทองแท่งทันทีนั้น ย่อมเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1453 แต่อย่างไรก็ดี เมื่อการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1453 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด ดังนั้น การสมรสของนายทองแท่งกับนางสาวน้ำผึ้งจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป

(ก) บิดามารดาของนางสาวน้ำผึ้ง สามารถฟ้องขอเพิกถอนการสมรสระหว่างนายนิพรกับ นางสาวน้ำผึ้งได้

(ข) การสมรสของนายทองแท่งกับนางสาวน้ำผึ้งมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3 นายกิตติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนก่อนที่นายกิตติจะมาทําการจดทะเบียนสมรส กับนางสาวพิมพ์พา ต่อมานายกิตติได้ทะเลาะเบาะแว้งกับนางสาวพิมพ์พาจึงได้แยกกันอยู่และวางแผนไว้ว่าจะหย่ากัน นายกิตติจึงได้ใช้ชีวิตอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือน เมื่อนายกิตติ ได้เดินทางไปทํางานในสถานที่ต่าง ๆ นางสาวดวงเดือนได้เดินทางไปด้วย โดยพักห้องพักเดียวกัน รับประทานอาหารพร้อม ๆ กับเพื่อน ๆ ของนายกิตติตลอดเวลา นางสาวพิมพ์พาต้องการฟ้องหย่า แต่นายกิตติต่อสู้ว่านางสาวพิมพ์พาทราบมาก่อนแล้วว่า นายกิตติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ นางสาวดวงเดือนก่อนที่จะมาจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิมพ์พาประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง

ถ้านางสาวพิมพ์พาไม่ต้องการฟ้องหย่านายกิตติ แต่ต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดวงเดือน เช่นนี้ ทั้งสองกรณีท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้…”

มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็น เหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1523 วรรคสอง “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานองชู้สาวก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายกิตติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนก่อนที่นายกิตติจะมาทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิมพ์พา โดยที่นางสาวพิมพ์พาก็ทราบมาก่อนแล้วว่านายกิตติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนก่อนที่จะมาจดทะเบียนสมรสกับตนนั้น มิได้หมายความว่าภายหลังจากการสมรสกันแล้ว

นางสาวพิมพ์พาได้ยินยอมให้นายกิตติอยู่กันฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนได้อีกแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายกิตติได้ทะเลาะเบาะแว้งกับนางสาวพิมพ์พาจึงได้แยกกันอยู่และวางแผนไว้ว่าจะหย่ากัน แล้วนายกิตติจึงได้ใช้ชีวิตอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนอีกนั้น นางสาวพิมพ์พาย่อมสามารถฟ้องหย่านายกิตติได้ตาม มาตรา 1516 (1) เพราะเป็นกรณีที่ถือได้ว่านายกิตติสามีได้ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาและเป็นชู้ และร่วมประเวณีกับ ผู้อื่นเป็นอาจิณ นายกิตติจะอ้างมาตรา 1517 วรรคหนึ่งที่ว่านางสาวพิมพ์พาได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า นายกิตติได้ อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดวงเดือนมาก่อน มาต่อสู้นางสาวพิมพ์พาไม่ได้

(2) การที่นายกิตติได้เดินทางไปทํางานในสถานที่ต่าง ๆ โดยนางสาวดวงเดือนได้เดินทางไปด้วย และได้พักห้องเดียวกัน รวมทั้งรับประทานอาหารพร้อม ๆ กับเพื่อน ๆ ของนายกิตติตลอดเวลานั้น นางสาวพิมพ์พา ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดวงเดือนได้ แม้ว่านางสาวพิมพ์พาไม่ต้องการฟ้องหย่านายกิตติเพราะถือว่านางสาวดวงเดือนได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับนายกิตติสามีของนางสาวพิมพ์พาในทํานองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง

สรุป นางสาวพิมพ์พาสามารถฟ้องหย่านายกิตติได้ตามมาตรา 1516 (1) หรือถ้าไม่ต้องการ ฟ้องหย่านายกิตติก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวดวงเดือนได้ตามมาตรา 1523 วรรคสอง

 

ข้อ 4 ในปี พ.ศ. 2561 นายอํานาจได้ยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวพิทยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 นายอํานาจได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิทยา และเมื่ออยู่กินฉันสามีภริยากันแล้วนายอํานาจ ยิ่งหลงรักนางสาวพิทยามากขึ้น จึงยกที่ดินเปล่าอีก 1 แปลงให้แก่นางสาวพิทยาในปี พ.ศ. 2563 โดยนางสาวพิทยาขอให้ทําสัญญาระบุไว้ว่าห้ามไม่ให้บอกล้างสัญญาที่ยกที่ดินดังกล่าวไว้ด้วย ต่อมานางสาวพิทยาได้ทําสัญญาให้นายพิชัยเช่าบ้านและที่ดินมีกําหนดเวลา 10 ปี โดยได้รับค่าเช่า เป็นจํานวนเงิน 1 ล้านบาท และได้ทําสัญญาให้นายเจริญเช่าที่ดินเปล่ามีกําหนดเวลา 20 ปี โดยได้รับค่าเช่าเป็นจํานวนเงิน 2 ล้านบาท นายอํานาจไม่พอใจนางสาวพิทยาที่นําไปให้เช่าโดย ไม่ปรึกษาสามีก่อน จึงบอกล้างการยกบ้านและที่ดิน และที่ดินเปล่า และต้องการฟ้องเพิกถอน การทําสัญญาเช่าทั้งสองสัญญาเช่า แต่นางสาวพิทยาต่อสู้ว่าได้ทําสัญญาระบุว่าห้ามไม่ให้บอกล้าง สัญญายกที่ดินดังกล่าวไว้ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้

แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายอํานาจได้ยกบ้านและที่ดินให้แก่นางสาวพิทยาในปี พ.ศ. 2561 ก่อนที่จะได้ จดทะเบียนสมรสกันในปี พ.ศ. 2562 นั้น ถือว่าบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของนางสาวพิทยา เพราะเป็นทรัพย์สินที่นางสาวพิทยามีอยู่ก่อนสมรสตามมาตรา 1471 (1) และแม้ว่าบ้านและที่ดินดังกล่าว นางสาวพิทยาจะได้มาจากการยกให้โดยเสน่หาจากนายอํานาจ และเมื่อไม่ปรากฏว่านางสาวพิทยาประพฤติเนรคุณ ต่อนายอํานาจผู้ให้แต่อย่างใด ดังนั้น นายอํานาจจะเรียกถอนคืนการให้ตามมาตรา 531 ไม่ได้

การที่นางสาวพิทยาได้ทําสัญญาให้นายพิชัยเช่าบ้านและที่ดินมีกําหนด 10 ปี โดยได้รับค่าเช่า เป็นจํานวนเงิน 1 ล้านบาทนั้น นางสาวพิทยาย่อมสามารถทําสัญญาให้เช่าได้เองโดยลําพัง โดยไม่ต้องปรึกษา นายอํานาจสามี เนื่องจากเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินส่วนตัวตามมาตรา 1473 ดังนั้น นายอํานาจจะฟ้องเพิกถอน การทําสัญญาเช่ากรณีนี้ไม่ได้

(2) การที่นายอํานาจยกที่ดินเปล่าให้แก่นางสาวพิทยาอีก 1 แปลงในปี พ.ศ. 2563 นั้น ถือว่า เป็นการทําสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 และมีผลทําให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของนางสาวพิทยาตามมาตรา 1471 (3) นางสาวพิทยาจึงสามารถทําสัญญาให้นายเจริญเช่าได้โดยลําพังตาม มาตรา 1473 ดังนั้น นายอํานาจจึงไม่สามารถเพิกถอนการทําสัญญาเช่ากรณีนี้ได้เช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการให้ที่ดินเปล่าดังกล่าวแก่นางสาวพิทยาเป็นสัญญาระหว่างสมรส ดังนั้น นายอํานาจย่อมสามารถบอกล้างการยกที่ดินเปล่า 1 แปลงให้แก่นางสาวพิทยาได้ตามมาตรา 1469 นางสาวพิทยาจะต่อสู้ว่าได้มีการทําสัญญาระบุว่าห้ามไม่ให้บอกล้างการยกที่ดินดังกล่าวไว้ไม่ได้ เพราะข้อตกลง ดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย (มาตรา 1469) โดยชัดแจ้ง ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้น นายอํานาจจึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวได้

สรุป นายอํานาจมีสิทธิบอกล้างการยกที่ดินเปล่าให้แก่นางสาวพิทยาได้ แต่จะบอกล้างการ ยกบ้านและที่ดินไม่ได้ และจะฟ้องเพิกถอนการทําสัญญาเช่าทั้งสองสัญญาเช่าไม่ได้ด้วย

Advertisement