การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสุชาติทำสัญญาหมั้น น.ส.รำไพด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง ต่อมานายสุชาติมีหนี้สินมากขึ้นจากการทำการค้า ทำให้ น.ส.รำไพไม่ต้องการสมรสด้วย น.ส.รำไพจึงไปจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพ ในวันที่ 3 มกราคม ในระหว่างสมรสนายสุเทพมอบรถยนต์ 1 คันให้นางรำไพโดยเสน่หา ต่อมานายสุเทพทราบว่านางรำไพมีคู่หมั้นอยู่แล้วแต่กลับมาจดทะเบียนสมรสกับตนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง นายสุเทพจึงจดทะเบียนหย่ากับนางรำไพตามกฎหมายเช่นนี้
ก. ถ้านายสุชาติต้องการฟ้องนางรำไพเพื่อเรียกแหวนหมั้นคืน และเรียกค่าทดแทนด้วยในวันที่ 20 กรกฎาคม จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ภายหลังการหย่าหนึ่งเดือน นายสุเทพต้องการเอารถยนต์ที่ให้นางรำไพไว้คืน แต่นางรำไพไม่ให้คืน จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
มาตรา 1447/1 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1447/2 วรรคแรก สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
วินิจฉัย
ก. การที่นายสุชาติทำสัญญาหมั้น น.ส.รำไพ ด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง จึงถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เมื่อได้ความว่า น.ส.รำไพ ไปจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 นายสุชาติจึงสามารถฟ้องเรียกของหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439 และฟ้องเรียกค่าทดแทนในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้ ตามมาตรา 1440(1) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางรำไพจดทะเบียนสมรสวันที่ 3 มกราคม แต่นายสุชาติมาฟ้องเรียกของหมั้นและค่าทดแทนในวันที่ 20 กรกฎาคม นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะสิทธิเรียกร้องค่าทดแทน และสิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 นั้น จะต้องฟ้องในอายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 1447/1 วรรคแรก และมาตรา 1447/2 วรรคแรก
ข. เมื่อนางรำไพจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพ และในระหว่างสมรสการที่นายสุเทพมอบรถยนต์ให้นางรำไพโดยเสน่หานั้นถือเป็นการทำสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 เพราะเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำต่อกันในระหว่างสมรส ซึ่งตามมาตรา 1469 กำหนดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างสัญญาเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ดังนั้นภายหลังการหย่า 1 เดือน นายสุเทพสามารถบอกล้างสัญญาการให้รถยนต์และให้นางรำไพคืนรถยนต์ได้ตามมาตรา 1469
สรุป
ก. นายสุชาติไม่สามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นและค่าทดแทนได้
ข. นายสุเทพสามารถเรียกให้นางรำไพคืนรถยนต์ได้