การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสมจิตได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวสุดา แต่ได้มาชอบพอรักใคร่กับนางสาวพิมพาจึงได้ทําสัญญาหมั้นด้วยแหวนเพชร 1 วง ทอง 10 บาท และจะยกที่ดินให้เป็นสินสอด 1 แปลง แก่บิดามารดาของนางสาวพิมพา ต่อมาก่อนจดทะเบียนสมรสบิดาและมารดาของนางสาวพิมพา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสมจิตจึงตกลงจะยกที่ดินที่เป็นสินสอดให้แก่นางสาวพิมพา เพื่อตอบแทนการสมรสแทน เมื่อนายสมจิตทําการจดทะเบียนสมรสแล้วไม่ยินยอมโอนที่ดินให้ เช่นนี้ นางสาวพิมพาต้องการเรียกร้องให้โอนที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมี พฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมจิตได้ทําสัญญาหมั้นกับนางสาวพิมพาด้วยแหวนเพชร 1 วง ทอง 10 บาทนั้น การหมั้นระหว่างนายสมจิตและนางสาวพิมพาย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และการที่นายสมจิตตกลงจะยกที่ดินให้เป็นสินสอด 1 แปลงแก่บิดามารดาของนางสาวพิมพานั้น ถือเป็นสินสอด ตามมาตรา 1437 วรรคสาม
แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่นายสมจิตและนางสาวพิมพาจะจดทะเบียนสมรสกันนั้น บิดามารดาของ นางสาวพิมพาได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสมจิตจึงตกลงจะยกที่ดินที่เป็นสินสอดให้แก่นางสาวพิมพาเพื่อ ตอบแทนการสมรสแทนนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่จดทะเบียนสมรสนางสาวพิมพาไม่มีบิดามารดาหรือ ผู้ปกครอง และตามกฎหมายสินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทน การที่หญิงยอมสมรส
ดังนั้น ที่ดินที่นายสมจิตตกลงจะยกให้แก่นางสาวพิมพาจึงไม่ใช่สินสอดตามมาตรา 1437 วรรคสาม และไม่มีความผูกพันตามสัญญาสินสอดที่จะต้องโอนที่ดินให้แก่ฝ่ายหญิง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ถือว่าเป็นสินสอดแต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาที่สามารถบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ์
ดังนั้น เมื่อนายสมจิตได้ทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิมพาแล้วแต่ไม่ยินยอมโอนที่ดินให้ นางสาวพิมพา จึงสามารถเรียกร้องให้โอนที่ดินได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3442/2526)
สรุป นางสาวพิมพาสามารถเรียกร้องให้นายสมจิตโอนที่ดินให้แก่ตนได้