การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายพริษฐ์อายุ 43 ปี มีบุตรนอกสมรสชื่อนายนราธิปอายุ 15 ปี และได้จดทะเบียนรับนายก้องเกียรติอายุ 20 ปี เป็นบุตรบุญธรรมอีกหนึ่งคน นายนราธิปและนายก้องเกียรติถูกนายนาคินทร์ขับรถยนต์ โดยประมาทชนได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหนึ่งเดือนเต็ม นายพริษฐ์ยื่นฟ้อง ต่อศาลขอให้ลงโทษนายนาคินทร์ฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายนราธิปและนายก้องเกียรติ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์ หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(2) ผู้เสียหาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนราธิปและนายก้องเกียรติถูกนายนาคินทร์ขับรถยนต์โดยประมาท ชนได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหนึ่งเดือนเต็มนั้น ถือว่านายนราธิปและนายก้องเกียรติเป็นผู้ได้รับ ความเสียหายเนื่องจากการกระทําความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส อันถือว่า นายนราธิปและนายก้องเกียรติเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง และเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) การที่นายพริษฐ์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายนาคินทร์ฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายนราธิปและ นายก้องเกียรติได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยคดีนี้ ดังนี้

กรณีนายพริษฐ์ฟ้องแทนนายนราธิป เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายนราธิปมีอายุ 15 ปี ถือว่า เป็นผู้เยาว์ และนายพริษฐ์เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายนราธิป นายพริษฐ์จึงไม่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ของนายนราธิป จึงไม่สามารถจัดการแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(1) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายพริษฐ์ เป็นบิดาตามความเป็นจริงของนายนราธิป ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุพการี ดังนั้นเมื่อนายนราธิปถูกนายนาคินทร์ กระทําจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ นายพริษฐ์จึงมีอํานาจจัดการแทนนายนราธิป ผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(2)

ดังนั้นกรณีที่นายพริษฐ์ได้ยื่นฟ้องคดีแทนนายนราธิป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะประทับ ฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

กรณีนายพริษฐ์ฟ้องแทนนายก้องเกียรติ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายก้องเกียรติเป็นบุตร บุญธรรมของนายพริษฐ์ นายพริษฐ์จึงไม่เป็นผู้บุพการีของนายก้องเกียรติ เพราะผู้บุพการีนั้นต้องถือตามความ เป็นจริง ดังนั้นนายพริษฐ์จึงไม่มีอํานาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(2)

และแม้ว่านายพริษฐ์จะเป็นบิดาบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนายก้องเกียรติ ซึ่งถือว่า เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนายก้องเกียรติ แต่นายพริษฐ์ก็ไม่สามารถจัดการแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(1) เพราะนายก้องเกียรติผู้เสียหายมีอายุ 20 ปี พ้นภาวะผู้เยาว์แล้ว

ดังนั้นกรณีที่นายพริษฐ์ได้ยื่นฟ้องคดีแทนนายก้องเกียรติ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะ พิพากษายกฟ้องคดีนี้ .

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะประทับฟ้องคดีของนายพริษฐ์ที่ยืนฟ้องแทนนายนราธิปไว้พิจารณา พิพากษาต่อไป และจะพิพากษายกฟ้องคดีของนายพริษฐ์ที่ยืนฟ้องแทนนายก้องเกียรติ

 

ข้อ 2. นายมากได้ออกเช็คจํานวนเงิน 100,000 บาท มอบให้นายน้อยเพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 นายน้อยได้นําเช็คเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ปรากฏว่า ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันนั้นโดยอ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย วันรุ่งขึ้นนายน้อยจึงไปแจ้งความ ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็คฯ ด้วยเป็นความผิดที่ยอมความได้ แต่ได้กล่าวแจ้งในตอนท้ายว่า “ขอแจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ โดยจะไปขอติดต่อกับนายมากเพื่อขอเงินคืนก่อน” และนายน้อยจึง กลับไป ต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2555 นายน้อยไม่สามารถติดต่อกับนายมากได้ จึงมาแจ้งต่อ พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่า “ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด” ทางพนักงาน สอบสวนจึงได้สอบสวนต่อไปจนเสร็จสํานวนและส่งให้พนักงานอัยการ เช่นนี้การสอบสวนของ พนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 .

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่ จะมีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ

มาตรา 125 “เมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ได้กระทําการ สืบสวนหรือสอบสวนไปทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดตามคําขอร้องให้ช่วยเหลือ ให้ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานนั้น จัดการให้มีคําร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 123 และ 124”

วินิจฉัย

โดยหลัก ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ คือผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นตามอุทาหรณ์นายน้อยจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 244)

ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือ ความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นจะต้องมีการร้องทุกข์โดยชอบก่อน พนักงานสอบสวนจึงจะมีอํานาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายน้อยนําเช็คไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแต่เพียงว่า “ขอแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ โดยจะไปขอติดต่อกับนายมากเพื่อขอเงินคืนก่อน” นั้น ถือว่า นายน้อยยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ จึงยังไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(7)

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อต่อมานายน้อยได้มาแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่า “ขอให้พนักงาน สอบสวนดําเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด” ถือว่านายน้อยได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ จึงกลายเป็น คําร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 125 ประกอบมาตรา 2(7) และนายน้อยได้กระทํา ภายในระยะเวลาที่ยังไม่ครบกําหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทําความผิด ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงมี อํานาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การสอบสวนของพนักงานสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายดําตบกกหูข้างซ้ายของนายขาวไปหนึ่งที่ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับนายดําฐานใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 และในวันรุ่งขึ้น นายดําได้นําเงินมาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายขาวเป็นจํานวน 5,000 บาท โดยพนักงานสอบสวนได้บันทึกในรายงานประจําวันว่า คู่กรณีตกลงกันได้ และนายขาวไม่ติดใจ ดําเนินคดีกับนายดําอีกต่อไปทั้งทางแพ่งและอาญา แต่ต่อมาอีกสองวัน นายขาวเจ็บภายใน แพทย์ตรวจพบว่า แก้วหูแตกและมีอาการติดเชื้อทําให้หูข้างที่ถูกตบหนวก นายขาวจึงฟ้องนายดํา เป็นจําเลยในคดีอาญาในความผิดฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 นายดําต่อสู้ว่า คดีเลิกกันไปแล้วและนายขาวยังได้ตกลง ยอมความกันไม่ติดใจดําเนินคดีกับนายดําอีกต่อไป ดังนี้ หากท่านเป็นศาลจะประทับฟ้องคดีนี้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(2) ผู้เสียหาย” มาตรา 37 “คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือ คดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับ อย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชําระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว”

มาตรา 38 “ความผิดตามอนุมาตรา (2) (3) และ (4) แห่งมาตราก่อน ถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าว ในมาตรานั้นเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจําคุกให้มีอํานาจเปรียบเทียบดังนี้

(1) ให้กําหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะทิ้งชําระ ถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น เมื่อผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามจํานวนที่เจ้าหน้าที่กําหนดให้ภายในเวลาอันสมควร แต่ไม่เกินสิบห้าวันแล้ว คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียน หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชําระเงินค่าปรับ ภายในเวลากําหนดในวรรคก่อนให้ดําเนินคดีต่อไป

(2) ในคดีมีค่าทดแทน ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ ให้เจ้าหน้าที่ กะจํานวนตามที่เห็นควรหรือตามที่คู่ความตกลงกัน”

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย

(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําตบกกหูข้างซ้ายของนายขาวไปหนึ่งที และพนักงานสอบสวน ได้เปรียบเทียบปรับนายดําฐานใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งถือเป็นความผิดลหุโทษนั้น เมื่อนายดําได้นําเงินมาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายขาวแล้ว โดย หลักแล้วคดีอาญาย่อมเลิกกันตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 37(2) ประกอบมาตรา 38 และมีผลทําให้คดีอาญาดังกล่าว ระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(3)

แต่เมื่อต่อมาปรากฏว่า นายขาวเจ็บภายในหู เพราะแก้วหูแตกและมีอาการติดเชื้อทําให้หู ข้างที่ถูกตบหนวก ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทําของนายดํา นายดําจึงมีความผิดฐาน ทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ พนักงานสอบสวน

จึงไม่มีอํานาจเปรียบเทียบปรับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 38 ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับนายดํา ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีอาญาดังกล่าวจึงยังไม่เลิกกันตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 37(2) สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(3)

ส่วนการที่รายงานประจําวันบันทึกว่า นายขาวไม่ติดใจดําเนินคดีกับนายดําต่อไปนั้นก็ไม่มียร ทําให้สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(2) เพราะคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นเมื่อนายขาวเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24) ซึ่งมีอํานาจฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28(2) ได้ฟ้อง นายดําเป็นจําเลยในคดีอาญาข้อหาดังกล่าว ศาลจึงประทับฟ้องคดีนี้ได้

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะประทับฟ้องคดีนี้

 

ข้อ 4. ร.ต.อ.วีกิจวางแผนให้นายณัฐเดชสายลับไปล่อซื้อนางสาวมะละกอซึ่งเป็นหญิงค้าประเวณี โดยมีการถ่ายสําเนาธนบัตรที่จะใช้ในการล่อซื้อไว้ เมื่อนายณัฐเดชพบนางสาวมะละกอยืนอยู่หน้าบ้าน ซึ่งเปิดไว้เพื่อการค้าประเวณี นายณัฐเดชได้เดินเข้าไปหานางสาวมะละกอ นางสาวมะละกอเห็น นายณัฐเดชจึงได้เสนอราคาต่อนายณัฐเดช หากนายณัฐเดชต้องการร่วมประเวณีกับตน นายณัฐเดช ได้ตกลงตามราคาที่นางสาวมะละกอเสนอมาและได้เปิดห้องพักเพื่อใช้ร่วมประเวณี โดยห้องพักนั้น เป็นห้องพักที่ใช้สําหรับให้หญิงค้าประเวณีทําการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป เมื่อนายณัฐเดชได้ ร่วมประเวณีกับนางสาวมะละกอแล้ว นายณัฐเดชได้ใช้ธนบัตรเดียวกับที่ได้ถ่ายสําเนาไว้เพื่อใช้ใน การล่อซื้อจ่ายเงินตามจํานวนที่ตกลงกับนางสาวมะละกอ หลังจากนั้นนายณัฐเดชได้ส่งสัญญาณ ให้ ร.ต.อ.วีกิจเปิดประตูเข้ามา เมื่อ ร.ต.อ.วีกิจเข้ามาในห้องพักก็พบนายณัฐเดชกับนางสาวมะละกอ นอนอยู่บนเตียงสองต่อสองและเห็นว่าข้างตัวนางสาวมะละกอมีธนบัตรเดียวกับที่ได้ถ่ายสําเนาไว้ เพื่อใช้ในการล่อซื้อวางอยู่ ร.ต.อ.วีกิจจึงทําการจับนางสาวมะละกอทันทีโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ.วีกิจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคแรก “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้….”

วินิจฉัย

โดยหลัก การจับกุมผู้กระทําผิดของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ถ้าเป็นการจับในที่รโหฐาน การที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับ คือ ต้องมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้โดยไม่ต้อง มีหมายจับ และต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ ต้องมีอํานาจในการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น

กรณีตามอุทาหรณ์ ห้องพักที่ใช้สําหรับให้ผู้หญิงค้าประเวณีทําการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป ถือได้ว่าเป็นที่สาธารณสถานไม่ใช่ที่รโหฐาน การจับจึงไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน หาก ร.ต.อ.วีกิจมีอํานาจในการจับก็สามารถเข้าไปจับใน ห้องพักที่ใช้สําหรับให้หญิงค้าประเวณีทําการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไปได้โดยไม่จําเป็นต้องมีหมายค้นหรือ ไม่จําเป็นต้องมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 92 หรือไม่จําเป็นต้อง ขอความยินยอมโดยความสมัครใจจากเจ้าของที่รโหฐานให้เข้าไปในที่รโหฐานนั้น

ดังนั้น เมื่อนายณัฐเดชสายลับที่ให้ไปร่วมประเวณีกับนางสาวมะละกอซึ่งเป็นหญิงค้าประเวณี ได้ส่งสัญญาณให้ ร.ต.อ.วีกิจเปิดประตูเข้ามา เมื่อ ร.ต.อ.วีกิจเข้ามาในห้องพักก็พบนายณัฐเดชกับนางสาวมะละกอ นอนอยู่บนเตียงสองต่อสอง และเห็นว่าข้างตัวนางสาวมะละกอมีธนบัตรเดียวกับที่ได้ถ่ายสําเนาไว้เพื่อใช้ในการ ล่อซื้อวางอยู่ เป็นการพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่านางสาวมะละกอได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ อันเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78(1) ประกอบมาตรา 80 วรรคแรก ร.ต.อ.วีกิจจึงมีอํานาจในการ จับนางสาวมะละกอได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 69/2535) ดังนั้น การจับของ ร.ต.อ.วีกิจ จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับของ ร.ต.อ.วีกิจจึงชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ การใช้สายลับล่อซื้อหญิงค้าประเวณีเป็นเพียงการกระทําเท่าที่จําเป็นและสมควร ในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทําความผิดของนางสาวมะละกอตามอํานาจในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 2(10) ชอบที่เจ้าพนักงานตํารวจจะกระทําการได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจําเลยพร้อมด้วย พยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจําเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 81/2551)

Advertisement