การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสุชาติรักใคร่นางสาวมณีวรรณจึงตกลงว่าจะทําสัญญาหมั้นด้วยทอง 10 บาท โดยจะทําสัญญาหมั้นในวันที่ 1 เมษายน เมื่อถึงวันทําสัญญาหมั้นนายสุชาติไม่สามารถหาทองมาหมั้นได้ จึงไปทําสัญญาเช่าทอง 10 บาทจากนายพิชัยมาใช้ในงานทําสัญญาหมั้นเพื่อไม่ให้เสียฤกษ์การหมั้น นายสุชาติกับนางสาวมณีวรรณจึงทําพิธีสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยา ต่อมานางสาวมณีวรรณ ได้ทวงทอง 10 บาท แต่นายสุชาติไม่มีให้ นางสาวมณีวรรณจึงได้รับทําสัญญาหมั้นกับนายทะนง ซึ่งได้มอบทอง 5 บาทให้เป็นของหมั้น แต่ทําสัญญากู้ 100,000 บาทไว้ให้แทนเพราะหาเงินของหมั้น ไม่ทัน เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วนางสาวมณีวรรณก็ทวงถามเงิน 100,000 บาท แต่นายทะนงไม่ให้ เช่นนี้ นายสุชาติจะฟ้องนางสาวมณีวรรณที่ผิดสัญญาหมั้นได้หรือไม่ และนางสาวมณีวรรณจะฟ้อง เรียกเงิน 100,000 บาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 นายสุชาติจะฟ้องนางสาวมณีวรรณว่าผิดสัญญาหมั้นได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่ นายสุชาติรักใคร่นางสาวมณีวรรณจึงตกลงว่าจะทําสัญญาหมั้นด้วยทอง 10 บาท เมื่อถึงวันทําสัญญาหมั้นนายสุชาติ ไม่สามารถหาทองมาหมั้นได้จึงไปทําสัญญาเช่าทองจากนายพิชัยมาใช้ในงานทําสัญญาหมั้นเพื่อไม่ให้เสียฤกษ์ การหมั้น แล้วนายสุชาติกับนางสาวมณีวรรณได้ทําพิธีสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากันนั้น การหมั้นระหว่าง นายสุชาติกับนางสาวมณีวรรณย่อมมีผลไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเนื่องจากไม่ได้มีการส่งมอบทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง

เมื่อการหมั้นระหว่างนายสุชาติกับนางสาวมณีวรรณมีผลไม่สมบูรณ์ การผิดสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1439 จึงมิอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การที่นางสาวมณีวรรณไปทําสัญญาหมั้นกับนายทะนง นายสุชาติ จะฟ้องนางสาวมณีวรรณฐานผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ไม่ได้

2 นางสาวมณีวรรณจะฟ้องเรียกเงิน 100,000 บาทจากนายทะนงได้หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่นางสาวมณีวรรณได้ทําสัญญาหมั้นกับนายทะนง โดยนายทะนงได้มอบทอง 5 บาทให้เป็นของหมั้น ส่วนเงิน 100,000 บาท นายทะนงได้ทําสัญญากู้ไว้ให้แทนเพราะหาเงินไม่ทันนั้น การหมั้นระหว่างนางสาวมณีวรรณกับ นายทะนงย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง เนื่องจากได้มีการส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นคือทอง 5 บาทให้แก่หญิงแล้ว ส่วนเงิน 100,000 บาทที่ได้ทําเป็นสัญญากู้ไว้นั้น มีเจตนาจะให้กันใน วันข้างหน้าไม่ได้มีการส่งมอบให้แก่กันในวันทําสัญญาหมั้น เงิน 100,000 บาทจึงมิใช่ของหมั้นอันจะตกได้แก่หญิง เมื่อมีการสมรสแล้ว ดังนั้น การที่นายทะนงไม่ให้เงิน 100,000 บาทแก่นางสาวมณีวรรณ นางสาวมณีวรรณ จึงฟ้องเรียกเงิน 100,000 บาทในฐานะเป็นของหมั้นจากนายทะนงไม่ได้

สรุป นายสุชาติจะฟ้องนางสาวมณีวรรณฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้ และนางสาวมณีวรรณ จะฟ้องเรียกเงิน 100,000 บาทจากนายทะนงไม่ได้

 

ข้อ 2. นายพนมได้แอบชอบนางสาวแตงไทย แต่นางสาวแตงไทยไม่ได้ชอบนายพนม นายพนมจึงได้ทําการข่มขู่อันถึงขนาดว่าจะทําร้ายบิดามารดาและนางสาวแตงไทยทําให้นางสาวแตงไทยกลัวจึงทําการ จดทะเบียนสมรสด้วยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อมาในเดือนเมษายน 2560 นางสาวแตงไทย ตั้งครรภ์ นายพนมดีใจมากจึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่งให้นางสาวแตงไทยโดยถูกต้องตาม กฎหมายและปล่อยให้นางสาวแตงไทยไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2560 มารดาของนางสาวแตงไทยได้ไปฟ้องศาลให้ตัดสินเพิกถอนการสมรสของลูกสาว หลังจากนั้น 1 เดือนนางสาวแตงไทยจึงได้จดทะเบียนสมรสกับนายเนติซึ่งรักและยินยอมเลี้ยงดูด้วยความเต็มใจ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทานเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1502 “การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1507 “ถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้น จะไม่ทําการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับ เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่ วันที่พ้นจากการข่มขู่”

มาตรา 1508 วรรคหนึ่ง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสําคัญผิดตัวหรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สําคัญผิดตัว หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้”

มาตรา 1511 “การสมรสที่ได้มีคําพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คําพิพากษา ถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอน การสมรสนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

ประเด็นที่ 1 การสมรสระหว่างนายพนมกับนางสาวแตงไทยจะมีผลอย่างไร เห็นว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ในการสมรสนั้นถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสเพราะถูกข่มขู่ โดยการข่มขู่นั้น ถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่มีการข่มขู่เช่นนั้น คู่สมรสก็จะไม่ทําการสมรสด้วย การสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายพนมได้ทําการข่มขู่อันถึงขนาดให้นางสาวแตงไทยทําการจดทะเบียนสมรสด้วยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 การสมรสระหว่างนายพนมกับนางสาวแตงไทยจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1507

ประเด็นที่ 2 มารดาของนางสาวแตงไทยจะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 1508 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดตัวบุคคลที่มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆยะเพราะถูกข่มขู่ ไว้โดยเฉพาะแล้ว คือ ตัวคู่สมรสที่ถูกข่มขู่เท่านั้นที่จะขอเพิกถอนได้ ดังนั้น มารดาของนางสาวแตงไทยซึ่งมิใช่ ตัวคู่สมรสเอง จะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้ตามมาตรา 1508 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ 3 การสมรสระหว่างนายเนติกับนางสาวแตงไทยจะมีผลอย่างไร เห็นว่า เมื่อการ สมรสระหว่างนายพนมกับนางสาวแตงไทยยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากการสมรสที่เป็นโมฆียะนั้นจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้น (มาตรา 1502) และการสมรสที่ได้มีคําพิพากษาให้เพิกถอน ก็จะถือว่า สิ้นสุดลงในวันที่คําพิพากษาถึงที่สุด (มาตรา 1511) ดังนั้น การที่นางสาวแตงไทยได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายเนติ ย่อมถือเป็นการสมรสซ้อนและมีผลเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495

สรุป การสมรสระหว่างนายพนมกับนางสาวแตงไทยมีผลเป็นโมฆียะ

มารดาของนางสาวแตงไทยจะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้ และการสมรสระหว่างนายเนติกับนางสาวแตงไทยมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3. นายสมคิดได้ชอบพออยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัย ต่อมานายสมคิดได้มาชอบพอรักใคร่กับนางสาววีณาและได้จดทะเบียนสมรสกัน นางสาววีณาก็ทราบว่านายสมคิดได้ใช้ชีวิตกับนางสาวอรทัย มาก่อนที่จะสมรสกับตน นายสมคิดได้ทะเลาะเบาะแว้งกับนางสาววีณาทําให้นายสมคิดกลับไป มีความสัมพันธ์และอยู่กินฉันชู้สาวกับนางสาวอรทัยอีก นางสาววีณาไม่พอใจจึงให้ทนายความฟ้องหย่า ต่อศาล นางสาวอรทัยจึงไปไหนมาไหนกับนายสมคิดกับเพื่อน ๆ ของตนและที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ของนายสมคิดด้วย โดยแสดงตนว่าเป็นภริยาของนายสมคิด นางสาววีณาจึงต้องการฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากนางสาวอรทัย เช่นนี้ นางสาววีณาฟ้องหย่านายสมคิดแต่นายสมคิดต่อสู้ว่านางสาววีณา ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วจึงฟ้องหย่าไม่ได้ และนางสาววีณาต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวอรทัย

ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็น เหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1523 วรรคสอง “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทํานองชู้สาว ก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานอง ชู้สาวก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายสมคิดได้ชอบพออยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัยมาก่อน แล้วต่อมา นายสมคิดได้มาชอบพอรักใคร่กับนางสาววีณาและได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยที่นางสาววีณาก็ทราบว่านายสมคิด ได้ใช้ชีวิตกับนางสาวอรทัยมาก่อนที่จะสมรสกับตนนั้น มิได้หมายความว่าภายหลังจากการสมรสกันแล้วนางสาววีณา ได้ยินยอมให้นายสมคิดอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัยได้อีกแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายสมคิดได้ทะเลาะเบาะแว้ง กับนางสาววีณาทําให้นายสมคิดกลับไปมีความสัมพันธ์และอยู่กินกันฉันชู้สาวกับนางสาวอรทัยอีก นางสาววีณา ย่อมสามารถฟ้องหย่านายสมคิดได้ตามมาตรา 1516 (1) เพราะถือว่าเป็นกรณีที่นายสมคิดสามีได้ยกย่องผู้อื่น ฉันภริยาและเป็นชู้และร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ นายสมคิดจะอ้างมาตรา 1517 วรรคหนึ่งที่ว่านางสาววีณา ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าตนเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัยมาก่อน จึงฟ้องหย่าไม่ได้มาต่อสู้นางสาววีณาไม่ได้

2 การที่นางสาวอรทัยไปไหนมาไหนกับนายสมคิดกับเพื่อน ๆ ของตนและที่เป็นเพื่อน ร่วมงานของนายสมคิดด้วยโดยแสดงตนว่าเป็นภริยาของนายสมคิดนั้น นางสาววีณาภริยาของนายสมคิดย่อม มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยได้ตามมาตรา 1523 วรรคสอง แม้ว่านายสมคิดกับนางสาววีณา จะมีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ก็ตาม

สรุป

นางสาววีณาฟ้องหย่านายสมคิดได้ แต่นายสมคิดจะต่อสู้ว่านางสาววีณาได้ทราบอยู่ ก่อนแล้วจึงฟ้องหย่าไม่ได้นั้นหาได้ไม่

นางสาววีณาสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยได้

 

ข้อ 4. นายสมบัติกับนางราตรีเป็นสามีภริยากัน ก่อนจดทะเบียนสมรสกันทั้งสองได้ร่วมกันดําเนินกิจการร้านขายของโดยนางราตรีได้ลงทุน 400,000 บาท และนายสมบัติได้ลงทุน 400,000 บาท ต่อมา ได้ทําการจดทะเบียนสมรสกัน ในระหว่างที่อยู่กินกันฉันสามีภริยานั้นนางราตรีได้ยกที่ดินให้แก่ นายสมบัติโดยถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมานางราตรีทราบว่านายสมบัติได้แอบอุปการะเลี้ยงดู นางสาวต้อยติ่งเป็นภริยา นางราตรีเห็นว่านายสมบัติไม่ซื่อสัตย์กับตนจึงขอบอกล้างเอาที่ดินคืน

เช่นนี้

(ก) นายสมบัติอ้างว่าไม่ได้มีเหตุเนรคุณที่จะถอนคืนการให้ได้ ถูกต้องหรือไม่ และ

(ข) กิจการร้านขายของในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันเป็นทรัพย์สินอะไร และเมื่อจดทะเบียนหย่ากัน

กิจการร้านขายของมีราคาทั้งหมด 1 ล้าน 2 แสนบาท จะต้องแบ่งอย่างไร เพราะเหตุใดจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1533 “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายสมบัติกับนางราตรีเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และในระหว่างที่ อยู่กินกันฉันสามีภริยานั้นนางราตรีได้ยกที่ดินให้แก่นายสมบัติโดยถูกต้องตามกฎหมาย การยกที่ดินให้แก่นายสมบัติ ดังกล่าวถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 และมีผลทําให้ที่ดินนั้นเป็นสินส่วนตัวของนายสมบัติตาม มาตรา 1471 (3) และเมื่อเป็นสัญญาระหว่างสมรส นางราตรีภริยาย่อมมีสิทธิบอกล้างเพื่อเอาที่ดินนั้นคืนได้ ในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ดังนั้น การที่ นายสมบัติอ้างว่าไม่ได้มีเหตุเนรคุณที่จะถอนคืนการให้ได้นั้น จึงไม่ถูกต้อง

(ข) ก่อนจดทะเบียนสมรสกันนั้น การที่นายสมบัติกับนางราตรีได้ร่วมกันดําเนินกิจการ ร้านขายของโดยนางราตรีลงทุน 400,000 บาท และนายสมบัติได้ลงทุน 400,000 บาทนั้น เงินจํานวนดังกล่าว ถือเป็นสินส่วนตัวตามสัดส่วนของการลงทุนตามมาตรา 1471 (1) และเมื่อมีการจดทะเบียนหย่ากันสินส่วนตัว ดังกล่าวไม่ต้องแบ่งกัน แต่ส่วนที่ทํามาหาได้ร่วมกันให้ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เมื่อมีการ จดทะเบียนหย่ากันให้แบ่งคนละครึ่งตามมาตรา 1533 ดังนั้น เมื่อในขณะจดทะเบียนหย่ากัน กิจการร้านขายของ มีราคา 1 ล้าน 2 แสนบาท เมื่อหักสินส่วนตัวออกฝ่ายละ 400,000 บาท จึงเหลือเป็นสินสมรสจํานวน 400,000 บาท จึงต้องแบ่งสินสมรสกันคนละ 200,000 บาท

สรุป

(ก) นางราตรีสามารถบอกล้างเอาที่ดินคืนจากนายสมบัติได้ ข้ออ้างของนายสมบัติ ที่ว่าไม่ได้มีเหตุเนรคุณที่จะถอนคืนการให้ได้นั้น ไม่ถูกต้อง

(ข) ในส่วนของเงินทุนคนละ 400,000 บาทในกิจการร้านขายของเป็นสินส่วนตัว แต่ในส่วนที่ทํามาหาได้ร่วมกันจํานวน 400,000 บาท เป็นสินสมรส เมื่อจดทะเบียนหย่ากันให้แบ่งสินสมรสคนละ 200,000 บาท

 

Advertisement