การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย” อยากทราบว่าการสลักหลังไม่ขาดสายนั้นมีลักษณะอย่างไร
(ข) จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงินและได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ต่อมาพุธได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 905 คำว่า “การสลักหลังไม่ขาดสาย” หมายถึง การสลักหลังโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ โดยมีการโอนติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน กล่าวคือ เป็นการโอนตั๋วเงินที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 และมาตรา 920 นั่นเอง
ตัวอย่างการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย
หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่สาม ต่อมาสามได้สลักหลังและส่งมอบให้สี่ และสี่ได้สลักหลังและส่งมอบให้ห้า ดังนี้ เมื่อตั๋วเงินได้มาอยู่ในความครอบครองของห้า ห้าย่อมเป็นผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลัง และเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เพราะห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย
และตามตัวอย่างข้างต้น หากการที่สามสลักหลังโอนให้สี่นั้น เป็นการสลักหลังลอย (เป็นการสลักหลังที่ไม่มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง) และสี่ได้ส่งมอบตั๋วเงินต่อให้ห้า ดังนี้ ก็ถือว่าห้าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และให้ถือว่าห้าได้ตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอยของสาม
หมายเหตุ บุคคลที่ได้ตั๋วเงินมาจากการสลักหลังลอยนั้น มีสิทธิโอนตั๋วเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ หรืออาจจะส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ตามมาตรา 920) แต่ถ้าได้ตั๋วมาจากการสลักหลังเฉพาะ (มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง) หากโอนตั๋วด้วยการส่งมอบ จะทำให้การสลักหลังขาดสายทันที เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคแรก นั้น กำหนดให้โอนกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน
มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์ แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้บุญมีจ่ายเงินโดยระบุชื่อทองไทยเป็นผู้รับเงิน และได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก เพื่อเป็นการมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ย่อมเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้น การโอนต่อไปจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919 คือ สลักหลังและส่งมอบ จะโอนตั๋วแลกเงินโดยการส่งมอบให้แก่กันเพียงอย่างเดียวเท่านั้นตามมาตรา 918 ไม่ได้ เพราะกรณีมิใช่ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ
และสำหรับการที่ทองไทยสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดตั๋วแลกเงินนั้น ถือเป็นการโอนตั๋วแลกเงินโดยการสลักหลังเฉพาะตามมาตรา 917 วรรคแรก ซึ่งการโอนต่อไปจะต้องสลักหลังและส่งมอบเช่นเดียวกันตามมาตรา 917 วรรคแรก เมื่อปรากฏว่าต่อมาพุธเพียงแต่ส่งมอบตั๋วแลกเงินชำระหนี้ให้แก่พฤหัสเท่านั้น หาได้มีการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยไม่ ทั้งกรณีก็ไม่ใช่การโอนตั๋วแลกเงินต่อจากผู้สลักหลังลอยแต่อย่างใด ดังนั้น การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
สรุป การโอนตั๋วแลกเงินจากทองไทยไปยังพุธเป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การโอนตั๋วแลกเงินจากพุธไปยังพฤหัสเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย