การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2113 (LAW 2013) ป.พ.พ.ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ให้นักศึกษาตอบคําถามต่อไปนี้พร้อมหลักกฎหมายประกอบ

(ก) ผู้ทรงที่รับโอนตั๋วแลกเงินมาโดยสลักหลังลอย สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชําระหนี้ให้กับ เจ้าหนี้ของตนได้อย่างไรบ้าง

(ข) มีนา สั่งเมษา จ่ายตั๋วแลกเงินให้พฤษภา ขีดฆ่าหรือผู้ถือออก หลังจากนั้นต่อมา พฤษภาได้ลง ลายมือชื่อด้านหลังตั๋วแลกเงินโดยไม่ได้ระบุข้อความใด ๆ และส่งมอบชําระหนี้ให้แก่มิถุนา ในมูลหนี้กู้ยืม ก่อนถึงวันกําหนดใช้เงินตามตัว มิถุนานําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ส่งมอบชําระหนี้ ให้แก่กรกฎา โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อและไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ เลย

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า มิถุนาโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ถูกต้องตามวิธีการกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินหรือไม่

ธงคําตอบ

(ก) “การสลักหลังลอย” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้ทรง) ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ ได้โอนตั๋วแลกเงินนั้น ต่อไปโดยการลงลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน โดยไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับ ประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้ง มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลัง ตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า สลักหลังลอย”

ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วแลกเงินมาโดยการสลักหลังลอย สามารถโอนตั๋วแลกเงินเพื่อชําระหนี้ให้กับ เจ้าหนี้ของตนได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 920 วรรคสอง ดังนี้คือ

(1) กรอกชื่อของตนเองหรือชื่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งลงไปในที่ว่าง

(2) สลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีก จะเป็นสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย หรือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่กรอกชื่อของบุคคลอื่นลงในที่ว่าง หรือโดยไม่สลักหลัง แต่อย่างใดก็ได้ (กล่าวคือ สามารถโอนตั๋วเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟัง เป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มีนาสั่งเมษาจ่ายตั๋วแลกเงินให้พฤษภา และขีดฆ่าหรือผู้ถือออกนั้นถือว่า ตั๋วแลกเงินฉบับนี้เป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ ต่อมาการที่พฤษภาได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินโดย ไม่ได้ระบุข้อความใด ๆ และส่งมอบชําระหนี้ให้แก่มิถุนาในมูลหนี้กู้ยืมนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่พฤษภาได้สลักหลังลอย และส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่มิถุนา การโอนตั๋วแลกเงินระหว่างพฤษภาและมิถุนาจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง และให้ถือว่ามิถุนาเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วแลกเงินฉบับนี้ มาจากการสลักหลังลอยของพฤษภา และสามารถที่จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบ หรือจะโอนตั๋วแลกเงินต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่กรอกข้อความใด ๆ และไม่สลักหลังใด ๆ ก็ได้ตามมาตรา 920 วรรคสอง

ดังนั้น การที่มิถุนาได้นําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ส่งมอบชําระหนี้ให้แก่กรกฎาโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อและไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ เลยนั้น มิถุนาย่อมสามารถกระทําได้ตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) การโอนตั๋วแลกเงิน ฉบับนี้ของมิถุนาจึงถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้

สรุป การโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ของมิถุนาถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงิน

ข้อ 2 (ก) การอาวัลตั๋วแลกเงินจะต้องทําอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย และผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน จะอาวัลตั๋วได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ข) บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่า คําว่า “หรือผู้ถือ” บางเขนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชําระหนี้หลักสี่ แต่หลักสี่ให้บางเขนนําตั๋วไปให้บางบัวทองรับรองก่อน บางเขนจึงเอาตัวไปให้บางบัวทองเขียนข้อความว่า “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋ว หลักสี่จึงยอมรับชําระหนี้ ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตัวจากบางเขน เมื่อถึงกําหนดใช้เงินหลักสี่ได้นําตัวไปให้บางบัวทองใช้เงิน แต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเห็นว่าตนได้ชําระหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายไปแล้ว

อนึ่งหลักสี่ได้ทําคําคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าหลักสี่ผู้ทรงจะฟ้อง บางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ก) “การอาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วแลกเงิน” คือ การที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว ในตั๋วแลกเงินนั้นได้เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งตั๋วแลกเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลได้หลายคน และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด ถ้าไม่ระบุไว้ ให้ถือว่าเป็นการรับประกันผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคสี่)

การอาวัลตั๋วแลกเงินจะถูกต้องตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้คือ

1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวน อื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลซึ่งการ อาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่)

2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความใด ๆ ไว้ ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

สําหรับผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น สามารถที่จะอาวัลตั๋วแลกเงินได้ แต่ผู้จ่ายจะต้องเขียนข้อความว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้นลงไว้ในตั๋วแลกเงิน และต้องระบุไว้ด้วยว่า
อาวัลผู้ใดจะลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ (มาตรา 939)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 938 “ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ําประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจํานวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล

อ้นอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้”

มาตรา 939 “อันการรับอาวัลย่อมทําให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจําต่อ

ในการนี้จึงใช้ถ้อยคําสํานวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดทํานองเดียวกันนั้นและลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่งเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัลแล้ว
เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ตั๋วแลกเงินที่บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายสั่งให้บางบัวทองเป็นผู้จ่ายเงินแก่บางเขน และขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” นั้น เป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ เมื่อบางเขนสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่หลักสี่ มีบางบัวทองผู้จ่ายเขียนข้อความว่า “ยินดีเป็นประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้า ของตั๋วแลกเงินนั้น ข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความที่มีความหมายทํานองเดียวกันกับคําว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่บางบัวทองได้เข้ามาอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นแล้ว และเป็นการอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่าย ตาม มาตรา 938 และมาตรา 939 ดังนั้น เมื่อถึงกําหนดใช้เงินหลักสีได้นําตั๋วแลกเงินนั้นไปยื่นให้บางบัวทองใช้เงิน แต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงิน หลักสี่ซึ่งเป็นผู้ทรงย่อมสามารถฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับ ดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับอาวัลบางขวางผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 900 และมาตรา 940 วรรคหนึ่ง

สรุป หลักสี่ผู้ทรงสามารถฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้รับ อาวัลบางขวางผู้สั่งจ่าย

ข้อ 3 มานีออกตั๋วแลกเงินสั่งมานะจ่ายเงินให้แก่ปิติหรือตามคําสั่ง ปิติสลักหลังลอยโอนให้วีระ ซึ่งวีระก็ได้ทําการสลักหลังลอยไว้ แต่ยังไม่ทันได้โอนก็ถูกเพชรขโมยตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไปโดยที่ วีระไม่ทันรู้ตัว และเพชรได้ทําการโอนตั๋วให้ชูใจ โดยการส่งมอบ ชูใจก็ได้สลักหลังชําระหนี้ให้แก่ จันทร ในมูลหนี้ซื้อขายสวนทุเรียน ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าหากวีระเรียกตั๋วแลกเงินจากจันทรคืน จันทรจะต้องคืนตั๋วเงินหรือไม่ และจันทรเป็นผู้ทรงโดยชอบในตั๋วเงินดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด จงวินิจฉัยตามหลักกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงิน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย

อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตัวตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใด ลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้น มิได้มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิง อาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตัวนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงิน เอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึง ถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่มานีออกตั๋วแลกเงินสั่งมานะให้จ่ายเงินแก่ปีติหรือตามคําสั่ง ปิติสลักหลังลอย ให้แก่วีระ และวีระสลักหลังลอยไว้ แต่ยังไม่ได้โอนตัวนั้นให้ใครนั้น เมื่อเพชรได้ขโมยตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไป และได้โอนโดยการส่งมอบให้แก่ชูใจ และชูใจได้สลักหลังชําระหนี้ให้แก่จันทร ย่อมถือว่าชูใจซึ่งเป็นผู้สลักหลัง และลงลายมือชื่อรายที่สุดเป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินจากการสลักหลังลอยของวีระ (และถือว่าวีระได้ไปซึ่งตั๋วเงินจาก การสลักหลังลอยของปิติ) ตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจันทรได้รับตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังของชูใจ

จันทรย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นบุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง จากการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย อีกทั้งถึงแม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 905 จะอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 ก็ตาม แต่บทบัญญัติมาตรา 1008 จะใช้บังคับกับตั๋วเงินที่มีการลงลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดย ปราศจากอํานาจเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ไม่ปรากฏว่ามีการลงลายมือชื่อปลอม หรือเป็นลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจแต่อย่างใด

เมื่อจันทรเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้รับตั๋วเงินนั้นไว้ในครอบครอง และแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังที่ไม่ขาดสาย อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจันทรได้ตั๋วเงินนั้นมาโดยทุจริต หรือได้มาด้วย ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนั้น จันทรจึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 905 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อวีระเรียกตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวคืนจากจันทร จันทรจึงไม่จําเป็นต้องคืนตั๋วเงินนั้นให้แก่วีระ

สรุป จันทรเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวีระเรียกตั๋วเงินนั้นคืน จันทรไม่ต้องคืนตั๋วเงินนั้นให้แก่วีระ

Advertisement