ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
(ก) การรับรองนั้นต้องทำอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย
(ข) บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” บางเชนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้หลักสี่ แต่หลักสี่ให้บางเขนนำตั๋วไปให้บางบัวทองรับรอง บางเขนจึงเอาตั๋วไปให้บางบัวทองเขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” และลงลายมือชื่อของบางบัวทองไว้ด้านหลังของตั๋ว หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วจากบางเขน เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงินหลักสี่ได้นำตั๋วไปให้บางบัวทองใช้เงิน แต่บางบัวทองปฏิเสธการใช้เงิน อนึ่งหลักสี่ได้ทำคำคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องบางบัวทองให้รับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 931 การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า “รับรองแล้ว” หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว
อธิบาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 931 ได้กำหนดวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินไว้ว่า ผู้จ่ายอาจจะทำการรับรองตั๋วแลกเงินได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้ คือ
1 ผู้จ่ายเขียนคำว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นซึ่งมีความหมายเดียวกันเช่นคำว่า “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” เป็นต้น พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของผู้จ่ายไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินนั้น หรือ
2 ผู้จ่ายเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงิน โดยไม่ต้องเขียนข้อความอย่างใดไว้ก็ได้
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 931 การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า “รับรองแล้ว” หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว
มาตรา 937 ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน
วินิจฉัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 931 และมาตรา 937 จะเห็นได้ว่า ผู้จ่ายจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นในฐานะผู้รับรองก็ต่อเมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินนั้นแล้ว โดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น โดยจะเขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้นไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้
แต่ถ้าผู้จ่ายได้ทำการลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงิน แต่ได้กระทำไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการกระทำของผู้จ่ายไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือถือว่าคำรับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บางเขนเอาตั๋วแลกเงินไปให้บางบัวทองรับรอง และบางบัวทองได้เขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” และลงลายมือชื่อของบางบัวทองไว้ที่ด้านหลังของตั๋วนั้น ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการกระทำของบางบัวทองจึงไม่ถือว่าเป็นการรับรอง และเมื่อบางบัวทองปฏิเสธการใช้เงิน หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องให้บางบัวทองรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไม่ได้
สรุป หลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องให้บางบัวทองรับผิดในฐานะผู้รับรองตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวไม่ได้