การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1

(ก)   ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน 

(ข)  บางเขนเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีบางบัวทองเป็นผู้จ่าย  บางขวางเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออกแล้ว  บางเขนจะสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินดังกล่าวเพื่อชำระราคาสินค้าที่ซื้อจากหลักสี่  แต่หลักสี่ให้บางเขนนำตั๋วแลกเงินไปให้บางขวางรับรองก่อน  บางเขนจึงเอาตั๋วแลกเงินไปให้บางขวางเขียนข้อความว่า  “รับรองว่าเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินฉบับนี้จริง”  และลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋วแลกเงิน  หลักสี่จึงยอมรับชำระหนี้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวจากบางเขน  ครั้นตั๋วแลกเงินถึงกำหนดหลักสี่ได้นำตั๋วแลกเงินไปให้บางบัวทองใช้เงิน  แต่บางบังทองปฏิเสธการใช้เงิน  เนื่องจากเห็นว่าตนมิได้เป็นหนี้บางขวางผู้สั่งจ่ายอีกแล้ว  อนึ่งหลักสี่ได้ทำคำคัดค้านไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าหลักสี่ผู้ทรงจะฟ้องไล่เบี้ยบางขวางให้รับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ในฐานะใด

ธงคำตอบ

(ก)     หลักกฎหมาย   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา   900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน  ก็ต่อเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  900 วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  914  ดังนี้คือ

1       ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วแลกเงินในฐานะผู้สั่งจ่าย  ซึ่งในการลงลายมือชื่อนั้น  ผู้สั่งจ่ายอาจจะเขียนชื่อของตนโดยเขียนชื่อตัวและชื่อสกุลหรืออาจจะเขียนเฉพาะชื่อตัวก็ได้  หรืออาจจะเป็นการลงลายเซ็นก็ได้  แต่ที่สำคัญจะต้องเป็นการลงลายมือชื่อไว้จริงๆเท่านั้น  จะใช้เครื่องหมายอื่นๆหรือลายพิมพ์นิ้วมือลงไว้แทนการลงลายมือชื่อไม่ได้  และ

2       เมื่อผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้นำตั๋วนั้นไปยื่นโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แต่ผู้จ่ายไม่ยอมรับรองหรือไม่ยอมจ่ายเงินแล้วแต่กรณี  ดังนี้ผู้สั่งจ่ายจะต้องรับผิดโดยการใช้เงินให้แก่ผู้ทรง  เมื่อผู้ทรงได้ทำถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด  คือได้ทำคำคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

ดังนั้น  ถ้าขาดหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง  เช่น  ผู้สั่งจ่ายไม่ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วแลกเงิน  หรืออาจจะลงลายมือชื่อไว้  แต่เมื่อตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงินผู้จ่ายได้จ่ายเงินแก่ผู้ทรง  ดังนี้  ผู้สั่งจ่ายก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา   900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  927  อันตั๋วแลกเงินนั้น  จะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย  ณ  ที่อยู่ของผู้จ่าย  เพื่อให้รับรองเมื่อไรๆก็ได้

มาตรา  931  การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า  “รับรองแล้ว”  หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น  และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย  อนึ่งแต่เพียงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว

วินิจฉัย

ตามมาตรา  927  ประกอบมาตรา  931  จะเห็นได้ว่าตั๋วแลกเงินนั้นถ้าจะนำไปให้เขารับรองว่าเมื่อถึงกำหนดจะมีการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น  จะต้องนำไปให้ผู้จ่ายรับรองเท่านั้น  ถ้านำไปให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่ายทำการรับรอง  ผู้ที่ทำการรับรองก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรองแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บางเขนซึ่งเป็นผู้รับเงินได้นำตั๋วแลกเงินไปยื่นให้บางขวางรับรอง  เมื่อบางขวางไม่ได้เป็นผู้จ่าย  แต่เป็นผู้สั่งจ่าย  ได้ทำการรับรองโดยเขียนข้อความว่า  “รับรองว่าเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินฉบับนี้จริง”  การกระทำของบางขวางไม่ถือว่าเป็นการรับรองตั๋วแลกเงิน  บางขวางจึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับรองแต่อย่างใด

ดังนั้น  เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนด  บางบัวทองซึ่งเป็นผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน  ดังนี้  หลักสี่ซึ่งเป็นผู้ทรงย่อมสามารถฟ้องให้บางขวางรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายได้  ตามมาตรา  900  ประกอบมาตรา  914  แต่จะฟ้องบางขวางให้รับผิดในฐานะผู้รับรองไม่ได้

สรุป  หลักสี่ผู้ทรงสามารถฟ้องไล่เบี้ยบางขวางให้รับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวได้ในฐานะผู้สั่งจ่าย 

 

ข้อ  2 

(ก)   ให้นักศึกษาอธิบายถึงหลักเกณฑ์ของการเป็น  “ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย”  มาให้เข้าใจ

(ข)  นายดินออกตั๋วแลกเงินสั่งให้นายไฟจ่ายเงินให้แก่ลมเป็นตั๋วแบบระบุชื่อ  ต่อมานายลมนำตั๋วฯนั้นไปสลักหลังลอยชำระหนี้ให้แก่นางสาวฝน  ต่อมานางสาวฝนก็ได้ส่งมอบตั๋วฯนั้นชำระหนี้ให้แก่นางสาวน้ำ  หลังจากนั้นนางสาวน้ำเกิดความสงสัยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในตั๋วฯนี้โดยชอบหรือไม่  จึงมาปรึกษานางสาวฟ้า  ซึ่งนางสาวฟ้าบอกกับนางสาวน้ำมิใช่ผู้มีสิทธิในตั๋วฯนี้  เนื่องจากมีการโอนตั๋วฯมาโดยไม่ถูกต้อง

ดังนี้  คำแนะนำของนางสาวฟ้าที่ให้กับนางสาวน้ำนั้นถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

(ก)     หลักกฎหมาย   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้คือ

1        เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2        ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ  สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3        ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  (ผู้ทรงโดยสุจริต)  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4        ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่ง  การสลักหลังไม่ขาดสาย  หมายถึง  การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  วรรคแรก ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย  อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา  917  วรรคแรก  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา  919  วรรคสอง  การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า  สลักหลังลอย

มาตรา  920  วรรคสอง  ถ้าสลักหลังลอย  ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง  และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อตั๋วแลกเงินที่นายดินออกให้แก่นายลมเป็นตั๋วแบบระบุชื่อ  ดังนั้น  ถ้านายลมจะโอนตั๋วฉบับนี้ต่อให้แก่นางสาวฝน นายลมก็จะต้องโอนให้แก่นางสาวฝนโดยการสลักหลัง  และส่งมอบตามมาตรา  917  วรรคแรก  และการสลักหลังนั้นอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะ  หรือสลักหลังลอยก็ได้  (มาตรา  919  วรรคสอง) 

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายลมได้โอนตั๋วฉบับนี้ให้แก่นางสาวฝนโดยการสลักหลังลอย  ดังนั้นเมื่อนางสาวฝนต้องการโอนตั๋วฉบับนี้ต่อไปให้แก่นางสาวน้ำ  นางสาวฝนก็สามารถโอนตั๋วต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา  917  วรรคแรก  หรืออาจจะโอนตั๋วต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สลักหลังใดๆก็ได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง(3)  และเมื่อปรากฏว่านางสาวฝนได้โอนตั๋วฉบับนี้ให้แก่นางสาวน้ำโดยการส่งมอบ  จึงถือว่านางสาวน้ำได้รับโอนตั๋วมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย  โดยถือว่านางสาวน้ำได้รับโอนตั๋วมาจากการสลักหลังลอยของนายลม  การสลักหลังโอนตั๋วฉบับนี้จึงไม่ขาดสาย  นางสาวน้ำซึ่งครอบครองตั๋วอยู่จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  904  และมาตรา  905  วรรคแรก  และย่อมมีสิทธิในตั๋วฉบับดังกล่าวโดยชอบ  ดังนั้นคำแนะนำของนางสาวฟ้าที่ว่านางสาวน้ำมิใช่ผู้มีสิทธิในตั๋วเนื่องจากมีการโอนมาโดยไม่ถูกต้องนั้น  จึงเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง

สรุป  คำแนะนำของนางสาวฟ้าที่ให้กับนางสาวน้ำนั้นไม่ถูกต้อง

 

ข้อ  3 

(ก)   กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงิน  รวมทั้งผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงินไว้อย่างไร

(ข)  โทได้รับเช็คพิพาทขีดคร่อมทั่วไปจากการขายสินค้าให้เอกซึ่งได้ระบุสั่งให้ธนาคารสินไทยจ่ายเงินสดหรือผู้ถือ  โทได้ถ่ายสำเนาเช็คพิพาทนั้นไว้ก่อนที่ต้นฉบับเช็คนั้นได้หายไป  จึงได้รีบโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารสินไทยทราบ  แต่ปรากฏว่ามีผู้นำเช็คพิพาทนั้นไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทยไปก่อนแล้ว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกและธนาคารสินไทยยังคงต้องรับผิดตามมูลหนี้เดิม  และหรือมูลหนี้ตามเช็คพิพาทที่มีต่อโทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)    อธิบาย

1       หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย  (Paying  Bank

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้ (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995(4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

อนึ่ง  ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ  ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ  (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัยมาตรา  1009)  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น  (ปกติได้แก่ผู้ทรงเดิม)  และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้  (มาตรา  998)

2       ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน  หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี

ผล  ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น  (ผู้ทรงเดิม)  ในการที่น่าต้องเสียหาย  (มาตรา  997  วรรคสอง)  และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้  เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  (มาตรา  1009)

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ  หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้  ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว  ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อมีผู้นำเช็คพิพาทฉบับนั้น  ซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  และเป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทย  และเมื่อธนาคารสินไทยผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมนั้นไปโดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่อ  เป็นผลให้เงินในบัญชีของเอกผู้สั่งจ่ายได้ถูกหักทอนไปเข้าบัญชีลูกค้าแล้ว  ดังนี้ตามมาตรา  998  ได้บัญญัติให้เอกผู้สั่งจ่าย  และธนาคารสินไทยผู้จ่ายต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกัน  เสมือนดังว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว  ดังนั้นทั้งเอกและธนาคารสินไทยจึงไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้เดิม  และหรือมูลหนี้ตามเช็คพิพาทที่มีต่อโทแต่อย่างใด

สรุป  เอกและธนาคารสินไทยไม่ต้องรับผิดตามมูลหนี้เดิม  และหรือมูลหนี้ตามเช็คพิพาทที่มีต่อโท

Advertisement