การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
(ก) ผู้ทรงเช็คถ้าต้องการโอนเช็คชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนนั้นต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน
(ข) บัวขาวเป็นผู้รับเงินตามเช็คของธนาคารศรีทองที่มีบัวแดงเป็นผู้สั่งจ่าย และได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก บัวขาวสลักหลังระบุชื่อบัวทองเป็นผู้รับประโยชน์และส่งมอบเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่บัวทอง ต่อมาบัวทองสลักหลังลอยและส่งมอบชำระหนี้ให้กับบัวหลวง บัวหลวงสลักหลังระบุชื่อบัวผันเป็นผู้รับประโยชน์ และส่งมอบตั๋วชำระหนี้ให้กับบัวผัน บัวผันส่งมอบตั๋วเพื่อชำระหนี้ให้กับบัวเผื่อน ครั้นเมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็ค บัวเผื่อนได้นำเช็คไปให้ธนาคารศรีทองจ่ายเงิน แต่ธนาคารศรีทองปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการโอนเช็คฉบับนี้จากบัวขาวถึงบัวเผื่อนได้ทำถูกต้องตามกฎหมายตั๋วเงินหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
(ก) อธิบาย
ในกรณีที่ผู้ทรงเช็คต้องการโอนเช็คชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของตนนั้น การโอนจะถูกต้องตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ต้องปฏิบัติดังนี้ คือ
1 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ
1) ถ้าผู้ทรงเช็ค เป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากผู้สั่งจ่าย ดังนี้ การโอนเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คจะต้องทำการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นให้เจ้าหนี้ของตน ซึ่งการสลักหลังนั้นอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ ตามมาตรา 917 วรรคแรก 919 และ 989
“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้โอนหรือผู้สลักหลังได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนในเช็คนั้น (หรือในใบประจำต่อ) ซึ่งเรียกว่าเป็นการสลักหลังเฉพาะ โดยจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังของเช็คก็ได้ หรืออาจจะลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังเช็คโดยไม่ระบุชื่อของเจ้าหนี้ผู้รับสลักหลัง ซึ่งเรียกว่าเป็นการสลักหลังลอยก็ได้
2) ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากการสลักหลังของผู้ทรงคนก่อน
(1) ถ้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คมาจากการสลักหลังเฉพาะ (การสลักหลังระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1) คือ ต้องทำการสลักหลังและส่งมอบเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน โดยอาจจะเป็นการสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้
(2) ถ้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คมาจากการสลักหลังลอย ถ้าผู้ทรงเช็คจะโอนเช็คให้กับเจ้าหนี้ของตน ผู้ทรงเช็คสามารถที่จะโอนเช็คต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบเช็คนั้น หรืออาจจะโอนเช็คต่อไปโดยการส่งมอบเช็คนั้นให้กับเจ้าหนี้ของตนโดยไม่ต้องสลักหลังใดๆก็ได้ ตามมาตรา 920 วรรคสอง (2)(3) และ 989
2 ถ้าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ กรณีนี้ไม่ว่าผู้ทรงเช็คจะเป็นผู้ที่ได้รับเช็คมาจากผู้สั่งจ่ายหรือจะได้รับเช็คนั้นมาเพราะผู้อื่นโอนให้ ดังนี้ถ้าจะโอนเช็คนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้โดยการส่งมอบเช็คนั้นให้แก่เจ้าหนี้ของตน โดยไม่ต้องสลักหลังใดๆทั้งสิ้น ตามมาตรา 918 และ 989
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วยหรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”
มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา … 914 ถึง 923
วินิจฉัย
เมื่อเช็คที่บัวแดงออกให้แก่บัวขาว เป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ เพราะมีการขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ดังนั้นเมื่อบัวขาวได้โอนให้แก่บัวทองโดยการสลักหลังและส่งมอบ การโอนเช็คดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก และ 989 วรรคแรก
การที่บัวทองได้สลักหลังลอยและส่งมอบเช็คให้แก่บัวหลวง การโอนเช็คถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก 919 และ 989 วรรคแรก
การที่บัวหลวงได้สลักหลังระบุชื่อบัวผัน และส่งมอบเช็คให้แก่บัวผัน การโอนเช็คถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคแรก 920 วรรคสอง (2) และ 989 วรรคสอง
แต่การที่บัวผันได้รับการโอนเช็คจากบัวหลวงโดยการสลักหลังระบุชื่อ แล้วนำไปโอนโดยการส่งมอบเช็คให้กับบัวเผื่อนโดยไม่มีการสลักหลังนั้น การโอนระหว่างบัวผันกับบัวเผื่อนถือว่าเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะบัวผันไม่ใช่ผู้ทรงที่ได้รับตั๋วมาโดยการสลักหลังลอย จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนตั๋วเงินต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการสลักหลังตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) และ 989 วรรคแรก ดังนั้น ตามกฎหมายถ้าบัวผันจะโอนเช็คให้กับบัวเผื่อน บัวผันต้องสลักหลังและส่งมอบเช็คให้แก่บัวเผื่อนการโอนจึงจะถูกต้อง
สรุป การโอนเช็คฉบับนี้ จากบัวขาวถึงบัวผันได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่การโอนเช็คระหว่างบัวผันกับบัวเผื่อนเป็นการทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย