การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 (ก) ผู้ทรงตั๋วเงินทั้งประเภททั่วระบุชื่อและตัวผู้ถือ มีวิธีพิสูจน์การเป็นผู้ทรงอย่างไรบ้าง จงอธิบาย เอกสารประกอบการได้ พร้อมหลักกฎหมาย

(ข) ข้าวผัด ได้รับเช็คสลักหลังลอยมาจากกระเพรา โดยที่กระเพราลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คต่อมาข้าวผัดนําเช็คฉบับนี้ไปชําระหนี้กู้ยืมให้แก่หมูกรอบ จึงเขียนข้อความว่า ชําระหนี้ให้แก่ หมูกรอบ บนลายมือชื่อของกระเพรา และส่งมอบเช็คนี้ให้แก่หมูกรอบ ครั้นถึงวันที่ลงในเช็กหมูกรอบนำเช็คฉบับนี้ไปขึ้นเงินกับธนาคาร แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย หมูกรอบได้ติดต่อทวงถามข้าวผัดและกระเพราให้รับผิดตามเช็ค ฉบับนี้ แต่กระเพราอ้างว่าการโอนเช็คไม่ถูกต้องเพราะไม่มีลายมือชื่อข้าวผัด ดังนี้หมูกรอบจึง ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบเพราะการโอนขาดสายอีกทั้งข้าวผัดไม่สามารถเติมข้อความบนลายมือชื่อของตนอีกด้วย

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้ออ้างของกระเพราฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการพิสูจน์การเป็นผู้ทรงตั๋วเงินทั้งประเภท ตั๋วระบุชื่อและตั๋วผู้ถือนั้น จะต้องพิสูจน์ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง คือมีการครอบครองหรือยึดถือตัวเงินนั้นด้วยเจตนา ยึดถือเพื่อตน

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลังในกรณีที่เป็นตั๋วเงิน ชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ หรืออาจครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะผู้ถือในกรณีที่เป็นตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เช่น ได้ตั๋วเงินนั้นมาจากผู้สั่งจ่าย (หรือผู้ออกตั๋ว) หรือได้รับโอนตั๋วเงินนั้นมาโดยสุจริต

4 ในกรณีเป็นผู้ครอบครองตั๋วเงินในฐานะผู้รับสลักหลัง (ไม่ว่าจะเป็นผู้รับสลักหลังจาก การสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอย) จะต้องแสดงให้ปรากฏสิทธิในการสลักหลังที่ไม่ขาดสายด้วย คือแสดง ให้เห็นว่าตั๋วเงินนั้นมีการสลักหลังโอนติดต่อกันมาตามลําดับโดยไม่ขาดตอน แม้ว่าการสลักหลังบางรายจะเป็น สลักหลังลอยก็ตาม

และเมื่อพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้ทรงตั๋วเงินและเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 905 วรรคสองและวรรคสาม กล่าวคือ ถ้าบุคคลใด ต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากการครอบครอง ผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ต้องสละตั๋วเงินคืนให้แก่บุคคลนั้น

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขา สั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อม ฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใด ก็ได้ คือ

(1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา , 914 ถึง 923…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ข้าวผัดได้รับเช็คมาจากการสลักหลังลอยของกระเพรา โดยที่กระเพรา ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังเช็คนั้น เช็คฉบับดังกล่าวย่อมเป็นเช็คชนิดระบุชื่อซึ่งกระเพรามีสิทธิที่จะโอนเช็คให้แก่ข้าวผัดต่อไปได้โดยการสลักหลังลอย คือลงแต่ลายมือชื่อของกระเพราไว้ที่ด้านหลังเช็คแล้วส่งมอบเช็คนั้นให้แก่ ข้าวผัดตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และเมื่อข้าวผัดได้รับ เช็คฉบับดังกล่าวมาแล้ว ข้าวผัดย่อมมีสิทธิตามมาตรา 920 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง คือ กรอก ความลงในที่ว่างและเขียนชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งลงไว้ได้ ดังนั้น เมื่อข้าวผัดนําเช็คฉบับนี้ไปชําระหนี้กู้ยืมให้แก่หมูกรอบ โดยเขียนข้อความว่า ชําระหนี้ให้แก่หมูกรอบ บนลายมือชื่อของกระเพรา และส่งมอบเช็คให้แก่หมูกรอบ การโอนเช็ค ของข้าวผัดจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และให้ถือว่าหมูกรอบเป็นผู้ทรงเช็คฉบับนี้ในฐานะผู้รับสลักหลังจาก การสลักหลังของกระเพรา

เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค หมูกรอบซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คฉบับนี้โดยชอบได้นําเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน และเมื่อหมูกรอบได้ติดต่อทวงถามข้าวผัดและกระเพราให้รับผิดตามเช็คฉบับนี้ การที่ กระเพราอ้างว่าการโอนเช็คไม่ถูกต้องเพราะไม่มีลายมือชื่อข้าวผัด การโอนจึงขาดสายทําให้หมูกรอบไม่ใช่ผู้ทรง โดยชอบ อีกทั้งข้าวผัดไม่สามารถเติมข้อความบนลายมือชื่อของตนอีกด้วยนั้น ข้ออ้างดังกล่าวของกระเพราจึง ฟังไม่ขึ้น กระเพราจึงต้องรับผิดตามเช็คฉบับนี้ ส่วนข้าวผัดเมื่อไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเซ็ค จึงไม่ต้องรับผิดตาม มูลหนี้ของเช็คฉบับนี้ตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง

สรุป ข้ออ้างของกระเพราฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. (ก) ผู้ทรงเช็คระบุชื่อผู้รับเงินจะฟ้องให้บุคคลใดรับผิดได้บ้าง ถ้าเช็คที่ผู้ทรงรับโอนมาโดยการสลักหลัง และส่งมอบมานั้นถูกธนาคารผู้จ่ายเงินปฏิเสธการจ่ายเงิน

(ข) ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ระยองผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารอ่าวไทยจ่ายเงินห้าแสนบาทให้กับระนองและขีดฆ่าคําว่า “ หรือผู้ถือ” ออก ส่งมอบชําระหนี้ระนอง ต่อมาระนองสลักหลัง และส่งมอบเช็คเพื่อชําระหนี้ลํายอง เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คลํายองนําเช็คไปยื่นเพื่อขอรับเงินที่ ธนาคารอ่าวไทย ธนาคารอ่าวไทยแจ้งว่าเงินในบัญชีของระยองมีไม่พอจ่าย ดังนี้ ถ้าลํายองมาปรึกษาท่านว่าจะฟ้องให้ใครรับผิดได้บ้าง ท่านจะแนะนําลํายองอย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) โดยหลักแล้ว บุคคลที่จะต้องรับผิดตามเช็คและอาจถูกผู้ทรงฟ้องให้รับผิดตามเช็คนั้นได้เมื่อ ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามมาตรา 959 (ก) ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ได้แก่ บุคคลที่ ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คนั้นตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลัง หรือผู้รับอาวัล แล้วแต่กรณี

สําหรับผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังเช็คซึ่งจะต้องรับผิดตามเช็คถ้าเช็คนั้นถูกธนาคารผู้จ่ายเงิน ปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากจะเป็นเพราะได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คตามมาตรา 900 วรรคหนึ่งแล้ว ยังจะต้องรับผิดตามมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่งด้วย ตามหลักที่ว่า “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็ค ย่อมเป็นอันสัญญาว่าเมื่อเช็คนั้นได้นํายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งเช็ค ถ้าและเช็คนั้น เขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองหรือไม่ยอมจ่ายเงิน ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรงหรือแก่ผู้สลักหลัง คนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามเช็คนั้น”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่น โดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 959 “ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ

(ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกําหนดในกรณีไม่ใช้เงิน”

มาตรา 917 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังกดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว หรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดําเนินตามลําดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าว ต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923, 938 ถึง 940, 959, 967”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ระยองออกเช็คพิพาทสั่งให้ธนาคารอ่าวไทยจ่ายเงิน 500,000 บาท ให้กับระนองและขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออกนั้น เช็คพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ เมื่อระนอง สลักหลังและส่งมอบเช็คเพื่อชําระหนี้ การโอนจึงมีผลสมบูรณ์ และลํายองเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค ลํายองนําเด็กไปยื่นเพื่อขอรับเงินที่ธนาคารอ่าวไทย แต่ธนาคารอ่าวไทย ไม่จ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของระยองมีไม่พอจ่ายนั้น ลํายองย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องไล่เบี้ยให้ระยองและระนองรับผิดใช้เงินให้ ตนได้ตามมาตรา 959 (ก) ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ

1 ระยองได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดตามเช็คนั้นใน ฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

2 ระนองได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คในฐานะผู้สลักหลัง จึงต้องรับผิดตามเช็คนั้นใน ฐานะผู้สลักหลังตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ซึ่งในการฟ้องไล่เบี้ยระยองผู้สั่งจ่ายและระนองผู้สลักหลังนั้น ลํายองจะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่ บุคคลเหล่านั้นเรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ตามมาตรา 967 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ส่วนธนาคารอ่าวไทยนั้น ลํายองจะฟ้องไม่ได้ เพราะเมื่อธนาคารอ่าวไทยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ ในเช็คจึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คนั้น (มาตรา 900 วรรคหนึ่ง)

สรุป

เมื่อลํายองมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนําให้ลํายองฟ้องให้ระยองและระนองรับผิด ตามเช็คนั้น ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. (ก) ให้นักศึกษาอธิบายว่าการแก้ไขข้อความในตั๋วเงินจะมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

(ข) นายดําสั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่งระบุให้ใช้เงินจํานวน 100,000 บาท แล้วส่งมอบเช็คนั้นชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายให้แก่นายแดง แต่นายแดงเห็นว่าโดยแท้จริงแล้วนายดําเป็นหนี้ตนอยู่ 200,000 บาท จึงนําเช็คฉบับดังกล่าวคืนให้แก่นายดํา และขอให้นายดําสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่ให้ถูกต้อง นายดําเห็นว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง หากสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่ให้นายแดง นายดําจึงนําเช็คฉบับดังกล่าวนั้นมาทําการแก้ไขจํานวนเงิน โดยการขีดฆ่าจํานวนเงิน 100,000 บาทเดิมออก แล้วแก้ไขเป็นจํานวนเงิน 200,000 บาทแทน พร้อมลงลายมือชื่อกํากับไว้แล้วส่งมอบคืนให้ นายแดงไป หากต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว นายแดงจะสามารถ เรียกให้นายดํารับผิดชําระเงินตามเช็คได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) การแก้ไขข้อความในตั๋วเงินจะมีผลทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความ ในข้อสําคัญ (มาตรา 1007) คือจะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความซึ่งเป็นสาระสําคัญ ซึ่งเมื่อมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงแล้วจะทําให้ผลของตั๋วเงิน สิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้นเปลี่ยนแปลง ไปจากเดิม

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสําคัญ เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ แก่วันที่ลงจํานวนเงิน อันจะพึงใช้เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุ สถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย (มาตรา 1007 วรรคสาม) ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติผลตามกฎหมาย ไว้ 2 กรณีคือ

1 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไข ไม่แนบเนียนหรือเห็นได้ประจักษ์นั่นเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้นย่อมเป็นผลให้ ตั๋วเงินนั้นเสียไป แต่ยังคงใช้ได้กับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น (มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง)

2 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ถือว่าตัวเงินนั้นไม่เสียไป และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะถือเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้น เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้ (มาตรา 1007 วรรคสอง)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงินไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําสั่งจ่ายเช็คโดยระบุให้ใช้เงิน 100,000 บาท แล้วต่อมานายดํา ได้นําเช็คฉบับดังกล่าวนั้นมาทําการแก้ไขจํานวนเงิน โดยการขีดฆ่าจํานวนเงิน 100,000 บาทเดิมออก แล้วแก้ไข เป็นจํานวนเงิน 200,000 บาทแทน พร้อมลงลายมือชื่อกํากับไว้แล้วส่งมอบคืนให้แก่นายแดงนั้น กรณีนี้ย่อมถือได้ว่า เช็คนั้นได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสําคัญและเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ประจักษ์ จึงมีผลทําให้เช็คนั้นเสียไป เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับผู้สลักหลังในภายหลัง (มาตรา 1007 วรรคหนึ่งและวรรคสาม)

และเมื่อปรากฏว่านายดําซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้เป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอง นายดําจึงต้องรับผิดตามเช็คฉบับดังกล่าวตามจํานวนเงินที่ตนได้แก้ไขคือ 200,000 บาท ดังนั้นหากต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คฉบับดังกล่าว นายแดงจึงสามารถเรียกให้นายดํารับผิดชําระเงินตามเช็คให้แก่ตนได้ตามจํานวนที่แก้ไขคือ 200,000 บาท

สรุป

นายแดงสามารถเรียกให้นายดํารับผิดชําระเงินตามเช็คได้ในจํานวนเงินที่ได้แก้ไขคือ 200,000 บาท

Advertisement