การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) การโอนตั๋วเงินที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายนั้นมีวิธีการอย่างไร จงอธิบาย

(ข) นายไก่สั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่งระบุชื่อนายนกลงในช่องที่ให้ระบุชื่อผู้รับเงิน พร้อมทั้งขีดฆ่าคําว่า“หรือผู้ถือ” ออก แล้วส่งมอบชําระหนี้ค่าเช่าอาคารให้แก่นายนก ต่อมานายนกต้องการจะนําเช็ค ฉบับดังกล่าวโอนชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายหนู จึงมาสอบถามวิธีการโอนกับนายปลา ซึ่งนายปลา ได้แนะนําให้นายนกจะต้องทําการโอนเช็คให้แก่นายหนูด้วยวิธีการ “ลงลายมือชื่อสลักหลัง พร้อม ระบุชื่อนายหนูให้เป็นผู้รับโอนลงในเช็ค และส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นายหนู เพียงวิธีการเดียว เท่านั้น” จึงจะเป็นการโอนเช็คที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนี้ คําแนะนําเกี่ยวกับวิธีการโอนเช็ค ที่นายปลาให้แก่นายนกนั้นเป็นคําแนะนําที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เพราะ เหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) ตามกฎหมายตั๋วเงินมี 3 ประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ซึ่งหลักในการ โอนตั๋วเงินนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินเท่านั้น เพียงแต่ได้กําหนดให้นําหลักในการโอน ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อไปใช้กับการโอนตัวสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย (ตามมาตรา 985 วรรคแรก และ มาตรา 989 วรรคแรก) และให้นําหลักในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือไปใช้กับการโอนเช็คชนิดสั่งจ่าย แก่ผู้ถือด้วย (ตามมาตรา 989 วรรคแรก)

สําหรับหลักในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ

การโอนสามารถกระทําได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่ บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของ ตนไว้ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 919)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง)

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลัง ระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น เป็นการสลักหลังลอย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ ตั๋วแลกเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรือ อาจจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 920)

2 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

การโอนตั๋วเงินชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้อง มีการสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งบัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียง ด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคแรก “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 “คําสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อ และต้องลงลายมือชื่อ ผู้สลักหลัง

การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้ กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย””

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 ถึง 923”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายนกลงในช่องที่ให้ระบุชื่อผู้รับเงินพร้อมทั้ง ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วส่งมอบชําระหนี้ค่าเช่าอาคารให้แก่นายนกนั้น ถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ ดังนั้น ถ้านายนกต้องการจะนําเช็คฉบับดังกล่าวโอนชําระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายหนู จึงต้องโอนโดยการสลักหลัง และส่งมอบเท่านั้น (ตามมาตรา 917 วรรคแรก ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก) เพียงแต่ในการสลักหลังนั้นนายนก อาจจะเลือกสลักหลังโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ กล่าวคือ นายนกอาจจะสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อนายหนู) หรืออาจจะสลักหลังลอยคือลงแต่ลายมือชื่อของนายนกไว้ที่ด้านหลังเช็คโดยไม่ระบุชื่อนายหนูไว้ก็ได้ (มาตรา 919 ประกอบ มาตรา 989 วรรคแรก)

ดังนั้น การที่นายปลาได้แนะนําแก่นายนกว่านายนกจะต้องทําการโอนเช็คโดยการลงลายมือชื่อ สลักหลัง พร้อมระบุชื่อนายหนูลงในเช็ค ซึ่งเป็นการสลักหลังเฉพาะและส่งมอบเช็คนั้นให้แก่นายหนูเพียงวิธีเดียว เท่านั้น จึงเป็นคําแนะนําที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

สรุป

คําแนะนําเกี่ยวกับวิธีการโอนเช็คที่นายปลาให้แก่นายนกดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลัก กฎหมาย

 

ข้อ 2. (ก) ผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คจะต้องรับผิดหรือไม่ ถ้าเช็คฉบับนั้นธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน

(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทองชําระหนี้โท โดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า ผู้ถือออก โทสลักหลังชําระหนี้ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาตรีสลักหลังลอย และส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา ต่อมาจัตวาได้นําเช็คไปส่งมอบชําระหนี้ให้กับบ้านไร่ เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค บ้านไร่นําเช็คไปยื่นให้ธนาคารอ่างทองใช้เงินตามเช็ค แต่ธนาคารอ่างทอง ไม่ยอมใช้เงินให้บ้านไร่ โดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของเอกผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย

ดังนี้ บ้านไร่จะฟ้อง เอก โท ตรี จัตวา และธนาคารอ่างทองให้รับผิดชดใช้เงินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) โดยหลักบุคคลที่จะต้องรับผิดตามตั๋วเงิน ได้แก่ บุคคลที่ได้ลงลายมือชื่อของตนลงไว้ในตั๋วเงิน นั้นตามมาตรา 900 วรรคแรก ซึ่งอาจจะต้องรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้สลักหลัง ผู้รับอาวัล แล้วแต่กรณี

สําหรับผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังเช็คนั้น ย่อมจะต้องรับผิดตามเช็ค ถ้าเช็คฉบับนั้นธนาคารไม่ยอม จ่ายเงิน เหตุที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังต้องรับผิดนั้น นอกจากเป็นเพราะได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเช็คตามมาตรา 900 วรรคแรกแล้ว ยังต้องรับผิดตามมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 ที่ว่า บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็ค ย่อมเป็นอันสัญญาว่าเมื่อเช็คนั้นได้นํายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งเช็ค ถ้าและเช็คนั้น เขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ ผู้สลักหลัง คนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามเช็คนั้น”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคแรก “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคแรก “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

มาตรา 959 “ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้ คือ

(ก) ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกําหนดในกรณีไม่ใช้เงิน”

มาตรา 967 วรรคแรกะรน อรรคสอง “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุลลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว หรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้อง ดําเนินตามลําดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน”

มาตรา 989 วรรคแรก “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 914 ถึง 923, 938 ถึง 940, 959, 967”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า “ หรือ ผู้ถือ” ออกนั้น เช็คนั้นย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง (มาตรา 918 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากการโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่ตรี จัตวา และบ้านไร่ตามลําดับนั้น โท และตรีได้ทําการสลักหลังเช็คฉบับนี้ด้วย ดังนี้ตามกฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังของโทและตรีนั้นเป็นเพียงการ รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (มาตรา 921 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก) ซึ่งโทและตรีก็จะต้องรับผิดเป็นอย่าง เดียวกันกับเอกผู้สั่งจ่าย (มาตรา 940 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 989 วรรคแรก)

และเมื่อถึงวันที่ที่ลงในเช็คบ้านไร่นําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน ดังนี้ บ้านไร่ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้เอก โท และตรีรับผิดใช้เงินให้แก่ตนได้ตามมาตรา 959 (ก) ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก ทั้งนี้เพราะ

1 เอกได้ลงลายมือชื่อของตนลงไว้ในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดตามเช็คนั้นในฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900, 914 และมาตรา 989 วรรคแรก

2 โทและตรีได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คโดยการสลักหลังเช็ค ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นเพียงการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900, 921 และมาตรา 989 วรรคแรก

ซึ่งในการไล่เบี้ยเอกผู้สั่งจ่าย โทและตรีผู้รับอาวัลเอกผู้สั่งจ่ายนั้น บ้านไร่จะไล่เบี้ยเอาแก่ บุคคลเหล่านั้นเรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ตามมาตรา 967 วรรคแรกและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก

ส่วนจัตวาและธนาคารอ่างทองนั้น บ้านไร่จะไล่เบี้ยหรือฟ้องไม่ได้ เพราะเมื่อจัตวาและ ธนาคารอ่างทองไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คจึงไม่ต้องรับผิด (มาตรา 900 วรรคแรก)

สรุป

บ้านไร่สามารถฟ้องให้เอก โท และตรีรับผิดชดใช้เงินได้ แต่จะฟ้องจัตวาและธนาคาร อ่างทองไม่ได้

 

ข้อ 3. (ก) ตั๋วเงินปลอมเพราะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในตัวเงิน มีผลประการใด จงอธิบายพร้อม ยกหลักกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินมาประกอบ

(ข) ประยุติสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ โดยลงลายมือชื่อในช่องผู้สั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกจํานวนเงิน เพราะให้ไว้ประกันหนี้ ซื้อขายโซล่าฟาร์ม (Solar Farm) ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ทั้ง 2 ฉบับ แก่ยิ่งรัก ครั้นถึงวันที่ใช้เงินตามเช็ค ยิ่งรักไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่ถูกปฏิเสธการจ่าย ยิ่งรักจึงนําคดีไปฟ้องศาลโดยมีข้อเท็จจริงว่า ยิ่งรัก กรอกจํานวนเงิน ลงในเช็คจํานวน 200 ล้านบาท (ฉบับละ 100 ล้านบาท) แต่ประยุติให้การปฏิเสธว่า ตนลงแต่ลายมือชื่อ แต่มิได้กรอกจํานวนเงิน เพราะเป็นการให้ไว้เป็นการประกันหนี้ เช็คทั้ง 2 ฉบับจึงไม่มีผลเป็นตัวเงินขอให้ศาลยกฟ้อง

คําให้การของประยุติในฐานะจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) ตั๋วเงินปลอมเพราะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในตัวเงินนั้น จะต้องเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสําคัญ คือจะต้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความซึ่งเป็นสาระสําคัญ ซึ่งเมื่อมีการ แก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้วจะทําให้ผลของตัวเงิน สิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดของคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้น เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อสําคัญ เช่น แก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงิน อันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุ สถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย (มาตรา 1007 วรรคสาม) ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติผลตามกฎหมาย ไว้ 2 กรณีคือ

1 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นได้ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไข ไม่แนบเนียนหรือเห็นได้ประจักษ์นั่นเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตัวเงินนั้น ย่อมเป็นผลให้ ตั๋วเงินนั้นเสียไป แต่ยังคงใช้ได้กับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น (มาตรา 1007 วรรคแรก)

2 กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์ กล่าวคือ การแก้ไขนั้นมีการแก้ไขได้อย่าง แนบเนียน หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์ถือว่าตั๋วเงินนั้นไม่เสียไป และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะถือเอาประโยชน์จากตัวเงินนั้น เสมือนว่าตัวเงินนั้นมิได้ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งตัวนั้นก็ได้ (มาตรา 1007 วรรคสอง)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 910 “ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน…”

มาตรา 988 “อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) คําบอกชื่อว่าเป็นเช็ค

(2) คําสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจํานวนแน่นอน

(7) ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 989 “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910”

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ประยุติสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ โดยลงลายมือชื่อในช่องผู้สั่งจ่ายโดย ไม่ได้กรอกจํานวนเงิน แล้วต่อมายิ่งรักได้กรอกจํานวนเงินในเช็คทั้ง 2 ฉบับ ๆ ละ 100 ล้านบาทนั้น ถือว่ากรณี ดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1007 เพราะมิใช่เป็นกรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความที่สําคัญ เช่น จํานวนเงินภายหลังจากมีการออกเช็คที่มีความสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วแต่อย่างใด

แต่การที่ประยุติได้ออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับโดยไม่ได้กรอกจํานวนเงินไว้และมิได้มอบหมายให้ ยิ่งรักเติมจํานวนเงินในภายหลัง แต่เป็นการออกเช็คให้ไว้แก่ยิ่งรักเพื่อประกันหนี้เท่านั้น จึงถือว่าเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ที่ประยุติออกมานั้นมีรายการที่สําคัญของเช็คไม่ครบถ้วนตามมาตรา 988 คือมีรายการตาม (2) ขาดตกบกพร่องไป ดังนั้นเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ จึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย (ตามมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989) และไม่ทําให้ เช็คนั้นมีผลผูกพันผู้ออกเช็ค ดังนั้น ประยุติจึงสามารถยกเอาเรื่องความไม่สมบูรณ์ของเช็คเพราะขาดรายการที่สําคัญ ขึ้นต่อสู้ยิ่งรักได้

สรุป

คําให้การของประยุติที่ว่าเช็คทั้ง 2 ฉบับไม่มีผลเป็นตั๋วเงินนั้นฟังขึ้น

Advertisement