การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. มอบ ข. เป็นตัวแทนให้ไปทําสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์ มี ค. มาขอซื้อรถยนต์ และ ข. ได้ทําสัญญาให้เช่าซื้อไป อีกทั้ง ข. ได้รับเงินดาวน์ไว้ 200,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข. มีอํานาจลงชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด สัญญาให้เช่าซื้อระหว่าง ข. และ ค. ผลเป็นเช่นไร เงินดาวน์ที่ ข. รับไว้ ข. ต้องโอนคืนตัวการหรือไม่ เพราะเหตุใด

และถ้า ข. ไม่โอนเงินดาวน์ให้ ก. ก. จะฟ้อง ข. ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ” มาตรา 572 วรรคสอง “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ”มาตรา 798 วรรคแรก “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้ง ตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อการทําสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นกิจการที่กฎหมายได้บังคับไว้ว่าต้องทําเป็น หนังสือ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 572 วรรคสอง) ดังนั้น การตั้งตัวแทนเพื่อไปทําสัญญาให้เช่าซื้อ จึงต้องทํา เป็นหนังสือด้วย (มาตรา 798 วรรคแรก) เมื่อการตั้งตัวแทนของ ก. ที่ให้ ข. เป็นตัวแทนไปทําสัญญาให้เช่าซื้อ มิได้ทําเป็นหนังสือ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคแรก ดังนั้น สัญญาที่ ก. ตั้ง ข. ให้เป็นตัวแทน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 152 ข. จึงไม่มีอํานาจลงชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อ

เมื่อ ข. ไม่มีอํานาจลงชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อ ดังนั้น การที่ ข. ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อ รถยนต์กับ ค. จึงเป็นการลงลายมือชื่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 572 วรรคสอง ประกอบมาตรา 798 วรรคแรก และมีผลทําให้สัญญาเช่าซื้อที่ ข. ทํากับ ค. เป็นโมฆะตามมาตรา 152 ที่มีหลักว่า การใดที่มิได้ทําให้ ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

ส่วนเงินดาวน์ที่ ข. รับไว้ 200,000 บาทนั้น ข. ก็ต้องคืนให้แก่ ก. ตัวการตามมาตรา 810 เพราะแม้ว่า ข. จะเป็นตัวแทนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เงินที่ ข. รับไว้นั้นก็ต้องถือว่าเป็นการรับไว้ใน ฐานะตัวแทน

และถ้า ข. ไม่โอนเงินดาวน์ให้ ก. ก. ย่อมสามารถฟ้อง ข. ให้โอนคืนเงินดาวน์นั้นได้ โดย ข. จะอ้างว่า ก. ไม่มีอํานาจฟ้องเพราะ ก. ตั้ง ข. เป็นตัวแทนโดยมิได้ทําเป็นหนังสือตามมาตรา 798 วรรคแรกไม่ได้ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทนซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798

สรุป

ข. ไม่มีอํานาจลงชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อ

สัญญาให้เช่าซื้อระหว่าง ข. และ ค. เป็นโมฆะ เงินดาวน์ที่ ข. รับไว้ ข. ต้องโอนคืนให้ ก. ตัวการ ถ้า ข. ไม่โอนเงินดาวน์ให้ ก. ก. สามารถฟ้อง ข. ได้

 

ข้อ 2. นายเอกเป็นตัวแทนค้าต่างขายรถจักรยานยนต์มือสองทุกยี่ห้อ นายโทได้นํารถจักรยานยนต์ของตนหนึ่งคันไปฝากนายเอกขายในราคา 25,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าบําเหน็จ 1,000 บาท นายเอกได้ขายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 23,000 บาท และนําเงินจํานวน ดังกล่าวไปมอบให้แก่นายโท นายโทไม่ยอมรับเงินจํานวน 23,000 บาท แต่จะขอรับจํานวน 25,000 บาท โดยอ้างว่าตนกําหนดราคาขายไว้แล้วจะขายต่ํากว่าราคาที่กําหนดไม่ได้ แต่นายเอกอ้างว่าตนเป็น ตัวแทนค้าต่างมีสิทธิที่จะขายตามที่ตนเห็นสมควรเสมือนเป็นการขายทรัพย์สินของตนเอง จะขาย ในราคาเท่าใดก็ได้

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายเอกฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด อีกกรณีหนึ่ง ถ้านายเอกขายรถจักรยานยนต์ได้ตามที่นายโทกําหนด แต่ได้นําเงินจํานวนดังกล่าว ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย กรณีนี้นายเอกจะต้องรับผิดต่อนายโทหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการ นั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการ ซื้อเป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโทได้นํารถจักรยานยนต์ของตนหนึ่งคันไปฝากให้นายเอกซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขาย โดยกําหนดให้นายเอกขายในราคา 25,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าบําเหน็จ 1,000 บาทนั้น เมื่อปรากฏว่านายเอกได้ขายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 23,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่า ราคาที่นายโทกําหนด และอ้างว่าตนเป็นตัวแทนค้าต่างมีสิทธิที่จะขายตามที่ตนเห็นสมควรเสมือนเป็นการขาย

ทรัพย์สินของตนเองจะขายในราคาเท่าใดก็ได้ ข้ออ้างดังกล่าวของนายเอกย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะกรณีนี้นายโท ได้กําหนดราคาขายเป็นที่แน่นอนแล้ว ถ้านายเอกขายต่ำกว่าราคาที่กําหนดสามารถทําได้ แต่นายเอกจะต้องรับใช้ เศษที่ขาดอีก 2,000 บาท คือต้องนําเงินของตนจ่ายให้ครบตามราคาที่กําหนดคือ 25,000 บาท แต่ตามอุทาหรณ์ นายเอกนําเงินไปมอบให้นายโทเพียง 23,000 บาท โดยไม่ได้จ่ายส่วนที่ขาดให้แก่นายโท ดังนั้น นายโทจึงมีสิทธิที่จะ ไม่ยอมรับเงินจํานวนดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 839

อีกกรณีหนึ่ง ถ้านายเอกขายรถจักรยานยนต์ได้ตามราคาที่นายโทกําหนด นายเอกจะต้องส่งมอบ เงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นายโททั้งหมดตามมาตรา 810 เมื่อปรากฏว่านายเอกได้นําเงินที่ควรจะส่งให้แก่นายโท ตัวการไปใช้สอยเป็นประโยชน์ของตนเสีย นายเอกจึงต้องรับผิดต่อนายโท คือต้องคืนเงินจํานวน 25,000 บาท และต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้นําเอาไปใช้ตามมาตรา 811

สรุป

กรณีแรก ข้ออ้างของนายเอกฟังไม่ขึ้น

กรณีที่สอง นายเอกต้องรับผิดต่อนายโท คือต้องคืนเงินจํานวน 25,000 บาท พร้อมทั้ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

 

ข้อ 3. ที่ดินของ ก. มีที่ดินของ ค. ล้อมอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ก. เห็นว่า ข. กับ ค. ชอบพอกันอยู่ ก. จึงมอบให้ ข. ไปติดต่อกับ ค. ว่าตนจะขอทําทางผ่านที่ดินของ ค. ออกสู่ถนนสาธารณะ ถ้า ข. ติดต่อได้สําเร็จจะให้ค่าเหนื่อยหนึ่งแสนบาท เมื่อ ข. ไปเจรจากับ ค. ค. กล่าวแก่ ข. ว่า ถ้าตนจะขอซื้อ ที่ดินดังกล่าวของ ก. โดยให้ราคายี่สิบล้านบาท ให้ ข. ไปทาบทาม ก. ว่าจะขายหรือไม่ ถ้าทําสําเร็จ ค. จะให้บําเหน็จเป็นค่าเหนื่อยแก่ ข. สองแสนบาท ต่อมาได้มีการทําสัญญาจะซื้อที่ดินระหว่างก. กับ ค. ตามที่ ข. เสนอ เมื่อ ข. มาขอค่าบําเหน็จหนึ่งแสนบาทจาก ก. ก. ไม่ยอมจ่ายให้ โดยอ้างว่า ข. ทําการให้ ค. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย ข. หามีสิทธิที่จะรับค่าบําเหน็จหรือได้รับชดใช้ค่าใช้จ่าย ที่ได้เสียไปไม่ ข้ออ้างของ ก. ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้แต่ เพียงในสิ่งที่จําเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”

มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือ ขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”

มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 847 “ถ้านายหน้าทําการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคํามั่นแต่บุคคลภายนอก เช่นนั้นว่าจะให้ค่าบําเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทําการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับ ทําหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบําเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ได้มอบให้ ข. ไปติดต่อกับ ค. เพื่อ ก. จะขอทําทางผ่านที่ดิน ของ ค. และถ้า ข. ติดต่อได้สําเร็จ ก. จะให้ค่าเหนื่อยแก่ ข. หนึ่งแสนบาทนั้น ถือว่าเป็นการมอบอํานาจให้ ข. เป็นตัวแทนรับมอบอํานาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 และมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้า ตามมาตรา 845 ดังนั้น การที่ ข. ได้เสนอให้ ก. ขายที่ดินให้แก่ ค. ซึ่งถ้าทําได้สําเร็จ ข. จะได้บําเหน็จจาก ค. สองแสนบาทนั้น ถือว่า ข. ได้ไปทําการให้แก่ ค. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อการทําหน้าที่ นายหน้า ซึ่งโดยหลักแล้ว ข. ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าบําเหน็จหรือได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปตามมาตรา 847

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าต่อมาได้มีการทําสัญญาจะซื้อที่ดินระหว่าง ก. กับ ค. ตามที่ ข. เสนอ ดังนี้ ย่อมถือว่า ก. ตัวการยอมรับการกระทําของ ข. ซึ่งเท่ากับ ก. ตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทํา ของ ข. แล้วตามมาตรา 823 วรรคแรก ดังนั้น ก. จึงต้องจ่ายค่าบําเหน็จให้แก่ ข. การที่ ก. อ้างว่า ข. ทําการให้ ค. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าบําเหน็จหรือได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้น ข้ออ้างของ ก. จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของ ก. ฟังไม่ขึ้น

Advertisement