การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. มอบ ข. ให้ไปกู้เงินโดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ ข. ไปกู้เงิน ค. โดยทําเป็นหนังสือสัญญาโดยในสัญญานั้น ข. เขียนว่า กู้แทน ก. ต่อมา ก. ผิดนัดชําระหนี้ ค. จะฟ้องใครให้รับผิดได้บ้าง ระหว่าง ก. กับ ข. และ ข. มีอํานาจลงชื่อในสัญญากู้นั้นหรือไม่ เพราะเหตุใด กรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง เมื่อ ข. ได้เงินมาแล้ว ข. นําเงินที่กู้มานั้นให้กับ ก. ทั้งหมด ดังนี้ ค. จะฟ้อง ก. ให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 วรรคแรก “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการ กู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทน เพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมี หลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

มาตรา 821 “บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วย่อมให้ บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน”

มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือ ขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีแรก

(1) การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น บทบัญญัติมาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จึงจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายได้ เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อไปทําสัญญากู้จึงต้องมีหลักฐานเป็น หนังสือด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก. มอบหมายให้ ข. ไปกู้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่นนี้ ข. ย่อมไม่มี อํานาจลงชื่อในสัญญากู้เงินนั้น เพราะ ก. ตั้ง ข. เป็นตัวแทนไปกู้เงินโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคสอง ดังนั้น การที่ ข. ลงชื่อไปก็เท่ากับว่า ข. ลงชื่อโดยปราศจากอํานาจตามมาตรา 823 วรรคแรก

(2) เมื่อการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีผลเท่ากับว่าไม่มีการมอบหมาย หรือตั้งตัวแทนให้ไปทําสัญญากู้ยืม การที่ ข. ไปกู้ยืมเงิน ค. สัญญากู้ยืมนั้นย่อมไม่ผูกพัน ก. ตัวการแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทําโดยปราศจากอํานาจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ถ้า ก. ตัวการให้สัตยาบัน สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็อาจผูกพัน ก. ได้ตามมาตรา 823 วรรคแรกตอนท้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก. ให้สัตยาบันแก่การกู้ยืมเงินนั้น ข. จึงต้องรับผิดต่อ ค. บุคคลภายนอกโดยลําพังตนเองตามมาตรา 823 วรรคท้าย แม้สัญญากู้ยืมจะระบุว่าเป็นการที่ ข. กู้แทน ก. ก็ตาม

(3) เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ผูกพัน ก และ ข. ต้องรับผิดโดยลําพังแล้ว ค. จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้ ข. รับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ได้คนเดียวเท่านั้น กรณีนี้ถือว่า ข. อยู่ในฐานะคู่สัญญากู้ยืมเงินตามมาตรา 653 วรรคแรก โดยตรง

กรณีที่สอง

การที่ ข. ไปกู้เงินจาก ค. และได้นําเงินที่กู้นั้นมาให้กับ ก. ทั้งหมดนั้น แม้ว่าสัญญาตั้งตัวแทน ให้ไปกู้เงินจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีที่ ก. ได้เชิดให้ ข. ออกแสดงเป็น ตัวแทนของ ก. ตามมาตรา 821 แล้ว ดังนั้น ก. จึงต้องรับผิดต่อ ค. บุคคลภายนอกเสมือนว่า ข. เป็นตัวแทนของ ตนตามมาตรา 821 ประกอบมาตรา 820 กล่าวคือ เมื่อ ก. ผิดนัดชําระหนี้ ค. ย่อมสามารถฟ้องให้ ก. รับผิดได้

สรุป

กรณีแรก ค. สามารถฟ้องให้ ข. รับผิดได้ แต่จะฟ้องให้ ก. รับผิดไม่ได้ และ ข. ไม่มีอํานาจลงชื่อในสัญญากู้นั้น กรณีที่สอง ค. สามารถฟ้อง ก. ให้รับผิดได้ในฐานะที่ ข. เป็นตัวแทนเชิดของ ก.

 

ข้อ 2. ก. มอบ ข. เป็นตัวแทนให้ไปซื้อเรือยอร์ชแล้วให้เงินไปซื้อด้วย แต่ปรากฏว่าเรือยอร์ชได้ขึ้นราคาเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บาท ก. ให้ ข. ทดรองจ่ายไปก่อน ข. ตกลงทดรองจ่ายไป พอนําเรือมาถึง ข. เรียก ก. ให้มารับเรือพร้อมนําเงิน 500,000 บาท มาคืนด้วย ก. มารับเรือแต่ไม่ยอมจ่าย 500,000 บาท ข. จึงไม่ให้เรือไปโดยอ้างว่าขอยึดหน่วงไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับชําระหนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข. มีอํานาจ ยึดหน่วงไว้ก่อนได้หรือไม่ จะเป็นการขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ กรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง ถ้า ข. ได้เรือมาแล้วโอนให้ ก. ตัวการไปทันที แต่ ก. กลับไม่จ่ายเงินที่ ข. ทดรองจ่าย แทนไป ข. โกรธมากจึงออกอุบายขอยืมรถเบนซ์สปอร์ตมาขับ 3 วัน จะคืนให้ เมื่อครบ 3 วัน ข. ไม่คืน โดยอ้างว่าขอยึดหน่วงรถสปอร์ตไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับชําระหนี้ 500,000 บาท ดังนี้ ให้ท่าน วินิจฉัยว่า ข. มีอํานาจยึดหน่วงรถสปอร์ตนั้นไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 วรรคแรก “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็น ตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 816 วรรคแรก “ถ้าในการจัดทํากิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเป็น ทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจําเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอา เงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้”

มาตรา 819 “ตัวแทนขอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใด ๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชําระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

กรณีแรก การที่ ก. ได้มอบให้ ข. เป็นตัวแทนไปซื้อเรือยอร์ช และให้ ข. ออกเงินทดรอง จ่ายไปก่อน 500,000 บาทนั้น เมื่อ ข. ได้นําเรือยอร์ชมาส่งมอบให้ ก. ถือว่า ข. ตัวแทนได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ ได้รับมาจากการเป็นตัวแทนให้กับ ก. ตัวการตามมาตรา 310 วรรคแรก และ ข. ตัวแทนย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ ตัวการชดใช้เงินทดรองที่ตนได้ออกไปได้ตามมาตรา 816 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า ก. จะขอรับเรือแต่ไม่ยอมจ่ายเงิน 500,000 บาท แก่ ข. และ ข. จึงไม่ให้เรือแก่ ก. ไป โดยอ้างว่าขอยึดหน่วงไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับชําระหนี้นั้น ข. ย่อมมีอํานาจ ที่จะยึดหน่วงเรือไว้ได้ โดยไม่เป็นการขัดต่อข้อกฎหมายตามมาตรา 810 วรรคแรก เพราะเป็นการใช้อํานาจ ตามบทบัญญัติมาตรา 819 ซึ่งได้บัญญัติให้อํานาจแก่ตัวแทนในการยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการ

กรณีที่สอง การที่ ข. ได้เรือมาแล้วโอนให้ ก. ตัวการไปแล้ว โดย ก. ไม่ยอมจ่ายเงินที่ ข. ได้ ทดรองจ่ายแทนไปนั้น เมื่อ ข. ได้โอนทรัพย์คือเรือยอร์ชให้กับ ก. ไปแล้ว ข. ย่อมไม่มีอํานาจที่จะไปยึดหน่วง รถเบนซ์สปอร์ตของ ก. ไว้ได้ เพราะตามมาตรา 819 นั้น ตัวแทนมีอํานาจที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการที่ตกอยู่ ในความครอบครองของตนได้ ก็จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตัวแทนขวนขวายได้มาเนื่องจากการทําหน้าที่เป็นตัวแทน เท่านั้น แต่ตามอุทาหรณ์ทรัพย์สินที่ตัวแทนขวนขวายได้มาเนื่องจากการทําหน้าที่เป็นตัวแทนนั้นคือเรือยอร์ช ไม่ใช่รถเบนซ์สปอร์ต ดังนั้น ข. ตัวแทนจึงไม่มีอํานาจยึดหน่วงรถเบนซ์สปอร์ตของ ก. ไว้จนกว่าจะได้รับชําระหนี้ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน

สรุป

กรณีแรก ข. มีอํานาจยึดหน่วงเรือยอร์ชไว้ได้

กรณีที่สอง ข. ไม่มีอํานาจยึดหน่วงรถเบนซ์สปอร์ตไว้ได้

 

ข้อ 3. ก. ต้องการจะขายที่ดินแล้วนําป้ายไปปักไว้ว่า ที่ดินแปลงนี้ “ขาย” ติดต่อ โทร 081-000-000 ข. เป็นเจ้าของสํานักงานนิติบุคคลทําทนายความ โดยมี ค. เป็นลูกค้าของบริษัท ค. ได้บอก ข. ว่า ให้หาที่ดินแถว ๆ นั้นให้หน่อย จะสร้างโรงงานใหม่ วันหนึ่ง ข. ขับรถผ่านเส้นทางที่ดินของ ก. จึง หยุดรถแล้วโทรถาม ก. ว่าที่ดินมีกี่ไร่ราคาเท่าใด ก. ตอบว่าที่ดินมี 5 ไร่ ขาย 25 ล้านบาท แล้ว ก. ก็จากไป 3 วันต่อมา ข. ได้นํา ค. มาพบ 11. ทําการซื้อขายและโอนที่ดินเสร็จสิ้นไปวันเดียว 2 วัน ต่อมา ข. มาพบ ก. เพื่อให้ ก. จ่ายค่านายหน้า ก. ปฏิเสธว่าไม่ได้มอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้า จึง ไม่จ่ายค่าบําเหน็จนายหน้า ข. ฟ้องให้ศาลสั่งให้ ก. จ่ายค่านายหน้า ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะพิจารณา พิพากษาจ่ายบําเหน็จค่านายหน้าให้ ข. หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคแรก “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่ คาดหมายได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้ มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกัน หรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับ บําเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญา ต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่ง มิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์

แม้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ค. จะได้เกิดขึ้นจากการชี้ช่อง และจัดการของ ข. ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก. ไม่เคยตกลงให้ ข. เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนตาม มาตรา 845 วรรคแรก อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคแรกก็ไม่ได้ เพราะการตกลง ตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่าบําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้ ก. ยังไม่ได้มอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น ข. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า จาก ก. และถ้า ข. ฟ้องให้ศาลสั่งให้ ก. จ่ายค่านายหน้า ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะพิจารณาพิพากษาว่า ก. ไม่จําต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่ ข. แต่อย่างใด

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะพิจารณาพิพากษาว่า ก. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่ ข.

Advertisement