การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงกู้เงินเหลือง 5 แสนบาท โดยมีหลักฐานถูกต้อง เหลืองขอให้แดงหาผู้ค้ำประกันมาด้วย แดงจึงไปหาเขียวขอให้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ เขียวตกลงกับแดงว่า หากแดงชําระหนี้ไม่ได้เขียวจะรับ ชําระหนี้แทนแดงเพียงจํานวน 2 แสนบาท และได้มีการทําหลักฐานลงลายมือชื่อทั้งแดงและเขียว อยากทราบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคหนึ่ง “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 680 วรรคหนึ่ง การค้ำประกันนั้นจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาทําสัญญา กับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชําระหนี้นั้นแทนลูกหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้หนี้เงินกู้ยืมระหว่างแดงกับเหลืองจะเป็นหนี้ที่สมบูรณ์และสามารถ ทําสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง แต่การที่เขียวได้ตกลงกับแดงว่าหากแดงชําระหนี้ไม่ได้ ตนจะ เป็นผู้ชําระหนี้แทนนั้น ถือเป็นการตกลงกันระหว่างเขียวบุคคลภายนอกกับแดงซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามมาตรา 680 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สัญญาระหว่างเขียวกับแดงจึงไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน เพราะมิใช่ สัญญาที่บุคคลภายนอกได้ทํากับเจ้าหนี้เพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

สรุป

สัญญาระหว่างเขียวกับแดงดังกล่าวไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน

 

ข้อ 2. นาย ก. ยืมเงินนาย ข. 1 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อมา นาย ค. นําที่ดินของตนมาจํานองประกันหนี้รายนี้ 10 เดือนต่อมาลูกหนี้ผิดนัดและไม่ชําระหนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ปี ทั้งเจ้าหนี้ก็ไม่ยอมฟ้องโดยอ้างว่าไม่มีเวลา ดังนี้ นาย ค. เกรงว่าหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด จึงมาปรึกษานักศึกษา ๆ จะให้ความเห็นกับ นาย ค. ว่าอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 729/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกําหนดชําระ ถ้าไม่มี การจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิ์อื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จํานองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือ ไปยังผู้รับจํานองเพื่อให้ผู้รับจํานองดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดี ต่อศาล โดยผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับ หนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จํานองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลาที่ กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จํานองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. ยืมเงินนาย ข. 1 ล้านบาท โดยมีนาย ค. นําที่ดินของตน มาจํานองประกันหนี้รายนี้ และต่อมาลูกหนี้ผิดนัดและไม่ชําระหนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 ปี ทั้งเจ้าหนี้ก็ไม่ยอมฟ้อง โดยอ้างว่าไม่มีเวลานั้น ดังนี้ เมื่อนาย ค. เกรงว่าหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด และได้มาปรึกษากับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนําแก่นาย ค. ตามมาตรา 729/1 ดังนี้คือ

ถ้าที่ดินที่นาย.ค. นําไปจํานองเพื่อประกันหนี้ดังกล่าวไม่มีการจํานองรายอื่น หรือบุริมสิทธิ์อื่น อันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ นาย ค. ผู้จํานองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังนาย ข. ผู้รับจํานอง เพื่อให้นาย ข. ผู้รับจํานองดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล ซึ่ง ผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จํานองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาดได้ (มาตรา 729/1 วรรคหนึ่ง)

และหากนาย ข. ผู้รับจํานองไม่ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลา ที่กําหนด ให้นาย ค. ผู้จํานองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว (มาตรา 729/1 วรรคสอง)

สรุป

เมื่อนาย ค. มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้ความเห็นและแนะนํากับนาย ค. ดังกล่าว ข้างต้น

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท แดงจํานําใบหุ้นและวัวท้องแก่หนึ่งตัวไว้กับดําโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาแดงไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ดํายังคงต้องการบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินข้างต้น ในขณะนั้น ใบหุ้นเป็นเงิน 100,000 บาท มีเงินปันผล 2,000 บาท ส่วนแม่วัวตกลูกออกมาหนึ่งตัว แม่วัวราคา 60,000 บาท ลูกวัวราคา 20,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

(ข) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่บังคับได้โดยวิธีใด เพราะเหตุใด

(ค) ดําจะได้รับชําระหนี้เท่าใด และแดงต้องรับผิดอย่างไรต่อไป เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจาก ทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท แดงได้จํานําใบหุ้นและวัวท้องแก่ หนึ่งตัวไว้กับดําโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ต่อมาเมื่อแดงไม่ชําระหนี้ตามกําหนด ดํายังคงต้องการบังคับชําระหนี้ จากทรัพย์สินดังกล่าว ในขณะนั้นใบหุ้นเป็นเงิน 100,000 บาท มีเงินปันผล 2,000 บาท ส่วนแม่วัวตกลูกออกมา หนึ่งตัวโดยแม่วัวราคา 60,000 บาท และลูกวัวราคา 20,000 บาท ดังนี้

(ก) ดําย่อมสามารถบังคับชําระหนี้ได้จากใบหุ้นและแม่วัวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่แดงได้จํานําไว้ กับดําตามมาตรา 747 ประกอบมาตรา 764 วรรคสอง และดํายังสามารถบังคับชําระหนี้ได้จากเงินปันผลซึ่งเป็น ตอกผลนิตินัยได้ตามมาตรา 761 แต่จะบังคับชําระหนี้เอาจากลูกวัวไม่ได้เพราะลูกวัวเป็นดอกผลธรรมดา

 

(ข) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากใบหุ้นและแม่วัวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จํานําได้โดยการนํา ออกขายทอดตลาดตามมาตรา 747 ประกอบมาตรา 764 วรรคสอง ส่วนเงินปันผลซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยนั้น ดําสามารถบังคับชําระหนี้ได้โดยการจัดสรรชําระหนี้ตามมาตรา 761 การโอนเอง

 

(ค) ดําจะได้รับชําระหนี้จากใบหุ้นเป็นเงิน 100,000 บาท เงินปันผล 2,000 บาท และจาก แม่วัวเป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 162,000 บาท ซึ่งจะได้เงินน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชําระอีก 38,000 บาท ดังนั้น จํานวนหนี้ที่เหลืออีก 38,000 บาทซึ่งเป็นหนี้สามัญ แดงจึงต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ดําตามมาตรา 767 วรรคสอง

สรุป

(ก) สามารถบังคับชําระหนี้ได้จากใบหุ้น แม่วัว และเงินปันผล

(ข) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากใบหุ้นและแม่วัวโดยการนําออกขายทอดตลาด

และสามารถบังคับชําระหนี้จากเงินปันผลโดยการจัดสรรชําระหนี้

(ค) ดําจะได้รับชําระหนี้ทั้งหมด 162,000 บาท และแดงต้องรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดอีกจํานวน 38,000 บาท ให้แก่ดํา

Advertisement