การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ขวดฟ้องขับไล่แก้วออกจากที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของขวด แก้วให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของแก้วที่ได้รับมรดกจากบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่แก้วและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับให้แก้วชำระค่าเสียหายแก่ขวดไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ต่อมาแก้วเป็นโจทก์ฟ้องว่าขวดดำเนินการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของแก้วขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเนื้อที่ดินในโฉนดของขวด หากท่านเป็นขวดท่านจะให้การต่อสู้คดีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 147 วรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..

          มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุผลอย่างเดียวกัน..

          วินิจฉัย

          การฟ้องซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 148 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1.      คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว

2.      คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด

3.      ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

4.      ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

5.      ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ขวดฟ้องขับไล่แก้วออกจากที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่แก้วและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับให้แก้วชำระค่าเสียหายแก่ขวดด้วยนั้น เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147

          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาแก้วได้เป็นโจทก์ฟ้องศาลว่าขวดดำเนินการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของแก้ว ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเนื้อที่ดินในโฉนดของขวด ดังนี้ เมื่อคดีนี้และคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน และการที่แก้วฟ้องคดีนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุว่าที่ดินพิพาทเป็นของแก้วหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วในคดีก่อน กล่าวคือ หากข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของแก้ว ศาลจึงจะพิพากษาให้เพิกถอนและแก้ไขเนื้อที่ดินในโฉนดที่ดินของขวดตามฟ้องของแก้วได้ ดังนั้น ฟ้องของแก้วจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (ตามนัยคำพิพากษาฎีกา ที่ 1022/2552)

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นขวด ข้าพเจ้าจะให้การต่อสู้ว่าฟ้องของแก้วเป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 2. ลักษณ์ซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากเจษฎาที่อยู่ติดกับที่ดินของเจนจิรา โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากเจษฎาส่งมอบที่ดินให้ลักษณ์เข้าครอบครองแล้ว ลักษณ์ได้ใช้ทางเดินในที่ดินของเจนจิราจนได้ภาระจำยอม ต่อมาลักษณ์ได้ทำสัญญากับรจเรขให้รจเรขมีสิทธิอาศัยในที่ดินมือเปล่านี้แปลงนี้ เมื่อเจษฎาถึงแก่ความตาย ลักษณ์จึงฟ้องทายาทของเจษฎาให้จดทะเบียนโอนที่ดินแก่ลักษณ์ ส่วนเจนจิราปิดทางเดินซึ่งเป็นทางภาระจำยอมในที่ดินของตนทำให้รจเรขไม่สามารถเดินผ่านทางภาระจำยอมดังกล่าวได้ รจเรขจึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับเจนจิราเปิดทางภาระจำยอม ท่านเห็นว่าลักษณ์และรจเรขมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

          วินิจฉัย

          ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใดๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลได้จะต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.      กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอเป็นคดีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2.      กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยืนต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1) เช่น การขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของตนแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

          กรณีตามอุทาหรณ์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างลักษณ์กับเจษฎานั้น เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งเจษฎามีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเจษฎาส่งมอบที่ดินพิพาทและลักษณ์ได้เข้าครอบครองแล้ว ลักษณ์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองมาด้วยการครอบครองตามกฎหมายมิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย เจษฎาจึงไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ลักษณ์ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลักษณ์ได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แต่อย่างใด ลักษณ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้บังคับทายาทของเจษฎาให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ลักษณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 675/2550)

          ส่วนกรณีของภาระจำยอมในทางเดินนั้น ถือเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์เท่านั้น เมื่อรจเรขเป็นเพียงผู้อาศัย มิใช่เจ้าของที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ การที่เจนจิราปิดทางเดินซึ่งเป็นทางภาระจำยอมในที่ดินของตน จึงไม่ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของรจเรขแต่อย่างใด ดังนั้น รจเรขจึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้บังคับเจนจิราเปิดทางภาระจำยอมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3514-3515/2542)

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งลักษณ์และรจเรขไม่มีอำนาจฟ้องตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. แดงฟ้องขับไล่เขียวให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทของแดง เนื่องจากเขียวผิดสัญญาเช่า และแดงบอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้เขียวชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย เขียวให้การว่าเขียวไม่ได้ผิดสัญญายังไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่า และแดงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ระหว่างการพิจารณาเหลืองยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีนี้อ้างว่า เหลืองได้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทบางส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าเหลือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ครอบครอง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของเหลือง โดยไม่อนุญาตให้เหลืองเข้ามาเป็นคู่ความ ต่อมาศาลพิพากษาและออกคำบังคับให้เขียวและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ก่อนมีการบังคับคดีขาวยื่นคำร้องว่าขาวเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการบังคับคดี ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของขาวโดยเห็นว่าไม่มีส่วนได้เสีย ท่านเห็นด้วยกับคำสั่งศาลในกรณีของเหลืองและขาวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจาณาความแพ่ง

          มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)    ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

                             มาตรา 296 ทวิ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปหรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครอง ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว

วินิจฉัย

                             ตามบทบัญญัติมาตรา 57(1) แห่ง ป.วิ.พ. ได้บัญญัติเป็นหลักไว้ว่า บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดเข้ามาในคดีด้วยความสมัครใจเอง หากบุคคลดังกล่าวมีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของตน จึงต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่นั่นเอง

          หรือเป็นกรณีที่ตนมีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและถูกโต้แย้งสิทธิ กล่าวคือ ตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ก็สามารถร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้

          กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ว่าข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำสั่งศาลในกรณีของเหลืองและขาวหรือไม่ เป็นดังนี้

          ข้าพเจ้าเห็นด้วยในกรณีของเหลือง เพราะเหลืองมิได้กล่าวอ้างเลยว่า เหลืองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับเขียวอย่างใด ข้ออ้างของเหลืองดังกล่าวเป็นกรณีที่เหลืองตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับแดงทั้งสิ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้เลย กล่าวคือ เหลืองมีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่อย่างใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่เขียวก็ย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของเหลือง ดังนั้น เหลืองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดีนี้  และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องขอของเหลืองไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1) (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4517/2540)

          แต่ไม่เห็นด้วยในกรณีของขาว เพราะการที่เขียวจะต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคำบังคับนั้น ย่อมจะเป็นผลเสียแก่ขาว หากขาวเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนั้นเมื่อขาวเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและถูกโต้แย้งสิทธิ จึงชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57(1) โดยไม่ต้องรอให้มีการบังคับคดีเสียก่อน เนื่องจากแดงสามารถขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างได้ทันทีตามมาตรา 296 ทวิ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3776/2534 ประชุมใหญ่)

                   สรุป ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำสั่งศาลในกรณีของเหลือง แต่ไม่เห็นด้วยในกรณีของขาวตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4. ในคดีแพ่งคดีหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าเจ้าของที่ดินพิพาทได้ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทจำเลยเข้ามาอยู่โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ศาลขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ศาลพิจารณาและพิพากษาให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย สมศรีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์หลังจากโจทก์ถึงแก่ความตายไปแล้วเกินกว่า 1 ปี จำเลยโต้แย้งว่า การยื่นคำร้องของสมศรีไม่ชอบเพราะคดีนี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ สิทธิอาศัยของโจทก์ย่อมระงับเพราะความตายของโจทก์และสมศรียื่นคำร้องเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ขอให้ยกคำร้องขอ ท่านเห็นว่าศาลอุทธรณ์ควรจะพิจารณาคำร้องของสมศรีอย่างไร

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 42 “ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ

          ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ

          มาตรา 132 “ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร

          (3) ถ้าความมรณะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังให้คดีนั้นไม่มีประโยชน์ต่อไป หรือถ้าไม่มีผู้ใดเข้ามาแทนที่คู่ความฝ่ายที่มรณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42”

          วินิจฉัย

          กรณีตามอุทาหรณ์ แม้สิทธิอาศัยจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ซึ่งเมื่อโจทก์ผู้ได้รับสิทธิอาศัยถึงแก่ความตาย สิทธิอาศัยย่อมเป็นอันระงับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 มิใช่สิทธิเฉพาะตัวอันทำให้ความมรณะของคู่ความฝ่ายโจทก์ยังให้คดีไม่มีประโยชน์ต่อไปแต่อย่างใด (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1180/2538)

          ดังนั้น การเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความผู้มรณะของสมศรีนั้น แม้จะร้องขอเข้ามาเมื่อเกินกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ประกอบด้วยมาตรา 132(3) บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงสามารถรับคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความของสมศรีและอนุญาตให้สมศรีซึ่งเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้

          สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่าศาลอุทธรณ์ควรรับคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความของสมศรีและอนุญาตให้สมศรีเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์

Advertisement