การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 แดงกู้เงินเขียว 5 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง เขียวขอให้แดงหาผู้ค้ำประกัน แดงจึงไปหาม่วงให้มาตกลงกับเขียวค้ำประกันในหนี้เงินกู้ดังกล่าว แต่ตอนทําหนังสือค้ำประกันปรากฏว่ามีเพียงม่วง และเขียวลงลายมือชื่อ ไม่มีแดงลงลายมือชื่อ เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ แดงชําระหนี้ไม่ได้ เขียวจึงมี จดหมายไปขอให้ม่วงชําระหนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกันทันที ม่วงต่อสู้ว่าหลักฐานการคําประกัน ไม่ถูกต้อง เพราะแดงไม่ได้ลงลายมือชื่อ ตนจึงไม่ต้องรับผิด อยากทราบว่า ข้ออ้างของม่วงรับฟังได้หรือไม่ และการจะบังคับม่วงให้ชําระหนี้ต้องทําประการใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคหนึ่ง “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

มาตรา 686 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนที่ หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชําระหนี้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ”

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทําถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานในการ ฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชําระหนี้เอาจาก ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงกู้เงินเขียว 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานถูกต้อง และมีม่วงมาตกลงกับ เขียวค้ำประกันในหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยทําหลักฐานค้ำประกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อม่วงผู้ค้ําประกันและเขียว เจ้าหนี้ แต่แดงผู้กู้ไม่ได้ลงลายมือชื่อนั้น สัญญาค้ำประกันระหว่างม่วงผู้ค้ำประกันและเขียวเจ้าหนี้ย่อมมีผล สมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 680 และ 681 วรรคหนึ่ง

เพราะสัญญาค้ำประกันนั้น กฎหมายกําหนดให้ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสําคัญ ส่วนเจ้าหนี้และลูกหนี้จะลงลายมือชื่อในสัญญาค้ําประกันหรือไม่ไม่สําคัญ ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ แดงชําระหนี้ไม่ได้ เขียวจึงมีจดหมายไปขอให้ม่วงชําระหนี้แทนในฐานะผู้ค้ำประกันทันที และม่วงต่อสู้ว่าหลักฐานการค้ำประกันไม่ถูกต้อง เพราะแดงไม่ได้ลงลายมือชื่อ ตนจึงไม่ต้องรับผิดนั้น ข้อต่อสู้ ของม่วงในกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ถึงกําหนดชําระและแดงลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่เขียวเจ้าหนี้จะบังคับ ให้ม่วงชําระหนี้ทันทีไม่ได้ เขียวจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 686 วรรคหนึ่งก่อน กล่าวคือ เขียวจะต้องมีหนังสือ บอกกล่าวไปให้ม่วงผู้ค้ำประกันทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้

สรุป

ข้ออ้างของม่วงที่ว่าหลักฐานการค้ำประกันไม่ถูกต้อง เพราะแดงไม่ได้ลงลายมือชื่อนั้น รับฟังไม่ได้ และการที่เขียวจะบังคับม่วงให้ชําระหนี้ได้นั้น เขียวจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปให้ม่วงผู้ค้ำประกัน ชําระหนี้ทราบก่อนภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด จะขอให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ทันทีไม่ได้

 

ข้อ 2 จงอธิบายถึงวิธีการบังคับจํานองมาพอสังเขป

ธงคําตอบ

วิธีการบังคับจํานองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มี 3 วิธี ได้แก่

1 การบังคับจํานองโดยผู้รับจํานองฟ้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สิน ซึ่งจํานอง และให้ขายทอดตลาด ตามมาตรา 728 ซึ่งบัญญัติว่า

“เมื่อจะบังคับจํานองนั้น ผู้รับจํานองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชําระหนี้ ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสีย ไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจํานอง และให้ขายทอดตลาดก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อัน บุคคลอื่นต้องชําระ ผู้รับจํานองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จํานองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่ง หนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจํานองมิได้ดําเนินการภายในกําหนดเวลาสิบห้าวันนั้นให้ผู้จํานองเช่นว่านั้น หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว”

ตามบทบัญญัติมาตรา 728 ดังกล่าวข้างต้น เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงวิธีการในการบังคับจํานอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยหากเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจํานองต้องการบังคับจํานองโดยการขายทอดตลาด ทรัพย์สินที่จํานอง จะต้องส่งคําบอกกล่าวไปให้ใครบ้าง และหากเจ้าหนี้ไม่ส่งคําบอกกล่าวไปให้บุคคลที่กฎหมาย ระบุแล้วจะมีผลอย่างไรนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1.1 ถ้าลูกหนี้เป็นผู้จํานองทรัพย์สินของตนเองไว้เพื่อประกันหนี้ที่ตนต้องชําระ (มาตรา 728 วรรคหนึ่ง)

กรณีนี้ เจ้าหนี้ผู้รับจํานองจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้ชําระหนี้ ภายในกําหนดเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สิน ซึ่งจํานองและให้นําออกขายทอดตลาดได้

แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลทําให้เจ้าหนี้ไม่มีอํานาจ ฟ้องบังคับจํานอง ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องบังคับจํานองศาลก็จะไม่รับฟ้อง แต่จะสั่งให้เจ้าหนี้ไปส่งคําบอกกล่าวแก่ลูกหนี้ใหม่

1.2 ถ้าผู้จํานองเป็นบุคคลอื่นซึ่งได้จํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ที่ลูกหนี้ จะต้องชําระ (มาตรา 728 วรรคสอง)

กรณีนี้ เจ้าหนี้ผู้รับจํานองจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว (หนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้ ตามมาตรา 728 วรรคหนึ่ง) ให้ผู้จํานองทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าเจ้าหนี้ มิได้ดําเนินการภายในกําหนดเวลา 15 วันนั้น ย่อมมีผลทําให้ผู้จํานองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและ ค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระหนี้ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้น นับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา 15 วันดังกล่าว

2 การบังคับจํานองโดยผู้รับจํานองฟ้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อเรียกเอาทรัพย์จํานองหลุด ตาม มาตรา 729 ซึ่งบัญญัติว่า

“ในการบังคับจํานองตามมาตรา 728 ถ้าไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้ จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จํานองหลุดภายใน บังคับแห่งเงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไปนี้แทนการขายทอดตลาดก็ได้

(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี และ

(2) ผู้รับจํานองต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจํานวนเงินอัน ค้างชําระ”

ตามบทบัญญัติมาตรา 729 เป็นวิธีการบังคับจํานองวิธีหนึ่ง โดยผู้รับจํานองจะฟ้องเป็นคดีต่อศาล เพื่อจะเอาทรัพย์สินที่จํานองเป็นของตนเองที่เรียกว่า “เอาทรัพย์จํานองหลุด” ซึ่งเป็นสิทธิของผู้รับจํานอง แต่จะต้องปรากฏว่า

(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี

(2) ผู้รับจํานองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นน้อยกว่าจํานวนเงินอันค้างชําระ

(3) ไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้

3 ผู้จํานองขอให้ผู้รับจํานองดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองได้โดยไม่ต้องฟ้อง เป็นคดีต่อศาล ตามมาตรา 729/1 ซึ่งบัญญัติว่า

“เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกําหนดชําระ ถ้าไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิ์อื่นอันได้ จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จํานองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจํานองเพื่อให้ผู้รับจํานอง ดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยผู้รับจํานองต้องดําเนินการ ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของ ผู้จํานองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลาที่กําหนด ไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จํานองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่า ภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว”

ตามมาตรา 729/1 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้จํานองมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับจํานอง เพื่อให้ผู้รับจํานองเอาทรัพย์สินของตนเองที่จํานองไว้นั้นออกขายทอดตลาดได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล หากทรัพย์สินที่จํานองนั้นไม่มีการจํานองรายอื่น (ไม่มีการจํานองซ้อน) หรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้ เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ และผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น

ถ้าผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลา 1 ปีดังกล่าว ผู้จํานองย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระตลอดจนค่าภาระติดพัน อันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงได้ส่งมอบวัวของตนสองตัวไว้กับดําเพื่อประกันหนี้รายนี้ วัวตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ ซึ่งคู่สัญญาตกลงกันให้เหลืองเช่าไปทํานา ส่วนตัวที่สองกําลังท้องแก่ ต่อมา เหลืองส่งมอบวัวคืนให้ดําเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง และชําระค่าเช่าไว้กับดํา 5,000 บาท ส่วนแม่วัวตกลูกออกมาหนึ่งตัว ประจวบกับหนี้ถึงกําหนดชําระ แต่แดงไม่ชําระหนี้ ดําต้องการบังคับ ชําระหนี้ ในขณะนั้นวัวตัวผู้ราคา 40,000 บาท แม่วัวราคา 30,000 บาท ลูกวัวราคา 20,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยจําแนกเป็นข้อ ๆ ว่า

1 ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากวัวตัวผู้และแม่วัวได้หรือไม่ โดยวิธีใด และอย่างไร

2 ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากค่าเช่าและลูกวัวได้หรือไม่ โดยวิธีใด

3 หากมีหนี้ค้างชําระ แดงต้องรับผิดหรือไม่ และเท่าไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจากทรัพย์สินนั้น อย่างไร ท่านให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระ ท่านให้จัดสรร ใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชําระหนี้ และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้และ อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท และแดงได้ส่งมอบวัวของตน 2 ตัวไว้กับดํา เพื่อประกันหนี้รายนี้นั้น ย่อมถือว่าเป็นสัญญาจํานําและมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 747 ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกําหนด แต่แดงไม่ชําระหนี้ และดําต้องการบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นวัวตัวผู้มีราคา 40,000 บาท และมีเงินจากค่าเช่าวัวตัวผู้อีก 5,000 บาท ส่วนแม่วัวซึ่งตกลูกออกมาหนึ่งตัว โดยแม่วัวมีราคา 30,000 บาท และ ลูกวัวมีราคา 20,000 บาท

1 ดําย่อมสามารถบังคับชําระหนี้ได้จากวัวตัวผู้และแม่วัวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่แดงได้จํานําไว้กับ ดําตามมาตรา 747 ประกอบมาตรา 764 โดยวิธีบังคับจํานํา โดยดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่า ให้ชําระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว และถ้าแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ดําเจ้าหนี้ผู้รับจํานําก็ชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําได้แก่วัวตัวผู้และแม่วัวออกขายทอดตลาดได้

2 ดําย่อมสามารถบังคับชําระหนี้ได้จากค่าเช่าวัวตัวผู้ 5,000 บาท เพราะเป็นดอกผลนิตินัย โดยวิธีจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชําระแก่ตน ถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระก็ให้จัดสรรใช้ต้นเงิน ตามมาตรา 761 แต่จะบังคับชําระหนี้เอาจากลูกวัวซึ่งเป็นดอกผลธรรมดาไม่ได้

3 เมื่อบังคับชําระหนี้เอาจากวัวตัวผู้ แม่วัว และค่าเช่าวัวตัวผู้แล้ว ดําก็จะได้รับชําระหนี้ เป็นเงิน 75,000 บาท ซึ่งยังขาดอยู่อีก 25,000 บาท ส่วนที่ขาดดังกล่าวนั้น แดงยังจะต้องรับผิดและรับใช้เงิน ให้แก่ดํา ตามมาตรา 767 วรรคสอง

สรุป

1 ดําสามารถบังคับชําระหนี้ได้จากวัวตัวผู้และแม่วัว โดยวิธีบังคับจํานํา

2 ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากค่าเช่าวัวตัวผู้ได้ โดยวิธีจัดสรรชําระหนี้ แต่จะบังคับชําระหนี้จากลูกวัวไม่ได้

3 เมื่อมีหนี้ค้างชําระ แดงยังคงต้องรับผิดต่อดําในหนี้ที่ค้างชําระ 25,000 บาท

Advertisement