การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3103 (LAW3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสุชาติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัย ต่อมานางสาวอรทัยได้จดทะเบียนสมรสกับนายวุฒิชัยซึ่งเป็นญาติกับนายสุชาติ ต่อมานายสุชาติได้ทําสัญญาหมั้นนางสาวปราณีด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงิน 300,000 บาท โดยมีญาติพี่น้องและนายวุฒิชัยกับนางสาวอรทัยมาร่วมแสดง ความยินดีด้วย ปรากฏว่าต่อมานายสุชาติได้ไปเที่ยวเตร่พบกับนางสาวอรทัยและได้เกินเลยไปมี ความสัมพันธ์ทางเพศกัน เช่นนี้

(ก) เมื่อนางสาวปราณีทราบว่านายสุชาติได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับนางสาวอรทัย ก็เห็นว่านายสุชาติไม่เหมาะสมที่จะมีครอบครัวด้วย นางสาวปราณีไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสกับนายสุชาติได้หรือไม่ (แต่นายสุชาติยังต้องการสมรสกับนางสาวปราณี) เพราะเหตุตาม กฎหมายใด จงอธิบาย

(ข) นางสาวปราณีต้องการเรียกร้องค่าทดแทนจากนายสุชาติได้หรือไม่ เพราะเหตุตามกฎหมายใด จงอธิบาย

(ค) นางสาวปราณีต้องการเรียกร้องค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยได้หรือไม่ เพราะเหตุตาม กฎหมายใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”

มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”

มาตรา 1445 “ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุชาติได้ทําสัญญาหมั้นนางสาวปราณีด้วยแหวนเพชร 1 วง และเงิน 300,000 บาทนั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว การหมั้นย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และจากข้อเท็จจริงการที่นายสุชาติได้ไปเที่ยวเตร่พบกับนางสาวอรทัยซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกับนายวุฒิชัยแล้ว และได้เกินเลยไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันนั้น เช่นนี้

(ก) เมื่อนางสาวปราณีทราบว่านายสุชาติคู่หมั้นได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับนางสาวอรทัย และเห็นว่านายสุชาติไม่เหมาะสมที่จะมีครอบครัวด้วย การที่นางสาวปราณไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสกับ นายสุชาตินั้น ย่อมสามารถทําได้ โดยนางสาวปราณีกล่าวอ้างได้ว่ามีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิง ไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443

(ข) การที่นางสาวปราณีต้องการเรียกร้องค่าทดแทนจากนายสุชาตินั้น ย่อมสามารถทําได้ โดยอ้างว่าเหตุสําคัญอันเกิดแก่นายสุชาติคู่หมั้นนั้นเป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรงของนายสุชาติซึ่งได้ กระทําภายหลังการหมั้น คือ การที่นายสุชาติได้ไปเที่ยวเตร่พบกับนางสาวอรทัยและได้เกินเลยไปมีความสัมพันธ์ ทางเพศกันนั้น ถือเป็นการกระทําที่เป็นชู้หรือมีชู้กับภริยาผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ดังนั้นนายสุชาติจึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่นางสาวปราณีเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1444

(ค) การที่นางสาวปราณีต้องการเรียกร้องค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยนั้น ย่อมสามารถทําได้ เนื่องจากนางสาวอรทัยได้ร่วมประเวณีกับนายสุชาติคู่หมั้นของนางสาวปราณีโดยรู้ถึงการหมั้นระหว่างนายสุชาติกับนางปราณีแล้ว ดังนั้น นางสาวปราณีจึงสามารถเรียกร้องค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยได้ เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นกับนายสุชาติตามมาตรา 1443 แล้ว

สรุป

(ก) นางสาวปราณีไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสกับนายสุชาติได้กับนายสุชาติแล้ว

(ข) นางสาวปราณีสามารถเรียกร้องค่าทดแทนจากนายสุชาติได้

(ค) นางสาวปราณีสามารถเรียกร้องค่าทดแทนจากนางสาวอรทัยได้เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้น

 

ข้อ 2 นางสาวภัสสร อายุ 19 ปี ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอนุชิต อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่โดยไม่บอกให้ใครทราบ สองเดือนต่อมานายอนุชิตได้ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอรทัยแฟนเก่าโดยไม่ทราบว่านางสาวภัสสรได้ตั้งครรภ์แล้วหนึ่งเดือน นางสาวภัสสรเสียใจมากจึงได้ จดทะเบียนสมรสกับนายประสม อายุ 25 ปี ซึ่งมีฐานะดีตามที่บิดามารดาของนางสาวภัสสรได้ แนะนําและยินยอมให้ทําการสมรสกันโดยถูกต้อง เมื่อนายอนุชิตทราบว่านางสาวภัสสรตั้งครรภ์ จึงต้องการฟ้องว่าการสมรสของนายประสมผิดกฎหมาย แต่นายประสมก็กล่าวอ้างว่าได้ จดทะเบียนสมรสโดยบิดามารดาของนางสาวภัสสรยินยอมถูกต้องทุกประการ เช่นนี้ท่านเห็นว่า การสมรสของทั้งสองกรณีมีผลเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1510 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอม ของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอน การสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวภัสสรอายุ 19 ปีซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอนุชิต อายุ 21 ปีซึ่งเป็นเพื่อนโดยไม่บอกให้ใครทราบนั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ได้สมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจาก บิดามารดา จึงเป็นการสมรสที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 (1) ดังนั้น การสมรสระหว่างนางสาวภัสสรและนายอนุชิตจึงตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 1509 บิดามารดาของนางสาวภัสสรสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิขอให้เพิกถอนการสมรสตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันระงับ เมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ (มาตรา 1510 วรรคสอง) ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าสองเดือนต่อมานางสาวภัสสรได้ตั้งครรภ์แล้วหนึ่งเดือน บิดามารดาของนางสาวภัสสรจึงขอเพิกถอนการสมรสอีกไม่ได้ จึงมีผลทําให้การสมรสระหว่างนางสาวภัสสรและนายอนุชิตมีผลสมบูรณ์

เมื่อการสมรสระหว่างนางสาวภัสสรกับนายอนุชิตมีผลสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อนางสาวภัสสรได้มา จดทะเบียนสมรสกับนายประสมอีกแม้จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติมาตรา 1452 คือเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ดังนั้น การสมรสระหว่างนางสาวภัสสรกับ นายประสมจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

สรุป การสมรสระหว่างนางสาวภัสสรกับนายอนุชิตมีผลสมบูรณ์ ส่วนการสมรสระหว่างนางสาวภัสสร กับนายประสมเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายชาติชายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอุสาและได้มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ต่อมานายชาติชาย ก็ได้รู้จักรักใคร่กับนางสาวแตงไทยซึ่งเป็นเพื่อนรู้จักกับนางสาวอุสาดี นายชาติชายได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวแตงไทย ภายหลังการสมรสนายชาติชายยังมีความสัมพันธ์กับนางสาวอุสาอยู่อีก และอุปการะเลี้ยงดูเนื่องจากมีบุตรด้วยกัน นางสาวแตงไทยทะเลาะเบาะแว้งกับนายชาติชาย แต่นายชาติชายกล่าวอ้างว่านางสาวแตงไทยรู้จักและทราบเรื่องการมีบุตรกับนางสาวอุสาทุกอย่าง ก่อนจดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว จึงไม่สามารถฟ้องหย่าได้ เช่นนี้ นางสาวแตงไทยจะสามารถฟ้องหย่า และมีวิธีที่จะเรียกค่าทดแทนจากทั้งนายชาติชายและนางสาวอุสาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็น เหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยา หรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติชายได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวแตงไทย และภายหลังการสมรสนายชาติชายยังมีความสัมพันธ์กับนางสาวอุสาอยู่อีกและอุปการะเลี้ยงดูเนื่องจากมีบุตรด้วยกันนั้น

ถือว่าเป็นกรณีที่นายชาติชายสามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยา ดังนั้น นางสาวแตงไทยย่อมถือเป็น เหตุที่จะฟ้องหย่านายชาติชายได้ตามมาตรา 1516 (1) ส่วนการที่นายชาติชายกล่าวอ้างว่านางสาวแตงไทยรู้จัก และทราบเรื่องการมีบุตรกับนางสาวอุสา ทุกอย่างก่อนการจดทะเบียนอยู่แล้วจึงไม่สามารถฟ้องหย่าได้นั้น ไม่อาจถือว่าเป็นการยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําของนายชาติชายซึ่งจะเป็นเหตุยกเว้นทําให้นางสาวแตงไทย ไม่สามารถฟ้องหย่าตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด

ส่วนการที่นางสาวแตงไทยจะเรียกค่าทดแทนจากทั้งนายชาติชายและนางสาวอุสานั้น นางสาวแตงไทยสามารถทําได้โดยวิธีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นางสาวแตงไทยจะต้องฟ้องหย่านายชาติชาย ตามมาตรา 1516 (1) ก่อน และเมื่อศาลได้พิพากษาให้หย่ากันแล้ว นางสาวแตงไทยก็จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจาก นายชาติชายและนางสาวอุสาได้

สรุป นางสาวแตงไทยสามารถฟ้องหย่านายชาติชายได้ และสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายชาติชาย และนางสาวอุสาได้ เมื่อนางสาวแตงไทยฟ้องหย่านายชาติชายเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) และศาลได้พิพากษา ให้หย่ากันแล้ว

 

ข้อ 4 นายสุรชัยเป็นสามีภริยากับนางแพรวตา ภายหลังการสมรสนายสุรชัยเห็นว่านางแพรวตาต้องทําธุรกิจการค้าจึงได้ทําหนังสือยินยอมให้นางแพรวตาสามารถทําการจัดการสินสมรสทั้งหมดตามมาตรา 1476 ได้โดยลําพัง ต่อมานางแพรวตาได้รับมรดกที่ดินมาจึงไปให้เช่ามีกําหนด 30 ปี ได้รับเงินค่าเช่ามา 5 ล้านบาท นางแพรวตานําเงิน 3 ล้านบาทไปซื้อที่ดินมา 1 แปลงและให้เงิน 400,000 บาทแก่นายอภิชาตน้องชาย นายสุรชัยไม่พอใจที่นางแพรวตาไม่ปรึกษาหารือกับตนก่อนดําเนินการจึงต้องการฟ้องเพิกถอนการซื้อที่ดินและการให้เงินดังกล่าว เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดินสิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุรชัยซึ่งเป็นสามีภริยากับนางแพรวตาได้ทําหนังสือยินยอมภายหลัง การสมรสให้นางแพรวตาสามารถทําการจัดการสินสมรสทั้งหมดตามมาตรา 1476 ได้โดยลําพังนั้น หนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้เพราะกรณีที่สามีและภริยาจะตกลงในเรื่องการจัดการสินสมรสให้แตกต่าง ไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้นั้น จะต้องได้ทําสัญญากันไว้ก่อนสมรสตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 (มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อนายสุรชัยและนางแพรวตาไม่ได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายสุรชัยและนางแพรวตาในเรื่องการจัดการสินสมรสจึงต้องบังคับตามมาตรา 1476

การที่นางแพรวตาได้รับมรดกเป็นที่ดินมานั้น ที่ดินดังกล่าวถือเป็นสินส่วนตัวของนางแพรวตา ตามมาตรา 1471 (3) แต่ค่าเช่าจํานวน 5 ล้านบาท ถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) เพราะเป็นดอกผล ของสินส่วนตัว และเมื่อนางแพรวตาได้นําเงินที่ได้รับจากค่าเช่าที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสจํานวน 3 ล้านบาทไปซื้อที่ดินมา 1 แปลงนั้น ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1476 ดังนั้น นางแพรวตาจึงสามารถทําได้โดยลําพัง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากนายสุรชัย นายสุรชัยจึงไม่สามารถฟ้องเพิกถอนการซื้อที่ดินได้

ส่วนการที่นางแพรวตาได้นําเงินจากค่าเช่าที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสจํานวน 400,000 บาทให้แก่ นายอภิชาตน้องชายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายสุรชัยนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1476 (5) ดังนั้น นายสุรชัยจึงสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

สรุป นายสุรชัยจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินไม่ได้ แต่สามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เงินดังกล่าวได้

Advertisement