การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ในเดือนเมษายน นายพิษณุได้พานางสาวทิพวรรณแฟนสาวไปที่ร้านขายเพชรและซื้อแหวนเพชร ราคา 300,000 บาท สวมให้นางสาวทิพวรรณต่อหน้าพนักงานขายโดยตกลงกันว่าจะทําการสมรสกัน ในเดือนพฤศจิกายน นางสาวทิพวรรณเห็นว่านายพิษณุรักตนจริง จึงได้ลาออกจากงานไปช่วย ทํางานที่บ้านของนายพิษณุและไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนายพิษณุ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน นายพิษณุไม่ยอมจดทะเบียนสมรสแต่กลับพานางสาวเพชรามาอยู่กินฉันสามีภริยาและขับไล่ให้นางสาวทิพวรรณกลับบ้านของตน
(ก) นางสาวทิพวรรณได้ไปตรวจร่างกายจึงทราบว่ากําลังตั้งครรภ์อยู่ จึงต้องการฟ้องให้นายพิษณุ ทําการจดทะเบียนสมรสตามสัญญาได้หรือไม่ และ
(ข) จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนางสาวทิพวรรณจะฟ้องนายพิษณุได้หรือไม่ และจะมีสิทธิอะไรบ้างเพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”
มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”
มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิษณุได้พานางสาวทิพวรรณแฟนสาวไปที่ร้านขายเพชรและซื้อ แหวนเพชรราคา 300,000 บาท สวมให้นางสาวทิพวรรณต่อหน้าพนักงานขายโดยตกลงกันว่าจะทําการสมรสกัน ในเดือนพฤศจิกายนนั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นคือแหวนเพชรให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์แล้วตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439 ประกอบมาตรา 1440
(ก) การที่นางสาวทิพวรรณได้ไปตรวจร่างกายจึงทราบว่ากําลังตั้งครรภ์อยู่จึงต้องการฟ้องให้ นายพิษณุทําการจดทะเบียนสมรสตามสัญญาหมั้น ย่อมไม่สามารถทําได้ เนื่องจากมาตรา 1438 ได้บัญญัติไว้ว่า การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้
(ข) การที่นางสาวทิพวรรณเห็นว่านายพิษณุรักตนจริง จึงได้ลาออกจากงานไปช่วยทํางานที่บ้าน ของนายพิษณุและไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนายพิษณุ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน นายพิษณุไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนางสาวทิพวรรณแต่กลับพานางสาวเพชรามาอยู่กินฉันสามีภริยาและขับไล่ให้นางสาวทิพวรรณกลับบ้านของตนนั้น ย่อมถือว่านายพิษณุเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ดังนั้น นางสาวทิพวรรณจึงสามารถฟ้องนายพิษณุให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่นายพิษณุ และค่าทดแทนที่นางสาวทิพวรรณ มีสิทธิเรียกร้องเอาจากนายพิษณุได้นั้น ได้แก่
1 ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของนางสาวทิพวรรณตามมาตรา1440 (1)
2 ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากการที่นางสาวทิพวรรณได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสตามมาตรา 1440 (3)
ซึ่งในการเรียกค่าทดแทนดังกล่าวนั้น ตามมาตรา 1440 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นให้เป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่นางสาวทิพวรรณจึงได้รับก็ได้
สรุป
(ก) นางสาวทิพวรรณจะฟ้องให้นายพิษณุทําการจดทะเบียนสมรสตามสัญญาไม่ได้
(ข) นางสาวทิพวรรณสามารถฟ้องนายพิษณุกรณีผิดสัญญาหมั้นได้ และมีสิทธิเรียกให้ นายพิษณุรับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา 1440 (1) และ (3) ได้ โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่นายพิษณุ
ข้อ 2 นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางเดือน แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งสองคนจึงร่วมกันจดทะเบียนรับ น.ส.ฝน เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาทั้งสองคนไม่ต้องการเป็นสามีภริยากัน จึงทําหนังสือตกลงว่า จะหย่ากันโดยมีบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายลงชื่อเป็นพยานในหนังสือฉบับนี้ หลังจากนั้นนายเมฆ ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ฝน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า
(ก) การสมรสระหว่างนายเมฆและนางเดือนยังคงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) การสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.ฝน มีผลในทางกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1451 “ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้”
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458เป็นโมฆะ”
มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางเดือน แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งสองจึงร่วมกันจดทะเบียน รับ น.ส.ฝน เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาทั้งสองคนไม่ต้องการเป็นสามีภริยากัน จึงทําหนังสือตกลงกันว่าจะหย่ากัน โดยมีบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายลงชื่อเป็นพยานในหนังสือฉบับนี้นั้น แม้หนังสือหย่านั้นจะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 วรรคสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการหย่าตามมาตรา 1515 ดังนั้น การหย่าระหว่างนายเมฆ กับนางเดือนจึงยังมีผลไม่สมบูรณ์ และให้ถือว่าการสมรสระหว่างนายเมฆและนางเดือนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 1457 ประกอบมาตรา 1501
(ข) ต่อมาการที่นายเมฆไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ฝน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมนั้น แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1451 ซึ่งห้ามมิให้ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมสมรสกันก็ตาม แต่การสมรสกรณีนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การสมรสเป็นโมฆะแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการสมรสระหว่างนายเมฆกับ นางเดือนยังมีผลตามกฎหมายอยู่ การจดทะเบียนสมรสระหว่างนายเมฆกับ น.ส.ฝน จึงเป็นการจดทะเบียน สมรสซ้อน คือเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ตามมาตรา 1452 ดังนั้น การสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.ฝน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
สรุป
(ก) การสมรสระหว่างนายเมฆและนางเดือนยังมีผลในทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุดลง
(ข) การสมรสระหว่างนายเมฆและ น.ส.ฝน มีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3 นายขมและนางหวานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายขมได้ให้แหวนเพชรที่นายชมมีมาก่อนสมรส แก่นางหวาน สิบปีต่อมานายขมและนางหวานทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทั้งสองตกลงแยกกันอยู่ นายขมไปคบกับนางสาวเปรี้ยว นายขมได้มาขอแหวนเพชรคืนจากนางหวานเพื่อที่นายขมจะนําไปให้ นางสาวเปรี้ยว แต่นางหวานไม่ยอมคืนให้นายขม ต่อมานายขมนําเงินที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปซื้อบ้านและที่ดิน 1 แปลง โดยใส่ชื่อนายขมในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นนายขมทําหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี ให้กับนายจืดและ นางพริกซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนางสาวเปรี้ยว โดยนางหวานไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด ต่อมานายขมทําสัญญาให้นายจืดเช่ารถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสเพื่อทําเป็นรถแท็กซี่เป็น ระยะเวลา 5 ปี โดยนายจืดก็ทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นสินสมรสของนายชมและนางหวาน แต่นางหวานไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้เช่ารถยนต์นั้น นางหวานมาทราบเรื่องราว ต่าง ๆ ภายหลัง นางหวานโกรธมาก ดังนี้
(ก) นางหวานจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในบ้านและที่ดินและการให้เช่ารถยนต์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายขมจะบอกล้างนิติกรรมการให้แหวนเพชรกับนางหวานเพื่อที่จะนําไปให้นางสาวเปรี้ยว ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”
มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับฃความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายขมและนางหวานเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายและทั้งสองตกลงแยกกันอยู่นั้น ยังถือว่าทั้งสองยังเป็นสามีภริยากันอยู่เมื่อนายขมถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ย่อมถือว่าเงินรางวัลดังกล่าว เป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส และเมื่อนายขมได้นําเงิน ที่เป็นสินสมรสไปซื้อบ้านและที่ดิน 1 แปลง บ้านและที่ดินดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสินสมรสเช่นเดียวกัน แม้จะใส่ชื่อนายขมในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม
การที่นายขมได้ทําหนังสือและจดทะเบียนสิทธิอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี ให้กับนายจืดและนางพริกซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนางสาวเปรี้ยวนั้น ถือเป็นการทํานิติกรรมตามมาตรา 1476 (2) ที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายขม ได้ทํานิติกรรมดังกล่าวโดยนางหวานไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมด้วย นางหวานจึงสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในบ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่นายขมทําสัญญาให้นายจืดเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสเป็นเวลา 5 ปี โดยไม่ได้รับ ความยินยอมจากนางหวานนั้น เมื่อรถยนต์เป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ใช่การทํานิติกรรม ตามมาตรา 1476 (3) ที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายขมจึงมีอํานาจในการจัดการให้นายจืดเช่ารถยนต์ที่เป็นสินสมรสเป็นเวลา 5 ปีตามลําพังได้ นางหวานจึงไม่สามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ดังกล่าวได้
(ข) การที่นายขมได้ให้แหวนเพชรที่นายขมมีมาก่อนสมรสซึ่งเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (1) แก่นางหวานนั้น ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 นายขมจึงมีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็น สามีภริยากันได้ และเมื่อนายขมได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวแล้ว แหวนเพชรดังกล่าวก็จะกลับมาเป็น สินส่วนตัวของนายขม และนายขมก็มีสิทธิจัดการแหวนเพชรโดยเอาไปให้นางสาวเปรี้ยวได้ตามมาตรา 1473
สรุป
(ก) นางหวานจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิอาศัยในบ้านและที่ดินได้แต่จะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่ารถยนต์ไม่ได้
(ข) นายขมสามารถบอกล้างนิติกรรมการให้แหวนเพชรกับนางหวานเพื่อที่จะนําไปให้นางสาวเปรี้ยวได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายดําเข้ามาสนิทสนมกับครอบครัวนายไก่และนางไข่ นายไก่สังเกตว่าภริยาของตนจะสนิทสนมกับนายดําเกินไปจึงตกลงหย่ากัน โดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย มีลูกสาว 2 คนลงนามเป็นพยานและไม่ขัดข้องที่นางไข่ จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายดํา ต่อมานางไข่มีลูกกับนายดําคือเด็กชายแดง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว
(ก) การหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่มีผลในทางกฎหมายอย่างไร
(ข) การที่นางไข่ไปมีเพศสัมพันธ์กับนายดําจนมีลูกกับนายดํา นายไก่จะใช้เป็นเหตุฟ้องหย่านางไข่ได้หรือไม่
(ค) เด็กชายแดงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็น เหตุฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายไก่และนางไข่ได้ตกลงหย่ากันโดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และมีลูกสาว 2 คนลงนามเป็นพยานนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 แต่เมื่อนายไก่และนางไข่ยังไม่ได้ จดทะเบียนการหย่า การหย่าโดยความยินยอมระหว่างนายไก่และนางไข่จึงยังไม่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 1515)
(ข) การที่นางไข่ได้ไปอยู่กินและมีเพศสัมพันธ์กับนายดํานั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นางไข่มีชู้เพราะนางไข่ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่อยู่ โดยหลักนายไก่ย่อมถือเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า การที่นางไข่ไปมีเพศสัมพันธ์และอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายดํานั้น นายไก่ได้รู้เห็นเป็นใจและยินยอมด้วย ดังนั้น นายไก่จะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมาเพื่อฟ้องหย่านางไข่ไม่ได้ตาม มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง
(ค) เมื่อนายไก่และนางไข่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เพราะการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง (เนื่องจากการหย่ายังไม่สมบูรณ์) การที่นางไข่มีบุตร 1 คน คือเด็กชายแดง เด็กชายแดงย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนางไข่ตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ เพราะเด็กชายแดงได้เกิดในขณะที่นางไข่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ตามมาตรา 1536
สรุป
(ก) การตกลงหย่าระหว่างนายไก่และนางไข่มีผลไม่สมบูรณ์
(ข) นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ไม่ได้
(ค) เด็กชายแดงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก