การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2107 (LAW 2007) กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ดําไปติดต่อราชการขอทําบัตรประชาชนที่อําเภอแห่งหนึ่ง ขาวปลัดอําเภอมีหน้าที่ออกบัตร ประชาชนตามระเบียบของกระทรวงฯ กําลังดําเนินการให้ ดําเห็นว่าขาวบริการให้ไม่ทันใจล่าช้า จึงพูดว่าช่วยลัดคิวให้หน่อย ขาวบอกกับดำว่าต้องเป็นไปตามลําดับก่อนหลังของผู้มาใช้บริการ ดําโกรธไม่พอใจจึงเดินออกมาจากอําเภอ ระหว่างลงบันได ดําพบแม่ค้าน้ำปั่นใต้ที่ทําการจึงพูด กับแม่ค้าว่า “ป้ารู้จักไอ้ปลัดขาวใช่ไหม ฝากไปบอกมันด้วยว่าไม่รู้เสียแล้วว่ากูเป็นใคร กูทนรอมัน มานานแล้วไอ้ปลัดสัตว์หมา” แม่ค้าน้ำปั่นวิ่งขึ้นไปบนอําเภอบอกข้อความนี้แก่ขาว ดังนี้ ดํามี ความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้

  1. ดูหมิ่น
  2. เจ้าพนักงาน
  3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
  4. โดยเจตนา

“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือ ด่าแช่ง ต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอว่า “อ้ายเย็ดแม่” “ตํารวจชาติหมา” หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงาน อยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณี ต่อไปนี้คือ

(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ

(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่

“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่

ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือ เกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําไปติดต่อราชการเพื่อขอทําบัตรประชาชนที่อําเภอแห่งหนึ่ง โดยมีขาว ปลัดอําเภอมีหน้าที่ออกบัตรประชาชนกําลังดําเนินการให้ ดําเห็นว่าขาวบริการให้ไม่ทันใจล่าช้าจึงพูดว่าช่วยลัดคิว ให้หน่อย ขาวบอกกับคําว่าต้องเป็นไปตามลําดับก่อนหลังของผู้มาใช้บริการ ดําโกรธไม่พอใจจึงเดินออกมาจาก อําเภอ และระหว่างลงบันไดดําได้พูดกับแม่ค้าน้ำปั่นว่า “ป้ารู้จักไอ้ปลัดขาวใช่ไหม ฝากไปบอกมันด้วยว่าไม่รู้เสียแล้ว ว่ากูเป็นใคร กูทนรอมันมานานแล้วไอ้ปลัดสัตว์หมา” นั้น จะเห็นได้ว่าคําพูดของดําที่ว่า “ไอ้ปลัดสัตว์หมา” นั้น เป็นคําที่มีลักษณะเป็นการดูถูกเหยียดหยามขาวซึ่งเป็นปลัดอําเภอ และแม้ว่าดําจะพูดกับแม่ค้าน้ำปั่นโดยที่ขาวไม่ได้ยินเพราะเป็นการพูดลับหลัง ก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และเมื่อได้กระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 136 ดําจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

สรุป ดํามีความผิดอาญาฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

 

ข้อ 2 นายเขียวไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่า มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดง ข้อเท็จจริง ได้ความว่า ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดงแต่ประการใด ซึ่งนายเขียวก็ทราบดี ดังนี้ นายเขียวมีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือ เจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทําความผิด ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้

  1. รู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น
  2. แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา
  3. ว่าได้มีการกระทําความผิด
  4. โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้ หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องปรับตามบทมาตรา 172 มิใช่มาตรา 173

ซึ่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้ หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

และการแจ้งตามมาตรา 173 นี้ อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญเพราะไม่ใช่ องค์ประกอบแห่งความผิด เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทําผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทําผิดแล้ว ย่อมเป็นความผิดสําเร็จทันที ทั้งนี้ผู้กระทําผิดจะต้องได้กระทําโดยมีเจตนาด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายแดงแต่ประการใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายเขียวรู้ว่า มิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น

แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น และได้กระทําไปโดยมีเจตนา การกระทําของนายเขียวจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ดังนั้น นายเขียวจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173

สรุป นายเขียวมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173

 

ข้อ 3 นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะวางเพลิงเผาตึก ที่ทําการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง นายห้าคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการกระทําครั้งนี้ และไม่ไปร่วมทําการตามที่นัดหมาย ส่วนนายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ ถูกตํารวจจับได้ ในระหว่างกําลังหิ้วน้ำมันเบนซินและไม้ขีดไฟมาวางข้างตึกคณะนิติศาสตร์ ดังนี้ บุคคลทั้งห้า มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน และมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 210 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 219 “ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218 ต้อง ระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทําความผิดนั้น ๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บุคคลทั้งห้ามีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดหรือไม่ เห็นว่า

ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

  1. สมคบกัน
  2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
  3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
  4. โดยเจตนา

“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ

(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร

“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูงเป็น อัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทํา ความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่ กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษา หารือกันว่าจะวางเพลิงเผาตึกที่ทําการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง แต่นายห้าคัดค้านไม่เห็นด้วยและไม่ไปร่วมทําการตามที่นัดหมายนั้น ไม่ถือว่าเป็นการสมคบกันครบห้าคนในความผิดฐานเป็นซ่องโจร เพราะคําว่าสมคบนั้น หมายถึง การปรึกษาหารือแล้วตกลงร่วมกันที่จะกระทําความผิด แต่เมื่อนายห้าไม่ได้ ตกลงร่วมกันด้วยกับพวกอีกสี่คน ผู้ที่สมคบกันกระทําความผิดจึงมีเพียงสี่คน ดังนั้น บุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิด ฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บุคคลทั้งห้ามีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่ เห็นว่า

ความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

  1. ตระเตรียม
  2. เพื่อกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218
  3. โดยเจตนา

โดยทั่วไปแล้ว การตระเตรียมการยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะยังไม่ลงมือกระทําความผิด แต่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น มีผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน อย่างร้ายแรง ดังนั้นการตระเตรียมการเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น จึงเป็นความผิดแล้ว และต้องระวางโทษ เท่ากับพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217 หรือมาตรา 218 แล้วแต่กรณี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม และนายสี่ ถูกตํารวจจับได้ในระหว่าง กําลังหิ้วน้ำมันเบนซินและไม้ขีดไฟมาวางข้างตึกนิติศาสตร์นั้น การกระทําของบุคคลทั้งสี่ย่อมถือว่าอยู่ในขั้น ตระเตรียมการวางเพลิงแล้ว เพราะเป็นการกระทําด้วยประการใด ๆ อันนําไปสู่การกระทําความผิดสําเร็จได้ และถือว่าเป็นการตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (มหาวิทยาลัยรามคําแหง คือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ) ตามมาตรา 213 (4) ซึ่งได้กระทําโดยมีเจตนา ดังนั้น บุคคลทั้งสี่จึงมีความผิดฐาน ตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219 ส่วนนายห้าไม่มีความผิดฐานนี้ด้วย เพราะไม่ได้ร่วมกระทําผิด

สรุป บุคคลทั้งห้าไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 แต่นายหนึ่ง นายสอง นายสามและนายสี่ มีความผิดฐานตระเตรียมการวางเพลิงตามมาตรา 219

 

ข้อ 4 นายแดงซื้อรถยนต์มือสองจํานวน 1 คัน จากนายม่วงในราคา 300,000 บาท โดยชําระเงินสด ในวันทําสัญญากึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือนายแดงสั่งจ่ายเช็คผู้ถือจํานวน 1 ฉบับ ชําระหนี้ให้แก่นายม่วง โดยนายแดงประทับตราปลอมของธนาคารไทยนิยม จํากัด (มหาชน) และลงลายมือชื่อของ กรรมการธนาคารดังกล่าวด้านหลังเช็คผู้ถือเพื่อแสดงว่ามีการสลักหลังรับรองเช็ค ต่อมาเช็ค ฉบับดังกล่าวถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน นายม่วงจึงทวงถามให้ธนาคารไทยนิยม จํากัด (มหาชน) ชําระหนี้ตามเช็ค ให้วินิจฉัยว่า นายแดงมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอน ข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสาร ที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ….”

มาตรา 268 “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่ บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

ถ้าผู้กระทําความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

  1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ

(ค) ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

  1. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
  2. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
  3. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซื้อรถยนต์จากนายม่วงและได้ชําระเงินสดในวันทําสัญญากึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือนายแดงสั่งจ่ายเช็คผู้ถือจํานวน 1 ฉบับ ชําระหนี้ให้แก่นายม่วง โดยนายแดงประทับตราปลอมของ ธนาคารไทยนิยม จํากัด (มหาชน) และลงลายมือชื่อของกรรมการธนาคารดังกล่าวด้านหลังเช็คผู้ถือเพื่อแสดงว่า มีการสลักหลังรับรองเช็คนั้น การกระทําของนายแดงที่ประทับตราปลอมของธนาคารฯ และลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสาร (เช็ค) น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเมื่อได้กระทําโดยเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสาร ที่แท้จริง จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายแดงจึงมีความผิด ฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264

และเมื่อนายแดงได้ยื่นเช็คฉบับดังกล่าวชําระหนี้ให้กับนายม่วง จึงเป็นกรณีที่นายแดงได้ใช้เอกสาร อันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 นายแดงจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อนายแดงเป็นทั้งผู้ปลอมเอกสารและเป็นผู้ใช้เอกสารปลอม ดังนั้น จึงต้องลงโทษ นายแดงฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง

สรุป นายแดงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 และฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268

Advertisement