การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสกลนคร  เมื่อปี  พ.ศ.2480  จากบิดานายไถ่  แซ่ห่วง  สัญชาติฝรั่งเศส  และมารดานางตรัม  แซ่ห่วง สัญชาติเวียดนาม  บิดามารดาอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี  พ.ศ.2475  ประเสริฐสมรสกับนางเตียด  เวียดนามอพยพ  จดทะเบียนสมรสที่อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี  เกิดบุตรในประเทศไทย  6  คน  ก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ใช้บังคับ  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ประเสริฐและบุตรได้หรือเสียสัญชาติไทยอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พ.ร.บ. สัญชาติ  พ.ศ. 2508  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1)  ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย  ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2535  มาตรา  7  ทวิ  วรรคแรก  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย  ถ้าในขณะที่เกิด  บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

มาตรา  11  บทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ  พ.ศ. 2508  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย  เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ลงวันที่  13  ธันวาคม  2515  ก่อนวันที่พะราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337

ข้อ  1  ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย  โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว  แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3)  ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

วินิจฉัย

ประเสริฐและบุตรทั้ง  6  คนได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่  เห็นว่า  ประเสริฐเกิดที่จังหวัดสกลนคร  เมื่อปี  พ.ศ.2480  กรณีถือว่าประเสริฐเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย  ย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ศ.2508  มาตรา  7(3)

ต่อมาเมื่อประเสริฐสมรสกับนางเตียด  เวียดนามอพยพ  และเกิดบุตรในประเทศไทย  6  คน  ก่อนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  (มีผลใช้บังคับวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ.2515)  กรณีเช่นนี้บุตรทั้ง  6  คนย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(1)  เพราะในขณะที่บุตรทั้ง  6  คนเกิด  ประเสริฐบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย

และเมื่อวันที่  14  ธันวาคม  พ.ศ.2515  ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  มีผลใช้บังคับ  ประเสริฐจึงถูกถอนสัญชาติไทย เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าว  และได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)

แต่อย่างไรก็ดี  การที่ประเสริฐถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  ก็ไม่มีผลกระทบทั้ง  6  คน  เนื่องจากในขณะที่บุตรทั้ง  6  เกิด  ประเสริฐบิดายังมีสัญชาติไทยอยู่และการได้สัญชาติของบุตรทั้ง  6  คน  เป็นการได้มาตามหลักสายโลหิต  มิใช่หลักดินแดน  แม้ต่อมาประเสริฐจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติก็ตาม  ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนสัญชาติของบุตรด้วยแต่ประการใด  (ฎ.1204  1205 / 2533  ฎ.1513  1514/2531)

อนึ่งเมื่อ  พ.ร.บ.  สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มีผลใช้บังคับแล้ว  กรณีนี้ก็ไม่นำบทบัญญัติมาตรา  7  ทวิ  โดยผลของมาตรา  11  ไปใช้บังคับกับประเสริฐซึ่งทำให้ประเสริฐไม่ได้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิดด้วย  เพราะเป็นโทษกว่าประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ตามหลักที่ว่าเมื่อมีกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษหลายฉบับ  ให้ใช้กฎหมายที่เป็นโทษน้อยที่สุด

สรุป  ประเสริฐได้สัญชาติไทยตาม  พ.ร.บ.  สัญชาติ  พ.ศ.2508  มาตรา  7(3)  ต่อมาถูกถอนสัญชาติไทย  ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  337  ข้อ  1(3)  ส่วนบุตรทั้ง  6  คนได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม  พ.ร.บ.สัญชาติ  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2535  มาตรา  7(1)

 

ข้อ  2  นายมีชัยคนสัญชาติไทยได้ทำสัญญาซื้อเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน  10  เครื่องจากนายฟูจิคนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย  โดยทำสัญญากันที่ประเทศออสเตรเลีย  และขณะทำสัญญาเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย  เมื่อซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าสวิตซ์ตัวปิดเปิดของเครื่องถ่ายเอกสารทั้ง  10  เครื่องอยู่ในสภาพชำรุดใช้การไม่ได้  นายมีชัยจึงขอเปลี่ยน  แต่นายฟูจิไม่ยอมเปลี่ยนให้โดยโต้แย้งว่าตนในฐานะผู้ขายไม่จำต้องรับผิดในกรณีการชำรุดที่เกิดขึ้นนี้  ข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่านายมีชัย  และนายฟูจิไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาฉบับนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ของสัญญาฉบับนี้ไว้พิจารณา  ศาลไทยควรจะนำกฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านี้  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

  มาตรา  13  วรรคแรก ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น  ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี  ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การจะพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่สาระสำคัญหรือผลของสัญญานั้น  กรณีเป็นไปตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ. 2481  มาตรา  13  วรรคแรก  ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็นกรณีตามลำดับได้ดังนี้

1       กรณีที่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง  หรือโดยปริยายให้นำมาใช้บังคับ  ก็ให้นำกฎหมายของประเทศนั้นมาใช้บังคับ

2       กรณีที่ไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายของคู่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่สัญญา

(ก)  ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน  ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่สัญญามาใช้บังคับ

(ข)  ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติเดียวกัน  กรณีเช่นนี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

ศาลไทยควรจะนำกฎหมายของประเทศใดขึ้นปรับแก่ข้อพิพาทที่ว่านายฟูจิ  (ผู้ขาย)  จะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สิน  (เครื่องถ่ายเอกสาร)  ที่ซื้อขายกันหรือไม่นั้น  เห็นว่า  กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาไว้โดยชัดแจ้ง  หรือโดยปริยายว่าให้นำกฎหมายประเทศใดมาใช้บังคับแก่ผลของสัญญา  จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายได้ว่าคู่สัญญาจะให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลของสัญญา  ทั้งนายมีชัยและนายฟูจิคู่สัญญาก็ไม่ได้มีสัญชาติเดียวกัน  กรณีเช่นนี้กฎหมายที่จะใช้บังคับจึงได้แก่  กฎหมายออสเตรเลีย  ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาฉบับนี้ได้ทำขึ้นตาม  พ.ร.บ.  ว่าด้วยการขัดกันฯ  พ.ศ.2481  มาตรา  13  วรรคแรก

ดังนั้น  หากได้ความว่าศาลไทยรับข้อพิพาทที่ว่านี้ไว้พิจารณา  ศาลไทยจึงควรนำกฎหมายออสเตรเลียขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าว

สรุป  ศาลไทยควรนำกฎหมายออสเตรเลียขึ้นมาปรับใช้แก่ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  เครื่องบินของสายการบินอีสต์เอเชียมีกำหนดที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดีย  ขณะที่เครื่องบินกำลังเปิดประตูเพื่อให้ผู้โดยสารเดินขึ้นเครื่องอยู่นั้น  นายกิมคนสัญชาติจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องไปก่อน  ได้ใช้คัตเตอร์จี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องโดยเรียกร้องนักบินว่า  หากนำเครื่องขึ้นแล้วให้นำเครื่องบินไปที่ประเทศจีนแทนประเทศอินเดีย  แต่ปรากฏว่าผู้โดยสารคนอื่นๆได้เข้ามาช่วยจับนายกิมไว้ได้  และเครื่องบินของสายการบินอีสต์เอเชียก็บินไปยังประเทศอินเดียได้ตามกำหนดการเดิม  กรณีดังกล่าวนายกิมถือว่าได้กระทำความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ.1970  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ. 1970  มาตรา  1  ได้บัญญัติถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทำความผิดฐานสลัดอากาศว่า  เป็นการกระทำโดย

(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น

(2) การกระทำนั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทำต่อเครื่องบินลำนั้นเอง

(3) การกระทำนั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  การกระทำของนายกิม  แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลำนั้นก็ตาม แต่ว่าการกระทำของนายกิมมิได้กระทำในขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่  ซึ่งตามอนุสัญญากรุงเฮกฯค.ศ.1970  มาตรา  3  ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า  กำลังบินหรืออยู่ในระหว่างการบิน  ว่า  หมายถึง  ระยะเวลาตั้งแต่เมื่อประตูถูกปิดหลังจากได้มีการขึ้นเครื่องเรียบร้อยแล้วจนกระทั่งประตูถูกเปิดเพื่อให้ลงจากเครื่องอีกครั้ง  ดังนั้น  การที่นายกิมได้จี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในขณะที่เครื่องบินกำลังเปิดประตูเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน  นายกิมจึงไม่มีความผิดฐานสลัดอากาศ  ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ.1970

สรุป  นายกิมไม่มีความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ  ค.ศ.1970

 

ข้อ  4  จงอธิบายถึงหลักในการพิจารณาว่าความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น  เป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ของประเทศฝรั่งเศสมาโดยละเอียด    

ธงคำตอบ

อธิบาย

ประเทศฝรั่งเศสมีหลักกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาว่า  ความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น  เป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ว่า  หากการกระทำใดเป็นการกระทำที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและรัฐบาล  โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างหลักการปกครองของประเทศในหลักอันประกอบไปด้วยอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจตุลาการ  และอำนาจบริหาร  รวมทั้งรัฐบาลด้วยแล้ว  ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางการเมือง  (ตัวอย่างเช่น  คดี  In  re  Giovanni  Gatti,  Ann.  Die,  194  No. 70)

ซึ่งคดีการเมืองของฝรั่งเศสนี้  ถือหลักว่าด้วยการกระทำที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ  ซึ่งไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด  แต่ถือสาระสำคัญทางการกระทำเป็นสาระสำคัญ

Advertisement