การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 (LA 308),(LW 309) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  14  กันยายน  2549  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีอาญา  2  สำนวนต่อศาลจังหวัดระยองดังนี้

(ก)  คดีแรก  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของนายเก่งไปโดยสุจริต  แต่บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2549  สำนวนหนึ่ง

(ข)  คดีหลัง  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของนายกาจไปโดยทุจริต  แต่มิได้บรรยายฟ้องระบุวันเวลาเกิดเหตุ  อีกสำนวนหนึ่ง

หากปรากฏว่า  รายการตามฟ้องอื่นในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวนอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาถูกต้องครบถ้วนและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งสองสำนวน  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจังหวัดระยองจะพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนอย่างไร  และเมื่อศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาแล้ว  โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันกับทั้งสองสำนวนดังกล่าวมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ  อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องไม่ได้บรรยายเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดนั้น  ไม่สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้ เพราะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว  (ฎ. 687/2502 (ประชุมใหญ่))  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเพราะฟ้องระบุเวลากระทำความผิดในอนาคต  อันถือเป็นการยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม  ในกรณีนี้สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้  เพราะถือว่าศาลยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  (ฎ. 1590/2524)

(ก)  คดีสำนวนแรก  โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่  14  กันยายน  2549 แต่บรรยายฟ้องระบุว่าเกิดเหตุวันที่  10  ตุลาคม  2549  จึงเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในอนาคต  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  จึงเป็นคำฟ้องที่จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นให้การต่อสู้  ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้  แต่การที่ศาลพิพากษายกฟ้อง  เพราะฟ้องเคลือบคลุมนั้น  ศาลยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาของความผิด  จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  โจทก์จึงชอบที่จะนำคดีเรื่องเดียวกับคดีอาญาสำนวนแรกมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 2588/2543  ฎ. 590/2524)

(ข)  คดีสำนวนหลัง  โจทก์ฟ้องจำเลยโดยมิได้ระบุวันเวลาเกิดเหตุ  จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย  มาตรา  158(5)  ที่บัญญัติว่า  ฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่กระทำผิด  เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุวันเวลาเกิดเหตุไว้  จึงถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำความผิด  แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องซึ่งไม่เป็นความผิด  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองเช่นกัน  อีกทั้งการที่ศาลยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเช่นนี้ถือว่าศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาของความผิดแล้วจึงเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  เป็นเหตุให้สิทธินำคดีความมาฟ้องระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  แล้ว  โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันกับคดีอาญาสำนวนหลังมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ไม่ได้  เป็นฟ้องซ้ำต้องห้าม  ตามมาตรา  39(4)  ดังกล่าวข้างต้น 

สรุป

(ก)  เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์สามารถนำคดีเรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยใหม่ได้

(ข)  เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์ไม่สามารถนำคดี  เรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยใหม่ได้

 

ข้อ  2  (ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่านายทองหล่อ  แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนายดับตาย  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้เจตนาฆ่านายทองหล่อ  หากแต่มีเจตนาฆ่านายดับคนเดียว  และใช้อาวุธปืนยิงนายดับตาย  กรณีหนึ่ง

(ข)โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยทำอาวุธปืนลั่นโดยประมาท  กระสุนปืนถูกนายซวยตาย  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยิงนายซวยตายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นหมูป่า  และการไม่รู้ข้อเท็จจริงของจำเลยเช่นว่านี้เกิดขึ้นโดยประมาท  อีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่านายทองหล่อแต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนายดับตาย  อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยเจตนากระทำโดยพลาดต่อนายดับ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  60  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่านายทองหล่อ  หากแต่มีเจตนาฆ่านายดับ  และใช้อาวุธปืนยิงนายดับตาย  ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยฆ่านายดับตายโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผล  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  59  ซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องอันเป็นสาระสำคัญ  เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฆ่านายดับตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  59  ที่พิจารณาได้ความได้  ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  192  วรรคสอง  (ฎ. 1182/2512)

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยทำอาวุธปืนลั่นโดยประมาทกระสุนปืนถูกนายซวยตาย  อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายซวยตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291,  59  วรรคสี่  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยิงนายซวยโดยเข้าใจผิดว่าเป็นหมูป่า  และการไม่รู้ข้อเท็จจริงเช่นว่านี้เกิดขึ้นโดยประมาท  ซึ่งตาม  ป.อ.  มาตรา  62  วรรคสอง  บัญญัติให้จำเลยต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท  กรณีจึงไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญเช่นกัน  เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจตาม  มาตรา  192  วรรคสอง  ที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายซวยตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ประกอบมาตรา  62  วรรคสอง  ตามที่พิจารณาได้ความได้  (ฎ. 948/2487)

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้

 

ข้อ  3  พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล  ขอให้พิพากษาลงโทษในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงในกรณีดังต่อไปนี้

(ก)  อัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร  คงมีแต่ผู้เสียหาย  พยานโจทก์และจำเลยมาศาล

(ข)  อัยการโจทก์และจำเลยไม่มาศาลตามวันนัด  โดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรหรือขอเลื่อนคดี  ดังนี้ท้งสองกรณีดังกล่าว  ขอให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  จึงจะเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ศาลยกฟ้องเสีย  เว้นแต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้  ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

(ก)  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  เห็นว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์  แม้ผู้เสียหาย  พยานโจทก์  จำเลย  จะมาศาลก็ตามแต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีด้วย  ดังนั้นการที่พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร  จึงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติ  มาตรา  166  วรรคแรก  ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์          (ฎ. 327/2483)

(ข)  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  เห็นว่าในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์  การที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร  ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องไปได้  ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมาศาลในวันนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม  (ฎ. 3754/2540 (ประชุมใหญ่))

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้นศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่า  จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่า  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ดังนี้

(ก)  โจทก์จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า  จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  โจทก์จะฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า  การกระทำของจำเลยเป็นความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น  ไม่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  และไม่ว่าจะเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายก็ห้ามทั้งสิ้น  (ฎ. 492/2536  ฎ. 5381/2536)

(ก)  การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่า  จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด  เป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมายจึงเป็นกรณีที่ว่า  ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย  ตามมาตรา  220  ดังนั้นเมื่อโจทก์ฎีกาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ  อันถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้โจทก์จึงไม่สามารถฎีกาได้  ต้องห้าม  ตามมาตรา  220

(ข)  เมื่อได้ความว่าทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์อันเป็นเหตุให้คู่ความจะฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและหรือปัญหาข้อกฎหมายอีกไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  220  ดังนั้น  เมื่อโจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด  อันถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย  ในกรณีนี้จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกา  ตามมาตรา  220  เช่นเดียวกัน

สรุป

(ก)  โจทก์ไม่สามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(ข)  โจทก์ไม่สามารถฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้เช่นเดียวกัน

Advertisement