การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางพิมมีบุตรนอกสมรส  2  คน  คือ  นายชาย  อายุ  21  ปี  และนางสาวหญิง  อายุ  20  ปี  นางสาวหญิงถูกนายข่มขืนกระทำชำเรา  นางสาวหญิงอับอายจึงปกปิดเรื่องนี้ไว้และไปเรียนหนังสือตามปกติในวันรุ่งขึ้น  ดังนี้

(ก)  นางพิมจะยื่นฟ้องนายโป้งฐานข่มขืนกระทำชำเรานางสาวหญิง  โดยที่นางสาวหญิงไม่ยินยอมและไม่ได้มอบอำนาจให้นางพิมดำเนินการ  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายชายจะยื่นฟ้องนายโป้งฐานข่มขืนกระทำชำเรานางสาวหญิง  โดยที่นางสาวหญิงยินยอมและมอบอำนาจให้นายชายดำเนินการ  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  2  ในประมวลกฎหมายนี้

(4)  ผู้เสียหาย  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้  ดังบัญญัติไว้ในมาตรา  4, 5  และ  6

มาตรา  5  บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล  เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

(2) ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา  ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

มาตรา  28  บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(2) ผู้เสียหาย

วินิจฉัย

(ก)  นางพิมจะยื่นฟ้องนายโป้งฐานข่มขืนกระทำชำเรานางสาวหญิงได้หรือไม่  เห็นว่า  นางสาวหญิง  อายุ  20  ปี  ถือว่าได้บรรลุนิติภาวะแล้ว  พ้นสภาพความเป็นผู้เยาว์  ดังนั้น  นางพิมแม้จะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวหญิงก็ตาม  ก็ไม่สามารถจัดการแทนนางสาวหญิง  ตามมาตรา  5(1)

และแม้นางพิมจะเป็นมารดาตามความเป็นจริง  มีฐานะเป็นผู้บุพการีของนางสาวหญิง  แต่ก็ไม่สามารถจัดการแทนโดยอาศัย  มาตรา  5(2) ได้เพราะนางสาวหญิงถูกนายโป้งข่มขืนกระทำชำเราแล้ว  ยังสามารถไปเรียนหนังสือได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น  จึงถือว่านางสาวหญิงยังสามารถจัดการเองได้

ดังนั้น  เมื่อนางสาวหญิงผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ยินยอมและไม่ได้มอบอำนาจให้นางพิมดำเนินการฟ้องคดีได้  นางพิมจึงยื่นฟ้องนายโป้งไม่ได้

(ข)  นายชายจะยื่นฟ้องนายโป้งฐานข่มขืนกระทำชำเรานางสาวหญิงได้หรือไม่  เห็นว่า  นายชายมีฐานะเป็นพี่ชายของนางสาวหญิง  นายชายจึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา  5(1) , 5(2)  แต่อย่างใด  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้ความว่าคดีอาญาสามารถมอบอำนาจให้ฟ้องแทนกันได้  (ฎ. 890/2503 (ประชุมใหญ่))  ดังนั้นเมื่อนางสาวหญิงบรรลุนิติภาวะสามารถฟ้องคดีอาญาได้เอง  ตามมาตรา  28(2)  จึงสามารถมอบอำนาจให้นายชายดำเนินการฟ้องคดีอาญาแทนตนเองได้เช่นกัน

สรุป

(ก)  นางพิมยื่นฟ้องนายโป้งไม่ได้

(ข)  นายชายยื่นฟ้องนายโป้งได้

 

ข้อ  2  นางแหม่มหมั่นไส้นางเจ๋งจึงผลักนางเจ๋งตกเวทีประกวดนางงาม  พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับนางแหม่มในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  391  โดยนางแหม่มชดใช้ค่าเสียหายให้นางเจ๋งเป็นเงิน  50,000  บาท  แต่ในวันรุ่งขึ้นปรากฏว่านางเจ๋งปวดศีรษะอย่างรุนแรง  แพทย์ตรวจรักษาแล้วพบว่ามีเลือดคั่งในสมองเนื่องจากศีรษะถูกกระทบกระเทือนหนักจากการที่ถูกนางแหม่มผลักตกเวที  นางเจ๋งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา  1  เดือน  และได้เรียกให้นางแหม่มชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นเงิน  200,000  บาท  แต่นางแหม่มไม่ยอมจ่ายและบอกว่าที่จ่ายไปก็มากพอแล้ว  นางเจ๋งจึงเป็นโจทก์ฟ้องนางแหม่มเป็นจำเลนในคดีอาญาในข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297  นางแหม่มต่อสู้ว่าพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับนางแหม่มในการกระทำผิดที่นางเจ๋งได้ฟ้องไปแล้ว  นางเจ๋งไม่มีสิทธิฟ้องนางแหม่มได้อีก

ดังนี้  นางเจ๋งสามารถฟ้องนางแหม่มได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  37  คดีอาญาเลิกกันได้  ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว

(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ  หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร  เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป  หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆได้เปรียบเทียบแล้ว

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป  ดังต่อไปนี้

(3) เมื่อคดีเลิกกัน  ตามมาตรา  37

วินิจฉัย

ในการเปรียบเทียบของพนักงานสอบสวนนั้น  หากพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับในข้อหาที่ไม่มีอำนาจแล้ว  การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าว  ไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแต่อย่างใด

นางเจ๋งจะฟ้องนางแหม่มได้หรือไม่  เห็นว่า  นางเจ๋งได้รับอันตรายสาหัสจากการที่ถูกนางแหม่มทำร้าย  การกระทำของนางแหม่มจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  การที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับนางแหม่มในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตาม  ป.อ. มาตรา  391  จึงไม่ชอบคดีอาญาไม่เลิกกัน  ตามมาตรา  37  สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับ  ตามมาตรา  39(3)  นางเจ๋งจึงฟ้องนางแหม่มในข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ. มาตรา  297  ได้

สรุป  นางเจ๋งสามารถฟ้องนางแหม่มได้

 

ข้อ  3  นายเขียวได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่งแล้วได้ลักเอาทีวี  1  เครื่องของนายขาว  และเอาวิทยุ  1  เครื่องของนายแดง  ซึ่งอยู่ในบ้านหลังนั้นไปพร้อมกัน  ทางพนักงานสอบสวนได้แยกสำนวนการสอบสวนเป็น  2  สำนวน  คือ  นายขาวเป็นผู้เสียหายสำนวนหนึ่ง  และนายแดงเป็นผู้เสียหายอีกสำนวนหนึ่ง  โดยต้องการให้มีการลงโทษหนักทั้งๆที่มีพยานหลักฐานทำนองเดียวกัน  แต่เมื่อทางพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนของนายขาวเป็นผู้เสียหายไปยังพนักงานอัยการ  ทางพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง  เพราะเห็นว่าคดีขาดพยานหลักฐาน  พนักงานสอบสวนจึงส่งสำนวนการสอบสวนของนายแดงเป็นผู้เสียหายไปยังพนักงานอัยการอีก  โดยเห็นว่าพยานหลักฐานมีเพียงพอฟ้องได้

ดังนี้  หากท่านเป็นพนักงานอัยการ  และเห็นว่าคดีมีมูล  จะสั่งคดีหลังนี้ว่าอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  147  เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว  ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก  เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี  ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้

วินิจฉัย

พนักงานอัยการจะสั่งคดีหลังนี้ว่าอย่างไร  เห็นว่า  การที่นายเขียวลักเอาทีวีของนายขาวและวิทยุของนายแดงไปพร้อมกัน  ถือว่าเป็นคดีเรื่องเดียวกัน  เมื่อได้ความว่าคดีที่นายขาวเป็นผู้เสียหายพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว  พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนนายเขียวกรณีที่นายแดงเป็นผู้เสียหายอันเป็นคดีในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  ตามมาตรา  147

ดังนั้น  พนักงานอัยการจึงต้องมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีหลังนี้แม้คดีจะมีมูลก็ตาม  เพราะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้พยานหลักฐานใหม่  อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษู้ต้องหานั้นได้

สรุป  พนักงานอัยการต้องมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีหลังนี้

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  11  กุมภาพันธ์  2551  ร.ต.อ. ทรงกิต  ทำการจับกุมนายเชาว์ผู้ต้องหาฐานชิงทรัพย์โดยไม่มีหมายจับ  จากนั้นนำตัวนายเชาว์ไปส่ง  ณ  ที่ทำการของพนักงานสอบสวนและ  พ.ต.ต. วิฑูรย์พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวนาวเชาว์  ณ  ที่ทำการของพนักงานสอบสวน  เมื่อใกล้ครบ  48  ชั่วโมง  พ.ต.ต. วิฑูรย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอฝากขังนายเชาว์  ศาลมีคำสั่งอนุญาต  ระหว่างฝากขังนายวาทีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเชาว์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่าการจับกุมนายเชาว์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทำให้การคุมขังนายเชาว์ไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลอาญาไม่มีอำนาจคุมขังนายเชาว์  ขอให้มีคำสั่งปล่อยตัวนายเชาว์  ศาลมีคำสั่งรับคำร้องนัดไต่สวนโดยด่วนสำเนาให้พนักงานสอบสวนก่อนวันไต่สวนคำร้องของนายวาที  พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเชาว์ต่อศาลอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์  ศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง  สำเนาให้นายเชาว์  นัดสอบถามคำให้การนายเชาว์

ดังนี้  ศาลอาญาจะสั่งคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายเชาว์อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  90  เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย  คือ

(5) สามี  ภริยาหรือญาติของผู้นั้นหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น  ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน  ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล  ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลันและถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย  ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

วินิจฉัย

ศาลอาญาจะสั่งคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายเชาว์อย่างไร  เห็นว่าแม้นายวาที  ซึ่งเป็นบิดาของนายเชาว์จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาสั่งปล่อยตัวนายเชาว์จากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายได้ตาม  มาตรา  90(5)  แต่สิทธิในการยื่นคำร้องดังกล่าวจะมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่นายเชาว์ยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  เมื่อได้ความว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเชาว์และศาลมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว  การควบคุมตัวนายเชาว์ในระหว่างการพิจารณาของศาลย่อมเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลซึ่งเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกับการคุมขังในระหว่างการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน  เมื่อการคุมขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสิ้นสุดไปแล้ว  จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่สามารถจะสั่งปล่อยตัวนายเชาว์ตามคำร้องของนายวาทีได้  ศาลอาญาต้องสั่งยกคำร้องดังกล่าว  (ฎ. 6935/2544 ฎ. 9752/2544)

สรุป  ศาลอาญาจะสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายเชาว์

Advertisement