การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3106 (LAW 3006) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายทองคํากับนางพิกุลอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรชายคือนายทองอ้นอายุยี่สิบห้าปี วันหนึ่ง
นายพุ่มลักทรัพย์นายทองคําไป นายทองคําจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายพุ่มเป็นจําเลยในข้อหาลักทรัพย์
ต่อมานายทองคําป่วยเป็นโรคไตและเสียชีวิตในระหว่างที่ศาลชั้นต้นกําลังพิจารณาคดีนี้

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่า นายทองล้นจะดําเนินคดีแทนนายทองคําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 29 วรรคหนึ่ง “เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จะดําเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้”

วินิจฉัย

การดําเนินคดีแทนหรือการรับมรดกความในคดีอาญานั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายที่แท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ได้ยื่นฟ้องคดีไว้แล้วต่อมาได้ตายลง ดังนี้ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา จะดําเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) และผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานดังกล่าวนั้น ให้หมายความถึง ผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานตามความจริง (คําพิพากษาฎีกาที่ 5119/2530)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพุ่มลักทรัพย์นายทองคําไป นายทองคําย่อมเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และย่อมมีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องนายพุ่มเป็นจําเลยในข้อหาลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (2) และเมื่อข้อเท็จริงปรากฏว่า เมื่อนายทองคําได้ยื่นฟ้องนายพุ่มแล้ว ต่อมานายทองคําได้เสียชีวิตลง ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นกําลังพิจารณาคดีนี้อยู่ ดังนี้ นายทองอ้น อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของนายทองคําที่เกิดกับ นางพิกุลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนายทองคํา แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายทองคํา แต่เมื่อ เป็นบุตรชายตามความจริงของนายทองคํา จึงถือว่านายทองอันเป็นผู้สืบสันดานของนายทองคําตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 29 ดังนั้น นายทองอ้นจึงสามารถที่จะดําเนินคดีแทนนายทองคําได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง สรุป นายทองอันสามารถที่จะดําเนินคดีแทนนายทองคําได้

 

ข้อ 2. นายหาญร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีอาญากับนายนพในข้อหาชิงทรัพย์ ในระหว่าง สอบสวนนายหาญเป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคําสั่งประทับรับฟ้อง ต่อมาในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายหาญ ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง และศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง

เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีเสร็จ จึงสรุปสํานวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งสํานวนคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์

ให้วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 35 “คําร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคําพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคําสั่งอนุญาตหรือมีอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด….”

มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ใน
ข้อยกเว้นต่อไปนี้

(3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงาน อัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว”

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคําร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกัน โดยถูกต้องตามกฎหมาย

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหาญร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีอาญากับนายนพข้อหาชิงทรัพย์ ในระหว่างการสอบสวนนายหาญได้เป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้น ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคําสั่งประทับรับฟ้อง ต่อมาในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายหาญ ยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง และศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 35 นั้น เมื่อคดีดังกล่าว ไม่ใช่เป็นคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว การที่นายหาญผู้เสียหายซึ่งได้ยื่นฟ้องคดีนั้นไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนฟ้องจึงไม่ตัดสิทธิของพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 (3) และไม่ทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (2)
และเมื่อข้อเท็จริงปรากฏว่าคดีดังกล่าวนั้น เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ทําการ สอบสวนคดีเสร็จแล้ว จึงได้สรุปสํานวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งสํานวนคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการ ดังนั้น พนักงานอัยการจึงมีอํานาจเป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา
28 (1) และมาตรา 120 ประกอบมาตรา 36 (3)

สรุป พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายนพเป็นจําเลยในข้อหาชิงทรัพย์ได้

 

ข้อ 3. ร.ต.ต.อํานวยได้ยินเสียงกรีดร้องและตะโกนขอความช่วยเหลือดังมาจากบ้านหลังหนึ่ง ร.ต.ต.อํานวย
จึงเข้าไปในบ้านหลังดังกล่าวโดยไม่มีหมายค้น เมื่อเข้าไปในบ้าน ร.ต.ต.อํานวยพบนางแม้นวาดถือ ไม้เบสบอลวิ่งไล่ทุบตีนางบัวซึ่งมีบาดแผลเลือดไหลที่ศีรษะ ร.ต.ต.อํานวยจึงจับกุมนางแม้นวาด โดยไม่มีหมายจับและนําตัวส่งสถานีตํารวจเพื่อดําเนินคดีต่อไป

ให้วินิจฉัยว่า การจับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทํา หรือพบ ในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตามบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น

(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากําลังกระทําลงในที่รโหฐาน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.อํานวยได้จับกุมนางแม้นวาดในบ้านหลังหนึ่งนั้น ถือเป็นการจับ ในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับโดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้ โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่ รโหฐาน คือ มีอํานาจการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย

การที่ ร.ต.ต.อํานวยพบนางแม้นวาดถือไม้เบสบอลวิ่งไล่ทุบตีนางบัวซึ่งมีบาดแผลเลือดไหลที่ศีรษะนั้น การกระทําของนางแม้นวาดถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ร.ต.ต.อํานวยจึงมีอํานาจในการจับ นางแม้นวาดแม้จะไม่มีหมายจับ และเมื่อเป็นกรณีที่นางแม้นวาดได้กําลังกระทําความผิดซึ่งหน้าในบ้านซึ่งเป็น ที่รโหฐาน จึงถือว่า ร.ต.ต.อํานวยได้ทําตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการ ค้นในที่รโหฐาน คือมีอํานาจค้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 ประกอบมาตรา 92 (2) แล้ว อีกทั้งการที่ ร.ต.ต.อํานวย ได้เข้าไปในบ้านหลังดังกล่าวซึ่งเป็นที่รโหฐานอันถือเสมือนเป็นการค้นในที่รโหฐานนั้น ก็เป็นการเข้าไปโดยชอบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 92 (1) เนื่องจาก ร.ต.ต.อํานวยได้ยินเสียงกรีดร้องและตะโกนขอความช่วยเหลือดังมาจาก บ้านหลังดังกล่าว ร.ต.ต.อํานวยจึงไม่ต้องขอหมายค้นของศาลเพื่อเข้าไปขอค้นในบ้านหลังดังกล่าว ดังนั้น การที่ ร.ต.ต.อํานวยจับนางแม้นวาดในบ้านหลังดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับนางแม้นวาดของ ร.ต.ต.อํานวยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นายศุกร์วางแผนจะฆ่านายเสาร์ด้วยการวางยาพิษ วันต่อมานายศุกร์จึงไปที่บ้านนายเสาร์ซึ่งอยู่ในเขต สน.พญาไท และนํายาพิษใส่ในโอเลี้ยงและส่งให้นายเสาร์ดื่ม หลังจากดื่มโอเลี้ยงนายเสาร์หมดสติ และถูกนําตัวส่งโรงพยาบาลในเขต สน.ปทุมวัน ต่อมาอีกสองวันนายเสาร์เสียชีวิตขณะรักษาตัวที่ โรงพยาบาลดังกล่าว หลังจากนั้นตํารวจจับกุมนายศุกร์ได้ที่อําเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ก่อนเริ่มถามคําให้การ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีได้แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ให้นายศุกร์ทราบ พร้อมกับถามว่านายศุกร์มีทนายความหรือไม่ นายศุกร์ตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการ ทนายความ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจึงเริ่มถามคําให้การนายศุกร์โดยไม่มีทนายความ นายศุกร์ ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงจดบันทึกคําให้การดังกล่าวไว้

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เพราะเหตุใด

(ข) คําให้การของนายศุกร์ในชั้นสอบสวนรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายศุกร์ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม “สําหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตํารวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอํานาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้

ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขต อํานาจพนักงานสอบสวนคนใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ความผิดนั้น ๆ เพื่อดําเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจําเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดําเนินการสอบสวน”
ท้องที่หนึ่งขึ้นไป

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทําผิดอาญาได้กระทําในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่

(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทําในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง

(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่า

(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทําลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน……

พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้
ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอํานาจ…”

มาตรา 134/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”

มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า

(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้

เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะ ดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด ของผู้นั้นไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายศุกร์วางแผนจะฆ่านายเสาร์ด้วยการวางยาพิษ วันต่อมานายศุกร์ไปที่บ้านนายเสาร์ ซึ่งอยู่ในเขต สน.พญาไท และนํายาพิษใส่ในโอเลี้ยงและส่งให้นายเสาร์ดื่ม หลังจากดื่มโอเลี้ยงนายเสาร์หมดสติ และถูกนําตัวส่งโรงพยาบาลในเขต สน.ปทุมวัน ต่อมาอีกสองวันนายเสาร์เสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล ดังกล่าวนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าความผิดอาญาได้เกิดขึ้นในเขตท้องที่ สน.พญาไท (คําพิพากษาฎีกาที่ 3337/2543) ดังนั้นพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ซึ่งความผิดได้เกิดภายในเขตอํานาจจึงเป็นพนักงานสอบสวน ที่มีอํานาจสอบสวนดําเนินคดีกับนายศุกร์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคสอง แม้ว่านายเสาร์จะเสียชีวิตในเขต ท้องที่ สน.ปทุมวันก็ตาม

การที่นายศุกร์ถูกจับได้ทีอําเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธร เมืองนครปฐมนั้น เมื่อคดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีความผิดเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 เพราะนายศุกร์ได้ กระทําความผิดสําเร็จแล้วในเขตท้องที่ สน.พญาไทก่อนถูกจับ ดังนั้น พนักงานสอบสวน สน.พญาไท จึงเป็น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคสาม

(ข) เมื่อปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/4 ให้นายศุกร์ทราบ พร้อมกับถามว่านายศุกร์มีทนายความหรือไม่ ซึ่งนายศุกร์ตอบว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความนั้น กรณีนี้ต้องด้วยมาตรา 134/1 ที่ว่าถ้าผู้ต้องหาไม่มี ทนายความให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อนายศุกร์ตอบว่าไม่มีทนายความ และแม้ นายศุกร์จะไม่ต้องการทนายความ พนักงานสอบสวนไม่จัดหาทนายความให้แก่นายศุกร์ โดยพนักงานสอบสวน เริ่มถามคําให้การนายศุกร์โดยไม่มีทนายความ นายศุกร์ให้การรับสารภาพ และพนักงานสอบสวนได้จดบันทึก คําให้การของนายศุกร์ไว้นั้น ย่อมถือว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ดําเนินการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จะมีผลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 วรรคสาม กล่าวคือ คําให้การของนายศุกร์ในชั้นสอบสวนจะรับฟัง เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายศุกร์ไม่ได้

สรุป

(ก) พนักงานสอบสวนท้องที่ สน.พญาไท เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี
ของนายศุกร์ไม่ได้

(ข) คําให้การของนายศุกร์ในชั้นสอบสวนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด

Advertisement