การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3106 (LAW 3006) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายลักษณ์กับนางปรายอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรชายคือนายช้างอายุยี่สิบปี ต่อมานายคทายักยอกเงินของนายลักษณ์ไปจํานวนหนึ่งล้านบาท นายลักษณ์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีกับนายคทาในข้อหายักยอกทรัพย์ และวันรุ่งขึ้นนายลักษณ์เป็นโจทก์ฟ้องนายคทา เป็นจําเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จ จึงส่งสํานวนพร้อมความเห็นให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายคทาในข้อหายักยอกทรัพย์อีกคดีหนึ่ง ต่อมานายลักษณ์เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งให้วินิจฉัยว่า

Advertisement

(ก) นายปรายสามารถดําเนินคดีแทนนายลักษณ์ในคดีที่นายลักษณ์เป็นโจทก์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นายช้างยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 29 วรรคหนึ่ง “เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา จะดําเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดําเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้นั้น

คําว่า “ผู้เสียหาย” หมายความถึงผู้เสียหายที่แท้จริง (ตามมาตรา 2 (4)) เท่านั้นที่ยื่นฟ้องคดีไว้ แล้วตายลง ไม่รวมถึงผู้มีอํานาจจัดการแทน
คําว่า “ยื่นฟ้อง” หมายความถึงได้ยื่นฟ้องคดี และให้หมายความรวมถึงการยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ด้วย

คําว่า “ผู้บุพการี” และ “ผู้สืบสันดาน” นั้น กฎหมายให้ถือตามความเป็นจริง แม้จะไม่ใช่บิดา หรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิดําเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ ส่วนสามีหรือภริยานั้นจะต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายคทาได้ยักยอกเงินนายลักษณ์ไปจํานวน 1 ล้านบาท นายลักษณ์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายคฑาเป็นจําเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ และต่อมานายลักษณ์ได้ตายลงนั้น เมื่อปรากฏว่า นางปรายไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายลักษณ์ ดังนั้น นางปรายจึงไม่สามารถดําเนินคดีแทน นายลักษณ์ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

(ข) การที่นายลักษณ์ได้ตายลงเพราะโรคมะเร็งนั้น มิใช่เป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกทําร้ายถึงตายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ดังนั้น นายช้างผู้สืบสันดานของนายลักษณ์จึงไม่มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหาย และการที่นายลักษณ์ผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายคทาในข้อหายักยอกทรัพย์
ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายคฑาในคดียักยอกทรัพย์อีกคดีหนึ่งนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนตายนายลักษณ์ ผู้เสียหายได้ยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 ไว้ แต่อย่างใด

ดังนั้น นายช้างจึงไม่สามารถดําเนินคดีต่างผู้ตายโดยการยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 29 วรรคหนึ่งได้

สรุป (ก) นางปรายไม่สามารถดําเนินคดีแทนนายลักษณ์ในคดีที่นายลักษณ์เป็นโจทก์ได้ (ข) นายช้างจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้

 

ข้อ 2. นายมะม่วงจอดรถขวางหน้าบ้านของนายตําลึงจึงเกิดการโต้เถียงกัน และนายตําลึงชกนายมะม่วงหนึ่งครั้งเป็นรอยช้ําที่โหนกแก้ม นายมะม่วงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายตําลึง ในข้อหาทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการ ทําร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงกําหนดค่าปรับสามพันบาท และนายตําลึงจ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้ว สามวันต่อมา นายมะม่วงจอดรถขวางหน้าบ้านของนายตําลึงเช่นเดิม นายตําลึงโมโหจึงใช้ท่อนไม้ทุบรถของนายมะม่วงจนกระจกหน้ารถแตก นายมะม่วงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายตําลึง ในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จจึงส่งสํานวนพร้อมความเห็นให้ พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ต่อมานายมะม่วงยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ซึ่งศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายมะม่วงเป็นโจทก์ร่วมหลังจากนั้นหนึ่งเดือนนายมะม่วงยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําร้ายร่างกายและข้อหาทําให้เสียทรัพย์อีกคดีหนึ่ง

ให้วินิจฉัยว่า นายมะม่วงฟ้องนายตําลึงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 37 “คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้

(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่น ที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเมื่อผู้ต้องหาชําระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว”

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(3) คดีเลิกกันตามมาตรา 37”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

คดีที่ 1 การที่นายมะม่วงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายตําลึงในข้อหาทําร้าย ร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นการทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งถือเป็นความผิด ลหุโทษ จึงกําหนดค่าปรับ 3,000 บาท และนายตําลึงจ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้วนั้น ย่อมมีผลทําให้คดีอาญาเลิกกัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 37 (2) ทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (3) ดังนั้น นายมะม่วงจะยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําร้ายร่างกายไม่ได้

คดีที่ 2 การที่นายมะม่วงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับนายตําลึงในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเสร็จจึงส่งสํานวนพร้อมความเห็นให้พนักงานอัยการ และพนักงาน
อัยการยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ต่อมานายมะม่วงยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายมะม่วงเป็นโจทก์ร่วมนั้น ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต่างมีฐานะเป็นโจทก์ด้วยกัน ดังนั้น นายมะม่วงจะยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําให้เสียทรัพย์อีกไม่ได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

สรุป นายมะม่วงจะยื่นฟ้องนายตําลึงในข้อหาทําร้ายร่างกายไม่ได้ และจะยื่นฟ้องข้อหาทําให้ เสียทรัพย์อีกคดีหนึ่งก็ไม่ได้

 

ข้อ 3. พ.ต.ต.กล้าหาญ เห็นนายเทายกปืนขึ้นเล็งไปที่นายโหระพา โดยทั้งนายเทาและนายโหระพา ยืนอยู่ตรงทางสาธารณะ พ.ต.ต.กล้าหาญ จึงแจ้งนายเทาว่าต้องถูกจับและทําการจับนายเทาทันที โดยที่ไม่มีหมายจับ

ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 ได้วางหลักไว้ว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มี หมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่น เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําผิดซึ่งหน้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 80 เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญ เห็นนายเทายกปืนขึ้นเล็งไปที่นายโหระพา ทั้งนายเทา และนายโหระพายืนอยู่ตรงทางสาธารณะนั้น การกระทําของนายเทาเป็นการกระทําความผิดฐานพยายามฆ่า นายโหระพาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าประเภท ความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง ดังนั้น พ.ต.ต.กล้าหาญ จึงมีอํานาจในการจับนายเทาได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญ จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง

สรุป การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. นายลองกองร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่นายกะเพราโดยกล่าวหาว่า วันเกิดเหตุ
ขณะที่นายลองกองยืนอยู่บริเวณหน้าบ้านของนายลองกอง นายกะเพราเดินเข้ามาทําร้ายนายลองกอง และเอาสร้อยคอทองคําหนัก 1 บาทของนายลองกองไป ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายกะเพรา ได้ตามหมายจับและแจ้งข้อหาชิงทรัพย์กับแจ้งสิทธิตามกฎหมายชั้นจับกุมให้นายกะเพราทราบ นายกะเพรารับสารภาพและแจ้งว่าได้เก็บสร้อยคอทองคําของนายลองกองไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในบ้าน ของนายกะเพรา เจ้าพนักงานตํารวจบันทึกคําให้การของนายกะเพราไว้ในบันทึกการจับกุมและ ยึดสร้อยคอทองคําเป็นของกลาง

ชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่กล่าวหาว่านายกะเพรากระทําผิด หลังจากนั้น จึงแจ้งข้อหาชิงทรัพย์ และถามคําให้การนายกะเพรา (ก่อนเริ่มถามคําให้การ พนักงานสอบสวน ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 – 134/4 ครบถ้วนทุกประการ) จากการสอบสวนได้ความว่า นอกจากนายกะเพราแล้วยังมีนายตะไคร้และ นายชะพลูร่วมกระทําความผิดด้วย แต่นายตะไคร้และนายชะพลูหลบหนีไปได้ เมื่อพนักงานสอบสวน ทําการสอบสวนเสร็จแล้ว มีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องนายกะเพราฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ต่อมา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายกะเพราในความผิดฐานดังกล่าว

นายกะเพราให้การปฏิเสธ โดยต่อสู้ว่า ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เจ้าพนักงานมิได้แจ้งข้อหา ร่วมกันปล้นทรัพย์ให้นายกะเพราทราบมาก่อน เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอํานาจ ฟ้องนายกะเพราในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ขอให้ยกฟ้อง

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายกะเพราฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

มาตรา 134 “เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่า ผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทําผิด แล้วจึงแจ้งข้อหา ให้ทราบ…”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นการสอบสวนถือเป็นเพียงการรวบรวมหลักฐานและ ดําเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทําไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบ ข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อเอาตัวผู้กระทําผิดมาฟ้องลงโทษ และการแจ้งข้อกล่าวหาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134 ก็ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดแม้เดิมเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหนึ่ง แต่เมื่อการสอบสวนปรากฏว่าการกระทํา ของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่นก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นมาแล้วแต่แรก

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ แม้ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่นายกะเพราฐานชิงทรัพย์ แต่เมื่อพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าการกระทําความผิดของนายกะเพราเข้าองค์ประกอบความผิด
ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องนายกะเพราใน ความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 เพราะถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย มาแล้วแต่แรกนั่นเอง ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายกะเพราจึงฟังไม่ขึ้น (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 256/2553)

สรุป ข้อต่อสู้ของนายกะเพราฟังไม่ขึ้น

Advertisement