การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  มอบ  ข  ให้ไปซื้อที่ดิน  ข  ซื้อที่ดินของตนเองโดยตัวการมิได้ยินยอมด้วย  โดย  ก  ตกลงให้  ข  ซื้อที่ดินครั้งนี้ว่าจะให้บำเหน็จ กรณีหนึ่ง

 อีกกรณีหนึ่ง  ก  มอบ  ข  ให้เป็นผู้จัดการร้านค้าสะดวกซื้อ  นอกจากเป็นผู้จัดการแล้ว

ยังให้  ข  มีหน้าที่ซื้อสินค้าเข้าร้านด้วย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ทั้ง  2  กรณี  ก  ตกลงว่าจะให้บำเหน็จนั้น  กรณีใดจะใช้หลักมาตราใดในการให้บำเหน็จ

ธงคำตอบหลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  805  ตัวแทนนั้น  เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ  จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง หรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่  เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้

มาตรา  818  การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น  ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  803  โดยหลักแล้วตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันระหว่างตัวการกับตัวแทนว่ามีบำเหน็จ  แต่อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าว  ตัวแทนก็อาจจะไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ  เช่น  หากตัวแทนกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา  805  ตัวแทนย่อมไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ  เพราะถือว่าเป็นการทำมิชอบตามมาตรา  818

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  2  กรณี  คือ

กรณีแรก  จะใช้หลักมาตราใดในการพิจารณาให้บำเหน็จ  เห็นว่า  การที่  ก  มอบหมายให้  ข  ไปซื้อที่ดินนั้น  ถือเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนไปทำการเพียงอย่างเดียว  กรณีนี้จึงต้องใช้หลักมาตรา  803  ในการพิจารณาให้บำเหน็จ  และเมื่อปรากฏว่า  ก  ตัวการตกลงจะให้บำเหน็จแก่  ข  ตัวแทน  ขอ  ก็ย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จ  หากว่า  ข  ทำการที่  ก  มอบหมาย  คือ  ไปซื้อที่ดินได้สำเร็จ

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ข  ซื้อที่ดินของตนเอง  โดยที่  ก  ตัวการมิได้ยินยอมด้วย  จึงเป็นการที่  ข  ตัวแทนทำนิติกรรมในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเอง  อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา  805  ดังนั้น  ข  จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา  818  ที่ว่าการใดตัวแทนทำมิชอบจะไม่ได้บำเหน็จ

กรณีที่สอง  จะใช้หลักมาตราใดในการพิจารณาให้บำเหน็จ  เห็นว่า  การที่  ก  มอบหมายให้  ข  เป็นผู้จัดการร้านค้าสะดวกซื้อ  และยังให้  ข  มีหน้าที่ซื้อสินค้าเข้าร้านด้วย  โดย  ก  ตกลงว่าจะให้บำเหน็จนั้น  ถือเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนไปทำการมากกว่า  1  อย่างขึ้นไป  คือ  เป็นกรณีที่กิจการที่มอบหมายนั้นแบ่งออกได้เป็นหลายส่วนนั่นเอง  กรณีนี้จึงต้องใช้หลักมาตรา  818  ในการพิจารณาให้บำเหน็จ กล่าวคือ  แม้ว่า  ข  จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ  แต่หาก  ข  ตัวแทนทำมิชอบในส่วนใด  ก็จะไม่มีสิทธิรับบำเหน็จในส่วนนั้น

สรุป  กรณีแรกใช้หลักมาตรา  803  ในการพิจารณาให้บำเหน็จ  ส่วนกรณีที่สองจะใช้หลักมาตรา  818  ในการพิจารณาให้บำเหน็จ

 

ข้อ  2  สามีไปติดต่อแดงให้เป็นนายหน้าขายที่ดินซึ่งภริยาเป็นผู้มีชื่อในโฉนดแต่เพียงผู้เดียว  ต่อมาเมื่อแดงจัดการขายที่ดินดังกล่าวได้แล้ว  ทั้งสามีและภริยาไม่จ่ายค่าบำเหน็จแก่แดงโดยฝ่ายสามีอ้างว่าไม่ได้ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแต่อย่างใด  ส่วนทางภริยาก็อ้างว่าไม่เคยตกลงให้แดงเป็นนายหน้าขายที่ดินของตน  ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

วินิจฉัย

โดยหลัก  สัญญานายหน้านั้น  ถ้าได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าบำเหน็จและนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาทำสัญญากับตัวการจนสำเร็จแล้ว  นายหน้าก็ย่อมได้รับค่าบำเหน็จตามที่ตกลงไว้  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  และแม้จะมิได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าบำเหน็จ  แต่ถ้ากิจการใดโดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่านายหน้ากระทำเพื่อจะเอาบำเหน็จ  ก็ให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า  ตามมาตรา  846  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามีไปติดต่อแดงให้เป็นนายหน้าขายที่ดินซึ่งภริยาเป็นผู้มีชื่อในโฉนดแต่เพียงผู้เดียว  และต่อมาแดงได้จัดการขายที่ดินดังกล่าวได้แล้วนั้น  กรณีนี้เมื่อเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  และภริยาก็รู้แล้วว่าแดงเป็นนายหน้าขายที่ดิน  เพราะที่ดินดังกล่าวขายได้แล้ว  ดังนั้น  สามีภริยาย่อมจะต้องรับผิดในกิจการที่แดงทำร่วมกัน  (ฎ. 975/2509)

และจากข้อเท็จจริง  แม้ว่าสัญญานายหน้าระหว่างสามีกับแดงนั้นจะมิได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าบำเหน็จนายหน้าเอาไว้  แต่กิจการที่สามีมอบให้แก่แดง  คือ  การติดต่อขายที่ดินนั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าแดงย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ  กรณีนี้ย่อมถือว่าสามีและแดงได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จไม่ใช่ทำให้เปล่า  ตามมาตรา  846  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าแดงได้ชี้ช่องและจัดการขายที่ดินดังกล่าวได้แล้ว  ทั้งสามีและภริยาจึงต้องร่วมกันรับผิดจ่ายค่านายหน้าให้แก่แดงตามมาตรา  845    วรรคแรกประกอบมาตรา  846  วรรคแรก  ดังนั้น  การที่สามีและภริยาไม่จ่ายค่าบำเหน็จแก่แดงโดยฝ่ายสามีอ้างว่าไม่ได้ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแต่อย่างใด  ส่วนทางภริยาก็อ้างว่าไม่เคยตกลงให้แดงเป็นนายหน้าขายที่ดินของตนนั้น  ข้ออ้างของทั้งสามีและภริยาดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างทั้งสามีและภริยาฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนรามคำแหง  นายจันทร์ได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายอาทิตย์ขาย  1  คัน  ในราคา  200,000  บาท  โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าบำเหน็จแก่นายอาทิตย์  จำนวน  20,000  บาท  และในขณะเดียวกันก็ให้นายอาทิตย์ซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่  1  คัน  ในราคาไม่เกิน  300,000  บาท  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายอาทิตย์  จำนวน  25,000  บาท  นายอาทิตย์ได้นำรถยนต์ของนายจันทร์ไปขายเชื่อให้แก่นายอังคารและได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายพุธในราคา  300,000  บาท  ให้แก่นายจันทร์  ซึ่งนายอาทิตย์ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่นายพุธดังนี้อยากทราบว่า

(ก)    ถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายอังคารไม่นำเงินมาชำระ  นายอาทิตย์หรือนายจันทร์จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายอังคาร  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายอาทิตย์ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายพุธ  นายพุธจะฟ้องนายอาทิตย์หรือนายจันทร์ให้ชำระหนี้แก่ตน  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  833  อันว่าตัวแทนค้าต่าง  คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ  หรือขายทรัพย์สิน  หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา  837  ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น  ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น  และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  837  ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า  เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายหรือจัดทำกิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว  ตัวแทนค้าต่างย่อมต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง  ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา  ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้  และในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์ได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายอาทิตย์ขาย  1  คัน  และให้นายอาทิตย์ซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่  1  คัน  โดยตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายอาทิตย์  ซึ่งนายอาทิตย์เปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนรามคำแหงนั้น  ย่อมถือว่านายอาทิตย์เป็นตัวแทนค้าต่างของนายจันทร์ตามมาตรา  833  ดังนี้

(ก)    จากข้อเท็จจริง  เมื่อนายอาทิตย์ได้นำรถยนต์ของนายจันทร์ไปขายเชื่อให้แก่นายอังคารและถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายอังคารผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระค่ารถยนต์  นายอาทิตย์ผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายอังคาร  เพราะนายอาทิตย์ได้ทำสัญญาขายเชื่อรถยนต์ให้แก่นายอังคารในนามของตนเอง  จึงมีสิทธิต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการค้าขายรถยนต์นั้นตามมาตรา  837

(ข)    จากข้อเท็จจริง  เมื่อนายอาทิตย์ได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายพุธ  และถ้าหนี้ถึงกำหนด  นายอาทิตย์ผิดสัญญาไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายพุธ  นายพุธจะต้องฟ้องนายอาทิตย์ผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาให้ชำระหนี้แก่ตน  เพราะนายอาทิตย์ทำการซื้อรถยนต์กับนายพุธในนามของตนเอง  จึงต้องผูกพันต่อคู่สัญญาคือนายพุธด้วยตามมาตรา  837  นายพุธจะไปฟ้องเอากับนายจันทร์ตัวการมิได้  เพราะนายจันทร์มิใช่คู่สัญญา

สรุป

(ก)    นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายอังคาร

(ข)   นายพุธจะต้องฟ้องนายอาทิตย์ผู้เป็นตัวแทนค้าต่างให้ชำระหนี้แก่ตน

Advertisement