การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปาดังยืมรถยนต์ปิคอัพของปาเดเพื่อเอาไปใช้งานโดยแจ้งให้ปาเดทราบแล้วว่าจะนำไปดัดแปลงเป็นรถโดยสารรับจ้าง  ปาเดเห็นว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกันก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปใช้นานเท่าใด  ปาดังนำรถยนต์ที่ยืมมาไปต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อนำไปใช้รับคนโดยสาร  หลังจากนั้นวันหนึ่งมีสาเกเพื่อนของปาดังมาหาบอกว่าตกงานไม่มีรายได้อะไร  ปาดังสงสารจึงอนุญาตให้สาเกเอารถคันดังกล่าวไปขับรับคนโดยสารหารายได้  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและถ้าได้งานใหม่เมื่อใดก็ให้นำรถมาคืน  ดังนี้  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปหรือสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  640  สามารถแยกองค์ประกอบของสัญญายืมใช้คงรูปได้ดังนี้

1       เป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่กรณี  2  ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า  ผู้ให้ยืม  อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า  ผู้ยืม  โดยแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายละคนเสมอไป  อาจจะมากกว่าหนึ่งคนก็ได้  และจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2       เป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินได้เปล่า  ไม่มีค่าตอบแทน  ถ้าเป็นการใช้สอยทรัพย์สินแล้วต้องเสียค่าตอบแทน  สัญญานั้นก็จะเป็นเช่าทรัพย์ไป  มิใช่สัญญายืมใช้คงรูป

3       เป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินนั้นให้กับผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  กล่าวคือ  ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม  เมื่อใช้สอยทรัพย์สินเสร็จแล้ว  ผู้ยืมจะต้องส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้ยืม  จะส่งคืนทรัพย์สินอื่นแม้เป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมไม่ได้

ส่วนสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  นั้น  สามารถแยกลักษณะเฉพาะได้ดังนี้  คือ

1       เป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ได้  มีผลทำให้สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองแตกต่างกับยืมใช้คงรูป  และทำให้ยืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะใกล้เคียงกับสัญญาเช่าทรัพย์  ที่ผู้ยืม (ผู้เช่า)  ต้องเสียค่าตอบแทน  และต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม  เพียงแต่ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องคืนแต่ทรัพย์ที่เป็นประเภท  ชนิดและปริมาณเดียวกัน  แต่เช่าทรัพย์  ผู้เช่าต้องคืนทรัพย์สินอันเดียวกันกับที่ผู้ให้เช่าส่งมอบให้ 

2       เป็นสัญญาโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืม

3       วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองคือทรัพย์สินที่ใช้ไปสิ้นไป  กล่าวคือ  เมื่อมีการใช้สอยตามสัญญา  ทรัพย์สินนั้นจะเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นอยู่เสื่อมสลายหรือหมดเปลืองไป  ไม่คงรูปอยู่ในสภาพเดิม

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปหรือสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เห็นว่า  การที่ปาดังอนุญาตให้สาเกเอารถคันที่ปาดังยืมจากปาเดไปขับรับคนโดยสารหารายได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  และถ้าได้งานใหม่เมื่อใดก็ให้นำรถมาคืน  แสดงให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  เนื่องจากเป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่สัญญา  2  ฝ่าย  และเป็นสัญญาที่ตกลงให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินได้เปล่า  ไม่มีค่าตอบแทน  และประการที่สำคัญคือ  ตกลงให้ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นให้กับผู้ให้ยืมเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว  ไม่ได้ตกลงให้นำรถยนต์คันอื่นซึ่งเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับรถยนต์ที่ยืมมาคืน จึงไม่อาจเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  ได้

สรุป  สัญญาระหว่างปาดังกับสาเกเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640

 

ข้อ  2  นาย  ก  กู้ยืมเงินนาย  ข  100,000  บาท  สัญญายืมเงินกำหนดให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยขั้นสูงสุดตามกฎหมายกำหนด  ดังนี้  ลูกหนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  7  ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายอันชัดแจ้ง  ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การกู้ยืมเงินกันกว่า  2,000  บาท  ถ้าไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม  ผู้ให้ยืมจะนำไปฟ้องร้องบังคับให้ผู้ยืมชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ส่วนดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมนั้น  คู่สัญญาจะตกลงให้ผู้ยืมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมหรือไม่ก็ได้

1       ถ้าไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ย  ผู้ให้กู้ยืมเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่กู้ยืมไม่ได้จนกว่าผู้กู้ยืมจะผิดนัดตามมาตรา  224

2       ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยแก่กัน  จะต้องกำหนดอัตราไว้ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด  คือ  ไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปีตามมาตรา  654  ถ้าตกลงคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวถือว่าเป็นการตกลงที่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  มีผลทำให้ความตกลงในเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา  150  คงเรียกได้แต่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น  อนึ่งถ้าคู่สัญญามีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยแก่กันแต่ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง  บทบัญญัติมาตรา  7  ให้ถือว่าคู่สัญญาตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมเงินระหว่างนาย  ก  และนาย  ข  กำหนดให้นาย  ก  ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยขั้นสูงสุดตามกฎหมายกำหนด  กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่ชัดเจนเพราะไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งว่าจะให้ใช้ในอัตราเท่าใด  จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายลูกหนี้  ดังนั้นจึงต้องบังคับตามมาตรา  7  คือ  ให้ถือว่านาย  ก  และนาย  ข  คู่สัญญาตกลงกันให้เสียดอกเบี้ยในเงินกู้ยืมในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญากู้ยืมไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น  (ฎ.3708/2528)

สรุป  ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปีเท่านั้น

 

ข้อ  3  หนึ่งเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรามคำแหง  โดยพักร่วมกับสองเพื่อนร่วมงานที่มาทำงานด้วยกัน  หนึ่งนำประเป๋าสตางค์ที่มีเงินสดหนึ่งหมื่นบาท  สายสร้อยทองคำแขวนพระหลวงพ่อคูณเลี่ยมทอง  1  องค์  (รวมมูลค่าสายสร้อยและพระประมาณสามหมื่นบาท)  แหวนทับทิมล้อมเพชร  1  วง  (มูลค่าประมาณสองหมื่นบาท)  วางไว้ที่โต๊ะหัวเตียงในระหว่างนอนหลับ  เมื่อตื่นมาตอนเช้าพบว่ากระเป๋าเดินทางถูกรื้อค้นกระจุยกระจาย  เพดานห้องมีร่องรอยการปีนขึ้นลงจากฝ้าเพดาน  และแหวนทับทิมล้อมเพชรของหนึ่งถูกขโมยไป  หนึ่งได้รีบแจ้งให้นายสมเกียรติผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมทราบทันทีที่พบว่าของหายไป  โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคนขโมยแหวนคือสองเพื่อนร่วมงานที่พักในห้องเดียวกันนั่นเอง

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ตามหลักของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หนึ่งจะเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดต่อตนได้หรือไม่  ในจำนวนเงินเท่าใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  หนึ่งจะเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดต่อตนได้หรือไม่  ในจำนวนเงินเท่าใด  เห็นว่า  ตามมาตรา  675  วรรคแรก  ได้กำหนดให้เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ความเสียหายจะเกิดจากผู้คนไปมาเข้าออกยังโรงแรมก็ตาม  แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นไว้ใน  3  กรณี  คือ

1       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย

2       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นเอง

3       ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

กรณีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า  ทรัพย์สินที่สูญหายคือ  แหวนทับทิมล้อมเพชรอันถือว่าเป็นอัญมณีหรือของมีค่าตามมาตรา  675  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  เจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายโดยจำกัดความรับผิดชอบไว้เพียง  5,000  บาท  เพราะหนึ่งมิได้ฝากของมีค่าเช่นนั้นไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้งก็ตาม  แต่เมื่อการสูญหายนั้นเกิดจากการถูกขโมยไปโดยเพื่อนร่วมห้อง  (สอง)  ที่พักแรมด้วยกัน  จึงเข้าข้อยกเว้นที่ทางโรงแรมจะไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  675  วรรคสาม  เพราะถือว่าความเสียหายครั้งนี้เกิดจากบริวารของคนเดินทางหรือบุคคลที่คนเดินทางเข้าพักแรมด้วยกันนั่นเอง  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่สามารถเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดในทรัพย์สินที่หายได้

สรุป  หนึ่งไม่สามารถเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดในทรัพย์สินที่หายได้

Advertisement