การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2109 (LAW 2009) ป.พ.พ.ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 นายฟักทองได้ยืมรถบ้านเป็นเวลา 3 เดือน จากนายเห็ดหอม เพื่อนําไปใช้เป็นที่พักภายในรีสอร์ทของนายฟักทองที่จังหวัดราชบุรี ปรากฏว่าเมื่อใกล้วันปีใหม่ รีสอร์ทอีกแห่งหนึ่งของนายฟักทองที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้จองเข้าพักจํานวนมาก นายฟักทองจึงนํา รถบ้านที่ยืมมาไปจอดเพื่อใช้เป็นที่พักที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2565 รถบ้านที่อยู่ในรีสอร์ทจังหวัดเพชรบูรณ์ถูกนายไข่ต้มซึ่งเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์มาชนทําให้รถบ้านเสียหาย

ดังนี้ หากวันที่ 15 มกราคม 2555 นายเห็ดหอมทราบเหตุดังกล่าวจะบอกเลิกสัญญาแล้วเรียก ให้นายฟักทองคืนรถบ้านก่อนครบกําหนดระยะเวลายืมได้หรือไม่ และนายเห็ดหอมจะเรียกให้ นายฟักทองจ่ายค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และหากต้องการฟ้องร้อง จะฟ้องร้องภายในอายุความกี่เดือน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความ ในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 649 “ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟักทองได้ยืมรถบ้านจากนายเห็ดหอม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อนําไปใช้เป็นที่พักภายในรีสอร์ทของนายฟักทองที่จังหวัดราชบุรีนั้น ถือเป็นสัญญายืมใช้คงรูป ตามมาตรา 640 และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 641 และเป็นสัญญายืมที่มีกําหนดระยะเวลาการยืม ซึ่งนายฟักทอง มีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถบ้านได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้ง จะต้องไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายฟักทองได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมโดย เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา กล่าวคือ นายฟักทองได้เอารถบ้านที่ยืมนั้น ไปจอดเพื่อใช้เป็นที่พักที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามาตรา 643 ดังนั้น เมื่อนายเห็ดหอมได้ทราบเหตุดังกล่าวในวันที่ 15 มกราคม 2565 นายเห็ดหอมผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แล้วเรียกให้นายฟักทองคืนรถบ้านก่อนครบกําหนดระยะเวลายืมได้ตามมาตรา 645

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถบ้านเนื่องจากนายไข่ต้มซึ่งเมาแล้วขับรถจักรบานยนต์มาชนทําให้
รถบ้านเสียหายนั้น แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุที่เกิดจากบุคคลภายนอกก็ตาม นายฟักทองก็ต้องรับผิดชอบ ตามมาตรา 643 ดังนั้น นายเห็ดหอมสามารถเรียกให้นายฟักทองจ่ายค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาทได้ และ หากนายเห็ดหอมต้องการฟ้องร้องจะต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญาตามมาตรา 649

สรุป นายเห็ดหอมสามารถบอกเลิกสัญญาแล้วเรียกให้นายฟักทองคืนรถบ้านก่อนครบกําหนดระยะเวลายืมได้ และสามารถเรียกให้นายฟักทองจ่ายค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาทได้ และถ้าจะฟ้องร้อง ก็จะต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

ข้อ 2 นายแดงได้กู้ยืมเงินจากนายดําจํานวน 100,000 บาท โดยทําหลักฐานการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย และได้นําเอาพระเครื่องเลี่ยมทองคํามาจํานําเป็นประกันการกู้แก่นายดําไว้ด้วย สัญญากู้มีกําหนด เวลาหนึ่งปี และตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายแดงโอนเงินเข้าบัญชี นายดําจํานวน 115,000 บาท เพื่อชําระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมด นายดําจึงคืนพระเครื่อง เลี่ยมทองคําให้นายแดง แต่ยังคงเก็บหลักฐานการกู้ไว้กับตน ภายหลังนายแดงทะเลาะกับนายดํา อย่างรุนแรง นายดําจึงนําเอาหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องให้นายแดงชําระเงินที่กู้ยืมอีก

นายแดงให้การต่อสู้ว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดให้นายดําแล้ว และขอนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวต่อศาล ดังนี้ หากท่านเป็นศาล ท่านจะอนุญาตให้นายแดงนําสืบว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้วหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 321 วรรคหนึ่ง “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ
ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้กู้ยืมเงินจากนายดําจํานวน 100,000 บาท โดยทําหลักฐาน การกู้ยืมเงินตามกฎหมาย และได้นําเอาพระเครื่องเลี่ยมทองคํามาจํานําเป็นประกันการกู้ยืมแก่นายดําไว้ด้วย สัญญากู้มีกําหนด 1 ปี และตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี การกู้ยืมเงินระหว่างนายแดงและนายดําย่อมมีผล สมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 653 วรรคสองนั้น ในกรณีที่การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในการนําสืบว่า มีการใช้เงินแล้วจะสามารถนําสืบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง
หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายแดงได้ชําระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเป็นเงิน 115,000 บาท และนายดําได้คืนพระเครื่องเลี่ยมทองคําที่นายแดงนํามาวางเป็นหลักประกันการกู้ แต่ไม่ได้คืนหลักฐานการกู้ยืมให้นายแดง จึงไม่ถือว่าเป็นการเวนคืนหลักฐานการกู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายแดงได้ชําระเงินคืนให้แก่นายดํานั้น นายแดงได้โอนเงินเข้าบัญชีของนายดําซึ่งถือเป็น การชําระหนี้อย่างอื่นต นตามมาตรา 321 มิได้ชําระด้วยเงินตรา จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง ที่จะต้อง นําสืบว่ามีการใช้เงินด้วยหลักฐานเป็นหนังสือ

ดังนั้น นายแดงจึงสามารถนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้ และถ้า ข้าพเจ้าเป็นศาล จะอนุญาตให้นายแดงนําสืบพยานหลักฐานแสดงถึงการชําระหนี้ทั้งหมดได้

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาล จะอนุญาตให้นายแดงนําสืบพยานหลักฐานแสดงถึงการชําระหนี้ทั้งหมด

ข้อ 3 นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบ โดยนํารถยนต์ของตนเข้าจอดในลานจอดรถของโรงแรมหลับสนิท ซึ่งทางโรงแรมนอนสงบขอเช่าเป็นพื้นที่จอดรถเอาไว้ และในขณะลงทะเบียนเข้าพัก นายสุขมิได้ระบุเลขทะเบียนรถยนต์ของตนลงในแบบคําขอเข้าพักของโรงแรมนอนสงบ ต่อมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารถยนต์ของนายสุขถูกคนร้ายลักเอาไปจากลานจอดรถของโรงแรมหลับสนิท ในเวลา 03.00 น. แต่นายสุขมาพบว่ารถยนต์ของตนหายไปในเวลา 07.00 น. และเดินหาอยู่เป็น เวลา 20 นาที จึงทําการแจ้งให้ผู้จัดการของโรงแรมนอนสงบทราบ แต่ทางโรงแรมนอนสงบปฏิเสธ ความรับผิด โดยให้เหตุผลว่า รถยนต์ของนายสุขมิได้อยู่ในพื้นที่ของทางโรงแรม และนายสุขก็มิได้ แจ้งต่อโรงแรมว่าตนได้นํารถยนต์เข้ามา ทั้งเมื่อรถยนต์หายนายสุขมิได้แจ้งในทันที

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธความรับผิดของโรงแรมนอนสงบทั้งสามประการฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง
ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป
ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบ โดยนํารถยนต์ของตนเข้าจอดใน ลานจอดรถของโรมแรมหลับสนิทซึ่งทางโรมแรมนอนสงบขอเช่าเป็นพื้นที่จอดรถเอาไว้นั้น ย่อมถือว่านายสุขเป็น แขกอาศัยที่ได้นํารถยนต์อันเป็นทรัพย์สินเข้ามาในอาญาบริเวณของโรงแรมนอนสงบแล้ว แม้ว่ารถยนต์คันดังกล่าว
จะจอดอยู่ที่โรงแรมหลับสนิทก็ตาม และเมื่อปรากฏว่ารถยนต์ของนายสุขถูกคนร้ายลักเอาไปจากลานจอดรถของ โรงแรมหลับสนิทในเวลา 03.00 น. แต่นายสุขมาพบว่ารถยนต์ของตนหายไปในเวลา 07.00 น. และเดินหาอยู่ เป็นเวลา 20 นาที จึงได้ทําการแจ้งให้ผู้จัดการของโรงแรมนานสงบทราบนั้น ย่อมถือว่าเป็นการแจ้งทันทีที่ทราบว่า ทรัพย์สินของตนสูญหายตามมาตรา 676 อีกทั้งรถยนต์นั้นมิใช่เป็นของมีค่าตามนัยของมาตรา 675 วรรคสอง นายสุขจึงไม่จําต้องฝากไว้แก่ทางโรงแรมและบอกราคารถยนต์นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อรถยนต์ของนายสุข แขกอาศัยหายไป ทางโรงแรมนอนสงบจึงต้องรับผิดต่อนายสุขตามมาตรา 474 และมาตรา 475 จะปฏิเสธ ความรับผิดโดยให้เหตุผลว่ารถยนต์ของนายสุขมิได้อยู่ในพื้นที่ของทางโรงแรม และนายสุขมิได้แจ้งต่อโรงแรมว่า ตนได้นํารถยนต์เข้ามา ทั้งเมื่อรถยนต์หายนายสุขมิได้แจ้งในทันทีนั้นหาได้ไม่

สรุป การปฏิเสธความรับผิดของโรงแรมนอนสงบทั้ง 3 ประการฟังไม่ขึ้น โรงแรมนอนสงบต้องรับผิดชอบต่อนายสุข

 

Advertisement