การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2109 (LAW 2009) ป.พ.พ.ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายเกดและนางปลาเป็นคู่รักกัน นายเกตเห็นว่านางปลาต้องไปทํางานนอกสถานที่หลายวัน จึงให้ยืมโน้ตบุ๊กและรถยนต์เพื่อใช้ไปทํางานนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายเกต จึงส่งมอบโน้ตบุ๊กและรถยนต์ให้นางปลาเรียบร้อยแล้ว ในช่วงค่ําของวันเดียวกัน นายกู๊ดเพื่อนบ้าน ของนายเกดโน้ตบุ๊กเสียกะทันหัน จึงโทรศัพท์มาขอยืมโน้ตบุ๊กเพื่อจะใช้ส่งงานให้บริษัท ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายเกดจะเรียกคืนโน้ตบุ๊กจากนางปลาเพื่อเอาไปให้นายกู๊ดเพื่อนบ้านยืมได้หรือไม่ เพราะ เหตุใด

(ข) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 นางปลาเอารถยนต์ที่ยืมมาไปจอดไว้ในลานจอดรถใกล้สถานที่ ที่ตนทํางานนอกสถานที่ โดยปิดกระจกล็อกกุญแจและตรวจสอบความเรียบร้อยของรถยนต์ เป็นอย่างดี เมื่อทํางานเสร็จกลับมาจึงพบว่ารถถูกทุบกระจก จึงรีบแจ้งความทันที กรณีนี้ นายเกดสามารถเรียกค่าเสียหายจากนางปลาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่
ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง”

มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียก
ของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายเกดให้นางปลายืมโน้ตบุ๊กและรถยนต์เพื่อใช้ไปทํางานนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 และเมื่อนายเกดได้ส่งมอบโน้ตบุ๊กและรถยนต์ให้นางปลาเรียบร้อยแล้ว สัญญายืมระหว่าง นายเกดและนางปลาเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 641 และเป็นสัญญา ยืมใช้คงรูปที่ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการยืมไว้ ซึ่งตามมาตรา 646 กําหนดว่า ถ้ามิได้กําหนดระยะเวลายืมกันไว้ ให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นจนเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา ดังนั้น เมื่อนางปลา
ต้องทํางานนอกสถานที่หลายวัน นายเกดจะมาเรียกคืนโน้ตบุ๊กตั้งแต่คืนแรกที่นางปลายืมไปเพื่อเอาไปให้นายกู๊ด เพื่อนบ้านยืมไม่ได้

(ข) การที่นางปลานํารถยนต์ที่ยืมไปจอดไว้ในลานจอดรถใกล้สถานที่ที่ตนทํางานนอกสถานที่ โดย
ปิดกระจกล็อกกุญแจและตรวจสอบความเรียบร้อยของรถยนต์เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อพบว่ารถยนต์ถูกทุบกระจกก็ได้แจ้งความทันที จึงเป็นกรณีที่นางปลาได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนรถที่ยืมเหมือนเช่นวิญญูชนตามมาตรา 644 แล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่านางปลาได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมผิดหน้าที่ของผู้ยืมตาม มาตรา 643 แต่อย่างใด ดังนั้น นายเกดจึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากนางปลาได้

สรุป

(ก) นายเกดจะเรียกคืนโน้ตบุ๊กจากนางปลาเพื่อเอาไปให้นายกู๊ดเพื่อนบ้านยืมไม่ได้

(ข) นายเกดจะเรียกค่าเสียหายจากนางปลาไม่ได้

ข้อ 2 นางสวยซื้อแหวนเพชรจากนายรวย แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าแหวนจํานวน 500,000 บาท จึงตกลง ทําหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้นายรวยไว้แทน นางสวยพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โดยมีพยานได้แก่นายหนึ่งอายุ 18 ปี ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางสวยในขณะนั้น เป็นภาษาเกาหลี และนายสองซึ่งเป็นใบ้อายุ 25 ปี โดยลงลายมือชื่อรับรองภายหลังจากทํา สัญญาหนึ่งเดือน หนังสือสัญญากู้มีกําหนดเวลาสามปีและตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดย มีข้อตกลงว่าเมื่อครบกําหนดทุกหนึ่งปี ให้นําเอาดอกเบี้ยที่ค้างชําระทบเข้ากับเงินต้นได้ เมื่อครบ กําหนดระยะเวลา นางสวยไม่สามารถชําระหนี้ให้นายรวยได้ นายรวยจึงนําหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้นางสวยชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญา นางสวยขอให้ศาลยกฟ้อง โดยให้การต่อสู้ว่า

(ก) นางสวยไม่เคยได้รับเงินกู้จํานวน 500,000 บาท จากนายรวย

(ข) หนังสือสัญญากู้ยืมเงินใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินไม่ได้ เพราะพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ค) ข้อตกลงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการตกลงล่วงหน้าว่า
ดอกเบี้ยค้างชําระครบหนึ่งปี

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะตัดสินคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 9 “เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับทําให้เป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทําหนังสือไม่ จําเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทํานองเช่นว่านั้น ที่ทําลงในเอกสาร แทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ”

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 655 วรรคหนึ่ง “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชําระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ย ค้างชําระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ย ในจํานวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทําเป็นหนังสือ”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อนายรวยได้นําหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องบังคับให้นางสวย ชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญา แต่นางสวยขอให้ศาลยกฟ้องโดยให้การต่อสู้ดังกล่าวนั้น ข้อต่อสู่ ทั้ง 3 ข้อของนางสวย ย่อมฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้เพราะ

(ก) การที่นางสวยซื้อแหวนเพชรจากนายรวยแต่ไม่มีเงินจ่ายค่าแหวนเพชรจํานวน 500,000 บาท จึงตกลงทําหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้นายรวยไว้แทนนั้น ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ คือ เปลี่ยนจากมูลหนี้ซื้อขาย เป็นมูลหนี้กู้ยืมเงิน สัญญากู้ยืมเงินจึงสมบูรณ์ ดังนั้น การที่นางสวยให้การต่อสู้ว่าไม่เคยได้รับเงินกู้จํานวน 500,000 บาท จากนายรวย ข้อต่อสู้ของนางสวยกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น

(ข) การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น เมื่อนายรวยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม คือ นางสวย นายรวยจึงสามารถฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่นางสวยพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยมีพยานได้แก่นายหนึ่งอายุ 18 ปี ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ของนางสวยในขณะนั้นเป็นภาษาเกาหลีนั้น แม้นายหนึ่งจะยังไม่บรรลุนิติภาวะและลงลายมือชื่อเป็นภาษาเกาหลี ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การลงลายมือชื่อของนายหนึ่งดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 9

ส่วนพยานอีกคนหนึ่งคือนายสองนั้น แม้นายสองจะได้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ในภายหลังก็ตามก็สามารถทําได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การลงลายมือชื่อรับรองในฐานะ พยานของนายสองในภายหลังย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 9 เช่นเดียวกัน

และเมื่อสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 500,000 บาทดังกล่าวนั้น มีหลักฐานเป็นหนังสือ และมี ลายมือชื่อผู้ยืม แม้ผู้ยืมจะพิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินแทนการลงลายมือชื่อก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการ ลงลายมือชื่อ เพราะมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว จึงใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

(ค) ข้อตกลงให้นายรวยนําเอาดอกเบี้ยที่ค้างชําระทบเข้ากับเงินต้นนั้น เมื่อได้ทําข้อตกลงกันไว้ เป็นหนังสือ และดอกเบี้ยที่ค้างชําระนั้นไม่น้อยกว่า 1 ปี ข้อตกลงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 655 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่มีการทําข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น ก็ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทําเมื่อดอกเบี้ยค้างชําระครบ 1 ปีแล้วแต่อย่างใด ถึงสามารถทําข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าได้

ดังนั้น เมื่อข้อต่อสู้ทั้ง 3 ข้อของนางสวยฟังไม่ขึ้น หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะตัดสินให้นางสวยชําระเงิน ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 500,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี รวมถึงดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้ยืมเงิน
ให้แก่นายรวย

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะตัดสินให้นางสวยชําระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 500,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้ยืมให้แก่นายรวย

ข้อ 3 นายสงัดเข้าพักที่โรงแรมเย็นสงบเป็นเวลา 3 คืน โดยได้สิทธิพิเศษจากทางโรงแรมให้จ่ายค่าที่พัก แค่คืนแรกคืนเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าในคืนที่สองนายสงัดได้เข้าไปใช้บริการร้านนวดผ่อนคลาย ของโรงแรม และได้ทําการเก็บแหวนเพชรราคา 250,000 บาท และแว่นตากรอบทองคําราคา 80,000 บาท ไว้ในตู้เซฟที่ทางโรงแรมตั้งไว้เพื่อให้บริการ โดยบอกกล่าวแก่นายเทพพนักงานของ โรงแรมให้ช่วยเฝ้าตู้เซฟดังกล่าวให้เป็นอย่างดี เพราะของในตู้เซฟเป็นของราคาแพง ปรากฏว่า มีคนร้ายมาลักเอาแหวนเพชรราคา 250,000 บาท และแว่นตากรอบทองคําราคา 80,000 บาท ของนายสงัดไป เมื่อทราบถึงการสูญหายดังกล่าว นายสงัดจึงรีบแจ้งแก่ผู้จัดการของโรงแรมเย็นสงบ ในทันที แต่ทางโรงแรมเย็นสงบปฏิเสธความรับผิดต่อนายสงัดโดยอ้างว่าอยู่ในช่วงที่นายสงัด เข้าพักฟรี จึงไม่อยู่ในระบบเวลาที่โรงแรมจะต้องรับผิด

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า โรงแรมเย็นสงบมีความรับผิดต่อนายสงัดหรือไม่ และหากจะต้องรับผิด จะต้องรับผิดเป็นจํานวนเท่าใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตาม ที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสงัดเข้าพักที่โรงแรมเย็นสงบเป็นเวลา 3 คืนนั้น แม้จะได้สิทธิพิเศษ จากทางโรงแรมให้จ่ายค่าที่พักแค่คืนแรกคืนเดียวเท่านั้น ก็ถือว่านายสงัดเป็นแขกอาศัยหรือคนเดินทางตาม
มาตรา 674 การที่นายสงัดได้เข้าไปใช้บริการร้านนวดผ่อนคลายของโรงแรม และได้ทําการเก็บแหวนเพชรราคา 250,000 บาท และแว่นตากรอบทองคําราคา 80,000 บาท ไว้ในตู้เซฟที่ทางโรงแรมตั้งไว้เพื่อให้บริการ ย่อมเป็น กรณีที่แขกอาศัยหรือคนเดินทางได้นําของมีค่าตามมาตรา 675 เข้ามาในโรงแรมแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่ นายสงัดได้เก็บของไว้ในตู้เซฟและบอกกล่าวแก่นายเทพพนักงานโรงแรมให้ช่วยเฝ้าตู้เซฟดังกล่าวให้เป็นอย่างดี เพราะของในตู้เซฟเป็นของราคาแพงนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายสงัดได้นําของมีค่านั้นฝากไว้แก่เจ้าสํานักโรงแรมพร้อมบอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้งตามมาตรา 675 วรรคสอง

ดังนั้น เมื่อมีคนร้ายมาลักเอาแหวนเพชรราคา 250,000 บาท และแว่นตากรอบทองคําราคา 80,000 บาท ของนายสงัดไป ทางโรงแรมเย็นสงบจึงต้องรับผิดต่อนายสงัด โดยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าแหวนเพชร และแว่นตากรอบทองคํารวมเป็นเงิน 5,000 บาท ตามมาตรา 674 และมาตรา 675

สรุป โรงแรมเย็นสงบต้องรับผิดต่อนายสงัด โดยจะต้องรับผิดรวมเป็นเงิน 5,000 บาท

Advertisement