การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย  แลกเปลี่ยน  ให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์บอกขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา  1  ล้านบาท  นายอังคารตอบตกลงซื้อและได้ชำระราคา  1  ล้านบาท  ให้นายจันทร์  และทั้งคู่ได้ตกลงกันให้นายจันทร์ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารในวันที่  1  เดือนหน้า  ในคืนนั้น  นายพุธได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายจันทร์ในราคา  2  ล้านบาท  นายจันทร์ขอให้นายพุธไปพบที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนสิทธินิติกรรม  ทั้งคู่มาที่สำนักงานที่ดินและทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ในราคา  2  ล้านบาท  และยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธินิติกรรมซื้อขาย  นายอังคารทราบข่าวและมายื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอย่ารับจดทะเบียน  เพราะตนได้ซื้อไว้อยู่ก่อน  นายพุธไม่อยากมีปัญหาและขอให้นายจันทร์ไปเจรจาตกลงกับนายอังคารก่อน  นายจันทร์กับนายพุธจึงยื่นคำขอถอนคำขอจดทะเบียนจากเจ้าพนักงานที่ดิน  ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นมาก  นายจันทร์จึงเปลี่ยนใจไม่ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารและนายพุธ

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงนี้จากนายจันทร์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  455  เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย  ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญา  ซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์)  หมายถึง  สัญญาซื้อขายที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว  โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันนั้น  ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

สัญญาจะซื้อขาย  คือ  สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ  ที่คู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย  แต่มีข้อตกลงกันว่า  จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า  คือเมื่อได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

โดยหลัก  การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์นั้น  กฎหมายได้บัญญัติให้คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา  456  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  455

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงดังกล่าวที่ได้ทำสัญญาซื้อขายจากนายจันทร์ได้หรือไม่นั้น  จะต้องพิจารณาก่อนว่าสัญญาซื้อขายที่นายอังคารกับนายพุธได้ทำไว้กับนายจันทร์นั้นเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด

1  สัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายอังคาร

การที่นายจันทร์และนายอังคารได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์กันนั้น  ทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันเพียงครั้งเดียวและเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  โดยไม่มีข้อตกลงกันว่าจะไปกระทำตามแบบพิธีใดๆในภายหน้า  ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และเมื่อคู่กรณีมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก  ดังนั้นนายอังคารจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินจากนายจันทร์ตามสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะ

2  สัญญาซื้อขายระหว่างนายจันทร์กับนายพุธ

การที่นายจันทร์และนายพุธได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น  เมื่อทั้งสองได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายกันให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในครั้งเดียวจึงถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเช่นเดียวกัน  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายพุธได้ทำเป็นหนังสือ  แต่เจ้าพนักงานที่ดินยังไม่ได้รับจดทะเบียน  เนื่องจากทั้งสองได้ยื่นคำขอถอนคำขอจดทะเบียนจากเจ้าพนักงานที่ดิน  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์กับนายพุธย่อมตกเป็นโมฆะ  เพราะมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ตามมาตรา  456  วรรคแรก  ดังนั้นนายพุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินจากนายจันทร์ตามสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะเช่นเดียวกัน

สรุป  นายอังคารกับนายพุธจะเรียกร้องที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายจันทร์ไม่ได้  เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทั้งสองได้ทำกับนายจันทร์เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและมีผลเป็นโมฆะ

 

 

ข้อ  2  นายไก่นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดจำนวน  10  คัน  นายหนึ่งประมูลได้ไป  1  คัน  และนายสองได้ไป  1  คัน  หลังจากมีการส่งมอบชำระราคาเรียบร้อย  รถยนต์ที่นายหนึ่งซื้อไป  นายดำพาตำรวจมาขอรถยนต์คืนโดยนำพยานหลักฐานต่างๆมาแสดงว่า  เป็นรถยนต์ของตนซึ่งถูกฉ้อโกงมาขายให้นายไก่  นายหนึ่งจึงยอมคืนรถยนต์ให้นายดำไป  ส่วนอีกคันหนึ่งซึ่งนายสองซื้อไปคานหักซึ่งนายไก่เจ้าของเดิมทราบดีอยู่แล้ว  แต่มิได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลทราบ

นายหนึ่งจะฟ้องให้นายไก่รับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิ  และสองจะฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(3)           ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิดถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดี  ผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473  เช่น  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสองได้ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของนายไก่  และปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวที่นายสองซื้อไปจากนายไก่นั้นคานหัก  ซึ่งถือว่ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น  เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันจะมุ่งใช้เป็นปกติ  ซึ่งโดยหลักนายไก่จะต้องรับผิดชอบต่อนายสองผู้ซื้อตามมาตรา  472  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีนี้  นายสองจะฟ้องให้นายไก่รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  เนื่องจากรถยนต์ที่นายสองซื้อมาจากนายไก่นั้นเป็นการซื้อมาจากการขายทอดตลาด  จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้น  ตามมาตรา  473(3)

ส่วนกรณีการรอนสิทธินั้นตามมาตรา  475  วางหลักไว้ว่า  ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ  ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาได้โดยปกติสุข  เพราะมีบุคคลอื่นที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ

ตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้ซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของนายไก่ไป  1  คัน  แต่นายหนึ่งผู้ซื้อได้ถูกรอนสิทธิ  คือได้ถูกนายดำเจ้าของที่แท้จริงของรถยนต์คันที่นายหนึ่งซื้อมานั้นติดตามเอาคืนไป  ดังนั้นนายหนึ่งย่อมสามารถฟ้องให้นายไก่รับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้ตามมาตรา  475

สรุป  นายหนึ่งฟ้องให้นายไก่รับผิดกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้  แต่นายสองจะฟ้องให้นายไก่รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

 

ข้อ  3  นายจันทร์นำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือจดทะเบียนขายฝากนายอังคารไว้ในราคา  1  ล้านบาท  ไถ่คืนภายใน  1  ปี  สินไถ่ราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน  เมื่อใกล้จะครบ  1  ปี  นายจันทร์ไปขอใช้สิทธิในการไถ่คืน  พร้อมเงิน  1  ล้าน  1  แสน  5  หมื่นบาท  นายอังคารปฏิเสธโดยอ้างว่าสัญญายังไม่ถึงกำหนดไถ่คืน  1  ปี  สินไถ่ไม่ครบเพราะตกลงกัน  ประโยชน์ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน  ไม่ใช่ต่อปี  คำปฏิเสธของนายอังคารรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และนักศึกษาจะแนะแนวทางในการไถ่บ้านและที่ดินคืนแก่นายจันทร์อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  492  วรรคแรก  ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้  ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  499  สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้  ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายจันทร์นำบ้านและที่ดินของตนไปขายฝากไว้กับนายอังคารในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปีนั้น  เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงเป็นสัญญาขายฝากที่ชอบด้วยกฎหมาย  (มาตรา  491  ประกอบมาตรา  456  วรรคแรก)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายจันทร์ได้ไปขอไถ่ทรัพย์คืนพร้อมเงิน  1,150,000  บาท  ดังนี้  นายอังคารจะปฏิเสธไม่ได้  เพราะเหตุว่านายจันทร์ได้ขอใช้สิทธิในการไถ่ก่อนครบ  1  ปี  และภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  (มาตรา  494(1))  และในส่วนเงินสินไถ่นั้นตามมาตรา  499  วรรคสอง  ได้กำหนดไว้ว่า  ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี  ดังนั้น  เมื่อมีการกำหนดสินไถ่ไว้ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีก  15  เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนจึงเกินอัตราที่กฎหมายได้กำหนดไว้  การที่นายจันทร์นำเงิน  1,150,000  บาท  มาเป็นสินไถ่จึงเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องแล้ว  กล่าวคือ  ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี  เท่ากับ  1,150,000  บาท  (มาตรา  499  วรรคสอง)  ดังนั้น  คำปฏิเสธของนายอังคารที่ว่ายังไม่ครบ  1  ปีและสินไถ่ไม่ครบจึงรับฟังไม่ได้

และถ้าหากนายอังคารไม่ยอมรับไถ่  นายจันทร์สามารถนำเงิน  1,150,000  บาท  ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนด  1  ปี  ตามข้อตกลงในสัญญา  ก็ถือว่านายจันทร์ได้ไถ่ทรัพย์สินคือบ้านและที่ดินคืนแล้ว  และให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันทร์ตั้งแต่เวลาที่นายจันทร์ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว  (มาตรา  492  วรรคแรก)

สรุป  คำปฏิเสธของนายอังคารที่ว่ายังไม่ครบ  1  ปี  และสินไถ่ไม่ครบนั้นรับฟังไม่ได้  และข้าพเจ้าจะแนะแนวทางในการไถ่บ้านและที่ดินคืนแก่นายจันทร์ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement