การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2105 (LAW 2005) ป.พ.พ.ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1 นายเอกจองซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงหมายเลข 1234 จากนายโท 1 แปลง ใบจองข้อ 1 ระบุราคาขายบ้านพร้อมที่ดินจํานวน 1,000,000 บาท ข้อ 2. ระบุว่านายเอกวางเงินจองไว้เป็นจํานวน 50,000 บาท และให้เงินจํานวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชําระราคาบ้านพร้อมที่ดินตามสัญญา และข้อ 3. ระบุค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้นายโทเป็นผู้ชําระ อยากทราบว่าใบจองซื้อบ้าน พร้อมที่ดินเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด หากนายเอกผิดนัดไม่ชําระราคาบ้านพร้อมที่ดิน นายโทจะอาศัยความผูกพันที่มีผลตามสัญญาซื้อขายฟ้องร้องต่อศาลขอให้นายเอกปฏิบัติตามสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพแลสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่

“สัญญาจะซื้อจะขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการ โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อ ได้ไปทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

และสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 455 ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นกฎหมายมิได้กําหนดแบบไว้แต่อย่างใดเพียงแต่ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่จะมีการฟ้องร้องบังคับคดีกัน จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

1 จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ

2 มีการวางประจํา (มัดจํา) ไว้ หรือ

3 มีการชําระหนี้บางส่วน

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายเอกจองซื้อบ้านพร้อมที่ดินแปลงหมายเลข 1234 จากนายโท 1 แปลง โดยในใบจอง ระบุราคาขายบ้านพร้อมที่ดินจํานวน 1,000,000 บาท และระบุว่านายเอกวางเงินจองไว้เป็นจํานวน 50,000 บาท โดยระบุไว้ว่าให้เงินจํานวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชําระราคาบ้านพร้อมที่ดินตามสัญญาฯ และระบุว่าค่าจทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ให้นายโทเป็นผู้ชําระนั้น ใบจองซื้อบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นสัญญาซื้อขาย และเป็น สัญญาซื้อขายประเภทสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งนี้เพราะเป็นสัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่กรณียังมิได้มีเจตนาที่ จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะทําสัญญาซื้อขาย (ขณะจอง) แต่มีข้อตกลงที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่กันเมื่อได้ไปกระทําตามแบบที่กฎหมายกําหนด คือ มีการไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันแล้วในภายหน้า

2 เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี กล่าวคือ เมื่อสัญญาซื้อขาย (ตามใบจอง) นั้น ได้ระบุว่านายเอกได้วางเงินจองไว้เป็นจํานวน 50,000 บาท และให้เงินจํานวนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการชําระราคาบ้านพร้อมที่ดินตามสัญญา จึงถือเป็นการชําระหนี้ค่าบ้านพร้อมที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อนายเอกผิดนัดไม่ชําระราคาบ้านพร้อมที่ดิน นายโทย่อมสามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้นายเอกปฏิบัติ ตามสัญญาได้ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

สรุป ใบจองซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และนายโทสามารถฟ้องร้องต่อศาล ขอให้นายเอกปฏิบัติตามสัญญาได้

ข้อ 2 นายหนึ่งสั่งซื้อเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะจากนายสองในราคา 100,000 บาท นายหนึ่งได้ ชําระเงินให้แก่นายสองในวันทําสัญญาจํานวน 40,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชําระเป็นสองงวด เมื่อเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะที่นายสองส่งมอบให้แก่นายหนึ่งเกิดขัดข้องในการใช้งานอันเป็น ผลมาจากกระบวนการผลิตรวมถึงการเซ็ตระบบเครื่องให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทยจากโรงงานของนายสอง อยากทราบว่า ในระหว่างที่นายสองดําเนินการแก้ไขความชํารุดบกพร่อง ของเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะตามคําเรียกร้องของนายหนึ่ง นายสองจะมีสิทธิเรียกนายหนึ่งให้ใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชําระหรือไม่ ท่านในฐานะทนายความจะให้คําปรึกษาแก่นายสองเช่นไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดีท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่”

มาตรา 488 “ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชํารุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะ ยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชําระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งสั่งซื้อเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะจากนายสองในราคา 100,000 บาท โดยนายหนึ่งได้ชําระเงินให้แก่นายสองในวันทําสัญญาจํานวน 40,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชําระเป็นสองงวด เมื่อปรากฏว่าเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะที่นายสองส่งมอบให้แก่นายหนึ่งเกิดขัดข้องในการใช้งานอันเป็นผล มาจากกระบวนการผลิตรวมถึงการเซ็ตระบบเครื่องให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทยจากโรงงานของ นายสอง ย่อมถือว่าทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เลื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมาย โดยสัญญา ดังนั้น ผู้ขายคือนายสองจึงต้องรับผิดต่อนายหนึ่งผู้ซื้อตามมาตรา 472

และเมื่อนายหนึ่งได้พบเห็นความชํารุดบกพร่องดังกล่าว นายหนึ่งย่อมมีสิทธิตามมาตรา 488
กล่าวคือ นายหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชําระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ดังนั้น ในระหว่างที่ นายสองดําเนินการแก้ไขความชํารุดบกพร่องของเครื่องผลิตไอศกรีมเกล็ดหิมะตามคําเรียกร้องของนายหนึ่ง นายสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชําระให้แก่ตนได้ เว้นแต่นายสองจะได้แก้ไขตามความชํารุดบกพร่องนั้น ให้สิ้นไป หรือหาประกันที่สมควรให้แก่นายหนึ่งได้ตามมาตรา 488

สรุป นายสองไม่มีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชําระให้แก่นายสอง จนกว่านายสองจะ ได้แก้ไขความชํารุดบกพร่องนั้นให้หมดสิ้นไป หรือหาประกันที่สมควรให้แก่นายหนึ่งได้

ข้อ 3 นายเอทําสัญญาขายฝากทองรูปพรรณไว้กับนายบีในราคา 19,999 บาท กําหนดเวลาไถ่ทองรูปพรรณ กลับคืนภายใน 1 ปี เมื่อเวลาผ่านไป 11 เดือน นายเอได้โทรศัพท์ไปเจรจากับนายบีเพื่อขอขยาย กําหนดเวลาไถ่ออกไปอีก 6 เดือน นายบีตอบตกลงโดยไม่ว่ากล่าวอะไร เนื่องจากเมื่อขยายกําหนด เวลาไถ่ออกไปแล้วก็ยังคงอยู่ภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน นับแต่วันที่ ตกลงขยายกําหนดเวลาไถ่ นายเอนําเงินจํานวน 19,999 บาท ไปขอไถ่ทองรูปพรรณคืนจากนายปี แต่นายบีกลับปฏิเสธการไถ่อ้างว่าล่วงเลยกําหนดเวลาไถ่แล้ว เพราะการขยายกําหนดเวลาไม่ใช้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกําหนด หรือหากนายเอประสงค์จะไถ่ทองรูปพรรณ กลับคืนจริง ก็สามารถไถ่ได้ในราคา 31,000 บาท ต่อหนึ่งบาททองคําตามกําหนดราคาทองคํา ที่ประกาศโดยสมาคมค้าทองคําประจําวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ขอไถ่ถอน ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนายบีรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย”

มาตรา 496 “กําหนดเวลาไถ่นั้น อาจทําสัญญาขยายกําหนดเวลาไม่ได้ แต่กําหนดเวลาไถ่รวมกัน ทั้งหมด ถ้าเกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกําหนดเวลาตามมาตรา 494

การขยายกําหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่…”

มาตรา 499 วรรคหนึ่ง “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อกล่าวอ้างของนายที่รับฟังได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายเอทําสัญญาขายฝากทองรูปพรรณไว้กับนายปี กําหนดเวลาไถ่กลับคืนภายใน 1 ปี เมื่อเวลาผ่านไป 11 เดือน นายเอได้โทรศัพท์ไปเจรจากับนายปีเพื่อขอขยายกําหนดเวลาไม่ออกไปอีก 6 เดือน และนายบีตอบตกลงโดยไม่ว่าอะไรนั้น การขยายระยะเวลาการไถ่ออกไปอีก 6 เดือน เมื่อรวมกับกําหนดเวลาไถ่ ทั้งหมดแล้วไม่เกินกําหนดเวลาตามมาตรา 494 คือ ไม่เกิน 3 ปี การขยายระยะเวลาการไถ่จึงสามารถทําได้ตาม มาตรา 496 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการขยายเวลาการไถ่ดังกล่าวนั้นไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้รับไถ่คือนายบีตามมาตรา 496 วรรคสอง การขยายเวลาการไถ่นั้นจึงใช้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน นับแต่วันที่ตกลงขยายกําหนดเวลาไถ่ นายเอได้นําเงินไปขอไถ่ทองรูปพรรณคืนจากนายบี แต่นายปีกลับปฏิเสธ การไถ่โดยอ้างว่าล่วงเลยกําหนดเวลาไถ่แล้ว เพราะการขยายกําหนดเวลาไม่ใช้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตาม วิธีการที่กฎหมายกําหนดนั้น ข้อกล่าวอ้างกรณีนี้ของนายบีจึงรับฟังได้

2 การที่นายเอทําสัญญาขายฝากทองรูปพรรณไว้กับนายปีในราคา 19,999 บาท โดยไม่ได้ กําหนดจํานวนสินไถ่ไว้นั้น นายเอย่อมสามารถไถ่ทองรูปพรรณคืนในกําหนดเวลาได้โดยต้องนําเงินจํานวน 19,999 บาท ซึ่งเท่ากับราคาที่ขายฝากมาไถ่คืนจึงจะถือว่านายเอได้ใช้สิทธิโดยชอบตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่นายที่อ้างว่าหากนายเอประสงค์จะไถ่ทองรูปพรรณกลับคืนจริงก็สามารถไถ่ได้ในราคา 31,000 บาท ต่อหนึ่งบาททองคําตามกําหนดราคาทองคําที่ประกาศโดยสมาคมค้าทองคํา ประจําวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ซึ่ง เป็นวันที่ขอไถ่ถอนนั้น ข้อกล่าวอ้างกรณีนี้ของนายบีจึงไม่อาจรับฟังได้

สรุป
ข้อกล่าวอ้างของนายปีในส่วนของการขยายกําหนดเวลาไถ่รับฟังได้ แต่ข้อกล่าวอ้างของ นายปีในส่วนที่เกี่ยวกับสินไถ่นั้นรับฟังไม่ได้

Advertisement