การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ปุ้ยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน  กาละแมมาเช่าบ้านและที่ดินของปุ้ยเพื่ออยู่อาศัย  บริเวณบ้านมีต้นไม้ใหญ่ปลูกอยู่เก่าแก่หลายปี กาละแมเป็นคนรักต้นไม้จึงหมั่นดูแลอยู่เสมอและเห็นว่าต้นไม้กำลังจะหักโค่นจึงแจ้งให้ปุ้ยมาจัดการ  แต่ปุ้ยยังนิ่งเฉยอยู่  นอกจากนั้นกาละแมได้นำกระถางต้นไม้ไปวางเรียงรายอยู่ตามมุมบ้าน  และนำไปตั้งอยู่ริมหน้าต่างให้สวยงามด้วย  หากข้อเท็จจริงมีว่า

(ก)  กระถางต้นไม้ของกาละแมหล่นมาถูกหัวของนีน่า  ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเป็นอัมพาต

(ข)  ต้นไม้ใหญ่ของปุ้ย  โค่นลงมาล้มทับไก่ซึ่งเดินอยู่ริมรั้วบ้านหลังนี้  ทำให้ไก่ถึงแก่ความตายทันที

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ปุ้ยและกาละแมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่าและไก่หรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากว่ามีป้าของไก่ได้มาช่วยจัดการศพให้ไก่โดยออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง  เด็กชายเป็ดซึ่งเป็นบุตรของไก่จะไปเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ต่อปุ้ยหรือกาละแมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  434  วรรคแรกและวรรคสอง  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี  หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี  ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว  ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูก  หรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

มาตรา  436  บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรงเรือนนั้น  หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร

มาตรา  443  วรรคแรก  ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทนได้แก่  ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่กระถางต้นไม้ที่กาละแมได้นำไปตั้งไว้ริมหน้าต่างได้หล่นมาถูกหัวของนีน่า  จนทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเป็นอัมพาตนั้น  ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของกาละแม  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อมีการตกหล่นจากโรงเรือน  กฎหมาย  (ป.พ.พ. มาตรา  436)  ได้กำหนดให้บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนนั้นต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย  ดังนั้น  กาละแมซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่า

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ต้นไม้ใหญ่ของปุ้ยได้โค่นลงมาทับไก่  ซึ่งเดินอยู่ริมรั้วบ้านของปุ้ย  ทำให้ไก่ถึงแก่ความตายทันที  เห็นได้ว่า  เมื่อกาละแมได้เช่าบ้านของปุ้ยจึงถือว่ากาละแมเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนและต้นไม้ที่อยู่บริเวณที่เช่า  และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากต้นไม้จนทำให้ไก่ถึงแก่ความตาย  ซึ่งตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  434  ได้กำหนดให้ผู้ครองต้องรับผิด  ดังนั้นกาละแมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ไก่

แต่อย่างไรก็ดี  กาละแมสามารถแก้ตัวให้ตนพ้นผิดได้  เพราะได้หมั่นดูแลรักษาต้นไม้อยู่เสมอ  โดยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว  กล่าวคือ  ได้แจ้งให้ปุ้ยซึ่งเป็นเจ้าของให้มาจัดการเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว  อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแล้ว  แต่ปุ้ยยังนิ่งเฉยอยู่  ดังนั้นกาละแมจึงไม่ต้องรับผิด  ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้น  ผู้ที่ต้องรับผิดคือปุ้ยซึ่งเป็นเจ้าของตาม  ป.พ.พ. มาตรา  434 

ส่วนกรณีที่มีผู้มาช่วยจัดการศพให้ไก่แล้ว  เด็กชายเป็ดซึ่งเป็นบุตรของไก่จะเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ได้หรือไม่นั้น  เห็นว่าการเรียกค่าปลงศพเป็นสิทธิของทายาทในการเรียกร้องได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  443  วรรคแรก  เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเป็ดเป็นทายาทคนเดียวของไก่  เด็กชายเป็ดจึงมีสิทธิเรียกร้องได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีใครมาช่วยจัดการศพให้ไก่แล้วหรือไม่

สรุป

1       กาละแมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นีน่าแต่เพียงผู้เดียว

2       ปุ้ยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ไก่แต่เพียงผู้เดียว

3       เด็กชายเป็ดสามารถเรียกร้องค่าปลงศพของไก่ต่อปุ้ยได้  แต่จะไปเรียกร้องเอาจากกาละแมไม่ได้

 

 

ข้อ  2  อึ่งอ่างเลี้ยงสุนัขจรจัดไว้หลายตัวด้วยความรักและสงสาร  บ้านของอึ่งอ่างอยู่ติดกับบ้านของโอ่งอ้วนที่โย่งยิ่งเช่าอยู่  วันหนึ่งมีสุนัขตัวหนึ่งเดินจากบ้านอึ่งอ่างเข้ามาลักปลาย่างของโอ่งอ้วนแล้วกินหมดไปหลายตัว  โย่งยิ่งจึงร้องขอให้โอ่งอ้วนซึ่งแวะมาเที่ยวหาพอดีนั้นช่วยกันจับสุนัข  จากนั้นโอ่งอ้วนได้นำสุนัขไปขังไว้เพื่อจะเรียกเอาค่าเสียหายจากอึ่งอ่าง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า 

(ก)  อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โอ่งอ้วนและโย่งยิ่งคืนสุนัขดังกล่าว  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  โย่งยิ่งจะเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างโดยอ้างว่าสุนัขกินปลาย่างได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  433  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่สัตว์นั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โย่งยิ่งคืนสุนัขของตนและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไม่ได้  เพราะโย่งยิ่งไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย  การที่โย่งยิ่งจับสุนัขขังไว้ไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา  420  แต่ได้จับสุนัขไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  เพราะโย่งยิ่งได้รับความเสียหายจากการที่สุนัขของอึ่งอ่างที่เข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่โย่งยิ่งครอบครองอยู่  โย่งยิ่งจึงอ้างนิรโทษกรรมตามมาตรา  452  ได้  และโย่งยิ่งไม่ต้องคืนสุนัขแก่อึ่งอ่างจนกว่าจะได้ค่าสินไหมทดแทน

อย่างไรก็ดี  มาตรา  452  ให้สิทธินิรโทษกรรมแก่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น  เมื่อปรากฏว่าโอ่งอ้วนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ให้โย่งยิ่งเช่าไปแล้ว  โอ่งอ้วนจึงไม่ใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด  การกระทำของโอ่งอ้วนจึงไม่ได้รับนิรโทษกรรมแต่อย่างใด  ดังนั้นอึ่งอ่างจึงเรียกร้องให้โอ่งอ้วนคืนสุนัขของตน  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่สุนัขได้กินปลาย่างของโย่งยิ่งทำให้โย่งยิ่งได้รับความเสียหาย  และถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสัตว์  ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น  ดังนั้นโย่งยิ่งจึงสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างได้ตามมาตรา  433

สรุป 

(ก)  อึ่งอ่างจะเรียกร้องให้โย่งยิ่งคืนสุนัขของตน  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายไม่ได้  แต่อึ่งอ่างสามารถเรียกร้องเอาจากโอ่งอ้วนได้

(ข)  โย่งยิ่งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากอึ่งอ่างโดยอ้างว่าสุนัขกินปลาย่างของตนได้

 

 

ข้อ  3  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเพื่อนกัน  วันเกิดเหตุนายหนึ่งขับรถไปที่บ้านของนายสองเพื่อแวะเยี่ยมนายสอง  โดยนายหนึ่งจอดรถไว้ที่โรงรถบ้านของนายสอง  ขณะเกิดเหตุลิงของนายแดงลอบเข้าไปในรถของนายหนึ่ง  จากนั้นได้กัดเบาะรถของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย  คิดเป็นเงิน  5,000  บาท  ดังนี้

(ก)  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  452  วรรคแรก  ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น  และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน  อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้  และถ้าจำเป็นโดยพฤติการณ์  แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่จะสามารถจับหรือยึดสัตว์  หรือฆ่าสัตว์  ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามมาตรา  452  ประกอบด้วย

1  ผู้มีอำนาจกระทำต้องเป็นผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  (ไม่รวมสังหาริมทรัพย์)    ที่ได้รับความเสียหาย

2  ความเสียหายจะต้องเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น

3  สัตว์เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  (ความเสียหายต่อบุคคล  หรือต่อทรัพย์ก็ได้)

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ลิงของนายแดงกัดเบาะรถยนต์ของนายหนึ่งได้รับความเสียหาย  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้  เพราะแม้ความเสียหายจะเกิดจากสัตว์ของผู้อื่น  ซึ่งเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์  แต่เมื่อนายหนึ่งเป็นเพียงผู้ครองสังหาริมทรัพย์  (รถยนต์)  มิใช่ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  452  วรรคแรก

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

นายสองก็จะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายแดงไม่ได้เช่นกัน  เพราะแม้นายสองจะเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์  แต่นายสองก็ไม่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากลิงของนายแดงแต่อย่างใด  ผู้ที่จะจับหรือยึดสัตว์ตามมาตรา  452  วรรคแรก  หมายความเฉพาะผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น

สรุป

(ก)  นายหนึ่งจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

(ข)  นายสองจะจับลิงของนายแดงเพื่อยึดเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนไม่ได้

 

 

ข้อ  4  นายหนึ่งบิดานอกกฎหมายของนางสาวบี  วัย  16  ปี  โดยนายหนึ่งได้ให้ใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตนมาโดยตลอด นายหนึ่งทราบดีว่าบุตรนั้นชอบแอบเอารถยนต์ของตนไปขับ  จึงนำกุญแจรถยนต์ไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะ  ในวันเกิดเหตุ  นางสาวบีได้แอบหยิบกุญแจรถที่นายหนึ่งได้เก็บซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะโดยไม่ได้ล็อกกุญแจไว้  ไปไขนำรถยนต์ของนายหนึ่งออกมาขับ  ต่อมาปรากฏว่านางสาวบีได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจึงเสียหลักพุ่งชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  จงวินิจฉัยว่า

(ก)  นางสาวบีต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายหนึ่งต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดด้วยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี  แก่ร่างกายก็ดี  เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี  ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา  429  บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น

มาตรา  430  ครูบาอาจารย์  นายจ้าง  หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี  ชั่วครั้งชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด  ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน  ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ  มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นางสาวบีได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง  จึงเสียหลักพุ่งชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต  และบาดเจ็บจำนวนมากนั้น  ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยประมาทเลินเล่อตามมาตรา  420  และแม้ว่านางสาวบีจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนได้กระทำละเมิดนั้นตามมาตรา  429

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์

กรณีของนายหนึ่งซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นบิดานอกกฎหมายของนางสาวบี  และแม้ว่านายหนึ่งได้ให้นางสาวบีใช้นามสกุลและอุปการะเลี้ยงดูบุตรของตนมาโดยตลอด  ก็เป็นเพียงการรับรองโดยพฤตินัยซึ่งมิใช่การรับรองโดยนิตินัยตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1547  ดังนั้นนายหนึ่งจึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวบีแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี  กรณีดังกล่าวนี้ถือได้ว่านายหนึ่งเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลนางสาวบีผู้เยาว์  และตามข้อเท็จจริงนายหนึ่งก็มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บล็อกกุญแจรถยนต์  ดังนั้นนายหนึ่งจึงต้องรับผิดในทางละเมิดร่วมกับนางสาวบีด้วยตามมาตรา  430 

สรุป

(ก)  นางสาวบีต้องรับผิดในทางละเมิดตามมาตรา  420  และ  429

(ข)  นายหนึ่งต้องร่วมรับผิดในทางละเมิดด้วยตามมาตรา  430

Advertisement