การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แดงซื้อสลากกาชาดจำนวน  5  ใบ  กำหนดออกรางวัลในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ในวันที่  1  ธันวาคม  2549  ดำและขาวซึ่งเป็นน้องของแดงได้อ้อนวอนขอสลากกาชาดกับแดง  แดงจึงจำใจให้  สลากกาชาดดังกล่าวแก่ดำและขาวไปคนละ  1  ใบ  เมื่อถึงกำหนดออกรางวัลในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ปรากฏว่าสลากใบที่แดงให้ขาวไปนั้นถูกรางวัลที่  1  แดงเสียดายจึงไปทวงสลากคืนจากขาวโดยอ้างว่าตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่ขาวจริงๆ  ขาวไม่ยอมคืน  แดงจึงฟ้องคดีเรียกสลากกาชาดใบที่ถูกรางวัลดังกล่าวคืนจากขาว  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  แดงมีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนจากขาวหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  154  การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ตนได้แสดงออกมาก็ตาม  หาเป็นมูลให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่  เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

วินิจฉัย

เป็นเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น  ซึ่งมีหลักคือ  การแสดงเจตนาไม่เป็นโมฆะ  แม้ในใจจริงของผู้แสดงเจตนาจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม

ข้อยกเว้น  การแสดงเจตนานั้นจะตกเป็นโมฆะ  ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  (ฝ่ายผู้รับการแสดงเจตนา)  ได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงเจตนา  ในขณะที่แสดงเจตนานั้น 

ดังนั้น  นิติกรรม อันเกิดจากการแสดงเจตนาซ่อนเร้นนั้นจะตกเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคู่ กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นของผู้แสดงเจตนาในขณะแสดงเจตนา นั้นหรือไม่  ถ้ารู้นิติกรรมนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะ  แต่ถ้าไม่รู้นิติกรรมนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  การกระทำของแดงเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปสัญญาให้สลากกาชาดแก่ขาว  ถึงแม้แดงอ้างว่าในใจจริงแล้วตนมิได้มีเจตนาจะให้สลากกาชาดนั้นแก่ขาวจริงๆ  ก็ตาม  การแสดงเจตนาของแดงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา  154  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  กฎหมายถือว่าการแสดงออกมาภายนอกสำคัญยิ่งกว่าเจตนาซ่อนอยู่ในใจนั่นเอง  ดังนั้นสัญญาให้สลากกาชาดแก่ขาวเป็นอันสมบูรณ์

สรุป  แดงไม่มีสิทธิเรียกสลากกาชาดคืนแก่ขาว

 


ข้อ  2  นางทองแดงเป็นหนี้เงินกู้นางทองเหลือง  2  ล้านบาท  เมื่อครบกำหนดชำระหนี้  นางทองแดงได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่นางทองเหลือง  เมื่อนางทองเหลืองนำเช็คไปขึ้นเงิน  แต่ถูกธนาคารปฏิเสธจ่ายเงินนางทองเหลืองจึงขู่นางทองแดงว่าจะแจ้ง ความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับนางทองแดงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอัน เกิดจากการใช้เช็ค  ถ้านางทองแดงไม่ออกเช็คแก่นางทองเหลืองใหม่  ด้วยความกลัวนางทองแดงจึงได้สั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองใหม่ตามที่นางทองเหลืองต้องการ  ดังนี้  การสั่งจ่ายเช็คของนางทองแดงดังกล่าวมีผลอย่างไรตามกฎหมาย  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  164  วรรคแรก  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

มาตรา  165  วรรคแรก  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า  เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล  เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ  การแสดงเจตนานั้นตกเป็นโมฆะ  แต่มีข้อยกเว้นว่า  ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้  ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เช่น   การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ตามมาตรา  165  วรรคแรก  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน  เช่น  การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน  เป็นต้น

จากข้อเท็จจริง  ปรากฏว่า  การที่นางทองแดงเป็นหนี้นางทองเหลืองอยู่  2  ล้านบาท  เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้  นางทองแดงได้สั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองไป  แต่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคาร  นางทองเหลืองจึงขู่นางทองแดงให้ออกเช็คใหม่  มิฉะนั้นจะแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับนางทองแดงนั้น  เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิโยชอบด้วยกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าหนี้

เมื่อนางทองแดงสั่งจ่ายเช็คให้นางทองเหลืองใหม่  แม้จะเกิดจากความกลัวต่อการข่มขู่จากนางทองเหลืองก็ไม่เป็นการข่มขู่อันเป็นเหตุให้การสั่งจ่ายเช็คตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  164  แต่อย่างใด

สรุป  การสั่งจ่ายเช็คของนางทองแดงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ  เพราะการขู่ของนางทองเหลืองเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม 

 


ข้อ  3  นายอาทิตย์ยืมเงินไปจากนายพุธจำนวน  
2,000,000  บาท  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2540  โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้  ต่อมาวันที่  5  พฤศจิกายน  2549  นายพุธทวงถามให้นายอาทิตย์ชำระหนี้เงินยืมนั้น    วันที่  20  พฤศจิกายน  2549  นายอาทิตย์นำเงินไปชำระให้นายพุธ  1,000,000  บาท  หลังจากนั้นนายอาทิตย์ไม่เคยชำระหนี้ให้นายพุธอีกเลย  จนถึงวันที่  20  มีนาคม  2550  นายพุธจึงยื่นฟ้องให้นายอาทิตย์ชำระเงินยืมที่ค้างอยู่  1,000,000  บาท  นายอาทิตย์ให้การต่อสู้ว่าคดีที่นายพุธฟ้องขาดอายุความแล้ว  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/12  อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดเริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา  193/15  เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว  ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด  ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/30  อายุความนั้น  ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา  203  วรรคแรก  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้  หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน  และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนโดยพลันดุจกัน

วินิจฉัย  

การกู้ยืมเงินนั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ  จึงต้องใช้อายุความ  10  ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/30

และเมื่อมีการกู้ยืมไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระคืนไว้  ผู้ให้กู้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา  203  วรรคแรก  อายุความจึงเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  กล่าวคือ  นับแต่วันกู้ยืมตามมาตรา  193/12

การที่นายอาทิตย์นำเงินบางส่วนไปชำระหนี้ให้นายพุธเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  2549  ในขณะที่หนี้ยังไม่ขาดอายุความจึงเป็นการรับสภาพหนี้  ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา  193/14(1)

เมื่ออายุความสะดุดหยุดลง  จะต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันนั้นตามมาตรา  193/15  นายพุธยื่นฟ้องเมื่อวันที่  20  มีนาคม  2550  ยังไม่เกิน  10  ปี  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายเอกไปหานายโทเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัขที่ตั้งอยู่บริเวณหุบเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์  นายเอกได้ซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้วที่นายโทได้เลี้ยงไว้เพื่อขายจำนวน  15  ตัว  โดยนายเอกตกลงให้นายโทคัดเลือกสุนัขจากสุนัขที่นายโทเลี้ยงไว้ในฟาร์มของนายโทเท่านั้น  โดยทั้งคู่นัดจะมาคัดเลือกและรับสุนัขจำนวนดังกล่าวในอีกสามวันข้างหน้า  ในคืนนั้นเกิดฝนตกหนักมากติดต่อกันเป็นเวลานาน  จนทำให้เกิดโคลนถล่มทับสุนัขในฟาร์มตายทั้งหมด  โชคดีที่นายโทรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด  นายโทจึงไม่สามารถส่งมอบสุนัขพันธุ์บางแก้วจำนวนดังกล่าวให้นายเอกได้  ถ้าต่อมานายโทมาเรียกให้นายเอกชำระราคาค่าสุนัขโดยอ้างว่า  
การที่สุนัขตายนั้นมิใช่ความผิดของตน  ตนจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญา  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเอกจะต้องชำระราคาค่าสุนัขดังกล่าวให้แก่นายโทหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา  372  วรรคแรก  นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน  ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

วินิจฉัย

การที่นายเอกซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้วที่นายโทเพาะเลี้ยงไว้ในฟาร์มเพื่อขายจำนวน  15  ตัว  โดยตกลงให้นายโทคัดเลือกสุนัขให้จากสุนัขในฟาร์มของตน  และจะนัดมาคัดเลือกและรับสุนัขอีกสามวันข้างหน้านั้น  แสองว่า  นายโทลูกหนี้ยังมิได้คัดเลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบยังไม่ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง  (คือทรัพย์ที่ระบุไว้เป็นที่ชัดเจนและแน่นอนแล้ว)  กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา  370  วรรคแรก  ความสูญหรือเสียหาย  จึงไม่ตกเป็นพับแก่นายเอกเจ้าหนี้  ดังนั้น  การที่นายโทไม่สามารถส่งมอบสุนัขให้นายเอกได้ตามสัญญาเพราะในคืนวันนั้นเกิดโคลนถล่มทับสุนัขที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด  นายโทไม่มีสุนัขดังกล่าวส่งมอบให้แก่นายเอกอีกต่อไป  ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ของนายโทตกเป็นพ้นวิสัย  เพราะเหตุอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้  นายโทไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตอบแทนตามมาตรา  372  วรรคแรก 

สรุป  นายเอกจึงไม่ต้องชำระค่าสุนัขดังกล่าวให้แก่นายโทแต่อย่างใด

Advertisement