การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  แดงสมรู้กับเขียวทำสัญญากันหลอกๆว่าแดงขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่เขียว  ในราคา  500,000  บาท  แดงได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่เขียว  แต่มิได้ชำระราคากันจริง  หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนเขียวเอารถยนต์คันนั้นไปให้โดยเสน่หาแก่ขาวโดยขาวไม่ทราบว่าแดงและเขียวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันไว้หลอกๆ  ต่อมาอีกสิบวันขาวขับรถยนต์คันนั้นโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ชนเสาไฟฟ้า  รถพังยับเยิน  ขาวต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน  100,000  บาท

แดงทราบเรื่องจึงบอกให้ขาวส่งรถยนต์คืนแก่ตนโดยอ้างว่าตนมิได้ขายรถยนต์ให้แก่เขียวจริงๆ  รถยนต์ยังเป็นของตน  ขาวไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่แดงโดยอ้างว่าตนกระทำการโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย  ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงินจำนวนมากถึง  100,000  บาท แดงจึงฟ้องเรียกรถยนต์คืนจากขาว ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ขาวต้องคืนรถยนต์ให้แก่แดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคหนึ่ง  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

แดงและเขียวสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่าแดงขายรถยนต์ให้แก่เขียว  การแสดงเจตนาลวงว่าแดงและเขียวซื้อขายรถยนต์กันดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ  รถยนต์ยังคงเป็นของแดง

อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกมิให้ต้องเสียหาย  ทั้งนี้บุคคลภายนอกนั้นต้องกระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับรถยนต์จากการให้โดยเสน่หาของเขียว  โดยขาวไม่ทราบว่าแดงและเขียวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กันไว้หลอกๆ  ถือได้ว่าขาวกระทำการโดยสุจริต  แต่การที่ขาวต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน  100,000  บาทนั้น  เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของขาวเอง  มิใช่เกิดขึ้นจากการเจตนาลวงแดงและเขียว  ขาวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย

สรุป  ขาวจึงต้องคืนรถยนต์ให้แก่แดง

 

ข้อ  2  นายสมบัติต้องการซื้อแจกันลายครามโบราณ  จึงไปหาซื้อที่ร้านของนายสมบูรณ์  นายสมบัติเห็นแจกันลายครามโบราณใบหนึ่งสวยงามดี  จึงถามนายสมบูรณ์ว่า  แจกันใบนี้ราคาเท่าไร  มีตำหนิหรือไม่  นายสมบูรณ์ตอบว่า  แจกันใบนี้ไม่มีตำหนิ  ราคา  10,000  บาท  นายสมบัติหลงเชื่อตามคำตอบของนายสมบูรณ์ว่าแจกันใบนั้นไม่มีตำหนิ  จึงต่อรองราคา  ในที่สุดได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้นในราคา  8,000  บาท

เมื่อนายสมบัตินำแจกันกลับไปถึงบ้านของตน  นายสมบัติได้ตรวจดูแจกันอย่างละเอียดโดยใช้เลนส์ขยายส่องดู  จึงพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าถึงแม้นายสมบัติรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว  นายสมบัติก็ซื้อ  แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นมีรอยร้าวเช่นนั้น  คือ  5,000  บาท

ในกรณีดังกล่าวนี้  นายสมบัติจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันหรือเรียกร้องอะไรจากนายสมบูรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  161  ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ  คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่  แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

เป็นกรณีที่นายสมบูรณ์ผู้ขายแจกันทำกลฉ้อฉลลวงนายสมบัติผู้ซื้อแจกัน  อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าถึงแม้นายสมบัติรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว  นายสมบัติก็ซื้อแจกันใบนั้น  แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นที่มีรอยร้าวเช่นนั้น  คือ  5,000  บาท  ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายสมบัติได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล  คือ  8,000  บาท  กรณี จึงเป็นเรื่องที่นายสมบัติแสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลซึ่งเป็น แต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายสมบัติจะยอมรับโดย ปกติ  ดังนั้นนายสมบัติจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่  แต่นายสมบัติชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากกลฉ้อฉลนั้นได้  ซึ่งได้แก่การที่นายสมบัติหลงซื้อแจกันใบนั้นแพงไป  3,000  บาท

 

ข้อ  3  นาย  ข.  กู้เงินจากธนาคาร  ก.  จำนวน  2,000,000  บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  7  บาทต่อปี  กำหนดชำระคืนภายใน  3  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อถึงกำหนดชำระเงินคืน  นาย  ข.  ไม่นำเงินไปชำระแก่ธนาคาร  ก.  ต่อมาอีก  2  เดือน  หลังจากวันที่ถึงกำหนดชำระเงินคืน  นาย  ค.  ผู้จัดการธนาคาร  ก.  มีจดหมายทวงถามให้นาย  ข.  ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน  2,420,000  บาท  นาย  ข.  จึงไปพบนาย  ค.  และพูดยอมรับว่าตนเป็นลูกหนี้ธนาคาร  ก.  เป็นเงิน  2,420,000  จริง  แต่ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก  4  เดือน  เช่นนี้  การกระทำของนาย  ข.  เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน  ชำระดอกเบี้ย  ให้ประกัน  หรือกระทำการใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

วินิจฉัย

เมื่อนาย  ค  ผู้จัดการธนาคาร  ก  มีจดหมายทวงถามให้นาย  ข  ชำระหนี้  นาย  ข  ได้ไปพบนาย  ค  และพูดยอมรับว่าตนเป็นลุกหนี้ธนาคาร  ก  เป็นเงิน  2,420,000  บาท  จริง  แต่ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก  4  เดือน  การกระทำของนาย  ข  ลูกหนี้เช่นนี้มิใช่การทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  และยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ  อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  ดังนั้น  การกระทำของนาย  ข  จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

 

ข้อ  4  ก.  คำเสนอ  คืออะไร  การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.  นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนแก่นางสมศรี  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  ราคา  3  ล้านบาท  โดยมิได้กำหนดไปด้วยว่าถ้านางสมศรีต้องการซื้อจะต้องตอบมาภายในวันเวลาใด  เช่นนี้  นายสุเทพจะถอนคำเสนอขายบ้านดังกล่าวได้หรือไม่  เมื่อใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก       คำเสนอ  คือ  นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา  เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่า  ตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใดและขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่ตนเสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะ  2  ประการคือ

(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

(2) มีความมุ่งหมายว่า  ถ้ามีคำสนองสัญญาเกิดขึ้นทันที

มาตรา  355  บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น  ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

วินิจฉัย

นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนแก่นางสมศรีซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  โยมิได้บ่งระยะเวลาสำหรับทำคำสนอง  ในกรณีเช่นนี้นายสุเทพจะถอนคำเสนอภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองหาได้ไม่

เวลาอันควรคาดหมายจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง  พิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายสุเทพกับนางสมศรี  กล่าวคือ  ตามปกติการส่งจดหมายจากกรุงเทพมหานครไปถึงผู้รับซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาประมาณ  3  วัน  ให้เวลานางสมศรีคิดตรึกตรองตัดสินใจ  1  วัน  และเมื่อนางสมศรีส่งจดหมายตอบมาถึงนายสุเทพใช้เวลาอีกประมาณ  3  วัน  รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองในกรณีนี้คือประมาณ  7  วัน  นับแต่วันที่นายสุเทพส่งจดหมายเสนอขายบ้านแก่นางสมศรี

ดังนั้น  นายสุเทพจะถอนคำเสนอขายบ้านภายในเวลาประมาณ  7  วัน  นับแต่วันที่นายสุเทพส่งจดหมายเสนอขายบ้านดังกล่าวแก่นางสมศรีมิได้

Advertisement