การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อข้อ 1.  ก . การแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายแดงทำสัญญาเช่าบ้านของนางเหลืองมีกำหนด 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท หลังจากเช่าได้ 7 เดือน นายแดงวิกลจริตและถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและไม่ได้ชำระค่าเช่าให้ แก่นางเหลืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางเหลืองได้ส่งจดหมายเตือนให้นายแดงชำระค่าเช่าแต่นายแดงก็ยังไม่นำค่าเช่า มาชำระ นางเหลืองจึงบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าใน ระหว่างที่นายเขียวซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายแดงเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้เรื่องที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองได้บอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในกฎหมายอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

ก.      อธิบาย

กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามรถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

ข้อยกเว้น ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1.        ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก)  หรือ

2.        การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

ข . วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองบอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เห็นว่า ในขณะที่นางเหลืองแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายแดงซึ่งเป็นคนไร้ ความสามารถ โดยนายเขียวผู้อนุบาลได้เดินทางไปต่างประเทศและไม่ทราบการเลิกสัญญาดังกล่าว กรณีเช่นนี้ถือเป็นการแสดงงเจตนาต่อคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ ด้วยหรือได้ไห้ความยินยอมไว้ก่อน กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้  ตามมาตรา  170  วรรคแรก

ดังนั้น  การที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาเช่า  โดยบอกกล่าวไปยังนายแดงคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ด้วยหรือมิได้ให้ความยินยอมไว้ก่อน  มีผลในทางกฎหมายคือ  นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงคนไร้ความสามารถไม่ได้

 


ข้อ 2.  กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยคนไร้ความสามรถนั้น ถามว่าใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นในทุกกรณี อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2 ) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้น จาการเป็นคนเสมือนไร้ความสามรถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

การบอกล้างโมฆียะกรรม” คือ การแสดงเจตนาทำลายโมฆียะกรรมให้กลายเป็นโมฆะกรรมย้อนหลังไปถึงวันเวลาที่ทำนิติกรรมนั้น

กรณีโมฆียะกรรมได้ทำขึ้นโดยคนไร้ความสามารถ ผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น ได้แก่

1. คนไร้ความสามารถ แต่จะทำการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

2. ผู้อนุบาล เนื่องจากคนไร้ความสามารถอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล

3.  ทายาทของคนไร้ความสามารถ ในกรณีที่ผู้ไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ตามมาตรา 175 วรรคสอง ที่ว่า ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้” แต่ถ้าผู้ไร้ความสามารถยังมีชีวิตอยู่ทายาทจะไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมเลย เว้นแต่ ทายาทนั้นมีฐานะเป็นผู้อนุบาลด้วย

 


ข้อ 3.  นายแดงได้ทำบัตรเครดิตกับธนาคารสยามไทย จำกัด จำนวน 1 ใบ ธนาคารกำหนดเงิน  50,000 บาทในเดือนกันยายน 2549 นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,000 บาท ธนาคารฯ กำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ถ้าชำระภายในกำหนดนายแดงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่พอถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคาร ธนาคารได้มีหนังสือทวงถามมาหลายครั้ง  แต่นายแดงก็ไม่นำเงินไปชำระ

จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลา 9 วัน จะครบกำหนดอายุความ 2 ปี นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องรับชำระเงินเป็นจำนวน 2,000 บาท หลังจากนั้นนายแดงมิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย ต่อมาธนาคารฯได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกทั้งเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยในวันที่  2  มีนาคม  2552  นายแดงต่อสู้ว่าขาดอายุความแล้ว ธนาคารฯ อ้างว่ายังไม่ขาดเพราะอายุความสะดุดหยุดลงในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ดังนี้  อยากทราบว่าข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใดหมายเหตุ   ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่น… เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7)  บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงนั้น ฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า นายแดงได้ทำบัตรเครดิตไว้กับธนาคารฯ และธนาคารฯได้กำหนดวงเงิน 50,000 บาท และกำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 การที่นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งสิ้น 35,000 บาท  กรณีเช่นนี้ถือว่านายแดงเป็นหนี้ธนาคารฯ  อยู่เพียง  35,000  บาทเท่านั้น  แม้บัตรเครดิตจะกำหนดวงเงินไว้ถึง  50,000  บาท  ก็เป็นเพียงแต่การจำกัดมิให้นายแดงใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในการให้สินเชื่อบัตรเครดิตเท่านั้น หามีผลทำให้นายแดงเป็นหนี้ธนาคาร 50,000 บาท แต่อย่างใด

เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระหนี้ นายแดงไม่ได้นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคารฯ เช่นนี้สิทธิเรียกร้องของธนาคารย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป อายุความก็เริ่มนับตั้งแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ตามมาตรา 193/12 โดยเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 11 ตุลาคม 2549 ส่วนกำหนดอายุความนั้น กรณีธนาคารฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับการทำการงานต่างๆ โดยให้ลูกค้านำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าได้ก่อนแล้วธนาคารฯ  จะมาเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในภายหลังถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน สิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ ในกรณีนี้มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ดังนั้นอายุความตามสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ จึงจะครบกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 (ฏ.1517/2550)

แต่ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลาอีก 9 วันจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีดังกล่าว  นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องชำระเงินเป็นจำนวน 2000 บาท และหลังจากนั้นนายแดงก็มิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย จึงเป็นกรณีที่นายแดงชำระเงินให้ธนาคารเจ้าหนี้แต่เพียงบางส่วน อันถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ตามมาตรา 193/14(1) อายุความสะดุดหยุดลง และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แต่ให้นับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น กรณีนี้จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่เท่าอายุความเดิม 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/15

ดังนั้นเมื่อธนาคารฯ นำคดีมาฟ้องในวันที่ 2 มีนาคม 2552 ซึ่งยังไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงแล้วจึงฟังขึ้น (ฎ. 8801/2550)

สรุป  ข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้น

 

ข้อ 4.    ก.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้        อย่างไร อธิบายโดยสังเขป

ข . บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนตกลงขายไม้ฟืน จำนวน 1 ต้น แก่นายสักราคา 800,000 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้งสองฝ่ายกำหนดเวลาชำระราคาไม้ฟืนและกำหนดส่งมอบไม้ฟืนกันในวันที่ 19 มีนาคม 2552 แต่เมื่อถึงวันที่ 4 มีนาคม 2552 บริษัทโกงกางค้าค้าไม้ จำกัด ได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่ง ณ เวลานั้นบริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด  ยังไม่ได้เริ่มทำการตัดฟันไม้ฟืนในป่าชายเลนแต่อย่างใด  จึงเป็นเหตุให้บริษัทโกงกางค้าไม้  จำกัด ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนที่ซื้อขายให้แก่นายสักได้

ดังนี้  บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 372 วรรคแรก นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

ก.      อธิบาย

สัญญาต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ทำให้คู่สัญญาต่างมีหนี้ที่ต้องชำระตอบแทนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั่นเอง เช่น สัญญาซื้อขาย ผู้ขายย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย และผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาตอบแทนเป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน มีดังนี้

หลักทั่วไป คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ กล่าวคือ คู่สัญญาในสัญญาต่างตอบแทนต้องชำระหนี้ตอบแทนกันในขณะเดียวกันในเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วพร้อมกัน ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้และไม่เสนอที่จะชำระหนี้ของตนตามข้อผูกพันในสัญญา  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตอบแทนก็ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. 1  คัน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก. เรียกให้ ข. ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ตน แต่ยังไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้ ข. เช่นนี้ ข. อาจปฏิเสธไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ ก. จนกว่าจะได้ชำระราคาจาก ก. ก็ได้

ข้อยกเว้น แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด กล่าวคือ ในกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนใดมีข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาการชำระหนี้ ซึ่งมีผลให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขเวลา  คือ ยังไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทนในทันทีที่ทำสัญญากัน แต่จะต้องชำระเมื่อถึงกำหนดเวลาที่กำหนดไว้และเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงที่กำหนดไว้ไม่ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. ในราคา 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงกันว่า ข. ยอมให้ ก. ผ่อนชำระราคาเป็นรายเดือนๆ ละ 5,000 บาท มีกำหนด 10 เดือน เช่นนี้เป็นกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนมีข้อกำหนดเงื่อนเวลาในการชำระราคารถยนต์  ดังนั้น  ข  องส่งรถยนต์ให้  ก  ในทันที  เพราะหนี้ของ  ข  ถึงกำหนดชำระแล้ว  แต่ ก. ยังไม่ต้องชำระราคาทั้งหมดให้ ข. ในทันทีแต่ต้องชำระให้เป็นรายเดือนตามที่ตกลงกันไว้  ถ้า ข. เรียกให้ ก. ชำระราคารถยนต์ทั้งหมดในทันที ก. ย่อมปฏิเสธได้ (ตามมาตรา 369 ตอนท้าย)

ข.      วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนให้แก่นายสักได้ เพราะได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้การชำระหนี้ที่บริษัทฯ จะส่งไม้ฟืนให้แก่นายสักเป็นไปไม่ได้

การชำระหนี้ของบริษัทฯ (การส่งไม้)จึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ และสัญญาการซื้อขายไม้ฟืนที่บริษัทฯ ทำกับนายสักนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญามีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน ดังนั้นเมื่อบริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่นายสักได้ (ส่งมอบไม้ฟืน) บริษัทฯ  ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายสักดุจเดียวกัน  ตามมาตรา  369  ประกอบมาตรา  372  วรรคแรก  บริษัทฯ จึงเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้ (ฎ. 149/2539)

สรุป   บริษัทฯ เรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้

Advertisement