การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3328 การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 2 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ข้อสอบข้อที่ 1 นี้ เป็นของ รศ.ชลิดา ศรมณี

การพัฒนามนุษย์ในชาติมีความมุ่งหมายเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เพียงพอในแง่ปริมาณและเป็น มนุษย์ที่มีคุณภาพ มีบทบาทสร้างสรรค์ความเจริญงดงามทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสมดุล คําถามหากจะพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพดังกล่าวข้างต้นนั้น การพัฒนามนุษย์ในด้านต่าง ๆ ที่สําคัญมีอะไรบ้าง (โปรดระบุเป็นข้อ ๆ)

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข n-3328-2 หน้า 12 – 13), (คําบรรยาย)

การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพ

การพัฒนามนุษย์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เพียงพอในแง่ปริมาณ และต้องเป็น มนุษย์ที่มีคุณภาพ มีบทบาทสร้างสรรค์ความเจริญงดงามทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสมดุล มนุษย์จะมีคุณภาพ มีบทบาทต่อสังคมทั้งสามด้านดังกล่าวได้ จะต้องได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และ การดํารงชีวิตในสังคมในวัยต่าง ๆ ไปจนตาย ซึ่งอธิบายได้ว่าต้องพัฒนามนุษย์อย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ ปฏิสนธิ สู่วัยเด็ก เข้าสู่วัยแรงงาน วัยชรา จนถึงตาย ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายกระบวนการคือ บาทบาทของบิดา มารดา ครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ มีผลต่อการพัฒนามนุษย์ด้วย

การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพต้องพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สําคัญ คือ

1 สถาบันครอบครัว (Family) บิดามารดา สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นที่หล่อหลอมคุณค่า หรือคุณภาพของบุตร คนในสมัยก่อนจึงพูดเสมอว่า มารดาเป็นครูคนแรกของบุตร ถ้ามารดามีการศึกษาและมีเวลา ดูแลและอบรมบ่มนิสัยบุตร หรือให้การศึกษาเบื้องต้นแก่บุตรย่อมทําให้เด็กมีคุณภาพและมีคุณธรรม ในปัจจุบันเริ่ม จะไม่เป็นจริง แม้มารดาหรือบิดาจะมีการศึกษา แต่มักจะไม่มีเวลาดูแลบุตรธิดา บางครอบครัวอาจจะปล่อยให้ เด็กรับใช้ในบ้านเป็นผู้ดูแล ฉะนั้นเด็กรับใช้ในบ้านจึงกลายเป็นครูคนแรกของบุตร แล้วคุณภาพของบุตรธิดาจะ เป็นอย่างไรในครอบครัวเช่นนี้ และกําลังสําคัญของชาติในอนาคตจะมีคุณภาพอย่างไรก็พอจะเดาได้เช่นกัน

ครอบครัวที่ดีมีความรักและความอบอุ่นเป็นรากฐานสําคัญที่จะเป็นแรงผลักดันให้เด็ก และเยาวชนอันเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาคน พัฒนาสังคมในอนาคตให้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กทุกด้าน เมื่อใดที่ครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหา เมื่อนั้นย่อมมีผลกระทบต่อสถานภาพของครอบครัว รวมทั้งความมั่นคง ของสังคมด้วย เนื่องจากครอบครัวเป็นภารกิจที่สําคัญของชีวิตมนุษย์

ดังนั้น ครอบครัวที่ดีเท่านั้นจะสามารถป้องกันและแก้ไขต้นเหตุของปัญหาสังคมได้ เด็กจะมีสุขภาพกายและใจที่ดี และมีคุณภาพตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคนได้ในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับการ เลี้ยงดูและการอบรมเด็กในสถาบันครอบครัวเป็นเบื้องต้น

2 การศึกษา (Education) การศึกษาในความหมายอย่างกว้าง คือ กระบวนการเรียนรู้ทุก รูปแบบตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นขบวนการของชีวิต เป็นขบวนการหาความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่ได้รับ ตั้งแต่วัยทารก วัยเด็ก วันรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา กระบวนการดังกล่าวอาจจะอาศัยสื่อการศึกษา คือ บ้าน โรงเรียน วัด สังคมและสิ่งแวดล้อม ในกรณีนี้ชีวิตและกิจกรรมเพื่อชีวิตทุกอย่างของเราล้วนเป็น โรงเรียนหรือแหล่งการศึกษาที่แท้จริงการศึกษาจึงหมายถึง ประสบการณ์รวมที่บุคคลได้รับทั้งในและนอก โรงเรียนและสถาบันการศึกษา และได้สะสมมาตลอดชีวิต การศึกษาในกรณีนี้คือ ชีวิต (Education is Life)

การศึกษาในความหมายอย่างแคบ คือ การเรียนการสอนในโรงเรียน วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาจะเริ่มเมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนและสถานศึกษา จะสิ้นสุดเมื่อออกจากโรงเรียน และสถาบันการศึกษา กรณีนี้มักจะเป็นการศึกษาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และอาจารย์ ได้เตรียมการจัดการเรียน การสอนไว้พร้อม เพื่อให้ผู้เข้าศึกษาได้มีความรู้ และความสามารถเพื่อจะดํารงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีสวัสดิภาพ และเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้วย

คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ความหมายของการศึกษาที่พึงประสงค์สําหรับประเทศไทยไว้ว่า เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความคิด ทักษะ และทัศนคติให้คนไทยรู้จักตนเอง รู้จักชีวิต เข้าใจสังคมและสิ่งแวดล้อม อันตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วนําความรู้ความเข้าใจใช้แก้ปัญหา และ เสริมสร้างชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นโดยกลมกลืนกับธรรมชาติ

3 การฝึกอบรม (Training) คือ กรรมวิธีที่จะเพิ่มพูนสมรรถภาพในการทํางานของผู้ปฏิบัติ งานให้พัฒนาในด้านความคิด การกระทํา ความสามารถ ความรู้ ความชํานาญ และทัศนคติต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะยกระดับประสิทธิภาพการทํางาน และการผลิตในปัจจุบันและอนาคต

4 การมีสุขภาพอนามัยและโภชนาการที่ดี (Health and Nutrition) คงจะได้ยินสุภาษิต ที่ว่า จิตใจที่ดีอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง (A sound mind is in a sound body) จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์กัน เวลาเจ็บป่วยไม่สบายจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่อยากจะทํางานหรือแม้จะทํางานก็ไม่ได้ผลเต็มที่ ในทํานองเดียวกันหาก เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาถ้าสุขภาพไม่ดีเจ็บออด ๆ แอด ๆ ก็ไม่สามารถจะรับการศึกษาได้เต็มที่ การเรียนก็จะ – ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ความรู้ ความสามารถ หรือคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ควรจะได้รับเต็มที่ก็ได้รับน้อยกว่าปกติ

การลงทุนในสุขภาพอนามัยจึงเป็นการลงทุนร่วม (Joint Investment) กับการลงทุน ในการศึกษา สุขภาพดีเรียนย่อมได้ผลดี และในทางกลับกันบุคคลที่ได้รับการศึกษาดีย่อมรู้จักรักษาสุขภาพ อนามัยของตนมากกว่าบุคคลที่ด้อยการศึกษา มารดาที่มีสุขภาพอนามัยที่ดี บุตรในครรภ์ย่อมจะสมบูรณ์ คลอดออกมาแล้วก็สมบูรณ์ มีน้ำนมดี ลูกก็จะเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง และถ้ามารดามีการศึกษาที่ดีย่อมรู้จัก รักษาสุขภาพ หรือสามารถเข้าถึงข่าวสารด้านสุขภาพได้ดีกว่ามารดาที่ด้อยการศึกษา ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการ บํารุงสุขภาพอนามัย หรือมีโภชนาการที่ดี มีการป้องกันและรักษาสุขภาพเวลาเจ็บป่วย ทําให้เป็นทรัพยากร มนุษย์ที่มีคุณภาพหรือมีคุณค่าในสังคม แต่ถ้าสุขภาพไม่ดี นอกจากจะเรียนศึกษา หรือทํางานไม่ได้เต็มที่แล้ว ยัง จะเป็นคนแพร่เชื้อโรคในสังคม ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้ใด

5 การอพยพ (Migration) การที่บุคคลใดจะต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจากที่ หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง ผู้อพยพได้พินิจและพิจารณาแล้วว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น รายได้ และผลประโยชน์อื่นใดที่ เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินจากการอพยพครั้งนั้นต้องสูงกว่าต้นทุนหรือรายจ่ายที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงินที่ ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการอพยพครั้งนั้น หรือจะพูดได้ว่า ผลได้จะต้องมากกว่าผลเสียเขาจึงจะตัดสินใจอพยพ

แรงงานที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพมหานคร หรือไปต่างประเทศ ย่อมได้รับความรู้ ประสบการณ์และรายได้มากกว่าที่จะอยู่ในเดิม จึงเป็นการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ อันที่จริงแล้วแรงงานไทยที่ อพยพไปขุดทองในต่างประเทศนั้นก็คือ “นักเรียนนอก”ระดับหนึ่งไปหาความรู้ ประสบการณ์ และรายได้ใน ต่างประเทศ กลับมาคงจะได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และรายได้ที่จะทําให้เขามีฐานะดีขึ้น มีเงินที่จะลงทุนในการศึกษาของตนหรือสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น หรือสามารถจะใช้ในการบํารุงสุขภาพ อนามัย ป้องกันหรือรักษา สุขภาพเวลาเจ็บป่วย ย่อมเป็นการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของสังคมและประเทศชาติ

6 ข่าวสารเกี่ยวกับตลาดแรงงาน (Job-Market Information) ข่าวสารเกี่ยวกับ ตลาดแรงงาน เช่น ตําแหน่งว่างงาน คุณสมบัติแรงงานที่ต้องการ และแหล่งที่ต้องการแรงงาน ข่าวสารดังกล่าวนี้ มีประโยชน์มากสําหรับนายจ้างและลูกจ้าง การจะได้ข่าวสารเช่นนี้จะต้องมีการเสาะแสวงหาและเสียค่าใช้จ่าย ปกติรัฐบาลจะเป็นผู้ให้บริการข่าวสารนี้และตั้งเป็นศูนย์บริการหางาน จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการหางาน และช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่ายในการหาแรงงานของนายจ้างด้วย ทําให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการว่างงานและเพิ่มการจ้างงาน เมื่อแรงงานหางานทําได้เร็วย่อมมีรายได้และเวลาในการหาประสบการณ์มากขึ้น กว่าปกติ ข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงานจึงช่วยในการเพิ่มความรู้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในการหางาน ของแรงงานด้วย

7 ประสบการณ์ในการทํางาน (Work Experience) บุคคลที่ได้ลงทุนในการศึกษาตั้งแต่ต้น จนจบมหาวิทยาลัย ย่อมต้องการที่จะได้งานทําสมกับความรู้ที่ตนได้เรียนมา การทํางานเป็นการนําเอาความรู้ที่ได้ ศึกษาเล่าเรียนมา เอามาใช้ในทางปฏิบัติ เป็นการฝึกฝนจากของจริง การทํางานในหน้าที่จะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ในการทํางาน ทําให้เกิดความชํานาญ ล้วนเป็นการเพิ่มพูนคุณค่าในตัวทรัพยากรมนุษย์

8 สภาวะสิ่งแวดล้อม (Environment) สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมมนุษย์ ตั้งแต่ อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงวันตาย ในปัจจุบันภัยอันตรายที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนกําลังคืบคลานเข้ามา ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรโลก และการนําเอา วิทยาการใหม่ ๆ มาใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยในบางครั้งไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สภาพแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ หรือของโลกได้เลวร้ายลงตามลําดับ อันสืบเนื่องมาจากอากาศเป็นพิษ อากาศ บริสุทธิ์ สําหรับมนุษย์หายใจในปัจจุบันนี้ไม่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของ มนุษย์ที่มองไม่เห็นทําให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

 

ข้อ 2 ข้อสอบข้อที่ 2. นี้ เป็นของ ผศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว

คําสั่ง ให้นักศึกษาทําให้ครบทุกข้อ

2.1 อธิบายคําว่า “Knowledge Worker” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมาให้

แนวคําตอบ (คําบรรยาย)

Knowledge Worker คือ แรงงานที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และเป็นแรงงานที่อยู่ภายใต้ กระแสโลกาภิวัตน์ได้ ซึ่งเป็นแรงงานที่หน่วยงานมีความต้องการมากที่สุด โดยคุณสมบัติของ Knowledge Worker – ประกอบด้วย เก่งคิด (Thinking), ขยันเขียน (Writing), ขยันอ่าน (Reading), ขยันพูด (Speaking), ขยันฟัง (Listening) และขยันปฏิบัติ (Doing) ตัวอย่างเช่น แรงงานที่นอกจากจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วยังต้อง มีความรู้ความสามารถที่เก่งภาษาอังกฤษอีกด้วย เป็นต้น

2.2 อธิบายคําว่า “Stock of Knowledge” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมา ให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข n-3328-1 หน้า 19 – 21), (เอกสารหมายเลข 7-3328-2 หน้า 2, 17 – 21),

(คําบรรยาย) การเพิ่มความรู้ (Stock of Knowledge)

ทุนมนุษย์ (Human Capital) เป็นแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยถือว่าการศึกษาเป็น สินค้าที่ใช้บริโภคอย่างหนึ่ง การศึกษาทําให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงาน การตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษา หรือให้การศึกษาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อผลผลิตและผลตอบแทนจากการทํางานอันสูงสุด ซึ่งเกิดจาก แรงงานผู้บริโภคการศึกษานั้น

การศึกษาเป็นปัจจัยสําคัญที่ก่อให้เกิดทักษะในด้านต่าง ๆ และการศึกษาเป็นกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่มีผลการศึกษาเป็นสินค้า (Gods) ที่เรียกว่า Human Capital หรือทุนมนุษย์ ซึ่งการลงทุนทางการศึกษา ก็คือ การเพิ่มความรู้ (Stock of Knowledge) ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะ (Skills) ด้านต่าง ๆ แก่ผู้เข้ารับการศึกษา และเป็นการสะสมทุนมนุษย์ คือ การจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์

การลงทุนในการศึกษาเป็นกระบวนการปรับปรุงคุณภาพทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความชํานาญ สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และข่าวสารใหม่ ๆ ได้ดี ทําให้เขาสามารถ ทํางานได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้มีการศึกษาด้อยกว่า การลงทุนในการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความรู้ เพิ่มผลผลิตและรายได้ในอนาคต และหากการศึกษาสามารถทําให้ได้คนเก่ง คนดี และมีชีวิตอยู่ด้วยความสุขนั้น แหละคือมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพที่เรียกว่า ทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญ ดังเช่น

Alvin Toffler กล่าวว่า ไม่มีใครซื้อหุ้นบริษัท Apple และ IBM เพียงเพราะว่าสองบริษัทนี้ มีทรัพย์สินที่เป็นวัตถุจับต้องได้ คือไม่มีใครสนใจตึกหรือคอมพิวเตอร์ แต่ผู้ซื้อหุ้นสนใจสายสัมพันธ์ อํานาจทาง การตลาด และทีมขายกับประสิทธิภาพของผู้บริหาร และความคิดใหม่ ๆ ที่ตัวพนักงานบริษัท สิ่งเหล่านี้คือ ทุนมนุษย์ อันเป็นผลพวงของการศึกษา

 

2.3 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกับแนวคิด Human Capital จะมีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ในชาติกันอย่างไรบ้าง และจะส่งผลต่อการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายมาเป็นประเด็น ๆ ให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (คําบรรยาย)

สังคมผู้สูงอายุกับการเป็นทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)

สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ

ประเทศไทยกําลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยพบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจํานวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจาก

การลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทําให้จํานวน และสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้นทําให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง การออมลดลง รัฐบาลจําเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลและ ปฐมพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น ทําให้การลงทุนลดลง รายได้ประชาชาติลดลง ทั้งนี้การที่แรงงานลดลงอาจแก้ไข โดยการนําเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน หรือใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีผลทําให้เกิดการเคลื่อนย้าย แรงงานมากขึ้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อม การจัดสรรทรัพยากรแรงงานที่จะลดลงจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทําให้รายได้ประชาชาติลดลงได้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นโครงสร้างของประชากร เปลี่ยนแปลงไปมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ย่อมทําให้เกิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้นในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน องค์การ และประเทศ โดยเฉพาะการร่วมกันกระตุ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสําคัญของ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ มีการเตรียมวางแผนการออม การใช้ชีวิตในบั้นปลาย การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้าน จิตใจและสังคมของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัย ผู้สูงอายุ ซึ่งสําหรับบางประเทศได้มีการขยายอายุผู้เกษียณอายุและเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทํามากขึ้นเพื่อ ไม่ให้รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า และเป็นภาระกับสังคมเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในชาตินั้นนับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสําคัญมาก ฉะนั้น ถ้าองค์การใดขาดทรัพยากรมนุษย์ ย่อมส่งผลให้การดําเนินงานขององค์การนั้นล่าช้า พบอุปสรรคนานาประการ ทําให้การดําเนินงานขององค์การไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์การไม่เกิดปัญหา เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง

โดยที่การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ขององค์การไว้ล่วงหน้าว่า ต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ระดับใด จํานวนเท่าใด เมื่อใด ด้วยวิธีการใด ต้องพัฒนา บุคคลให้มีความรู้ความสามารถอย่างไร และจะควบคุมจํานวนทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้มีความเหมาะสม

สอดคล้องกับการดําเนินงานขององค์การได้อย่างไร ตลอดจนการกําหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อจะใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

Advertisement