การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3328 การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 2 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ข้อสอบข้อที่ 1 นี้ เป็นของ รศ.ชลิดา ศรมณี

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชาติมีความมุ่งหมายเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เพียงพอในแง่ปริมาณ และเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีบทบาทสร้างสรรค์ความเจริญงดงามทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสมดุล คําถามหากจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและคุณภาพดังกล่าว ข้างต้นนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ที่สําคัญและสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนา ที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมควรเป็นอย่างไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข n-3328-2 หน้า 12 -13), (คําบรรยาย)

การพัฒนามนุษย์ให้มีศักยภาพและคุณภาพ

การพัฒนามนุษย์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เพียงพอในแง่ปริมาณ และต้องเป็น มนุษย์ที่มีคุณภาพ มีบทบาทสร้างสรรค์ความเจริญงดงามทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างสมดุล มนุษย์จะมีคุณภาพ มีบทบาทต่อสังคมทั้งสามด้านดังกล่าวได้ จะต้องได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และ การดํารงชีวิตในสังคมในวัยต่าง ๆ ไปจนตาย ซึ่งอธิบายได้ว่าต้องพัฒนามนุษย์อย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ ปฏิสนธิ สู่วัยเด็ก เข้าสู่วัยแรงงาน วัยชรา จนถึงตาย ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายกระบวนการคือ บาทบาทของบิดา มารดา ครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ มีผลต่อการพัฒนามนุษย์ด้วย

การพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพต้องพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สําคัญ คือ

1 สถาบันครอบครัว (Family) บิดามารดา สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นที่หล่อหลอมคุณค่า หรือคุณภาพของบุตร คนในสมัยก่อนจึงทูดเสมอว่า มารดาเป็นครูคนแรกของบุตร ถ้ามารดามีการศึกษาและมีเวลา ดูแลและอบรมบ่มนิสัยบุตร หรือให้การศึกษาเบื้องต้นแก่บุตรย่อมทําให้เด็กมีคุณภาพและมีคุณธรรม ในปัจจุบันเริ่ม จะไม่เป็นจริง แม้มารดาหรือบิดาจะมีการศึกษา แต่มักจะไม่มีเวลาดูแลบุตรธิดา บางครอบครัวอาจจะปล่อยให้ เด็กรับใช้ในบ้านเป็นผู้ดูแล ฉะนั้นเด็กรับใช้ในบ้านจึงกลายเป็นครูคนแรกของบุตร แล้วคุณภาพของบุตรธิดาจะ เป็นอย่างไรในครอบครัวเช่นนี้ และกําลังสําคัญของชาติในอนาคตจะมีคุณภาพอย่างไรก็พอจะเดาได้เช่นกัน

ครอบครัวที่ดีมีความรักและความอบอุ่นเป็นรากฐานสําคัญที่จะเป็นแรงผลักดันให้เด็ก และเยาวชนอันเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาคน พัฒนาสังคมในอนาคตให้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเป็นปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการต่าง ๆ ของเด็กทุกด้าน เมื่อใดที่ครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหา เมื่อนั้นย่อมมีผลกระทบต่อสถานภาพของครอบครัว รวมทั้งความมั่นคง ของสังคมด้วย เนื่องจากครอบครัวเป็นภารกิจที่สําคัญของชีวิตมนุษย์

ดังนั้น ครอบครัวที่ดีเท่านั้นจะสามารถป้องกันและแก้ไขต้นเหตุของปัญหาสังคมได้ เด็กจะมีสุขภาพกายและใจที่ดี และมีคุณภาพตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคนได้ในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับการ เลี้ยงดูและการอบรมเด็กในสถาบันครอบครัวเป็นเบื้องต้น

2 การศึกษา (Education) การศึกษาในความหมายอย่างกว้าง คือ กระบวนการเรียนรู้ทุก รูปแบบตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นขบวนการของชีวิต เป็นขบวนการหาความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่ได้รับ ตั้งแต่วัยทารก วัยเด็ก วันรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา กระบวนการดังกล่าวอาจจะอาศัยสื่อการศึกษา คือ บ้าน โรงเรียน วัด สังคมและสิ่งแวดล้อม ในกรณีนี้ชีวิตและกิจกรรมเพื่อชีวิตทุกอย่างของเราล้วนเป็น โรงเรียนหรือแหล่งการศึกษาที่แท้จริงการศึกษาจึงหมายถึง ประสบการณ์รวมที่บุคคลได้รับทั้งในและนอก โรงเรียนและสถาบันการศึกษา และได้สะสมมาตลอดชีวิต การศึกษาในกรณีนี้คือ ชีวิต (Education is Life)

การศึกษาในความหมายอย่างแคบ คือ การเรียนการสอนในโรงเรียน วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาจะเริ่มเมื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนและสถานศึกษา จะสิ้นสุดเมื่อออกจากโรงเรียน และสถาบันการศึกษา กรณีนี้มักจะเป็นการศึกษาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และอาจารย์ ได้เตรียมการจัดการเรียน การสอนไว้พร้อม เพื่อให้ผู้เข้าศึกษาได้มีความรู้ และความสามารถเพื่อจะดํารงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีสวัสดิภาพ และเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้วย

คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ได้ให้ความหมายของการศึกษาที่พึง ประสงค์สําหรับประเทศไทยไว้ว่า เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความคิด ทักษะ และทัศนคติให้คนไทยรู้จักตนเอง รู้จักชีวิต เข้าใจสังคมและสิ่งแวดล้อม อันตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วนําความรู้ความเข้าใจใช้แก้ปัญหา และ เสริมสร้างชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นโดยกลมกลืนกับธรรมชาติ

3 การฝึกอบรม (Training) คือ กรรมวิธีที่จะเพิ่มพูนสมรรถภาพในการทํางานของผู้ปฏิบัติ งานให้พัฒนาในด้านความคิด การกระทํา ความสามารถ ความรู้ ความชํานาญ และทัศนคติต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ที่จะยกระดับประสิทธิภาพการทํางาน และการผลิตในปัจจุบันและอนาคต

4 การมีสุขภาพอนามัยและโภชนาการที่ดี (Health and Nutrition) คงจะได้ยินสุภาษิต ที่ว่า จิตใจที่ดีอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง (A sound mind is in a sound body) จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์กัน

เวลาเจ็บป่วยไม่สบายจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่อยากจะทํางานหรือแม้จะทํางานก็ไม่ได้ผลเต็มที่ ในทํานองเดียวกันหาก – เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาถ้าสุขภาพไม่ดีเจ็บออด ๆ แอด ๆ ก็ไม่สามารถจะรับการศึกษาได้เต็มที่ การเรียนก็จะ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ความรู้ ความสามารถ หรือคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ควรจะได้รับเต็มที่ก็ได้รับน้อยกว่าปกติ

การลงทุนในสุขภาพอนามัยจึงเป็นการลงทุนร่วม (Joint Investment) กับการลงทุน ในการศึกษา สุขภาพดีเรียนย่อมได้ผลดี และในทางกลับกันบุคคลที่ได้รับการศึกษาดีย่อมรู้จักรักษาสุขภาพ อนามัยของตนมากกว่าบุคคลที่ด้อยการศึกษา มารดาที่มีสุขภาพอนามัยที่ดี บุตรในครรภ์ย่อมจะสมบูรณ์ คลอด ออกมาแล้วก็สมบูรณ์ มีน้ํานมดี ลูกก็จะเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง และถ้ามารดามีการศึกษาที่ดีย่อมรู้จัก รักษาสุขภาพ หรือสามารถเข้าถึงข่าวสารด้านสุขภาพได้ดีกว่ามารดาที่ด้อยการศึกษา ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการ บํารุงสุขภาพอนามัย หรือมีโภชนาการที่ดี มีการป้องกันและรักษาสุขภาพเวลาเจ็บป่วย ทําให้เป็นทรัพยากร มนุษย์ที่มีคุณภาพหรือมีคุณค่าในสังคม แต่ถ้าสุขภาพไม่ดี นอกจากจะเรียนศึกษา หรือทํางานไม่ได้เต็มที่แล้ว ยัง จะเป็นคนแพร่เชื้อโรคในสังคม ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้ใด

5 การอพยพ (Migration) การที่บุคคลใดจะต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจากที่ หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง ผู้อพยพได้พินิจและพิจารณาแล้วว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น รายได้ และผลประโยชน์อื่นใดที่ * เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน จากการอพยพครั้งนั้นต้องสูงกว่าต้นทุนหรือรายจ่ายที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงินที่ ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการอพยพครั้งนั้น หรือจะพูดได้ว่า ผลได้จะต้องมากกว่าผลเสียเขาจึงจะตัดสินใจอพยพแรงงานที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพมหานคร หรือไปต่างประเทศ ย่อมได้รับความรู้ ประสบการณ์และรายได้มากกว่าที่จะอยู่ถิ่นเดิม จึงเป็นการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ อันที่จริงแล้วแรงงานไทยที่ อพยพไปขุดทองในต่างประเทศนั้นก็คือ “นักเรียนนอก”ระดับหนึ่งไปหาความรู้ ประสบการณ์ และรายได้ใน ต่างประเทศ กลับมาคงจะได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และรายได้ที่จะทําให้เขามีฐานะดีขึ้น มีเงินที่จะลงทุนใน การศึกษาของตนหรือสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น หรือสามารถจะใช้ในการบํารุงสุขภาพ อนามัย ป้องกันหรือรักษา สุขภาพเวลาเจ็บป่วย ย่อมเป็นการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของสังคมและประเทศชาติ

6 ข่าวสารเกี่ยวกับตลาดแรงงาน (Job-Market Information) ข่าวสารเกี่ยวกับ ตลาดแรงงาน เช่น ตําแหน่งว่างงาน คุณสมบัติแรงงานที่ต้องการ และแหล่งที่ต้องการแรงงาน ข่าวสารดังกล่าวนี้ มีประโยชน์มากสําหรับนายจ้างและลูกจ้าง การจะได้ข่าวสารเช่นนี้จะต้องมีการเสาะแสวงหาและเสียค่าใช้จ่าย ปกติรัฐบาลจะเป็นผู้ให้บริการข่าวสารนี้เละตั้งเป็นศูนย์บริการหางาน จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการหางาน และช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่ายในการหาแรงงานของนายจ้างด้วย ทําให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการ ว่างงานและเพิ่มการจ้างงาน เมื่อแรงงานหางานทําได้เร็วย่อมมีรายได้และเวลาในการหาประสบการณ์มากขึ้น กว่าปกติ ข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงานจึงช่วยในการเพิ่มความรู้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายในการหางาน ของแรงงานด้วย

7 ประสบการณ์ในการทํางาน (Work Experience) บุคคลที่ได้ลงทุนในการศึกษาตั้งแต่ต้น จนจบมหาวิทยาลัย ย่อมต้องการที่จะได้งานทําสมกับความรู้ที่ตนได้เรียนมา การทํางานเป็นการนําเอาความรู้ที่ได้ ศึกษาเล่าเรียนมา เอามาใช้ในทางปฏิบัติ เป็นการฝึกฝนจากของจริง การทํางานในหน้าที่จะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ในการทํางาน ทําให้เกิดความชํานาญ ล้วนเป็นการเพิ่มพูนคุณค่าในตัวทรัพยากรมนุษย์

8 สภาวะสิ่งแวดล้อม (Environment) สิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อพฤติกรรมมนุษย์ ตั้งแต่ อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงวันตาย ในปัจจุบันภัยอันตรายที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนกําลังคืบคลานเข้ามา ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรโลก และการนําเอา วิทยาการใหม่ ๆ มาใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยในบางครั้งไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สภาพแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ หรือของโลกได้เลวร้ายลงตามลําดับ อันสืบเนื่องมาจากอากาศเป็นพิษ อากาศ บริสุทธิ์ สําหรับมนุษย์หายใจในปัจจุบันนี้ไม่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของ มนุษย์ที่มองไม่เห็นทําให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

การพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

การพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งมองว่าเมื่อมีการพัฒนาที่ตัวคนแล้วก็จะ ทําให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย ทั้งนี้จะดูแลและพัฒนาคนในทุกเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการศึกษาและ สุขภาพอนามัย การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญได้นั้นต้องเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพราะจะให้คนที่ มีความรู้ความสามารถก่อนแล้วถึงจะไปพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้ ฉะนั้นเวลาเราจะพัฒนาคนก็จะต้องพัฒนาทุกด้าน ของคนทั้งกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์ จริยธรรมและศาสนาก่อน คนที่ได้รับการพัฒนาหมดทุกด้านดังกล่าวแล้ว ก็สามารถนําเอาความรู้ความสามารถมาพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดูแลครอบครัว ชุมชน สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และพอทุกอย่างเจริญก้าวหน้าแล้วก็จะส่งผลกลับมาที่คน ทําให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มจากการพัฒนาคนก่อน ซึ่งมีความสําคัญที่จะต้องพัฒนาคนเป็น 2 ด้าน คือ

1 พัฒนาคนให้มีคุณสมบัติที่จะเป็นแกนนําในการพัฒนาและบูรณาการให้เกิดความสมดุล อย่างถูกทาง และเป็นการอํานวยประโยชน์แก่สังคมได้ เช่น พัฒนาคนให้มีสุขภาพดีมีความรับผิดชอบ มีความรู้ ความสามารถ ขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย เป็นต้น

2 พัฒนาคนเพื่อประโยชน์สุขแก่ตัวมนุษย์เองทุกคน เช่น พัฒนาคนในเรื่องของคุณค่า ความเป็นคน พัฒนาคนให้มีความสุข มีพัฒนาการด้านจิตใจและสติปัญญา มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ เป็นต้น

ดังนั้น การวางแผนพัฒนาประเทศซึ่งมีความสําคัญต่อคนและประเทศควรยึดหลักการปฏิบัติตาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และขับเคลื่อนให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกภาคส่วนทุกระดับยึดแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีการเชื่อมโยงทุกมิติของการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งมิติตัวคน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ขณะเดียวกันก็ให้ความสําคัญ กับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในกระบวนการพัฒนาประเทศ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและ ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย

 

ข้อ 2 ข้อสอบข้อที่ 2 นี้ เป็นของ ผศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว

คําสั่ง ให้นักศึกษาทําให้ครบทุกข้อ

2.1 อธิบายคําว่า “การลงทุนด้านการศึกษา” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมา ให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (เอกสารหมายเลข 0-3328-1 หน้า 19 – 21), (เอกสารหมายเลข 0-3328-2 หน้า 2, 17 – 21),

(คําบรรยาย)

การลงทุนด้านการศึกษา

การศึกษาในฐานะกลไกพื้นฐานของการพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งที่สังคมหวังพึ่งพาให้เป็นเครื่องมือ เตรียมคนและสังคมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลของการศึกษา ที่ผ่านมาของประเทศไทยมักจะถูกผลักให้มองคนเป็นเพียงทรัพยากรมนุษย์มากกว่าที่จะมองคนเป็นคนที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของตนเอง การศึกษาจึงเอนเอียงไปในการทําคนให้เป็นเพียงปัจจัยการผลิตที่มี คุณค่ามากกว่าจะเคารพในคุณค่าของความเป็นคน การศึกษาที่ผ่านมาจึงมิได้ส่งเสริมให้คนรอบรู้และเข้าใจชีวิตและ เป็นคนที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง หรืออาจกล่าวได้ว่า การศึกษาที่ผ่านมาให้ความสําคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development) มากกว่าการพัฒนามนุษย์ (Human Development)

การลงทุนในการศึกษาเป็นกระบวนการปรับปรุงคุณภาพทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความชํานาญ สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และข่าวสารใหม่ ๆ ได้ดี ทําให้เขาสามารถ ทํางานได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้มีการศึกษาด้อยกว่า การลงทุนในการศึกษาจึงเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความรู้ เพิ่มผลผลิตและรายได้ในอนาคต

การศึกษาเป็นปัจจัยสําคัญที่ก่อให้เกิดทักษะในด้านต่าง ๆ และการศึกษาเป็นกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่มีผลการศึกษาเป็นสินค้า (Goods) ที่เรียกว่า Human Capital หรือทุนมนุษย์ ซึ่งการลงทุนทางการศึกษา ก็คือ การเพิ่มความรู้ (Stock of Knowledge) ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะ (Skills) ด้านต่าง ๆ แก่ผู้เข้ารับการศึกษา และเป็นการสะสมทุนมนุษย์ คือ การจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มทุนมนุษย์

การศึกษาจะมีบทบาทสําคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะสังคมไทยในช่วงที่ ผ่านมาดูเหมือนว่ามีคนเก่งมากมายที่ช่วยกันทําให้เกิดความเจริญทุกด้าน แต่คนในสังคมมีความบกพร่องทางศีลธรรม เพิ่มมากขึ้นทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง จึงก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมายในทุกองค์กร ดังนั้นการศึกษา จึงไม่ควรทุ่มเทด้านความเก่ง (Manpower) เพียงเพื่อจะเพิ่มมูลค่าภายนอกของมนุษย์ (Economic Value Added) เท่านั้น แต่ต้องให้ความสนใจต่อความเป็นคนดี (Manhood) และการเพิ่มมูลค่าภายในของมนุษย์ (Social Value Added) ด้วย ถ้าการศึกษาได้สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งสองด้านย่อมจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุส ทางปัญญาและดุลทางเศรษฐกิจ และจะได้มีเวลามาพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป ดังนั้นการศึกษาที่ควรจะ เป็นคือ การศึกษาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Oriented)

จะเห็นได้ว่าการศึกษามีบทบาทสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่จะช่วยสร้าง และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับนานาชาติได้ โดยสิ่งที่สําคัญที่สุดที่จะต้องเร่งดําเนินการ ก็คือ การสะสมทุนมนุษย์ เพื่อนําไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการลงทุนทางด้านการศึกษาภายในประเทศ ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป และหากการศึกษาสามารถทําให้ได้คนเก่ง คนดี และมีชีวิตอยู่ด้วย ความสุขนั้นแหละคือมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพที่เรียกว่า ทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญ

2.2 อธิบายคําว่า “สังคมก้มหน้า” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (ความรู้ทั่วไป)

สังคมก้มหน้า

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สังคมก้มหน้า คือ ในยุคที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจําเป็นในการติดต่อสื่อสาร หลายคนมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็คข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็ค โทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม หรือในแต่ละวัน ใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลก ออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ จะถูกวินิจฉัยว่า เป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว หรือแบตเตอรีหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม โดยเฉพาะด้าน สุขภาพร่างกาย ตัวอย่างเช่น

1 นิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้ว กด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน

2 อาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม

3 ปวดเมื่อคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร

4 โรคอ้วน แม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหนเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ เป็นต้น

ด้าน พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน แพทย์ประจําสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (รพ.เด็ก) กล่าวว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคําว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความ

หวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มเยาวชน 18-24 รองลงมาคือ กลุ่ม คนวัยทํางานช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป ตามลําดับ ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นกําหนดเกณฑ์ การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช (DSM5) เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจ และผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ

ทั้งนี้แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเองมีหลายวิธี เช่น กําหนด ช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน กําหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟน เช่น ขณะเดิน กิน ก่อน นอน ตื่นนอนใหม่ ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทํางาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ํา ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬา กิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด เป็นต้น

 

2.3 การเข้าสู่ Thailand 4.0 กับแนวคิดนวัตกรรม จะมีความเกี่ยวข้องกับ Knowledge Worker อย่างไรบ้าง และจะส่งผลต่อการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย มาเป็นประเด็น ๆ ให้เข้าใจ

แนวคําตอบ (คําบรรยาย)

Thailand 4.0

ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเริ่มจาก Thailand 1.0 ที่เน้นภาคเกษตรกรรม ไปสู่ Thailand 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และได้ก้าวสู่ Thailand 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มาใช้ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ภายใต้ Thailand 3.0 นั้น แม้จะทําให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นแต่ ก็ต้องเผชิญกับ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ําของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่ สมดุลในการพัฒนา” กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทยในปัจจุบันนําไปสู่การปฏิรูปโครงสร้าง เศรษฐกิจเพื่อก้าวข้าม Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0

Thailand 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนําพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจาก 3 กับดักดังกล่าว พร้อมๆ กับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในบริบทของ การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้วางไว้ ด้วยการ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไก “ประชารัฐ”

Thailand 4.0 เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” กล่าวคือ ในปัจจุบันเรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทํามาก ได้ น้อย” เราต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทําน้อย ได้มาก” นั่นหมายถึง การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติสําคัญ คือ

1 เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม

2 เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

3 เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย

เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม องค์ประกอบในระบบหลักสําคัญ 4 ประการ ในการขับเคลื่อน คือ

1 เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) เป็นการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) เกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

2 เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง

3 เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value – Services ที่มีศักยภาพสูง

4 เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเครื่องมือในการพัฒนา Thailand 4.0 ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของ ประเทศไทย เรียกว่า “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ที่มี อยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม”

โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการทั้ง 5 เพื่อความได้เปรียบ คือ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น 5 กลุ่มเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโยลีชีวภาพ (Food, Agriculture& Bio-Tech) ซึ่งจะเป็น แพลทฟอร์มในการสร้าง New Startups เช่น เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech)

2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) ซึ่งจะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง New Startups เช่น เทคโนโลยีสุขภาพ (Health tech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา

3 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) ซึ่งจะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง New Startups เช่น เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพ การบริการ (Service Enhancing)

4 กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ (Digital, Artificial Intelligence& Embedded Technology) ซึ่งจะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง New Startups เช่น เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี-มาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) อี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce)

5 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) ซึ่งจะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง New Startups เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech)

พลังประชารัฐในการขับเคลื่อน

Thailand 4.0 จึงเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ํา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ํา และ Startups ต่าง ๆ ที่อยู่ปลายน้ํา โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการ ขับเคลื่อน

ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัยต่าง ๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน

โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน Thailand 4.0 เป็นส่วนหนึ่งของ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (5. อุตสาหกรรมที่เป็น Extending S-Curve บวก 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve) กล่าวคือ ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุน จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมการบิน (Aviation)

ส่วนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน Thailand 4.0 จะเป็นส่วนที่ ประเทศไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก แล้วค่อยต่อยอดด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ ซึ่งสอด รับกับ “บันได 3 ขั้น” ของ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็น กลุ่มอย่างมีพลัง” นั่นเอง

สรุปกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ Thailand 4.0 มี 3 ประเด็นที่สําคัญ คือ

1 เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม

2 เป็น “Reform in Action” ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูป การวิจัยและการพัฒนา และการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน

3 เป็นการผนึกกําลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึก กําลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ

ประชากรที่อาศัยอยู่ในชาตินั้นนับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสําคัญมาก ฉะนั้น ถ้าองค์การ ใดขาดทรัพยากรมนุษย์ ย่อมส่งผลให้การดําเนินงานขององค์การนั้นล่าช้า พบอุปสรรคนานาประการ ทําให้การ ดําเนินงานขององค์การไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์การไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับ ทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง

การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ทรัพยากรมนุษย์ของ องค์การไว้ล่วงหน้าว่า ต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ระดับใด จํานวนเท่าใด เมื่อใด ด้วยวิธีการใด ต้องพัฒนา บุคคลให้มีความรู้ความสามารถอย่างไร และจะควบคุมจํานวนทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับการดําเนินงานขององค์การได้อย่างไร ตลอดจนการกําหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อ จะใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การวางแผนกําลังคน เป็นการดําเนินการอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์และพยากรณ์เกี่ยวกับ อุปสงค์และอุปทานด้านกําลังคน เพื่อนําไปสู่การกําหนดกลวิธีที่จะให้ได้กําลังคนในจํานวนและสมรรถนะที่เหมาะสม มาปฏิบัติงานในเวลาที่ต้องการ โดยมีแผนการใช้และพัฒนากําลังคนเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อธํารงรักษากําลังคนที่เหมาะสมไว้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์ของการวางแผนกําลังคนภาครัฐ มีดังนี้

1 สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการจัดการทรัพยากรบุคคล และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของหน่วยงาน

2 ช่วยให้หน่วยงานสามารถจัดจํานวน ประเภท และระดับทักษะของกําลังคนให้เหมาะสมกับงานในระยะเวลาที่เหมาะสม

3 ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้สูงสุด

4 ทําให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5 สามารถรักษากําลังคนที่ดีไว้ในองค์กร

6 ลดความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ผิดพลาด

7 ทําให้ไม่เกิดช่องว่างในการสรรหาบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่

8 ทําให้มีการตรวจสอบสภาพกําลังคน และการวิเคราะห์ และวางยุทธศาสตร์กําลังคนได้ถูกต้อง

Advertisement