POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย S/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบอัตนัยทั้งหมด 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 “การเปลี่ยนแปลงและการปรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาล การเกิดขึ้นขององค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร ทั้งจากการกําหนดให้ส่วนหนึ่งของสมาชิกและฝ่ายบริหารมาจากเจ้าหน้าที่ ของรัฐ/ข้าราชการ การเลือกฝ่ายบริหารจากสมาชิกสภาฯ และการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในปัจจุบัน”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น จงอธิบายพร้อมวิเคราะห์แนวคิด หลักการและเหตุผล ในการเปลี่ยนแปลงและดําเนินการให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ มาโดยสังเขป

แนวคําตอบ

แนวคิด หลักการและเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นจากรูปแบบ สุขาภิบาลมาเป็นเทศบาล

– ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งใหญ่ เพื่อทําสยามประเทศให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จึงเกิดหน่วยการปกครองท้องถิ่น รูปแบบ “สุขาภิบาล” ซึ่งบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสยามประเทศในยุคสมัยนี้ อยู่ในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะกรรมการสุขาภิบาลทั้งในกรุงเทพมหานครและ หัวเมืองต่าง ๆ ก็ยังเป็นขุนนางหรือข้าราชการที่พระมหากษัตริย์ เสนาบดี หรือผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่น จึงทําให้ประชาชนเข้าใจว่าสุขาภิบาล ก็คือหน่วยราชการของรัฐบาลที่มาทําหน้าที่รักษาความสะอาดของชุมชน กําจัดขยะ จัดให้มีไฟฟ้า น้ำสะอาด เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการใช้อํานาจอธิปไตยเพื่อปกครองประเทศ คณะราษฎร มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะกระจายอํานาจการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชน โดยมุ่งหวังให้เป็น โรงเรียนฝึกหัดการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ยุบเลิก การปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลและจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบ “เทศบาล” ซึ่งมีการจัดโครงสร้าง การบริหารราชการออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และฝ่ายบริหาร เรียกว่า คณะเทศมนตรี มาจากการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล

แม้เจตนารมณ์ของคณะราษฎรจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลก็ไม่ได้ เป็นไปตามที่คณะราษฎรคาดหวัง เนื่องจากประชาชนในสมัยนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองตนเอง ที่แท้จริง เพราะไม่มีพื้นฐานของการได้รับสิทธิเลือกตั้งผู้ปกครองมาแต่อดีต ทําให้การจัดตั้งเทศบาลดําเนินไป ด้วยความยากลําบาก รวมทั้งเทศบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วก็เกิดปัญหาและอุปสรรคนานัปการ เช่น ปัญหารายได้ ของท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อํานาจของเทศบาลมีอยู่น้อยกว่าหน้าที่ ประชาชนขาดความรู้ถึงหลักการ ปกครองตนเองและยังคงมีความเข้าใจว่าเทศบาลเป็นหน่วยงานของรัฐบาล รวมทั้งทัศนคติของประชาชนที่เคยชิน กับการรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการมากกว่าที่จะพึ่งพาตนเอง จากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทําให้พระราชบัญญัติเทศบาลถูกยกเลิกและประกาศใช้ในรัฐบาลระยะต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2546 เพื่อปรับปรุงรูปแบบและโครงสร้างเทศบาลให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองตามความต้องการ ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงส่งผลให้ในปัจจุบันเทศบาลมีอิสระในการกําหนดนโยบายการปกครอง มีอิสระในการบริหารงานบุคคล มีอิสระในด้านการเงินและการคลัง มีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ รวมทั้งมีโครงสร้างการบริหารราชการซึ่งประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล และ ฝ่ายบริหาร เรียกว่า นายกเทศมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ส่วนการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบสุขาภิบาลนั้น หลังจากที่ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2476 ได้ถูกนํากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การปกครองในรูปแบบสุขาภิบาลถูกพิจารณาว่ามีโครงสร้างไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอํานาจที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 เพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะของ สุขาภิบาลที่มีอยู่เดิมให้เป็นเทศบาลตําบล พร้อมทั้งยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบสุขาภิบาลเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2542

– แนวคิด หลักการและเหตุผลของการเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีลักษณะหรือ องค์ประกอบบางประการแตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่ว ๆ ไป ความแตกต่างนี้สืบเนื่องมาจาก ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้น ๆ เอง เช่น เป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก เป็นท้องถิ่นที่มีประชากร อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือเป็นท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวจํานวนมาก เป็นต้น โดยลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นทําให้การใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป ไม่เหมาะสม ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมี การคิดค้นหารูปแบบการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว ซึ่งในกรณีของประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพียง 2 รูปแบบ คือ เมืองพัทยา และ กรุงเทพมหานคร ในกรณีของเมืองพัทยาได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วยเหตุที่ เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการทดลองการปกครองท้องถิ่นรูปแบบผู้จัดการเมือง (City Manager) ส่วนกรุงเทพมหานครได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วยเหตุที่กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางทุกด้าน และเป็นมหานครที่สําคัญที่สุดในประเทศไทย

เมืองพัทยา

เมืองพัทยาเดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงอยู่ในเขตสุขาภิบาลนาเกลือ อําเภอบางละมุง จังหวัด ชลบุรี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเมืองพัทยามีความสวยงามจึงทําให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาเกินขีดความสามารถของสุขาภิบาลนาเกลือ จะจัดการได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะมูลฝอย น้ําเสีย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เมืองเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง เพราะขาดการวางผังเมือง ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ มิได้ส่งผลกระทบเฉพาะประชาชนภายในท้องถิ่น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างประเทศ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทยจึงเห็นความจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมืองพัทยา รวมทั้งหารูปแบบของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมืองพัทยา ในขณะนั้นรูปแบบการปกครอง แบบผู้จัดการเมืองซึ่งใช้ได้ผลดีกับการบริหารงานท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีอิทธิพลต่อแนวความคิด ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2521 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือและจัดตั้งเมืองพัทยาเป็นการปกครองท้องถิ่น รูปแบบพิเศษโดยใช้การบริหารรูปแบบสภาและผู้จัดการเมือง ภายหลังต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ระบบการจ้างผู้จัดการเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขัดแย้งกับบทบัญญัติการปกครอง ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญจึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ซึ่ง ใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน โดยยกเลิกระบบการจ้างผู้จัดการเมืองและใช้ระบบสภาเมืองพัทยากับนายกเมืองพัทยา ซึ่งทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

กรุงเทพมหานคร

การเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างเต็มรูปแบบ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 โดยรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่ง มีสาระสําคัญ คือ เปลี่ยนการปกครองกรุงเทพมหานครจากราชการส่วนภูมิภาคถึงท้องถิ่น มาเป็นราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว โดยกําหนดให้โครงสร้างของกรุงเทพมหานครประกอบด้วยฝ่ายสภานิติบัญญัติ คือ สภากรุงเทพมหานคร และฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

ครั้นในปี พ.ศ. 2528 รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แทนพระราชบัญญัติเดิม โดยเปลี่ยนแปลงในส่วนฝ่ายบริหาร กําหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครได้ใช้ระบบดังกล่าว มาจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อ 2 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 มีผลทําให้เกิดการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องใดบ้าง

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ ปกครองซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นับเป็น กฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจปกครองจากรัฐบาลกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ใน รัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยยังคงใช้หลักการเดิมไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในมาตรา 78 โดยบัญญัติว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและ ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้ง โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติหลักการกระจายอํานาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 – 290 ซึ่งสรุปสาระสําคัญได้ 7 ข้อ ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกําหนด นโยบายการปกครอง การบริหารงานบุคคล และการเงินการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบ ของสภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอํานาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากกฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 3 “การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองระดับประเทศจะเกิดขึ้นและยั่งยืนก็ต่อเมื่อเกิดการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง” จากคํากล่าวข้างต้นให้นักศึกษาจงอธิบายมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานที่สําคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นตัวกําหนดเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในระดับประเทศ ดังนั้นหากจะพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ให้มีเสถียรภาพและมันคงจะต้องเริ่มจากการปกครองในระดับท้องถิ่นก่อน

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลางได้ มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณ และบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครอง ตนเองและดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย

การปกครองท้องถิ่นมีอิสระจากการปกครองส่วนกลางเพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่น มีความคล่องตัวและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายในท้องถิ่นภายในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งท้องถิ่น สามารถกําหนดนโยบายการตัดสินใจ งบประมาณ และการดําเนินการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ มีคณะบุคคล ที่ประชาชนภายในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้ง ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเปรียบเสมือนภาพจําลองของการปกครอง ระดับประเทศ คือ มีดินแดนและขอบเขตของตนเอง มีประชากร มีอํานาจอิสระในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง และมีการจัดระเบียบการปกครองภายในองค์กร

การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1 การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้ประชาชน กล่าวคือ การปกครองท้องถิ่นเป็นการปกครองที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาและผู้บริหาร โดยตรง การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นการฝึกหัดให้ประชาชนได้เลือกคนดี คนมีความรู้ คนชื่อสัตย์สุจริตเข้าไปทําหน้าที่บริหารงานในท้องถิ่น และสามารถถอดถอนบุคคลเหล่านั้นออกจากตําแหน่งได้หากการบริหารงาน ผิดพลาดหรือทําให้ท้องถิ่นเกิดความเสียหาย

2 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะทําให้ประชาชนเกิดสํานึกในความสําคัญของตนเองต่อท้องถิ่น ประชาชน จะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรค ปัญหา และช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน

3 การปกครองท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

4 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

5 การปกครองท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์ โดยมิชอบ

ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนในระดับพื้นฐาน ทําให้ประชาชนเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง รู้ถึงวิธีการ เลือกตั้ง การตัดสินใจทางการเมือง การต่อสู้ทางการเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาการเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระดับประเทศให้มีเสถียรภาพ และมั่นคงต่อไป

 

ข้อ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยเป็นฉบับแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ต้องการวางรากฐานตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังกล่าวมีหลักการสําคัญอย่างไร และมีแนวคิด/ทฤษฎีใดที่ให้การสนับสนุนการเมืองและการปกครอง ระดับท้องถิ่น

แนวคําตอบ

แนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย ให้ไปสู่แก่นแท้ของระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยกําหนดไว้ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ” ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยมิใช่เพียงแค่ระบอบการปกครองที่ประชาชนได้ทําการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปใช้ อํานาจในรัฐสภาแทนเท่านั้น แต่ประชาชนต้องมีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในระบอบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยได้ด้วย

นักวิชาการได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้หลากหลาย ดังนี้

Samuel P. Huntington & Jorge I. Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

– พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นการกระทําของประชาชนโดยสมัครใจเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งสามารถกระทําได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วม เป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นการเข้าร่วมชุมนุม เป็นต้น

แนวคิด/ทฤษฎีที่สนับสนุนการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลาง ได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณ และบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการปกครองตนเองและดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นการมีส่วนร่วม ทางการเมืองการปกครองของประชาชนในท้องถิ่นจึงมีความสําคัญต่อการปกครองท้องถิ่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นให้มีความเข็มแข็งอันจะส่งผลต่อการพัฒนา ประชาธิปไตยในระดับประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง ในระดับท้องถิ่น ดังนี้

1 การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 285 ซึ่งระบุว่า “สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชนในท้องถิ่น”

2 การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญมาตรา 286 ซึ่งระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจํานวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดไม่สมควร ดํารงตําแหน่งต่อไปให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้การลงคะแนนเสียง ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด”

3 การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 287 ซึ่งระบุว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณา ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้”

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบอัตนัยทั้งหมด 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ที่กล่าวว่า “แนวคิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” มีลักษณะหรือรูปแบบ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยปี พ.ศ. 2540 หรือไม่อย่างไร

แนวคําตอบ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจต่อการเมืองการปกครองของประเทศ

Samuel P. Huntington & Jorge I. Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นการกระทําของประชาชนเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ของรัฐบาล ซึ่งสามารถกระทําได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิก พรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น การเข้าร่วมชุมนม เป็นต้น

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยบัญญัติไว้ในหมวด 5 แนวโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 76 ว่า “รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนา ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐทุกระดับ”

ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 จึงมีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นหลายประการด้วยกัน เช่น

1 การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วม ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิก สภาท้องถิ่น โดยมาตรา 105 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ํากว่า 18 ปีบริบูรณ์ และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน

2 การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก วุฒิสภา คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น เช่น

– มาตรา 107 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นสมาชิก เรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นต้น

3 การเข้าร่วมเสนอกฎหมาย

– มาตรา 170 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิ เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กําหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของ ชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

– มาตรา 287 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธาน สภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้

4 การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง

– มาตรา 304 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ที่มีพฤติการณ์ร่ํารวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทําผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ สอว่ากระทําผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

– มาตรา 286 บัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จํานวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นผู้ใดไม่สมควรดํารงตําแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

5 การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

– มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจาก หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดําเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใด ที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

 

ข้อ 2 “หลักการกระจายอํานาจว่าด้วยความอิสระในการปกครองท้องถิ่นได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา” ทั้งนี้ให้นักศึกษาอธิบายสาระสําคัญมาให้เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การบัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ถือเป็นรากฐาน ของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ใน หมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 ถึงมาตรา 290 และในหมวด 5 มาตรา 78 การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องดังกล่าว อย่างเป็นหมวดหมู่นั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นถึงความสําคัญของการปกครอง ส่วนท้องถิ่นอันเป็นพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด การกระจายอํานาจ ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและจัดทําบริการ สาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเอง โดยการกระจายอํานาจดังกล่าว ได้คํานึงถึงหลักการที่สําคัญ 2 ประการ คือ หลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่น และหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้หลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่นมีรายละเอียดดังนี้

หลักการกระจายอํานาจว่าด้วยความเป็นอิสระของท้องถิ่น

ความเป็นอิสระของท้องถิ่นนั้นมีความสัมพันธ์กับหลักการควบคุมกํากับ กล่าวคือ ถ้าให้การควบคุมกํากับจากราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคอยู่เหนือท้องถิ่นมากเกินไป ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นจะไม่สามารถกระทําการใด ๆ ได้เลย เช่น จะกระทําการใดต้องไปขออนุญาตจาก ราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาคอยู่เสมอ จะทําให้การปกครองและการบริหารท้องถิ่น รวมถึงความเป็นนิติบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเปล่าประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่มีการควบคุม กํากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลยก็จะเป็นการทําลายหลักความเป็นเอกภาพของรัฐ ดังนั้นถ้ามีการควบคุมกํากับ เป็นไปตามกฎหมายหรือกติกาที่วางไว้ก็ย่อมทําให้การปกครองส่วนท้องถิ่นบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้วางหลักแห่งความเป็นอิสระของท้องถิ่นไว้ 4 ประการ ดังนี้

1 ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล รัฐธรรมนูญกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นมีอํานาจปกครองและบังคับบัญชาพนักงานของตน กล่าวคือ มีอํานาจกําหนดตําแหน่ง สรรหาบุคคล มาดํารงตําแหน่ง จัดการเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทํางาน ตลอดจนให้คุณให้โทษพนักงานรวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ เมื่อพ้นจากงาน

2 ความเป็นอิสระกับความเป็นนิติบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเป็น นิติบุคคลจะทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอํานาจในการบริหารและจัดทําบริการสาธารณะของตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นโดยไม่ต้องรอการวินิจฉัยสั่งการจากรัฐส่วนกลาง

3 ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบาย ท้องถิ่นแต่ละแห่งย่อมมีความแตกต่างกัน ในลักษณะของภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี การนับถือศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้นท้องถิ่นจึงต้องมีอิสระในการกําหนดนโยบายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวใน การดําเนินงานและจัดทําบริการสาธารณะที่ดีและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

4 ความเป็นอิสระทางการเงินและการคลัง ท้องถิ่นต้องมีความเป็นอิสระทางด้านการเงิน การคลังในการที่จะใช้จ่ายตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น หากท้องถิ่นขาดอิสระทางด้านการเงิน การคลังจะทําให้ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถ จัดหาบุคลากรที่มีขีดความสามารถมาทํางานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้

 

ข้อ 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีโครงสร้างประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ให้นักศึกษาอธิบาย

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบการทํางาน ของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองห์ทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่บริหารกิจการภายใน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด

ต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวนองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 24 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 30 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 36 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 42 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 48 คน

สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกจากสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีจํานวน 1 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่ง ประกอบด้วย

1) รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 48 คน แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 4 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 36 คน หรือ 42 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 3 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 24 คน หรือ 30 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 4 วิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่ระยะ ให้นักศึกษาอธิบาย

แนวคําตอบ

วิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

– ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 – พ.ศ. 2475

– ระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2540

– ระยะที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน

 

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2440 – พ.ศ. 2475

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกําหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 เพื่อจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ทําหน้าที่จัดระเบียบชุมชนและสุขอนามัยของประชาชน แม้สุขาภิบาลจะมีลักษณะ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่การบริหารงานกลับแต่งตั้งให้ข้าราชการประจําทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร มิได้มีการเลือกตั้งผู้แทนจากประชาชนภายในท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2449 พระองค์ทรงมีพระราชดําริให้ขยายการบริหารท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลออกไปยัง หัวเมืองต่าง ๆ โดยเริ่มทดลองจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และในปี พ.ศ. 2451 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 โดยสุขาภิบาลตามหัวเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลสําหรับเมืองซึ่งจัดตั้งในชุมชนที่เป็นเมือง และสุขาภิบาลสําหรับตําบลซึ่งจัดตั้งในชุมชน ที่ประชาชนหนาแน่นตามตําบลตาง ๆ โดยเฉพาะตําบลในเขตที่ตั้งอําเภอ โดยสุขาภิบาลทั้ง 2 ประเภทมีหน้าที่ รักษาความสะอาดของชุมชน จุดโคมไฟสาธารณะ ป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ทะนุบํารุงถนนหนทางที่สัญจรไปมา และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็ก

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายกิจการสุขาภิบาลให้เพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมให้สุขาภิบาลมีการบริหารงานที่คล่องตัว การแก้ไขปรับปรุงได้แบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลท้องที่ โดยใช้ระบบคณะกรรมการบริหารเช่นเดิม

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดตั้ง “เทศบาล” เป็น องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยให้ประชาชนภายในท้องถิ่นเลือกตั้งผู้แทนของตนมาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เพื่อให้เทศบาลเป็นโรงเรียนที่สอนให้ประชาชนได้เรียนรู้การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย โดยระบบรัฐสภา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2469 พระองค์จึงทรงจัดให้มีการทดลองจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “สภาจัดบํารุงสถานที่ชายทะเลตะวันตก” ตั้งแต่ตําบลชะอําถึงตําบลหัวหิน แต่การทดลองดังกล่าว ไม่ประสบผลสําเร็จ จึงได้ระงับไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระองค์ต้องการให้ประชาชนเรียนรู้การควบคุมกิจการของท้องถิ่น ก่อนที่จะควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านทางรัฐสภา จึงทรงแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดการประชาภิบาล” (Municipality) เพื่อศึกษารูปแบบขององค์กรปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาล และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติ เทศบาล แต่พระราชบัญญัติยังไม่ทันถูกนํามาประกาศบังคับใช้ก็เกิดเหตุการณ์สําคัญคือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

 

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2540

สมัยคณะราษฎร

การปกครองท้องถิ่นในระยะที่ 2 เริ่มหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย คณะราษฎรมีเจตนารมณ์อย่างจริงจังที่จะกระจายอํานาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น โดยเห็นว่ารูปแบบองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทยคือ รูปแบบเทศบาล ซึ่งควรจะมีรูปแบบเดียวทั้งประเทศ จึงตรา พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งแบ่งเทศบาลออกเป็น 3 ประเภท คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตําบล โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า สภาเทศบาล ซึ่งสมาชิกมาจาก การเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตเทศบาล และฝ่ายบริหาร เรียกว่า คณะเทศมนตรี ซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาล

– เทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณ ทรัพย์สิน และบุคลากรของตนเอง และมีอํานาจ อิสระในการบริหารงาน รวมทั้งสามารถตรากฎหมายหรือเรียกว่า เทศบัญญัติ บังคับใช้ในเขตเทศบาลได้

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคนานัปการของเทศบาล รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ รื้อฟื้นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาล เนื่องจากเห็นว่าสุขาภิบาลจัดตั้งได้ง่ายและประหยัดกว่าเทศบาล โดยการตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีทั้งข้าราชการประจําที่ดํารงตําแหน่ง กรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการสุขาภิบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในเขตสุขาภิบาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด เพื่อจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบพื้นที่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล และในปี พ.ศ. 2499 ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการตําบล เพื่อจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

ในปี พ.ศ. 2509 รัฐบาลจอมพลถนอม ได้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนตําบล และจัดตั้ง คณะกรรมการสภาตําบลแทน

ในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลจากคณะปฏิวัติโดยจอมพลถนอมได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ให้รวมเทศบาลกรุงเทพฯ กับเทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกันตั้งเป็น เทศบาลนครหลวง รวมทั้งให้รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดธนบุรีเข้าเป็น องค์การเดียวกัน เรียกว่า “องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี”

และในปี พ.ศ. 2515 ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จัดระเบียบราชการบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยรวมองค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรีกับเทศบาล นครหลวงเป็นหน่วยงานเดียวกัน เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” เป็นหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาค

สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ในสมัยนี้ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร ให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย ฝ่ายสภา เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร และฝ่ายบริหารประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน

สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

– ในสมัยนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยกําหนดให้ราษฎรในเขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะมีจํานวนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นผู้เลือกและแต่งตั้ง ซึ่งระบบนี้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ระยะที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน

การปกครองท้องถิ่นในระยะที่ 3 เริ่มหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้กําหนดให้รัฐกระจายอํานาจการบริหารและการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ โดยกําหนดไว้ในหมวดที่ 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 78 ว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น พึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มี ความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่”

และหมวด 9 ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา 282 290 โดยเน้น การให้ท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเองตามความต้องการของประชาชน ส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดตั้งองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ นอกจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบจะต้องมี สภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงถือเป็นกฎหมายแม่บทของการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น ดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติให้รัฐกระจายอํานาจ ให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองเช่นกัน โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังคงใช้หลักการเดิมไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540

 

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมืองหมายถึงอะไร มีรูปแบบอย่างไร และมีความสําคัญหรือไม่อย่างไรต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง นักวิชาการได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองดังนี้

Samuel P. Huntington & Jorge I Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ รวมถึงกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การถกเถียงปัญหาทางการเมือง เป็นต้น

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือของครอบครัว กิจกรรมรูปแบบนี้จะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Barber J. David เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 2 รูปแบบ คือ

1 การมีส่วนร่วมโดยตรง คือ การที่ประชาชนเป็นผู้ดําเนินการปกครองตนเองโดยตรง เช่น การบริหารงาน การกําหนดนโยบาย การตัดสินใจดําเนินงานด้วยตนเอง เป็นต้น

2 การมีส่วนร่วมโดยทางอ้อม คือ การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแต่มิได้เป็นผู้ดําเนินการปกครองด้วยตนเองโดยตรง แต่เป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ด้วยวิธีการเลือกตั้ง โดยประชาชนอย่างเสรี

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดง บทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้ง การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

 

ข้อ 2 “การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองระดับประเทศจะเกิดขึ้นและยั่งยืนก็ต่อเมื่อเกิดการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง” จากคํากล่าวข้างต้น จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานที่สําคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นตัวกําหนดเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในระดับประเทศ ดังนั้นหากจะพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ให้มีเสถียรภาพและมั่นคงจะต้องเริ่มจากการปกครองในระดับท้องถิ่นก่อน

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณและบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย

การปกครองท้องถิ่นมีอิสระจากการปกครองส่วนกลางเพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่น มีความคล่องตัวและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายในท้องถิ่นภายในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งท้องถิ่นสามารถกําหนดนโยบายการตัดสินใจงบประมาณ และการดําเนินการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ มีคณะบุคคล ที่ประชาชนภายในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้ง ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเปรียบเสมือนภาพจําลองของการปกครอง ระดับประเทศ คือ มีดินแดนและขอบเขตของตนเอง มีประชากร มีอํานาจอิสระในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง และมีการจัดระเบียบการปกครองภายในองค์กร

การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1 การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้ประชาชน กล่าวคือ การปกครองท้องถิ่นเป็นการปกครองที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาและผู้บริหารโดยตรง การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นการฝึกหัดให้ประชาชนได้เลือกคนดี คนมีความรู้ คนซื่อสัตย์สุจริตเข้าไป ทําหน้าที่บริหารงานในท้องถิ่น และสามารถถอดถอนบุคคลเหล่านั้นออกจากตําแหน่งได้หากการบริหารงาน ผิดพลาดหรือทําให้ท้องถิ่นเกิดความเสียหาย

2 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะทําให้ประชาชนเกิดสํานึกในความสําคัญของตนเองต่อท้องถิ่น ประชาชน จะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรค ปัญหา และช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน

3 การปกครองท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

4 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

5 การปกครองท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์ โดยมิชอบ

ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนในระดับพื้นฐาน ทําให้ประชาชนเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง รู้ถึงวิธีการ เลือกตั้ง การตัดสินใจทางการเมือง การต่อสู้ทางการเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาการเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระดับประเทศให้มีเสถียรภาพ และมันคงต่อไป

 

ข้อ 3 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ต่างจากโครงสร้างระดับชาติอย่างไร

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจโดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการบริหารกิจการ ภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

จากคําอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่าโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งมีความแตกต่างจากโครงสร้างระดับชาติที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมาจาก การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทําหน้าที่ออกกฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ โดยกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา จะมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศ มิได้มีผลใช้บังคับเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนข้อบัญญัติท้องถิ่น

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยปกติการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากในสภาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารจึง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากการปกครองส่วนท้องถิ่นที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตําบล นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ

3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจ ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งในโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีฝ่ายตุลาการ

 

ข้อ 4 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายของหลักการกระจายอํานาจมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจ ปกครองบางสวนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

ลักษณะสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย ให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่น จึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรงต่อ หน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามกฎหมายเท่านั้น

2 มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3 มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4 มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2 เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3 เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2 ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขี่คู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3 ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือนการบริหารราชการส่วนกลาง

 

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ความหมายและหลักการสําคัญ “การรวมอํานาจ การแบ่งอํานาจ และการกระจายอํานาจ” เป็นอย่างไรและมีความสัมพันธ์อย่างไรต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย จงอธิบายโดยการวิเคราะห์จุดเด่นและจุดอ่อน (ข้อเสีย) พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมี 3 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization)

1 การรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หมายถึง การจัดวางระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดินโดยรวมอํานาจในการปกครองไว้ให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง กรม และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางซึ่งขึ้นต่อกันตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา เป็น ผู้ดําเนินการปกครองตลอดทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ

หลักการสําคัญของการรวมอํานาจปกครอง

1) มีการรวมกําลังทหารและกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที

2) มีการรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง

3) มีการลําดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป (Hierarchy)

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการรวมอํานาจปกครอง

1) การที่รัฐบาลมีอํานาจแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาเขต ทําให้นโยบาย แผน หรือคําสั่งเกิดผลได้ทั่วประเทศอย่างทันที

2) ให้บริการและประโยชน์แก่ประชาชนโดยเสมอหน้าทั่วประเทศ ไม่ได้ทําเพื่อท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ

3) ทําให้เกิดการประหยัด เพราะสามารถหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดหาประจําทุกจุด

4) มีความเป็นเอกภาพในการปกครองและการบริหารงาน การปกครองในท้องถิ่นเป็นไปแนวเดียวกัน

5) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทําให้บริการสาธารณะดําเนินการไปโดยสม่ำเสมอ และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของการรวมอํานาจปกครอง

1) ไม่สามารถดําเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วทุกท้องที่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึง

2) การปฏิบัติงานมีความล่าช้า เพราะมีแบบแผนและขั้นตอนมากมายตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา

3) ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4) ไม่อาจตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะความหลากหลายของความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น

2 การแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง การที่การบริหารราชการ ส่วนกลางได้จัดแบ่งอํานาจวินิจฉัยและสั่งการบางส่วนไปให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค โดยให้มีอํานาจในการใช้ ดุลยพินิจตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนริเริ่มได้ในกรอบแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้

หลักการสําคัญของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากส่วนกลางไปประจําตามเขตการปกครองในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัด อําเภอ ตําบล และหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อยู่ในระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐบาลกลางอันเดียวกัน

2) เป็นการบริหารโดยใช้งบประมาณซึ่งส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติและควบคุมให้เป็นไปตามวิธีการงบประมาณแผ่นดิน

3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่จะนําพาไปสู่การกระจายอํานาจการปกครอง

2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นในการมาติดต่อในเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการ เพราะไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาวินิจฉัยสั่งการ

3) เป็นจุดเชื่อมระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทําให้การติดต่อประสานงานระหว่างทั้ง 2 ส่วนดีขึ้น

4) มีประโยชน์ต่อประเทศที่ประชาชนยังไม่รู้จักการปกครองตนเอง

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปบริหารงานในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เชื่อในความสามารถของท้องถิ่น

2) เกิดความล่าช้าในการบริหารงาน เพราะต้องผ่านระเบียบแบบแผนถึง 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาค

3) ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ

4) ทําให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าบางอย่างในท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ เช่น บุคลากรเจ้าหน้าที่ เพราะถูกส่งมาจากที่อื่น

5) บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่อาจจะเนื่องมาจากไม่ใช่คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจพื้นที่ และอาจเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่

3 การกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง การที่รัฐมอบอํานาจ ปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

หลักการสําคัญของการกระจายอํานาจปกครอง

1) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรง ต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3) มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4) มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดเด่นหรือจุดแข็งของการกระจายอํานาจปกครอง

1) ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2) เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขี่คู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3) ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือนการบริหารราชการส่วนกลาง

ความสัมพันธ์ระหว่างการรวมอํานาจ การแบ่งอํานาจ และการกระจายอํานาจ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การรวมอํานาจและการแบ่งอํานาจปกครองเป็นหลักการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ส่วนการกระจาย อํานาจปกครองเป็นหลักการที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการปกครองที่รัฐ มอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่างได้เองโดยมีอิสระพอสมควร เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จึงทําให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงานด้วยงบประมาณและ เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นเอง รวมทั้งทําให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอํานาจในการกําหนดผู้บริหารของท้องถิ่นโดยผ่าน กระบวนการเลือกตั้ง และควบคุมตรวจสอบการทํางานของผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง ดังนั้นการกระจายอํานาจ ปกครองจึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

 

ข้อ 2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีองค์ประกอบสําคัญอะไร

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบการ ทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการบริหารกิจการ ภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้องค์กรบริหารส่วนจังหวัดต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวนองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 24 คน

– จังหวัดใดมิราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 30 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 36 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 42 คน

– จังหวัดใดมีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 48 คน

สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกจากสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีจํานวน 1 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่ง ประกอบด้วย

1) รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 48 คน แต่งตั้งรองนายก

องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 4 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 36 คน หรือ 42 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 3 คน

– จังหวัดที่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 24 คน หรือ 30 คนแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 3 แนวคิดในเรื่องการกระจายอํานาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอยากทราบสาระสําคัญในหมวดที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นได้กล่าวไว้อย่างไร

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ ปกครองซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นับเป็น กฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่น ดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา คือ รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจปกครองให้ท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยยังคงใช้หลักการเดิมไม่ต่างจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติเรื่องการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น ไว้ในมาตรา 78 โดยบัญญัติว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”

ส่วนสาระสําคัญเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 282 – 290 โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกําหนดนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระ ด้านการเงินและการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของ สภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งเวดล้อม

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิใน การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่ จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสําคัญหรือไม่อย่างไร และมีแรงจูงใจใดที่เป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย

แนวคําตอบ

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่มีความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงาน ของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเข้าร่วมออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วมถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นต้น

แรงจูงใจของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

แรงจูงใจที่เป็นองค์ประกอบสําคัญในการขับเคลื่อนของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยของไทยสามารถพิจารณาได้จากแนวคิดของ Kaufman ซึ่งเห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงจูงใจทางการเมือง โดยแรงจูงใจทางการเมืองหมายถึง รางวัล (Rewards) และสิ่งตอบแทนต่าง ๆ (Incentive) ทั้งที่เป็นวัตถุ ได้แก่ ระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางการเมือง และไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ การบรรลุถึงอุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology) และเจตนารมณ์ทางการเมือง

นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

1 ปัจจัยด้านสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม หมายถึง ลักษณะของระบบสังคมและสภาพทางการเมือง ซึ่งไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ ขอบเขตปทัสถาน และทางเลือกต่าง ๆ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง บุคคลแต่ละคนแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อม เดียวกันก็จะรับสิ่งเร้าจากระบบการเมืองและสังคมได้ไม่เท่ากัน เพราะเขาจะเลือกรับรู้และเลือกสภาพเฉพาะสิ่งเร้า ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเท่านั้น

2 ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของบุคคล ได้แก่ ระดับการศึกษา อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความต้องการทางบุคลิกภาพ ความต้องการทางจิตใจและร่างกาย และความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งทัศนคติทางการเมือง ของแต่ละคน

 

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึงอะไร มีรูปแบบอะไรบ้าง และมีความสําคัญอย่างไรต่อการปกครองท้องถิ่น จงอธิบายและยกตัวอย่างการเมืองไทย

แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้

1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล

3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง

5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งแต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือ ของครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Huntington & Nelson เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่

1 กิจกรรมการเลือกตั้ง

2 การล็อบบี้

3 กิจกรรมองค์กร

4 การติดต่อ

5 การใช้กําลังรุนแรง

 

Almond & Powell เห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1 Conventional Forms ได้แก่

1) การออกเสียงเลือกตั้ง

2) การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง

3) กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

4) การจัดตั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

5) การติดต่อส่วนตัว

 

2 Unconventional Forms ได้แก่

1) การยื่นข้อเสนอ

2) การเดินขบวน

3) การประจันหน้า

4) การละเมิดกฎของสังคม

5) การใช้ความรุนแรง

6) สงครามกองโจรและการปฏิวัติ

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองท้องถิ่น

การปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการ ปกครองและดําเนินกิจการบางอย่างโดยดําเนินการกันเองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองท้องถิ่น เพราะถ้าประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นจะทําให้การบริการ สาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้การเปิดโอกาส ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผล ให้การดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความเป็นธรรม ลดการทุจริต และความขัดแย้ง ในการทํางาน รวมทั้งเป็นวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความเป็นเจ้าของชุมชน และเสริมสร้าง ประชาธิปไตยในท้องถิ่น

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองท้องถิ่นของไทย เช่น การเข้าร่วมออกเสียง เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น

 

ข้อ 2 ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะอย่างไร เป็นปัญหาต่อการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์

ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น หมายถึง บุคคลที่มีคนในท้องถิ่นนับถือไว้วางใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากส่วนกลาง แต่งตั้งไปประจํายังส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล กรรมการหมู่บ้าน ครู พัฒนากร เป็นต้น

2 ผู้นําท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่มีบารมี มีอิทธิพล หรือมีความรู้ความชํานาญ เป็นพิเศษเกี่ยวกับอาชีพหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้นําท้องถิ่น ที่เป็นทางการในการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านและตําบลของตน เช่น ผู้นํากลุ่มอาชีพ ผู้นํากลุ่มสตรี ผู้นํากลุ่มสันทนาการ ผู้นํากลุ่มเยาวชน ผู้นําทางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมือง

พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน รวมถึงมีอุดมการณ์ และแนวปฏิบัติที่ตกลงกันแน่นอน โดยพรรคการเมืองต้องมีลักษณะสําคัญดังนี้

1 อุดมการณ์หรือหลักการ คือ คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือหลักการปกครองร่วมกันเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งพรรคการเมือง

2 การจัดตั้งเป็นองค์กร คือ มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงาน มีพนักงานประจํา มีระเบียบข้อบังคับ ในการดําเนินงาน มีการแบ่งงานกันทํา เละมีผู้รับผิดชอบงานชัดเจน

3 ความเชื่อมโยงกับประชาชน คือ พรรคการเมืองต้องทําหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล เช่น สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน การดําเนินการต่าง ๆ หรือผลักดัน ให้รัฐบาลนําความคิดเห็นนั้นไปปฏิบัติ

วิสุทธิ์ โพธิแท่น กล่าวว่า พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างเดียวกัน รวมกันจัดตั้งเป็นรากฐานที่มีการจัดองค์กรที่แน่นอนชัดเจน มีการกําหนดทางเลือกเกี่ยวกับนโยบาย ที่สําคัญในการปกครองและบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ มีการคัดเลือกคนเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง พยายาม เข้าไปมีส่วนร่วมในอํานาจรัฐจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ โดยพรรคการเมืองมีองค์ประกอบที่จําเป็น เช่น คน สถานที่และอุปกรณ์ โครงสร้างของพรรคการเมือง และระเบียบข้อบังคับ

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้ที่มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อให้สามารถ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มตนหรือเพื่อผลประโยชน์ ของส่วนรวมก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1 กลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มผลประโยชน์ด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยจะมีบทบาททางการเมืองสูง และมีอํานาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาก เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มหอการค้าจังหวัด เป็นต้น

2 กลุ่มทางเกษตรกรรม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้เป็น เจ้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจํานวนมาก และมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล เช่น สหพันธ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

3 กลุ่มทางสังคม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ปฏิบัติงานทางด้านสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ของกลุ่มและเพื่อสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เช่น สมาคม ภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

4 กลุ่มโลกทัศน์ คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อมหาชนให้คล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาล กระทําตาม เช่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์กับปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถนําไปสู่การเกิดเป็นปัญหาต่อ การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยได้ กล่าวคือ

ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่นเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า ผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่น เกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามา เป็นผู้นําในการเรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการ พัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคล ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์ และฐานอํานาจที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัย ระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชน ในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ที่สังกัดพรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และ แสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่น จึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็น ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์เป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมาย ในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามา มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของ “การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นเล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและ เพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตากู (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

ลักษณะสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เป็นการปกครองของชุมชนหนึ่ง ซึ่งอาจมีรูปแบบหน่วยการปกครองท้องถิ่นหลายรูปแบบ ตามความแตกต่างของความเจริญ จํานวนประชากร หรือขนาดพื้นที่ เช่น การจัดหน่วยการปกครองท้องถิ่นของ ประเทศไทยเป็นกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตําบล และเมืองพัทยา

2 หน่วยการปกครองท้องถิ่นต้องมีอํานาจอิสระ (Autonomy) ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามความเหมาะสม กล่าวคือ อํานาจของหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีขอบเขตพอสมควรเพื่อให้เกิด ประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากมีอํานาจมากเกินไปไม่มีขอบเขต หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นก็จะกลายสภาพเป็นรัฐอธิปไตยเอง เป็นผลเสียต่อความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งอํานาจ ของท้องถิ่นนี้จะมีขอบเขตที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะความเจริญและความสามารถของประชาชนใน ท้องถิ่นนั้นเป็นสําคัญ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลในการพิจารณาการกระจายอํานาจให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น ระดับใดจึงจะเหมาะสม

3 หน่วยการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) ที่จะดําเนิน การปกครองตนเอง โดยสิทธินี้แบ่งเป็น 2 ประการ คือ

1) สิทธิที่จะตรากฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการบริหารตามหน้าที่และเพื่อใช้บังคับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น เทศบัญญัติ เป็นต้น

2) สิทธิที่เป็นหลักในการดําเนินการบริหารท้องถิ่น คือ อํานาจในการกําหนดงบประมาณเพื่อบริหารกิจการตามอํานาจหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

4 มีองค์กรที่จําเป็นในการบริหารและการปกครองตนเอง ซึ่งองค์กรที่จําเป็นของท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลจะมีคณะเทศมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และสภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในแบบมหานครคือ กรุงเทพมหานคร จะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น

5 ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น เกิดจากแนวคิดที่ว่าประชาชน ในท้องถิ่นเท่านั้นที่จะรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็น ต้องมีคนในท้องถิ่นมาบริหารงานเพื่อให้สมเจตนารมณ์และความต้องการของชุมชน และอยู่ภายใต้การควบคุมของ ประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าใจในระบบและกลไกของประชาธิปไตย อย่างแท้จริงอีกด้วย

 

ข้อ 4 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหาร ส่วนตําบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้าง ประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 สภาท้องถิ่น เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า สภา อบต.

– เทศบาลเรียกว่า สภาเทศบาล

– อบจ. เรียกว่า สภา อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นฝ่ายบริหาร ทําหน้าที่ในการบริหาร กิจการภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า นายก อบต.

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– อบจ. เรียกว่า นายก อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้น ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างของ อบจ. ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมี จํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 30 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้36 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้42 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน

สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุ ของสภา อบจ.

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน โดยนายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 3 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึงอะไร และมีความสําคัญอย่างไรต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Politics) จงอธิบายและยกตัวอย่างการเมืองไทย

แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้

1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล

3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง

5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทาง การเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อ ผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ำสามารถพิจารณาได้จากระดับ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของไทยตามหลักการประชาธิปไตย เช่น การเข้าร่วม ออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วม ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นต้น

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการปกครองและดําเนิน กิจการบางอย่างโดยดําเนินการกันเองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วม ทางการเมืองของประชาชนจึงเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะถ้าประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามา มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นจะทําให้การบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในท้องถิ่นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลให้การดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความเป็นธรรม ลดการทุจริต และความขัดแย้งในการทํางาน รวมทั้ง เป็นวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความเป็นเจ้าของชุมชน และเสริมสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่น

ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เช่น การเข้าร่วมออกเสียง เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และข้อดีข้อเสียของการปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตากู Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครองท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบายและควบคุม ให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ

2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อุทัย หิรัญโต อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครอง – ส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ

1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่องการ ปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น

2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน

3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ

4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ

5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการ ภายในขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงาน ทางราชการ

7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับ ดูแลจากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของ หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น

ข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการปกครองโดยผู้แทนจากส่วนกลาง เพราะ

1) ท้องถิ่นต้องการนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นทั้งนี้เพราะท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในด้านเขตพื้นที่ ประชากร ประเพณี วัฒนธรรม และความแตกต่างจําเพาะของท้องถิ่นนี้เองทําให้ ปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หากจะให้รัฐบาลกลางเข้าไปดูแลรัฐบาลกลางก็ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้

2) หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําเอาพลังชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน อันจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการปกครองโดยส่วนกลางที่ไม่สามารถ เข้าถึงประชาชนทุกคนได้

4) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหลักที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางในการดูแลท้องถิ่น

5) การบริหารโดยท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารงานโดยตัวแทนรัฐบาลกลาง

2 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะ

1) รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รูปแบบการจําลองการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า

2) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ

4) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

5) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์โดยมิชอบ

3 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยทําให้เกิดความมั่นคงของชาติ

4 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชน

5 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการปกครองจากส่วนกลาง

ข้อเสียของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีเปิดโอกาสให้เกิดปัญหาหลากหลายวุ่นวายได้

2 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีอาจทําลายความมั่นคงของชาติ

3 การปกครองท้องถิ่นมีโอกาสทําลายประชาธิปไตย

4 การปกครองท้องถิ่นมีโอกาสสร้างผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่น

5 การปกครองท้องถิ่นเปิดโอกาสให้มีการทําลายผลประโยชน์สาธารณะ

6 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีจะทําให้เกิดการทุจริตมากยิ่งขึ้น

 

ข้อ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะใด และรัฐบาลกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยวิธีการใดบ้าง

แนวคําตอบ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะของการ กระจายอํานาจการปกครอง (Decentralization) กล่าวคือ รัฐบาลได้มอบอํานาจการปกครองบางส่วนให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอํานาจอิสระใน การบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง และ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาล รัฐบาลทําได้เพียงแค่ควบคุมกํากับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดการภารกิจระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ

ภารกิจของรัฐบาล จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ ของรัฐบาลที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดําเนินการเอง

2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้ ”

3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้

ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มี น้ําสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ

2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

แม้รัฐบาลจะกระจายอํานาจการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการ บริหารงาน แต่รัฐบาลยังคงมีอํานาจในการควบคุมกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่านผู้ว่าราชการ จังหวัดและนายอําเภอ ซึ่งการควบคุมกํากับดูแลนั้นจะต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายกําหนด และต้อง เป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม

วิธีการควบคุมกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกได้ เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การ

1) การควบคุมกํากับดูแลโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การควบคุมกํากับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพ ทางกฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้

(2) การควบคุมกํากับดูแลการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับดูแลของรัฐบาล ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่องบประมาณ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง

2) การควบคุมกํากับดูแลโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับดูแลโดย ทางอ้อมประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่า จะต้องทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความ เห็นชอบจากอัยการจังหวัด

 

ข้อ 4 การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Self : Government) นักศึกษาเข้าใจว่าอย่างไร อธิบาย

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบัน เป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการปกครองตนเอง (Local Self Government) ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอิสระเป็นอย่างสูงในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสามารถจัดทํากิจการ ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจําเป็นภายในท้องถิ่นของตนได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความเป็น อิสระทั้งในทางการคลังและบุคลากร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของ การกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตาม เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การปกครองส่วนท้องถิ่นไทย โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกําหนด นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็น อิสระด้านการเงินและการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของ สภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิใน การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่ จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 สาระสําคัญของหลักการปกครองประเทศในรูปแบบหลักการกระจายอํานาจมีอะไรบ้าง และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะใด ให้นักศึกษาอธิบายมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ท้องถิ่น มีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

สาระสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง มีดังนี้

1 ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณและทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2 มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3 มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4 มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะของการกระจายอํานาจการ ปกครอง(Decentralization) กล่าวคือ รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจการปกครองบางส่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรม และวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง และไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางทําได้เพียงแค่ควบคุมกํากับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตที่ กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น )

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกลางกับภารกิจของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ

ภารกิจของรัฐบาลกลาง จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ของ รัฐบาลกลางที่รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ดําเนินการเอง

2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลกลางอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลกลางก็ได้

3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลกลางอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลกลางก็ได้

ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มีน้ําสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ

2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

แม้รัฐบาลกลางจะกระจายอํานาจการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระ ในการบริหารงาน แต่รัฐบาลกลางยังคงมีอํานาจในการควบคุมกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ซึ่งการควบคุมกํากับดูแลนั้นจะต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายกําหนด และต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม

วิธีการควบคุมกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) การควบคุมกํากับดูแลโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การควบคุมกํากับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพ ทางกฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้

(2) การควบคุมกํากับดูแลการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับดูแลของรัฐบาลกลาง ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่อ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง

2) การควบคุมกํากับดูแลโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับดูแลโดยทางอ้อม ประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่าจะต้อง ทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากอัยการจังหวัด

 

ข้อ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กําหนดโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยไว้เป็นอย่างไร ให้นักศึกษายกตัวอย่างมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจ โดยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยไว้ในหมวด 14 ตั้งแต่มาตรา 281 – 290 ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น ยังคงใช้ซึ่งหลักการเดิมไม่แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 อันถือเป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจาย อํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชน ในท้องถิ่น

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดให้โครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่น ของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรียผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 รูปแบบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 สภาท้องถิ่น เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

-อบต. เรียกว่า สภา อบต.

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– อบจ. เรียกว่า สภาอบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นฝ่ายบริหาร ทําหน้าที่ในการบริหาร กิจการภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้

– อบต. เรียกว่า นายก อบต.

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– อบจ. เรียกว่า นายก อบจ.

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองทัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

ตัวอย่างโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้น ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างของ อบจ.   ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมี จํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้30 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 36 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 42 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน

สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุ ของสภา อบจ.

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน โดยนายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็นผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 3 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

 

ข้อ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองหมายถึงอะไร มีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายมาโดยละเอียด แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้

1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง

2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล

3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย

4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง

5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือของครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Huntington & Nelson เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่

1 กิจกรรมการเลือกตั้ง

2 การล็อบบี้

3 กิจกรรมองค์กร

4 การติดต่อ

5 การใช้กําลังรุนแรง

Almond & Powell เห็นว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1 Conventional Forms ได้แก่

1) การออกเสียงเลือกตั้ง

2) การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง

3) กิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

4) การจัดตั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

5) การติดต่อส่วนตัว

2 Unconventional Forms ได้แก่

1) การยื่นข้อเสนอ

2) การเดินขบวน

3) การประจันหน้า

4) การละเมิดกฎของสังคม

5) การใช้ความรุนแรง

6) สงครามกองโจรและการปฏิวัติ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับหลักการประชาธิปไตย

เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการ แสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

 

ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน

ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ ภารประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้

1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุมหรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น

3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น

4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น

5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้

 

 

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย S/2558

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมีอะไรบ้าง มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรในหลักการแต่ละหลักการ จงอธิบายมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมี 3 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization)

1 หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หมายถึง หลักการจัดวางระเบียบ บริหารราชการแผ่นดินโดยรวมอํานาจในการปกครองไว้ให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง กรม และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยให้ขึ้นต่อกันตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ดําเนินการปกครองตลอดทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ

ลักษณะสําคัญของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) มีการรวมกําลังทหารและกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที

2) มีการรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง

3) มีการลําดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป (Hierarchy)

จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) การที่รัฐบาลมีอํานาจแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาเขต ทําให้นโยบาย แผน หรือคําสั่งเกิดผลได้ทั่วประเทศอย่างทันที

2) ให้บริการและประโยชน์แก่ประชาชนโดยเสมอหน้าทั่วประเทศ ไม่ได้ทําเพื่อท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ

3) ทําให้เกิดการประหยัด เพราะสามารถหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดหาประจําทุกจุด 4) มีความเป็นเอกภาพในการปกครองและการบริหารงาน การปกครองในท้องถิ่นเป็นไปแนวเดียวกัน

5) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทําให้บริการสาธารณะดําเนินการไปโดยสม่ำเสมอ และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการรวมอํานาจปกครอง

1) ไม่สามารถดําเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วทุกท้องที่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึง

2) การปฏิบัติงานมีความล่าช้า เพราะมีแบบแผนและขั้นตอนมากมายตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา

3) ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4) ไม่อาจตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะความหลากหลายของความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น

2 หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง หลักการที่การบริหาร ราชการส่วนกลางได้จัดแบ่งอํานาจวินิจฉัยและสั่งการบางส่วนไปให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค โดยให้มีอํานาจใน การใช้ดุลยพินิจ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนริเริ่มได้ในกรอบแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้

ลักษณะสําคัญของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากส่วนกลางไปประจําตามเขตการปกครองในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัด อําเภอ ตําบล และ หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อยู่ในระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐบาลกลางอันเดียวกัน

2) เป็นการบริหารโดยใช้งบประมาณซึ่งส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติและควบคุมให้เป็นไปตามวิธีการงบประมาณแผ่นดิน

3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่จะนําพาไปสู่การกระจายอํานาจการปกครอง

2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นในการมาติดต่อในเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการ เพราะไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาวินิจฉัยสั่งการ

3) เป็นจุดเชื่อมระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทําให้การติดต่อประสานงานระหว่างทั้ง 2 ส่วนดีขึ้น

4) มีประโยชน์ต่อประเทศที่ประชาชนยังไม่รู้จักการปกครองตนเอง

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง

1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปบริหารงานในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เชื่อในความสามารถของท้องถิ่น

2) เกิดความล่าช้าในการบริหารงาน เพราะต้องผ่านระเบียบแบบแผนถึง 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลางและระดับส่วนภูมิภาค

3) ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ

4) ทําให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าบางอย่างในท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ เช่น บุคลากร เจ้าหน้าที่ เพราะถูกส่งมาจากที่อื่น

5) บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่อาจจะเนื่องมาจากไม่ใช่คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจพื้นที่ และอาจเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่

3 หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่อง ที่ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

ลักษณะสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย ให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ ขึ้นตรงต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3) มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4) มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2) เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยเพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1) อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขีคู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3) ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือน การบริหารราชการส่วนกลาง

 

ข้อ 2 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น

แนวคําตอบ

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและ เพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตากู (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง หรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ

2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อุทัย หิรัญโต อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ

1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น

2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน

3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ

4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ

5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงานทางราชการ

7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับดูแล จากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของหน่วย การปกครองท้องถิ่นนั้น

ข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า การปกครองโดยผู้แทนจากส่วนกลาง เพราะ

1) ท้องถิ่นต้องการนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในด้านเขตพื้นที่ ประชากร ประเพณี วัฒนธรรม และความแตกต่างจําเพาะของท้องถิ่นนี้เอง ทําให้ปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หากจะให้รัฐบาลกลางเข้าไปดูแล รัฐบาลกลางก็ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้

2) หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําเอาพลังชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน อันจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการปกครองโดยส่วนกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้

4) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหลักที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางในการดูแลท้องถิ่น

5) การบริหารโดยท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารงานโดยตัวแทนรัฐบาลกลาง

2 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะ

1) รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รูปแบบการจําลองการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า

2) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ

4) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

5) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์โดยมิชอบ

3 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยทําให้เกิดความมั่นคงของชาติ

4 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชน

5 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการปกครองจากส่วนกลาง

 

ข้อ 3 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน

ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็น คุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้

1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุมหรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น

3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น

4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิด ความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น

5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้

 

ข้อ 4 ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีอะไรบ้าง จงอธิบายมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีดังนี้

1 ปัญหาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่น ได้แก่

1) มีค่าใช้จ่ายสูง (Cost) คือ เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นขึ้นมามาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย เช่น การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือการยกฐานะของเทศบาลขึ้นมาก็ต้อง มีการเพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนอาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นการจัดตั้ง หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้นจึงต้องมองในแง่ของการประหยัดด้วย เพราะในบางตําบลมีเพียงหมู่บ้านเดียว และมีประชากรจํานวนไม่มากนัก

2) ความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency) คือ ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้เพียงพอมาทํางานได้ ดังนั้นความก้าวหน้าในการพัฒนาท้องถิ่นจึงไม่สามารถทําได้ดีเท่าที่ควร

3) ความเฉื่อยชา (Inertia) จากการใช้คนในพื้นที่เข้ามาบริหารอํานาจ เพราะบางครั้ง แทนที่จะทําให้ท้องถิ่นก้าวหน้า แต่กลับทําให้ท้องถิ่นเฉื่อยชาลง เนื่องจากยึดติดกับความคิดดั้งเดิม

4) ความไม่เสมอภาค (Inequality) ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ําหรือความไม่ เท่าเทียมกันของหน่วยงาน เพราะท้องถิ่นบางแห่งรวยจนไม่เท่ากัน บางแห่งมีทรัพยากรมาก บางแห่งมีคนที่มี ความคิดริเริ่มมาก แต่บางแห่งผู้นําไม่มีวิสัยทัศน์และความรู้เพียงพอ ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้ง อบต. ขึ้นจะมีการจัดสรรเงินให้กับหน่วยงานนั้นเท่ากันทุก อบต. แต่ต่อมาได้พิจารณาเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน การจัดสรรรายได้จึงเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ถ้า อบต. ใดมีรายได้มากก็จัดสรรเงินให้น้อยลง แต่ถ้ามีฐานะไม่ดีนัก หรือมีรายได้น้อยก็จะจัดสรรเงินให้มากขึ้น จึงทําให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานเล็ก ๆ เพราะบางครั้งทั้ง อบต. มีคน อยู่เพียง 50 – 60 คน แต่ได้รับเงินมาเป็นล้าน แล้วก็จะนํามาแบ่งกันได้มาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอีก เพราะเมื่อมีการคิดที่จะยกเลิก อบต. ขึ้นมา หน่วยงานเล็ก ๆ ก็ต่อต้านเนื่องจากกลัวเสียประโยชน์จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล

5) ความเห็นแก่ตัว (Selfishness) คือ ท้องถิ่นมักจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายที่ทําให้ ตนเองเสียประโยชน์ เช่น ไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและญาติพี่น้อง ให้ความสําคัญกับประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์สาธารณะ เพราะถือว่ามีอํานาจอยู่ในมือ ซึ่งในวงการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นการจัดเก็บภาษีมาบํารุงท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะมัวแต่คิดว่าหากมีการจัดเก็บภาษีขึ้นจะทําให้ฐานเสียงน้อยลงไป

6) ความอ่อนแอ (Weakness) ของประชาชนหรือชุมชน คือ การยอมสยบต่อ ผู้มีอิทธิพล ซึ่งถ้าหากกลไกของหน่วยงานต้องไปสยบต่อผู้มีอิทธิพลมาก ก็จะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม

7) ความเป็นเจ้าของ (Possessiveness) ของผู้กุมอํานาจ คือ นักการเมืองประจํา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพื้นที่เดิมมักเป็นพวกอนุรักษนิยม มีการผูกขาดอํานาจ ไม่ยอมให้มีการคลายอํานาจ ไปสู่เบื้องล่าง

8) การทุจริต (Corruption) เกิดจากการควบคุมไม่ได้ กฎหมายมีช่องโหว่ และ ประชาชนไม่สนใจ

9) การแยกตัว (Separatism) คือ การกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง เอาจทําให้เกิดการแยกตัวเป็นรัฐอิสระขึ้นได้

2 ปัญหาผู้นําท้องถิ่น เนื่องจากว่าผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้นําในการ เรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาไปสู่ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน

3 ปัญหาพรรคการเมือง เนื่องจากว่าพรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคลที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการ พัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์และฐานอํานาจ ที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัยระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด พรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และแสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ ท้องถิ่นจึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละ พรรคการเมืองที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็นปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก

4 ปัญหากลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากว่ากลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการ กําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอ ความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมี ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของซาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะใด และรัฐบาลกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยวิธีการใดบ้าง

แนวคําตอบ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะของการกระจายอํานาจการปกครอง (Decentralization) กล่าวคือ รัฐบาลได้มอบอํานาจการปกครองบางส่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง และไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาล รัฐบาลทําได้เพียงแค่ควบคุมกํากับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ ขอบเขตที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดการภารกิจระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ ภารกิจของรัฐบาล จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ ของรัฐบาลที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดําเนินการเอง

2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้

3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้

ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มีน้ำสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ

2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล

แม้รัฐบาลจะกระจายอํานาจการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการ บริหารงาน แต่รัฐบาลยังคงมีอํานาจในการควบคุมกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่านผู้ว่าราชการ จังหวัดและนายอําเภอ ซึ่งการควบคุมกํากับดูแลนั้นจะต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายกําหนด และต้อง เป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม

วิธีการควบคุมกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกได้ เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) การควบคุมกํากับดูแลโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การควบคุมกํากับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพ ทางกฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้

(2) การควบคุมกํากับดูแลการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับดูแลของรัฐบาล ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่องบประมาณ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง

2) การควบคุมกํากับดูแลโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับดูแลโดย ทางอ้อมประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่าจะต้อง ทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากอัยการจังหวัด

 

ข้อ 2 การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Self Government) นักศึกษาเข้าใจว่าอย่างไร อธิบาย

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบัน เป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการปกครองตนเอง (Local Self Government) ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอิสระเป็นอย่างสูงในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสามารถจัดทํากิจการ ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจําเป็นภายในท้องถิ่นของตนได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความเป็น อิสระทั้งในทางการคลังและบุคลากร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตาม เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การปกครองส่วนท้องถิ่นไทย โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกําหนด นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็น อิสระด้านการเงินและการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของ สภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจักสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิใน การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่ จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น

แนวคําตอบ

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่ง ส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้

เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น

วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

แฮรีส จี. มอนตากู (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง หรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด

วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วยการปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ

ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน

อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ

2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อุทัย หิรัญโต อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ

1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น

2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน

3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ

4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ

5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง

6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงานทางราชการ

7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับดูแล จากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของหน่วย การปกครองท้องถิ่นนั้น

ข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น

1 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า การปกครองโดยผู้แทนจากส่วนกลาง เพราะ

1) ท้องถิ่นต้องการนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

ทั้งนี้เพราะท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในด้านเขตพื้นที่ ประชากร ประเพณี วัฒนธรรม และความแตกต่างจําเพาะของท้องถิ่นนี้เอง ทําให้ปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หากจะให้รัฐบาลกลางเข้าไปดูแลรัฐบาลกลางก็ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้

2) หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําเอาพลังชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน อันจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการปกครองโดยส่วนกลางที่ไม่สามารถ เข้าถึงประชาชนทุกคนได้

4) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหลักที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางในการดูแลท้องถิ่น

5) การบริหารโดยท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารงานโดยตัวแทนรัฐบาลกลาง

2 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะ

1) รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รูปแบบการจําลองการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า

2) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น

3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ

4) การปาครองส่วนท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

5) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์โดยมิชอบ

3 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยทําให้เกิดความมั่นคงของชาติ

4 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชน 5 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการปกครองจากส่วนกลาง

 

ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อนธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมีใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การบระชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้

1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุมหรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น

3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น

4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิด ความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น

5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้

POL2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 คือจุดเริ่มต้นของการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง ดังนั้นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีอะไรบ้าง

แนวคําตอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถือเป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันก็มีผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งจากบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สามารถสรุปสาระสําคัญ ของการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยได้ ดังนี้

1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น ได้แก่ ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง

2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือการกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหาร ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม

4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิในการ เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็น ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศ เป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

 

ข้อ 2 ให้นักศึกษาพูดถึงรูปแบบและโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป รวมทั้งอํานาจหน้าที่มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ องค์การ บริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตําบล

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเขตพื้นที่การปกครองหรืออาณาเขตความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ทั้งนี้ อบจ. ต้องจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ดังนั้นปัจจุบันจํานวน อบจ. จึงมีเท่ากับจํานวนจังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) คือ 76 แห่ง

โครงสร้างของ อบจ. ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งจํานวนของสมาชิกสภา อบจ. ให้ถือเกณฑ์ จํานวนราษฎรในแต่ละจังหวัด ดังนี้

– ถ้ามีราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 30 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 36 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 42 คน

– ถ้ามีราษฎรเกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน สภา อบจ. จะมีประธานสภา อบจ. 1 คน และรองประธานสภา อบจ. 2 คน ซึ่งสภา อบจ. เลือกจากสมาชิกสภา อบจ. โดยประธานสภา อบจ. และรองประธานสภา อบจ. จะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภา อบจ.

2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

นายก อบจ. สามารถแต่งตั้งทีมบริหารจากบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เพื่อเป็น ผู้ช่วยดําเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย

1) รองนายก อบจ. ซึ่งมีจํานวนตามเกณฑ์ดังนี้

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 48 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ. ได้ไม่เกิน 4 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 36 คน หรือ 42 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ.ได้ไม่เกิน 3 คน

– อบจ. ที่มีสมาชิกสภา อบจ. 24 คน หรือ 30 คน แต่งตั้งรองนายก อบจ.ได้ไม่เกิน 2 คน

2) เลขานุการนายก อบจ. และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่งแต่งตั้งได้จํานวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

อํานาจหน้าที่ของ อบจ.

อบจ. มีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของ อบจ. ได้แก่

1 ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

2 จัดทําแผนพัฒนา อบจ. และประสานการจัดทําแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

3 สนับสนุนสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น

4 ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

5 แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตําบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

6 อํานาจหน้าที่ของจังหวัดตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เฉพาะภายในเขตสภาตําบล

7 คุ้มครอง ดูแล และบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบํารุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นฯลฯ

เทศบาล

เทศบาล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่ตั้งขึ้นเป็นรูปแบบแรกภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้ามาก และดูแลพื้นที่ในเขตเมืองซึ่งมีลักษณะปัญหาแตกต่างไปจากพื้นที่ชนบท เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

ประเภทของเทศบาล มี 3 ประเภท คือ

1 เทศบาลตําบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็น เทศบาลตําบล การจัดตั้งเทศบาลตําบลจะไม่มีการกําหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของจํานวนประชากร ความหนาแน่น หรือรายได้แต่ประการใด ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

2 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎร ตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทําตามกฎหมาย และซึ่งมีประกาศ กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

3 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้ พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทําตามกฎหมาย และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย

โครงสร้างของเทศบาล ประกอบด้วย

1 สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งจํานวนของสมาชิกสภาเทศบาลมีดังนี้

– สภาเทศบาลตําบล ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน

– สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิก 18 คน

– สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน

สภาเทศบาลมีประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 1 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล โดยจะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาล

2 นายกเทศมนตรี มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระ การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

นายกเทศมนตรีสามารถแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลได้ตาม เกณฑ์ดังนี้

– เทศบาลตําบล แต่งตั้งได้ไม่เกิน 2 คน

– เทศบาลเมือง แต่งตั้งได้ไม่เกิน 3 คน

– เทศบาลนคร แต่งตั้งได้ไม่เกิน 4 คน

นายกเทศมนตรีสามารถแต่งตั้งเลขานุการและที่ปรึกษานายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิก สภาเทศบาลได้จํานวนรวมกันตามเกณฑ์ดังนี้

– เทศบาลตําบล แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 2 คน

– เทศบาลเมือง แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 3 คน

– เทศบาลนคร แต่งตั้งรวมกันได้ไม่เกิน 5 คน

อํานาจหน้าที่ของเทศบาล

เทศบาลมีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของเทศบาล ได้แก่

เทศบาลตําบล มีอํานาจหน้าที่ดังนี้

1 รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2 ให้มีและบํารุงทางบกและทางน้ำ

3 รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

4 ป้องกันและระงับโรคติดต่อ

5 ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง

6 ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม

7 ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

8 บํารุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

9 หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล

เทศบาลเมือง มีอํานาจหน้าที่ดังนี้

1 กิจการตามที่กฎหมายระบุให้เทศบาลตําบลต้องกระทํา

2 ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา

3 ให้มีโรงฆ่าสัตว์

4 ให้มีและบํารุงสถานที่ทําการพิทักษ์และรักษาคนเจ็บไข้

5 ให้มีและบํารุงทางระบายน้ำ

6 ให้มีและบํารุงส้วมสาธารณะ

7 ให้มีและบํารุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น

8 ให้มีการดําเนินกิจการโรงรับจํานําหรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น

เทศบาลนคร มีอํานาจหน้าที่ดังนี้

1 กิจการตามที่กฎหมายระบุให้เทศบาลตําบลและเทศบาลเมืองต้องกระทํา

2 ให้มีและบํารุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก

3 กิจการอื่นซึ่งจําเป็นเพื่อการสาธารณสุข

4 การควบคุมสุขลักษณะและอนามัยในร้านจําหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น

5 จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

6 จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ

7 การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง

8 การส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว

องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)

อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ของตําบลที่อยู่ นอกเขตเทศบาล จัดตั้งมาจากสภาตําบลที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กําหนด โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญเพื่อดูแลทุกข์สุขและ ให้บริการประชาชนในหมู่บ้าน ตําบล เขต อบต. แทนรัฐบาลกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ อบต. ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีอํานาจหน้าที่ในการพัฒนาตําบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และอํานาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด รวมทั้งมีงบประมาณและ พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อบต. เอง

โครงสร้างของ อบต. ประกอบด้วย

1 สภาองค์การบริหารส่วนตําบล (สภา อบต.) ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบต. ซึ่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีที่เขต อบต. ใดมี 1 หมู่บ้าน ให้เลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. หมู่บ้านนั้น 6 คน และในกรณีที่เขต อบต. ใดมี 2 หมู่บ้าน ให้แต่ละหมู่บ้านเลือกตั้ง สมาชิกสภา อบต. หมู่บ้านละ 3 คน ซึ่งอายุของสภา อบต. มีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

สภา อบต. มีประธานสภา อบต. 1 คน และรองประธานสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภา อบต. เลือกจากสมาชิกสภา อบต. ให้นายอําเภอแต่งตั้ง โดยจะดํารงตําแหน่งจนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต. และมีเลขานุการสภา อบต. 1 คน ซึ่งสภา อบต. เลือกจากปลัด อบต. หรือสมาชิกสภา อบต. โดยจะดํารงตําแหน่ง จนครบอายุของสภา อบต. หรือมีการยุบสภา อบต.

2 นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (นายก อบต.) มีจํานวน 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน มีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี และดํารงตําแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

นายก อบต. สามารถแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภา อบต. ได้ไม่เกิน 2 คน และแต่งตั้งเลขานุการนายก อบต. ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภา อบต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ 1 คน

อํานาจหน้าที่ของ อบต.

อบต. มีอํานาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และที่ แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งตัวอย่างอํานาจหน้าที่ของ อบต. ได้แก่

1 จัดให้มีและบํารุงรักษาทางน้ำและทางบก

2 รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ํา ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

3 ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ

4 ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

5 ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

6 ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

7 คุ้มครอง ดูแล และบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

8 บํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นฯลฯ

 

ข้อ 3 ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์มีลักษณะอย่างไร เป็นปัญหาต่อการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ

ความหมายและลักษณะของผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น หมายถึง บุคคลที่มีคนในท้องถิ่นนับถือไว้วางใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจของคนในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากส่วนกลาง แต่งตั้งไปประจํายังส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจําตําบล กรรมการหมู่บ้าน ครู พัฒนากร เป็นต้น

2 ผู้นําท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นําที่มีบารมี มีอิทธิพล หรือมีความรู้ความชํานาญ เป็นพิเศษเกี่ยวกับอาชีพหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้นําท้องถิ่นที่เป็นทางการในการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านและตําบลของตน เช่น ผู้นํากลุ่มอาชีพ ผู้นํากลุ่มสตรี ผู้นํากลุ่มสันทนาการ การ ผู้นํากลุ่มเยาวชน ผู้นําทางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมือง

พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน รวมถึงมีอุดมการณ์ และแนวปฏิบัติที่ตกลงกันแน่นอน โดยพรรคการเมืองต้องมีลักษณะสําคัญดังนี้

1 อุดมการณ์หรือหลักการ คือ คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือหลักการปกครองร่วมกันเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งพรรคการเมือง

2 การจัดตั้งเป็นองค์กร คือ มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานมีพนักงานประจํา มีระเบียบข้อบังคับ ในการดําเนินงาน มีการแบ่งงานกันทํา และมีผู้รับผิดชอบงานชัดเจน

3 ความเชื่อมโยงกับประชาชน คือ พรรคการเมืองต้องทําหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล เช่น สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน การดําเนินการต่าง ๆ หรือผลักดัน ให้รัฐบาลนําความคิดเห็นนั้นไปปฏิบัติ

วิสุทธิ์ โพธิแท่น กล่าวว่า พรรคการเมือง หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างเดียวกัน รวมกันจัดตั้งเป็นรากฐานที่มีการจัดองค์กรที่แน่นอนชัดเจน มีการกําหนดทางเลือกเกี่ยวกับนโยบาย ที่สําคัญในการปกครองและบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ มีการคัดเลือกคนเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง พยายาม เข้าไปมีส่วนร่วมในอํานาจรัฐจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ โดยพรรคการเมืองมีองค์ประกอบที่จําเป็น เช่น คน สถานที่และอุปกรณ์ โครงสร้างของพรรคการเมือง และระเบียบข้อบังคับ

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้ที่มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน เพื่อให้สามารถ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มตนหรือเพื่อผลประโยชน์ ของส่วนรวมก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1 กลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มผลประโยชน์ด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยจะมีบทบาททางการเมืองสูง และมีอํานาจในการต่อรองกับรัฐบาลมาก เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มหอการค้าจังหวัด เป็นต้น

2 กลุ่มทางเกษตรกรรม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่ผู้เป็น เจ้าของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจํานวนมาก และมีบทบาทในการต่อรองกับรัฐบาล เช่น สหพันธ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

3 กลุ่มทางสังคม คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ปฏิบัติงานทางด้านสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ ของกลุ่มและเพื่อสวัสดิการทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เช่น สมาคม ภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

4 กลุ่มโลกทัศน์ คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อมหาชนให้คล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาล กระทําตาม เช่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มสื่อสารมวลชน เป็นต้น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์กับปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถนําไปสู่การเกิดเป็นปัญหาต่อ การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยได้ กล่าวคือ

ผู้นําท้องถิ่น

ผู้นําท้องถิ่นเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า ผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามา เป็นผู้นําในการเรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการ พัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า พรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคล ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์ และฐานอํานาจที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัย ระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชน ในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ที่สังกัดพรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และ แสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่น จึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็น ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก

กลุ่มผลประโยชน์

กลุ่มผลประโยชน์เป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นเนื่องจากว่า กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมาย ในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์ เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน

 

ข้อ 4 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร

แนวคําตอบ

ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน

ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็น คุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน

องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้

1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล

2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ

3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดย ปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้

4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ

5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน

6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้

1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุม หรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น

2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น

3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น

4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น

5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!