POL3101  วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ s/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3101  วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทั้ง 4 ข้อ แต่ละข้อต้องเขียนแสดงออกซึ่งความคิดเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน คาดหวังคําตอบข้อละประมาณ 3 – 5 หน้า

ข้อ 1 การเปรียบเทียบคืออะไร ทําอย่างไร ?

ทําไมจึงต้องศึกษาเปรียบเทียบ ?

ศึกษาอะไรบ้าง ?

มีประโยชน์อย่างไร ? มีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ อย่างไร ?

ศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในรัฐศาสตร์ คล้ายศึกษาอย่างไรในวิชาเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ?

คนในโลกมักเปรียบเทียบเรื่องใดมากที่สุด ?

โครงสร้าง คืออะไร ?

สําคัญอย่างไร ?

และจงเปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างหรือระบบตามแนวคิดของ David Easton กับของ Gabriel Almond อธิบายให้ละเอียดโดยยกตัวอย่างเกิดขึ้นจริงในชีวิต

สังคมการเมืองไทย

แนวคําตอบ

การเปรียบเทียบ คือ การศึกษาวิเคราะห์ความคล้ายคลึงและความแตกต่างของคุณลักษณะ ต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบนั้นไม่จําเป็นในการตัดสินว่า ระบบการเมืองใดหรือสถาบันการเมืองใดดีที่สุด แต่เพื่อการเรียนรู้มากขึ้นว่า ทําไม (why) หรืออย่างไร (how) ในความเหมือนหรือความแตกต่าง และความเหมือน หรือความแตกต่างนั้นได้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง

เหตุผลที่ต้องศึกษาเปรียบเทียบ ได้แก่

1 เพื่อให้เห็นสาระสําคัญของความเหมือนและความแตกต่างในประเด็นและรายละเอียด ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2 เพื่อการเพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้น ทําให้เกิดความรู้ในเชิงเปรียบเทียบ (ความเหมือน – ความต่าง) การมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ก่อให้เกิดความรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถพยากรณ์ความโน้มเอียง ต่าง ๆ ที่จะเป็นไปในอนาคตได้ด้วย

3 การศึกษาเปรียบเทียบยิ่งกว้างขวาง ครอบคลุมมากเท่าใดก็ยิ่งก่อให้เกิดความรู้ความ เข้าใจที่ถูกต้องและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

4 สามารถมองเห็นภาพรวมในการทํางานของระบบต่าง ๆ ได้ชัดเจน * ลักษณะการศึกษาเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามา เปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความแตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ดูว่ารัฐธรรมนูญฯ 2550 มีเนื้อหาใน – ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะรัฐธรรมนูญฯ 2550 เพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) คือ กรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบนั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร สถาบัน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่าง และใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาท องค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน :

– ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น

– ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะ ทําให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similarities) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่าง ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้าง กรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วม ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อมูลที่ได้ควรจะต้องมีการจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในการ เลือกตั้ง การเสนอกฎหมาย ฯลฯ โดยจะต้องใช้ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

สิ่งที่มักนํามาศึกษาเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการเมือง

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาผู้แทนราษฎร

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวุฒิสภา เป็นต้น

ประโยชน์ของการเปรียบเทียบ

1 ช่วยให้ผู้ศึกษามองเห็นการเมืองและการปกครองของประเทศอื่นได้ชัดเจนและลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น อันจะนํามาสู่ความเข้าใจต่อการเมืองของประเทศตัวเองที่ดีกว่าเดิม เมื่อผู้ศึกษาสามารถเชื่อมโยงอิทธิพล ความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างประเทศเหล่านั้นกับประเทศตัวเองได้

2 ช่วยให้ผู้ศึกษาหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อชาติตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Ethnocentrism) ใน การตัดสินผู้อื่น อันนําไปสู่การเปิดใจกว้างต่อการปกครองที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะรูปแบบการเมืองและการ ปกครองของประเทศที่ผู้ศึกษาอาศัยอยู่นั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะตัวมาตั้งแต่ต้น หากแต่ได้รับอิทธิพลและได้ ผสมผสานกับรูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศอื่นมานาน

3 ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจภาวะปัจจุบัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์สากลเกี่ยวกับการเมืองโลก

4 ช่วยให้ผู้ศึกษามีทางเลือกหรือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่หลากหลายกว่าเดิมจาก การเรียนรู้ถึงบริบท และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

ในส่วนของความเป็นศาสตร์นั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือเป็นสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่ง ไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัยรูปแบบ แบบแผน พฤติกรรม และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคมหรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบ การเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของวิชา รัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

ความคล้ายของการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในรัฐศาสตร์และการศึกษาในวิชาเคมี ชีวะ ฟิสิกส์

1 การเลือกปัญหา (Problem Selection) จะเกี่ยวพันกับการสร้างทฤษฎีเพื่อเป็น องค์ประกอบของการสร้างปัญหาที่จะวิเคราะห์ว่าปัญหานั้น ๆ ควรมีตัวแปรอะไรเข้าไปเกี่ยวพันบ้าง และเมื่อมี ตัวแปรเหล่านั้นแล้วจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์อะไรบ้าง ผู้ที่จะสร้างทฤษฎีทางสังคมจะต้องเลือกปัญหาที่มี ผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม และต้องเป็นประเด็นที่คนส่วนมากให้ความสนใจ ผู้เลือกปัญหามาศึกษา จะต้องเป็นผู้มีจิตนาการที่กว้างไกลและมีความสํานึกต่อปัญหาสังคมนั้น ทั้งนี้เพราะปัญหาสังคมที่ล้ำลึกบางครั้งเกิดจากสภาพสามัญสํานึกของนักทฤษฎีที่มีความรู้สึกว่าประเด็นนั้น ๆ สําคัญนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ บุคคล ดังนั้นการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบจะต้องอาศัยทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ทางสังคมเข้ามาช่วยอธิบาย ปรากฏการณ์ทางสังคม

2 การสังเกตอย่างเป็นระบบ (Systematic Observation) จะช่วยในการสร้างตัวแบบใน การเปรียบเทียบ ซึ่งจะต้องมีการจัดลําดับข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ และที่สําคัญจะต้องมีการพรรณนาข้อมูลที่ได้มา ในเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นักสังคมศาสตร์นั้น ๆ จะต้องเป็นผู้มีจินตนาการ รู้จักจัดสรรข้อมูล และที่สําคัญจะต้อง สามารถอธิบายข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างเป็นระบบ มิใช่แต่นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จะต้องมีความสามารถในการ พรรณนาข้อมูลที่ค้นคว้ามา นักเคมี นักชีววิทยา และนักฟิสิกส์ก็จะต้องมีความสามารถในการสังเกตและพรรณนา ข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตอย่างเป็นระบบด้วย เมื่อข้อมูลที่จัดเก็บมาอย่างเป็นระบบนั้นถูกนํามาวิเคราะห์ ก็จะ สามารถตั้งเป็นสมมุติฐานและทําการทดสอบต่อไปได้นั่นเอง

คนในโลกมักเปรียบเทียบในประเด็นที่สําคัญดังนี้

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาใน ด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน เศรษฐกิจและสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการ เรียนรู้ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึง ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และ รวมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และ หลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและ การกระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้น ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ

จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น – วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ำ ดิน ฟ้า อากาศ ทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยี

การตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

โครงสร้าง คือ แบบแผนของกิจกรรมที่ทํากันสม่ำเสมอ โดยผู้ที่กระทํากิจกรรมจะมีบทบาท แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมบทบาทของกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เป็นโครงสร้างนั้น ๆ เช่น โครงสร้างของรัฐสภา ประกอบด้วย ประธานสภา รองประธานสภา เลขาธิการ และสมาชิก ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อ เรารวมเอาบทบาทของส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้โครงสร้างของรัฐสภานั้นเอง

– โครงสร้างก็เปรียบได้กับสรีระร่างกายของคน ส่วนภายในสรีระนั้นก็ประกอบด้วยหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ระบบการหายใจ ระบบหมุนเวียนของเลือด ระบบการขับถ่าย ระบบของการย่อย ระบบการเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งการทําหน้าที่ของระบบต่าง ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อทําให้โครงสร้างสามารถดํารงอยู่ได้

เปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างหรือระบบของ David Easton และ Gabriel Almond David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มี ความสัมพันธ์เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างระบบที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และพฤติกรรมของระบบการเมืองได้

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั่นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะ ให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั่นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นได้

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

2 ระบบการเมือง (System) ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบ การเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ํา อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั้นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

– สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้างชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ

– สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผลการร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

– สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ส่วน Almond นั้นเชื่อว่าถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการ แสดงออกของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับ กฎหมายและพิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมา สนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มี การปะทะสัมพันธ์ในระบบการเมือง และแบบแผนของการปะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั่นเอง

Almond ได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวางแผนเปรียบเทียบระบบการเมืองจาก David Easton ในหนังสือชื่อ “ระบบการเมือง” (The Political System)

Almond เห็นว่า หน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1 หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนด นโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ (Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู่ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ โดย Almond มีความเห็นสอดคล้องกับ Easton นั่นคือ การเรียกร้องและการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่นต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

– การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดย ” ไม่บิดพลิ้ว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้ง

พิธีการของสังคม

 

ข้อ 2 มีประกาศแผนฯ ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามยุทธศาสตร์ชาติ (เช่น พัฒนาให้มีครามรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครอง, พัฒนาโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย, ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย ที่ล้าสมัย, กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้, ยกระดับผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น, รักษา ฟื้นฟูให้สมบูรณ์และยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) มาตรการนั้นจะทําให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่แท้จริงหรือไม่ ? (หรือเป็นเพียง “ทันสมัย แต่ ด้อยพัฒนา”) ทําไม ? การพัฒนาที่แท้จริงคืออะไร ? จงอธิบายและระบุตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริง อย่างน้อย 3 ตัวให้เห็นชัด และสังคมไทยจําเป็นต้องมีการปลูกฝังกล่อมเกลาผู้คนในสังคมให้มีวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมการเมืองที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง ต้องปลูกฝังกล่อมเกลาอย่างไรบ้าง ? เป้าหมายสุดท้ายเป็นอย่างไร ? ใครอาจจะเป็นผู้ปลูกฝังกล่อมเกลา (Change agents) ได้ จงระบุ และอธิบาย

แนวคําตอบ

สาระสําคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ปี 2560 – 2579) ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ เป้าหมายอนาคตของชาติที่คนไทยทุกคนต้องการบรรลุร่วมกัน รวมทั้งยุทธศาสตร์หลัก / นโยบายแห่งชาติและ มาตรการเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวทาง ทิศทาง และวิธีการที่ทุกองค์กรและคนไทยทุกคนต้องมุ่งดําเนินการไปพร้อมกัน อย่างประสานสอดคล้องเพื่อให้บรรลุซึ่งสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการ คือ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน ในทุกสาขาของกําลังอํานาจแห่งชาติ อันได้แก่ การเมืองภายในประเทศ การเมืองต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคนไทยทุกคนอยู่ดีมีสุข

รัฐบาลจึงได้ประกาศแผน ฯ ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น พัฒนาให้มี ความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครอง, พัฒนาโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย, ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย ที่ล้าสมัย, กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้, ยกระดับผลิตภาพ ความสามารถใน การแข่งขันสูงขึ้น, รักษา ฟื้นฟูให้สมบูรณ์ละยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

มาตรการดังกล่าวนั้นสามารถทําให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่แท้จริงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยมีประเด็นการพัฒนาที่สําคัญในอนาคต หากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้าน ต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องดังต่อไปนี้ คือ

1 การพัฒนาคน / ทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย เป็นการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ สุขภาพกายและจิตใจ และจิตวิญญาณอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยเป็นคนมีคุณภาพอย่างแท้จริง

2 การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ําและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการให้บริการทางสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึง

3 การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการที่มุ่งสู่คุณภาพ มาตรฐาน และความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจศักยภาพสูงบนฐานของการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสําหรับการพัฒนา เศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

4 การปฏิรูปภาครัฐและกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อสร้างความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ให้บริการคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

5 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้าทันโลก สามารถ ตอบโจทย์การผลิตและบริการที่มีมูลค่าสูงและแข่งขันได้ และมีคุณค่าทําให้คุณภาพชีวิตดีโดยการสร้างสภาวะ แวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อก้าวผ่านจากการเป็นผู้ซื้อ เทคโนโลยีไปสู่การเป็นผู้ผลิตและขายเทคโนโลยี เป็นต้น

– การพัฒนาที่แท้จริง คือ กระบวนการที่ทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ยังทําให้เกิดการกระจายรายได้ ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค นั่นคือ ประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน และนําไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยถ้วนหน้า 6 ตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริง ได้แก่

1 ความมั่นคงทางการเมือง หรือบางครั้งอาจใช้คําว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” ก็ได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก

– ความต่อเนื่องของระบบการเมือง ซึ่งเราพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีความ มั่นคงทางการเมือง มักจะมีความต่อเนื่องทางการเมือง ไม่มีการแทรกแซงของทหาร กลไกทางการเมืองดําเนินไป ตามกฎหมายที่กําหนดไว้ ขณะที่การเมืองในประเทศที่กําลังพัฒนามักมีปัญหาเรื่องของการแทรกแซงของทหาร หรือถูกแทรกแซงจากภายนอกซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขทางการเมือง

– ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มักถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางการเมืองเสมอ เนื่องจากประเทศใดที่มีเศรษฐกิจไม่ดี มีคนว่างงานจํานวนมาก รายได้ของประชาชนน้อยลง สินค้ามีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเสถียรภาพหรือความมั่นคงทางการเมืองย่อมลดลงถ้าเศรษฐกิจตกต่ํา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตค่อนข้างสูงก็จะทําให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลมีมากเช่นกัน

– สังคม ปัญหาสังคมมักเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และนําไปสู่ปัญหาทาง การเมืองของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาของยาเสพติด ปัญหาของคนว่างงาน ปัญหาของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2 สถาบันทางการเมือง

– รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญของ ประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญจะเป็นตัววางกรอบโครงสร้างทั้งหมดทางการเมืองที่จะพูดถึงในเรื่องสิทธิ อํานาจหน้าที่ และที่มาของสถาบันตัวอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกทางการเมืองในแบบต่าง ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความชอบธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและวิถีการดําเนินชีวิตของคนในชาติ นอกจากนี้จะต้องไม่มีความเอนเอียง หรืออํานวยประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกยับยั้งและเกิดการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อต่อต้าน ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่ดีจึงก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

– สภาถือเป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งเราให้ความสนใจในเรื่องที่มาและอํานาจหน้าที่ ของสภาว่ามีอะไรบ้าง สมาชิกมาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้ง สัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. เป็นเท่าใด สิ่งเหล่านี้ จะถูกนํามาพิจารณาทั้งสิ้น นอกจากนี้เรายังมองไปถึงพฤติกรรมของสมาชิกในสภาว่ามีลักษณะเช่นไร

– พรรคการเมือง ถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรค ที่มีนโยบายและอุดมการณ์ของตนเองได้มีบทบาทในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนให้กับ

ประชาชนเข้าไปทําหน้าที่ในสภา พรรคการเมืองที่มีโอกาสทําหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องรู้จักวางแนวทางในการ ทําหน้าที่เมื่อเป็นรัฐบาล มีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ ของประเทศชาติเสมอ

3 การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ประเทศมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา การเมืองก็มักจะขับเคลื่อนไปได้ยาก ฉะนั้นถ้าประเทศใดก็ตามที่มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการศึกษาที่ดี และมีความรู้ การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ถ้า ประเทศใดมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา ประชาชนอดอยาก ขาดการศึกษา การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ง่าย ดังนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาทางการเมืองจึงมักจะถูกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสมอโดยทั้ง 2 ตัวแปรมักแยกกันไม่ออก เป็นต้น

การปลูกฝังกล่อมเกลาคนในสังคมให้มีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมการเมืองที่จะก่อให้เกิด การพัฒนาอย่างแท้จริง มีดังนี้

1 ภาครัฐจะต้องมุ่งเน้นสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง และประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยเร็ว รวมทั้งมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมคุ้มครองความมั่นคงให้แก่ประชาชน ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้พรรคการเมือง บางพรรคนําไปใช้เป็นเงื่อนไขกับประชาชน เพื่อนําไปใช้เป็นนโยบายประชานิยมในการนําตนเข้าไปสู่อํานาจ หรือ ซื้อเวลาให้ตนอยู่ในอํานาจเท่านั้น

2 ภาครัฐจะต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมในเรื่องการสร้างจิตสํานึก ทางการเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างพลเมือง โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท ชนชั้นกลางในเมือง นิสิตและนักศึกษา

3 เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งรัฐบาล ภาครัฐ และภาคการศึกษาจะต้องส่งเสริมและผลักดันให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมของนักเรียน นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างจิตสํานึกทางการเมืองที่ดีให้แก่ประชาชนและสังคม

4 ในด้านภาคการศึกษาจะต้องปลูกฝังจิตสํานึกทางการเมือง โดยมีวิชาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง บรรจุในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ

5 ในด้านภาคกฎหมายจะต้องมีกฎหมายป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงที่เข้มข้น ผู้ที่ซื้อสิทธิ หรือขายเสียงต้องมีโทษความผิดที่หนัก เพื่อป้องกันวัฒนธรรมการซื้อสิทธิขายเสียง

6 ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมกันปฏิรูป กํากับ และรณรงค์จริยธรรมคุณธรรม ทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยไม่ผ่ากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ มากกว่าการสร้างภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง เป็นต้น

เป้าหมายสุดท้าย มีลักษณะดังนี้

– ประชาชนรู้จักแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์

– ประชาชนเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความคิดรู้จักใช้เหตุผล การเชื่อมโยง และรู้จักแสวงหาความรู้ เพิ่มเติมให้กับตนเอง หรือรู้จักพัฒนาความสามารถของตนเองในการทํางานเพื่อองค์กรและนําไปสู่การพัฒนาของ ประเทศในอนาคต

– ประชาชนมีค่านิยมที่เน้นวัฒนธรรม อาทิ ความภูมิใจในการเป็นคนไทย การเคารพ ผู้อาวุโส เสียสละเวลาทํางานเพื่อส่วนรวม ปฏิบัติตามหลักศาสนา และการประกอบอาชีพสุจริต

– ประชาชนมีการขับเคลื่อนตนเองไปในทางที่ดี เพื่อกําจัดการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ซึ่งประชาชนจะต้องมีคุณธรรมทางด้านดี อาทิ ความซื่อสัตย์ ความดี ความรัก ความเคารพ ความศรัทธา การให้อภัย และอารมณ์ขัน สิ่งเหล่านี้สามารถทําให้ประชาชนรับและยอมรับแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้

– ประชาชนมีความเป็นพลเมือง (Citizenship) ซึ่งเป็นเรื่องของการมีสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมในสังคม รวมไปถึงการมีอิสรภาพ การพึ่งตนเองได้ การเคารพสิทธิ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพกติกาบ้านเมือง ไม่ใช้ความรุนแรง มีจิตสาธารณะ เป็นต้น

ผู้ปลูกฝังกล่อมเกลา (Change agents) ได้แก่

– ครอบครัว การสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อในการสร้างความรู้ทางการเมือง โดยครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยแรกในการฝึก ให้เด็กได้รับรู้สภาพและเป็นการปูพื้นฐานทางการเมือง นักรัฐศาสตร์เปรียบเทียบได้ให้ความสําคัญกับครอบครัว และบทบาทของครอบครัวในการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบครัวจะช่วยในเรื่องการ หล่อหลอมทางการเมืองได้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ

1) ครอบครัวจะช่วยถ่ายทอดทัศนะของพ่อแม่ต่อเด็ก โดยเด็กจะเรียนรู้สภาพ ความคิดและโอกาสในการแสดงความคิดเห็นจากทัศนคติของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือเปิดโอกาสและพูดคุยการเมืองให้กับเด็กแล้ว เด็กคนนั้นก็จะได้รับรู้และมีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แม้ว่า บางครั้งในสังคมไทยอาจจะมีบางครอบครัวที่มีความเผด็จการกับลูก ๆ อยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วก็ยังถือได้ว่ายังมี ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ

2) พ่อแม่จะมีลักษณะเป็นตัวแบบให้กับเด็ก โดยเด็กจะมีการเลียนแบบจากสิ่งที่ พ่อแม่กระทํา เช่น พฤติกรรมในการกิน การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อื่น ความมีน้ําใจ การมีส่วนร่วม การมีนิสัย ชอบการเลือกตั้ง ชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กจะเรียนรู้และตามแบบจากพ่อแม่

3) บทบาทและสิ่งที่เด็กคาดหวังที่จะกระทําเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จะมีความสัมพันธ์กับ การแสดงออกทางการเมืองของเขา เด็กจะแสดงออกทางการเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความหวังที่เขาได้รับเมื่อ ครอบครัวสั่งสอน เขาอาจมีเป้าหมายที่จะเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเขาเติบโตขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลผูกพันกับระบบการเมืองแทบทั้งสิ้น

– โรงเรียน นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างให้เกิดสังคมที่ดี และเป็นหน่วยสร้าง การกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมีโอกาสได้รับอิทธิพล ในการเรียนรู้จากโรงเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนมีเวลานาน จึงเป็นผลให้ความรู้ ทางการเมืองที่เด็ก ๆ จะได้รับมีการสะสมมานานจนสามารถฝังอยู่ในความทรงจํา

ในสังคมไทยนั้นระบบโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนนับว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อ ของเด็กมาก เด็กมักจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ เนื่องจากมีโอกาสอยู่ในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เมื่อเด็กมีการศึกษา มากขึ้นโอกาสที่เขาจะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองก็จะมากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา เนื่องจากเขาสามารถศึกษา เพิ่มเติมได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ บทความ การสนทนาทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งคนที่ด้อยการศึกษาอาจไม่ได้รับ ในรายละเอียดได้มากเท่ากับคนที่มีการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนยังช่วยในการสร้างค่านิยมของระบอบประชาธิปไตย ให้เยาวชนผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยได้อีกด้วย

– สื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ ต่างก็เข้ามามีบทบาทใน ชีวิตประจําวันของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในการสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการอบรมหรือเป็นช่องทางในการเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นการนําเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนจึงมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อ การพัฒนาการเมืองของไทย เพราะถ้าสื่อมวลชนไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและนําเสนอข่าวสารที่บิดเบือน จากข้อเท็จจริงแล้ว อาจทําให้ประชาชนหรือเยาวชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาหยิบยกประเด็นทางการเมืองประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาวิเคราะห์ โดยเลือกใช้แนวทางการศึกษา (Approach) ของการเมืองเปรียบเทียบแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสม จะใช้ในการอธิบาย โดยให้บรรยายถึงลักษณะของประเด็นปัญหาหรือเหตุการณ์ วิเคราะห์สาเหตุ และบอกถึงแนวทางแก้ปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แนวคําตอบ

“การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร” ถือเป็นประเด็นทางการเมืองหนึ่งที่สําคัญซึ่งมัก เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศโลกที่สาม หลังจากประเทศมหาอํานาจส่วนใหญ่ได้ปลดปล่อยประเทศในอาณานิคม ของตนออกมาเป็นประเทศเอกราชที่เกิดใหม่ ซึ่งประเทศเอกราชเหล่านี้มักมีแนวทางการพัฒนารูปแบบของ ระบอบการปกครองเหมือนกับประเทศแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตย แต่การพัฒนาไปสู่ ความเป็นประชาธิปไตยกลับไม่ประสบความสําเร็จ เกิดช่องว่างของอํานาจทางการเมือง โดยทหารมักจะเป็น กลุ่มทางสังคมที่มีพลัง มีประสิทธิภาพ เเละมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

บทบาททางการเมืองของทหาร มีวิวัฒนาการดังนี้

ช่วงที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1930 นักรัฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามีปฏิกิริยาต่อต้านการขยายตัว ของระบอบการปกครองแบบเผด็จการในยุโรป เกิดทฤษฎีและรูปแบบของนายทหารประจําการ ซึ่งจะสร้างสรรค์ อํานาจเผด็จการและใช้ความรุนแรงในรูปแบบใหม่

ช่วงที่ 2 เมื่อสงครามโลกครั้ง 2 สงบ แนวทางการศึกษาบทบาททางการเมืองของทหารได้ มุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ทหารได้พัฒนาตนเองในลักษณะของทหารอาชีพ

ช่วงที่ 3 มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในสังคมกําลังพัฒนาในเชิง เปรียบเทียบเกี่ยวกับสาเหตุผลักดันให้ทหารใช้อํานาจเข้าแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักวิชาการ ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุสําคัญมาจากความล้มเหลวของการปกครองแบบรัฐสภาและความไม่มี ประสิทธิภาพในการปกครองของรัฐบาลพลเรือน

ช่วงที่ 4 แนวการศึกษาที่มุ่งวิเคราะห์บทบาทของ “ทหารอาชีพ” ในประเทศตะวันตก – เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาบทบาทของทหารในประเทศกําลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของทหารซึ่งอาจจะ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมือง

ช่วงที่ 5 มีการนําเอารูปแบบของการศึกษาที่เชื่อว่า “ทหารเป็นนักพัฒนาหัวก้าวหน้าและ เป็นสมัยใหม่” มาใช้อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของประเทศกําลังพัฒนา โดยให้ความสําคัญแก่บทบาททหาร ต่อกระบวนการการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสมัยใหม่ และการพัฒนาการเมือง

ช่วงที่ 6 ทหารมีบทบาทเป็นองค์กรที่คอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาทางการเมือง จึงเริ่มหันมาให้ ความสนใจศึกษาและค้นคว้าหามาตรการที่จะทําให้ทหารเป็นพลเรือนมากขึ้น ซึ่งนักวิชาการเริ่มให้ความสนใจ กับปัญหาการก้าวออกจากอํานาจ และผลักดันให้ทหารกลับไปเป็นทหารอาชีพตามเดิม

สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

1 ความเปราะบางของรัฐบาลพลเรือนทําให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้โดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม มีการทุจริตการเลือกตั้ง ผู้นําพลเรือนมีความอ่อนแอขาดประสิทธิภาพ ในการบริหารประเทศ การปกครองระบอบประชาธิปไตยล้มเหลว ประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ปัญหาได้

2 องค์กรของทหารมีการจัดองค์กรที่เป็นระเบียบและเข้มแข็ง และมีอาวุธอยู่ในมือ ทําให้ สามารถแทรกแซงทางการเมืองได้ดีกว่ากลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มอื่น

3 ทหารมีผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองซึ่งอาจจะขัดกับรัฐบาลพลเรือน เมื่อรัฐบาลพลเรือน ไม่ทําตามที่ทหารต้องการหรือขัดกับผลประโยชน์ของทหาร ทหารก็มีแนวโน้มจะเข้าแทรกแซงได้

4 ทหารมีความทะเยอทะยานส่วนตัวและต้องการขึ้นสู่อํานาจทางการเมือง ซึ่งในบางครั้ง ทหารมักถูกใช้ให้ทําหน้าที่ปราบปรามจลาจลแทนตํารวจ ทําให้โอกาสของการใช้กําลังรุนแรงในการล้มรัฐบาล ทําได้ง่าย

5 เกิดช่องว่างทางสังคม เป็นผลให้ทหารต้องเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เพราะผู้นํา พลเรือนมัวแต่แย่งชิงอํานาจกัน ทําให้ไม่รู้ว่าอํานาจแท้จริงเป็นของใคร

6 ทหารไม่ยอมรับอํานาจและความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน

7 ประชาชนไม่ตื่นตัวทางการเมือง เป็นต้น ฃ

แนวทางแก้ปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

1 กลไกด้านสังคม สังคมต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กล่าวคือ สังคมต้องสร้างองค์ความรู้ ในเรื่องกิจการทหาร และการป้องกันประเทศให้แก่สังคม ซึ่งถือเป็นวิธีหนึ่งในการทําให้สังคมมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพราะหากสังคมไม่มีความเข้มแข็งแล้ว การทําประชาธิปไตยให้เข้มแข็งคงเป็นไปได้ยาก

2 กลไกด้านการเมือง กล่าวคือ ต้องสร้างความเป็นสถาบันให้เกิดแก่องค์กรในสังคมการเมือง โดยคาดหวังว่า เมื่อสถาบันมีความเข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง ซึ่งทําให้โอกาสที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาท ในการแทรกแซงการเมืองโดยตรงอย่างในอดีตจะเกิดขึ้นได้ยาก

3 กลไกการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ การพัฒนากองทัพด้วยการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่สิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยจะยอมรับไม่ได้ แต่ต้องให้สังคมมีส่วนเข้ามารับรู้ สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส หรือสร้างกําลังพลในกองทัพให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นทหารอาชีพ ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับ การเมือง การให้ความรู้แก่ทหารจะทําให้ทหารมีความเข้าใจในเรื่องของกิจการทหาร ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพมี ความเข้มแข็งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก

 

ข้อ 4 ให้นักศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และนักศึกษามีข้อเสนออย่างไรเพื่อนําไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่มั่นคงยั่งยืนต่อไป ในอนาคต

แนวคําตอบ

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาจะครบ 86 ปี ใน พ.ศ. 2561 นับตั้งแต่ เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 พบว่าคนไทยจํานวนมากยังขัดแย้งกันทั้งในเรื่องวิธีการและเป้าหมาย ของประชาธิปไตยอยู่ ซึ่งความไม่ชัดเจนในเรื่องประชาธิปไตยนี้เองได้ส่งผลต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง และยังเป็นอุปสรรคสําคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสําหรับสังคมไทย

ปัญหาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

การเป็นรัฐอุปถัมภ์ คือ การผูกขาดอํานาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 เป็นการถ่ายโอนอํานาจจาก ระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ เป็นรัฐใหม่ที่ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมหรือประชาธิปไตยบนความแข็งแกร่งของระบบ ราชการที่มีอยู่ก่อนแล้ว ความจําเป็นของระบอบใหม่ที่ต้องมีผู้นําจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงถูกใช้เพื่อสร้าง ความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังคงผูกขาดอํานาจและบทบาทไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ประชาชน จึงถูกครอบงําและถูกกํากับเพียงทําหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เสียภาษีและไปเลือกตั้ง ทําให้ประชาชนโดยทั่วไป เข้าใจว่า “ประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้ง” เป็นเพียงพลเมืองที่ผู้มีหน้าที่ตามที่รัฐกําหนดให้ จึงยังไม่มีพลเมือง ที่ไปมีส่วนร่วมในการกําหนดการมีอํานาจและการสืบทอดอํานาจทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึง จํากัดอยู่เพียงระดับการเลือกตั้ง นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางสังคมของประชาชนก็มีขอบเขตจํากัด อยู่เพียงการไปเข้าร่วมในโครงการของทางราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จึงทําให้ ประชาชนถอยห่างจากการเมือง และคอยรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งเป็นลักษณะของประชาชนที่ อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้ที่เหนือกว่า และขาดความเชื่อมั่นในการพึ่งตัวเอง

แม้ว่าจะมีการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นนับตั้งแต่ปี 2540 แต่การกําหนดอํานาจ ดังกล่าวนี้มิได้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและกําหนดจากประชาชนในท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอํานาจหน้าที่ และการเงิน การคลัง ทําให้อํานาจของท้องถิ่นยังถูกยึดโยงอยู่ที่อํานาจส่วนกลาง นั่นคือ นักการเมืองในส่วน ปกครองท้องถิ่นเองก็มีพฤติกรรมทางการเมืองไม่แตกต่างจากส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้งระดับชาติ ทําให้เกิด ระบบอุปถัมภ์ใหม่กดทับความอ่อนแอของประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นผู้ขาดอํานาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมนี้ ยังได้ มีการกําหนดและบงการความสัมพันธ์อาณาบริเวณของการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มิได้กระตุ้นส่งเสริม พลังต่าง ๆ ในประชาสังคม หากแต่จํากัดและควบคุมโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง อันเป็นการแยกประชาสังคมออกจากการเมือง และมีผลทําให้ เฉื่อยชาและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังคงเป็นข้อปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

1  การใช้อํานาจและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยจึงมีอยู่มากในระบบราชการ เช่น การมี เส้นสายเพื่อเข้าสู่ตําแหน่งมากกว่าพิจารณาจากความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในปัจจุบันจะเห็นว่านักการเมือง ที่อยู่ในอํานาจจะมีอิทธิพลสูงและใช้อํานาจของตนในการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างความ เหมาะสมเมื่อประเทศไทยเร่งรัดพัฒนาประเทศเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เกิดวัฒนธรรมบริโภค นักธุรกิจมุ่ง

หากําไรอย่างขาดสติ นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ใช้อํานาจทางการเมืองหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง ทําให้การเมือง กลายเป็นเรื่อง “ธุรกิจการเมือง” เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งธุรกิจและการเมือง และมีการคอร์รัปชั่นง่าย และมากขึ้น จนทําให้เรื่องคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้

2 การรัฐประหาร ถือเป็นสาเหตุสําคัญที่ไม่อาจนําไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ของไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการทหาร หรือ “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ. 2475 โดยพบว่าคณะรัฐประหารทุกยุคมักแสดงท่าที่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย หลังการ รัฐประหารจึงสนับสนุนให้เกิดสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ทั้งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง แต่ปัญหาของเผด็จการก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทาง การเมือง อีกทั้งยังเป็นการทําลายหรือสกัดกั้นกระบวนการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และเป็นการผลิตซ้ํา ๆ ของเผด็จการทหารให้แก่การเมืองของคนไทยอีกด้วย

– ดังนั้นวงจรรัฐประหารจึงเปรียบเสมือนวงจรเผด็จการที่หล่อเลี้ยงไว้ด้วยวัฒนธรรม อํานาจนิยม (Authoritarian Culture) โดยพยายามสร้างและรักษาความชอบธรรมทางการเมืองจากความ อ่อนแอและขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ถูกล้มเลิกไป เมื่อสถานการณ์เอื้ออํานวยจากความอ่อนแอของสถาบัน การเมืองทั้งหลาย รวมทั้งพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของนักการเมืองนั่นเอง

3 การศึกษา กล่าวคือ การศึกษาไทยมักถูกออกแบบและกํากับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นําทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตก็ได้เน้นการกล่อมเกลาให้ราษฎรได้เข้าใจหน้าที่ของตนเพื่อ ตอบสนองต่อรัฐโดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาในเมืองหลวงจึงเน้นหนักไปในการสร้างคนเพื่อรับใช้ กลไกหลักของรัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ขณะที่การขยายการศึกษาไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศเป็นการสร้าง พลเมืองที่ดี การจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเช่นนี้ได้ละเลยความสําคัญของความเป็นชุมชน ความเป็น พหุสังคมที่มีศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันในประเทศ ด้วยเหตุนี้ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแบบวิถีชุมชนเพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งทําให้ชุมชนอ่อนแอและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ขาดความเสมอภาค และเท่าเทียมในพื้นที่ที่ห่างไกล

นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในระยะยาวนั้น เป็นการสอน ตามความสนใจของผู้สอนที่มุ่งป้อนวิชาความรู้เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อฟัง จดจํา และทําตาม ไม่ได้ฝึกฝนให้ทําและ นําไปคิด เพื่อนําสู่การปฏิบัติและแสดงออก เป็นการเน้นวิชาการแต่ขาดการส่งเริ่มทักษะทางสังคม ผู้เรียนจึงถูก แยกส่วนออกจากอาณาบริเวณทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถเชื่อมโยงบทบาทของตนกับสังคม ภายนอกได้ และไม่สามารถสร้างจิตสํานึกของการเป็นเจ้าของสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ และไม่มีความพร้อมที่จะ รับผิดชอบในภายภาคหน้า การศึกษาทําให้คนไทยรู้จักแต่เพียงการเลือกตั้งและรูปแบบการปกครอง แต่ยังขาด ทักษะชีวิต การคิด การใช้ชีวิตในแบบสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการการแสดงออกถึงวุฒิภาวะในการใช้ความคิด การมีเหตุมีผล การมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นได้จริง

การศึกษาที่รวมศูนย์อํานาจไว้ที่รัฐบาลยังส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อย เข้าใจบทบาทของรัฐบาลที่มีต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่สนใจเรื่องส่วนร่วม นักเรียนจึงมุ่งแข่งขันกันเรียน มุ่งหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น ทิ้งภาระทางสังคมการเมืองไว้กับนักการเมือง อันเป็นค่านิยมของ การบูชายกย่องผู้มีความสําเร็จทางเศรษฐกิจ มากกว่าการให้ความสําคัญกับการสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม ที่พร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม

4 สถาบันครอบครัว กล่าวคือ การเลี้ยงดูเด็กของคนไทยนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่เราจะสอนเด็กแบบอํานาจนิยม ใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่เด็กต้องเชื่อ ฟังและปฏิบัติตามโดยขาดเหตุผล ต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่ พ่อ แม่ และผู้อาวุโสทุก ๆ คนที่อยู่ในครอบครัว ไม่รู้จัก รับผิดชอบตัวเอง ไม่มีวินัย จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ติดกับคตินิยมที่ว่า “เด็กดีคือผู้ที่เชื่อฟัง ผู้ใหญ่”

การอบรมเลี้ยงดูนั้นจะช่วยสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็ก ด้วยการสร้าง สมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพ ความรับผิดชอบและความมีวินัย โดยเฉพาะการสร้างนิสัยให้เป็น “ผู้มีวินัย” ที่ ควบคุมตัวเองได้ เพราะวินัยถือเป็นสิ่งสําคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองตนเอง ดังนั้นถ้าประชาชนขาดความรับผิดชอบและไม่มีวินัยแล้ว ย่อม หมายถึงการไม่สามารถบังคับหรือควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบ กติกาที่ตนเองและผู้อื่นร่วมกันกําหนดขึ้นได้ ซึ่ง ส่งผลทําให้ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองอย่างเหมาะสมได้เช่นกัน การเป็นผู้มีวินัยนั้นยังเป็นผู้ที่มีความ ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน คือ มีความรับผิดชอบต่อสถานภาพต่าง ๆ ที่ตนเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของชุมชน ของครอบครัว และพลเมืองของประเทศ ดังนั้นการมีวินัยจึงมีความจําเป็นมากสําหรับสังคมไทย เพราะคนไทย โดยทั่วไปนั้นมักขาดวินัย ดังคํากล่าวที่ว่า “ทําอะไรตามใจคือไทยแท้” และชอบหลบหลีกกฎหมายหรือระเบียบ ของสังคม เช่น การฝ่าฝืนกฎจราจร การหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น

แนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้มีความมั่นคงยั่งยืน

1 พัฒนาความรู้ความเข้าใจและเจตคติให้แก่ประชาชนทุกระดับ ในการเรียนรู้และฝึกฝน ทักษะการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งประชาชนจะต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกอิทธิพล ของใครชักจูง กระบวนการเรียนรู้นี้ต้องถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย และพัฒนา ให้มีความลึกซึ้งมากขึ้นในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ครูผู้สอนในสถานศึกษาทุกระดับจะต้องเป็นกลไกสําคัญในการ

หล่อหลอมเยาวชนไทยให้เข้าใจและมีเจตคติที่ถูกต้องในเรื่องประชาธิปไตย การเผยแพร่ความรู้ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องทําควบคู่กันไป เพราะหลักการของประชาธิปไตยนั้นประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของสิทธิ หรือ เป็นเจ้าของเสียงในการเลือก “คน” ที่จะมาทําหน้าที่แทนตน

2 ฝึกฝนการเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจให้กับประชาชนทุกระดับ เพราะการเข้าร่วมใน กระบวนการตัดสินใจเป็นลักษณะสําคัญประการหนึ่งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และเป็นสัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนทราบถึงความต้องการของตนเองและนักปกครองไม่สามารถละเลยความต้องการนี้ได้ การฝึกเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจควรหล่อหลอมตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยบูรณาการให้เข้า กับวิถีของคนในชุมชนและฝึกจนเป็นปกติวิสัย ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนทาง การเมืองและมีความรู้สึกเป็นอิสระในรตัดสินใจ ประชาชนจะรู้สึกเป็นนายของตัวเองเพิ่มขึ้น และเมื่อเขา เหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของประเทศ สํานึกในความเป็นประชาธิปไตยจะช่วยจรรโลงให้เกิดความยั่งยืน ในสังคม

3 ผู้บริหารประเทศต้องยึดขันติธรรมทางการเมือง ความยั่งยืนของการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยไม่ใช่การยึด “เสียงข้างมาก” ว่าเป็นฝ่ายถูกต้อง หรือมีสิทธิและอํานาจในการลิดรอนเสรีภาพหรือ คุกคามกลุ่มเสียงส่วนน้อย เพราะการกระทําดังกล่าวจะทําให้กลุ่มเสียงข้างน้อยไม่ได้รับประโยชน์ นํามาซึ่งความ ไม่สงบสุขของประเทศได้ ดังนั้นหลักขันติธรรมทางการเมืองจึงหมายถึงการยอมรับความหลากหลายในสังคม ไม่ปล่อย ให้เสียงข้างมากกดขี่กลุ่มเสียงข้างน้อย โดยผู้บริหารประเทศต้องมีการส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม การยอมรับ ความแตกต่างของกันและกัน โดยเฉพาะความแตกต่างด้านความรู้สึกนึกคิด และการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น

ตราบใดที่ความแตกต่างนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือสังคม ผู้มีวัฒนธรรมทางการเมืองย่อมแสดง ความอดกลั้น และเคารพในความแตกต่างของผู้อื่นได้ ซึ่งจะนําไปสู่การสร้างเอกภาพในความแตกต่างของการอยู่ ร่วมกันในสังคม

4 การจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้การศึกษาตอบสนองความเป็นอยู่ในชีวิตประจําวันมากขึ้น โดยขยายฐานการศึกษาที่ไร้ขีดจํากัด กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเป็นธรรม ทั้งกลุ่มเยาวชน หรือบุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน การศึกษาต้องเปิดโอกาสสําหรับบุคคลทุกช่วงอายุและทุกสถานะ เพราะเมื่อ บุคคลได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจในการแก้ปัญหา หรือลงความเห็น ต่าง ๆ จะเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

5 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส สถาบันของรัฐหรือนักปกครองต้อง รับผิดชอบการกระทําของตน นอกจากจะต้องรับผิดชอบในการทํางานเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว ยังต้อง รับผิดชอบต่อฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระ และรับผิดชอบต่อสถาบันกลางอื่น ๆ ที่ทําหน้าที่ในการตรวจสอบ การทํางานของรัฐบาล เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากนโยบายที่แท้จริง ป้องกันการตกอยู่ในภาวะ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียผลประโยชน์ที่ตนพึงได้รับ

6 มีการกระจายอํานาจเพื่อไม่ให้อํานาจกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทําให้ ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับการตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสมตามสิทธิอันพึงได้รับ เกิดการกระจาย ของงบประมาณ อันจะส่งผลต่อการกระจายทรัพยากร การพัฒนาสาธารณูปโภค การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนา สุขภาพ และการพัฒนาการศึกษา ทําให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงใน กระบวนการประชาธิปไตย เปิดโอกาสในการพัฒนาการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะเอื้อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มคน ของภาคส่วนนั้น ๆ มีการจัดตั้งกลุ่มประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นกลไกสําคัญที่ทําให้ประชาธิปไตยดําเนินต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มประชาสังคมได้อย่างราบรื่น ย่อมเป็นการลดช่องว่างระหว่าง ภาครัฐและประชาชนได้ การขับเคลื่อนประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนา ประชาธิปไตยที่มั่นคงยั่งยืนนั่นเอง

POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ s/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 4 ข้อ คาดหวังคําตอบเป็นข้อเขียนแสดงความรู้ ความคิด และยกตัวอย่าง

ข้อ 1 การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบมีลักษณะความเป็นมาอย่างไร ?

ศึกษาอย่างไรได้บ้าง ?

มีประโยชน์อย่างไร ? มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไร ?

ทําการเปรียบเทียบอะไรบ้าง ?

มีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ อย่างไร ?

มหกรรมหรือกิจกรรมโลกเปรียบเทียบอะไรบ้าง ?

แนวคําตอบ

ลักษณะความเป็นมาของการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ

ในสมัยกรีกตอนต้น นักปรัชญาการเมืองเช่น อริสโตเติลได้ใช้เทคนิคการศึกษาเปรียบเทียบ รูปแบบของรัฐบาลและแนวทางการปกครองของนครรัฐต่าง ๆ เช่น เอเธนส์ สปาร์ต้า เป็นต้น โดยมีการรวบรวม รัฐธรรมนูญของนครรัฐต่าง ๆ ถึง 158 รัฐธรรมนูญด้วยกัน และได้ทําการจัดลําดับขั้นพื้นฐานของรัฐบาลในรูปแบบ ต่าง ๆ เช่น รัฐบาลที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง การปกครองแบบอภิชนาธิปไตย และการปกครองแบบประชาธิปไตย ในเวลาต่อมานักรัฐศาสตร์คนสําคัญ ๆ เช่น โพลิเบียส และซิซิโรได้ถ่ายทอดความรู้จากกรีกเป็นภาษาโรมันโดยใช้ การเปรียบเทียบ โดยโพลิเบียสได้เน้นถึงคุณค่าของรูปแบบการปกครองที่มีการผสมผสานกันโดยรวมเอารูปแบบ ทั้ง 3 ที่อริสโตเติลนําเสนอเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการนําหลักกฎหมายธรรมชาติและหลักความยุติธรรมเข้ากับแนวคิด ตามแบบฉบับกฎหมายโรมัน

– ในสมัยกลาง นักรัฐศาสตร์ เช่น มาเคียเวลลี่ ได้นําแนวการศึกษาเปรียบเทียบที่อริสโตเติล เคยศึกษามาวิเคราะห์ใหม่ โดยใช้แนวการเขียนแบบรัฐศาสตร์ยุคใหม่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็คือ การใช้หลักการสังเกต การเมืองในรัฐต่าง ๆ และบางรัฐในยุโรป โดยมีสมมุติฐาน คือ มีปัจจัยอะไรที่ทําให้รัฐมีความมั่นคง และผู้ปกครอง มีความสามารถในการปกครอง

ในศตวรรษที่ 18 นั้น มองเตสกิเออ ได้ศึกษาธรรมชาติของเสรีภาพที่มนุษย์จะพึงมี โดยเสนอ หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation of Power) การสังเกตระบบการปกครองของอริสโตเติล และใช้หลักการ จัดลําดับชั้น (Classification) ของระบบการเมืองต่าง ๆ

ในศตวรรษที่ 19 นั้น มีการศึกษาเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์เกิดขึ้น และมีการนําหลักการ พัฒนาทางการเมืองมาเป็นแนวในการศึกษาเปรียบเทียบ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบจะเน้นในเรื่องหน้าที่และ ขอบเขตของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ มาเป็นตัวประกอบในการศึกษา แม้ว่าการศึกษาหน้าที่และขอบเขตของรัฐบาล ในประเทศต่าง ๆ จะมีลักษณะเดิมคือ นําเอาหลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และโครงสร้างของรัฐบาลมาใช้วิเคราะห์ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวใหม่ที่สําคัญของรัฐศาสตร์เปรียบเทียบในยุคหลังสงคราม

สําหรับในปัจจุบันนั้นนักรัฐศาสตร์ทางการปกครองเปรียบเทียบสนใจที่จะศึกษาวิธีการ เปรียบเทียบมากกว่าที่จะมุ่งศึกษาถึงความเป็นมาของการปกครองเปรียบเทียบและทฤษฎีทางการเปรียบเทียบ

ลักษณะการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามา เปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความ แตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น การเมืองการปกครองของไทยและของพม่า ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ระบบการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบบประชาธิปไตยแบบ รัฐสภา ในขณะที่ระบบการเมืองการปกครองของพม่าเป็นระบบรวมศูนย์อํานาจโดยรัฐบาลทหาร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะเรื่องการเมืองไทยเพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องการเมือง ของประเทศอื่น ในการเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

– หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) คือ กรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบ นั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร หรือสถาบัน รวมไปถึงกลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) พฤติกรรมต่าง ๆ และกลุ่มประเทศ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่างและใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับ ตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาทองค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน

ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น การนําเอาพรรคการเมืองเป็นหน่วยการวิเคราะห์ ทางการเมือง โดยเปรียบเทียบในแง่โครงสร้างของพรรคการเมืองหรือดูในเรื่องนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง หรือ ดูในเรื่องอุดมการณ์ของแต่ละพรรคการเมือง หรือดูในแง่ของความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง เป็นต้น

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

(1) ระดับชาติ คือ ส่วนกลาง โดยมีรัฐบาลกลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหัวใจสําคัญและเป็นหลักของการบริหารประเทศ

2) ระดับภูมิภาค คือ ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดและอําเภอ

3) ระดับท้องถิ่น คือ ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล, กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะทําให้ – ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similar ties) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้างกรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการศึกษาข้อมูลของประเทศพม่าเกี่ยวกับ บทบาทของนักศึกษา ข้อมูลที่ได้จะต้องมีการจัดระเบียบในเรื่องของขบวนการนักศึกษาก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เคยเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ มีผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับบทบาทของนักศึกษาไทยก็ได้ แต่จะต้อง ใช้ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

ประโยชน์ของการศึกษาเปรียบเทียบ

1 ทําให้เราสามารถศึกษาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถลงในรายละเอียดของการศึกษา เปรียบเทียบ และช่วยให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

2 ทําให้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้น อันจะนําไปสู่การศึกษาและเกิดการพัฒนาในองค์ความรู้ จากระดับประเทศไปยังระดับนานาชาติ หรือระดับสากลต่อไป

3 ทําให้ได้รับการยอมรับและสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศที่ดี รวมทั้งยังเป็น แนวทางในการศึกษาให้กับการพัฒนากระบวนการศึกษาเปรียบเทียบให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

4 ช่วยเสริมสร้างให้กับวิชารัฐศาสตร์มีชีวิตชีวา เกิดการปะทะสัมพันธ์ของนักวิชาการ ทางสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จํากัดแต่นักรัฐศาสตร์ และที่สําคัญได้สร้างและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นระบบขึ้น รวมทั้งยังสามารถให้การอธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรทางสังคมศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน

ขั้นตอนกระบวนการของการศึกษาเปรียบเทียบ

ในขั้นตอนกระบวนการของการศึกษาเปรียบเทียบนั้น นักวิชาการการเมืองเปรียบเทียบได้ พยายามสร้างเอกลักษณ์ของการศึกษาเปรียบเทียบ โดยพิจารณาจากพื้นฐานความคิดทางตะวันตกหลาย ๆ ด้าน ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเชิงประจักษ์ โดยเห็นว่าระเบียบวิธีการแสวงหาความจริงใน สังคมนั้นเกิดจากการสัมผัสของประสาททั้ง 5 เป็นสําคัญ ซึ่งเป็นสาระสําคัญของวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นที่การทดลองและการสังเกตเป็นสําคัญ

สิ่งที่มักนํามาทําการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบพรรคการเมืองในยุคต่าง ๆ

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบตุลาการในยุคต่าง ๆ

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. และ อบจ.

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบชนชั้นในยุคต่าง ๆ

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารในยุคต่าง ๆ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสื่อมวลชนในยุคต่าง ๆ

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวัฒนธรรมการเมืองในยุคต่าง ๆ

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคต่าง ๆ

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้งในยุคต่าง ๆ เป็นต้น

 

ในส่วนของความเป็นศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ (Science) นั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือเป็น สังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัยรูปแบบ แบบแผน พฤติกรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคมหรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบการเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุด เครื่องมือหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

มหกรรมหรือกิจกรรมโลกเปรียบเทียบเน้นศึกษาในประเด็นที่สําคัญ 3 เรื่อง คือ

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาใน ด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการ เรียนรู้ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร – เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึง ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และ รวมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และหลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและ การกระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้น ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ํา ดิน ฟ้า อากาศทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม – ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

 

ข้อ 2 โครงสร้าง (Structure) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

หน้าที่ (Function) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

และให้เขียนอธิบายลักษณะการทําหน้าที่ของระบบการเมือง โดยยกรูปแบบแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ซึ่งพัฒนาเป็นทฤษฎีระบบของ Gabriel Almond หรือ David Easton เลือกทําเพียงหนึ่งแนวคิดเท่านั้น

แนวคําตอบ

โครงสร้าง (Structure) คือ แบบแผนของกิจกรรมที่ทํากันสม่ำเสมอ โดยผู้ที่กระทํากิจกรรมจะ มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมบทบาทของกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เป็นโครงสร้างนั้น ๆ เช่น โครงสร้าง ของรัฐสภา ประกอบด้วย ประธานสภา รองประธานสภา เลขาธิการ และสมาชิก ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีบทบาทแตกต่าง กันไป แต่เมื่อเรารวมเอาบทบาทของส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้โครงสร้างของรัฐสภานั่นเอง

 

ลักษณะของโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1 โครงสร้างที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น อุดมการณ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม ความชอบ ทัศนคติ ความงมงาย การรับรู้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกฝังหรือถ่ายทอดที่ค่อนข้างยาวนาน และมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นจึงทําให้โครงสร้างที่เป็น นามธรรมมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเมื่อใด ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้วก็จะยังคงอยู่

2 โครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ หรือสัมผัสได้ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นต้น ซึ่งถือเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข ปรับปรุงได้ง่ายกว่าโครงสร้างที่เป็นนามธรรม กล่าวคือ ถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็สามารถกระทําได้ทันที

3 โครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งบังคับให้เรา คิดอยากจะทําหรือไม่ทําให้ชอบหรือไม่ชอบ ให้เชื่อหรือไม่เชื่อ โดยทั่วไปแล้วมักแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ของโครงสร้าง เหล่านั้นเสมอ ตัวอย่างของโครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เช่น กฎหมาย ประกาศ คสช. สัญลักษณ์ สถาบัน (ศาลรัฐธรรมนูญ) กลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

หน้าที่ (Function) คือ กิจกรรม (Activity), วัตถุประสงค์ (Purpose) และผลที่ตามมา (Consequence) หรือในบางครั้งอาจหมายถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้อธิบายถึงคุณค่า ในตัวของมันเอง หรือเป็นคุณค่าที่เกิดตามตัวแปรอื่นก็ได้ โดยนักสังคมศาสตร์ได้สรุปเกี่ยวกับหน้าที่ไว้ 3 ประการ ดังนี้

1 หน้าที่คือการศึกษาระบบทั้งระบบ เช่น ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยถือว่าระบบต่าง ๆ เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis)

2 หน้าที่นิยมจะมีความสําคัญมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป เมื่อเป็นดังกล่าวหน้าที่ บางอย่างจึงมีความจําเป็นสําหรับระบบทั้งหมด (The Whole System)

3 หน้าที่บางประการมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependent) ต่อโครงสร้าง หลาย ๆ โครงสร้าง กล่าวคือ หลายระบบต้องพึ่งพิงจากหน้าที่ดังกล่าว

ลักษณะทั่วไปทั้ง 3 ประการของหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้นักสังคมศาสตร์เห็นว่าในระบบใด ระบบหนึ่งเป็นระบบสังคมหรือระบบการศึกษา ต่างก็มีหน้าที่หลักของแต่ละระบบอยู่ เช่น ในระบบหนึ่ง ๆ ก็จะต้อง มีวัฒนธรรมทําหน้าที่เป็นองค์ประกอบให้ระบบสังคมนั้น ๆ ดํารงอยู่ได้ วัฒนธรรมดังกล่าวอาจประกอบไปด้วย ภาษา ศาสนา ฯลฯ

แนวคิดทฤษฎีระบบของ Gabriel Almond

Almond เห็นว่า ระบบ (System) มีความสําคัญกว่ากระบวนการ (Process) ทางการเมือง เช่น หน่วยทางการเมืองต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

Almond เชื่อว่า ถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออก ของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับกฎหมายและ พิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมาสนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มีการปะทะสัมพันธ์ ในระบบการเมือง และแบบแผนของการปะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั้นเอง

จากประเด็นดังกล่าวนั้นจึงเป็นจุดเริ่มทางความคิดของทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ที่ Almond ได้ นําเสนอและเป็นหน่วยใหม่ในการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ โดย Almond เสนอ “ระบบการเมือง” แทนความหมายเก่า ทางรัฐศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิม คือ รัฐธรรมนูญ เหตุผลก็เพื่อเลี่ยงการศึกษารัฐศาสตร์ยุคเดิมที่มุ่งแต่ศึกษาแนวกฎหมายและ สถาบันเป็นสําคัญ นอกจากนี้ Almond ยังได้กําหนดคุณลักษณะของการเปรียบเทียบระบบการเมืองไว้ 4 ประเด็น คือ

1 ในระบบการเมืองทุกระบบต่างก็จะต้องมีโครงสร้างทางการเมือง

2 มีหน้าที่ปฏิบัติเหมือนกันในทุก ๆ ระบบการเมือง

3 โครงสร้างทางการเมืองทุกระบบมีลักษณะที่เรียกว่า “ความหลากหลายของหน้าที่”

4 ในระบบการเมืองทั้งหมดจะมีการผสมผสานในหลาย ๆ วัฒนธรรม

Almond เห็นว่า ระบบการเมืองเป็นการศึกษาถึงขอบเขตทั้งหมดของกิจกรรมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละแห่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบการเมืองจะมีหน้าที่หลายประการ ทั้งนี้เพราะระบบการเมือง เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการใช้อํานาจลงโทษ หรือบังคับสมาชิกของระบบการเมือง ซึ่งหน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1 หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนด นโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู่ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนั้น Almond ยังมีความเห็นสอดคล้องกับความคิดของ Easton นั่นคือ การเรียกร้อง และการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่น

ต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่า

ไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

– การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดยไม่บิดพลิ้ว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้ง

พิธีการของสังคม

จะเห็นได้ว่า ทั้งข้อเรียกร้องและการสนับสนุนรัฐบาล ล้วนเป็นเรื่องของการกําหนดนโยบาย สาธารณะของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น นอกจากนี้ Almond ยังเห็นว่า ระบบการเมือง ทุกระบบจะต้องมีปะทะสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ

1 สิ่งแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพทรัพยากรของประเทศ ระบบการศึกษา ระบบเทคนิควิทยาของประเทศ

2 สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ การทูต สงคราม การค้าระหว่างประเทศ การสื่อสารระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

แนวคิดทฤษฎีระบบของ David Easton

David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างระบบที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และพฤติกรรมของระบบการเมืองได้

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) หมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เข้าสู่ระบบเพื่อ ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและตัดสินใจออกมาในรูปของนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยนําเข้านี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) หมายถึง การที่สมาชิกของสังคมการเมืองให้การสนับสนุน ระบบตลอดจนการดําเนินการของระบบการเมือง ซึ่งการให้การสนับสนุนนี้อาจจะอยู่ในรูปของการแสดงออกที่สามารถ เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบของบ้านเมือง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น โดยการ สนับสนุนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั่นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะ ให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั้นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นได้

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

2 ระบบการเมือง (System) หรือผู้ตัดสินใจ ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา (ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) เป็นผลของการตัดสินใจของผู้มีอํานาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การจัดสรรสิ่งที่มีค่าในระบบการเมืองนั้น ซึ่งสาเหตุของการเกิด Output อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

(1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบการเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ํา อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั่นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

-สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้างชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ

– สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผล

– การร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

– สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ําของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

หมายเหตุ นักศึกษาเลือกตอบนักคิดคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 

ข้อ 3 การพัฒนาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?

สังคมการเมืองไทยมีการพัฒนาที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไร ?

ใช้สิ่งใดเป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนา ?

ทันสมัยแต่ด้อยพัฒนาคืออะไร ?

จงอธิบายและเสนอมาตรการที่ควร ดําเนินการเพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาทางการเมืองไทยอย่างแท้จริง (ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี, ไทยแลนด์ 4.0 ฯลฯ)

แนวคําตอบ

การพัฒนาที่แท้จริง คือ กระบวนการที่ทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ยังทําให้เกิดการกระจายรายได้ ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค นั่นคือ ประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน และนําไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยถ้วนหน้า

ในสังคมไทยนั้นถือว่ายังไม่มีการพัฒนาที่แท้จริง แม้ว่าประเทศไทยจะมีการใช้แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้วหลายฉบับก็ตาม กล่าวคือ การทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยพบว่า ไม่มีการกระจายรายได้ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งยังไม่ได้ให้ความสําคัญในเรื่องของการพัฒนาคนเท่าที่ควร

ดัชนีชี้วัดการพัฒนา ได้แก่

1 ความมั่นคงทางการเมือง หรือบางครั้งอาจใช้คําว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” ก็ได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก

– ความต่อเนื่องของระบบการเมือง ซึ่งเราพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีความ มั่นคงทางการเมือง มักจะมีความต่อเนื่องทางการเมือง ไม่มีการแทรกแซงของทหาร กลไกทางการเมืองดําเนินไป ตามกฎหมายที่กําหนดไว้ ขณะที่การเมืองในประเทศที่กําลังพัฒนามักมีปัญหาเรื่องของการแทรกแซงของทหาร หรือถูกแทรกแซงจากภายนอกซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขทางการเมือง

– ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มักถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางการเมืองเสมอ เนื่องจากประเทศใดที่มีเศรษฐกิจไม่ดี มีคนว่างงานจํานวนมาก รายได้ของประชาชนน้อยลง สินค้ามีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเสถียรภาพหรือความมั่นคงทางการเมืองย่อมลดลงถ้าเศรษฐกิจตกต่ํา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตค่อนข้างสูงก็จะทําให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลมีมากเช่นกัน

– สังคม ปัญหาสังคมมักเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และนําไปสู่ปัญหาทาง การเมืองของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาของยาเสพติด ปัญหาของคนว่างงาน ปัญหาของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2 สถาบันทางการเมือง

– รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญของ ประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญจะเป็นตัววางกรอบโครงสร้างทั้งหมดทางการเมืองที่จะพูดถึงในเรื่องสิทธิ อํานาจหน้าที่ และที่มาของสถาบันตัวอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกทางการเมืองในแบบต่าง ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความชอบธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและวิถีการดําเนินชีวิตของคนในชาติ นอกจากนี้จะต้องไม่มีความเอนเอียง หรืออํานวยประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกยับยั้งและเกิดการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อต่อต้าน ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่ดีจึงก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

– สภา ถือเป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งเราให้ความสนใจในเรื่องที่มาและอํานาจหน้าที่ ของสภาว่ามีอะไรบ้าง สมาชิกมาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้ง สัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. เป็นเท่าใด สิ่งเหล่านี้ จะถูกนํามาพิจารณาทั้งสิ้น นอกจากนี้เรายังมองไปถึงพฤติกรรมของสมาชิกในสภาว่ามีลักษณะเช่นไร

– พรรคการเมือง ถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรค ที่มีนโยบายและอุดมการณ์ของตนเองได้มีบทบาทในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนให้กับ ประชาชนเข้าไปทําหน้าที่ในสภา พรรคการเมืองที่มีโอกาสทําหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องรู้จักวางแนวทางในการ ทําหน้าที่เมื่อเป็นรัฐบาล มีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ ของประเทศชาติเสมอ

3 การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ประเทศมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา การเมืองก็มักจะขับเคลื่อนไปได้ยาก ฉะนั้นถ้าประเทศใดก็ตามที่มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการศึกษาที่ดี และมีความรู้ การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ถ้า ประเทศใดมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา ประชาชนอดอยาก ขาดการศึกษา การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ง่าย ดังนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาทางการเมืองจึงมักจะถูกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสมอโดยทั้ง 2 ตัวแปรมักแยกกันไม่ออก เป็นต้น

“ทันสมัยแต่ด้อยพัฒนา” คือ ลักษณะของการทําตามสมัยที่นิยมกัน หรือกลุ่มชนในแต่ละยุค แต่ละสมัยในการดํารงชีวิต เช่น การแต่งกาย การใช้สอย การกิน การปฏิบัติตน ฯลฯ ซึ่งคนที่ทําตามกันนี้จะเรียกว่า คนทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันกลับหาเนื้อหาสาระสําคัญที่ควรจะเป็นไม่ได้ ทําตามแต่เปลือกไม่ได้เอาแก่นสําคัญ มาด้วย หรือทําตามทั้ง ๆ ที่ผิด ไม่มีการแยกแยะจึงทําผิดตามไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีแต่ปริมาณแต่ขาด คุณภาพเมื่อเปรียบกับสังคมที่พัฒนาแล้ว

ตัวอย่างของความทันสมัยแต่ด้อยพัฒนา เช่น

– การที่คนไทยใส่สูท (อย่างตะวันตก) ประชุมงานระดับโลก แต่การตัดสินใจยังใช้ความรู้สึกการคาดเดา มากกว่าที่จะใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมหรือคู่มือที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาแล้ว

– การที่คนไทยมีรถยนต์หรูหรือยี่ห้อดัง ๆ ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่กลับพบว่าไม่มีรถยี่ห้อของคนไทยสักที ทั้งที่เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วที่มีรถยนต์เข้ามาในประเทศ

– การได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนที่สูง หรือศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ แต่มีความเสื่อมถอยทางปัญญา เชื่อโฆษณา ติดความหรูหรา ซื้อของที่ ไร้ค่าในราคาแพง มีนิสัยฟุ่มเฟือย ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนมีคุณค่า/ไร้คุณค่าซื้อแค่ตามแฟชั่นเท่านั้น

– โรงพยาบาลนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจการแพทย์ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการ

– การมีห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โต แต่กลับพบว่ามีสินค้าถูกปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงที่ขายปนกับอาหาร

– การปลูกบ้านที่สวยงามใหญ่โต หรือสร้างถนนหนทางใหม่ ซึ่งไปขวางทางน้ำจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทุกปี

– การใช้โทรศัพท์เกินความจําเป็น โทรคุยนานทําให้เสียเงินโดยไม่จําเป็น

– การร้องเรียนผ่านเว็บ แต่เป็นการกลั่นแกล้งกัน ใส่ร้ายกัน

– การมีเครื่องมือเตือนภัยมากมาย แต่ใช้งานไม่เป็น ฯลฯ การดําเนินการเพื่อให้มีการพัฒนาทางการเมืองไทยอย่างแท้จริง

สาระสําคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ปี 2560 – 2579) ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ เป้าหมายอนาคตของชาติที่คนไทยทุกคนต้องการบรรลุร่วมกัน รวมทั้งยุทธศาสตร์หลัก / นโยบายแห่งชาติและ มาตรการเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวทาง ทิศทาง และวิธีการที่ทุกองค์กรและคนไทยทุกคนต้องมุ่งดําเนินการไปพร้อมกัน อย่างประสานสอดคล้องเพื่อให้บรรลุซึ่งสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการ คือ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน ในทุกสาขาของกําลังอํานาจแห่งชาติ อันได้แก่ การเมืองภายในประเทศ การเมืองต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคนไทยทุกคนอยู่ดีมีสุข

รัฐบาลจึงได้ประกาศแผน ฯ.ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น พัฒนาให้มี ความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครอง, พัฒนาโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย, ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย ที่ล้าสมัย, กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้, ยกระดับผลิตภาพ ความสามารถใน การแข่งขันสูงขึ้น, รักษา ฟื้นฟูให้สมบูรณ์ละยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

มาตรการดังกล่าวนั้นสามารถทําให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่แท้จริงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในอนาคต หากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยมีประเด็นการพัฒนาที่สําคัญดังต่อไปนี้ คือ

1 การพัฒนาคน / ทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย เป็นการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ สุขภาพกายและจิตใจ และจิตวิญญาณอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยเป็นคนมีคุณภาพอย่างแท้จริง

2 การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ําและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการให้บริการทางสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึง

3 การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการที่มุ่งสู่คุณภาพ มาตรฐาน และความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจศักยภาพสูงบนฐานของการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสําหรับการพัฒนา เศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

4 การปฏิรูปภาครัฐและกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อสร้างความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ให้บริการคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

5 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้าทันโลก สามารถ ตอบโจทย์การผลิตและบริการที่มีมูลค่าสูงและแข่งขันได้ และมีคุณค่าทําให้คุณภาพชีวิตดีโดยการสร้างสภาวะ แวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อก้าวผ่านจากการเป็นผู้ซื้อ เทคโนโลยีไปสู่การเป็นผู้ผลิตและขายเทคโนโลยี เป็นต้น

 

ข้อ 4 การพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริงเกี่ยวโยงกับการกล่อมเกลาทางสังคมการเมือง (Political Socialization) อย่างไร ?

อธิบายถึงกระบวนการกล่อมเกลาในแง่ IQ, EQ และจริยะ ควรเน้นไป ในเรื่องใดบ้าง ?

และผู้ใดเป็น Change agents ที่ทําการปลูกฝังกล่อมเกลาให้สมาชิกในสังคม เป็นไปตามแบบที่ต้องการ

แนวคําตอบ

ความเกี่ยวโยงของการกล่อมเกลาทางสังคมการเมือง (Political Socialization) กับ การพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง มีดังนี้

1 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะเป็นวิธีการที่สังคมส่งผ่านความโน้มเอียงทาง การเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อันได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมจากรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นถัดไป หากไม่มี กระบวนการดังกล่าวแล้วสมาชิกใหม่ของระบบการเมืองซึ่งโดยส่วนใหญ่ได้แก่เด็ก ๆ ก็จะต้องค้นหาแบบแผน ของความโน้มเอียงทางการเมืองใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงคงเกิดขึ้นได้ยาก

2 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะช่วยสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในรูปแบบใหม่ขึ้นมา เมื่อบริบทของสังคมการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีหน้าที่สําคัญในการสอดประสานกับวัฒนธรรมทางการเมือง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งก็คือ การสร้าง การเปลี่ยนแปลง การแก้ไข และการธํารงรักษาไว้ ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศชาติต่อไป

3 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะทําให้เกิดการเรียนรู้ในการแสดงบทบาทของ ตนเองในอนาคต เกิดการเชื่อมโยงจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้ว่าในปัจจุบันยังมิได้อยู่ในสถานภาพเช่นนั้น แต่ก็มีความตั้งใจและแนวโน้มที่จะพยายามลงมือกระทําตามบทบาทหน้าที่นั้น ๆ ซึ่งจะทําให้เกิดความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ด้วยการรับเอาการกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองของหน่วยตัวแทนต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้ตนเองสามารถแสดงบทบาทในอนาคตของตนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

4 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะถูกนําไปใช้เป็นพื้นฐานสําคัญของการวางแผน การเรียนรู้และพัฒนาทางด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองของประชาชนไทย ซึ่งเป็นส่วนสําคัญประการหนึ่งของ การปฏิรูปทางการเมือง ที่จําเป็นจะต้องให้ความสําคัญกับการปฏิรูปที่ “คน” ซึ่งเป็นสมาชิกของระบบการเมือง นอกเหนือไปจากการปฏิรูปที่ตัวระบบ (System) เช่น การสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญ การสร้างความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ให้กับพรรคการเมือง การพัฒนาระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม การพัฒนาระบบการตรวจสอบการ ใช้อํานาจของรัฐ ฯลฯ อันจะนําไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต เป็นต้น

กระบวนการกล่อมเกลาในแง่ IQ (ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา), EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) และจริยะ (ความประพฤติ/กิริยาที่ควรประพฤติ) นั้นควรจะมุ่งเน้นไปในเรื่องดังต่อไปนี้

1 ประชาชนรู้จักแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของ ตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์

2 ประชาชนเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความคิด รู้จักใช้เหตุผล การเชื่อมโยง และรู้จักแสวงหาความรู้ เพิ่มเติมให้กับตนเอง หรือรู้จักพัฒนาความสามารถของตนเองในการทํางานเพื่อองค์กรและนําไปสู่การพัฒนาของ ประเทศในอนาคต

3 ประชาชนมีค่านิยมที่เน้นวัฒนธรรม อาทิ ความภูมิใจในการเป็นคนไทย การเคารพ ผู้อาวุโส เสียสละเวลาทํางานเพื่อส่วนรวม ปฏิบัติตามหลักศาสนา และการประกอบอาชีพสุจริต

4 ประชาชนมีการขับเคลื่อนตนเองไปในทางที่ดี เพื่อกําจัดการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ซึ่งประชาชนจะต้องมีคุณธรรมทางด้านดี อาทิ ความซื่อสัตย์ ความดี ความรัก ความเคารพ ความศรัทธา การให้อภัย และอารมณ์ขัน สิ่งเหล่านี้สามารถทําให้ประชาชนรับและยอมรับแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้

5 ประชาชนมีความเป็นพลเมือง (Citizenship) ซึ่งเป็นเรื่องของการมีสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมในสังคม รวมไปถึงการมีอิสรภาพ การพึ่งตนเองได้ การเคารพสิทธิ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพกติกาบ้านเมือง ไม่ใช้ความรุนแรง มีจิตสาธารณะ เป็นต้น

ผู้กระทําการ (Change agents) ที่จะปลูกฝังกล่อมเกลาให้สมาชิกในสังคมเป็นไปตาม แบบที่ต้องการ มีดังนี้

– ครอบครัว ภารกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยนั้นจําเป็นต้องใช้สื่อ ในการสร้างความรู้ทางการเมือง โดยเฉพาะครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยแรกในการฝึกให้เด็กได้รับรู้สภาพและเป็น การปูพื้นฐานทางการเมือง นักรัฐศาสตร์เปรียบเทียบได้ให้ความสําคัญกับครอบครัวและบทบาทของครอบครัว ในการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบครัวจะช่วยในเรื่องการกล่อมเกลาทางการเมืองได้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ

1) ครอบครัวจะช่วยถ่ายทอดทัศนะของพ่อแม่ต่อเด็ก โดยเด็กจะเรียนรู้สภาพ ความคิดและโอกาสในการแสดงความคิดเห็นจากทัศนคติของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือเปิดโอกาสและพูดคุยการเมืองให้กับเด็กแล้ว เด็กคนนั้นก็จะได้รับรู้และมีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แม้ว่า บางครั้งในสังคมไทยอาจจะมีบางครอบครัวที่มีความเผด็จการกับลูก ๆ อยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วก็ยังถือได้ว่ายังมี ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ

2) พ่อแม่จะมีลักษณะเป็นตัวแบบให้กับเด็ก โดยเด็กจะมีการเลียนแบบจากสิ่งที่ พ่อแม่กระทํา เช่น พฤติกรรมในการกิน การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อื่น ความมีน้ําใจ การมีส่วนร่วม การมีนิสัย ชอบการเลือกตั้ง ชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กจะเรียนรู้และตามแบบจากพ่อแม่

3) บทบาทและสิ่งที่เด็กคาดหวังที่จะกระทําเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จะมีความสัมพันธ์กับ การแสดงออกทางการเมืองของเขา เด็กจะแสดงออกทางการเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความหวังที่เขาได้รับเมื่อ ครอบครัวสั่งสอน เขาอาจมีเป้าหมายที่จะเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเขาเติบโตขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลผูกพันกับระบบการเมืองแทบทั้งสิ้น

– โรงเรียน นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างให้เกิดสังคมที่ดี และเป็นหน่วยสร้าง การกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยของไทย ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมีโอกาสได้รับอิทธิพลในการเรียนรู้ จากโรงเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนมีเวลานาน จึงเป็นผลให้ความรู้ทางการเมืองที่เด็ก ๆ จะได้รับมีการสะสมมานานจนสามารถฝังอยู่ในความทรงจํา

-ในสังคมไทยนั้นระบบโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนนับว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อ ของเด็กมาก เด็กมักจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ เนื่องจากมีโอกาสอยู่ในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เมื่อเด็กมีการศึกษา มากขึ้นโอกาสที่เขาจะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองก็จะมากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา เนื่องจากเขาสามารถศึกษา เพิ่มเติมได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ บทความ การสนทนาทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งคนที่ด้อยการศึกษาอาจไม่ได้รับ ในรายละเอียดได้มากเท่ากับคนที่มีการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนยังช่วยในการสร้างค่านิยมของระบอบประชาธิปไตย ให้เยาวชนผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยได้อีกด้วย

– สื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ ต่างก็เข้ามามีบทบาทใน ชีวิตประจําวันของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในการสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคม ประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการอบรมหรือเป็นช่องทางในการเผยแพร่และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นการนําเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนจึงมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการ พัฒนาการเมืองของไทย เพราะถ้าสื่อมวลชนไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและนําเสนอข่าวสารที่บิดเบือนจาก ข้อเท็จจริงแล้ว อาจทําให้ประชาชนหรือเยาวชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้

 

ข้อ 5 สังคมไทยมีชนชั้นหรือไม่ ?

ตอบทั้งในแง่ทฤษฎีและความเป็นจริง ตามทฤษฎีชนชั้นนําอธิบายลักษณะชนชั้นนําไว้ว่าอย่างไร ?

และในสังคมไทยมีชนชั้นนําหรือไม่ อย่างไร ?

และกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองหรือไม่ ชนชั้นหรือชนชั้นนําเกี่ยวโยงอย่างไร ? อาจยกตัวอย่างกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองที่นักศึกษารู้จักประกอบคําอธิบาย

แนวคําตอบ

ในสังคมไทยนั้นถือว่าเป็นสังคมที่มีชนชั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีและหลักการของระบอบประชาธิปไตย นั้นจะพบว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยและมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งได้ วางหลักการไว้ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครอง มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้ กฎหมาย ไม่ว่าชายหรือหญิง หรือคนเชื้อชาติใดศาสนาใด ต่างก็มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

โดยหลักการและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นย่อมแตกต่างกัน เพราะโดยธรรมชาติจะมีคนบางคน ที่มีศักยภาพเหนือกว่าคนทั่วไป มีความกระตือรือร้น มีความเป็นผู้นํา มีการแสดงออกในการเป็นผู้นํา ทําให้มี บุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่คนจํานวนนี้จะเป็นคนจํานวนน้อยในสังคมที่เราเรียกว่า ชนชั้นนํา แม้ว่า ในสังคมไทยของเราจะเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่การแบ่งชนชั้นในสังคมก็ยังเกิดขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากโลก ทุกวันนี้เป็นโลกแห่งทุนนิยมที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด และทําให้เกิดการแบ่งชนชั้นทางสังคมขึ้น

ดังนั้นการที่จะรู้ว่าใครเป็นชนชั้นไหนในสังคมนั้นสามารถดูได้จากบทบาทหน้าที่ และฐานะ ทางสังคมและเศรษฐกิจ

ชนชั้นในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 ชนชั้นสูง เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นสูง ขุนนางเก่า เป็นต้น

2 ชนชั้นกลาง เช่น พนักงาน ข้าราชการทั่วไป เป็นต้น

3 ชนชั้นล่าง เช่น คนหาเช้ากินค่ํา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร (ชาวไร่และชาวนา) ผู้ที่มีฐานะยากจนและมีการศึกษาน้อย เป็นต้น

ตามทฤษฎีของ Halen Lynd ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “Middletown” ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ สถานภาพ (Status) ของคนในสังคม โดยมีสมมุติฐานในการศึกษาก็คือ ตัวขี้เกี่ยวกับสถานภาพของคนในสังคม คือความสามารถทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าชนชั้นมีความสัมพันธ์กับสถานภาพ และเชื่อมโยงกับการที่คนในชุมชน

คิดหรือสนทนากัน ซึ่งจะให้ความรู้ในสถานภาพของกลุ่มชนในสังคม เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวจะมีตัวแปรใน การกําหนดสถานภาพของคนในสังคม เช่น ความมั่งคั่ง สถานภาพทางครอบครัว ทรัพย์สิน เป็นต้น

ตามทฤษฎีของ Ralf Dahrendorf ได้ให้คําจํากัดความในเรื่องชนชั้นว่า ชนชั้นเป็นเรื่องของกลุ่ม ที่ขัดแย้งเนื่องจากการแจกแจงอํานาจหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมาคมหรือกลุ่ม โดยเห็นว่าอํานาจหน้าที่ (Authority) ถือเป็นอํานาจอันชอบธรรม และความสัมพันธ์ของอํานาจจะขึ้นอยู่กับฐานของอํานาจหลายฐานด้วยกัน เช่น จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้ควบคุมวิถีการผลิต นอกจากนั้นอํานาจหน้าที่จะเกี่ยวข้องกับตําแหน่ง ทางสังคมและการมีบทบาทในสังคมของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเขากล่าวว่า พื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้าง ในสังคมที่เป็นตัวก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมก็คือความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องอํานาจและหน้าที่ ซึ่งจะมีส่วนสําคัญ ในการจัดองค์กรทางสังคม

ตามทฤษฎีของ Marx อธิบายว่า สังคมมีการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจน คือ มีชนชั้นปกครองและ ชนชั้นที่ถูกปกครอง เช่น ในอดีตมีชนชั้นกษัตริย์และชนชั้นไพร่ ปัจจุบันมีชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่ง ชนชั้นปกครองจะขูดรีดเอากําไรส่วนเกินจากชนชั้นที่ถูกปกครอง และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะไม่เกิดใน ระดับปัจเจกบุคคล แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งโครงสร้าง แม้ว่า Marx จะกล่าวไว้ว่าท้ายที่สุดของ การเปลี่ยนแปลงแล้วจะไม่มีชนชั้นเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเพียงอุดมคติที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่ที่เกิดขึ้นจริงก็คือ สังคมมีชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง เช่น นายทุนและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

ชนชั้นหรือชนชั้นนําเกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง ดังนี้

1 ชนชั้นหรือชนชั้นนําที่ต้องการเข้ามาเล่นการเมืองในระดับชาตินั้น จําเป็นต้องอาศัย กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นบันไดเข้ามาสู่อํานาจ เพราะพรรคการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จะมีบทบาทสําคัญใน ระบบการเมือง เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจํานวนมาก เป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่สําคัญที่จะชักนําให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเป็น ฐานเสียงให้กับตนเองได้นั่นเอง

2 ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติความเชื่อทางการเมืองที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของ ชนชั้นนําที่เป็นคนกลุ่มน้อย ประชาชนทั่วไปไม่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมือง มีแต่แสวงหาอํานาจและผลประโยชน์ให้กับตัวเองจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นจึงทําให้ การเมืองเป็นเรื่องระหว่างชนชั้นนํากับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3 พรรคการเมืองส่วนใหญ่มักรวบรวมสมาชิกเพื่อหวังสร้างอํานาจต่อรองกับรัฐบาล หรือ มุ่งหวังไปสู่การชนะการเลือกตั้งมากกว่ามุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ ดังนั้นจึงมักคัดเลือกสมาชิกทั้งในชนชั้นหรือชนชั้นนํา ที่สามารถเรียกคะแนนเสียงและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพรรค รวมไปถึงสามารถสนับสนุนในเรื่องเงินทุนและ การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่พรรคได้ด้วย

4 นโยบายของพรรคการเมืองนั้น มักมีที่มาจากผลประโยชน์ทั้งของชนชั้นหรือชนชั้นนําเสมอ โดยเฉพาะการต่อรองที่ลงตัวในเรื่องตําแหน่งทางการเมือง

5 กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองจะเป็นที่รวบรวมผลประโยชน์ของชนชั้นหรือชนชั้นนํา ตัวอย่างเช่น พรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคของพวกนายทหารหลังการยึดอํานาจของ รสช. พรรคชาติไทยเคยเป็น พรรคของเหล่านายทหารและข้าราชการสายราชครู พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของพวกนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามามี บทบาททางการเมือง เป็นต้น

ตัวอย่างของกลุ่มการเมืองในสังคมไทย เช่น

– คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นกลุ่มการเมืองซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยตัวแทน กลุ่มองค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ นําโดย ศ.ดร.สมบัติ ธํารงธัญวงศ์ เครือข่าย นักศึกษาประชวชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพธรรม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ฯลฯ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการของกลุ่ม

– กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” เป็น กลุ่มการเมืองที่มีบทบาทสําคัญในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ และ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ภายใต้จุดประสงค์ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตําแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยมีแกนนําคนสําคัญ ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จําลอง ศรีเมือง

ภายหลังการประชุมร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนแนวร่วมได้แสดงความเห็นถึง การจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้มีการจัดตั้ง พรรคการเมืองขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “พรรคการเมืองใหม่” นั่นเอง

– กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เป็นกลุ่มการเมืองของกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อขับไล่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติภายหลังจากการรัฐประหาร แต่ได้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ภายหลังได้กลับมารวมตัวกันอีก เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันทําให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ และหลังการเปลี่ยนขั้ว รัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่ม นปช. ก็ได้กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อขับไล่ รัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง และยกกําลังทหารปิดล้อมผู้ชุมนุม จนต้องยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากนั้นในช่วง ปลายปีก็มีการชุมนุมเป็นระยะ ๆ และมีความเกี่ยวโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน

POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 4 ข้อ คาดหวังคําตอบเป็นข้อเขียนแสดงความรู้ ความคิด หรือยกตัวอย่างประมาณข้อละ 3 – 5 หน้ากระดาษ

จงอธิบาย อภิปราย ขยายความ รวมทั้งยกตัวอย่างประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

ข้อ 1 การบริหารประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลได้กําหนดแนวทางและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จะใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบได้หรือไม่ ?

ศึกษาอย่างไร ?

ศึกษา วิเคราะห์อะไรได้บ้าง ?

หากเทียบกับนานาอารยประเทศ เช่น สหประชาชาติ สนใจเน้นวิเคราะห์อะไร ? ศึกษาเปรียบเทียบอะไร ?

และในการศึกษาเปรียบเทียบ มีประโยชน์และมีความเป็นศาสตร์อย่างไร ?

ให้เปรียบเทียบระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

แนวคําตอบ

การบริหารประเทศไทยในปัจจุบันนั้น รัฐบาลได้กําหนดแนวทางและร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อที่จะ ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบได้ เช่น การวิเคราะห์ เปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญฯ 2540 หรือรัฐธรรมนูญฯ 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือจะใช้ข้อมูลและ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งในอดีต – ปัจจุบัน มาทําการวิเคราะห์เปรียบเทียบในประเด็นที่เราสนใจศึกษาก็ได้

ลักษณะการศึกษาเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามาเปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความ แตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ดูว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีเนื้อหาใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้ หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะรัฐธรรมนูญฯ 2550 เพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) คือ กรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบนั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร สถาบัน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่าง และใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาท องค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน

ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น

ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะ ทําให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similarities) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่าง ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้าง กรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วม ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อมูลที่ได้ควรจะต้องมีการจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในการ เลือกตั้ง การเสนอกฎหมาย ฯลฯ โดยจะต้องใช้ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

สิ่งที่มักนํามาศึกษาเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการเมือง

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาผู้แทนราษฎร

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวุฒิสภา เป็นต้น

สังคมนานาอารยประเทศ เช่น สหประชาชาติ) เน้นการศึกษาเปรียบเทียบในประเด็น ที่สําคัญ 3 เรื่อง คือ

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ในด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก  สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาย (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม ที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และรวมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และหลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการ กระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่า จะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ํา ดิน ฟ้า อากาศ ทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยี การตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

ประโยชน์ของการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

1 ทําให้เราสามารถศึกษาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถลงในรายละเอียดของการศึกษา เปรียบเทียบ และช่วยให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

2 ทําให้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้น อันจะนําไปสู่การศึกษาและเกิดการพัฒนาในองค์ ความรู้จากระดับประเทศไปยังระดับนานาชาติ หรือระดับสากลต่อไป

3 ทําให้ได้รับการยอมรับและสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศที่ดี รวมทั้งยังเป็น แนวทางในการศึกษาให้กับการพัฒนากระบวนการศึกษาเปรียบเทียบให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

4 ช่วยเสริมสร้างให้กับวิชารัฐศาสตร์มีชีวิตชีวา เกิดการปะทะสัมพันธ์ของนักวิชาการ ทางสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จํากัดแต่นักรัฐศาสตร์ และที่สําคัญได้สร้างและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นระบบขึ้น รวมทั้งยังสามารถให้การอธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรทางสังคมศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน

ในส่วนของความเป็นศาสตร์นั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือเป็นสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่ง ไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัยรูปแบบ แบบแผน พฤติกรรม และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคมหรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบ การเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของวิชา รัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

รัฐศาสตร์ (Political Science) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการ ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษา ในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบใน การศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

รัฐศาสตร์นั้นจะมีการแบ่งการศึกษาเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง ทฤษฎีการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง การบริหารรัฐกิจ หรือการบริหารจัดการสาธารณะหรือรัฐประศาสนศาสตร์ การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) การพัฒนาการเมือง สถาบันทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศ การปกครองและการบริหารรัฐ การเมืองการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งสาขาต่าง ๆ เหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละ สถาบันว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร อย่างไรก็ตามหากจะเรียกว่าการจัดกระบวนวิชาใดนั้นเป็นรัฐศาสตร์ หรือไม่นั้น จะต้องใช้มโนทัศน์ “การเมือง” เป็นมโนทัศน์เป็นหลัก

รัฐศาสตร์จะมีสาขาย่อยที่เป็นหลักอย่างน้อย 3 สาขา คือ การปกครอง การบริหารกิจการ สาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การประกอบอาชีพทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น ข้าราชการในกระทรวง ปลัดอําเภอ การทูต บริษัท ต่าง ๆ เป็นต้น

นิติศาสตร์ (Jurisprudence) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับหลักกฎหมาย โดยจะเน้นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายปกครอง รัฐธรรมนูญ ฯลฯ

หลักสูตรนิติศาสตร์อาจแตกต่างกันตามสถาบันการศึกษา โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

1 กฎหมายแพ่งและอาญา/เอกชน ซึ่งจะมีมาตราและองค์ประกอบความผิดที่ชัดเจน สําหรับวิเคราะห์ เช่น กฎหมายประกันภัย กฎหมายเกี่ยวกับการกระทําผิดของเด็กและเยาวชน การบัญชีสําหรับ นักกฎหมาย และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

2 กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยมีมาตรา เน้นการตีความและสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

3 กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล กฎหมายอาญา ระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

การประกอบอาชีพทางด้านนิติศาสตร์ เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ นิติกรบริษัทต่าง ๆ

รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐและกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ โดยนิติศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่เน้นการศึกษาตัวบทและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วน รัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง ซึ่งจะอาศัยกฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องกําหนดกับศาสตร์แห่ง อํานาจซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาพฤติกรรม หรือการกระทําทางการเมือง ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมาย ในแง่ของรูปแบบและปรากฏการณ์ซึ่งเป็นความหมายโดยรวมของ รัฐศาสตร์นั้นเอง

ความสัมพันธ์ของวิขาทั้งสองนั้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาใดเป็นที่มาของอีกสาขาหนึ่ง และ ไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาใดสําคัญกว่าอีกวิชาหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะวิชาทั้งสองนั้นมีกําเนิดและวิวัฒนาการร่วมกันมา ควบคู่กับการเจริญเติบโตของสังคมมวลมนุษยชาติ

 

ข้อ 2 โครงสร้าง (Structure) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

หน้าที่ (Function) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

อธิบายแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ซึ่งพัฒนาเป็นทฤษฎีระบบของ David Easton หรือของ Gabriel Almond อธิบายถึง Output และ Input ด้วย ?

แนวคําตอบ

โครงสร้าง (Structure) คือ แบบแผนของกิจกรรมที่ทํากันสม่ำเสมอ โดยผู้ที่กระทํากิจกรรมจะมีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมบทบาทของกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เป็นโครงสร้างนั้น ๆ เช่น โครงสร้างของ รัฐสภา ประกอบด้วย ประธานสภา รองประธานสภา เลขาธิการ และสมาชิก ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อเรารวมเอาบทบาทของส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้โครงสร้างของรัฐสภานั่นเอง

ลักษณะของโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1 โครงสร้างที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น อุดมการณ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม ความชอบ ทัศนคติ ความงมงาย การรับรู้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากจะต้อง ใช้ระยะเวลาในการปลูกฝังหรือถ่ายทอดที่ค่อนข้างยาวนาน และมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นจึงทําให้โครงสร้างที่เป็น นามธรรมมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเมื่อใด ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้วก็จะยังคงอยู่

2 โครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ หรือสัมผัสได้ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นต้น ซึ่งถือเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข ปรับปรุงได้ง่ายกว่าโครงสร้างที่เป็นนามธรรม กล่าวคือ ถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็สามารถกระทําได้ทันที

3 โครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งบังคับให้เรา คิดอยากจะทําหรือไม่ทํา ให้ชอบหรือไม่ชอบ ให้เชื่อหรือไม่เชื่อ โดยทั่วไปแล้วมักแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ของโครงสร้าง เหล่านั้นเสมอ ตัวอย่างของโครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เช่น กฎหมาย ประกาศ คสช. สัญลักษณ์ สถาบัน (ศาลรัฐธรรมนูญ) กลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

หน้าที่ (Function) คือ กิจกรรม (Activity), วัตถุประสงค์ (Purpose), ผลที่ตามมา (Consequence) หรือในบางครั้งอาจหมายถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้อธิบายถึงคุณค่าในตัวของมันเอง หรือเป็นคุณค่าที่เกิดตามตัวแปรอื่นก็ได้ โดยนักสังคมศาสตร์ได้สรุปเกี่ยวกับหน้าที่ไว้ 3 ประการ ดังนี้

1 หน้าที่คือการศึกษาระบบทั้งระบบ เช่น ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยถือว่าระบบต่าง ๆ เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis)

2 หน้าที่นิยมจะมีความสําคัญมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป เมื่อเป็นดังกล่าวหน้าที่ บางอย่างจึงมีความจําเป็นสําหรับระบบทั้งหมด (The whole System)

3 หน้าที่บางประการมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependent) ต่อโครงสร้าง หลาย ๆ โครงสร้าง กล่าวคือ หลายระบบต้องพึ่งพิงจากหน้าที่ดังกล่าว

ลักษณะทั่วไปทั้ง 3 ประการของหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้นักสังคมศาสตร์เห็นว่าในระบบใด ระบบหนึ่งเป็นระบบสังคมหรือระบบการศึกษา ต่างก็มีหน้าที่หลักของแต่ละระบบอยู่ เช่น ในระบบหนึ่ง ๆ ก็จะต้อง มีวัฒนธรรมทําหน้าที่เป็นองค์ประกอบให้ระบบสังคมนั้น ๆ ดํารงอยู่ได้ วัฒนธรรมดังกล่าวอาจประกอบไปด้วย ภาษา ศาสนา ฯลฯ

แนวคิดทฤษฎีระบบของ David Easton

David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างระบบ ที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และ พฤติกรรมของระบบการเมืองได้

ทฤษฎีระบบการเมืองของ David Easton นั้นถือว่าจะต้องมีตัวแปรต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยนําเข้า (Input) เพื่อนําข้อมูลเข้าสู่กระบวนการของระบบการเมือง และต่อจากนั้นระบบจะต้องมีปัจจัยนําออก (Output) หมุนเวียนกันไปเพื่อให้ระบบมีการต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะแวดล้อมกับระบบจะต้องประกอบไปด้วย ดุลยภาพของตัวแปรนําเข้ากับตัวแปรที่นําออกมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการหมุนเวียนกันของโครงสร้างและ หน้าที่

David Easton ให้ความเห็นว่า ปัจจัยนําเข้าจะต้องประกอบด้วย การเรียกร้อง (Lee (1) และการสนับสนุน (Support) ปัจจัยเหล่านี้จะเข้าไปแทรกอยู่ในแวดวงของระบบการเมือง ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ประกอบ

พรรคการเมือง ทําหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าประตู” (Gate Keeper) หรือเป็นผู้รวบรวมการเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อเป็นเกม ในการตัดสินใจของรัฐบาล

ระบบการเมืองของ David Easton สามารถสรุปได้ดังนี้

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) หมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เข้าสู่ระบบ เพื่อผ่านการพิจารณากลั่นกรองและตัดสินใจออกมาในรูปของนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยนําเข้านี้แบ่งออก ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ –

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) หมายถึง การที่สมาชิกของสังคมการเมืองให้การ สนับสนุนระบบตลอดจนการดําเนินการของระบบการเมือง ซึ่งการให้การสนับสนุนนี้อาจจะอยู่ในรูปของการแสดงออก ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบของบ้านเมือง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เจ โดยการสนับสนุนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั่นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการรอง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั่นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นไป

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

2 ระบบการเมือง (System) หรือผู้ตัดสินใจ ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา (ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) เป็นผลของการตัดสินใจของผู้มีอํานาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การจัดสรรสิ่งที่มีค่าในระบบการเมืองนั้น ซึ่งสาเหตุของการเกิด Output อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบ การเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ํา อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

– จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั้นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

– สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้างชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ

– สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผลการร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

– สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

แนวคิดทฤษฎีระบบของ Gabriel Almond

Almond เห็นว่า ระบบ (System) มีความสําคัญกว่ากระบวนการ (Process) ทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ เนื่องจากระบบจะศึกษาถึงทั้งหมดของการเมืองในสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมเอา หน่วยทางการเมืองต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

Almond เชื่อว่า ถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออก ของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับกฎหมายและ พิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมาสนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มีการปะทะสัมพันธ์ ในระบบการเมือง และแบบแผนของการปะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั้นเอง

จากประเด็นดังกล่าวนั้นจึงเป็นจุดเริ่มทางความคิดของทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ที่ Almond ได้นําเสนอและเป็นหน่วยใหม่ในการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ โดย Almond เสนอ “ระบบการเมือง” แทนความหมายเก่า ทางรัฐศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิม คือ รัฐธรรมนูญ เหตุผลก็เพื่อเลี่ยงการศึกษารัฐศาสตร์ยุคเดิมที่มุ่งแต่ศึกษาแนวกฎหมาย และสถาบันเป็นสําคัญ นอกจากนี้ Almond ยังได้กําหนดคุณลักษณะของการเปรียบเทียบระบบการเมืองไว้ 4 ประเด็นคือ

1 ในระบบการเมืองทุกระบบต่างก็จะต้องมีโครงสร้างทางการเมือง

2 มีหน้าที่ปฏิวัติเหมือนกันในทุก ๆ ระบบการเมือง

3 โครงสร้างทางการเมืองทุกระบบมีลักษณะที่เรียกว่า “ความหลากหลายของหน้าที่”

4 ในระบบการเมืองทั้งหมดจะมีการผสมผสานในหลาย ๆ วัฒนธรรม

Almond เห็นว่า ระบบการเมืองเป็นการศึกษาถึงขอบเขตทั้งหมดของกิจกรรมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละแห่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบการเมืองจะมีหน้าที่หลายประการ ทั้งนี้เพราะระบบการเมือง เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการใช้อํานาจลงโทษ หรือบังคับสมาชิกของระบบการเมือง ซึ่งหน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1 หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนด นโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ (Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู่ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนั้น Almond ยังมีความเห็นสอดคล้องกับความคิดของ Easton นั่นคือ การเรียกร้อง และการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่นต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

– การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดยไม่บิดพลิ้ว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิธีการของสังคม

จะเห็นได้ว่า ทั้งข้อเรียกร้องและการสนับสนุนรัฐบาล ล้วนเป็นเรื่องของการกําหนดนโยบาย สาธารณะของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น นอกจากนี้ Almond ยังเห็นว่า ระบบการเมือง ทุกระบบจะต้องมีปะทะสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ

1 สิ่งแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพทรัพยากรของประเทศ ระบบการศึกษา ระบบเทคนิควิทยาของประเทศ

2 สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ การทูต สงคราม การสื่อสารระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

หมายเหตุ นักศึกษาเลือกตอบนักคิดคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาเปรียบเทียบระหว่างดาราช่อง 7 อั้ม พัชราภา กับดาราช่อง 3 ชมพู่ อารยา ในแง่ของ IQ และ EQ มาโดยเข้าใจ

แนวคําตอบ

ในแง่ของ IO

– พัชราภา ไชยเชื้อ มีชื่อเล่นว่า “อั้ม” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยมีชื่อแรกเกิดว่า “ไข่มุก” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “พัชราภา” ในภายหลัง มีบิดาชื่อ นายวรวุฒิ ไชยเชื้อ และมารดาชื่อ นางสุภาพร ไชยเชื้อ โดยเธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัวพัชราภาจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย รังสิต

พัชราภาเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ขณะอายุได้ 19 ปี จากการประกวด Miss Hack 1997 หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “สาวแฮ็คส์” นั่นเอง ซึ่งเธอได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นสาวแฮ็คส์คนแรกของ เวทีประกวดนี้ โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ เป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอเพลง “ไม่ใช่คนในฝัน” ของศิลปิน ต้น อาภากร และในปีเดียวกันก็ได้มีผลงานละครเรื่อง “มณีเนื้อแท้” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7 สี) จากนั้นก็มีผลงานออกมาเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2546 เธอได้รับบทบาทในการเป็นพิธีกรครั้งแรกในรายการ “จ้อจี้” โดยเป็นพิธีกรคู่กับ จิ้ม ชวนชื่น และในปีนั้นเธอได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่อง “เฟค โกหกทั้งเพ” หลังจากนั้น ก็มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง พัชราภา ถือว่าเป็นนักแสดงชาวไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ทั้งงานละคร อีเว้นท์ โฆษณา และเป็นนักแสดงหญิงที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประเทศไทย

อารยา เอ ฮาร์เก็ต มีชื่อเล่นว่า “ชมพู่” เป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 มีบิดาชื่อ นายเจมส์ เอ ฮาร์เก็ต และมารดาชื่อ นางวารี เอ. ฮาร์เก็ต โดยเธอเป็นบุตรสาวคนเดียว ของครอบครัว เช่นเดียวกับพัชราภา

อารยา จบการศึกษา ระดับอุดมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัย รังสิต ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกันกับพัชราภา

อารยา เข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี พ.ศ. 2541 ขณะอายุได้ 17 ปี จากการประกวด Miss Motor Show ต่อมาได้รับการติดต่อจาก รัมภา ภิรมย์ภักดี ผู้เขียนบทประจําบริษัทดาราวิดีโอ และได้เซ็นสัญญา กับบริษัทดาราวิดีโอ โดยมีผลงานละครเรื่องแรกคือ “เพลงพราย” ทางช่อง 7 สี ประกบกับ บี สวิช เพชรวิเศษศิริ จากนั้นก็มีผลงานมาโดยตลอด นอกจากนี้เธอยังได้รับโอกาสให้มาร้องเพลงประกอบละครหลายเรื่อง และยังได้ เล่นละครเวทีเรื่อง “ม่านประเพณี” และพากย์ภาพยนตร์การ์ตูน รวมถึงเป็นพิธีกรบนเวทีการประกวดและงานสําคัญ ต่าง ๆ ของช่อง 7 จนได้มาเป็นพิธีกรหลายรายการ เช่น เจาะโลกมายา จมูกมด และ 7 กะรัต อีกทั้งยังมีโอกาส ได้เล่นเป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอของศิลปินหลายคน เช่น รู้ตัวบ้างไหม ของแร็พเตอร์, ฉันขอโทษ ของ แอน ธิติมา, สมน้ำหน้า ของมอส ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2551 เธอก็ได้ตัดสินใจย้ายจากช่อง 7 ไปอยู่ช่อง 3 และโด่งดังจากบท “เรยา” ในละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” และในปี พ.ศ. 2553 ก็มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่อง “สาระแนสิบล้อ” หลังจากนั้น ก็มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อารยายังได้รับโอกาสให้เป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ของธงไชย แมคอินไตย์ 10 รอบ และคอนเสิร์ตอื่น ๆ อีกหลายคอนเสิร์ต อารยาถือเป็นดาราแนวหน้าของเมืองไทยอีกคน ซึ่งมีทั้งงานละคร อีเว้นท์ โฆษณา และมีค่าตัวที่สูงไม่แพ้อย่างรุ่นพี่อั้ม พัชราภา

ในปี พ.ศ. 2558 อารยาได้เข้าพิธีสมรสกับน็อต วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์ เจ้าของธุรกิจหลอดไฟ เรเซอร์ แฟนหนุ่มที่คบหาเป็นแฟนกันมากว่า 6 ปี โดยมีพิธีจัดขึ้นแบบส่วนตัวภายในครอบครัว

-ในแง่ของ EQ

ในมุมของ “ความเซ็กซี่” พบว่าทั้งสองคนได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่เซ็กซี่ที่สุดของเมืองไทย ซึ่ง ต่างก็โดดเด่นและโด่งดังจากบท “นางร้าย” ด้วยกันทั้งคู่ โดยอั้ม พัชราภา นั้นได้แจ้งเกิดเต็มตัวจากละครเรื่อง “คมพยาบาท” ซึ่งมาพร้อม ๆ กับความเซ็กซี่ที่เธอเป็นคนสร้างขึ้นมา เพราะก่อนหน้านี้ ความเซ็กซี่น่าจะเป็น ภาพลักษณ์ของนางร้าย ไม่ใช่แนวทางของนางเอก

ในมุมของการย้ายช่องของชมพู่ อารยา แม้จะถูกมองว่าเป็นนางเอกช่อง 7 สี แต่กลับไม่เคย ได้เซ็นสัญญากับวิกหมอชิต เธอเป็นเพียงนางเอกสังกัดช่อง 7 ที่เซ็นสัญญากับค่าย “ดาราวิดีโอ” เท่านั้น จึงไม่แปลก ที่เธอจะตัดสินใจย้ายไปอยู่กับช่อง 3 จนได้รับการพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในภาพลักษณ์นางเอก-นางร้าย ในละครดังเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ทางช่อง 3 นั้นเอง

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของนางเอกทั้งสองคือ ทั้งสองคนต่างก็มีแฟนหนุ่มตระกูลเดียวกันอย่าง “รังษีสิงห์พิพัฒน์” ซึ่งพบว่าความรักของ ชมพู่ อารยา กับ น็อต วิศรุต ดําเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนมีพิธีแต่งงานเกิดขึ้น ขณะที่ความรักของ อั้ม พัชราภา กับโน้ต วิเศษ กลับไม่ราบรื่น จนทําให้ต้องเลิกรากันไป

การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างอั้ม พัชราภา กับชมพู่ อารยา ในแง่ของ IQ และ EQ ที่ได้กล่าว ไว้ในข้างต้นนั้นเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ที่ถูกนํามาวิเคราะห์เปรียบเทียบ นอกเหนือจากนี้เราอาจนําเอาแบบแผน รูปแบบการดําเนินชีวิต พฤติกรรม ความคล้ายความต่างในด้านอื่น ๆ ของคนทั้งสองมาใช้ในการเปรียบเทียบก็ได้

 

ข้อ 4 พรรคการเมืองคืออะไร ?

มีลักษณะและหน้าที่สําคัญอะไรบ้าง ?

และที่มาของวุฒิสมาชิกปี 2550 กับปี 2559 ทั้งทางตรงและทางอ้อมมีที่มาอย่างไร ?

และจากคําพูดที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” : “ร่วมด้วยช่วยกัน” นักศึกษามีความคิดเห็นอย่างไร ?

แนวคําตอบ

พรรคการเมือง (Political Party) หมายถึง องค์กรทางการเมืองที่รวมกลุ่มบุคคลที่มีแนว ความคิดเห็นหรือหลักการบางอย่างที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อกําหนดประเด็นปัญหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับ เลือกตั้งและหวังที่จะชนะการเลือกตั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดําเนินงานและนโยบายของรัฐบาล หรือต้องการเป็นรัฐบาลเข้าบริหารประเทศตามนโยบายที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของกลุ่ม

ลักษณะสําคัญของพรรคการเมือง

1 พรรคการเมืองต้องมีความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนต้องไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตหรืออํานาจของ ผู้นําพรรคการเมือง กล่าวคือ เป็นพรรคที่รวมตัวกันโดยยึดหลักการหรีอุดมการณ์เป็นหลัก ต้องไม่ยึดถือบุคลิกภาพ หรืออํานาจของผู้นําเป็นหลักในการรวมตัวกัน

2 พรรคการเมืองจะต้องมีองค์การหรือสาขาแผ่กระจายไปในระดับท้องถิ่น และมีขาย การติดต่อกันระหว่างสํานักงานใหญ่กับสาขาพรรคในท้องถิ่น กล่าวคือ พรรคจะต้องมีระบบการติดต่อกับประชาชน อย่างต่อเนื่อง สาขาของพรรคในท้องถิ่นนับเป็นองค์การพื้นฐานสําคัญของพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะจะทําหน้าที่ เป็นสื่อประสานหรือตัวเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับประชาชนและกลุ่มต่าง ๆ

3 ผู้นําพรรคการเมืองต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะรวมอํานาจการตัดสินนโยบาย ของตนแต่ผู้เดียวหรือเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ไม่เพียงแต่จะใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงนโยบายเท่านั้น กล่าวคือ บรรดาผู้นําพรรคการเมืองจะต้องมีความมุ่งหมายที่จะให้พรรคการเมืองของตนเป็นรัฐบาลเพื่อเข้าควบคุมบุคลากร และนโยบายในการบริหารประเทศ

4 พรรคการเมืองต้องพยายามหาคะแนนเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง และหาความสนับสนุน จากมหาชนทั่วไปเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง กล่าวคือ พรรคจะต้องพยายามขยายแนวความคิดของพรรคและให้ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการเมือง ชี้แง่มุมของปัญหาต่าง ๆ แก่ประชาชนตลอดเวลา ตลอดจนเสนอแนวนโยบายให้ประชาชนเลือก

หน้าที่สําคัญของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 หน้าที่เลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ที่พรรคการเมืองทั่ว ๆ ไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้พรรคได้มีโอกาสควบคุมการใช้อํานาจหน้าที่ในตําแหน่งต่าง ๆ และดําเนินนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไป ตามนโยบายของตน

หน้าที่ในการเลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งนี้ นับว่าเป็นส่วนสําคัญที่ช่วยประชาชน ในการเลือกตั้ง เพราะบุคคลที่พรรคคัดเลือกให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งนั้นได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยพรรค มาแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหรือเหมาะสมกับตําแหน่ง ดังนั้นประเทศที่มีพรรคการเมืองที่มีความมั่นคง ประชาชนผู้เลือกตั้งจึงมักจะไม่คํานึงถึงตัวบุคคลมากนัก แต่จะพิจารณาถึงพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดว่าพรรคใด จะรักษาผลประโยชน์ของเขาหรือมีแนวนโยบายตรงกับความคิดเห็นของเขามากกว่า

2 หน้าที่เสนอนโยบาย ชี้ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข หน้าที่สําคัญอีกประการหนึ่ง ของพรรคการเมืองก็คือ การแสดงออกหรือแถลงซึ่งนโยบายการปกครองบ้านเมืองว่าจะดําเนินการไปในทางใด อุดมการณ์ที่พรรคยึดถือนั้นยึดถืออะไร เช่น รูปแบบการปกครองแบบใด เป็นต้น นอกจากนั้นพรรคจะต้องชี้ให้เห็นถึง ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ โดยจะยกประเด็นต่าง ๆ เช่น ทางการศึกษา ทางต่างประเทศ ทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ข้อขัดแย้งต่าง ๆ มาอภิปราย แล้วเสนอแนวทางหรือนโยบายที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย

นโยบายหรือโครงการที่พรรคการเมืองได้เสนอต่อประชาชนนั้น จะเป็นการผูกมัดและ เป็นคํามั่นของพรรคที่ต้องปฏิบัติเมื่อได้อํานาจหรือได้รับเลือกตั้ง ฉะนั้นประชาชนก็จะยึดเอานโยบายหรือโครงการ ต่าง ๆ ที่พรรคประกาศนี้มาเป็นส่วนหนึ่งสําหรับวินิจฉัยในการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเลือก ผู้แทนได้ดีและง่ายขึ้น

3 หน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับองค์การของรัฐ โดยพรรคการเมืองนั้นจะเป็น จุดรวมของบุคคลต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งมาจากบุคคลหลายอาชีพและจากภูมิภาค ต่าง ๆ พรรคการเมืองจึงอยู่ในฐานะรับรู้ปัญหาและความต้องการของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคเป็นอย่างดี นอกจากนั้นพรรคการเมืองที่แท้จริงโดยปกติจะคอยสํารวจตรวจสอบมติสาธารณะอยู่เสมอว่า ประชาชนมีปัญหา หรือต้องการอะไร เพราะพรรคจะมีสาขาอยู่อย่างกว้างขวาง มีองค์การต่าง ๆ ที่เข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มชาวนา ชาวไร่ นักศึกษา กรรมกร และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

พรรคการเมืองจึงต้องทําหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนที่คอยรับรู้ปัญหาและความต้องการ ของประชาชน และถ่ายทอดความต้องการของประชาชนไปยังองค์การของรัฐด้วย

4 หน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อพรรคใดชนะเลือกตั้งหรือได้เสียงข้างมาก พรรคการเมือง นั้นก็จะมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล โดยประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีก็จะเลือกตั้งเฉพาะประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีเท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีหรือตําแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคที่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภามีหน้าที่ คัดเลือกบุคคลเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ เพื่อบริหารประเทศ ซึ่งโดยปกติหัวหน้าพรรคและผู้นําระดับสูง ของพรรคจะไปดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลําพัง พรรคเดียว ก็จะมีการตกลงกันในระหว่างพรรคที่มีความคิดและนโยบายใกล้เคียงกัน เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมต่อไป

5 หน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งน้อยหรือ ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่คือ วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ ชี้ข้อบกพร่องในการดําเนินงานของรัฐบาล คอยท้วงติง คัดค้านการกระทําที่ไม่ชอบหรือขัดต่อมติของมหาชน ควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่สภารับรอง ตลอดจนยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อํานาจเกินขอบเขต

ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น พรรคฝ่ายค้านยังมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเงา (Shadow Cabinet) เพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรไว้ล่วงหน้าสําหรับการเป็นรัฐบาลในอนาคต ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ถือเป็นคณะผู้บริหารของฝ่ายค้านที่จะคอยติดตามปัญหาและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในหน้าที่ของกระทรวงที่ตน ถูกกําหนดไว้

6 หน้าที่ในการปลุกระดมมวลชนให้เข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง กล่าวคือ พรรคการเมือง เป็นองค์กรที่รวบรวมบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน แล้วเสนอแนวความคิดเห็นนั้นต่อ ประชาชน ให้ประชาชนเห็นชอบโดยการรณรงค์หาเสียง สนับสนุนด้านการเงิน โดยวิธีชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นผู้สนับสนุนพรรค เพื่อช่วยในการรณรงค์หาเสียง หรือให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่พรรค รวมทั้งเข้ามาเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค

ที่มาของวุฒิสมาชิกปี 2550 กับปี 2559

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 150 คน โดยมีที่มา 2 ประเภท ได้แก่

1 สมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และในแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกวุฒิสภาได้จังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัด = 77 คน) โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน โดยตรงและลับ

2 สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญกําหนดให้มีจํานวนเท่ากับ 150 คน หักด้วย จํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (นั่นคือ 150 – 77 = 73 คน) โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิก วุฒิสภาดําเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสม จากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็น สมาชิกวุฒิสภา

ตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 (ฉบับลงประชามติ) ได้กําหนดให้ มีสมาชิกวุฒิสภาจํานวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม เป็นจํานวน 20 ด้าน โดยการแบ่งกลุ่มต้องคํานึงว่าประชาชนทุกคนสามารถสมัครเข้าสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ และให้ผู้สมัครสมาชิก วุฒิสภาทุกกลุ่มเลือกกันเอง โดยจะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ระดับอําเภอ พอได้ตัวแทนระดับอําเภอ ก็ไปคัดเลือกกันเอง ต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศจนได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คน

ความคิดเห็นจากคําพูดที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” และ “ร่วมด้วยช่วยกัน”

“เงินไม่มา กาไม่เป็น” เป็นคํากล่าวที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในท้องที่ชนบทนั้น แท้จริงแล้ว มิได้ให้ความสนใจในการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่าที่ควร ส่วนใหญ่นั้นมักจะ “นอนหลับทับสิทธิ์” กล่าวคือ ถ้าไม่มีการนําเงิน มาให้เพื่อจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ดังกล่าวก็จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ไปกากบาทในบัตรเลือกตั้ง จนกว่าจะได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากับการ เดินทางหรือคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหากต้องไปใช้สิทธิดังกล่าว

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯ 2540 พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยกําหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” มิใช่ “สิทธิ” ดังเช่นในอดีต โดยเห็นว่าถ้าเป็น “สิทธิ” ของประชาชน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิ ของตนหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ากําหนดให้เป็น “หน้าที่” แล้ว หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะมีสภาพบังคับ (Sanction) ตามมา โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควรที่ทําให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่ก็ ไม่ได้ทําให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดน้อยลงไปได้

ส่วนคํากล่าวที่ว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” นั้นถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลในการให้ความร่วมมือ ออกไปเลือกผู้สมัครของคนในชนบท ทั้งนี้เพราะการใช้เงินหว่านซื้อเสียงโดยไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ทางศีลธรรม กับชาวบ้านได้อย่างต่อเนื่องและแน่นแฟ้น อาจกลับทําให้พ่ายแพ้ หากผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถสร้างอัตลักษณ์ ท้องถิ่นนิยมหรือจังหวัดนิยม โดยการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยพื้นที่ของตนให้มีความเจริญ ถนนหนทางดี น้ำไหล ไฟสว่าง ก็จะทําให้ประชาชนเกิดความภูมิใจในพื้นที่ของตน หากทําเช่นนั้นได้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะ ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่จําเป็นต้องอาศัยแต่เงินเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนมักชื่นชอบผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน โดยคาดหวังว่าเมื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนแล้ว จะเข้ามาสนใจทุกข์สุขของชาวบ้าน และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ มากกว่าผู้สมัครต่างถิ่น

POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

คําสั่ง ข้อสอบมี 4 ข้อ ให้ทําทั้ง 4 ข้อ แต่ละข้อต้องเขียนแสดงออกซึ่งความคิดเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน คาดหวังคําตอบข้อละประมาณ 3 – 5 หน้า

ข้อ 1 (ก) การเปรียบเทียบคืออะไร ?

ศึกษาอะไรบ้าง ?

อย่างไร ?

มีประโยชน์อย่างไร ?

มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ?

เทียบกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีวะ ฟิสิกส์) อย่างไร ?

สังคมโลกสนใจเปรียบเทียบเรื่องอะไรเป็นสําคัญ ? และ

(ข) จงเปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างหรือระบบ ตามแนวคิดของ David Easton กับของ Gabriel Almond อธิบายให้ละเอียดโดยยกตัวอย่างเกิดขึ้นจริงในชีวิตสังคมการเมืองไทย

แนวคําตอบ

การเปรียบเทียบ คือ การศึกษาวิเคราะห์ความคล้ายคลึงและความแตกต่างของคุณลักษณะ ต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบนั้นไม่จําเป็นในการตัดสินว่า ระบบการเมืองใดหรือสถาบันการเมืองใดดีที่สุด แต่เพื่อการเรียนรู้มากขึ้นว่า ทําไม (why) หรืออย่างไร (how) ในความเหมือนหรือความแตกต่าง และความเหมือน หรือความแตกต่างนั้นได้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ลักษณะการศึกษาเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

– ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามา เปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความ แตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ดูว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีเนื้อหาใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะรัฐธรรมนูญฯ 2550 เพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) เป็นกรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบนั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร สถาบัน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่าง และใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาท องค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

– หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน

ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น

ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะ ทําให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similarities) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่าง ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้าง กรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วม ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อมูลที่ได้ควรจะต้องมีการจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในการ เลือกตั้ง การเสนอกฎหมาย ฯลฯ โดยจะต้องใช้ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

สิ่งที่มักนํามาศึกษาเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการเมือง

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาผู้แทนราษฎร

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวุฒิสภา เป็นต้น

ประโยชน์ของการเปรียบเทียบ

1 ช่วยให้ผู้ศึกษามองเห็นการเมืองและการปกครองของประเทศอื่นได้ชัดเจนและลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น อันจะนํามาสู่ความเข้าใจต่อการเมืองของประเทศตัวเองที่ดีกว่าเดิม เมื่อผู้ศึกษาสามารถเชื่อมโยงอิทธิพล ความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างประเทศเหล่านั้นกับประเทศตัวเองได้

2 ช่วยให้ผู้ศึกษาหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อชาติตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Ethnocentrism) ใน การตัดสินผู้อื่น อันนําไปสู่การเปิดใจกว้างต่อการปกครองที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะรูปแบบการเมืองและการปกครองของประเทศที่ผู้ศึกษาอาศัยอยู่นั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะตัวมาตั้งแต่ต้น หากแต่ได้รับอิทธิพลและได้ ผสมผสานกับรูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศอื่นมานาน

3 ช่วยให้ผู้ศึกษามีทางเลือกหรือการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่หลากหลายกว่าเดิมจากการเรียนรู้ถึงบริบท และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ

4 ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจภาวะปัจจุบัน รวมไปถึงกฎเกณฑ์สากลเกี่ยวกับการเมืองโลก เป็นต้น

ความเป็นวิทยาศาสตร์ของการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือเป็นสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษา เหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัยรูปแบบ แบบแผน พฤติกรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคม หรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบการเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษา เปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

เทียบกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีวะ ฟิสิกส์) ได้ดังนี้

1 การเลือกปัญหา (Problem Selection) จะเกี่ยวพันกับการสร้างทฤษฎีเพื่อเป็น องค์ประกอบของการสร้างปัญหาที่จะวิเคราะห์ว่าปัญหานั้น ๆ ควรมีตัวแปรอะไรเข้าไปเกี่ยวพันบ้าง และเมื่อมี ตัวแปรเหล่านั้นแล้วจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์อะไรบ้าง ผู้ที่จะสร้างทฤษฎีทางสังคมจะต้องเลือกปัญหาที่มี ผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม และต้องเป็นประเด็นที่คนส่วนมากให้ความสนใจ ผู้เลือกปัญหามาศึกษา จะต้องเป็นผู้มีจิตนาการที่กว้างไกลและมีความสํานึกต่อปัญหาสังคมนั้น ทั้งนี้เพราะปัญหาสังคมที่ล้ําลึกบางครั้ง เกิดจากสภาพสามัญสํานึกของนักทฤษฎีที่มีความรู้สึกว่าประเด็นนั้น ๆ สําคัญนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ บุคคล ดังนั้นการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบจะต้องอาศัยทั้งศิลปะ และวิทยาศาสตร์ทางสังคมเข้ามาช่วยอธิบาย ปรากฏการณ์ทางสังคม

2 การสังเกตอย่างเป็นระบบ (Systematic Observation) จะช่วยในการสร้างตัวแบบใน การเปรียบเทียบ ซึ่งจะต้องมีการจัดลําดับข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ และที่สําคัญจะต้องมีการพรรณนาข้อมูลที่ได้มา ในเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นักสังคมศาสตร์นั้น ๆ จะต้องเป็นผู้มีจินตนาการ รู้จักจัดสรรข้อมูล และที่สําคัญจะต้อง สามารถอธิบายข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างเป็นระบบ มิใช่แต่นักวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จะต้องมีความสามารถในการ พรรณนาข้อมูลที่ค้นคว้ามา นักเคมี นักชีววิทยา และนักฟิสิกส์ก็จะต้องมีความสามารถในการสังเกตและพรรณนา ข้อมูลที่ได้มาจากการสังเกตอย่างเป็นระบบด้วย เมื่อข้อมูลที่จัดเก็บมาอย่างเป็นระบบนั้นถูกนํามาวิเคราะห์ ก็จะ สามารถตั้งเป็นสมมุติฐานและทําการทดสอบต่อไปได้นั่นเอง

สังคมโลกมักเปรียบเทียบในประเด็นที่สําคัญดังนี้

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาใน ด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน เศรษฐกิจและสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการ เรียนรู้ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค

– ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอยางมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึง ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และ รวมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และ หลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและ การกระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้น ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ํา ดิน ฟ้า อากาศ

ทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยี

การตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม

ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

เปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างหรือระบบของ David Easton และ Gabriel Almond David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มี ความสัมพันธ์เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างระบบที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และพฤติกรรมของระบบการเมืองได้

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม

ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ % เปรียบเทียบตัวแบบโครงสร้างหรือระบบของ David Easton และ Gabriel Almond

David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มี ความสัมพันธ์เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างระบบที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และพฤติกรรมของระบบการเมืองได้

 

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั้นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะ ให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั่นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นได้

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

 

2 ระบบการเมือง (System) ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา (ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบ การเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ํา อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

– จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ” ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั้นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

– สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้างชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ – สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผล

การร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น – สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ําของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ส่วน Almond นั้นเชื่อว่าถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการ แสดงออกของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับ กฎหมายและพิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมา สนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มีการปะทะสัมพันธ์ในระบบการเมือง และแบบแผนของการบะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั่นเอง

Almond ได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวางแผนเปรียบเทียบระบบการเมืองจาก David Easton ในหนังสือชื่อ “ระบบการเมือง” (The Political System) โดยเขาให้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ระบบการเมืองไว้ดังนี้

 

Almond เห็นว่า หน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

  1. หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนด นโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ (Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู้ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ โดย Almond มีความเห็นสอดคล้องกับ Easton นั่นคือ การเรียกร้องและการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่ม

สถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่น ต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

– การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดยไม่บิดพลิ้ว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิธีการของสังคม

 

ข้อ 2 (ก) การพัฒนาที่แท้จริงคืออะไร ? ขณะนี้ประเทศไทยประกาศการปฏิรูปประเทศมากมาย เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12, Thailand 4.0, Digital Thailand เป็นต้น ทั้งหมดดังกล่าวจะทําให้สังคมไทยมีการพัฒนาที่แท้จริงหรือเป็นเพียง “การทันสมัยแต่ด้อยพัฒนา” ? ทําไม ?

จงอธิบายและระบุตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริงให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม และ

(ข.) สังคมไทยจําเป็นต้องกล่อมเกลาปลูกฝังผู้คนในสังคมในมิติใดบ้าง เพื่อให้เกิดมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมตามตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริงที่ระบุในข้อ

ก และใครหรือองค์กรใดบ้างจะทําหน้าที่ เป็นผู้ปลูกฝังกล่อมเกลา (Change agents) ระบุและอธิบายให้ชัดเจน

แนวคําตอบ

การพัฒนาที่แท้จริง คือ กระบวนการที่ทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ยังทําให้เกิดการกระจายรายได้ ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค นั่นคือ ประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน และนําไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยถ้วนหน้า

สาระสําคัญหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ ก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ปี 2560 – 2579) อันประกอบด้วย วิสัยทัศน์ เป้าหมายอนาคตของชาติที่คนไทยทุกคนต้องการบรรลุร่วมกัน รวมทั้งยุทธศาสตร์หลัก หรือนโยบายแห่งชาติและมาตรการเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวทาง ทิศทาง และวิธีการที่ทุกองค์กรและคนไทยทุกคนต้อง มุ่งดําเนินการไปพร้อมกันอย่างประสานสอดคล้องเพื่อให้บรรลุซึ่งสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องการ คือ ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในทุกสาขาของกําลังอํานาจแห่งชาติ ได้แก่ การเมืองภายในประเทศ การเมือง ต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคนไทยทุกคนอยู่ดีมีสุข

รัฐบาลจึงได้ประกาศแผน ฯ ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่น พัฒนาให้มี ความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครอง, พัฒนาโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้ทันสมัย, ทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย ที่ล้าสมัย, กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้, ยกระดับผลิตภาพ ความสามารถใน การแข่งขันสูงขึ้น, รักษา ฟื้นฟูให้สมบูรณ์ละยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

มาตรการดังกล่าวนั้นสามารถทําให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่แท้จริงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยมีประเด็นการพัฒนาที่สําคัญในอนาคต หากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้าน ต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องดังต่อไปนี้ คือ

1 การพัฒนาคน / ทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย เป็นการพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ สุขภาพกายและจิตใจ และจิตวิญญาณอย่างจริงจัง เพื่อให้คนไทยเป็นคนมีคุณภาพอย่างแท้จริง

2 การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ําและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการให้บริการทางสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึง

3 การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการที่มุ่งสู่คุณภาพ มาตรฐาน และความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจศักยภาพสูงบนฐานของการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสําหรับการพัฒนา เศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

4 การปฏิรูปภาครัฐและกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อสร้างความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ให้บริการคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

5 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้าทันโลก สามารถ ตอบโจทย์การผลิตและบริการที่มีมูลค่าสูงและแข่งขันได้ และมีคุณค่าทําให้คุณภาพชีวิตดีโดยการสร้างสภาวะ แวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อก้าวผ่านจากการเป็นผู้ซื้อ เทคโนโลยีไปสู่การเป็นผู้ผลิตและขายเทคโนโลยี เป็นต้น

6 ตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริง ได้แก่

1 ความมั่นคงทางการเมือง หรือบางครั้งอาจใช้คําว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” ก็ได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก

– ความต่อเนื่องของระบบการเมือง ซึ่งเราพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีความ มันคงทางการเมือง มักจะมีความต่อเนื่องทางการเมือง ไม่มีการแทรกแซงของทหาร กลไกทางการเมืองดําเนินไป ตามกฎหมายที่กําหนดไว้ ขณะที่การเมืองในประเทศที่กําลังพัฒนามักมีปัญหาเรื่องของการแทรกแซงของทหาร หรือถูกแทรกแซงจากภายนอกซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขทางการเมือง

– ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มักถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางการเมืองเสมอ เนื่องจากประเทศใดที่มีเศรษฐกิจไม่ดี มีคนว่างงานจํานวนมาก รายได้ของประชาชนน้อยลง สินค้ามีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเสถียรภาพหรือความมั่นคงทางการเมืองย่อมลดลงถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตค่อนข้างสูงก็จะทําให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลมีมากเช่นกัน

– สังคม ปัญหาสังคมมักเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และนําไปสู่ปัญหาทาง การเมืองของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาของยาเสพติด ปัญหาของคนว่างงาน ปัญหาของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2 สถาบันทางการเมือง

– รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญของ ประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญจะเป็นตัววางกรอบโครงสร้างทั้งหมดทางการเมืองที่จะพูดถึงในเรื่องสิทธิ อํานาจหน้าที่ และที่มาของสถาบันตัวอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกทางการเมืองในแบบต่าง ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความชอบธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและวิถีการดําเนินชีวิตของคนในชาติ นอกจากนี้จะต้องไม่มีความเอนเอียง หรืออํานวยประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกยับยั้งและเกิดการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อต่อต้าน ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่ดีจึงก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

– สภา ถือเป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งเราให้ความสนใจในเรื่องที่มาและอํานาจหน้าที่ ของสภาว่ามีอะไรบ้าง สมาชิกมาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้ง สัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. เป็นเท่าใด สิ่งเหล่านี้ จะถูกนํามาพิจารณาทั้งสิ้น นอกจากนี้เรายังมองไปถึงพฤติกรรมของสมาชิกในสภาว่ามีลักษณะเช่นไร

– พรรคการเมือง ถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรค ที่มีนโยบายและอุดมการณ์ของตนเองได้มีบทบาทในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนให้กับประชาชนเข้าไปทําหน้าที่ในสภา พรรคการเมืองที่มีโอกาสทําหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องรู้จักวางแนวทางในการ

– ทําหน้าที่เมื่อเป็นรัฐบาล มีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ ของประเทศชาติเสมอ

3 การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ประเทศมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองก็มักจะขับเคลื่อนไปได้ยาก ฉะนั้นถ้าประเทศใดก็ตามที่มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการศึกษาที่ดี และมีความรู้ การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ถ้า ประเทศใดมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา ประชาชนอดอยาก ขาดการศึกษา การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ง่าย ดังนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาทางการเมืองจึงมักจะถูกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสมอโดยทั้ง 2 ตัวแปรมักแยกกันไม่ออก เป็นต้น

การกล่อมเกลาปลูกฝังผู้คนในสังคมเพื่อให้มีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมตามตัวชี้วัดการพัฒนา ที่แท้จริง มีดังนี้

1 ภาครัฐจะต้องมุ่งเน้นสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง และประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยเร็ว รวมทั้งมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมคุ้มครองความมั่นคงให้แก่ประชาชน ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้พรรคการเมือง บางพรรคนําไปใช้เป็นเงื่อนไขกับประชาชน เพื่อนําไปใช้เป็นนโยบายประชานิยมในการนําตนเข้าไปสู่อํานาจ หรือ ซื้อเวลาให้ตนอยู่ในอํานาจเท่านั้น

2 ภาครัฐจะต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมในเรื่องการสร้างจิตสํานึก ทางการเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างพลเมือง โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท ชนชั้นกลางในเมือง นิสิตและนักศึกษา

3 เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งรัฐบาล ภาครัฐ และภาคการศึกษาจะต้องส่งเสริมและผลักดันให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมของนักเรียน นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างจิตสํานึกทางการเมืองที่ดีให้แก่ประชาชนและสังคม

4 ในด้านภาคการศึกษาจะต้องปลูกฝังจิตสํานึกทางการเมือง โดยมีวิชาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง บรรจุในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ

5 ในด้านภาคกฎหมายจะต้องมีกฎหมายป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงที่เข้มข้น ผู้ที่ซื้อสิทธิ หรือขายเสียงต้องมีโทษความผิดที่หนัก เพื่อป้องกันวัฒนธรรมการซื้อสิทธิขายเสียง

6 ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมกันปฏิรูป กํากับ และรณรงค์จริยธรรมคุณธรรม ทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยไม่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ มากกว่าการสร้างภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง เป็นต้น

ผู้ที่จะทําหน้าที่เป็นผู้ปลูกฝังกล่อมเกลา (Change agents) ได้แก่

– ครอบครัว การสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อในการสร้างความรู้ทางการเมือง โดยครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยแรกในการฝึก ให้เด็กได้รับรู้สภาพและเป็นการปูพื้นฐานทางการเมือง นักรัฐศาสตร์เปรียบเทียบได้ให้ความสําคัญกับครอบครัว และบทบาทของครอบครัวในการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบครัวจะช่วยในเรื่องการ หล่อหลอมทางการเมืองได้ 3 แนวทางด้วยกัน คือ

1) ครอบครัวจะช่วยถ่ายทอดทัศนะของพ่อแม่ต่อเด็ก โดยเด็กจะเรียนรู้สภาพ ความคิดและโอกาสในการแสดงความคิดเห็นจากทัศนคติของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือเปิดโอกาสและพูดคุยการเมืองให้กับเด็กแล้ว เด็กคนนั้นก็จะได้รับรู้และมีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แม้ว่า บางครั้งในสังคมไทยอาจจะมีบางครอบครัวที่มีความเผด็จการกับลูก ๆ อยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วก็ยังถือได้ว่ายังมี ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ

2) พ่อแม่จะมีลักษณะเป็นตัวแบบให้กับเด็ก โดยเด็กจะมีการเลียนแบบจากสิ่งที่ พ่อแม่กระทํา เช่น พฤติกรรมในการกิน การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อื่น ความมีน้ําใจ การมีส่วนร่วม การมีนิสัย ชอบการเลือกตั้ง ชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กจะเรียนรู้และตามแบบจากพ่อแม่

3) บทบาทและสิ่งที่เด็กคาดหวังที่จะกระทําเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จะมีความสัมพันธ์กับ การแสดงออกทางการเมืองของเขา นั่นคือ เด็กจะแสดงออกทางการเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความหวังที่เขาได้รับ เมื่อครอบครัวสั่งสอน เขาอาจมีเป้าหมายที่จะเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเขาเติบโต ขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลผูกพันกับระบบการเมืองแทบทั้งสิ้น

– โรงเรียน นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างให้เกิดสังคมที่ดี และเป็นหน่วยสร้าง การกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมีโอกาสได้รับอิทธิพล ในการเรียนรู้จากโรงเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนมีเวลานาน จึงเป็นผลให้ความรู้ ทางการเมืองที่เด็ก ๆ จะได้รับมีการสะสมมานานจนสามารถฝังอยู่ในความทรงจํา

ในสังคมไทยนั้นระบบโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนนับว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อ ของเด็กมาก เด็กมักจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ เนื่องจากมีโอกาสอยู่ในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เมื่อเด็กมีการศึกษามากขึ้นโอกาสที่เขาจะได้รับรู้ความเป็นไขทางการเมืองก็จะมากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา เนื่องจากเขาสามารถศึกษา เพิ่มเติมได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ บทความ การสนทนาทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งคนที่ต้อยการศึกษาอาจไม่ได้รับ ในรายละเอียดได้มากเท่ากับคนที่มีการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนยังช่วยในการสร้างค่านิยมของระบอบประชาธิปไตย ให้เยาวชนผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยได้อีกด้วย

– สื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ ต่างก็เข้ามามีบทบาทใน ชีวิตประจําวันของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในการสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาวัฒนธรรมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการอบรมหรือเป็นช่องทางในการเผยแพร่

และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นการนําเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนจึงมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อ การพัฒนาการเมืองของไทย เพราะถ้าสื่อมวลชนไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและนําเสนอข่าวสารที่บิดเบือน จากข้อเท็จจริงแล้ว อาจทําให้ประชาชนหรือเยาวชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาหยิบยกประเด็นทางการเมืองประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาวิเคราะห์ โดยเลือกใช้แนวทางการศึกษา (Approach) ของการเมืองเปรียบเทียบแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสม จะใช้ในการอธิบาย โดยให้บรรยายถึงลักษณะของประเด็นปัญหาหรือเหตุการณ์ วิเคราะห์สาเหตุ และบอกถึงแนวทางแก้ปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แนวคําตอบ

“การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร” ถือเป็นประเด็นทางการเมืองหนึ่งที่สําคัญซึ่งมัก เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศโลกที่สาม หลังจากประเทศมหาอํานาจส่วนใหญ่ได้ปลดปล่อยประเทศในอาณานิคม ของตนออกมาเป็นประเทศเอกราชที่เกิดใหม่ ซึ่งประเทศเอกราชเหล่านี้มักมีแนวทางการพัฒนารูปแบบของ ระบอบการปกครองเหมือนกับประเทศแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตย แต่การพัฒนาไปสู่ ความเป็นประชาธิปไตยกลับไม่ประสบความสําเร็จ เกิดช่องว่างของอํานาจทางการเมือง โดยทหารมักจะเป็น กลุ่มทางสังคมที่มีพลัง มีประสิทธิภาพ และมีเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้

บทบาททางการเมืองของทหาร มีวิวัฒนาการดังนี้

ช่วงที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1930 นักรัฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกามีปฏิกิริยาต่อต้านการขยายตัว ของระบอบการปกครองแบบเผด็จการในยุโรป เกิดทฤษฎีและรูปแบบของนายทหารประจําการ ซึ่งจะสร้างสรรค์ อํานาจเผด็จการและใช้ความรุนแรงในรูปแบบใหม่

ช่วงที่ 2 เมื่อสงครามโลกครั้ง 2 สงบ แนวทางการศึกษาบทบาททางการเมืองของทหารได้ มุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ทหารได้พัฒนาตนเองในลักษณะของทหารอาชีพ

– ช่วงที่ 3 มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนในสังคมกําลังพัฒนาในเชิง

– เปรียบเทียบเกี่ยวกับสาเหตุผลักดันให้ทหารใช้อํานาจเข้าแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุสําคัญมาจากความล้มเหลวของการปกครองแบบรัฐสภาและความไม่มี ประสิทธิภาพในการปกครองของรัฐบาลพลเรือน

ช่วงที่ 4 แนวการศึกษาที่มุ่งวิเคราะห์บทบาทของ “ทหารอาชีพ” ในประเทศตะวันตก เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาบทบาทของทหารในประเทศกําลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของทหารซึ่งอาจจะ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมือง

ช่วงที่ 5 มีการนําเอารูปแบบของการศึกษาที่เชื่อว่า “ทหารเป็นนักพัฒนาหัวก้าวหน้าและ เป็นสมัยใหม่” มาใช้อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของประเทศกําลังพัฒนา โดยให้ความสําคัญแก่บทบาททหาร ต่อกระบวนการการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสมัยใหม่ และการพัฒนาการเมือง

ช่วงที่ 6 ทหารมีบทบาทเป็นองค์กรที่คอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาทางการเมือง จึงเริ่มหันมาให้ ความสนใจศึกษาและค้นคว้าหามาตรการที่จะทําให้ทหารเป็นพลเรือนมากขึ้น ซึ่งนักวิชาการเริ่มให้ความสนใจ กับปัญหาการก้าวออกจากอํานาจ และผลักดันให้ทหารกลับไปเป็นทหารอาชีพตามเดิม

สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

1 ความเปราะบางของรัฐบาลพลเรือนทําให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้โดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม มีการทุจริตการเลือกตั้ง ผู้นําพลเรือนมีความอ่อนแอขาดประสิทธิภาพ ในการบริหารประเทศ การปกครองระบอบประชาธิปไตยล้มเหลว ประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ปัญหาได้

2 องค์กรของทหารมีการจัดองค์กรที่เป็นระเบียบและเข้มแข็ง และมีอาวุธอยู่ในมือ ทําให้ สามารถแทรกแซงทางการเมืองได้ดีกว่ากลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มอื่น

3 ทหารมีผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองซึ่งอาจจะขัดกับรัฐบาลพลเรือน เมื่อรัฐบาลพลเรือน ไม่ทําตามที่ทหารต้องการหรือขัดกับผลประโยชน์ของทหาร ทหารก็มีแนวโน้มที่จะเข้าแทรกแซง

4 ทหารมีความทะเยอทะยานส่วนตัวและต้องการขึ้นสู่อํานาจทางการเมือง ซึ่งในบางครั้ง หารมักถูกใช้ให้ทําหน้าที่ปราบปรามจลาจลแทนตํารวจ ทําให้โอกาสของการใช้กําลังรุนแรงในการล้มรัฐบาล เท่าได้ง่าย

5 เกิดช่องว่างทางสังคม เป็นผลให้ทหารต้องเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เพราะผู้นํา พลเรือนมัวแต่แย่งชิงอํานาจกัน ทําให้ไม่รู้ว่าอํานาจแท้จริงเป็นของใคร

6 ทหารไม่ยอมรับอํานาจและความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน

7 ประชาชนไม่ตื่นตัวทางการเมือง เป็นต้น

แนวทางแก้ปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

1 กลไกด้านสังคม สังคมต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กล่าวคือ สังคมต้องสร้างองค์ความรู้ ในเรื่องกิจการทหาร และการป้องกันประเทศให้แก่สังคม ซึ่งถือเป็นวิธีหนึ่งในการทําให้สังคมมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพราะหากสังคมไม่มีความเข้มแข็งแล้ว การทําประชาธิปไตยให้เข้มแข็งคงเป็นไปได้ยาก

2 กลไกด้านการเมือง กล่าวคือ ต้องสร้างความเป็นสถาบันให้เกิดแก่องค์กรในสังคมการเมือง โดยคาดหวังว่า เมื่อสถาบันมีความเข้มแข็ง ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง ซึ่งทําให้โอกาสที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาท ในการแทรกแซงการเมืองโดยตรงอย่างในอดีตจะเกิดขึ้นได้ยาก

3 กลไกการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ การพัฒนากองทัพด้วยการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่สิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยจะยอมรับไม่ได้ แต่ต้องให้สังคมมีส่วนเข้ามารับรู้ สามารถตรวจสอบได้ โปร่งใส หรือสร้างกําลังพลในกองทัพให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นทหารอาชีพ ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับ การเมือง การให้ความรู้แก่ทหารจะทําให้ทหารมีความเข้าใจในเรื่องของกิจการทหาร ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพมีความเข้มแข็งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก

 

ข้อ 4 ให้นักศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และนักศึกษามีข้อเสนออย่างไรเพื่อนําไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่มั่นคงยั่งยืน

แนวคําตอบ

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาจะครบ 86 ปี ใน พ.ศ. 2561 นับตั้งแต่ เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 พบว่าคนไทยจํานวนมากยังขัดแย้งกันทั้งในเรื่องวิธีการและเป้าหมาย ของประชาธิปไตยอยู่ ซึ่งความไม่ชัดเจนในเรื่องประชาธิปไตยนี้เองได้ส่งผลต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง และยังเป็นอุปสรรคสําคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสําหรับสังคมไทย

ปัญหาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

1 การเป็นรัฐอุปถัมภ์ คือ การผูกขาดอํานาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 เป็นการถ่ายโอนอํานาจจากระบอบเก่าสู่ ระบอบใหม่ เป็นรัฐใหม่ที่ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมหรือประชาธิปไตยบนความแข็งแกร่งของระบบราชการที่มี อยู่ก่อนแล้ว ความจําเป็นของระบอบใหม่ที่ต้องมีผู้นําจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม ให้กับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังคงผูกขาดอํานาจและบทบาทไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ประชาชนจึงถูกครอบงํา และถูกกํากับเพียงทําหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เสียภาษีและไปเลือกตั้ง ทําให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่า “ประชาธิปไตย คือ การไปเลือกตั้ง” เป็นเพียงพลเมืองที่ผู้มีหน้าที่ตามที่รัฐกําหนดให้ จึงยังไม่มีพลเมืองที่ ไปมีส่วนร่วมในการกําหนดการมีอํานาจเละการสืบทอดอํานาจทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงจํากัด อยู่เพียงระดับการเลือกตั้ง นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางสังคมของประชาชนก็มีขอบเขตจํากัดอยู่เพียง การไปเข้าร่วมในโครงการของทางราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จึงทําให้ประชาชน ถอยห่างจากการเมือง และคอยรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งเป็นลักษณะของประชาชนที่อยู่ภายใต้การ อุปถัมภ์ของผู้ที่เหนือกว่า และขาดความเชื่อมั่นในการพึ่งตัวเอง

แม้ว่าจะมีการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นนับตั้งแต่ปี 2540 แต่การกําหนดอํานาจ ดังกล่าวนี้มิได้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและกําหนดจากประชาชนในท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอํานาจหน้าที่ และการเงิน การคลัง ทําให้อํานาจของท้องถิ่นยังถูกยึดโยงอยู่ที่อํานาจส่วนกลาง นั่นคือ นักการเมืองในส่วน ปกครองท้องถิ่นเองก็มีพฤติกรรมทางการเมืองไม่แตกต่างจากส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้งระดับชาติ ทําให้เกิด ระบบอุปถัมภ์ใหม่กดทับความอ่อนแอของประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นผู้ขาดอํานาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมนี้ ยังได้ มีการกําหนดและบงการความสัมพันธ์อาณาบริเวณของการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มิได้กระตุ้นส่งเสริม พลังต่าง ๆ ในประชาสังคม หากแต่จํากัดและควบคุมโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง อันเป็นการแยกประชาสังคมออกจากการเมือง และมีผลทําให้ เนื้อยซาและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังคงเป็นข้อปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

การใช้อํานาจและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยจึงมีอยู่มากในระบบราชการ เช่น การมี เส้นสายเพื่อเข้าสู่ตําแหน่งมากกว่าพิจารณาจากความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในปัจจุบันจะเห็นว่านักการเมือง ที่อยู่ในอํานาจจะมีอิทธิพลสูงและใช้อํานาจของตนในการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างความ เหมาะสมเมื่อประเทศไทยเร่งรัดพัฒนาประเทศเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เกิดวัฒนธรรมบริโภค นักธุรกิจมุ่ง หากําไรอย่างขาดสติ นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ใช้อํานาจทางการเมืองหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง ทําให้การเมืองกลายเป็นเรื่อง “ธุรกิจการเมือง” เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งธุรกิจและการเมือง และมีการคอร์รัปชั่นง่าย และมากขึ้น จนทําให้เรื่องคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้

2 การรัฐประหาร ถือเป็นสาเหตุสําคัญที่ไม่อาจนําไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ของไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการทหาร หรือ “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ. 2475 โดยพบว่าคณะรัฐประหารทุกยุคมักแสดงท่าที่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย หลังการ รัฐประหารจึงสนับสนุนให้เกิดสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ทั้งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง แต่ปัญหาของเผด็จการก็คือ การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทาง การเมือง อีกทั้งยังเป็นการทําลายหรือสกัดกั้นกระบวนการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และเป็นการผลิตซ้ํา ๆ ของเผด็จการทหารให้แก่การเมืองของคนไทยอีกด้วย

ดังนั้นวงจรรัฐประหารจึงเปรียบเสมือนวงจรเผด็จการที่หล่อเลี้ยงไว้ด้วยวัฒนธรรม อํานาจนิยม (Authoritarian Culture) โดยพยายามสร้างและรักษาความชอบธรรมทางการเมืองจากความ อ่อนแอและขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ถูกล้มเลิกไป เมื่อสถานการณ์เอื้ออํานวยจากความอ่อนแอของสถาบัน การเมืองทั้งหลาย รวมทั้งพฤติกรรมคอร์รัปชั่นของนักการเมืองนั่นเอง

3 การศึกษา กล่าวคือ การศึกษาไทยมักถูกออกแบบและกํากับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นําทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตก็ได้เน้นการกล่อมเกลาให้ราษฎรได้เข้าใจหน้าที่ของตนเพื่อ ตอบสนองต่อรัฐโดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาในเมืองหลวงจึงเน้นหนักไปในการสร้างคนเพื่อรับใช้ กลไกหลักของรัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ขณะที่การขยายการศึกษาไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศเป็นการสร้าง พลเมืองที่ดี การจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเช่นนี้ได้ละเลยความสําคัญของความเป็นชุมชน ความเป็น พหุสังคมที่มีศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันในประเทศ ด้วยเหตุนี้ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแบบวิถีชุมชนเพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งทําให้ชุมชนอ่อนแอและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ขาดความเสมอภาค และเท่าเทียมในพื้นที่ที่ห่างไกล

– นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในระยะยาวนั้น เป็นการสอน ตามความสนใจของผู้สอนที่มุ่งป้อนวิชาความรู้เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อฟัง จดจํา และทําตาม ไม่ได้ฝึกฝนให้ทําและ นําไปคิด เพื่อนําสู่การปฏิบัติและแสดงออก เป็นการเน้นวิชาการแต่ขาดการส่งเริ่มทักษะทางสังคม ผู้เรียนจึงถูก แยกส่วนออกจากอาณาบริเวณทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถเชื่อมโยงบทบาทของตนกับสังคม ภายนอกได้ และไม่สามารถสร้างจิตสํานึกของการเป็นเจ้าของสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ และไม่มีความพร้อมที่จะ รับผิดชอบในภายภาคหน้า การศึกษาทําให้คนไทยรู้จักแต่เพียงการเลือกตั้งและรูปแบบการปกครอง แต่ยังขาด ทักษะชีวิต การคิด การใช้ชีวิตในแบบสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการการแสดงออกถึงวุฒิภาวะในการใช้ความคิด การมีเหตุมีผล การมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นได้จริง ๆ

การศึกษาที่รวมศูนย์อํานาจไว้ที่รัฐบาลยังส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อย เข้าใจบทบาทของรัฐบาลที่มีต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่สนใจเรื่องส่วนรวม นักเรียนจึงมุ่งแข่งขันกันเรียน มุ่งหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น ทิ้งภาระทางสังคมการเมืองไว้กับนักการเมือง อันเป็นค่านิยมของ การบูชายกย่องผู้มีความสําเร็จทางเศรษฐกิจ มากกว่าการให้ความสําคัญกับการสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม ที่พร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม

4 สถาบันครอบครัว กล่าวคือ การเลี้ยงดูเด็กของคนไทยนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่เราจะสอนเด็กแบบอํานาจนียม ใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่เด็กต้องเชื่อ ฟังและปฏิบัติตามโดยขาดเหตุผล ต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่ พ่อ แม่ และผู้อาวุโสทุก ๆ คนที่อยู่ในครอบครัว ไม่รู้จัก รับผิดชอบตัวเอง ไม่มีวินัย จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ติดกับคตินิยมที่ว่า “เด็กดีคือผู้ที่เชื่อฟัง ผู้ใหญ่”

การอบรมเลี้ยงดูนั้นจะช่วยสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็ก ด้วยการสร้าง สมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพ ความรับผิดชอบและความมีวินัย โดยเฉพาะการสร้างนิสัยให้เป็น “ผู้มีวินัย” ที่ ควบคุมตัวเองได้ เพราะวินัยถือเป็นสิ่งสําคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองตนเอง ดังนั้นถ้าประชาชนขาดความรับผิดชอบและไม่มีวินัยแล้ว ย่อม หมายถึงการไม่สามารถบังคับหรือควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบ กติกาที่ตนเองและผู้อื่นร่วมกันกําหนดขึ้นได้ ซึ่ง ส่งผลทําให้ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองอย่างเหมาะสมได้เช่นกัน การเป็นผู้มีวินัยนั้นยังเป็นผู้ที่มีความ ชื่อตรงต่อหน้าที่ของตน คือ มีความรับผิดชอบต่อสถานภาพต่าง ๆ ที่ตนเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของชุมชน ของครอบครัว และพลเมืองของประเทศ ดังนั้นการมีวินัยจึงมีความจําเป็นมากสําหรับสังคมไทย เพราะคนไทย โดยทั่วไปนั้นมักขาดวินัย ดังคํากล่าวที่ว่า “ทําอะไรตามใจคือไทยแท้” อีกทั้งยังชอบหลบหล็กกฎหมายหรือ ระเบียบของสังคม เช่น การฝ่าฝืนกฎจราจร การหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น

6 แนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้มีความมั่นคงยั่งยืน

1 พัฒนาความรู้ความเข้าใจและเจตคติให้แก่ประชาชนทุกระดับ ในการเรียนรู้และฝึกฝน ทักษะการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งประชาชนจะต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกอิทธิพล ของใคร่ชักจูง กระบวนการเรียนรู้นี้ต้องถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย และพัฒนา ให้มีความลึกซึ้งมากขึ้นในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ครูผู้สอนในสถานศึกษาทุกระดับจะต้องเป็นกลไกสําคัญในการหล่อหลอมเยาวชนไทยให้เข้าใจและมีเจตคติที่ถูกต้องในเรื่องประชาธิปไตย การเผยแพร่ความรู้ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องทําควบคู่กันไป เพราะหลักการของประชาธิปไตยนั้นประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของสิทธิ หรือ เป็นเจ้าของเสียงในการเลือก “คน” ที่จะมาทําหน้าที่แทนตน

2 ฝึกฝนการเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจให้กับประชาชนทุกระดับ เพราะการเข้าร่วมใน กระบวนการตัดสินใจเป็นลักษณะสําคัญประการหนึ่งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และเป็นสัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนทราบถึงความต้องการของตนเองและนักปกครองไม่สามารถละเลยความต้องการนี้ได้ การฝึกเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจควรหล่อหลอมตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยบูรณาการให้เข้า กับวิถีของคนในชุมชนและฝึกจนเป็นปกติวิสัย ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนทาง การเมืองและมีความรู้สึกเป็นอิสระในการตัดสินใจ ประชาชนจะรู้สึกเป็นนายของตัวเองเพิ่มขึ้น และเมื่อเขา เหล่านั้นเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของประเทศ สํานึกในความเป็นประชาธิปไตยจะช่วยจรรโลงให้เกิดความยั่งยืน ในสังคม

3 ผู้บริหารประเทศต้องยึดขันติธรรมทางการเมือง และความยั่งยืนของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การยึด “เสียงข้างมาก” ว่าเป็นฝ่ายถูกต้อง หรือให้มีสิทธิมีอํานาจในการลิดรอนเสรีภาพ หรือคุกคามกลุ่มเสียงส่วนน้อย เพราะการกระทําดังกล่าวจะทําให้กลุ่มเสียงข้างน้อยไม่ได้รับประโยชน์ นํามาซึ่ง ความไม่สงบสุขของประเทศได้ ดังนั้นหลักขันติธรรมทางการเมืองจึงหมายถึงการยอมรับความหลากหลายในสังคม ไม่ปล่อยให้เสียงข้างมากกดขี่กลุ่มเสียงข้างน้อย โดยผู้บริหารประเทศต้องมีการส่งเสริมฉันทามติที่สมดุลในสังคม

การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน โดยเฉพาะความแตกต่างด้านความรู้สึกนึกคิด และการแสดงออกซึ่ง ความคิดเห็น ตราบใดที่ความแตกต่างนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือสังคม ผู้มีวัฒนธรรมทางการเมือง ย่อมแสดงความอดกลั้น และเคารพในความแตกต่างของผู้อื่นได้ ซึ่งจะนําไปสู่การสร้างเอกภาพในความแตกต่างของ การอยู่ร่วมกันในสังคม

4 การจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้การศึกษาตอบสนองความเป็นอยู่ในชีวิตประจําวันมากขึ้น โดยขยายฐานการศึกษาที่ไร้ขีดจํากัด กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเป็นธรรม ทั้งกลุ่มเยาวชน หรือบุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน การศึกษาต้องเปิดโอกาสสําหรับบุคคลทุกช่วงอายุและทุกสถานะ เพราะเมื่อ บุคคลได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจในการแก้ปัญหา หรือลงความเห็น ต่าง ๆ จะเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

5 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความโปร่งใส สถาบันของรัฐหรือนักปกครองต้อง รับผิดชอบการกระทําของตน นอกจากจะต้องรับผิดชอบในการทํางานเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว ยังต้อง รับผิดชอบต่อฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระ และรับผิดชอบต่อสถาบันกลางอื่น ๆ ที่ทําหน้าที่ในการตรวจสอบ การทํางานของรัฐบาล เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากนโยบายที่แท้จริง ป้องกันการตกอยู่ในภาวะ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียผลประโยชน์ที่ตนจึงได้รับ

6 มีการกระจายอํานาจเพื่อไม่ให้อํานาจกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทําให้ ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับการตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสมตามสิทธิอันพึงได้รับ เกิดการกระจาย ของงบประมาณ อันจะส่งผลต่อการกระจายทรัพยากร การพัฒนาสาธารณูปโภค การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนา สุขภาพ และการพัฒนาการศึกษา ทําให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงใน กระบวนการประชาธิปไตย เปิดโอกาสในการพัฒนาการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะเอื้อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มคน ของภาคส่วนนั้น ๆ มีการจัดตั้งกลุ่มประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นกลไกสําคัญที่ทําให้ประชาธิปไตยดําเนินต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐสามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มประชาสังคมได้อย่างราบรื่น ย่อมเป็นการลดช่องว่างระหว่าง ภาครัฐและประชาชนได้ และหากการขับเคลื่อนประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็จะนําไปสู่การ พัฒนาประชาธิปไตยที่มันคงยั่งยืนนั่นเอง

POL3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

คําสั่ง

ข้อสอบมีทั้งหมด 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทํา 4 ข้อ คาดหวังคําตอบเป็นข้อเขียนแสดงความรู้ ความคิด และยกตัวอย่าง

ข้อ 1 การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบมีความเป็นมาอย่างไร ?

ศึกษาอย่างไร ?

ศึกษาอะไรได้บ้าง ?

มีประโยชน์อย่างไร ?

มีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่อย่างไร ?

การศึกษาเปรียบเทียบในโลกปัจจุบัน มักจะทําการเปรียบเทียบอะไรบ้าง ?

(อาจจะระบุอธิบายขยายความเพียงเรื่องเดียว แต่อธิบายขยายความอย่างน้อย 3 ประเด็น)

แนวคําตอบ

ความเป็นมาของการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ

ในสมัยกรีกตอนต้น นักปรัชญาการเมืองเช่น อริสโตเติลได้ใช้เทคนิคการศึกษาเปรียบเทียบ รูปแบบของรัฐบาลและแนวทางการปกครองของนครรัฐต่าง ๆ เช่น เอเธนส์ สปาร์ต้า เป็นต้น โดยมีการรวบรวม รัฐธรรมนูญของนครรัฐต่าง ๆ ถึง 158 รัฐธรรมนูญด้วยกัน และได้ทําการจัดลําดับขั้นพื้นฐานของรัฐบาลในรูปแบบ ต่าง ๆ เช่น รัฐบาลที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง การปกครองแบบอภิชนาธิปไตย และการปกครองแบบประชาธิปไตย ในเวลาต่อมานักรัฐศาสตร์คนสําคัญ ๆ เช่น โพลิเบียส และซิซีโรได้ถ่ายทอดความรู้จากกรีกเป็นภาษาโรมันโดยใช้ การเปรียบเทียบ โดยโพลิเบียสได้เน้นถึงคุณค่าของรูปแบบการปกครองที่มีการผสมผสานกันโดยรวมเอารูปแบบ ทั้ง 3 ที่อริสโตเติลนําเสนอเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการนําหลักกฎหมายธรรมชาติและหลักความยุติธรรมเข้ากับแนวคิด ตามแบบฉบับกฎหมายโรมัน

ในสมัยกลาง นักรัฐศาสตร์ เช่น มาเคียเวลลี่ ได้นําแนวการศึกษาเปรียบเทียบที่อริสโตเติล เคยศึกษามาวิเคราะห์ใหม่ โดยใช้แนวการเขียนแบบรัฐศาสตร์ยุคใหม่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็คือ การใช้หลักการสังเกต การเมืองในรัฐต่าง ๆ และบางรัฐในยุโรป โดยมีสมมุติฐาน คือ มีปัจจัยอะไรที่ทําให้รัฐมีความมั่นคง และผู้ปกครอง มีความสามารถในการปกครอง

ในศตวรรษที่ 18 นั้น มองเตสกิเออ ได้ศึกษาธรรมชาติของเสรีภาพที่มนุษย์จะพึงมี โดยเสนอ หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation of Power) การสังเกตระบบการปกครองของอริสโตเติล และใช้หลักการ จัดลําดับชั้น (Classification) ของระบบการเมืองต่าง ๆ

ในศตวรรษที่ 19 นั้น มีการศึกษาเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์เกิดขึ้น และมีการนําหลักการ พัฒนาทางการเมืองมาเป็นแนวในการศึกษาเปรียบเทียบ

การหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบจะเน้นในเรื่องหน้าที่และ ขอบเขตของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ มาเป็นตัวประกอบในการศึกษา แม้ว่าการศึกษาหน้าที่และขอบเขตของรัฐบาล ในประเทศต่าง ๆ จะมีลักษณะเดิมคือ นําเอาหลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และโครงสร้างของรัฐบาลมาใช้วิเคราะห์ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวใหม่ที่สําคัญของรัฐศาสตร์เปรียบเทียบในยุคหลังสงคราม

สําหรับในปัจจุบันนั้นนักรัฐศาสตร์ทางการปกครองเปรียบเทียบสนใจที่จะศึกษาวิธีการ เปรียบเทียบมากกว่าที่จะมุ่งศึกษาถึงความเป็นมาของการปกครองเปรียบเทียบและทฤษฎีทางการเปรียบเทียบ

ลักษณะการศึกษาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามา เปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความ แตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น การเมืองการปกครองของไทยและของพม่า ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ระบบการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบบประชาธิปไตยแบบ รัฐสภา ในขณะที่ระบบการเมืองการปกครองของพม่าเป็นระบบรวมศูนย์อํานาจโดยรัฐบาลทหาร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้ หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะเรื่องการเมืองไทยเพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องการเมือง ของประเทศอื่น ในการเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) คือ กรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบ นั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร หรือสถาบัน รวมไปถึงกลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) พฤติกรรมต่าง ๆ และกลุ่มประเทศ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่างและใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับ ตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาท องค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน

ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น การนําเอาพรรคการเมืองเป็นหน่วยการวิเคราะห์ ทางการเมือง โดยเปรียบเทียบในแงโครงสร้างของพรรคการเมืองหรือดูในเรื่องนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง หรือ ดูในเรื่องอุดมการณ์ของแต่ละพรรคการเมือง หรือดูในแง่ของความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง เป็นต้น

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1) ระดับชาติ คือ ส่วนกลาง โดยมีรัฐบาลกลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหัวใจสําคัญและเป็นหลักของการบริหารประเทศ

2) ระดับภูมิภาค คือ ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดและอําเภอ 3) ระดับท้องถิ่น คือ ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล, กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะทําให้ ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similarities) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้างกรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการศึกษาข้อมูลของประเทศพม่าเกี่ยวกับ บทบาทของนักศึกษา ข้อมูลที่ได้จะต้องมีการจัดระเบียบในเรื่องของขบวนการนักศึกษาก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เคย เปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ มีผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับบทบาทของนักศึกษาไทยก็ได้ แต่จะต้องใช้ ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

สิ่งที่มักนํามาศึกษาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบพรรคการเมืองในยุคต่าง ๆ

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบตุลาการในยุคต่าง ๆ

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. และ อบจ.

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบชนชั้นในยุคต่าง ๆ

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารในยุคต่าง ๆ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสื่อมวลชนในยุคต่าง ๆ

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวัฒนธรรมการเมืองในยุคต่าง ๆ

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคต่าง ๆ

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้งในยุคต่าง ๆ เป็นต้น

 

ประโยชน์ของการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

1 ทําให้เราสามารถศึกษาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถลงในรายละเอียดของการศึกษา เปรียบเทียบ และช่วยให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

2 ทําให้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้น อันจะนําไปสู่การศึกษาและเกิดการพัฒนาในองค์ความรู้ จากระดับประเทศไปยังระดับนานาชาติ หรือระดับสากลต่อไป

3 ทําให้ได้รับการยอมรับและสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศที่ดี รวมทั้งยังเป็น แนวทางในการศึกษาให้กับการพัฒนากระบวนการศึกษาเปรียบเทียบให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

4 ช่วยเสริมสร้างให้กับวิชารัฐศาสตร์มีชีวิตชีวา เกิดการปะทะสัมพันธ์ของนักวิชาการ ทางสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จํากัดแต่นักรัฐศาสตร์ และที่สําคัญได้สร้างและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นระบบขึ้น รวมทั้งยังสามารถให้การอธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรทางสังคมศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน

ในส่วนของความเป็นศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ (Science) นั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือ เป็นสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัย รูปแบบ แบบแผน พฤติกรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคมหรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลอง ขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบการเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

การศึกษาเปรียบเทียบในโลกปัจจุบันมักจะทําการเปรียบเทียบในประเด็นที่สําคัญดังนี้

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาใน ด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้าน เศรษฐกิจและสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการ เรียนรู้ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและ สังคมที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึง ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และ รวมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และ หลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและ การกระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้น ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ำ ดิน ฟ้า อากาศ ทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยี การตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

 

ข้อ 2 Structure คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

Function คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

เขียนแผนภูมิและอธิบายแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ซึ่งพัฒนาเป็นทฤษฎีระบบของ David Easton หรือของ Gabriel Almond คนใดคนหนึ่งคนเดียวเท่านั้น

แนวคําตอบ

Structure คือ แบบแผนของกิจกรรมที่ทํากันสม่ําเสมอ โดยผู้ที่กระทํากิจกรรมจะมีบทบาท แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมบทบาทของกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เป็นโครงสร้างนั้น ๆ เช่น โครงสร้างของรัฐสภา ประกอบด้วย ประธานสภา รองประธานสภา เลขาธิการ และสมาชิก ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อ เรารวมเอาบทบาทของส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้โครงสร้างของรัฐสภานั่นเอง

ลักษณะของโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1 โครงสร้างที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น อุดมการณ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม ความชอบ ทัศนคติ ความงมงาย การรับรู้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากจะต้อง ใช้ระยะเวลาในการปลูกฝังหรือถ่ายทอดที่ค่อนข้างยาวนาน และมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นจึงทําให้โครงสร้างที่เป็น นามธรรมมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเมื่อใด ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว จะยังคงอยู่

2 โครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ หรือสัมผัสได้ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นต้น ซึ่งถือเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข ปรับปรุงได้ง่ายกว่าโครงสร้างที่เป็นนามธรรม กล่าวคือ ถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็สามารถกระทําได้ทันที

3 โครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งบังคับให้เรา คิดอยากจะทําหรือไม่ทํา ให้ชอบหรือไม่ชอบ ให้เชื่อหรือไม่เชื่อ โดยทั่วไปแล้วมักแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ของโครงสร้าง เหล่านั้นเสมอ ตัวอย่างของโครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เช่น กฎหมาย ประกาศ คสช. สัญลักษณ์ สถาบัน (ศาลรัฐธรรมนูญ) กลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

Function คือ กิจกรรม (Activity), วัตถุประสงค์ (Purpose), ผลที่ตามมา (Consequence) หรือในบางครั้งอาจหมายถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้อธิบายถึงคุณค่าในตัวของมันเอง หรือเป็นคุณค่าที่เกิดตามตัวแปรอื่นก็ได้ โดยนักสังคมศาสตร์ได้สรุปเกี่ยวกับหน้าที่ไว้ 3 ประการ ดังนี้

1 หน้าที่คือการศึกษาระบบทั้งระบบ เช่น ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยถือว่าระบบต่าง ๆ เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis)

2 หน้าที่นิยมจะมีความสําคัญมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป เมื่อเป็นดังกล่าวหน้าที่ บางอย่างจึงมีความจําเป็นสําหรับระบบทั้งหมด (The Whole System)

3 หน้าที่บางประการมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependent) ต่อโครงสร้าง หลาย ๆ โครงสร้าง กล่าวคือ หลายระบบต้องพึ่งพิงจากหน้าที่ดังกล่าว

ลักษณะทั่วไปทั้ง 3 ประการของหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้นักสังคมศาสตร์เห็นว่าในระบบใด ระบบหนึ่งเป็นระบบสังคมหรือระบบการศึกษา ต่างก็มีหน้าที่หลักของแต่ละระบบอยู่ เช่น ในระบบหนึ่ง ๆ ก็จะต้อง มีวัฒนธรรมทําหน้าที่เป็นองค์ประกอบให้ระบบสังคมนั้น ๆ ดํารงอยู่ได้ วัฒนธรรมดังกล่าวอาจประกอบไปด้วย ภาษา ศาสนา ฯลฯ

แนวคิดทฤษฎีระบบของ David Easton

David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มี ความสัมพันธ์เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง เพื่อสร้างระบบที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และพฤติกรรมของระบบการเมืองได้

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) หมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เข้าสู่ระบบเพื่อ ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและตัดสินใจออกมาในรูปของนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยน้ําเข้านี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) หมายถึง การที่สมาชิกของสังคมการเมืองให้การสนับสนุน ระบบตลอดจนการดําเนินการของระบบการเมือง ซึ่งการให้การสนับสนุนนี้อาจจะอยู่ในรูปของการแสดงออกที่สามารถ เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบของบ้านเมือง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น โดยการ สนับสนุนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั่นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะ ให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั่นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นได้

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

ระบบการเมือง (System) หรือผู้ตัดสินใจ ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา (ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) เป็นผลของการตัดสินใจของผู้มีอํานาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การจัดสรรสิ่งที่มีค่าในระบบการเมืองนั้น ซึ่งสาเหตุของการเกิด Output อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบ การเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั่นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

– สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ

– สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผลการร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

– สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

แนวคิดทฤษฎีระบบของ Gabriel Almond

Almond เห็นว่า ระบบ (System) มีความสําคัญกว่ากระบวนการ (Process) ทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ เนื่องจากระบบจะศึกษาถึงทั้งหมดของการเมืองในสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมเอา หน่วยทางการเมืองต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

Almond เชื่อว่า ถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออก ของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับกฎหมายและ พิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมาสนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มีการปะทะสัมพันธ์ ในระบบการเมือง และแบบแผนของการปะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั่นเอง

จากประเด็นดังกล่าวนั้นจึงเป็นจุดเริ่มทางความคิดของทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ที่ Almond ได้ – นําเสนอและเป็นหน่วยใหม่ในการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ โดย Almond เสนอ “ระบบการเมือง” แทนความหมายเก่า

ทางรัฐศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิม คือ รัฐธรรมนูญ เหตุผลก็เพื่อเลี่ยงการศึกษารัฐศาสตร์ยุคเดิมที่มุ่งแต่ศึกษาแนวกฎหมายและ สถาบันเป็นสําคัญ นอกจากนี้ Almond ยังได้กําหนดคุณลักษณะของการเปรียบเทียบระบบการเมืองไว้ 4 ประเด็น คือ

1 ในระบบการเมืองทุกระบบต่างก็จะต้องมีโครงสร้างทางการเมือง

2 มีหน้าที่ปฏิวัติเหมือนกันในทุก ๆ ระบบการเมือง

3 โครงสร้างทางการเมืองทุกระบบมีลักษณะที่เรียกว่า “ความหลากหลายของหน้าที่”

4 ในระบบการเมืองทั้งหมดจะมีการผสมผสานในหลาย ๆ วัฒนธรรม

Almond ได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวางแผนเปรียบเทียบระบบการเมืองจาก David Easton ในหนังสือชื่อ “ระบบการเมือง” (The Political System) โดยเขาให้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ระบบการเมืองไว้ดังนี้

Almond เห็นว่า ระบบการเมืองเป็นการศึกษาถึงขอบเขตทั้งหมดของกิจกรรมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละแห่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบการเมืองจะมีหน้าที่หลายประการ ทั้งนี้เพราะระบบการเมือง เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการใช้อํานาจลงโทษ หรือบังคับสมาชิกของระบบการเมือง ซึ่งหน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1 หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง  การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนดนโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ (Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู่ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนั้น Almond ยังมีความเห็นสอดคล้องกับความคิดของ Easton นั่นคือ การเรียกร้อง และการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ 1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่นต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดยไม่บิดพลิว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิธีการของสังคม

จะเห็นได้ว่า ทั้งข้อเรียกร้องและการสนับสนุนรัฐบาล ล้วนเป็นเรื่องของการกําหนดนโยบาย สาธารณะของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น นอกจากนี้ Almond ยังเห็นว่า ระบบการเมือง ทุกระบบจะต้องมีปะทะสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ

1 สิ่งแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพทรัพยากรของประเทศ ระบบการศึกษา ระบบเทคนิควิทยาของประเทศ

2 สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ การทูต สงคราม การสื่อสารระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

หมายเหตุ นักศึกษาเลือกตอบนักคิดคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 

ข้อ 3 การพัฒนาคืออะไร ?

การพัฒนาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ?

การเมืองไทยจะพัฒนาอย่างแท้จริงอย่างไรบ้าง ?

มีตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริงอะไร ?

ทันสมัยแต่ด้อยพัฒนาคืออะไร ?

แนวคําตอบ

การพัฒนา (Development) คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมี เป้าหมายที่ชัดเจน

การพัฒนาที่แท้จริง คือ กระบวนการที่ทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ นอกจากนี้ยังทําให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค นั่นคือ ประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน และนําไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยถ้วนหน้า

ในสังคมไทยนั้นถือว่ายังไม่มีการพัฒนาที่แท้จริง แม้ว่าประเทศไทยจะมีการใช้แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้วหลายฉบับก็ตาม กล่าวคือ การทําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต โครงสร้างทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ การศึกษา ระบบการปกครอง และการใช้ทรัพยากรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของประเทศยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยพบว่า ไม่มีการกระจายรายได้ที่เป็นไปอย่างเสมอภาค ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งยังไม่ได้ให้ความสําคัญในเรื่องของการพัฒนาคนเท่าที่ควร

การพัฒนาการเมืองไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง มีดังนี้

1 ภาครัฐจะต้องมุ่งเน้นสร้างประชาธิปไตยทางการเมือง และประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยเร็ว รวมทั้งมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมคุ้มครองความมั่นคงให้แก่ประชาชน ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้พรรคการเมือง บางพรรคนําไปใช้เป็นเงื่อนไขกับประชาชน เพื่อนําไปใช้เป็นนโยบายประชานิยมในการนําตนเข้าไปสู่อํานาจ หรือซื้อเวลาให้ตนอยู่ในอํานาจเท่านั้น

2 ภาครัฐจะต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมในเรื่องการสร้างจิตสํานึก ทางการเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม การมีส่วนร่วมทางการเมือง การเรียนรู้ประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างพลเมือง โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท ชนชั้นกลางในเมือง นิสิตและนักศึกษา

3 เปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้ง รัฐบาล ภาครัฐ และภาคการศึกษาจะต้องส่งเสริมและผลักดันให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมของนักเรียน นักศึกษาตาม มหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างจิตสํานึกทางการเมืองที่ดีให้แก่ประชาชนและสังคม

4 ในด้านภาคการศึกษาจะต้องปลูกฝังจิตสํานึกทางการเมือง โดยมีวิชาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง บรรจุในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ

5 ในด้านภาคกฎหมายจะต้องมีกฎหมายป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงที่เข้มข้น ผู้ที่ซื้อสิทธิหรือขายเสียงต้องมีโทษความผิดที่หนัก เพื่อป้องกันวัฒนธรรมการซื้อสิทธิขายเสียง

6 ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมกันปฏิรูป กํากับ และรณรงค์จริยธรรมคุณธรรม ทุกภาคส่วนในสังคมไทย โดยไม่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ มากกว่าการสร้างภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง เป็นต้น

เกณฑ์หรือตัวชี้วัดการพัฒนาที่แท้จริง ได้แก่

1 ความมั่นคงทางการเมือง หรือบางครั้งอาจใช้คําว่า “เสถียรภาพทางการเมือง” ก็ได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก

– ความต่อเนื่องของระบบการเมือง ซึ่งเราพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีความ มั่นคงทางการเมือง มักจะมีความต่อเนื่องทางการเมือง ไม่มีการแทรกแซงของทหาร กลไกทางการเมืองดําเนินไป ตามกฎหมายที่กําหนดไว้ ขณะที่การเมืองในประเทศที่กําลังพัฒนามักมีปัญหาเรื่องของการแทรกแซงของทหาร หรือถูกแทรกแซงจากภายนอกซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขทางการเมือง

– ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มักถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางการเมืองเสมอ เนื่องจากประเทศใดที่มีเศรษฐกิจไม่ดี มีคนว่างงานจํานวนมาก รายได้ของประชาชนน้อยลง สินค้ามีราคาแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเสถียรภาพหรือความมั่นคงทางการเมืองย่อมลดลงถ้าเศรษฐกิจตกต่ํา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตค่อนข้างสูงก็จะทําให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลมีมากเช่นกัน

– สังคม ปัญหาสังคมมักเชื่อมโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และนําไปสู่ปัญหาทาง การเมืองของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาของยาเสพติด ปัญหาของคนว่างงาน ปัญหาของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2 สถาบันทางการเมือง

– รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญของ ประเทศเนื่องจากรัฐธรรมนูญจะเป็นตัววางกรอบโครงสร้างทั้งหมดทางการเมืองที่จะพูดถึงในเรื่องสิทธิ อํานาจหน้าที่ และที่มาของสถาบันตัวอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกทางการเมืองในแบบต่าง ๆ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความชอบธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมและวิถีการดําเนินชีวิตของคนในชาติ นอกจากนี้จะต้องไม่มีความเอนเอียง หรืออํานวยประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกยับยั้งและเกิดการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อต่อต้าน ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่ดีจึงก่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

– สภา ถือเป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งเราให้ความสนใจในเรื่องที่มาและอํานาจหน้าที่ ของสภาว่ามีอะไรบ้าง สมาชิกมาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้ง สัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. เป็นเท่าใด สิ่งเหล่านี้ จะถูกนํามาพิจารณาทั้งสิ้น นอกจากนี้เรายังมองไปถึงพฤติกรรมของสมาชิกในสภาว่ามีลักษณะเช่นไร

– พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่สําคัญที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรค ที่มีนโยบายและอุดมการณ์ของตนเองได้มีบทบาทในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนให้กับ ประชาชนเข้าไปทําหน้าที่ในสภา พรรคการเมืองที่มีโอกาสทําหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องรู้จักวางแนวทางในการ ทําหน้าที่เมื่อเป็นรัฐบาล มีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ ของประเทศชาติเสมอ

3 การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ ประเทศมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา การเมืองก็มักจะขับเคลื่อนไปได้ยาก ฉะนั้นถ้าประเทศใดก็ตามที่มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี

ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการศึกษาที่ดี และมีความรู้ การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ถ้า – ประเทศใดมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา ประชาชนอดอยาก ขาดการศึกษา การซื้อสิทธิขายเสียงก็มักจะทําได้ง่าย ดังนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาทางการเมืองจึงมักจะถูกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสมอโดยทั้ง 2 ตัวแปรมักแยกกันไม่ออก เป็นต้น

ทันสมัยแต่ด้อยพัฒนา คือ ลักษณะของการทําตามสมัยที่นิยมกัน หรือกลุ่มชนในแต่ละยุค แต่ละสมัยในการดํารงชีวิต เช่น การแต่งกาย การใช้สอย การกิน การปฏิบัติตน ฯลฯ ซึ่งคนที่ทําตามกันนี้จะเรียกว่า คนทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันกลับหาเนื้อหาสาระสําคัญที่ควรจะเป็นไม่ได้ ทําตามแต่เปลือกไม่ได้เอาแก่นสําคัญ มาด้วย หรือทําตามทั้ง ๆ ที่ผิด ไม่มีการแยกแยะจึงทําผิดตามไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีแต่ปริมาณแต่ขาด คุณภาพเมื่อเปรียบกับสังคมที่พัฒนาแล้ว

ตัวอย่างของความทันสมัยแต่ด้อยพัฒนา เช่น การที่คนไทยใส่สูท (อย่างตะวันตก) ประชุมงานระดับโลก แต่การตัดสินใจยัง ใช้ความรู้สึก การคาดเดา มากกว่าที่จะใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมหรือคู่มือที่ผ่าน การวิจัยและพัฒนามาแล้ว

– การที่คนไทยมีรถยนต์หรูหรือยี่ห้อดัง ๆ ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่กลับพบว่าไม่มีรถยี่ห้อของคนไทยสักที ทั้งที่เป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วที่มีรถยนต์เข้ามาในประเทศ

– การได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนที่สูง หรือศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ แต่มีความเสื่อมถอยทางปัญญา เชื่อโฆษณา ติดความหรูหรา ซื้อของที่ไร้ค่าในราคาแพง มีนิสัยฟุ่มเฟือย ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนมีคุณค่า/ไร้คุณค่า ซื้อแค่ตามแฟชั่นเท่านั้น

– การใช้โทรศัพท์เกินความจําเป็น โทรคุยนานทําให้เสียเงินโดยไม่จําเป็น

– โรงพยาบาลนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจการแพทย์

โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการ

– การร้องเรียนผ่านเว็บ แต่เป็นการกลั่นแกล้งกัน ใส่ร้ายกัน

– การมีเครื่องมือเตือนภัยมากมาย แต่ใช้งานไม่เป็น

– การมีห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โต แต่กลับพบว่ามีสินค้าถูกปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงที่ขายปนกับอาหาร

– การปลูกบ้านที่สวยงามใหญ่โต หรือสร้างถนนหนทางใหม่ ซึ่งไปขวางทางน้ำจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ทุกปี ฯลฯ

 

ข้อ 4 การพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริงเกี่ยวโยงกับการกล่อมเกลาทางสังคมการเมือง (Political Socialization) อย่างไร ?

อธิบายถึงกระบวนการกล่อมเกลาในแง่ IQ, EQ และจริยะ ควรเน้นไป ในเรื่องใดบ้าง ? และผู้ใดเป็น Change agents ที่จะทําการปลูกฝังกล่อมเกลาให้สมาชิกในสังคมเป็นไปตามแบบที่ต้องการ

แนวคําตอบ

ความเกี่ยวโยงของการกล่อมเกลาทางสังคมการเมือง (Political Socialization) กับ การพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง มีดังนี้

1 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะเป็นวิธีการที่สังคมส่งผ่านความโน้มเอียงทาง การเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อันได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมจากรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นถัดไป หากไม่มี กระบวนการดังกล่าวแล้วสมาชิกใหม่ของระบบการเมืองซึ่งโดยส่วนใหญ่ได้แก่เด็ก ๆ ก็จะต้องค้นหาแบบแผน ของความโน้มเอียงทางการเมืองใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงคงเกิดขึ้นได้ยาก

2 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะช่วยสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในรูปแบบใหม่ขึ้นมา เมื่อบริบทของสังคมการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีหน้าที่สําคัญในการสอดประสานกับวัฒนธรรมทางการเมือง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งก็คือ การสร้าง การเปลี่ยนแปลง การแก้ไข และการธํารงรักษาไว้ ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศชาติต่อไป

3 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะทําให้เกิดการเรียนรู้ในการแสดงบทบาทของ ตนเองในอนาคต เกิดการเชื่อมโยงจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้ว่าในปัจจุบันยังมิได้อยู่ในสถานภาพเช่นนั้น แต่ก็มีความตั้งใจและแนวโน้มที่จะพยายามลงมือกระทําตามบทบาทหน้าที่นั้น ๆ ซึ่งจะทําให้เกิดความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ด้วยการรับเอาการกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองของหน่วยตัวแทนต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้ตนเองสามารถแสดงบทบาทในอนาคตของตนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

4 การกล่อมเกลาทางสังคมการเมืองจะถูกนําไปใช้เป็นพื้นฐานสําคัญของการวางแผน การเรียนรู้และพัฒนาทางด้านการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองของประชาชนไทย ซึ่งเป็นส่วนสําคัญประการหนึ่งของ การปฏิรูปทางการเมือง ที่จําเป็นจะต้องให้ความสําคัญกับการปฏิรูปที่ “คน” ซึ่งเป็นสมาชิกของระบบการเมือง นอกเหนือไปจากการปฏิรูปที่ตัวระบบ (System) เช่น การสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญ การสร้างความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ให้กับพรรคการเมือง การพัฒนาระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม การพัฒนาระบบการตรวจสอบการ ใช้อํานาจของรัฐ ฯลฯ อันจะนําไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต เป็นต้น

กระบวนการกล่อมเกลาในแง่ IQ (ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา), EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) และจริยะ (ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ) นั้นควรจะมุ่งเน้นไปในเรื่องดังต่อไปนี้

1 ประชาชนรู้จักแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของ ตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์

2 ประชาชนเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความคิด รู้จักใช้เหตุผล การเชื่อมโยง และรู้จักแสวงหาความรู้ เพิ่มเติมให้กับตนเอง หรือรู้จักพัฒนาความสามารถของตนเองในการทํางานเพื่อองค์กรและนําไปสู่การพัฒนาของ ประเทศในอนาคต

3 ประชาชนมีค่านิยมที่เน้นวัฒนธรรม อาทิ ความภูมิใจในการเป็นคนไทย การเคารพ ผู้อาวุโส เสียสละเวลาทํางานเพื่อส่วนรวม ปฏิบัติตามหลักศาสนา และการประกอบอาชีพสุจริต

4 ประชาชนมีการขับเคลื่อนตนเองไปในทางที่ดี เพื่อกําจัดการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ซึ่งประชาชนจะต้องมีคุณธรรมทางด้านดี อาทิ ความซื่อสัตย์ ความดี ความรัก ความเคารพ ความศรัทธา การให้อภัย และอารมณ์ขัน สิ่งเหล่านี้สามารถทําให้ประชาชนรับและยอมรับแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้

5 ประชาชนมีความเป็นพลเมือง (Citizenship) ซึ่งเป็นเรื่องของการมีสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมในสังคม รวมไปถึงการมีอิสรภาพ การพึ่งตนเองได้ การเคารพสิทธิ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพกติกาบ้านเมือง ไม่ใช้ความรุนแรง มีจิตสาธารณะ เป็นต้น

ผู้กระทําการ (Change agents) ที่จะปลูกฝังกล่อมเกลาให้สมาชิกในสังคมเป็นไปตาม แบบที่ต้องการ มีดังนี้

– ครอบครัว การกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยนั้นจําเป็นต้องใช้สื่อใน การสร้างความรู้ทางการเมือง โดยเฉพาะครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยแรกในการฝึกให้เด็กได้รับรู้สภาพและเป็นการ ปูพื้นฐานทางการเมือง นักรัฐศาสตร์เปรียบเทียบได้ให้ความสําคัญกับครอบครัวและบทบาทของครอบครัวในการ สร้างประสบการณ์ให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบครัวจะช่วยในเรื่องการกล่อมเกลาทางการเมืองได้ 3 แนวทาง ด้วยกัน คือ

1) ครอบครัวจะช่วยถ่ายทอดทัศนะของพ่อแม่ต่อเด็ก โดยเด็กจะเรียนรู้สภาพ ความคิดและโอกาสในการแสดงความคิดเห็นจากทัศนคติของพ่อแม่ เช่น ถ้าพ่อแม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือเปิดโอกาสและพูดคุยการเมืองให้กับเด็กแล้ว เด็กคนนั้นก็จะได้รับรู้และมีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แม้ว่า บางครั้งในสังคมไทยอาจจะมีบางครอบครัวที่มีความเผด็จการกับลูก ๆ อยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วก็ยังถือได้ว่ายังมี ความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ

2) พ่อแม่จะมีลักษณะเป็นตัวแบบให้กับเด็ก โดยเด็กจะมีการเลียนแบบจากสิ่งที่ พ่อแม่กระทํา เช่น พฤติกรรมในการกิน การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อื่น ความมีน้ําใจ การมีส่วนร่วม การมีนิสัย ชอบการเลือกตั้ง ชอบแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เด็กจะเรียนรู้และตามแบบจากพ่อแม่

3) บทบาทและสิ่งที่เด็กคาดหวังที่จะกระทําเมื่อเป็นผู้ใหญ่ จะมีความสัมพันธ์กับ การแสดงออกทางการเมืองของเขา เด็กจะแสดงออกทางการเมืองอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความหวังที่เขาได้รับเมื่อ ครอบครัวสั่งสอน เขาอาจมีเป้าหมายที่จะเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเขาเติบโตขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลผูกพันกับระบบการเมืองแทบทั้งสิ้น

– โรงเรียน นับว่ามีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างให้เกิดสังคมที่ดี และเป็นหน่วยสร้าง การกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยของไทย ซึ่งโดยทั่วไปเด็กมีโอกาสได้รับอิทธิพลในการเรียนรู้ จากโรงเรียนค่อนข้างมาก เนื่องจากระยะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนมีเวลานาน จึงเป็นผลให้ความรู้ทางการเมืองที่เด็ก ๆ จะได้รับมีการสะสมมานานจนสามารถฝังอยู่ในความทรงจํา

ในสังคมไทยนั้นระบบโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนนับว่ามีอิทธิพลต่อความเชื่อ ของเด็กมาก เด็กมักจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ เนื่องจากมีโอกาสอยู่ในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เมื่อเด็กมีการศึกษา มากขึ้นโอกาสที่เขาจะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองก็จะมากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา เนื่องจากเขาสามารถศึกษา เพิ่มเติมได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ บทความ การสนทนาทางวิชาการ ฯลฯ ซึ่งคนที่ด้อยการศึกษาอาจไม่ได้รับ ในรายละเอียดได้มากเท่ากับคนที่มีการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนยังช่วยในการสร้างค่านิยมของระบอบประชาธิปไตย ให้เยาวชนผูกพันกับระบอบประชาธิปไตยได้อีกด้วย

– สื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ฯลฯ ต่างก็เข้ามามีบทบาทใน เชีวิตประจําวันของประชาชนมากขึ้น ซึ่งในการสร้างสังคมที่ดีและการกล่อมเกลาทางการเมืองในสังคม ประชาธิปไตยจําเป็นต้องใช้สื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการอบรมหรือเป็นช่องทางในการเผยแพร่และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นการนําเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนจึงมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการ พัฒนาการเมืองของไทย เพราะถ้าสื่อมวลชนไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและนําเสนอข่าวสารที่บิดเบือนจาก ข้อเท็จจริงแล้ว อาจทําให้ประชาชนหรือเยาวชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้

 

ข้อ 5 สังคมไทยมีชนชั้นหรือไม่ ?

รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นชนชั้นไหน ?

ตอบทั้งเชิงทฤษฎี (อย่างน้อย 3 ทฤษฎี)

และตอบตามความเป็นจริงในสังคมด้วย

และอธิบายอีกประเด็นหนึ่งว่า ชนชั้นหรือชนชั้นนําเกี่ยวโยง กับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองหรือไม่ อย่างไร ?

อาจยกตัวอย่างกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองที่นักศึกษารู้จักประกอบคําอธิบาย

แนวคําตอบ

ในสังคมไทยนั้นถือว่าเป็นสังคมที่มีชนชั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีและหลักการของระบอบประชาธิปไตย นั้นจะพบว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยและมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งได้ วางหลักการไว้ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครอง มีความเสมอภาค เท่าเทียมกันภายใต้ กฎหมาย ไม่ว่าชายหรือหญิง หรือคนเชื้อชาติใดศาสนาใด ต่างก็มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

โดยหลักการและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นย่อมแตกต่างกัน เพราะโดยธรรมชาติจะมีคนบางคน ที่มีศักยภาพเหนือกว่าคนทั่วไป มีความกระตือรือร้น มีความเป็นผู้นํา มีการแสดงออกในการเป็นผู้นํา ทําให้มี บุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่คนจํานวนนี้จะเป็นคนจํานวนน้อยในสังคมที่เราเรียกว่า ชนชั้นนํา แม้ว่า ในสังคมไทยของเราจะเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่การแบ่งชนชั้นในสังคมก็ยังเกิดขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากโลก ทุกวันนี้เป็นโลกแห่งทุนนิยมที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด และทําให้เกิดการแบ่งชนชั้นทางสังคมขึ้น

การที่จะรู้ว่าใครเป็นชนชั้นไหนในสังคมนั้นสามารถดูได้จากบทบาทหน้าที่ และฐานะทาง สังคมและเศรษฐกิจ

ชนชั้นในสังคมไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1 ชนชั้นสูง เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นสูง ขุนนางเก่า เป็นต้น

2 ชนชั้นกลาง เช่น พนักงาน ข้าราชการทั่วไป เป็นต้น

3 ชนชั้นล่าง เช่น คนหาเช้ากินค่ํา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร (ชาวไร่และชาวนา) ผู้ที่มีฐานะยากจนและมีการศึกษาน้อย เป็นต้น

ตามทฤษฎีของ Halen Lynd ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “Middletown” ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ สถานภาพ (Status) ของคนในสังคม โดยมีสมมุติฐานในการศึกษาก็คือ ตัวขี้เกี่ยวกับสถานภาพของคนในสังคม คือความสามารถทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าชนชั้นมีความสัมพันธ์กับสถานภาพ และเชื่อมโยงกับการที่คนในชุมชน คิดหรือสนทนากัน ซึ่งจะให้ความรู้ในสถานภาพของกลุ่มชนในสังคม เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวจะมีตัวแปรใน การกําหนดสถานภาพของคนในสังคม เช่น ความมั่งคั่ง สถานภาพทางครอบครัว ทรัพย์สิน เป็นต้น

ตามทฤษฎีของ Ralf Dahrendorf ได้ให้คําจํากัดความในเรื่องชนชั้นว่า ชนชั้นเป็นเรื่องของกลุ่ม ที่ขัดแย้งเนื่องจากการแจกแจงอํานาจหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมาคมหรือกลุ่ม โดยเห็นว่าอํานาจหน้าที่ (Authority) ถือเป็นอํานาจอันชอบธรรม และความสัมพันธ์ของอํานาจจะขึ้นอยู่กับฐานของอํานาจหลายฐานด้วยกัน เช่น จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้ควบคุมวิถีการผลิต นอกจากนั้นอํานาจหน้าที่จะเกี่ยวข้องกับตําแหน่ง ทางสังคมและการมีบทบาทในสังคมของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งเขากล่าวว่า พื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้าง ในสังคมที่เป็นตัวก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมก็คือความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องอํานาจและหน้าที่ ซึ่งจะมีส่วนสําคัญ ในการจัดองค์กรทางสังคม

ตามทฤษฎีของ Marx อธิบายว่า สังคมมีการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจน คือ มีชนชั้นปกครองและ ชนชั้นที่ถูกปกครอง เช่น ในอดีตมีชนชั้นกษัตริย์และชนชั้นไพร่ ปัจจุบันมีชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่ง ชนชั้นปกครองจะขูดรีดเอากําไรส่วนเกินจากชนชั้นที่ถูกปกครอง และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะไม่เกิดใน ระดับปัจเจกบุคคล แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งโครงสร้าง แม้ว่า Marx จะกล่าวไว้ว่าท้ายที่สุดของ การเปลี่ยนแปลงแล้วจะไม่มีชนชั้นเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเพียงอุดมคติที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่ที่เกิดขึ้นจริงก็คือ สังคมมีชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง เช่น นายทุนและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

ชนชั้นหรือชนชั้นนําเกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง ดังนี้

1 ชนชั้นหรือชนชั้นนําที่ต้องการเข้ามาเล่นการเมืองในระดับชาตินั้น จําเป็นต้องอาศัย กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นบันไดเข้ามาสู่อํานาจ เพราะพรรคการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จะมีบทบาทสําคัญใน ระบบการเมือง เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจํานวนมาก เป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่าง ประชาชนกับรัฐบาล รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่สําคัญที่จะชักนําให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเป็น ฐานเสียงให้กับตนเองได้นั่นเอง

2 ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติความเชื่อทางการเมืองที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนํา ที่เป็นคนกลุ่มน้อย ประชาชนทั่วไปไม่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองมีแต่ แสวงหาอํานาจและผลประโยชน์ให้กับตัวเองจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นจึงทําให้ การเมืองเป็นเรื่องระหว่างชนชั้นนํากับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3 พรรคการเมืองส่วนใหญ่มักรวบรวมสมาชิกเพื่อหวังสร้างอํานาจต่อรองกับรัฐบาล หรือ มุ่งหวังไปสู่การชนะการเลือกตั้งมากกว่ามุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ ดังนั้นจึงมักคัดเลือกสมาชิกทั้งในชนชั้นหรือชนชั้นนํา ที่สามารถเรียกคะแนนเสียงและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพรรค รวมไปถึงสามารถสนับสนุนในเรื่องเงินทุนและ การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่พรรคได้ด้วย

4 นโยบายของพรรคการเมืองนั้นมักมีที่มาจากผลประโยชน์ทั้งของชนชั้นหรือชนชั้นนําเสมอ โดยเฉพาะการต่อรองที่ลงตัวในเรื่องตําแหน่งทางการเมือง

5 กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองจะเป็นที่รวบรวมผลประโยชน์ของชนชั้นหรือชนชั้นนํา ตัวอย่างเช่น พรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคของพวกนายทหารหลังการยึดอํานาจของ รสช. พรรคชาติไทยเคยเป็น พรรคของเหล่านายทหารและข้าราชการสายราชครู พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของพวกนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามามี บทบาททางการเมือง เป็นต้น

ตัวอย่างของกลุ่มการเมืองในสังคมไทย เช่น

– คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นกลุ่มการเมืองซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยตัวแทน กลุ่มองค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ นําโดย ศ.ดร.สมบัติ ธํารงธัญวงศ์ เครือข่าย นักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพธรรม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ฯลฯ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการของกลุ่ม

– กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” เป็น กลุ่มการเมืองที่มีบทบาทสําคัญในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรทั่วประเทศ และ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ภายใต้จุดประสงค์ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตําแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยมีแกนนําคนสําคัญ ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จําลอง ศรีเมือง

ภายหลังการประชุมร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนแนวร่วมได้แสดงความเห็นถึง การจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้มีการจัดตั้ง พรรคการเมืองขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “พรรคการเมืองใหม่” นั่นเอง

– กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” เป็นกลุ่มการเมืองของกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 เพื่อขับไล่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติภายหลังจากการรัฐประหาร แต่ได้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ภายหลังได้กลับมารวมตัวกันอีก เพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันทําให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ และหลังการเปลี่ยนขั้ว รัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่ม นปช. ก็ได้กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อขับไล่รัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง และยกกําลังทหารปิดล้อมผู้ชุมนุม จนต้องยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

ในปี พ.ศ. 2553 มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากนั้นในช่วงปลายปีก็มีการชุมนุม เป็นระยะ ๆ และมีความเกี่ยวโยงกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน

POL3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา s/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (ข้อละ 33 คะแนน)

ข้อ 1 ให้นักศึกษาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการเมืองมาโดยสังเขป และให้อธิบายความสําคัญของ “ความคิดทางการเมือง”

แนวคําตอบ

ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์และการเมืองมีความสัมพันธ์ต่อกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการเมืองเกิดขึ้นจากความจําเป็นของชีวิตสังคมมนุษย์ ในที่นี้ฐานการอธิบายเรื่องมนุษย์และการเมืองที่ เด่นชัดที่สุดจะนํามาจากนักปรัชญาการเมืองชาวกรีกโบราณและเป็นนักปรัชญาทางด้านวิชารัฐศาสตร์ คือ โสเครตีส (Socrates) และอริสโตเติล (Aristotle)

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และการเมือง

โสเครตีส (Socrates) และอริสโตเติล (Aristotle) ได้อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับการเมืองโดยสรุปได้ดังนี้

โสเครตีส (Socrates) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) มีสัญชาตญาณแห่ง ความต้องการที่จะอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รัฐเป็นสิ่งที่ดีและจําเป็น เพราะเป็นแหล่งที่คนสามารถพบ กับชีวิตที่ดี คนสามารถเรียนรู้คุณธรรมจากเพื่อนร่วมสังคมของเขา ถ้าไม่มีรัฐแล้วคนก็จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับคุณธรรม นอกจากนี้รัฐยังเป็นสถานที่ที่สนองความต้องการหลากหลายของคน เพราะการอยู่ร่วมกันในรัฐทําให้มี การแบ่งหน้าที่กันทํา คนก็จะสามารถให้บริการซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้นการอยู่ดีมีสุขในรัฐประเสริฐกว่าการอยู่ดี มีสุขของคนที่แยกตัวไปอาศัยนอกรัฐ”

อริสโตเติล กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิต อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เหล่า มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในมวลสมาชิก ดังจะเห็นว่าทุกวันเรามีความจําเป็นที่ จะต้องติดต่อและเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนเหล่านี้มี ความสัมพันธ์กับเราทางตรง และยังมีผู้ที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไป เช่น คนขายของ คนขับรถเมล์ และคนใน สังคมอื่น ๆ คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้สนทนากับเราโดยตรงแต่พวกเขาก็มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับเรา”

อริสโตเติล ยังกล่าวอีกว่า “โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (Political Animal) คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องการให้มีการปกครอง เมื่อในสังคมมีการปกครองมีผลให้มนุษย์ในสังคมถูกแบ่งออกเป็นชนชั้น ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง การเมืองจึงเกิดขึ้นในท่ามกลางชุมชนทางการเมืองที่ประกอบด้วยกลุ่มหลากหลาย ซึ่งมีผลประโยชน์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยมที่แตกต่างกันและมาอยู่ร่วมกันภายในอาณาเขตปกครองเดียวกัน โดยมีกิจกรรมทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการธํารงความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนการเมืองนั้น จากความจําเป็นทางธรรมชาติของมนุษย์ที่ทําให้เกิดองค์กรทางการเมืองและกิจกรรมการเมืองดังกล่าวข้างต้น”

สรุปทัศนะของโสเครตีสและอริสโตเติลเรื่องมนุษย์และการเมืองได้ว่า หน่วยทางสังคมที่มนุษย์ อาศัยอยู่ทั้งจุลภาคและมหภาคนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธ การเมืองได้เลย เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วไม่สามารถดํารงชีวิตได้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อมีชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ จึงจําเป็นต้องมีสังคมการเมืองขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกัน เมื่อสังคมการเมืองเกิดมาแล้วต้องมีผู้ปกครอง เพื่อดําเนินการ ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในสังคมการเมืองนั้น ๆ และผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย

ความสําคัญของความคิดทางการเมือง

ความคิดทางการเมืองเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ของการเมืองโลกในแต่ละยุคสมัยของ สังคม ดังนั้นความคิดทางการเมืองจึงมีความสําคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้

1 มีส่วนช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะจะทําให้ผู้ที่ศึกษาเข้าสู่บรรยากาศ ความคิดในสมัยก่อน ช่วยให้เข้าใจถึงพลังผลักดันที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ สําคัญ ๆ เพราะเหตุที่ว่าปรากฏการณ์ในอดีตเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ จึงเป็นการจําเป็นที่จะต้อง ทราบถึงความคิดที่ชักจูงให้เกิดการกระทํานั้น เช่น การที่จะเข้าใจถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์โลกสมัยกลาง (Middle Age) นั้น จําเป็นต้องทราบถึงการพิพาทแย่งความเหนือกว่าในการปกครองคนระหว่างจักรพรรดิกับ สันตะปาปา เป็นต้น

2 ความรู้ในความคิดทางการเมืองแห่งอดีตนั้นมีส่วนช่วยให้เข้าใจถึงการเมืองในสมัยปัจจุบัน เพราะปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นจากสถานการณ์ในอดีตหรืออาจเทียบเคียงได้กับ ปรากฏการณ์ในอดีต และหลักการเมืองต่าง ๆ ที่นํามาใช้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของความคิดทางการเมือง สมัยก่อน เช่น ทฤษฎีการแบ่งแยกอํานาจในระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกามีรากฐานมาจากความคิดของ เมธีการเมืองสมัยกลาง เป็นต้น

3 มีความเข้าใจในนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการปกครอง เพราะประเทศ ทุกประเทศต้องมีหลักการอันเกิดจากปรัชญาการเมืองใดการเมืองหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่นํารัฐบุรุษและประชาชนในการ วางนโยบายหรือปฏิรูปการปกครอง ความก้าวหน้าหรือประสบความสําเร็จของระบบการเมืองในประเทศเป็นผลมาจาก การวางโครงร่างการปกครองอยู่บนทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และความต้องการของประเทศนั้น

4 ยอร์ช แคทเทืบ กล่าวถึงความสําคัญของความคิดทางการเมืองต่อชีวิตทั่วไปของ มนุษย์ไว้ 3 ประการ คือ

1) ต้องการคําแนะนําซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง เช่น ควรวางความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานหรือควรกระจายอํานาจหน้าที่หรือควรกําหนดความรับผิดชอบอย่างไร

2) ต้องการความถูกต้องเพื่อตัดสินเมื่อเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจระหว่างบุคคล

3) ต้องการทักษะ (Skit) ในการทํานายเหตุการณ์ในอนาคตได้ถูกต้องหรือใกล้เคียง

5 ทําให้เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี (Good Human Relations) เพราะเหตุว่า ทฤษฎีการเมืองสอนให้รู้จักความหลากหลายของธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยใจคอคน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความคิดทางการเมืองมีความสําคัญดังประเด็นดังกล่าวข้างต้น เช่น มีส่วน ช่วยในการทําให้เข้าใจประวัติศาสตร์ หรือมีส่วนช่วยให้มีความเข้าใจนโยบายและการปรับปรุงโครงร่างทางการ ปกครอง อีกทั้งความคิดทางการเมืองมีความสําคัญต่อมนุษย์ในสองมิติหลัก คือ มิติในเรื่องส่วนตัวและในเรื่องสาธารณะ

 

ข้อ 2 จงอธิบายหลักการและรายละเอียดเรื่องรัฐโลกวิสัย พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

รัฐโลกวิสัย (Secular State) สามารถอธิบายความหมายได้ 2 แนวทาง คือ

1 รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือ การปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

2 รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐโลกวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา

ทั้งนี้การจะพิจารณาว่ารัฐใดเป็นรัฐโลกวิสัยหรือไม่นั้นสามารถพิจารณาได้จากหลักการดังต่อไปนี้ หลักการของรัฐโลกวิสัย หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกวิสัยมี 4 ประการ ดังต่อไปนี้

1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ

หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชน ในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียที่สนับสนุนรัฐโลกวิสัย มีความเป็นเสรีภาพในการ นับถือศาสนาในความเชื่อโดยเสรี ดูแลทุกศาสนา ทําให้ทุกศาสนามีบทบาททางสังคม โดยที่รัฐบาลไม่ไปมีบทบาท มากนัก

2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่จากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย

หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็น เรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุมและสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนา ควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

ยกตัวอย่างเช่น การที่ไม่มีองค์กรกลางที่พยายามควบคุมการตีความคําสอนหรือ พฤติการณ์ทางศาสนาของทุกคนให้เป็นแบบเดียวกัน เพราะศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลมีเสรีภาพ ในการตีความคําสอนหรือพฤติการณ์ทางศาสนา เพื่อที่จะนําไปปฏิบัติได้เอง

3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา และกําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ในปฏิทินของประเทศต้องยกเลิกวันหยุดทางศาสนา หรือหากมีก็ไม่ใช่ วันหยุดภาคบังคับ แต่จะเป็นตัวเลือกของคนในศาสนานั้นเท่านั้น นอกจากนี้ในสถานศึกษาและหลักสูตรการศึกษาต้องมี ความเป็นกลางทางศาสนา ให้ศาสนาเป็นทางเลือก ไม่ใช่เรื่องบังคับ และมีเนื้อหาสําหรับการไม่นับถือศาสนา ไม่มีพิธี ทางศาสนาในสถานศึกษา ยกเว้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่แสดงชื่อและวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรงและเปิดเผย

4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา

หมายความว่า การกระทําความผิดของประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสิน การกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ถ้าใครคนหนึ่งถูกฟ้องว่าฆ่าคนตาย ศาลก็จะตัดสินลงโทษจําเลยเพราะกระทําความผิดฐานฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เพราะจําเลย ทําผิดศีลข้อหนึ่งในเบญจศีลที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์

ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า หลักการหรือลักษณะของรัฐโลกวิสัย 4 ประการข้างต้นนั้น มีความเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกันเพื่อจะเป็นรัฐโลกวิสัย โดยเริ่มจากรัฐต้องไม่มีการบัญญัติเรื่องศาสนาไว้ในกฎหมายและรัฐควรปฏิบัติ ต่อประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในเรื่องศาสนา นอกจากนั้นประชาชนยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือก นับถือศาสนา

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ (เลือกทํา 3 ข้อ)

(1) รัฐโลกวิสัย

(2) สาธารณรัฐ

(3) ประชาธิปไตยทางตรง

(4) วรรณะพราหมณ์

(5) วรรณะแพศย์

(6) วรรณะศูทร

แนวคําตอบ

(1) รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะ มีความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

(2) สาธารณรัฐ (Republic) เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งคําว่า “Republic” มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครอง สาธารณรัฐก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

(3) ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณ เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองที่พลเมือง (Citizen) ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ใช้อํานาจ ในการปกครองโดยตรงด้วยการประชุมร่วมกัน ทั้งนี้เมื่อพลเมืองชายชาวเอเธนส์อายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เป็นสมาชิก ของสภาประชาชนโดยอัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจากการที่พลเมืองชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเองนั้น เรียกการปกครองลักษณะแบบนี้ว่า ประชาธิปไตย ทางตรง (Direct Democracy)

(4) วรรณะพราหมณ์ ถือกําเนิดมาจากปากของพระพรหม แต่งกายด้วยสีขาวซึ่งแสดงถึง ความบริสุทธิ์ ทําหน้าที่เป็นนักบวชหรือตัวกลางในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ

(5) วรรณะแพศย์ ถือกําเนิดมาจากสะโพกหรือตักของพระพรหม แต่งกายด้วยสีเหลืองซึ่ง แสดงถึงทรัพย์สินเงินทอง ทําหน้าที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่การค้า การเกษตร การช่าง และหัตถกรรม

(6) วรรณะศูทร ถือกําเนิดมาจากฝ่าเท้าของพระพรหม แต่งกายด้วยสีดําและสีอื่น ๆ ที่ดู หม่นหมอง ทําหน้าที่เป็นผู้ใช้แรงงานหรือกรรมกรซึ่งรวมถึงชาวนาด้วย

 

ข้อ 4 ผู้ปกครองในแนวคิดการเมืองเรื่องธรรมราชา มีการแบ่งแยกเป็น กษัตริย์ ราชา และจักรพรรดิ ให้นักศึกษาอธิบายความหมายและแหล่งที่มาของอํานาจ ของผู้ปกครองแต่ละแบบให้ครบถ้วนและชัดเจน

แนวคําตอบ

ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย โดยพญาลิไททรงศรัทธาในความเป็นจักรพรรดิที่เป็นธรรมราชา โดยการที่พญาลิไททรงประพันธ์ไตรภูมิพระร่วงนั้น ทรงเป็นความพยายามที่จะใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และกล่าวได้ว่า ไตรภูมิพระร่วงจัดว่าเป็น แนวคิดทางการเมืองไทยที่เป็นระบบและชัดเจนที่สุด มีความต่อเนื่องและได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามากที่สุด

ในไตรภูมิพระร่วงนั้น พญาลิไททรงให้ความสําคัญกับแนวคิดเรื่องจักรพรรดิ เพราะพระองค์ ทรงเห็นว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่เหมาะสมควรเป็นมหาธรรมราชาหรือผู้ที่ใช้ธรรมะในการปกครอง พระองค์ทรง วางให้จักรพรรดิเป็นผู้ปกครองที่มีธรรมสูงสุดในบรรดาผู้ปกครองทั้งหมด โดยแยกประเภทของผู้ปกครองไว้ดังนี้

กษัตริย์ คือ ผู้ทําหน้าที่ปกครอง ในความหมายเดิมจะหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่รบ ป้องกันภัย แก้ไขข้อขัดแย้งให้กับคนอื่น เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมให้ทําหน้าที่เฉพาะเรื่อง ไม่ต้องหาเลี้ยงชีพแต่จะ ได้รับค่าตอบแทนจากบุคคลที่ตนเองให้ความคุ้มครอง โดยถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคนในสังคม

ราชา คือ ผู้ปกครองที่ยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่โดยปวงชนพอใจ หรืออาจหมายถึงกษัตริย์ที่ ประชาชนพอใจ เป็นที่นิยมชมชอบเพราะปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและทําหน้าที่ด้วยความยุติธรรม

จักรพรรดิ คือ ผู้ปกครองที่ประชาชนพอใจและเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงเกินกว่ากษัตริย์และราชาทั้งปวง มีความหมายรวมถึงผู้ปกครองที่สามารถแผ่อาณาจักรได้อย่างกว้างขวางและมีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพและพึงพอใจของประชาชน

หรือจักรพรรดิ คือ ผู้ปกครองที่มีภารกิจช่วยคนในโลกให้พ้นจากวัฏสงสาร พ้นจากความขัดแย้ง ทั้งปวง การเสด็จของจักรพรรดิไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการขยายอาณาจักร ไม่ใช่การกรีฑาทัพ เพื่อทําสงคราม แต่เมื่อไปถึงที่ใดท้าวพระยาทั้งหลายก็มาถวายตัวเป็นข้าเอง แต่จักรพรรดิก็มิได้ประสงค์สิ่งใด นอกจากการสั่งสอนธรรม ให้รู้ในธรรมเท่านั้น

 

ข้อ 5 นักศึกษาคิดว่า การดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ และการเข้าเป็นสมาชิกศากยะสังฆะของเจ้าชายสิทธัตถะ มีผลต่อแนวคิดของพระพุทธเจ้าในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์อย่างไร ให้อธิบายเหตุผลประกอบการให้ความเห็นโดยละเอียด

แนวคําตอบ

เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้า ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองแคว้นสักกะ ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม

จากการดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ในด้านการศึกษา เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาศิลปศาสตร์จากพราหมณ์ในราชสํานักจนสําเร็จ และทรงศึกษาสรรพวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่จําเป็นสําหรับกษัตริย์ในสมัยนั้น เพื่อเตรียมการสําหรับตําแหน่งพระราชาหรือจักรพรรดิในอนาคต

ในด้านการงานหรือการเมืองนั้น กฎหมายกําหนดให้ชายชาวศากยะที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกของสภามนตรีที่เรียกว่า “ศากยะสังฆะ” ซึ่งจะประชุมกันเป็นประจําเพื่อพิจารณาหาทางส่งเสริม รักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุนิติภาวะจึงทรงสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของ ศากยะสังฆะ และได้กล่าวปฏิญาณต่อศากยะสังฆะว่า

1 ข้าพเจ้าจะอุทิศทั้งกาย ใจ และทรัพย์สินของข้าพเจ้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ

2 ข้าพเจ้าจะไม่ขาดประชุม

3 ข้าพเจ้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าศากยะคนใดทําผิดหน้าที่ทําลายผลประโยชน์ของชาวศากยะ ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ศากยะสังฆะทราบโดยไม่ปิดบัง

4 ข้าพเจ้าจะไม่โกรธเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดใด ๆ และจะยอมรับผิด ถ้ากระทําผิดต่อข้อบัญญัติของศากยะสังฆะจริง

เจ้าชายสิทธัตถะเป็นสมาชิกศากยะสังฆะนี้ถึง 9 ปี ก่อนที่จะเสด็จออกทรงผนวช ดังนั้นจึง เชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงคุ้นเคยรอบรู้ในระบบการเมืองในแบบสามัคคีธรรมเป็นอย่างดี

ผลต่อแนวคิดในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์ของพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้ามาสู่ความเสมอภาคกัน เหมือน ทะเลที่รับน้ําจากแม่น้ําทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน ทําให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลาง เผยแพร่วัฒนธรรมและการศึกษาที่สําคัญยิ่ง ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้เพื่อให้ทุกคน ทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง

การปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้า เป็นการปกครองที่มีการบัญญัติพระวินัย แต่ในทางปฏิบัติ ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติอย่างมีความยืดหยุ่นและพิจารณาความเป็นจริง ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการปกครองหมู่สงฆ์ ในครั้งแรก และเป็นการปกครองที่มีความพิเศษที่แสดงถึงความมีเมตตากรุณาและพระทัยที่กว้างขวางของพระองค์

นอกจากพระวินัยที่ใช้ในการปกครองแล้ว สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นปกติ คือ การมี ความสัมพันธ์อันเสมอภาคกับสานุศิษย์ มีความเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย มีความสํารวมแต่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร มีการปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไม่รังเกียจ แม้เมื่อต้องพยาบาลพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยก็ตาม

ทั้งนี้จากการที่พระพุทธเจ้าเป็นสมาชิกศากยะสังฆะนั้น ได้ทําให้พระองค์ได้ใช้พื้นฐานการปกครอง แบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ มาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่

1 ให้คณะสงฆ์เป็นผู้แทนของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่ธรรมเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อ พิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีอิทธิพลของการปกครองแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ตามลักษณะ การปกครองของรัฐสักกะ ซึ่งการนําลักษณะการปกครองดังกล่าวมาใช้ในการปกครองสงฆ์นี้ไม่มีเนื้อหาทางโลกย์ แต่มีเนื้อหาทางธรรมที่ใครก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ลักษณะการปกครองแบบคณะสงฆ์นี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยคําว่า “สังฆะ” หมายถึง ผู้แทน (Assembly) ในศาสนาพุทธจึงหมายถึง เหล่าภิกษุที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่ทําหน้าที่เผยแผ่ธรรมของพระองค์เท่านั้น

2 ทรงเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงแนะนําภิกษุมิให้ โกรธหากใครมาว่ากล่าวติเตียนพระองค์หรือหลักธรรมหรือแม้แต่คณะสงฆ์ของพระองค์ และในทางกลับกันเมื่อมี คนชมเชยก็มิให้ชื่นชมโสมนัส รวมทั้งทรงแนะให้ภิกษุอธิบายเพื่อรับรองคํากล่าวชมนั้นว่าจริงแท้อย่างไร สรุปคือ ทรงแนะนําให้ยินดีหรือยินร้ายนี้ คือ การวางตนในทางสายกลาง

3 ใช้การอธิบายและปฏิบัติเป็นสิ่งที่พิสูจน์หลักธรรมของพระองค์ กล่าวคือ พระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้มีการตรวจสอบธรรมของพระองค์ได้เสมอ ทรงชี้ให้เห็นว่า หลักธรรมหรือการปฏิบัติตนของ พระองค์สามารถพิสูจน์ได้ผ่านการพูดคุยหรือการปฏิบัติให้เห็น

4 ทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ด้วยหลักขันติธรรม กล่าวคือ พระพุทธเจ้า ทรงใช้การตักเตือนหรือชี้ให้เห็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่หากไม่เป็นผลในบางกรณีพระองค์ทรงใช้การนิ่งเฉย ไม่อยู่ ร่วมสังฆกรรม ดังกรณีความขัดแย้งของพระสงฆ์หรือโกสัมพีที่เกิดแตกความสามัคคีเมื่อห้ามปรามไม่ฟัง พระองค์ ก็จาริกไปที่อื่น ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในสงฆ์เหล่านั้น ไม่กราบไหว้และไม่ถวายภัตตาหาร จนที่สุดพระสงฆ์ ต้องยุติแตกแยกและขอขมาต่อพระองค์

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดํารงตําแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์ และการเข้าเป็นสมาชิกศากยะ สังฆะของเจ้าชายสิทธัตถะ มีผลต่อแนวคิดของพระพุทธเจ้าในการสร้างสังคมสงฆ์และการปกครองสงฆ์ เช่น การใช้ การปกครองในรูปแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์มาใช้ในการปกครองหมู่ภิกษุและภิกษุณีใน ศาสนา รวมทั้งการเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่างออกไป และพร้อมแลกเปลี่ยน โดยไม่ชื่นชมหรือติเตียน หรือ การวางตนในทางสายกลาง เป็นต้น

POL3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา s/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ข้อ 1 การที่พุทธศาสนาสามารถสถาปนาขึ้นเป็นศาสนาใหม่และได้รับการศรัทธาอย่างแพร่หลายในชมพูทวีปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นพุทธกาลนั้น มีเงื่อนไขบริบททั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมสนับสนุนอย่างไร

แนวคําตอบ

พุทธศาสนา เกิดขึ้นในชมพูทวีป ซึ่งขณะนั้นศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาหลายร้อยปี และครอบงําความเชื่อของชาวชมพูทวีปอย่างแน่นแฟ้น จนถึงกับสามารถสร้างความยอมรับในเรื่องวรรณะอย่างฝังใจ

ศาสดาของพุทธศาสนาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติในชมพูทวีป มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ปกครองแคว้นสักกะ เมื่อพระชนมายุได้ 35 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง แล้วจึงได้เสด็จออกเผยแผ่พุทธศาสนา

ทั้งนี้ในการที่พุทธศาสนาสามารถสถาปนาขึ้นเป็นศาสนาใหม่และได้รับการศรัทธาอย่างแพร่หลาย ในชมพูทวีปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นพุทธกาลนั้น มีเงื่อนไขบริบททั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุน ดังนี้

เงื่อนไขบริบททางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุนพุทธศาสนาด้านการเมือง

พระพุทธเจ้าทรงมีพื้นฐานทางด้านการเมืองการปกครองเป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นได้จาก ในกฎหมาย กําหนดให้ชายชาวศากยะที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกของสภามนตรีที่เรียกว่า “ศากยะสังฆะ” ซึ่ง จะประชุมกันเป็นประจําเพื่อพิจารณาหาหนทางส่งเสริมรักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงบรรลุนิติภาวะจึงทรงสมัครเป็นสมาชิกของศากยะสังฆะ และทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่งติดต่อกันนานถึง 9 ปี ก่อนที่จะออกผนวช

พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธให้ลงหลักฐานอย่างมั่นคงในชมพูทวีปได้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ พระองค์ทรงประสูติมาเป็นโอรสกษัตริย์ มีวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวรรณะที่มีอํานาจ เกียรติยศและ ศักดิ์ศรีที่สูงสุดในหมู่ชน การสั่งสอนธรรมของพระองค์จึงได้รับการเชื่อถือ และศรัทธามากจากหมู่ชนทุกวรรณะ ทําให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทําได้ดีและได้ง่ายกว่าศาสดาองค์อื่น ๆ

นอกจากนี้แล้วพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชา ตลอดจนพระราชวงศ์เป็นจํานวนมากและสูงสุด จนยอมปฏิญาณเป็นพุทธมามกะที่จะนับถือเชื่อฟังและปฏิบัติตาม หลักธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ที่มีอํานาจทางการเมืองสูงสุด ยอมรับนับถือพุทธศาสนาและให้การอุปการะเกื้อหนุนส่งเสริมเต็มที่นั้น ก็ทําให้การเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ประสบความสําเร็จอย่างดียิ่ง

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

ในช่วง 200 ปีก่อนพุทธกาล ตอนเหนือของชมพูทวีป โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของแม่น้ําคงคา ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและหลากหลาย เกิดการพัฒนาความเป็นเมืองมากขึ้น ความเป็นเมืองดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาทาง การค้าและเกษตรที่ก้าวหน้า ส่งผลให้ประชาชนแต่ละคน (ปัจเจกชน) มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และประสบความสําเร็จมั่งคั่งและเป็นเจ้าของกิจการมากมาย และด้วยความก้าวหน้าและมั่งคั่ง ทําให้บุคคลเหล่านี้ ยึดติดกับระบบวรรณะน้อยลง และยังส่งผลให้วรรณะอื่นที่มีความร่ํารวยน้อยกว่า ต้องหันมาพึ่งพิงวรรณะแพทย์ มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงนั้นก่อให้เกิดพัฒนาการทางวัตถุอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มั่นทอนสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และส่งผลกระทบในด้านการเมืองที่สําคัญ คือ วรรณะกษัตริย์กับ วรรณะพราหมณ์เริ่มมีความโน้มเอียงที่จะต่อต้านวรรณะแพทย์กับศูทร แม้แต่วรรณะแพทย์กับศูทรที่อยู่ในเมือง ก็เริ่มรู้สึกห่างเหินกับวรรณะเดียวกันที่อยู่ในชนบทมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้โครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างวรรณะเริ่มไม่เป็นเอกภาพ อัตลักษณ์เดิมที่มีมาแต่โบราณเริ่มสูญหายก่อให้เกิดความอ้างว้างปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยว ประเพณีเดิมแทบล่มสลาย ไปหมด ส่งผลต่อชีวิตคนในเมือง ทําให้รู้สึกเป็นทุกข์ ชีวิตในชมพูทวีปในช่วงนั้นจึงดําเนินไปแบบอยู่ไปวัน ๆ แม้ชีวิต ในเมืองจะคึกคัก อีกทึก แต่ต่างก็เป็นชนชั้นใหม่ที่มากด้วยอํานาจ พลังกดดันและทะเยอทะยาน ขณะที่นอกเวลางาน ก็ใช้ชีวิตด้วยการพนัน ดูมหรสพ ร้องรําทําเพลง เคล้าคลอและหลับนอนกับนางโลม หรือทะเลาะวิวาทต่อยตีกัน ในร้านเหล้า ชีวิตของชาวชมพูทวีปจึงดูก้าวร้าว ในสาธารณรัฐก็มีความขัดแย้งจนใช้กําลัง

ชมพูทวีปในช่วงพุทธกาลเป็นสังคมที่ปรากฏความขัดแย้งสองด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านหนึ่งเป็น ความขัดแย้งของระบบวรรณะที่เริ่มถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง อีกด้านหนึ่งเป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากขนบจารีต ตามคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ที่ถูกปฏิเสธมากขึ้น ซึ่งทั้งระบบวรรณะและคัมภีร์พระเวทต่างไม่เป็นคําตอบ ให้กับยุคสมัยได้อีกต่อไป

บริบทดังกล่าวย่อมเป็นที่รับรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะผู้ซึ่งเป็นสมาชิกศากยะสังฆะ เมื่อทรงได้พบกับ “เทวทูตสี่” อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ในช่วงบริบทการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างตน เจ้าชาย สิทธัตถะย่อมตั้งคําถามต่อยุคสมัยและเกิดการวิเคราะห์ขมวดแคบลงจนตั้งคําถามของการมีชีวิตอยู่ของแต่ละชีวิต และพบว่า การบรรพชาเป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจาก “ชีวิตที่เป็นทุกข์”

ดังนั้นจากบริบททางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมข้างต้น ทําให้พุทธศาสนาสามารถสถาปนา ขึ้นเป็นศาสนาใหม่และได้รับการศรัทธาอย่างแพร่หลายในชมพูทวีป

 

ข้อ 2 แนวคิดการปกครองที่ยึดหลักของพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร และการส่งผ่านแนวคิดดังกล่าวสู่การปกครองไทยได้อย่างไร

แนวคําตอบ

แนวคิดการปกครองที่ยึดหลักของพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในอดีตกาล กษัตริย์จํานวนมากได้ใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาสร้างสันติสุข ทํานุบํารุงบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ลดความรุนแรง การประทุษร้าย การฆ่าฟัน และสงครามลงได้มาก จนได้รับ การยกย่องว่าเป็นธรรมราชา ซึ่งธรรมราชาที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ คือ พระเจ้าอโศกมหาราช

พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เดิมพระเจ้าอโศกมหาราช มิได้ทรงนับถือพุทธศาสนา ทรงมีพระทัยดุร้ายมาก แต่เมื่อทรงหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็ทรงเปลี่ยนแปลง พระองค์เป็นธรรมราชาที่ทรงขยายพระราชอํานาจโดยธรรม เช่น ใช้กองทัพขู่ให้กลัวและยอมแพ้ แล้วหันมา ปฏิบัติธรรมตามแบบของพระองค์ กษัตริย์ที่เป็นเมืองขึ้นก็ต้องปกครองแผ่นดินโดยธรรมเหมือนพระองค์ ต้อง อบรมสั่งสอนธรรมแก่ราษฎรอย่างจริงจังเหมือนพระองค์

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปกครองโดยเน้นคุณสมบัติที่ดีของพุทธศาสนา เช่น – ทรงมีใจกว้างต่อศาสนาอื่น มิได้ทําลายล้างศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นความเชื่อของคนอินเดียทั่วไปทรงสอนให้ประชาชนมีใจกว้างเช่นเดียวกับพระองค์ด้วยเช่นกัน ไม่ทรงสนับสนุนให้ยกย่องนักบวชของตัวแล้วกล่าวร้ายนักบวชที่คนอื่นนับถือ

– ทรงสั่งสอนธรรมะที่เกี่ยวข้องให้ทั้งประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในและนอกอาณาจักร

– ทรงมีความเมตตาต่อสัตว์ ทรงยกเลิกการล่าสัตว์ส่วนพระองค์ ห้ามฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

– ทรงห้ามประชาชนล่าสัตว์ ห้ามฆ่าสัตว์บางชนิด บางเวลา การสร้างโรงพยาบาลสัตว์

– การตั้งธรรมมหาอํามาตย์ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพระองค์ในการบําเพ็ญธรรม ดูแลพระราชวงศ์ให้บําเพ็ญธรรม สั่งสอนประชาชน และทํางานด้านสังคมสงเคราะห์

– ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทรงห่วงใยและเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างยิ่ง เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แนวคิดการปกครองที่ยึดหลักของพุทธศาสนาเกิดขึ้นเห็นได้ชัดในสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเลื่อมใสนับถือพุทธศาสนาอย่างสูงสุด จนเปลี่ยนพระองค์จากเคยที่เป็นจักรพรรดิที่แสวงหา อํานาจด้วยการใช้กําลังมาเป็นธรรมราชา โดยเมื่อนับถือเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้วกลับทรงนําเอาหลักธรรมคําสอน เช่น ศีล ทศพิธราชธรรม จักกวัตติวัตร และธรรมะพื้นฐาน เช่น พรหมวิหาร 4 เป็นต้น มาปรับใช้ในการปกครอง บ้านเมือง พระองค์จึงเป็นธรรมราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้วประมาณ 250 ปี

การส่งผ่านแนวคิดดังกล่าวสู่การปกครองไทยได้อย่างไร

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนต่าง ๆ โดย คณะทูตคณะหนึ่งที่นําโดยพระโสณะและพระอุตตระเถระเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งส่งผลทําให้ปัจจุบันพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งของสังคมและความคิดทางการปกครองไทยมาทุกยุค ทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ นับถือและบํารุงพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ซึ่งในที่นี้ จะขอกล่าวโดยสรุป ดังนี้

 

สมัยสุโขทัย

พ่อขุนรามคําแหง มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระองค์ทรงเป็นธรรมราชา และทรงให้มีการจารึกเรื่องราวสําคัญของแผ่นดินลงบนศิลาจารึก เหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช ทําให้เราทราบ ความเป็นธรรมราชาของพระองค์ และทรงโปรดให้นิมนต์คณะสงฆ์ลังกาขึ้นมาตั้งลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นที่สุโขทัย เป็นต้น

– พระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นธรรมราชายิ่งกว่ากษัตริย์ องค์อื่น ๆ ของกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จออกบรรพชาในขณะที่ครองราชย์อยู่ รวมทั้งทรงศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉานและแต่งหนังสือชื่อ เตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง ขึ้นใช้สําหรับ สังสอนธรรมแก่ประชาชน เป็นต้น

สมัยกรุงศรีอยุธยา

– สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยของพระองค์พุทธศาสนารุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่ง ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจํานวนมาก ทรงถวายวังเป็นวัด เสด็จออกผนวช และทรงนิพนธ์วรรณคดีพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระมหาธรรมราชาลิไท โดยทรงนิพนธ์มหาชาติคําหลวง สําหรับใช้เทศน์มหาชาติ สั่งสอนแก่ประชาชน เป็นต้น

– สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นช่วงอันตรายที่สุดของพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็ว่าได้ เพราะประเทศแถบยุโรปหลายประเทศกําลังขยายอาณาจักรล่าเมืองขึ้น โดยพ่วงเอาศาสนาคริสต์มาเผยแผ่ด้วย แต่พระองค์ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างไม่แปรเปลี่ยน และความเฉลียวฉลาดในการตอบปฏิเสธ ไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาและบังคับให้เปลี่ยนศาสนา เป็นต้น

สมัยกรุงธนบุรี

– พระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงฝักใฝ่บําเพ็ญธรรมกรรมฐาน ทั้งด้านสมถะและ วิปัสสนาและทรงบํารุงพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง รวมทั้งทรงให้รวบรวมพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่พม่า เผาทําลายเกือบหมด ทรงเสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาคัดลอก เป็นต้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

– พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้รวบรวมไว้จากทั่วประเทศ เพื่อให้เอกสารสําคัญที่สุดของพุทธศาสนามีความสมบูรณ์ ถูกต้องตามพุทธโอวาทและต้นฉบับเดิมมากที่สุด รวมทั้งพระองค์ทรงยึดมั่นในคําสอนของพระพุทธเจ้า ทรงมีพระทัย ตั้งมั่นให้ประชาชนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมในพุทธศาสนา เป็นต้น

– พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรพชาเป็นพระภิกษุเมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นการออกบวชในระหว่างการครองราชย์ และโปรดให้ตั้งมหามงกุฏราชวิทยาลัยขึ้นเป็นศูนย์กลาง ในการศึกษาปริยัติธรรม ซึ่งต่อมาได้เป็นวิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากการส่งผ่านแนวคิดการปกครองที่ยึดหลักของพุทธศาสนาของพระเจ้า อโศกมหาราช มาสู่การปกครองไทยผ่านทางการเผยแผ่พุทธศาสนา ได้ทําให้พระมหากษัตริย์ที่มีอํานาจ เลื่อมใสศรัทธา นับถือและทํานุบํารุงพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และพระมหากษัตริย์เหล่านี้ก็ได้อาศัยหลักธรรมเป็นอํานาจ ดูแล ปกครองบ้านเมืองให้มีความร่มเย็น เป็นสุข

 

ข้อ 3 จงอธิบายหลักการและวิพากษ์ข้อดีและข้อเสียของหัวข้อต่อไปนี้มาโดยละเอียด (เลือกทํา 3 หัวข้อ)

1) ประชาธิปไตยสมัยโบราณ

2) ประชาธิปไตยสมัยโรมัน

3) ประชาธิปไตยสมัยใหม่

4) ธรรมราชา

5 ) ทศพิธราชธรรม

6) ธรรมวิชัย

แนวคําตอบ (ให้นักศึกษาเลือกอธิบายเฉพาะ 3 หัวข้อเท่านั้น)

1 ประชาธิปไตยสมัยโบราณ

หลักการ

ระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบอบการเมืองหนึ่งที่มีกําเนิดและวิวัฒนาการมา ตั้งแต่สมัยนครรัฐของกรีกกว่า 2,000 ปีมาแล้ว คือ นครรัฐเอเธนส์

Democracy มาจากภาษากรีก 2 คํา คือ “Demos” แปลว่า ประชาชน และ “Kratos” แปลว่า การปกครอง โดยเมื่อรวมกันก็หมายถึง การปกครองของประชาชน

ประชาธิปไตยเริ่มแรกในนครรัฐเอเธนส์ขณะนั้นเป็นแบบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ซึ่งมีสภาประชาชนที่ทําหน้าที่ออกกฎหมายและเป็นศาลสูง โดยมาจากพลเมืองชายทุกคนที่มีอายุ 14 ปี

ในเอเธนส์มีการแบ่งสถาบันทางการเมือง ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1 กองทัพบกและกองทัพเรือ

2 สภาห้าร้อย ทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร

3 ศาล ซึ่งใช้พลเมืองชาวเอเธนส์เป็นผู้ตัดสิน โดยใช้เสียงข้างมาก

ในเอเธนส์มีการแบ่งคนออกเป็น 3 ชนชั้น คือ

1 ทาส ได้จากการเกณฑ์มาเป็นทาส และขายตัวมาเป็นทาส

2 ต่างด้าว ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเชื้อสายกรีก ไม่มีสิทธิในการออกเสียงทางการเมืองใด ๆทั้งนี้พวกทาสและต่างด้าวถือว่ามีค่าทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีสิทธิทางการเมืองเลย

3 พลเมือง (Citizen) เป็นชนชั้นที่มีสิทธิทางการเมืองกลุ่มเดียวเท่านั้น เป็นเพศชายอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเพศชายเมื่ออายุ 18 ปีขึ้นไปจะได้เป็นสมาชิกของสภาประชาชนโดยอัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปราย แสดงความคิดเห็นได้

ทั้งนี้จากการที่พลเมืองเพศชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเอง

ข้อดี

1 การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบทางตรงของพลเมือง

2 สภาห้าร้อยมีอํานาจอธิปไตยในการปกครอง

3 บริการทุกอย่างให้เสียงข้างมาก

4 วิธีการเลือกผู้ปกครองแบบเลือกตั้ง เป็นต้น

ข้อเสีย

1 ยังไม่มีความเสมอภาค เพราะพวกทาส คนต่างด้าว สตรีและเด็ก ไม่มีสิทธิทางการเมือง

2 เมื่อประชากรของนครรัฐมากขึ้น ทําให้ไม่มีที่ประชุม เนื่องจากนครรัฐเอเธนส์มีลักษณะเป็นเกาะและมีอาณาเขตไม่กว้างขว้างจนทําให้ต้องยกเลิกการปกครองลักษณะนี้ไปในที่สุด เป็นต้น

 

2 ประชาธิปไตยสมัยโรมัน

หลักการ

ประชาธิปไตยสมัยโรมันเกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐ (Republic, 509 – 27 B.C.) ซึ่งคําว่า “Republic” มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครองสาธารณรัฐ – ก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

ในสมัยสาธารณรัฐโรมันประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ

1 พวกแพทริเชียน (Patrician) ซึ่งเป็นชนชั้นสูงที่มั่งคั่งและเป็นเจ้าของที่ดิน มีจํานวน 10% ของราษฎรทั้งหมด

2 พวกพลีเบียน (Plebeian) ซึ่งเป็นราษฎรส่วนใหญ่ มีจํานวน 90% ประกอบไปด้วย ชนชั้นกลางมีฐานะ เช่น เจ้าของที่ดิน พ่อค้า ช่างฝีมือ และเจ้าของร้านค้า รวมทั้งชาวนารายย่อยและแรงงาน

พวกแพทริเชียนและพวกพลีเบียนเป็นราษฎรโรมัน (Citizen) มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และมีหน้าที่ในการเสียภาษี แต่พวกพลีเบียนไม่สามารถดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ในรัฐบาลได้

ในปี 451 BC มีการร่างกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกเรียกว่า “กฎหมาย 12 โต๊ะ” ซึ่งระบุถึงสิทธิและหน้าที่ของพวกแพทริเชียนและพวกพลีเบียน กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิแก่พวกพลีเบียนออกกฎหมาย ร่วมกับพวกแพทริเชียน นับเป็นความสําเร็จอันยิ่งใหญ่ในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองของพวกพลีเบียน และเป็น พื้นฐานของกฎหมายโรมันในสมัยต่อมา ทําให้พวกพลีเบียนดํารงตําแหน่งสําคัญ ๆ ได้

องค์กรปกครองสาธารณรัฐโรมัน ประกอบด้วย

1 กงสุล (Consul) เป็นประมุขฝ่ายบริหาร มีจํานวน 2 คน ซึ่งเป็นพวกแพทริเซียนที่มา จากการเลือกตั้งโดยสภาซีเนต มีอํานาจเท่าเทียมกัน อยู่ในตําแหน่งคราวละ 1 ปี กงสุลทั้ง 2 คนสามารถปรึกษา ซึ่งกันและกัน และสามารถยับยั้ง (Veto) ซึ่งกันและกันได้ ในยามสงครามหรือยามฉุกเฉินจะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการ เพียงคนเดียวเป็นผู้นําในการบริหาร อยู่ในตําแหน่งได้ไม่เกิน 6 เดือน

2 สภาซีเนต (Senate) ประกอบไปด้วยสมาชิก 300 คน โดยเลือกจากพวกแพทริเชียน และดํารงตําแหน่งตลอดชีพ มีหน้าที่ให้คําปรึกษาแก่กงสุล พิจารณานโยบายต่างประเทศ เสนอกฎหมาย และอนุมัติ งบประมาณการก่อสร้างและป้องกันสาธารณรัฐ

3 สภาราษฎร (Assembly of Citizen) ประกอบไปด้วยราษฎรโรมันทั้งแพทริเชียนและ พวกพลีเบียน มีหน้าที่แต่งตั้งกงสุลและผู้บริหารอื่น ๆ รับรองกฎหมายที่เสนอโดยสภาซีเนต และทําหน้าที่ตัดสิน กรณีพิพาทที่สําคัญ ๆ

ทั้งนี้องค์กรทั้ง 3 เป็นองค์กรที่ทรงอํานาจในการปกครอง แต่ละองค์กรต่างระแวดระวังและ คานอํานาจซึ่งกันและกัน ไม่ให้องค์กรใดมีอํานาจสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ทํางานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดี

1 มีการถ่วงดุลอํานาจ (Check and Balance) ระหว่างกงสุล สภาซีเนต และสภาราษฎร

2 การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) โดยให้ราษฎรโรมันเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

3 มีการรวมกลุ่มทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ (Social Interest) เช่น กฎหมาย 12 โต๊ะ

4 มีการปกครองด้วยกฎหมาย (Rule of Law) เป็นต้น

ข้อเสีย

1 อํานาจในการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่สภาชีเนต

2 นโยบายของสภาซีเนตส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของแพทริเชียน เป็นต้น ธรรมวิชัย หลักการ

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นต้นแบบของธรรมราชา ทั้งนี้เมื่อพระองค์ทรงหันมานับถือพุทธศาสนา ทรงเปลี่ยนแนวในทางการบริหารแผ่นดินเสียใหม่จากสงครามวิชัยมาเป็น “ธรรมวิชัย” หรือชัยชนะด้วยธรรม

ธรรมวิชัยของพระเจ้าอโศกมหาราช มีลักษณะดังนี้คือ

– พระองค์ทรงชนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาสตรา

– ทรงขยายพระราชอํานาจโดยธรรม เช่น ใช้กองทัพขู่ให้กลัวและยอมแพ้ แล้วหันมาปฏิบัติธรรมตามแบบของพระองค์

– ทรงให้กษัตริย์ที่เป็นเมืองขึ้นปกครองแผ่นดินโดยธรรมเหมือนพระองค์ ต้องอบรมสั่งสอนธรรมแก่ราษฎรอย่างจริงจังเหมือนพระองค์

– พระองค์ทรงเผยแผ่หลักธรรมไปสู่ผู้ที่อยู่นอกอาณาเขตของพระองค์และทรงให้ปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์

– ทรงอุปถัมภ์บํารุงสมณพราหมณ์เข้าไปสนทนาธรรม และแก้ไขความเสื่อมของศาสนา

– ทรงแสดงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรม

– ทรงประสงค์ให้คนที่แตกต่างกันทั้งผู้ดีและสามัญชนหันมานับถือพุทธศาสนาอยู่ภายใต้สังคมพุทธที่มีความเสมอภาคกัน ความแตกต่างระหว่างบุคคลก็จะหมดไป มีแต่ความ สามัคคีธรรม ทรงเปลี่ยนจากเสียงกึกก้องของกลองศึกมาเป็นเสียงกึกก้องของการประกาศธรรม ฯลฯ

ข้อดี

1 ทําให้กษัตริย์ปกครองแผ่นดินโดยธรรม

2 สังคมเกิดความสงบสุข ไม่มีการทําสงคราม

3 ลดความแตกต่างกันระหว่างผู้ดีและสามัญชน

4 ทําให้คนมีความเสมอภาคกันและมีความสามัคคี ข้อเสีย คือ ไม่มีการทํานุบํารุงกองทัพ ทําให้กองทัพออนแอ เพราะกษัตริย์มุ่งใฝ่ธรรม เป็นต้น

 

ข้อ 4 ให้อธิบายถึงความเหมือนหรือความแตกต่างของหลักทฤษฎีประชาธิปไตยตะวันตกกับทฤษฎีประชาธิปไตยในพุทธศาสนามาอย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ (ให้นักศึกษาเลือกอธิบายเฉพาะความเหมือนหรือความแตกต่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง)

หลักทฤษฎีประชาธิปไตยตะวันตกกับหลักทฤษฎีประชาธิปไตยในพุทธศาสนามีความเหมือนกัน ในหลายประเด็น ดังนี้

1 หลักอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Popular Sovereignty) อํานาจสูงสุดใน การปกครองประเทศหรืออํานาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชนทุกคนร่วมกัน ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจร่วมกัน ใช้อํานาจนี้จะทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเอง รวมทั้งอํานาจในการถอดถอนในกรณีที่มี การใช้อํานาจโดยมิชอบ

ในพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงหลักอธิปไตย 3 ประการ คือ

1) อัตตาธิปไตย คือ การถือตน เป็นใหญ่

2) โลกาธิปไตย คือ ถือการถือโลกเป็นใหญ่

3) ธรรมาธิปไตย คือ การถือธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งพุทธศาสนา มุ่งเน้นหลักธรรมาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด

2 หลักสิทธิและเสรีภาพ

สิทธิ (Right) หมายถึง อํานาจหรือความสามารถที่จะทําอะไรได้ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ ของผู้อื่น สิทธิบางอย่างเกิดมาตามธรรมชาติ เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกายของตนเอง ตนจึงมีสิทธิที่จะเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครองชีวิตของตน สิทธิบางอย่างได้มาตามกฎหมาย เพราะกฎหมายกําหนดไว้ให้มีสิทธินั้น โดยในทาง การเมืองประชาชนก็มีสิทธิที่สําคัญหลายอย่าง เช่น สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง (Election) สิทธิในการออกเสียง ประชามติ (Referendum) สิทธิเสนอร่างกฎหมาย (Initiative) และสิทธิในการถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจาก ตําแหน่ง (Recall) เป็นต้น

เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความเป็นอิสระในการกระทําการต่าง ๆ ตราบใดที่ไม่ได้ ทําให้ผู้อื่นเสียหายหรือผิดกฎหมาย โดยในทางการเมืองนั้นเสรีภาพที่สําคัญที่จะบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการพิมพ์ เสรีภาพในการศึกษา และเสรีภาพในการจัดตั้ง สมาคมและพรรคการเมือง เป็นต้น

ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยไม่ทรงบังคับให้ใคร เชื่อถือศรัทธาในศาสนาของพระองค์ แต่ทรงชี้ทางที่ถูกต้องให้เท่านั้น ใครจะทําตามหรือไม่นั้น ย่อมมีสิทธิเลือก นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังให้เสรีภาพในการคิด เช่น พระองค์ทรงสอนพวกกาลามะ ให้ใช้วิจารญาณการพิจารณา ไตร่ตรองของตนเองให้ดีเสียก่อนจึงจะเชื่อตามหลักกาลามสูตร 10 ประการ รวมทั้งทรงสอนเรื่องศีล 5 คือ ไม่ให้ฆ่าผู้อื่น ไม่ให้ลักทรัพย์ผู้อื่น ไม่ให้ล่วงละเมิดผู้อื่น เป็นต้น นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรับรองสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้อื่นจะละเมิดมิได้

3 หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง ความเท่าเทียมที่จะทําอะไรได้เหมือนกัน และได้รับการปฏิบัติเหมือนกันภายใต้กฎหมาย โดยในทางการเมืองก็มีความเสมอภาคที่สําคัญหลายอย่าง เช่น ความเสมอภาคในการเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ คนรวยหรือคนจน ก็มีค่าแห่งความเป็นคนเหมือนกัน ย่อมมีศักดิ์ศรีเกียรติยศที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ความเสมอภาคทางการเมืองมีความสําคัญ คือ บุคคลจะได้รับความคุ้มครองหรือปฏิบัติ จากกฎหมายเสมอเหมือนกัน ความเสมอภาคทางการเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง คือ คนที่มีภาวะหรือสภาพ เหมือนกัน ย่อมมีสิทธิทางการเมืองเสมอภาคกัน เช่น อายุ 18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนกันหมด เป็นต้น

ในพุทธศาสนา จะเห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้หญิงก็สามารถเข้ามาบวชเป็นภิกษุณีได้เช่นเดียว กับผู้ชายที่ขอบวชเป็นภิกษุ, พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านการแบ่งชั้นวรรณะตามศาสนาฮินดู โดยทรงให้ทุกวรรณะแม้แต่ จัณฑาลก็เข้าบวชในพุทธศาสนาได้ รวมทั้งพระองค์ทรงสอนว่าทุกคนมีความเสมอภาคกันหมดต่อกรรมดีและกรรมชั่ว ที่ตนทํา เป็นต้น

4 หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) หมายถึง ผู้ปกครองจะใช้อํานาจใด ๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อํานาจไว้ อีกทั้งการใช้อํานาจนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น การจํากัดสิทธิเสรีภาพใด ๆ ของประชาชนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ของกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นหลักการนี้มีขึ้นเพื่อมุ่งจะให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นสําคัญ

ในพุทธศาสนา มีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นหลักกฎหมาย ที่เป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหมู่คณะมีความสงบสุข เป็นต้น

5 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) หมายถึง ในการตัดสินใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกําหนด ตัวผู้ปกครอง หรือการตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และเพื่อให้มั่นใจว่าการตัดสินนั้นสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงและก็ต้องให้ความเคารพและ คุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย (Minority Right) ทั้งนี้เพื่อประกันว่าฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้มติในลักษณะพวกมากลากไป

ในพุทธศาสนา ในการปกครองคณะสงฆ์ก็ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน ฝ่ายใดได้รับ เสียงข้างมากสนับสนุน ฝ่ายข้างน้อยก็ปฏิบัติตาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย เป็นต้น

ดังนั้นจากหลักการดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยตะวันตกและประชาธิปไตยใน พุทธศาสนามีความเหมือนกันในหลายประเด็น เช่น หลักอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักสิทธิและเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักการปกครองโดยกฎหมาย และหลักเสียงข้างมาก เป็นต้น

 

ข้อ 5 จงอธิบายพัฒนาการของประชาธิปไตยจากสมัยโบราณมาจนถึงสมัยใหม่อย่างละเอียด

แนวคําตอบ

พัฒนาการของประชาธิปไตยจากสมัยโบราณมาจนถึงสมัยใหม่ มีลักษณะดังนี้ * ประชาธิปไตยสมัยโบราณ

การปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy) สมัยเริ่มแรกนั้น เกิดในนครรัฐเอเธนส์ของ กรีกโบราณ เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) กล่าวคือ พลเมืองชาวเอเธนส์ทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้ใช้อํานาจในการปกครองโดยตรงด้วยการประชุมร่วมกัน แต่ทั้งนี้เมื่อประชากรของนครรัฐมากขึ้น ทําให้ไม่มีที่ประชุม เนื่องจากนครรัฐเอเธนส์มีลักษณะเป็นเกาะและมี อาณาเขตไม่กว้างขว้าง จนทําให้ต้องยกเลิกไปในที่สุด

ประชาธิปไตยสมัยใหม่

หลังจากที่ประชาธิปไตยโดยตรงได้ล่มสลายไปจากนครรัฐเอเธนส์ และการปกครองแบบ ประชาธิปไตยหยุดชะงักไปนับพันปี ประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงได้เริ่มก่อรูปขึ้นในยุโรปตะวันตก

ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ คือ ประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ซึ่งได้รับ อิทธิพลจากอุดมการณ์ทางการเมือง ได้แก่ เสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ประชาธิปไตยสมัยใหม่เกิดขึ้นในยุคแห่งการรู้แจ้งในศตวรรษที่ 17 โดยมีแนวคิดของ นักปราชญ์ทางการเมืองที่สําคัญ และมีลักษณะพื้นฐานของเสรีนิยม ดังนี้

ยุคแห่งการรู้แจ้ง (Age of Enlightenment) เป็นยุคสว่างทางปัญญา โดยมีลักษณะที่สําคัญ คือ

1 ไม่เชื่อถือต่ออํานาจแบบประเพณีนิยมในเรื่องศาสนา และการเมือง โดยให้มนุษย์มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างและเคารพว่าเหตุผลเป็นหลักนําทางและบ่งถึงคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์

2 เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ นักปราชญ์ทางการเมือง จอห์น ล็อก อธิบายว่ามนุษย์ในสภาวะธรรมชาติมีลักษณะที่สําคัญอยู่ 2 ประการ คือ

1 เป็นสภาวะแห่งเสรีภาพโดยสมบูรณ์ หมายถึงว่า ทุกคนมีอิสรเสรีอย่างเต็มเปี่ยมที่จะ กระทําสิ่งใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพย์สินและร่างกายของเขา ตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสมภายใต้กฎธรรมชาติ โดยไม่จําเป็นที่จะขออนุญาตหรือขึ้นอยู่กับเจตจํานงของผู้อื่น

2 เป็นสภาวะแห่งความเสมอภาค หมายถึงว่า ในสภาวะธรรมชาติมนุษย์ทุกคนมีความ เท่าเทียมกันในสิทธิและอํานาจ โดยที่อํานาจทั้งหมดอยู่ที่บุคคลแต่ละคน เพราะฉะนั้นในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน จึงไม่มีผู้ใดมีอํานาจหรือสิทธิเหนือผู้อื่น

ลักษณะพื้นฐานของเสรีนิยม อุดมการณ์เสรีนิยมมีลักษณะพื้นฐาน 7 ประการ

1 ปัจเจกบุคคลนิยม (Individualism) ถือว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลมีความสําคัญ ที่สุด เหนือศาสนา เหนือสังคม โดยเป็นการมองที่ตัวเอง ถือว่าตัวเองสําคัญที่สุด เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เพราะมองว่า ถ้าไม่มีความเป็นตัวของตัวเองแล้ว ก็เท่ากับไม่มีตัวตน ดังนั้นทุกสิ่งที่มีอยู่ก็ปราศจากคุณค่าใด ๆ สําหรับตัวเขาแล้ว

2 เสรีภาพนิยม (Liberty/Freedom) หลักเสรีภาพอยู่คู่กับหลักปัจเจกบุคคลนิยม เพราะ เสรีภาพจะทําให้ความเป็นปัจเจกโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง โดยเสรีภาพในความหมายของเสรีนิยม หมายถึง “เสรีภาพภายใต้กฎหมาย” (Freedom under the Law) เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพของบุคคลหนึ่งกลายเป็น การละเมิดเสรีภาพของอีกบุคคลหนึ่ง การวางกรอบของกฎหมายก็เพื่อให้ต่างคนต่างมีโอกาสในการใช้เสรีภาพ มากที่สุด

3 เหตุผล (Reason) นักเสรีนิยมเชื่อมั่นในความสามารถการใช้เหตุผลของมนุษย์ เชื่อว่า ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถคิด ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องการให้กับตัวเอง รัฐบาลต้องเคารพการตัดสินใจ ของปัจเจกบุคคลทุกคน

ดังนั้นนักเสรีนิยมจึงส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันด้วยเหตุผลมากกว่าการ ตัดสินใจด้วยการใช้อํานาจบีบบังคับหรือการทําสงคราม เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดร่วมกัน

4 ความเสมอภาค (Equality) นักเสรีนิยมเชื่อว่ามนุษย์อย่างน้อยก็ “เกิดมาเท่าเทียมกัน” (Born Equal) มีความเสมอภาคเท่ากันตามกฎหมาย (Equality before the Law) ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เดียวกัน และมีความเสมอภาคทางการเมือง เช่น “หนึ่งคนเท่ากับหนึ่งเสียง (One Man One Vote)

5 ขันติธรรม (Toleration) ขันติธรรมหรือความใจกว้างอดทนต่อความคิดเห็น การกระทํา ของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากของตน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสําคัญที่จะประกันเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นปัจจัยสําคัญใน การสร้างความมั่งคั่งทางด้านสติปัญญาให้เกิดขึ้นในสังคม ผลที่ตามมาคือ สังคมที่เป็นพหุนิยม (Pluralism) ทาง ความคิด วัฒนธรรม ค่านิยมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการอภิปราย ถกเถียง ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญา เกิดเป็นตลาดเสรีทางความคิด (Free Market of Ideas)

ทั้งนี้นักเสรีนิยมเชื่อว่า เสรีภาพทางความคิดดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสังคม เพราะความแตกต่างทางความคิดจะดําเนินไปสู่จุดดุลยภาพเองโดยธรรมชาติจากการที่มนุษย์เป็นคนมีเหตุผลนั่นเอง

6 ฉันทานุมัติ (Consent) อุดมการณ์เสรีนิยมจะต้องตั้งอยู่บน “ฉันทานุมัติของผู้อยู่ใต้ กฎหมาย” (Consent of the Governed) ซึ่งหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในสังคมที่ปรากฏออกมา ในรูปของกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่รัฐใช้บังคับแก่ผู้คนทั้งหลายในสังคมต้องได้รับความเห็นชอบ โดยสมาชิกของสังคม

แนวคิดฉันทานุมัตินี้ สนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรทางสังคมที่เป็น ตัวแทนหรือสนับสนุนผลประโยชน์ของพวกตน เพราะภายใต้สมาคมหรือองค์กรทางสังคมเหล่านี้ได้กลั่นกลอง รวบรวมคนที่มีความคิดใกล้เคียงหรือตรงกันเข้าอยู่ด้วยกัน เป็นตัวแทนช่วยในการแสดงความคิดเห็น ฉันทานุมัติ จึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7 รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) รัฐธรรมนูญจะเป็นที่ที่บัญญัติให้ทุกคนในสังคม เข้าใจร่วมกันได้ว่า จะอยู่ในการปกครองร่วมกันได้อย่างไร กติกาการอยู่ร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร บทบาทหน้าที่ของ รัฐบาลอยู่ที่ไหน รัฐบาลควรมีนโยบายในภาพกว้างอย่างไร หน้าที่พลเมืองเป็นอย่างไร มีกลไกควบคุมการปกครอง อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลัทธิเสรีนิยม

POL3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

ความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย

รัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัยมีความแตกต่างกันในเรื่องของความหมาย และหลักการหรือ ลักษณะในการปกครอง ดังนี้

ความหมายของรัฐศาสนา รัฐศาสนา (Religious State) มีความหมาย 2 ระดับ คือ

1 รัฐหรือประเทศที่ระบุชัดในรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติว่ามีการยกย่องให้ศาสนาใด ศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจําชาติและให้ศาสนานั้นมีอิทธิพลต่อรัฐ

2 ประเทศที่เคร่งในศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเต็มที่ จนเอาหลักคําสอนมาปกครองประเทศ ความหมายของรัฐโลกาวิสัย รัฐโลกาวิสัยหรือรัฐโลกวิสัย (Secular State) สามารถอธิบายความหมายได้ 2 แนวทาง คือ

1 รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือ การปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกาวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

2 รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐ โลกาวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยและสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา

หลักการของรัฐศาสนา หลักการหรือลักษณะทั่วไปของรัฐศาสนา มีดังนี้

1 ระบุในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่ามีศาสนาหรือกระทั่งนิกายใดเป็นศาสนาประจําชาติ ซึ่งแม้จะบอกว่าให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ศาสนาอื่น แต่ก็ต้องเป็นรอง และห้ามขัดแย้งกับศาสนาหลัก

2 รัฐศาสนาโดยส่วนใหญ่ก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น แต่มักหมายถึงให้เป็น ศาสนาของชนกลุ่มน้อยเท่านั้นและกีดกันไม่ให้คนในศาสนาหลักเปลี่ยนศาสนา

3 รัฐอุดหนุนบํารุงศาสนาหลักอย่างเต็มที่ มีการให้ศาสนาหลักเป็นศาสนาเดียวหรือ ศาสนาหลักในรัฐพิธี และมีการใช้วันสําคัญทางศาสนาหลักมาเป็นวันหยุดราชการและวันสําคัญของชาติ

4 มีโทษสําหรับการกระทําที่หมิ่นศาสนาหรือปั่นทอนศาสนาหลัก และมีการใช้หลัก คําสอนของศาสนาหลักมากําหนดเป็นกฎหมายและประเพณีของรัฐอย่างมาก

5 ผู้นําประเทศจะต้องนับถือศาสนาหลักหรืออาจต้องเป็นผู้นําศาสนาหลักด้วย นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ของชาติ ธงชาติ และของหน่วยงานราชการจะมีมาจากเนื้อหาของศาสนาหลักปนอยู่ รวมทั้งมีการกําหนดให้นักเรียนต้องเรียนศาสนาหลักในโรงเรียนและมีพิธีกรรมของศาสนาหลักในโรงเรียน

หลักการของรัฐโลกาวิสัย หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกาวิสัย มีดังนี้

1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่อากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้ สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็นเรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุม และสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนาควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็น สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา กําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น

4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา หมายความว่า การกระทําความผิดของ ประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสินการกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ

 

ข้อ 2 พุทธศาสนาได้อธิบายการเกิดสังคมมนุษย์ไว้อย่างไร โปรดอธิบาย

แนวคําตอบ

การกําเนิดสังคมมนุษย์ในทางพุทธศาสนาตามอัคคัญญสูตร

อัคคัญญสูตร เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าทิตรัสถึงมนุษย์ สังคม และสถาบันทางการเมือง โดยแสดงถึงวิวัฒนาการเป็นลําดับชั้นตั้งแต่โลกพินาศจนถึงการเกิดขึ้นของมนุษย์ โดยการเกิดขึ้นของมนุษย์ที่มี ตัณหาก่อให้เกิดการสะสมทรัพย์ การสร้างครอบครัว การเลือกหัวหน้า และการลงโทษผู้กระทําความผิด

พุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความดีบนสภาวะธรรมชาติดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์ สุขสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกสบายในการดํารงชีพ ไม่มีความอยากอาหารเพราะได้สําเร็จทางใจแล้ว

ซึ่งทําให้มนุษย์ไม่ต้องลงแรงอะไรเลย มนุษย์ไม่มีความแตกต่างกัน ไม่มีการแบ่งแยกชาติวงศ์หรือพรรคพวก มีแต่ความดี ประกอบกุศลกรรม ทําให้มีชีวิตมั่นคง ปลอดภัยแต่ตัณหาทําให้มนุษย์ตกต่ำลง และเกิดความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานขึ้น พอบริโภควนดิน ก็ทําให้เกิดรูปร่างและผิวพรรณที่แตกต่างกันขึ้น เกิดการยึดมั่นว่าผิวพรรณตนดี ผิวพรรณคนอื่นต่ำทรามกว่า เกิดยึดเอาผิวพรรณเป็นเครื่องกําหนดความสูงต่ำ ต่อมาร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นหญิงเป็นชายขึ้น เกิดการเสพเมถุนขึ้น ทําให้ถูกสัตว์โลกอื่น ๆ ขว้างปา จนต้องสร้างบ้านเรือนกําบัง เกิดการสร้างครอบครัวขึ้น

ส่วนด้านอาหารก็เริ่มมีผู้เกียจคร้านสะสมอาหารไว้เกินกว่าความจําเป็น คนอื่นก็สะสมบ้าง จนเกิดการแข่งขันกันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความโลภขึ้นมา เมื่อมีคนโลภกันมาก ทําให้ความขาดแคลน เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการปักปันเขตแดนกันขึ้น ก็เกิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้น แต่ความโลภก็ทํา ให้คนลักทรัพย์ของคนอื่นจึงถูกด่าว่าทุบตี

การลงโทษจึงเกิดขึ้นมาจากการมีทรัพย์สินส่วนตัว แต่การลงโทษก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์และ ไม่ชอบธรรมพอ จึงเกิดความต้องการที่จะให้มีระเบียบการปกครองขึ้น จึงได้ตกลงกันเลือกตั้งคนผู้หนึ่งขึ้นมา ทําหน้าที่ว่ากล่าวติเตียนลงโทษผู้กระทําความผิด โดยได้รับส่วนแบ่งผลผลิตจากคนในปกครองของตน จึงเกิด คําเรียกผู้ปกครองว่า “มหาชนสมมุติ” คือ เป็นผู้ที่คนทั่วไปสมมุติขึ้นเป็นหัวหน้า เรียกว่า “กษัตริย์” เพราะเป็นหัวหน้าดูแลเขตแดนหรือที่ทํากินซึ่งเป็นนา เรียกว่า “ราชา” เพราะทําให้เกิดความสุขใจโดยให้ความเป็นธรรม จนถือเป็นบรรทัดฐานสําหรับปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ก็กลายเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้นในทางพุทธศาสนาสังคมมนุษย์เกิดขึ้นจากที่มนุษย์มีตัณหา เกิดการยึดเอาผิวพรรณเป็น เครื่องกําหนดความสูงต่ำ เกิดการเสพเมถุนจนทําให้เกิดสถาบันครอบครัวขึ้นมา การมีสถาบันครอบครัวทําให้ เกิดความอยากสะสมต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ทําให้เกิดการแก่งแย่งกันขัดแย้งกันขึ้น จึงจําเป็นต้องมีผู้ปกครองทําหน้าที่ ปกป้องคุ้มครองความเป็นอยู่การดํารงชีวิตของคนในสังคมโดยผู้ปกครองได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่

 

ข้อ 3 โปรดอธิบายความหมาย หรือลักษณะของคําศัพท์ต่อไปนี้โดยละเอียด (เลือกทําเพียง 1 ข้อ)

(1) อลัชชี, เดียรถีย์

(2) สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตยทางตรง

(3) บัวสี่เหล่า, อกุศลมูล

แนวคําตอบ

(1) อลัชชี เป็นคําศัพท์ที่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคําสอนของพระศาสดา เป็นผู้นอกรีตที่ทําให้ศาสนาเสื่อมเสียและไม่มีความละอายต่อสิ่งที่กระทํานั้น เช่น อลัชชีในพระพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยและทําให้พระธรรมวินัยขาด เช่น พระสงฆ์ที่เสพเมถุน ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชนอกศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล อีกความหมายหนึ่ง เดียรถีย์ หมายถึง พวกที่มีลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

ในพระวินัยปิฎกมีว่า ถ้าเดียรถีย์คนใดต้องการจะบวชในพระพุทธศาสนา ต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อทดสอบดูว่าผู้นั้นมีความเลื่อมใสจริงเสียก่อนจึงอนุญาตให้บวชได้

(2) สาธารณรัฐ (Republic) เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งคําว่า “Republic มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครองสาธารณรัฐก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้งประชาธิปไตยทางตรง เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองที่พลเมือง (Citizen) ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้ใช้อํานาจในการปกครองโดยตรงด้วย การประชุมร่วมกัน ทั้งนี้เมื่อพลเมืองชายชาวเอเธนส์อายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เป็นสมาชิกของสภาประชาชนโดย อัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจากการที่พลเมืองชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเองนั้น ทําให้เรียกการปกครองลักษณะแบบนี้ว่า “ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct Democracy) นั้นเอง

(3) ดอกบัวสี่เหล่า เป็นการแยกบุคคลของพระพุทธเจ้าในการเข้าถึงหลักธรรมของพระองค์ ออกเป็น 4 พวก ผ่านการเปรียบเทียบกับดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้

1) บัวใต้โคลน คือ พวกที่ไร้สติปัญญา แม้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ไม่มีความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่โคลนตม และอาจจะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา อีกด้วย ไม่มีโอกาส โผล่ขึ้นพ้นน้ําเพื่อเบ่งบาน

2) บัวใต้น้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรม ฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ มีสติมั่น ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ํา ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

3) บัวเสมอน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เพื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับ การอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม ก็จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานในวัน ถัดไป

4) บัวเหนือน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจ ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ํา เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ก็จะเบ่งบานทันที

อกุศลมูล มี 3 ประการ ดังนี้

1) โลภะ (ความโลภ) คือ ความอยากได้สิ่งที่เป็นของคนอื่นโดยมิชอบ ถ้าเราอยากได้ รถยนต์แล้วไปซื้อเอาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยากได้รถยนต์แล้วไปขโมยของคนอื่นก็ถือว่าเป็นการทําชั่ว เพราะมีความ โลภเป็นมูลเหตุ

2) โทสะ (ความโกรธ) คือ ความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเกิดการปองร้าย หรือผูกพยาบาท ทําให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่ถูกต้อง ถ้าเกิดความโกรธขึ้นในใจแล้วไม่ปองร้ายใครก็ไม่เป็นไร

3) โมหะ (ความหลง) คือ ความมัวเมาขาดสติ ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะกระทํา ความหลงเกิดได้ในหลายสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยึดถือเอามาเป็นของตน เช่น ความหลงในกิเลสกาม ความหลงใน อํานาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทองต่าง ๆ ความหลงเหล่านี้ถ้าอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลงมาก ๆ แล้ว กระทําหรือก่อกรรมให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้วก็ถือเป็นกรรมชั่ว

 

ข้อ 4 พระเจ้าอโศกมหาราชในขวงแรกของการขึ้นครองราชย์ทรงปกครองโดยหลักอรรถศาสตร์ จงอธิบายแนวทางและวิธีการปกครองตามหลักดังกล่าว แนวคําตอบ

แนวทางการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์

แนวทางการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์ของพระเจ้าอโศกมหาราช คือ หลักสงครามวิชัย ซึ่งเป็นการเอาชนะด้วยสงคราม โดยในการขยายอาณาจักรของพระองค์ทรงใช้แสนยานุภาพปราบปรามข้าศึก อย่างโหดเหี้ยม กองทัพของพระองค์ได้ชัยชนะแบบที่เรียกว่า เลือดท่วมท้องช้าง โดยเฉพาะสงครามครั้งสุดท้าย ที่ทรงเข้ายึดแคว้นกาลิงคะทางตอนใต้ของชมพูทวีปก็มีคนตายเป็นจํานวนมากมาย

วิธีการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์

วิธีการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์ของพระเจ้าอโศกมหาราชจะเน้นหนักไปในทิศทาง การสร้างอํานาจ การรักษาอํานาจ การจัดแบ่งการปกครอง การเก็บภาษี การใช้เล่ห์กสเพทุบายทางการเมือง ต่าง ๆ เพื่อเอาชนะศัตรู การใช้ระบบสายลับที่สลับซับซ้อน และการรวมอํานาจไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ ดังนี้

1 การสร้างอํานาจ คือ การมุ่งสร้างอํานาจ การสะสมอาวุธ เพื่อที่จะทําสงคราม

2 การรักษาอํานาจ คือ การที่จะปกครองราษฎรหรือหัวเมืองต่าง ๆ เชื่อฟังพระองค์

3 การจัดแบ่งการปกครอง คือ การจัดรูปแบบการปกครองให้รวมศูนย์

4 วิธีการจัดเก็บภาษี คือ เพื่อที่จะสนับสนุนการปกครองของพระองค์เองและก็ของราชวงศ์เพื่อที่จะให้มีความมั่งคั่ง เพื่อที่จะใช้รักษาอํานาจ และเพื่อที่จะขยายอาณาจักรของพระองค์

5 การใช้เล่ห์กลเพทุบายทางการเมือง

6 การใช้สายลับ คือ เพื่อการรู้ข้อมูลข่าวสารของคนที่จะมาบั่นทอนอํานาจของพระองค์เป็นการรักษาไว้ซึ่งอํานาจของพระองค์

7 การรวมศูนย์อํานาจ คือ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ข้อ 5 รัฐสักกะ มีความสําคัญอย่างไร และมีแนวทางการปกครองแบบใด และการปกครองรูปแบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร

แนวคําตอบ

ความสําคัญของรัฐสักกะ

รัฐสักกะ คือ รัฐของฝ่ายศากยะวงศ์อันเป็นต้นวงศ์ของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ พระพุทธเจ้า มีภูมิหลังเป็นชาวสักกะ เกิดในศากยะวงศ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ของรัฐโกศลคือ พระเจ้าโอกกากะ ตระกูลศากยะ

แนวทางการปกครองของแคว้นสักกะ

รัฐสักกะมีแนวทางการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) หรือสามัคคีธรรม ก็คือ ผู้ปกครองคือราชาซึ่งได้รับเลือกตั้งจากศากยะวงศ์ด้วยกัน การบริหารหรือการปกครองรัฐทําโดยการประชุมใน ศากยะสังฆะ หรือสภามนตรีที่อาคารรัฐสภาที่ชื่อว่าสันถาคาร

ลักษณะของการปกครองของศากยะสังฆะ

กฎหมายกําหนดให้ขายชาวศากยะที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกของสภามนตรี ที่เรียกว่า “ศากยะสังฆะ” ซึ่งจะประชุมกันเป็นประจําเพื่อพิจารณาหาทางส่งเสริมรักษาผลประโยชน์ของ ชาวศากยะ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุนิติภาวะจึงทรงสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของศากยะสังฆะ และได้ กล่าวปฏิญาณต่อศากยะสังฆะว่า

1 ข้าพเจ้าจะอุทิศทั้งกาย ใจ และทรัพย์สินของข้าพเจ้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ

2 ข้าพเจ้าจะไม่ขาดประชุม

3 ข้าพเจ้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าศากยะคนใดทําผิดหน้าที่ทําลายผลประโยชน์ของชาวศากยะ ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ศากยะสังฆะทราบโดยไม่ปิดบัง

4 ข้าพเจ้าจะไม่โกรธเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดใด ๆ และจะยอมรับผิด ถ้ากระทําผิดต่อข้อบัญญัติของศากยะสังฆะจริง

เมื่อปฏิญาณตนแล้ว ปุโรหิตผู้เป็นประธานก็จะประกาศเหตุที่สมาชิกภาพของศากยะสังฆะ จะสิ้นสุดลงดังนี้

1 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการข่มขืนกระทําชําเรา

2 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการฆาตกรรม

3 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการลักขโมย

4 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการให้การเท็จ

 

POL3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (ข้อละ 33 คะแนน)

ข้อ 1 ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการเมืองมีอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

คําว่า “การเมือง” (Politics) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคําว่า “Polis” (นครรัฐ) มีความหมายว่า หน่วยการปกครองที่มีอาณาเขตแน่นอนและมีขอบข่ายอํานาจครอบคลุมกิจกรรมส่วนรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือศาสนา

อริสโตเติล กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นหมู่เหล่า มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันในมวลสมาชิก ดังจะเห็นว่าทุกวันเรามีความจําเป็นที่ จะต้องติดต่อและเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนเหล่านี้มี ความสัมพันธ์กับเราทางตรง และยังมีผู้ที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไป เช่น คนขายของ คนขับรถเมล์ และคนใน สังคมอื่น ๆ คนเหล่านี้แม้จะไม่ได้สนทนากับเราโดยตรงแต่พวกเขาก็มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับเรา

อริสโตเติล ยังกล่าวอีกว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง (Political Animal) คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องการให้มีการปกครอง เมื่อในสังคมมีการปกครองมีผลให้มนุษย์ในสังคมถูกแบ่งออกเป็น ชนชั้นระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง การเมืองจึงเกิดขึ้นในท่ามกลางชุมชนทางการเมืองที่ประกอบด้วย กลุ่มหลากหลายซึ่งมีผลประโยชน์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยมที่แตกต่างกันและมาอยู่ร่วมกันภายในอาณาเขต ปกครองเดียวกัน โดยมีกิจกรรมทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการธํารงความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชน การเมืองนั้น จากความจําเป็นทางธรรมชาติของมนุษย์ที่ทําให้เกิดองค์กรทางการเมืองและกิจกรรมการเมือง ดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้จากคํานิยามของอริสโตเติลจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับการเมือง อาจ ยกตัวอย่างได้เช่น

1 นโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนโยบายที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ตั้งแต่เกิด ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ทําให้เด็กสามารถเติบโตเป็น ประชากรที่มีคุณภาพของสังคมและเป็นกําลังในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต และยังมีผลกระทบโดยอ้อม ต่อพ่อแม่ที่เป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก ทําให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มี คุณภาพเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้

2 นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรายละ 3,000 บาท ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนโยบายที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในสังคมไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย โดยตรง ทําให้ประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทําให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และยังมีผลกระทบโดยอ้อมต่อรัฐบาล เพราะอาจเป็นการเพิ่มภาระสวัสดิการ สร้างวินัยการรอความช่วยเหลือ จากสังคมได้

3 นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนโยบายที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนชนชั้นล่างในสังคมไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานโดยตรง ทําให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าจ้าง เพิ่มขึ้น และยังส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อผู้ประกอบการหรือนายทุนที่ต้องแบกรับอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อก่อน อย่างเช่น เงินลงทุนที่จะต้องเพิ่มให้มากขึ้นเพื่อจะได้สินค้ามากขึ้น หากผลิตสินค้าออกมาน้อยก็จะไม่คุ้มกับค่าแรงที่ต้องจ่ายไปให้ผู้ใช้แรงงาน

4 นโยบายรถคันแรก ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนโยบายที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนชนชั้นกลางในสังคมไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มชนชั้นกลางโดยตรง โดยกลุ่มชนชั้นกลางจะได้รับประโยชน์ จากนโยบายรถคันแรกที่สามารถได้ลดคืนภาษีสูงสุดถึง 100,000 บาท แต่ในขณะเดียวกันก็ทําให้หนี้สินครัวเรือน ของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น

5 นโยบายภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนโยบายที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนชนชั้นสูงในสังคมไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อคนชนชั้นสูงโดยตรง เพราะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า มนุษย์กับการเมืองคือสิ่งที่ผูกพันกันมาตั้งแต่มนุษย์อยู่ในครรภ์มารดา มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธการเมืองได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะการเมืองได้สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจําวันของมนุษย์ และการเมืองมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง การเมืองเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการใช้อํานาจทางการบริหาร และการปกครอง ในเรื่องสาธารณะของรัฐในประเด็นต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งสมาชิกของสังคมควรที่จะให้ความสําคัญและเอาใจใส่ต่อการดําเนินงานของรัฐ ดังนั้นการเมืองจึงมีความสําคัญแก่มนุษย์ในการดํารงชีวิตในทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย

 

ข้อ 2 ความหมายและลักษณะของรัฐโลกาวิสัยมีอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

คําว่า “รัฐโลกวิสัย” (Secular State) มาจากการรวมกันของคําในภาษาอังกฤษ 2 คํา คือ “Secular” และ “State” โดยคําว่า “Secular” หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับทางโลกและเป็นเรื่องที่ไม่มีความ เกี่ยวข้องกับกิจการใด ๆ ของศาสนาเลย ส่วนคําว่า “State” หมายถึง รัฐหรือประเทศ

ถ้าพิจารณาจากรากศัพท์ “Secular State” หมายถึง รัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนา ต่อประชาชนในรัฐนั้น ๆ ส่วนในภาษาไทยนั้นคําว่า “Secular State” มีการแปลเป็นหลายคํา บางคนก็แปลว่า “รัฐโลกียวสัย” หรือ “รัฐโลกียะ” หรือ “รัฐฆราวาส”

ความหมายของรัฐโลกวิสัย

รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมี ความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

อีกความหมายหนึ่ง รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วย หลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐโลกวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลัก เหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา หมายถึงโดยมากแล้วรัฐหรือประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสังคมนิยมเป็นระบอบการปกครองที่ เคารพการตัดสินใจของสมาชิกของรัฐ โดยการตัดสินใจนี้ยึดเอาหลักการเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสินและ เชื่อว่าการตัดสินใจของเสียงข้างมากใช้หลักเหตุผลและผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลนั้น ๆ ในการตัดสินใจ บทบาทของรัฐในระบอบการปกครองทั้ง 2 ระบอบนี้รัฐจะต้องมีความเป็นกลางต่อประเด็นที่มีอยู่ระหว่างการ ตัดสินใจของสมาชิกในรัฐ

ดังนั้นจึงพอสรุปความหมายได้ว่า รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่ไม่มีการ บัญญัติเรื่องศาสนาไว้ในกฎหมาย หมายความว่ารัฐไม่ควรมีการบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาไว้ในกฎหมายใดของรัฐ ทั้งสิ้น คือ รัฐต้องมีความเป็นกลางต่อเรื่องการนับถือศาสนาของประชาชน และยิ่งกว่านั้นรัฐยังต้องให้เสรีภาพ กับประชาชนในการนับถือศาสนาอีกด้วย

ลักษณะของรัฐโลกวิสัย ลักษณะสําคัญของรัฐโลกวิสัยมี 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ

หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชน ในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียที่สนับสนุนรัฐโลกวิสัย มีความเป็นเสรีภาพในการ นับถือศาสนาในความเชื่อโดยเสรี ดูแลทุกศาสนา ทําให้ทุกศาสนามีบทบาททางสังคม โดยที่รัฐบาลไม่ไปมีบทบาทมากนัก

2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่จากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย

หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็น เรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุมและสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนา ควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

ยกตัวอย่างเช่น การที่ไม่มีองค์กรกลางที่พยายามควบคุมการตีความคําสอนหรือ พฤติการณ์ทางศาสนาของทุกคนให้เป็นแบบเดียวกัน เพราะศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลมีเสรีภาพ ในการตีความคําสอนหรือพฤติการณ์ทางศาสนา เพื่อที่จะนําไปปฏิบัติได้เอง

3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา และกําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ในปฏิทินของประเทศต้องยกเลิกวันหยุดทางศาสนา หรือหากมีก็ไม่ใช่ วันหยุดภาคบังคับ แต่จะเป็นตัวเลือกของคนในศาสนานั้นเท่านั้น นอกจากนี้ในสถานศึกษาและหลักสูตรการศึกษา ต้องมีความเป็นกลางทางศาสนา ให้ศาสนาเป็นทางเลือก ไม่ใช่เรื่องบังคับ และมีเนื้อหาสําหรับการไม่นับถือศาสนา ไม่มีพิธีทางศาสนาในสถานศึกษา ยกเว้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่แสดงชื่อและวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรงและ เปิดเผย

4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา

หมายความว่า การกระทําความผิดของประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสิน การกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ถ้าใครคนหนึ่งถูกฟ้องว่าฆ่าคนตาย ศาลก็จะตัดสินลงโทษจําเลยเพราะกระทําความผิดฐานฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เพราะจําเลย ทําผิดศีลข้อหนึ่งในเบญจศีลที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์

ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ลักษณะของรัฐโลกวิสัย 4 ลักษณะข้างต้นนั้น มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันเพื่อจะเป็นรัฐโลกวิสัย โดยเริ่มจากรัฐต้องไม่มีการบัญญัติเรื่องศาสนาไว้ในกฎหมายและรัฐควรปฏิบัติ ต่อประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในเรื่องศาสนา นอกจากนั้นประชาชนยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือก นับถือศาสนา

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ (เลือกทําเพียง 3 ข้อย่อยเท่านั้น)

(1) รัฐโลกวิสัย

(2) ชาตินิยม

(3) สตรีนิยม

(4) ดอกบัวสี่เหล่า

(5) อลัชชี

(6) เดียรถีย์

แนวคําตอบ

(1) รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมาย ทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

(2) ชาตินิยม (Nationalism) ตามรากศัพท์ภาษาละตินมีอยู่ 2 ความหมาย ได้แก่

1) มาจากคําว่า “Nasci” แปลว่า “การเกิดหรือกําเนิด” และ

2) มาจากคําว่า “Natio” แปลว่า “เป็นของ” หรือ “มาจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยการเกิด”

ในปี ค.ศ. 1789 หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution) คําว่า “ชาติ” หมายถึง องค์รวมของประชาชน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากองค์รวมอื่น ๆ องค์รวมนี้ถูกมองว่าเป็นดุจบุคคลขนาดใหญ่ คนหนึ่ง ซึ่งมีเจตจํานงเดียว มีเป้าประสงค์ร่วมเพียงหนึ่งเดียว และที่สําคัญคือเป็นที่มาของอํานาจอธิปไตย

ความหมายลึกลงไปในทางการเมืองที่สืบย้อนไปถึง ค.ศ. 1712 – 1778 รุสโซ (Jacques Rousseau) ได้กล่าวถึง “ชาติ” ว่าหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ผูกพันอยู่ด้วยกัน โดยถือเกณฑ์การเป็นพลเมือง (Citizenship) ของหน่วยหรือสังคมการเมืองเดียวกัน และในยุโรปได้นํามาใช้จนทําให้บทบาททางการเมืองมีการ เปลี่ยนแปลงอย่างสูง เช่น การแต่งเพลงประจําชาติ (National Anthems) การมีธงชาติประจําชาติ (National Flag) เป็นต้น วิธีการดังกล่าวเป็นการส่งผ่านหรือกระตุ้นให้คนในประเทศนั้นเกิดความรักชาติของตน

(3) สตรีนิยม (Feminism) ถือกําเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเริ่มปรากฏใช้ใน ค.ศ. 1890 แนวคิด ของสตรีนิยมในช่วงนี้อยู่บนฐานของความเชื่อว่าด้วยความเสมอภาคและความเป็นอิสระของเพศหญิง

ส่วนในภาษาอังกฤษคําว่า “สตรีนิยม” คือ “Feminist” ซึ่งอุดมการณ์ของคํานี้ คือ อุดมการณ์ ที่พยายามส่งเสริมและยกระดับสถานภาพและบทบาททางสังคมของผู้หญิงไม่ให้ต่ําต้อยกว่าผู้ชาย

สาระสําคัญของอุดมการณ์สตรีนิยม คือ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่ ผู้หญิงในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับผู้ชาย โดยเห็นว่าสังคมมนุษย์นับตั้งแต่อดีตตกอยู่ ภายใต้อิทธิพลความคิดผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ทําให้ผู้หญิงถูกกีดกัน ไม่ได้รับความเสมอภาคในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง การแสดงความคิดเห็น ทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น

สตรีนิยมจึงเห็นว่าความแตกต่างระหว่างเพศหญิงกับเพศชายของบุคคลมิได้เป็นเพียงความ แตกต่างทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติเท่านั้น หากเป็นความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งมนุษย์ เป็นผู้สร้าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสรีรวิทยาตามธรรมชาติทางเพศนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในสังคมทั่วไป

(4) ดอกบัวสี่เหล่า เป็นการแยกบุคคลของพระพุทธเจ้าในการเข้าถึงหลักธรรมของพระองค์ ออกเป็น 4 พวก ผ่านการเปรียบเทียบกับดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้

1) บัวใต้โคลน คือ พวกที่ไร้สติปัญญา แม้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ไม่มีความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่โคลนตม และอาจจะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา อีกด้วย ไม่มีโอกาส โผล่ขึ้นพ้นน้ําเพื่อเบ่งบาน

2) บัวใต้น้ำ คือ “พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรม ฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ มีสติมั่น ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

3) บัวเสมอน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เพื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับ การอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม ก็จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานในวัน ถัดไป

4) บัวเหนือน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจ ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ํา เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ก็จะเบ่งบานทันที

(5) อลัชชี เป็นคําศัพท์ที่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคําสอนของ พระศาสดา เป็นผู้นอกรีตที่ทําให้ศาสนาเสื่อมเสียและไม่มีความละอายต่อสิ่งที่กระทํานั้น เช่น อลัชชีในพระพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยและทําให้พระธรรมวินัยขาด เช่น พระสงฆ์ที่เสพเมถุน ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

(6) เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชนอกศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาลอีกความหมายหนึ่ง เดียรถีย์ หมายถึง พวกที่มีลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

ในพระวินัยปิฎกมีว่า ถ้าเดียรถีย์คนใดต้องการจะบวชในพระพุทธศาสนา ต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อทดสอบดูว่าผู้นั้นมีความเลื่อมใสจริงเสียก่อนจึงอนุญาตให้บวชได้

 

ข้อ 4 จงอธิบายความแตกต่างของ “การปกครองคณะสงฆ์ในช่วงพุทธกาล” (สมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ) กับ “การปกครองคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน” มาโดยละเอียด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การปกครองคณะสงฆ์ในช่วงพุทธกาล มีดังนี้

1 พิจารณาเป็นรายกรณี คือ พระองค์จะใช้วิธีประชุมสงฆ์ในการพูดคุยตัดสินเป็นรายกรณี โดยใช้วิธีการปกครองด้วยรูปแบบสามัคคีธรรม ซึ่งเนื้อหาในการปกครองไม่มีเนื้อหาทางโลกย์ แต่มีเนื้อหาทางธรรม ที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ และไม่มีการแบ่งชนชั้นกันเองภายในคณะสงฆ์

2 พรรษาที่ 12 พระพุทธเจ้าได้เริ่มบัญญัติพระวินัยเรื่องแรก คือ เรื่องการปาราชิก สิกขาบทที่ 1 ซึ่งถือเป็นการเกิดพระวินัยครั้งแรก

3 การบัญญัติพระวินัยอาจเกิดเป็นทางการเมืองหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การตัดสิน ตามพระวินัยพระพุทธเจ้าจะดําเนินการด้วยความยืดหยุ่นและตามความเป็นจริง

4 ใช้พื้นฐานการปกครองแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ มาใช้ในการ ปกครอง ได้แก่

-ให้คณะสงฆ์เป็นผู้แทนของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่ธรรมเท่านั้น

– ทรงเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่างออกไป และพร้อมแลกเปลี่ยน โดยไม่ชื่นชมหรือติเตียน (การวางตนในทางสายกลาง)

– ใช้การอธิบายและปฏิบัติเป็นสิ่งที่พิสูจน์หลักธรรมของพระองค์ กล่าวคือ หลักธรรมหรือการปฏิบัติตนของพระองค์สามารถพิสูจน์ได้ผ่านการพูดคุยหรือการปฏิบัติให้เห็น แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคณะสงฆ์ด้วยหลักขันติธรรม ทรงใช้การตักเตือน หรือชี้ให้เห็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่ถ้าไม่เป็นผลในบางกรณีพระองค์ทรงใช้การนิ่งเฉยไม่อยู่ร่วมสังฆกรรม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการปกครองคณะสงฆ์สมัยพุทธกาล เป็นการปกครองภายในศาสนาเอง โดยใช้การปกครองรูปแบบสามัคคีธรรมที่มีเนื้อหาในการปกครองทางธรรมที่ใครก็สามารถเข้าร่วมได้ และถึงแม้ จะมีพระวินัย แต่ในทางปฏิบัติพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ปฏิบัติอย่างมีความยืดหยุ่นและพิจารณาจากความเป็นจริง เป็นต้น ทั้งนี้การปกครองคณะสงฆ์ในช่วงพุทธกาลมีความแตกต่างจากการปกครองคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันในประเด็น ต่อไปนี้

ความแตกต่างจากการปกครองคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน มีดังนี้

1 มีการแบ่งชนชั้นการปกครองในคณะสงฆ์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข และมี มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรบริหารในสมัยพุทธกาล ไม่มีการแบ่งชนชั้นกันเองภายในคณะสงฆ์ โดยพระพุทธเจ้าได้ใช้รูปแบบ คณะสงฆ์มาใช้ในการปกครองหมู่ภิกษุและภิกษุณีในพุทธศาสนา

2 มีการใช้หลักพระธรรมวินัยในการปกครอง และมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการ ปกครองด้วย โดยกฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ในสมัยพุทธกาล มีพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นกฎหมายสูงสุดเพียงฉบับเดียว

3 มีฝ่ายสอบสวนพิจารณาโทษ โดยมีพระวินัยธรทําหน้าที่สอบสวนพิจารณาโทษพระสงฆ์ ที่ทําผิดพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาล ถึงแม้จะมีพระวินัย แต่การตัดสินตามพระวินัยจะดําเนินการด้วย ความยืดหยุ่นและตามความเป็นจริง โดยพระองค์จะยึดบริบทแวดล้อมและดูเจตนาเป็นหลัก ทําให้มีความยืดหยุ่น ค่อนข้างสูง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “การปกครองคณะสงฆ์ในช่วงพุทธกาล” กับ “การปกครองคณะสงฆ์ไทย ปัจจุบัน” มีความแตกต่างในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไป ทําให้การปกครองคณะสงฆ์มีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย

 

ข้อ 5 โปรดอธิบาย “หลักการปกครอง” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงให้เข้าใจ และให้มีเนื้อหาของแต่ละเรื่องด้วย

แนวคําตอบ

ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย โดยพญาลิไททรงศรัทธาในความเป็นจักรพรรดิที่เป็นธรรมราชา โดยทรงเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็น ต้นแบบของธรรมราชาและทรงประสงค์จะยึดถือปฏิบัติธรรมตามแบบนั้นเพราะทรงต้องการที่จะเป็นธรรมราชา เช่นเดียวกัน

การที่พญาลิไททรงประพันธ์ไตรภูมิพระร่วงนั้น ทรงเป็นความพยายามที่จะใช้พุทธศาสนา เป็นเครื่องมือทางการเมือง และกล่าวได้ว่า ไตรภูมิพระร่วงจัดว่าเป็นแนวคิดทางการเมืองไทยที่เป็นระบบและ ชัดเจนที่สุด มีความต่อเนื่องและได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามากที่สุด

ทั้งนี้ “หลักการปกครอง” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง มีดังนี้

(1) ทศพิธราชธรรม ประกอบด้วย

1 ทาน (ทาน) คือ การให้

2 ศีล (สีล) คือ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษ

3 การบริจาค (ปริจจาค์) คือ การบริจาคสละ

4 ความซื่อตรง (อาชชว์) คือ การมีความซื่อตรง

5 ความอ่อนโยน (มททว) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน

6 ความเพียร (ตป) คือ การกําจัดความคร้านและความชั่ว

7 ความไม่โกรธ (อกโกธ์) คือ การไม่โกรธ

8 ความไม่เบียดเบียน (อวิห์สญจ) คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก

9 ความอดทน (ขนุติญจ) คือ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า 10 ความไม่พิโรธ (อวิโรธน์) คือ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดํารงอาการคงที่ไม่ให้วิการด้วยอํานาจยินดียินร้าย

ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมที่กล่าวถึงคุณลักษณะส่วนตัวของผู้ปกครอง ถือเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยว ไม่ให้ผู้ปกครองทําร้ายหรือรังแกผู้ใต้ปกครอง

(2) จักรวรรดิวัตร 12 ประการ มีดังนี้

1 ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์คนภายในราชสํานักและคนภายนอกจนถึงราษฎร

2 ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์กับกษัตริย์

3 ควรทรงสงเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ตามควรแก่พระอิสริยศ

4 ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหัสถ์ และคฤหบดีชน

5 ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป

6 ควรทรงอุปการะสมณพราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบด้วยพระราชทานไทยธรรมบริขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ

7 ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อ และนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียนทําอันตรายจนเสื่อมสูญพืชพันธุ์

8 ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทํากิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนําให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม

9 ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงด้วยวิธีอันเหมาะสม ไม่ให้แสวงหาด้วยทุจริต 10 ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ ตรัสถามถึงบุญ บาป กุศล อกุศลให้กระจ่างชัด

11 ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอาคมนิยสถาน

12 ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตไม่ให้ปรารถนาลาภที่มิควรได้จักรวรรดิวัตร 12 ประการ จะครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง และมีความคล้ายคลึงกับ จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชมาก

(3) ธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสั่งสอนกษัตริย์ทั้งหลาย

นอกจากทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร 12 ประการแล้ว ยังมีหลักธรรมที่พระเจ้าอโศก มหาราชได้สั่งสอนกษัตริย์ตามหัวเมืองที่ทรงสวามิภักดิ์ ซึ่งกว้างขวางกว่าทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร 12 ประการ ซึ่งปรากฏในไตรภูมิพระร่วง ดังนี้

1 ให้รักประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเสมอหน้ากัน

2 ให้ผู้ปกครองยึดมั่นในหิริโอตัปปะ และดําเนินการปกครองตัดสินข้อพิพาทของประชาชนอย่างเที่ยงธรรม

3 ไม่ให้ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน

4 ให้เลี้ยงดูไพรที่ใช้งานและทหารอย่างพอควร ไม่ควรเกณฑ์แรงงานผู้เฒ่า

5 ควรเก็บภาษีเงินส่วนจากราษฎรตามอัตราเดิมไม่ควรเก็บส่วยเพิ่ม

6 ควรสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อค้าประชาชน ไม่ให้คิดดอกเบี้ย

7 ควรชุบเลี้ยงข้าราชสํานักให้สุขสบายโดยไม่คิดเสียดาย

8 ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและไม่ลืมตน

9 ควรเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้ธรรมและปรึกษาผู้รู้อยู่เสมอ

10 ผู้ปกครองควรให้สิ่งตอบแทนบําเหน็จรางวัลแก่ผู้ทําความดีมากน้อยตามประโยชน์ที่เขานํามาให้

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “ธรรม” ที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงข้างต้น ซึ่งได้แก่ ทศพิธราชธรรม ส่วนจักรวรรดิวัตร 12 ประการ และธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสั่งสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ถือเป็น “หลักการ ปกครอง” ในสมัยพญาลิไท

POL3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (ข้อละ 33 คะแนน)

ข้อ 1 จงอธิบายหลักประชาธิปไตยในพุทธศาสนามาอย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

แนวคําตอบ

การศึกษาถึงแนวคิดประชาธิปไตยตามแนวพุทธศาสนานั้น เป็นการศึกษาแนวคิดทางพุทธศาสนา ที่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตย โดยหลักประชาธิปไตยในพุทธศาสนาที่สําคัญที่อ้างถึงในที่นี้ ประกอบด้วย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักการปกครอง

หลักประชาธิปไตยในพุทธศาสนา

1 สิทธิ จะเห็นได้จากหลักคําสอนในเรื่องเบญจศีลหรือศีล 5 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสําหรับ พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเป็นการสอนเรื่องความเคารพในสิทธิของผู้อื่น ประกอบด้วย

1) เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตทั้งปวง (ปาณาติปาตา เวระมะณี)

2) เว้นจากการลักทรัพย์ (อะทินนาทานา เวระมะณี)

3) เว้นจากการล่วงละเมิดในกามต่อสามีหรือภรรยาของผู้อื่น (กาเมสุมิจฉาจารา – เวระมะณี)

4) เว้นจากการกล่าววาจาอันเป็นเท็จ (มุสาวาทา เวระมะณี)

5) เว้นจากการดื่มสุรา และเสพสิ่งมึนเมา (สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี)

2 เสรีภาพ พระพุทธเจ้าไม่ทรงบังคับให้ใครเชื่อถือศรัทธาในพุทธศาสนา แต่ทรงชี้ทางที่ ถูกต้องให้เท่านั้น ใครจะทําตามหรือไม่คนนั้นย่อมมีสิทธิเลือก พระองค์แนะนําให้ใช้วิจารณญาณการพิจารณา ไตร่ตรองของตนเองให้ดีเสียก่อนจึงจะเชื่อ ดังคําสอนในกาลามสูตร 10 ประการ คือ

1) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะได้ยินฟังตามกันมา

2) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

3) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะมีการเล่าลือ

4) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะอ้างว่ามีอยู่ในตํารา

5) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นไปตามหลักตรรกศาสตร์ (Logic)

6) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นการคาดคะเนด้วยการอนุมาน

7) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นการตรึกตรองตามอาการ

8) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของเรา

9) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ

10) อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะสมณะผู้นั้นเป็นครูของเรา

3 ความเสมอภาค ในพุทธศาสนาจะเห็นได้ชัดเจน เช่น การคัดค้านเรื่องการแบ่งชั้น “วรรณะ” ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ซึ่งแบ่งมนุษย์ในสังคมออกเป็น 4 ชนชั้นตามกําเนิด โดยแยกจากกันอย่าง เด็ดขาด ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ทั้งนี้การแต่งงานข้ามวรรณะจะไม่ได้รับการยอมรับ ลูกที่ออกมา จะเป็นพวกนอกวรรณะที่เรียกว่า “จัณฑาล” แต่พุทธศาสนามิได้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะมาจากวรรณะใด แม้แต่วรรณะจัณฑาลก็สามารถปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และสามารถบวชในพุทธศาสนาได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ในพุทธศาสนานั้น ผู้หญิงก็สามารถขอบวชเป็นภิกษุณีได้เช่นเดียวกับที่ชาย สามารถขอบวชเป็นภิกษุ เพียงแต่ผู้หญิงจะมีปัญหาเฉพาะเพศมากกว่าผู้ชาย และการที่ผู้หญิงมาบวชอยู่ในสถานที่เดียวกับชายก็อาจมีปัญหาทางเพศสัมพันธ์กันเกิดขึ้นได้ จึงทรงให้ภิกษุณีถือศีลมากกว่าภิกษุ และต้องปฏิบัติตาม กฎเหล็กหรือข้อกําหนดที่บังคับให้ภิกษุณีต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีก 8 ข้อ จึงจะเข้าบวชได้

4 หลักการปกครอง ได้แก่

1) ทศพิธราชธรรม ทศพิธราชธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมเฉพาะพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น ผู้ปกครองสูงสุดของประชาชนเท่านั้น หากแต่เป็นธรรมสําหรับผู้ปกครองโดยทั่วไป ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลมาจนถึง หัวหน้าครอบครัว ทั้งยังเป็นธรรมสําหรับผู้อยู่ใต้การปกครองด้วย เพราะการปกครองจะเป็นไปได้ด้วยดีนั้น ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องประพฤติธรรมเหล่านี้ตามฐานะของตน ทศพิธราชธรรมมี 10 ประการ ได้แก่

(1) ทาน คือ การให้

(2) ศีล คือ การสังวรกายใจให้สุจริต

(3) บริจาค คือ การเสียสละ

(4) อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

(5) มัททวะ คือ ความอ่อนโยน

(6) ตบะ คือ การกําจัดความเกียจคร้านและความชั่ว

(7) อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ

(8) อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน

(9) ขันติ คือ ความอดทน

(10) อวิโรธนะ คือ ความไม่พิโรธ

2) ราชสังคหวัตถุ เป็นธรรมที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน มี 4 ประการ คือ

(1) สัสสเมธะ คือ ความฉลาดในการบํารุงพืชพรรณธัญญาหารให้บริบูรณ์

(2) ปุริสเมธะ คือ ความฉลาดในการบํารุงข้าราชการ ส่งเสริมคนดีมีความสามารถ . (3) สัมมาปาสะ คือ ความสามารถในการผูกใจคนให้มีความจงรักภักดี

(4) วาชไปยะ คือ การรู้จักใช้วาจาที่สุภาพอ่อนหวาน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในพุทธศาสนามีหลักธรรมคําสอนหลายประการที่สอดคล้องกับหลักการ ประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่น หลักสิทธิ ซึ่งเห็นได้จากศีล 5 ของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรับรอง สิทธิส่วนบุคคลที่ผู้อื่นจะละเมิดมิได้ เป็นต้น

 

ข้อ 2 ประเทศไทยมีลักษณะที่เป็นรัฐโลกวิสัยหรือไม่ อย่างไร (พร้อมเหตุผลประกอบอย่างน้อย 3 ประการ)

แนวคําตอบ

รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่า จะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมาย ทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชน

ทั้งนี้จากคํานิยามของรัฐโลกวิสัยจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยไม่ถือเป็นรัฐโลกวิสัย ด้วยเหตุผล ดังนี้

1 ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ระบุศาสนาประจําชาติ แต่ก็ได้เอาไปซ่อนผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเนื้อหาระบุว่า “มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

2 ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ได้ระบุไว้ว่าคนไทยจะต้องนับถือ . ศาสนาพุทธ และต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ประเทศไทยนั้นก็ถือว่ามีศาสนาพุทธเป็น ศาสนาประจําชาติโดยพฤตินัย เช่น มีการออกกฎหมายห้ามขายสุราในวันสําคัญทางพุทธศาสนา

3 มีการกําหนดให้วันสําคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา เป็นวันหยุดราชการ เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธยังคงมีอิทธิพลและผลกระทบต่อการปกครองและชีวิตประจําวัน ของประชาชนไทย

 

ข้อ 3 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ

3.1 ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน

3.2 รัฐโลกวิสัย

3.3 ธรรมยาตรา

3.4 ธรรมวิชัย

แนวคําตอบ

3.1 ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) หรือประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ซึ่งเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบัน หมายถึง ระบอบการปกครองที่ประชาชนมิได้เข้ามา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการปกครองด้วยตนเองโดยตรง แต่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งตัวแทนให้ทําหน้าที่ ตัดสินใจการปกครองแทนตน โดยประชาชนจะมีอํานาจในการควบคุมผู้นําของตนโดยผ่านการเลือกตั้ง (Election) และหากผู้ปกครองไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะถอดถอนผู้ปกครองได้

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย มีดังนี้

1 หลักอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) โดยใช้อํานาจกําหนด ตัวผู้ปกครองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงอํานาจในการถอดถอนตัวผู้ปกครอง

2 หลักเสรีภาพ (Liberty) หมายถึง การดําเนินชีวิตอย่างเสรีของประชาชนภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและส่วนรวม ซึ่งเสรีภาพที่สําคัญของบุคคล ได้แก่ เสรีภาพส่วนตน เสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

3 หลักความเสมอภาค (Equality) หมายถึง ความเสมอภาคพื้นฐานที่ทําให้สมาชิกในสังคม มีความเท่าเทียมกันในอัตราหนึ่ง ซึ่งความเสมอภาคที่สําคัญ ได้แก่ ความเสมอภาคตามกฎหมาย ความเสมอภาค ทางโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม

4 หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) หมายถึง การใช้กฎหมายเป็นหลักใน การบริหารประเทศ บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

5 หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) หมายถึง การตัดสินปัญหาหรือการแสวงหาทางออก ใด ๆ ของกลุ่มจะต้องคํานึงถึงเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่การยึดหลักเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์จะต้องให้ความ เคารพเสียงข้างน้อยด้วย (Minority Right)

รูปแบบการปกครองประชาธิปไตย มีดังนี้

1 ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ได้แก่ การมีเฉพาะผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว หรืออาจมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็ได้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งจาก ประชาชน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้ง แต่ในบางประเทศก็มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้พรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากสนับสนุนจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทําหน้าที่บริหารบ้านเมือง แต่รัฐบาลจะต้องอยู่ใน ความควบคุมของสมาชิกรัฐสภา เช่น การปกครองของสหราชอาณาจักร เป็นต้น

2 ระบบประธานาธิบดี (Presidential System) เป็นระบบที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้อํานาจ ในการบริหาร ส่วนอํานาจนิติบัญญัติยังคงอยู่ที่รัฐสภา และอํานาจตุลาการก็ยังคงเป็นอิสระ ทั้งนี้ประธานาธิบดีและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างก็ได้รับเลือกจากประชาชน ซึ่งอํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการ C ก็เป็นอิสระและแยกกัน เช่น การปกครองของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

3 ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential System) เป็นระบบที่ ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็น ผู้ลงนามประกาศใช้กฎหมาย และคณะรัฐมนตรีก็ยังคงเป็นผู้ใช้อํานาจบริหารแต่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ส่วน รัฐสภาก็ยังคงทําหน้าที่สําคัญคือออกกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนประธานาธิบดีจะเป็น ผู้กําหนดนโยบายต่างประเทศและการเมืองโดยทั่ว ๆ ไป และมีอํานาจยุบสภาได้ด้วยจึงมีอํานาจมาก เช่น การปกครอง ของฝรั่งเศส เป็นต้น

3.2 รัฐโลกวิสัย (Secular State) คือ รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่า จะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมาย ทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชน

3.3 ธรรมยาตรา-การท่องเที่ยวในทางธรรม เป็นธรรมของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้ในการปกครอง คือ การเยี่ยมเยียนสมณพราหมณ์ มีการถวายทาน มีการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุและพระราชทานเงินทองให้กับ ผู้สูงอายุ มีการเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท ทรงสั่งสอนธรรมและซักถามปัญหาธรรม มีการสอนเรื่องขันติธรรมและ พระวินัย รวมทั้งทรงแนะนําการประพฤติปฏิบัติระหว่างประชาชนด้วยกัน คือ ทรงสั่งสอนให้คนรู้จักสํารวมตน ทําใจให้บริสุทธิ์ มีความกตัญญูและศรัทธาอันมั่นคง

3.4 ธรรมวิชัย-ชัยชนะด้วยธรรม ธรรมวิชัย คือ การเอาชนะด้วยธรรม แทนที่การใช้แสนยานุภาพ แต่เดิมพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้ทรงนับถือพุทธศาสนา ทรงมีพระทัยดุร้ายมาก การขยายอาณาจักรของ พระองค์ทรงใช้แสนยานุภาพปราบปรามข้าศึกอย่างโหดเหี้ยม กองทัพของพระองค์ได้ชัยชนะแบบที่เรียกว่า เลือดท่วมท้องช้าง

หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็ทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์ เป็นธรรมราชา และขยายอํานาจโดยใช้ธรรมวิชัยในการเอาชนะข้าศึก เช่น การใช้ธรรมโดยมิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ ศาสตรา, การใช้กองทัพขู่ให้กลัวและยอมแพ้แล้วหันมาปฏิบัติธรรมตามแบบของพระองค์, การอบรมสั่งสอนให้ ประชาชนประพฤติธรรม, การประกาศธรรมอย่างกึกก้องแทนเสียงกลองศึก เป็นต้น

 

ข้อ 4 สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงมีหลักในการปกครองคณะสงฆ์อย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากการปกครองคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันอย่างไร จงอธิบาย

แนวคําตอบ

หลักในการปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล มีดังนี้

1 พิจารณาเป็นรายกรณี คือ พระองค์จะใช้วิธีประชุมสงฆ์ในการพูดคุยตัดสินเป็นรายกรณีโดยใช้วิธีการสามัคคีธรรม และไม่มีการแบ่งชนชั้นกันเองภายในคณะสงฆ์

2 พรรษาที่ 12 เริ่มบัญญัติพระปาราชิกสิขาบทที่ 1 ขึ้น ซึ่งถือเป็นการเกิดพระวินัยครั้งแรก

3 การตัดสินตามพระวินัย ตามหลักความเป็นจริงและมีความยืดหยุ่น

4 ใช้พื้นฐานการปกครองแบบสามัคคีธรรมที่มีคณะสังฆะหรือคณะสงฆ์ มาใช้ในการปกครอง ได้แก่

– ให้สงฆ์เป็นผู้แทนในการทางธรรมของพระองค์เท่านั้น

– ทรงเปิดกว้างทางทัศนะที่แตกต่าง และพร้อมแลกเปลี่ยน โดยไม่ชื่นชมหรือติเตียน (ทางสายกลาง)

– ใช้การอธิบายและปฏิบัติเป็นสิ่งที่พิสูจน์หลักธรรมของพระองค์

– แก้ไขปัญหาของคณะสงฆ์ด้วยหลักขันติธรรม แต่ถ้าไม่ได้ก็ให้สังคมตัดสินเอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการปกครองคณะสงฆ์สมัยพุทธกาล เป็นการปกครองภายในศาสนาเอง ทางรัฐไม่เข้ามาเกี่ยว และทางศาสนาก็ไม่เข้าไปเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง ไม่แสดงธรรมขัดกับการเมือง ไม่ปฏิบัติ ให้ผิดพระราชกําหนด กฎหมายบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันนี้ในบางประเด็น

ความแตกต่างจากการปกครองคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน มีดังนี้

1 ประเทศไทยปัจจุบันมีนิกายเถรวาท 2 นิกาย คือ มหานิกาย ซึ่งสืบเชื้อสายตรงมาจาก การสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ในยุคสุโขทัย และธรรมยุตนิกาย ซึ่งได้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376 โดยเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

2 มีการแบ่งชนชั้นการปกครองในคณะสงฆ์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข และมี มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรบริหาร

3 คณะสงฆ์เติบโตโดยปราศจากการถ่วงดุลและการตรวจสอบจากภาคประชาชนและภาครัฐ ประชาชนและพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบการใช้อํานาจในคณะสงฆ์และในกิจการพุทธศาสนาทั้งปวง ส่งผลให้ผู้มีอํานาจในคณะสงฆ์มั่งคั่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

4 ในปัจจุบันพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น การขึ้นแสดงธรรมเวทีปราศรัย ทางการเมือง เป็นต้น

 

ข้อ 5 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงประกาศ “ธรรม” เสมือนเป็น “นโยบาย” ที่พระองค์ทรงใช้ในการปกครอง จงอธิบาย “ธรรม” ของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยแยกหลักธรรมที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครอง และหลักธรรมที่ประชาชนควรปฏิบัติต่อกันมาโดยสังเขป

แนวคําตอบ

หลักธรรมของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครอง

1 ขันติธรรม คือ ความมีใจกว้าง พร้อมที่จะยอมอดทนต่อความแตกต่างระหว่างคนที่นับถือ ศาสนาหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

พระเจ้าอโศกทรงมีใจกว้างต่อศาสนาอื่น มิได้ทําลายล้างศาสนาฮินดูซึ่งเป็นความเชื่อ ของคนอินเดียทั่วไป รวมทั้งมิได้ทรงบังคับให้ประชาชนเปลี่ยนศาสนา ทรงยกย่องนักบวชไม่ว่าศาสนาใด

2 การปรองดอง คือ การรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จึงเรียกร้องให้อดกลั้น ต่อความแตกต่างทางความคิดไว้ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของสันติสุข

3 อหิงสา มีดังนี้

– การปฏิเสธการทําศึก การสงคราม โดยใช้กําลังรุนแรง

– การละเว้นไม่ฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะให้เลิกการฆ่าสัตว์บูชายัญ

– บางครั้งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่เราต้องรู้ว่าสงครามนํามาซึ่งความทุกข์ – การกรีฑาทัพต้องไปด้วยความเมตตา ต้องเอาชนะด้วย “ธรรมวิชัย”

– ในด้านสวัสดิการ มีการสร้างโรงพยาบาลสําหรับคนและสัตว์ มีโอสถศาลา เป็นต้น

4 หลักการปกครองโดยธรรม มีดังนี้

– การปกครองโดยธรรม

– การวางระเบียบ ข้อบังคับ หรือบัญญัติกฎหมายให้เป็นไปโดยธรรม

– การอํานวยความผาสุกแก่ประชาชนโดยธรรม

– การช่วยคุ้มครองโดยธรรม

5 การบริหารโดยธรรม มีดังนี้

– การแต่งตั้งข้าราชการและมอบอํานาจให้ดูแลประชาชน

– การบริหารงานควรมีความสม่ําเสมอเป็นแบบแผนเดียวกัน นักโทษควรได้รับโอกาสในการทําทานรักษาศีล หลักธรรมของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ประชาชนควรปฏิบัติต่อกัน

1 ขันติธรรมของประชาชน มีดังนี้

– ธรรมทาน คือ การให้ทาน

– ธรรมสังควิภาค คือ แจกจ่ายธรรม

– ธรรมสัมพันธ์ คือ สัมพันธ์กันโดยธรรม

– ธรรมทาน คือ การอาศัยธรรม

2 หลักการปฏิบัติธรรมอันเป็นคุณสมบัติพึงมี มีดังนี้

– คุณสมบัติที่พึงมีเพื่อให้งานสําเร็จ 5 ประการ

– ความหมายของธรรม 6 ประการ

– กรรมชั่ว 5 ประการ

– การถือศีล

– เกณฑ์และการประพฤติปฏิบัติธรรม

WordPress Ads
error: Content is protected !!