การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3101 วิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบ

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมีทั้งหมด 4 ข้อ คาดหวังคําตอบเป็นข้อเขียนแสดงความรู้ ความคิด หรือยกตัวอย่างประมาณข้อละ 3 – 5 หน้ากระดาษ

จงอธิบาย อภิปราย ขยายความ รวมทั้งยกตัวอย่างประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

ข้อ 1 การบริหารประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลได้กําหนดแนวทางและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใช้พัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จะใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบได้หรือไม่ ?

ศึกษาอย่างไร ?

ศึกษา วิเคราะห์อะไรได้บ้าง ?

หากเทียบกับนานาอารยประเทศ เช่น สหประชาชาติ สนใจเน้นวิเคราะห์อะไร ? ศึกษาเปรียบเทียบอะไร ?

และในการศึกษาเปรียบเทียบ มีประโยชน์และมีความเป็นศาสตร์อย่างไร ?

ให้เปรียบเทียบระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

แนวคําตอบ

การบริหารประเทศไทยในปัจจุบันนั้น รัฐบาลได้กําหนดแนวทางและร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อที่จะ ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งเราสามารถใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบได้ เช่น การวิเคราะห์ เปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญฯ 2540 หรือรัฐธรรมนูญฯ 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือจะใช้ข้อมูลและ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งในอดีต – ปัจจุบัน มาทําการวิเคราะห์เปรียบเทียบในประเด็นที่เราสนใจศึกษาก็ได้

ลักษณะการศึกษาเปรียบเทียบ พิจารณาได้จาก

1 ความเหมือนและความแตกต่าง

ความเหมือน (Similarities) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกัน หรือคล้ายกันของสิ่งที่นํามาเปรียบเทียบ ส่วนความแตกต่าง (Differences) จะเป็นลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจมีลักษณะของความ แตกต่างกันน้อย แตกต่างกันมาก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ดูว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีเนื้อหาใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไร เป็นต้น

โดยส่วนที่ซ่อนอยู่ในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ก็คือ องค์ความรู้ หรือข้อมูลนั่นเอง ถ้าเรามีความรู้เฉพาะรัฐธรรมนูญฯ 2550 เพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างก็ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากข้อมูลที่นํามา เปรียบเทียบมีเพียงด้านเดียวเท่านั้น

2 หน่วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) คือ กรอบของการวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษา ทางการเมือง เพื่อให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่แน่นอน ซึ่งก็คือ การเลือกหน่วยที่จะทําการเปรียบเทียบนั่นเอง โดยอาจจะเป็นปัจจัยบุคคล องค์กร สถาบัน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้หลักความเหมือนหรือความแตกต่าง และใช้ปัจจัยดังกล่าวในการเปรียบเทียบ สําหรับตัวอย่างของหน่วยการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น ผู้นํา บทบาท องค์กร สถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เป็นต้น

หน่วยการวิเคราะห์นั้นถือว่ามีความสําคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ เพราะจะทําให้สามารถศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองในการอธิบายการเมืองนั้น มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก หากไม่มีหน่วยการวิเคราะห์ก็จะไม่ทราบว่าควรจะเริ่มศึกษาจากตรงไหน หรืออาจทําให้ การวิเคราะห์ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ซึ่งทําให้การวิเคราะห์ดําเนินไปในทิศทางที่ไม่แน่นอน

ผู้ศึกษาจะต้องตั้งปัญหาพื้นฐานถามตัวเองก่อนว่า ควรจะนําหน่วยการวิเคราะห์อะไร มาใช้ในการศึกษาทางการเมือง เช่น ถ้าต้องการจะศึกษาผู้นํา หน่วยการวิเคราะห์ก็คือ ตัวผู้นํา โดยอาจจะมุ่งไปที่ ตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปรียบเทียบความเป็นผู้นําของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนในแง่ของ บุคลิกภาพ ดังนั้นหน่วยการวิเคราะห์ตรงนี้ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง นอกจากนี้จะเห็นว่าในการศึกษาเปรียบเทียบ อาจจะวิเคราะห์หน่วยเหนือขึ้นไป เช่น กลุ่มทางสังคม สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

3 ระดับการวิเคราะห์

ระดับการวิเคราะห์ (Level of Analysis) เป็นการจัดชั้นและระดับของระบบการเมือง เพื่อทําให้เกิดความชัดเจนที่ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ถึงหน้าที่และโครงสร้างของระบบการเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น การแบ่งระดับการเมืองไทยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น

ในการเปรียบเทียบที่มีการจัดระดับในการวิเคราะห์นั้น จะทําให้การศึกษาเปรียบเทียบ สามารถมองเห็นหรือเปรียบเทียบให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบนั้นจะต้องเปรียบเทียบในระดับเดียวกัน

4 การแจกแจงข้อมูล

การแจกแจงข้อมูล (Classification) เป็นการจัดระบบข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะ ทําให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือน (Similarities) และความแตกต่าง (Differences) ของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่าง ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดทิศทางในการเลือกสรร การรวบรวม การจัดระบบระเบียบของข้อมูล และสร้าง กรอบความคิด ยุทธวิธีในการวิจัยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การศึกษาข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วม ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อมูลที่ได้ควรจะต้องมีการจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในการ เลือกตั้ง การเสนอกฎหมาย ฯลฯ โดยจะต้องใช้ข้อมูลที่มีการแจกแจงอย่างเดียวกันมาพิจารณา

สิ่งที่มักนํามาศึกษาเปรียบเทียบ

1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการเมือง

2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

4 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ

6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น

7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมือง

8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง

9 การวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาผู้แทนราษฎร

10 การวิเคราะห์เปรียบเทียบวุฒิสภา เป็นต้น

สังคมนานาอารยประเทศ เช่น สหประชาชาติ) เน้นการศึกษาเปรียบเทียบในประเด็น ที่สําคัญ 3 เรื่อง คือ

1 การพัฒนา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน และชี้วัดความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ในด้านต่าง ๆ เช่น

– การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การทําให้รายได้ที่แท้จริงต่อคนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็น เวลานาน เพื่อทําให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม

– การพัฒนาการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ ของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมไปถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา

– การพัฒนาสังคม คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพอนามัย การศึกษา การมีงานทํา มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ

2 ความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะมีลักษณะที่สําคัญ คือ ต้องยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ต้องมีการเลือกตั้ง ยึดหลักของเสียงข้างมาก  สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการเคารพและการรับฟัง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเสรีภาพ ในการแสดงออก มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล นอกจากนี้เรายังสามารถพิจารณา ความเป็นประชาธิปไตยได้จากเรื่องต่าง ๆ เช่น

– หลักธรรมาภิบาย (Good Governance) คือ การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม ที่ดี เป็นแนวทางสําคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคี และรวมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า และหลักคุณธรรม

– หลักสิทธิมนุษยชน (Human Right) คือ สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการ กระทําที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่ได้มาพร้อมกับการเกิด และเป็นสิทธิติดตัวบุคคลนั้นตลอดไปไม่ว่า จะอยู่ในเขตปกครองใด หรือเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใด ๆ ซึ่งไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในชีวิต เป็นต้น

3 สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็น รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน และเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยผลกระทบ จากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทําลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังถือว่าเป็น วงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ สิ่งแวดล้อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา น้ํา ดิน ฟ้า อากาศ ทรัพยากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน เทคโนโลยี การตัดต่อพันธุกรรม ชุมชนเมือง ศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา การเมืองการปกครอง ฯลฯ

ประโยชน์ของการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

1 ทําให้เราสามารถศึกษาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถลงในรายละเอียดของการศึกษา เปรียบเทียบ และช่วยให้ผู้ศึกษาสังเกตเห็นความเหมือนและความแตกต่างของข้อมูลนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

2 ทําให้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้น อันจะนําไปสู่การศึกษาและเกิดการพัฒนาในองค์ ความรู้จากระดับประเทศไปยังระดับนานาชาติ หรือระดับสากลต่อไป

3 ทําให้ได้รับการยอมรับและสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศที่ดี รวมทั้งยังเป็น แนวทางในการศึกษาให้กับการพัฒนากระบวนการศึกษาเปรียบเทียบให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

4 ช่วยเสริมสร้างให้กับวิชารัฐศาสตร์มีชีวิตชีวา เกิดการปะทะสัมพันธ์ของนักวิชาการ ทางสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จํากัดแต่นักรัฐศาสตร์ และที่สําคัญได้สร้างและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นระบบขึ้น รวมทั้งยังสามารถให้การอธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรทางสังคมศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน

ในส่วนของความเป็นศาสตร์นั้น การวิเคราะห์เปรียบเทียบถือเป็นสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่ง ไม่มีห้องทดลองที่จะทําการศึกษาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ แต่จะศึกษาโดยอาศัยรูปแบบ แบบแผน พฤติกรรม และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละสังคมหรือในแต่ละประเทศ เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบ การเมืองระหว่างประเทศ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของวิชา รัฐศาสตร์ ซึ่งความเป็นศาสตร์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาจากลักษณะสําคัญ 2 ประการ คือ

1 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากความคิดและสติปัญญา โดยการตรึกตรองและ การวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผล ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตัวแปรที่ควบคุมได้ แล้วจึงทําการทดสอบเพื่อหาข้อสรุป ที่ต้องการ

2 เป็นการศึกษาวิเคราะห์ที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้ทําการศึกษา ซึ่งได้แก่ การดู การฟัง การสัมผัส เป็นต้น โดยจะต้องปลอดจากค่านิยมหรือตัดอคติออกไปแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรง และ เชื่อถือได้

รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์

รัฐศาสตร์ (Political Science) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กระบวนการ ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง รวมถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษา ในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นมาช่วยในการอธิบายหรือประกอบใน การศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

รัฐศาสตร์นั้นจะมีการแบ่งการศึกษาเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง ทฤษฎีการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง การบริหารรัฐกิจ หรือการบริหารจัดการสาธารณะหรือรัฐประศาสนศาสตร์ การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) การพัฒนาการเมือง สถาบันทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศ การปกครองและการบริหารรัฐ การเมืองการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งสาขาต่าง ๆ เหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละ สถาบันว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร อย่างไรก็ตามหากจะเรียกว่าการจัดกระบวนวิชาใดนั้นเป็นรัฐศาสตร์ หรือไม่นั้น จะต้องใช้มโนทัศน์ “การเมือง” เป็นมโนทัศน์เป็นหลัก

รัฐศาสตร์จะมีสาขาย่อยที่เป็นหลักอย่างน้อย 3 สาขา คือ การปกครอง การบริหารกิจการ สาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การประกอบอาชีพทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น ข้าราชการในกระทรวง ปลัดอําเภอ การทูต บริษัท ต่าง ๆ เป็นต้น

นิติศาสตร์ (Jurisprudence) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับหลักกฎหมาย โดยจะเน้นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายปกครอง รัฐธรรมนูญ ฯลฯ

หลักสูตรนิติศาสตร์อาจแตกต่างกันตามสถาบันการศึกษา โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

1 กฎหมายแพ่งและอาญา/เอกชน ซึ่งจะมีมาตราและองค์ประกอบความผิดที่ชัดเจน สําหรับวิเคราะห์ เช่น กฎหมายประกันภัย กฎหมายเกี่ยวกับการกระทําผิดของเด็กและเยาวชน การบัญชีสําหรับ นักกฎหมาย และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

2 กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยมีมาตรา เน้นการตีความและสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

3 กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล กฎหมายอาญา ระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

การประกอบอาชีพทางด้านนิติศาสตร์ เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ นิติกรบริษัทต่าง ๆ

รัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐและกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ โดยนิติศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่เน้นการศึกษาตัวบทและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วน รัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง ซึ่งจะอาศัยกฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องกําหนดกับศาสตร์แห่ง อํานาจซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาพฤติกรรม หรือการกระทําทางการเมือง ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมาย ในแง่ของรูปแบบและปรากฏการณ์ซึ่งเป็นความหมายโดยรวมของ รัฐศาสตร์นั้นเอง

ความสัมพันธ์ของวิขาทั้งสองนั้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาใดเป็นที่มาของอีกสาขาหนึ่ง และ ไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาใดสําคัญกว่าอีกวิชาหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะวิชาทั้งสองนั้นมีกําเนิดและวิวัฒนาการร่วมกันมา ควบคู่กับการเจริญเติบโตของสังคมมวลมนุษยชาติ

 

ข้อ 2 โครงสร้าง (Structure) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

หน้าที่ (Function) คืออะไร ?

แบ่งออกเป็นลักษณะอย่างไรบ้าง ?

อธิบายแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ซึ่งพัฒนาเป็นทฤษฎีระบบของ David Easton หรือของ Gabriel Almond อธิบายถึง Output และ Input ด้วย ?

แนวคําตอบ

โครงสร้าง (Structure) คือ แบบแผนของกิจกรรมที่ทํากันสม่ำเสมอ โดยผู้ที่กระทํากิจกรรมจะมีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมบทบาทของกิจกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจะได้เป็นโครงสร้างนั้น ๆ เช่น โครงสร้างของ รัฐสภา ประกอบด้วย ประธานสภา รองประธานสภา เลขาธิการ และสมาชิก ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีบทบาทแตกต่างกันไป แต่เมื่อเรารวมเอาบทบาทของส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้โครงสร้างของรัฐสภานั่นเอง

ลักษณะของโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1 โครงสร้างที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น อุดมการณ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม ความชอบ ทัศนคติ ความงมงาย การรับรู้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากจะต้อง ใช้ระยะเวลาในการปลูกฝังหรือถ่ายทอดที่ค่อนข้างยาวนาน และมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นจึงทําให้โครงสร้างที่เป็น นามธรรมมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าเมื่อใด ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้วก็จะยังคงอยู่

2 โครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ วัดได้ หรือสัมผัสได้ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นต้น ซึ่งถือเป็น โครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง แก้ไข ปรับปรุงได้ง่ายกว่าโครงสร้างที่เป็นนามธรรม กล่าวคือ ถ้าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อใดก็สามารถกระทําได้ทันที

3 โครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซึ่งบังคับให้เรา คิดอยากจะทําหรือไม่ทํา ให้ชอบหรือไม่ชอบ ให้เชื่อหรือไม่เชื่อ โดยทั่วไปแล้วมักแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ของโครงสร้าง เหล่านั้นเสมอ ตัวอย่างของโครงสร้างกึ่งนามธรรมถึงรูปธรรม เช่น กฎหมาย ประกาศ คสช. สัญลักษณ์ สถาบัน (ศาลรัฐธรรมนูญ) กลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น

หน้าที่ (Function) คือ กิจกรรม (Activity), วัตถุประสงค์ (Purpose), ผลที่ตามมา (Consequence) หรือในบางครั้งอาจหมายถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่น ๆ ซึ่งอาจใช้อธิบายถึงคุณค่าในตัวของมันเอง หรือเป็นคุณค่าที่เกิดตามตัวแปรอื่นก็ได้ โดยนักสังคมศาสตร์ได้สรุปเกี่ยวกับหน้าที่ไว้ 3 ประการ ดังนี้

1 หน้าที่คือการศึกษาระบบทั้งระบบ เช่น ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยถือว่าระบบต่าง ๆ เป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (Unit of Analysis)

2 หน้าที่นิยมจะมีความสําคัญมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป เมื่อเป็นดังกล่าวหน้าที่ บางอย่างจึงมีความจําเป็นสําหรับระบบทั้งหมด (The whole System)

3 หน้าที่บางประการมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependent) ต่อโครงสร้าง หลาย ๆ โครงสร้าง กล่าวคือ หลายระบบต้องพึ่งพิงจากหน้าที่ดังกล่าว

ลักษณะทั่วไปทั้ง 3 ประการของหน้าที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้นักสังคมศาสตร์เห็นว่าในระบบใด ระบบหนึ่งเป็นระบบสังคมหรือระบบการศึกษา ต่างก็มีหน้าที่หลักของแต่ละระบบอยู่ เช่น ในระบบหนึ่ง ๆ ก็จะต้อง มีวัฒนธรรมทําหน้าที่เป็นองค์ประกอบให้ระบบสังคมนั้น ๆ ดํารงอยู่ได้ วัฒนธรรมดังกล่าวอาจประกอบไปด้วย ภาษา ศาสนา ฯลฯ

แนวคิดทฤษฎีระบบของ David Easton

David Easton นั้นได้เสนอแนะการวิเคราะห์การเมืองเปรียบเทียบโดยดูหน่วยการวิเคราะห์ เชิงระบบ ซึ่งเขาเห็นว่าการใช้ระบบในการวิเคราะห์การเมืองจะสามารถสร้างความเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ เข้ากันและเรียกว่า “การเมือง” ได้ การศึกษาของเขาช่วยสร้างศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างระบบ ที่เชื่อมโยงการเมืองในที่ต่าง ๆ ได้ โดยสามารถเปรียบเทียบในเชิงปรากฏการณ์ทางการเมือง สรีระของสังคม และ พฤติกรรมของระบบการเมืองได้

ทฤษฎีระบบการเมืองของ David Easton นั้นถือว่าจะต้องมีตัวแปรต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยนําเข้า (Input) เพื่อนําข้อมูลเข้าสู่กระบวนการของระบบการเมือง และต่อจากนั้นระบบจะต้องมีปัจจัยนําออก (Output) หมุนเวียนกันไปเพื่อให้ระบบมีการต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะแวดล้อมกับระบบจะต้องประกอบไปด้วย ดุลยภาพของตัวแปรนําเข้ากับตัวแปรที่นําออกมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการหมุนเวียนกันของโครงสร้างและ หน้าที่

David Easton ให้ความเห็นว่า ปัจจัยนําเข้าจะต้องประกอบด้วย การเรียกร้อง (Lee (1) และการสนับสนุน (Support) ปัจจัยเหล่านี้จะเข้าไปแทรกอยู่ในแวดวงของระบบการเมือง ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ประกอบ

พรรคการเมือง ทําหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้าประตู” (Gate Keeper) หรือเป็นผู้รวบรวมการเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อเป็นเกม ในการตัดสินใจของรัฐบาล

ระบบการเมืองของ David Easton สามารถสรุปได้ดังนี้

1 ปัจจัยนําเข้า (Input) หมายถึง ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบที่เข้าสู่ระบบ เพื่อผ่านการพิจารณากลั่นกรองและตัดสินใจออกมาในรูปของนโยบาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยนําเข้านี้แบ่งออก ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ –

1) การเรียกร้อง (Demand) อาจจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ทางรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของการเรียกร้องเอง เช่น กรณีประชาชนที่เดือดร้อน ในเรื่องที่ทํากินและปัญหาหนี้นอกระบบ ถ้าประชาชนเพียงคนเดียวเรียกร้องรัฐบาลอาจจะไม่รับฟัง หรือรับฟังแต่ไม่ ตอบสนอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าประชาชนจํานวนมากรวมตัวกันเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมนุมเดินขบวนปิดถนน ฯลฯ ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็จะมีผลเกิดขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีจะรับฟังและนําไปพิจารณาต่อไป

2) การสนับสนุน (Support) หมายถึง การที่สมาชิกของสังคมการเมืองให้การ สนับสนุนระบบตลอดจนการดําเนินการของระบบการเมือง ซึ่งการให้การสนับสนุนนี้อาจจะอยู่ในรูปของการแสดงออก ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบของบ้านเมือง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เจ โดยการสนับสนุนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ

– การสนับสนุนประชาคมทางการเมือง คือ การที่สมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ในระบบการเมือง มีความผูกพันกันในแง่ของความตั้งใจร่วมมือร่วมแรงกันในการแก้ไขปัญหาของระบบการเมือง ซึ่งจะแสดงออกโดยการแบ่งงานกันทํา เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุน ประชาคมทางการเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันนั่นเอง

– การสนับสนุนระบอบการเมือง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการรอง ความชอบธรรมของระบอบการเมืองในการทําให้สมาชิกยอมรับ เช่น ระบอบประชาธิปไตยมีความชอบธรรมที่จะให้สมาชิกของสังคมยอมรับในกฎกติกา รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองด้วย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามระบอบ การเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจะมีผลเสียอย่างมาก นั่นคือ มีผลทําให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรง เกิดจลาจลขึ้นไป

– การสนับสนุนผู้มีอํานาจหน้าที่ทางการเมือง หมายถึง การสนับสนุนบุคคล ที่เข้าไปทําหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรัฐบาล โดยดูจากความพึงพอใจของสมาชิกต่อการตัดสินใจของระบบ เช่น การที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ํามัน หรือดูจากความพอใจต่อนโยบาย รถยนต์คันแรก เป็นต้น

2 ระบบการเมือง (System) หรือผู้ตัดสินใจ ประกอบด้วย

1) ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ทําหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปสู่ระบบ การเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ ตัวอย่างผู้เฝ้าประตู เช่น กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง เป็นต้น

2) รัฐบาลหรือรัฐสภา (ผู้ตัดสินใจ)

3 ปัจจัยนําออก (Output) เป็นผลของการตัดสินใจของผู้มีอํานาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การจัดสรรสิ่งที่มีค่าในระบบการเมืองนั้น ซึ่งสาเหตุของการเกิด Output อาจสรุปได้ดังนี้ คือ

1) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของระบบ การเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ํา อัตราการว่างงานสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมือง

2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในระบบการเมืองเอง ซึ่ง Output ประเภทนี้จะมีผล ต่อระบบการเมืองและสภาพแวดล้อมของระบบ

– จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ผ่านออกมาจากระบบนั้น จะมีลักษณะบังคับ เช่น ประกาศ คําสั่ง ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้การดําเนินการยังมีผลผูกพันเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออํานวยประโยชน์และ ความสะดวกแก่คนบางกลุ่มในระบบนั้นเอง

4 การสะท้อนป้อนกลับ (Feedback) ก็คือ การป้อนข้อมูลย้อนกลับเพื่อนํามาสู่กระบวนการ Input อีกครั้งหนึ่งว่า Output ที่ออกไปนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

5 สิ่งแวดล้อม (Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1) สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ซึ่งจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิด กับระบบการเมืองมาก ประกอบด้วย

– สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสภาพทั่วไป เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้างชุมชน ถนน ลําคลอง ฯลฯ

– สิ่งแวดล้อมทางชีววิทยา เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความมีเหตุผลการร่วมมือร่วมใจกัน และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

– สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยาและสังคม ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรมในสังคม โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างด้านประชากร ฯลฯ

2) สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) เช่น วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำของโลก ปัญหาที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

แนวคิดทฤษฎีระบบของ Gabriel Almond

Almond เห็นว่า ระบบ (System) มีความสําคัญกว่ากระบวนการ (Process) ทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ เนื่องจากระบบจะศึกษาถึงทั้งหมดของการเมืองในสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมเอา หน่วยทางการเมืองต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

Almond เชื่อว่า ถ้าผู้ศึกษาเปรียบเทียบให้ความสําคัญกับการศึกษาพฤติกรรมและการแสดงออก ของคนจะช่วยให้การศึกษาเปรียบเทียบก้าวสู่ขั้นที่ก้าวหน้าไปจากการศึกษาเดิมที่ให้ความสําคัญกับกฎหมายและ พิธีการ และจากหน่วยการวิเคราะห์เดิมที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก นักรัฐศาสตร์ก็จะหันมาสนใจ “บทบาท” (Role) และ “โครงสร้าง” (Structure) ซึ่ง Almond ได้ให้คําจํากัดความของบทบาทว่าเป็นหน่วยที่มีการปะทะสัมพันธ์ ในระบบการเมือง และแบบแผนของการปะทะสัมพันธ์ก็คือระบบนั้นเอง

จากประเด็นดังกล่าวนั้นจึงเป็นจุดเริ่มทางความคิดของทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ที่ Almond ได้นําเสนอและเป็นหน่วยใหม่ในการวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ โดย Almond เสนอ “ระบบการเมือง” แทนความหมายเก่า ทางรัฐศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิม คือ รัฐธรรมนูญ เหตุผลก็เพื่อเลี่ยงการศึกษารัฐศาสตร์ยุคเดิมที่มุ่งแต่ศึกษาแนวกฎหมาย และสถาบันเป็นสําคัญ นอกจากนี้ Almond ยังได้กําหนดคุณลักษณะของการเปรียบเทียบระบบการเมืองไว้ 4 ประเด็นคือ

1 ในระบบการเมืองทุกระบบต่างก็จะต้องมีโครงสร้างทางการเมือง

2 มีหน้าที่ปฏิวัติเหมือนกันในทุก ๆ ระบบการเมือง

3 โครงสร้างทางการเมืองทุกระบบมีลักษณะที่เรียกว่า “ความหลากหลายของหน้าที่”

4 ในระบบการเมืองทั้งหมดจะมีการผสมผสานในหลาย ๆ วัฒนธรรม

Almond เห็นว่า ระบบการเมืองเป็นการศึกษาถึงขอบเขตทั้งหมดของกิจกรรมทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละแห่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบการเมืองจะมีหน้าที่หลายประการ ทั้งนี้เพราะระบบการเมือง เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมในการใช้อํานาจลงโทษ หรือบังคับสมาชิกของระบบการเมือง ซึ่งหน้าที่ (Function) ของระบบการเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1 หน้าที่ในการส่งปัจจัยเข้าสู่ระบบ (Input Functions) ได้แก่

1) การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) ซึ่งถือว่าเป็น กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมือง และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการเมือง (Political Recruitment) ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ต่าง ๆ ทางการเมือง

3) การเป็นปากเสียงของผลประโยชน์ที่ชัดเจน (Interest Articulation) หมายถึง การแสดงออกถึงความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้รัฐบาลหรือหน่วยที่ตัดสินใจกําหนด นโยบายต่อไป

4) การรวบรวมผลประโยชน์ (Interest Aggregation) ก็คือ การสมานฉันท์ของ การเรียกร้องที่เสนอเข้าสู่ในระบบการเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

5) การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) คือ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ข่าวสารของส่วนต่าง ๆ ในระบบและระหว่างระบบ

2 หน้าที่ในการส่งปัจจัยออกจากระบบการเมือง (Output Functions) ได้แก่

1) การออกกฎระเบียบ (Rule Making) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การบังคับใช้กฎระเบียบ (Rule Application) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายบริหาร

3) การตีความกฎระเบียบ (Rule Adjudication) ซึ่งหมายถึง อํานาจของฝ่ายตุลาการ

นอกจากนั้น Almond ยังมีความเห็นสอดคล้องกับความคิดของ Easton นั่นคือ การเรียกร้อง และการสนับสนุน

– การเรียกร้อง แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

1) การเรียกร้องให้มีการจัดสรรสินค้าและบริการ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสถานศึกษา เพิ่มสถานพยาบาล ฯลฯ

2) การเรียกร้องให้มีการออกกฎควบคุมความประพฤติ เช่น การขอให้มีการควบคุมราคาสินค้า คุ้มครองลิขสิทธิ์ ปราบปรามโจรผู้ร้าย ฯลฯ

3) การเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในระบอบการเมือง เช่น เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) การเรียกร้องให้มีการสื่อสารและได้รับทราบข้อมูลจากระบบการเมือง เช่นต้องการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การยืนยันสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ฯลฯ

– การสนับสนุน มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การสนับสนุนทางวัตถุ เช่น การสนับสนุนในรูปตัวเงิน การจ่ายภาษีให้รัฐโดยไม่บิดพลิ้ว การเข้ารับราชการทหาร ฯลฯ

2) การเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ เช่น การให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎหมาย การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

3) การสนับสนุนในลักษณะที่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การใช้สิทธิเลือกตั้งการออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

4) สนใจข่าวสารของรัฐ เคารพผู้มีอํานาจทางการเมือง สัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิธีการของสังคม

จะเห็นได้ว่า ทั้งข้อเรียกร้องและการสนับสนุนรัฐบาล ล้วนเป็นเรื่องของการกําหนดนโยบาย สาธารณะของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น นอกจากนี้ Almond ยังเห็นว่า ระบบการเมือง ทุกระบบจะต้องมีปะทะสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อม 2 ด้าน คือ

1 สิ่งแวดล้อมภายใน ซึ่งได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพทรัพยากรของประเทศ ระบบการศึกษา ระบบเทคนิควิทยาของประเทศ

2 สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ การทูต สงคราม การสื่อสารระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

หมายเหตุ นักศึกษาเลือกตอบนักคิดคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาเปรียบเทียบระหว่างดาราช่อง 7 อั้ม พัชราภา กับดาราช่อง 3 ชมพู่ อารยา ในแง่ของ IQ และ EQ มาโดยเข้าใจ

แนวคําตอบ

ในแง่ของ IO

– พัชราภา ไชยเชื้อ มีชื่อเล่นว่า “อั้ม” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยมีชื่อแรกเกิดว่า “ไข่มุก” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “พัชราภา” ในภายหลัง มีบิดาชื่อ นายวรวุฒิ ไชยเชื้อ และมารดาชื่อ นางสุภาพร ไชยเชื้อ โดยเธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัวพัชราภาจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย รังสิต

พัชราภาเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ขณะอายุได้ 19 ปี จากการประกวด Miss Hack 1997 หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “สาวแฮ็คส์” นั่นเอง ซึ่งเธอได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นสาวแฮ็คส์คนแรกของ เวทีประกวดนี้ โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ เป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอเพลง “ไม่ใช่คนในฝัน” ของศิลปิน ต้น อาภากร และในปีเดียวกันก็ได้มีผลงานละครเรื่อง “มณีเนื้อแท้” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7 สี) จากนั้นก็มีผลงานออกมาเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2546 เธอได้รับบทบาทในการเป็นพิธีกรครั้งแรกในรายการ “จ้อจี้” โดยเป็นพิธีกรคู่กับ จิ้ม ชวนชื่น และในปีนั้นเธอได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่อง “เฟค โกหกทั้งเพ” หลังจากนั้น ก็มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง พัชราภา ถือว่าเป็นนักแสดงชาวไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ทั้งงานละคร อีเว้นท์ โฆษณา และเป็นนักแสดงหญิงที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประเทศไทย

อารยา เอ ฮาร์เก็ต มีชื่อเล่นว่า “ชมพู่” เป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 มีบิดาชื่อ นายเจมส์ เอ ฮาร์เก็ต และมารดาชื่อ นางวารี เอ. ฮาร์เก็ต โดยเธอเป็นบุตรสาวคนเดียว ของครอบครัว เช่นเดียวกับพัชราภา

อารยา จบการศึกษา ระดับอุดมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัย รังสิต ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกันกับพัชราภา

อารยา เข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี พ.ศ. 2541 ขณะอายุได้ 17 ปี จากการประกวด Miss Motor Show ต่อมาได้รับการติดต่อจาก รัมภา ภิรมย์ภักดี ผู้เขียนบทประจําบริษัทดาราวิดีโอ และได้เซ็นสัญญา กับบริษัทดาราวิดีโอ โดยมีผลงานละครเรื่องแรกคือ “เพลงพราย” ทางช่อง 7 สี ประกบกับ บี สวิช เพชรวิเศษศิริ จากนั้นก็มีผลงานมาโดยตลอด นอกจากนี้เธอยังได้รับโอกาสให้มาร้องเพลงประกอบละครหลายเรื่อง และยังได้ เล่นละครเวทีเรื่อง “ม่านประเพณี” และพากย์ภาพยนตร์การ์ตูน รวมถึงเป็นพิธีกรบนเวทีการประกวดและงานสําคัญ ต่าง ๆ ของช่อง 7 จนได้มาเป็นพิธีกรหลายรายการ เช่น เจาะโลกมายา จมูกมด และ 7 กะรัต อีกทั้งยังมีโอกาส ได้เล่นเป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอของศิลปินหลายคน เช่น รู้ตัวบ้างไหม ของแร็พเตอร์, ฉันขอโทษ ของ แอน ธิติมา, สมน้ำหน้า ของมอส ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2551 เธอก็ได้ตัดสินใจย้ายจากช่อง 7 ไปอยู่ช่อง 3 และโด่งดังจากบท “เรยา” ในละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” และในปี พ.ศ. 2553 ก็มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่อง “สาระแนสิบล้อ” หลังจากนั้น ก็มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อารยายังได้รับโอกาสให้เป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ของธงไชย แมคอินไตย์ 10 รอบ และคอนเสิร์ตอื่น ๆ อีกหลายคอนเสิร์ต อารยาถือเป็นดาราแนวหน้าของเมืองไทยอีกคน ซึ่งมีทั้งงานละคร อีเว้นท์ โฆษณา และมีค่าตัวที่สูงไม่แพ้อย่างรุ่นพี่อั้ม พัชราภา

ในปี พ.ศ. 2558 อารยาได้เข้าพิธีสมรสกับน็อต วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์ เจ้าของธุรกิจหลอดไฟ เรเซอร์ แฟนหนุ่มที่คบหาเป็นแฟนกันมากว่า 6 ปี โดยมีพิธีจัดขึ้นแบบส่วนตัวภายในครอบครัว

-ในแง่ของ EQ

ในมุมของ “ความเซ็กซี่” พบว่าทั้งสองคนได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่เซ็กซี่ที่สุดของเมืองไทย ซึ่ง ต่างก็โดดเด่นและโด่งดังจากบท “นางร้าย” ด้วยกันทั้งคู่ โดยอั้ม พัชราภา นั้นได้แจ้งเกิดเต็มตัวจากละครเรื่อง “คมพยาบาท” ซึ่งมาพร้อม ๆ กับความเซ็กซี่ที่เธอเป็นคนสร้างขึ้นมา เพราะก่อนหน้านี้ ความเซ็กซี่น่าจะเป็น ภาพลักษณ์ของนางร้าย ไม่ใช่แนวทางของนางเอก

ในมุมของการย้ายช่องของชมพู่ อารยา แม้จะถูกมองว่าเป็นนางเอกช่อง 7 สี แต่กลับไม่เคย ได้เซ็นสัญญากับวิกหมอชิต เธอเป็นเพียงนางเอกสังกัดช่อง 7 ที่เซ็นสัญญากับค่าย “ดาราวิดีโอ” เท่านั้น จึงไม่แปลก ที่เธอจะตัดสินใจย้ายไปอยู่กับช่อง 3 จนได้รับการพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในภาพลักษณ์นางเอก-นางร้าย ในละครดังเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ทางช่อง 3 นั้นเอง

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของนางเอกทั้งสองคือ ทั้งสองคนต่างก็มีแฟนหนุ่มตระกูลเดียวกันอย่าง “รังษีสิงห์พิพัฒน์” ซึ่งพบว่าความรักของ ชมพู่ อารยา กับ น็อต วิศรุต ดําเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนมีพิธีแต่งงานเกิดขึ้น ขณะที่ความรักของ อั้ม พัชราภา กับโน้ต วิเศษ กลับไม่ราบรื่น จนทําให้ต้องเลิกรากันไป

การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างอั้ม พัชราภา กับชมพู่ อารยา ในแง่ของ IQ และ EQ ที่ได้กล่าว ไว้ในข้างต้นนั้นเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ที่ถูกนํามาวิเคราะห์เปรียบเทียบ นอกเหนือจากนี้เราอาจนําเอาแบบแผน รูปแบบการดําเนินชีวิต พฤติกรรม ความคล้ายความต่างในด้านอื่น ๆ ของคนทั้งสองมาใช้ในการเปรียบเทียบก็ได้

 

ข้อ 4 พรรคการเมืองคืออะไร ?

มีลักษณะและหน้าที่สําคัญอะไรบ้าง ?

และที่มาของวุฒิสมาชิกปี 2550 กับปี 2559 ทั้งทางตรงและทางอ้อมมีที่มาอย่างไร ?

และจากคําพูดที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” : “ร่วมด้วยช่วยกัน” นักศึกษามีความคิดเห็นอย่างไร ?

แนวคําตอบ

พรรคการเมือง (Political Party) หมายถึง องค์กรทางการเมืองที่รวมกลุ่มบุคคลที่มีแนว ความคิดเห็นหรือหลักการบางอย่างที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อกําหนดประเด็นปัญหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับ เลือกตั้งและหวังที่จะชนะการเลือกตั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดําเนินงานและนโยบายของรัฐบาล หรือต้องการเป็นรัฐบาลเข้าบริหารประเทศตามนโยบายที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของกลุ่ม

ลักษณะสําคัญของพรรคการเมือง

1 พรรคการเมืองต้องมีความยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนต้องไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตหรืออํานาจของ ผู้นําพรรคการเมือง กล่าวคือ เป็นพรรคที่รวมตัวกันโดยยึดหลักการหรีอุดมการณ์เป็นหลัก ต้องไม่ยึดถือบุคลิกภาพ หรืออํานาจของผู้นําเป็นหลักในการรวมตัวกัน

2 พรรคการเมืองจะต้องมีองค์การหรือสาขาแผ่กระจายไปในระดับท้องถิ่น และมีขาย การติดต่อกันระหว่างสํานักงานใหญ่กับสาขาพรรคในท้องถิ่น กล่าวคือ พรรคจะต้องมีระบบการติดต่อกับประชาชน อย่างต่อเนื่อง สาขาของพรรคในท้องถิ่นนับเป็นองค์การพื้นฐานสําคัญของพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะจะทําหน้าที่ เป็นสื่อประสานหรือตัวเชื่อมโยงระหว่างพรรคกับประชาชนและกลุ่มต่าง ๆ

3 ผู้นําพรรคการเมืองต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะรวมอํานาจการตัดสินนโยบาย ของตนแต่ผู้เดียวหรือเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ไม่เพียงแต่จะใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงนโยบายเท่านั้น กล่าวคือ บรรดาผู้นําพรรคการเมืองจะต้องมีความมุ่งหมายที่จะให้พรรคการเมืองของตนเป็นรัฐบาลเพื่อเข้าควบคุมบุคลากร และนโยบายในการบริหารประเทศ

4 พรรคการเมืองต้องพยายามหาคะแนนเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง และหาความสนับสนุน จากมหาชนทั่วไปเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง กล่าวคือ พรรคจะต้องพยายามขยายแนวความคิดของพรรคและให้ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการเมือง ชี้แง่มุมของปัญหาต่าง ๆ แก่ประชาชนตลอดเวลา ตลอดจนเสนอแนวนโยบายให้ประชาชนเลือก

หน้าที่สําคัญของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 หน้าที่เลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ที่พรรคการเมืองทั่ว ๆ ไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้พรรคได้มีโอกาสควบคุมการใช้อํานาจหน้าที่ในตําแหน่งต่าง ๆ และดําเนินนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไป ตามนโยบายของตน

หน้าที่ในการเลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งนี้ นับว่าเป็นส่วนสําคัญที่ช่วยประชาชน ในการเลือกตั้ง เพราะบุคคลที่พรรคคัดเลือกให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งนั้นได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยพรรค มาแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหรือเหมาะสมกับตําแหน่ง ดังนั้นประเทศที่มีพรรคการเมืองที่มีความมั่นคง ประชาชนผู้เลือกตั้งจึงมักจะไม่คํานึงถึงตัวบุคคลมากนัก แต่จะพิจารณาถึงพรรคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดว่าพรรคใด จะรักษาผลประโยชน์ของเขาหรือมีแนวนโยบายตรงกับความคิดเห็นของเขามากกว่า

2 หน้าที่เสนอนโยบาย ชี้ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข หน้าที่สําคัญอีกประการหนึ่ง ของพรรคการเมืองก็คือ การแสดงออกหรือแถลงซึ่งนโยบายการปกครองบ้านเมืองว่าจะดําเนินการไปในทางใด อุดมการณ์ที่พรรคยึดถือนั้นยึดถืออะไร เช่น รูปแบบการปกครองแบบใด เป็นต้น นอกจากนั้นพรรคจะต้องชี้ให้เห็นถึง ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ โดยจะยกประเด็นต่าง ๆ เช่น ทางการศึกษา ทางต่างประเทศ ทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ข้อขัดแย้งต่าง ๆ มาอภิปราย แล้วเสนอแนวทางหรือนโยบายที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย

นโยบายหรือโครงการที่พรรคการเมืองได้เสนอต่อประชาชนนั้น จะเป็นการผูกมัดและ เป็นคํามั่นของพรรคที่ต้องปฏิบัติเมื่อได้อํานาจหรือได้รับเลือกตั้ง ฉะนั้นประชาชนก็จะยึดเอานโยบายหรือโครงการ ต่าง ๆ ที่พรรคประกาศนี้มาเป็นส่วนหนึ่งสําหรับวินิจฉัยในการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเลือก ผู้แทนได้ดีและง่ายขึ้น

3 หน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับองค์การของรัฐ โดยพรรคการเมืองนั้นจะเป็น จุดรวมของบุคคลต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งมาจากบุคคลหลายอาชีพและจากภูมิภาค ต่าง ๆ พรรคการเมืองจึงอยู่ในฐานะรับรู้ปัญหาและความต้องการของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคเป็นอย่างดี นอกจากนั้นพรรคการเมืองที่แท้จริงโดยปกติจะคอยสํารวจตรวจสอบมติสาธารณะอยู่เสมอว่า ประชาชนมีปัญหา หรือต้องการอะไร เพราะพรรคจะมีสาขาอยู่อย่างกว้างขวาง มีองค์การต่าง ๆ ที่เข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มชาวนา ชาวไร่ นักศึกษา กรรมกร และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ

พรรคการเมืองจึงต้องทําหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนที่คอยรับรู้ปัญหาและความต้องการ ของประชาชน และถ่ายทอดความต้องการของประชาชนไปยังองค์การของรัฐด้วย

4 หน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อพรรคใดชนะเลือกตั้งหรือได้เสียงข้างมาก พรรคการเมือง นั้นก็จะมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล โดยประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีก็จะเลือกตั้งเฉพาะประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีเท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีหรือตําแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคที่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภามีหน้าที่ คัดเลือกบุคคลเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ เพื่อบริหารประเทศ ซึ่งโดยปกติหัวหน้าพรรคและผู้นําระดับสูง ของพรรคจะไปดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลําพัง พรรคเดียว ก็จะมีการตกลงกันในระหว่างพรรคที่มีความคิดและนโยบายใกล้เคียงกัน เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมต่อไป

5 หน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งน้อยหรือ ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่คือ วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ ชี้ข้อบกพร่องในการดําเนินงานของรัฐบาล คอยท้วงติง คัดค้านการกระทําที่ไม่ชอบหรือขัดต่อมติของมหาชน ควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่สภารับรอง ตลอดจนยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อํานาจเกินขอบเขต

ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น พรรคฝ่ายค้านยังมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลเงา (Shadow Cabinet) เพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรไว้ล่วงหน้าสําหรับการเป็นรัฐบาลในอนาคต ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ถือเป็นคณะผู้บริหารของฝ่ายค้านที่จะคอยติดตามปัญหาและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในหน้าที่ของกระทรวงที่ตน ถูกกําหนดไว้

6 หน้าที่ในการปลุกระดมมวลชนให้เข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง กล่าวคือ พรรคการเมือง เป็นองค์กรที่รวบรวมบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน แล้วเสนอแนวความคิดเห็นนั้นต่อ ประชาชน ให้ประชาชนเห็นชอบโดยการรณรงค์หาเสียง สนับสนุนด้านการเงิน โดยวิธีชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นผู้สนับสนุนพรรค เพื่อช่วยในการรณรงค์หาเสียง หรือให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่พรรค รวมทั้งเข้ามาเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค

ที่มาของวุฒิสมาชิกปี 2550 กับปี 2559

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 150 คน โดยมีที่มา 2 ประเภท ได้แก่

1 สมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และในแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกวุฒิสภาได้จังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัด = 77 คน) โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน โดยตรงและลับ

2 สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญกําหนดให้มีจํานวนเท่ากับ 150 คน หักด้วย จํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (นั่นคือ 150 – 77 = 73 คน) โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิก วุฒิสภาดําเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสม จากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็น สมาชิกวุฒิสภา

ตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 (ฉบับลงประชามติ) ได้กําหนดให้ มีสมาชิกวุฒิสภาจํานวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม เป็นจํานวน 20 ด้าน โดยการแบ่งกลุ่มต้องคํานึงว่าประชาชนทุกคนสามารถสมัครเข้าสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ และให้ผู้สมัครสมาชิก วุฒิสภาทุกกลุ่มเลือกกันเอง โดยจะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ระดับอําเภอ พอได้ตัวแทนระดับอําเภอ ก็ไปคัดเลือกกันเอง ต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศจนได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คน

ความคิดเห็นจากคําพูดที่ว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” และ “ร่วมด้วยช่วยกัน”

“เงินไม่มา กาไม่เป็น” เป็นคํากล่าวที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในท้องที่ชนบทนั้น แท้จริงแล้ว มิได้ให้ความสนใจในการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่าที่ควร ส่วนใหญ่นั้นมักจะ “นอนหลับทับสิทธิ์” กล่าวคือ ถ้าไม่มีการนําเงิน มาให้เพื่อจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ดังกล่าวก็จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ไปกากบาทในบัตรเลือกตั้ง จนกว่าจะได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากับการ เดินทางหรือคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปหากต้องไปใช้สิทธิดังกล่าว

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯ 2540 พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยกําหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” มิใช่ “สิทธิ” ดังเช่นในอดีต โดยเห็นว่าถ้าเป็น “สิทธิ” ของประชาชน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิ ของตนหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ากําหนดให้เป็น “หน้าที่” แล้ว หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะมีสภาพบังคับ (Sanction) ตามมา โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควรที่ทําให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่ก็ ไม่ได้ทําให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดน้อยลงไปได้

ส่วนคํากล่าวที่ว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” นั้นถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลในการให้ความร่วมมือ ออกไปเลือกผู้สมัครของคนในชนบท ทั้งนี้เพราะการใช้เงินหว่านซื้อเสียงโดยไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ทางศีลธรรม กับชาวบ้านได้อย่างต่อเนื่องและแน่นแฟ้น อาจกลับทําให้พ่ายแพ้ หากผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถสร้างอัตลักษณ์ ท้องถิ่นนิยมหรือจังหวัดนิยม โดยการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยพื้นที่ของตนให้มีความเจริญ ถนนหนทางดี น้ำไหล ไฟสว่าง ก็จะทําให้ประชาชนเกิดความภูมิใจในพื้นที่ของตน หากทําเช่นนั้นได้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะ ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่จําเป็นต้องอาศัยแต่เงินเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนมักชื่นชอบผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน โดยคาดหวังว่าเมื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนแล้ว จะเข้ามาสนใจทุกข์สุขของชาวบ้าน และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ มากกว่าผู้สมัครต่างถิ่น

Advertisement