LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายดําเกิงเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยช่วงแรก

ที่เปิดให้บริการนั้นทางห้างฯ ของนายดําเกิงมีการให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้า ที่เข้ามาซื้อสินค้า และทางห้างฯ เคยจัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง หลังจากเปิดให้บริการได้ระยะหนึ่งทางห้างฯ ของนายดําเกิงได้ยกเลิกวิธีการดังกล่าวโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน โดยปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ทั้งลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ก็นํารถเข้ามาจอดตามปกติเวลาที่มาซื้อสินค้า

ภายในห้างฯ วันเกิดเหตุ นายเด่นได้นํารถยนต์มาจอดในห้างฯ เพื่อเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างฯปรากฏว่าได้มีคนร้ายเข้ามาโจรกรรมรถของนายเด่นไปได้

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี สรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อ ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจําต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทําละเมิดมี “การกระทํา” หรือไม่ หากบุคคล ไม่มี “การกระทํา” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับการกระทํานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทําโดยรู้สํานึก นอกจากนี้การกระทํายังหมายความรวมถึงการงดเว้น การเคลื่อนไหวอันพึงต้องทําเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทํา

ตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทําตามหน้าที่ที่จะต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับนายเด่นในกรณีที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงนั้นได้ถูกโจรกรรมไป เนื่องจากเดิมทีห้างฯ ของนายดําเกิงได้เปิดให้บริการนั้นได้มีการจัดให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าและได้จัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านแล้วกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง และแม้ภายหลังทางห้างฯ ของนายดําเกิงจะได้ ยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทนนั้น แม้จะได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหาย หรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถแต่ก็ยังนํารถเข้ามาจอดก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องข้อกําหนดของทางห้างฯ นายดําเกิงฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในทางละเมิดของ ห้างฯ นายดําเกิงแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงถูกโจรกรรมไป ย่อมถือว่า เป็นความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการทําละเมิดของห้างฯ ของนายดําเกิงโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลนั้นขึ้น โดยถือว่าเป็นการงดเว้นการที่จะต้องกระทําตามหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากการกระทําครั้งก่อนของห้างฯ (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7471/2556) ดังนั้น นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจึงต้องรับผิด ทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

สรุป นายดําเกิงเจ้าของห้างฯ จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

 

ข้อ 2 นายเอว่าจ้างบริษัท การช่าง จํากัด สร้างอาคาร 5 ชั้น บริษัท การช่าง จํากัด มอบหมายให้นายแมน วิศวกรประจําบริษัทออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ระหว่างการก่อสร้างชั้นที่ 4 ปรากฏว่าอาคารได้ถล่มลงมาเนื่องจากความผิดพลาดในการคํานวณน้ำหนักเป็นเหตุให้นายโชคถึงแก่ความตาย

จงวินิจฉัยว่า ทายาทของ นายโชคจะมีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลใดรับผิดในทางละเมิดได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้าง ทําของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทํา หรือในคําสั่ง ที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อาคารได้ถล่มลงมาเนื่องจากความผิดพลาดในการคํานวณน้ำหนักของนายแมนวิศวกรประจําบริษัท การช่าง จํากัด เป็นเหตุให้นายโชคถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าความเสียหายถึงแก่ชีวิตของนายโชคเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายแมนตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทํา โดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของนายแมน ดังนั้น นายแมนจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายโชค

สําหรับบริษัท การช่าง จําากัดนั้น เมื่อการกระทําของนายแมนดังกล่าว ได้กระทําไปในขณะเป็นลูกจ้างของบริษัท การช่าง จํากัด และได้กระทําไปในทางการที่จ้าง ดังนั้น บริษัท การช่าง จํากัด ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายแมนซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 425

ส่วนนายเอซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัท การช่าง จํากัด สร้างอาคาร 5 ชั้นดังกล่าวไม่ต้องรับผิด เพื่อความเสียหายในกรณีที่บริษัท การช่าง จํากัด ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงาน ที่ว่าจ้างตามมาตรา 428, เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทํางานที่ผู้ว่าจ้าง สั่งให้ทําหรือในคําสั่งที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้แต่อย่างใด

ดังนั้น ทายาทของนายโชคมีสิทธิเรียกร้องให้นายแมน และบริษัท การช่าง จํากัด รับผิดในทาง ละเมิดได้ตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 แต่จะเรียกร้องให้นายเอรับผิดในทางละเมิดไม่ได้

สรุป

ทายาทของนายโชคมีสิทธิเรียกร้องให้นายแมน และบริษัท การช่าง จํากัด รับผิดในทาง ละเมิดได้ แต่จะเรียกร้องให้นายเอรับผิด ไม่ได้

 

ข้อ 3 นายแดงเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง วันเกิดเหตุสุนัขหลุดจากคอกออกมาเดินเล่นริมถนน นายเอกขว้างก้อนหินไปที่สุนัขแต่ก้อนหินไม่ถูกสุนัข สุนัขเข้าใจว่านายโทซึ่งเดินผ่านมาพอดีเป็นคนขว้าง จึงวิ่ง เข้าไปกัดนายโทได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นนายเอกได้ขว้างก้อนหินไปที่สุนัขอีกครั้งหนึ่ง ก้อนหินไม่ถูกสุนัขแต่สุนัขมองเห็นว่านายเอกเป็นคนขว้าง จึงวิ่งเข้ามาจะกัดนายเอก นายเอกจึงใช้ไม้ตีไปที สุนัข ปรากฏว่าสุนัขได้รับบาดเจ็บ เสียค่ารักษาพยาบาลไป 500 บาท ให้ตอบคําถามดังต่อไปนี้

(1) การที่นายโทได้รับบาดเจ็บ นายโทจะเรียกร้องให้ใครรับผิดในทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) การที่นายเอกใช้ไม้ตี สุนัขได้รับบาดเจ็บ นายเอกต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดง เจ้าของสุนัขหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิ์ ของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกว่านิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายแดงเลี้ยงสุนัข และสุนัขหลุดจากคอกออกมาเดินเล่นริมถนน นายเอกขว้างก้อนหินไปที่สุนัขทําให้สุนัขวิ่งเข้าไปกัดนายโทได้รับบาดเจ็บนั้น ถือว่าความเสียหายที่นายโทได้รับเป็นความเสียหายที่ เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายแดงเจ้าของสุนัขจึงต้องรับผิดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง นายโทจึงสามารถเรียกร้อง ให้นายแดงเจ้าของสุนัขรับผิดในทางละเมิดได้

และเมื่อนายแดงได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายโทไปแล้ว นายแดงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายเอกผู้ที่เร้าหรือตั๋วสัตว์โดยละเมิดได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

(2) การที่นายเอกได้ขว้างก้อนหินไปที่สุนัขอีกครั้งหนึ่ง ทําให้สุนัขได้วิ่งเข้ามาจะกัดนายเอก ทําให้นายเอกได้ใช้ไม้ตีไปที่สุนัขและสุนัขได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาลไป 500 บาทนั้น นายเอกจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงเจ้าของสุนัข เพราะการกระทําของนายเอกคือการใช้ไม้ตีไปที่สุนัขนั้น

มิใช่การกระทําเพื่อจะป้องกันสิทธิของตนจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ แต่เป็น ภยันตรายที่เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายเอกเองที่ใช้ก้อนหินขว้างไปที่สุนัขตามมาตรา 450 วรรคสาม

สรุป

(1) การที่นายโทได้รับบาดเจ็บ นายโทสามารถเรียกร้องให้นายแดงรับผิดในทางละเมิดได้ และนายแดงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากนายเอกได้

(2) การที่นายเอกใช้ไม้ตีสุนัขได้รับบาดเจ็บ นายเอกต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ นายแดงเจ้าของสุนัข

 

ข้อ 4 นายหมอกอายุ 18 ปี บิดามารดาได้เสียชีวิตไปตั้งแต่นายหมอกอายุ 16 ปี นายหมอกจึงอยู่ใน การอุปการะเลี้ยงดูของนายเมฆซึ่งเป็นลุง วันเกิดเหตุนายหมอกเดินทางไปต่างจังหวัดกับเพื่อนระหว่างทางมีรถยนต์ซึ่งนายพายุขับมาด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของนายพายุทําให้รถยนต์คันดังกล่าวชนกับรถยนต์ที่นายหมอกนั่งมากับเพื่อนทําให้นายหมอกถึงแก่ความตายทันที เพื่อนของนายหมอกบาดเจ็บสาหัส

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายเมฆมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุในกรณีที่นายหมอกถึงแก่ ความตายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพายุขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง ทําให้รถยนต์คันดังกล่าวชมกับรถยนต์ที่นายหมอกนั่งมากับเพื่อนทําให้นายหมอกถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายพายุเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อ บุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและการกระทําของนายพายุสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายหมอก ดังนั้น นายพายุจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวรรคสามนั้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ นายเมฆซึ่งเป็นลุงของนายหมอกจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจาก นายพายุในกรณีที่นายหมอกถึงแก่ความตายได้หรือไม่ ซึ่งกรณีค่าขาดไร้อุปการะตามบทบัญญัติมาตรา 443 สามนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ซึ่งได้แก่ สามีกับภริยาหรือบิดามารดากับบุตร เมื่อนายหมอกผู้ตายไม่มีหน้าที่ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูนายเมฆ ซึ่งเป็นลุงตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น นายเมฆจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุตามมาตรา 443 วรรคสาม

สรุป นายเมฆไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายพายุ

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 แก้วเป็นเจ้าของสุนัขดุอยู่หนึ่งตัว วันเกิดเหตุสุนัขของแก้ววิ่งเข้าไปในบ้านของขวดเพื่อไปขโมยเนื้อย่างในครัวของขวด เมื่อขวดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ใช้ไม้ตีสุนัข ทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บ และสุนัขได้รับความเจ็บปวดจึงวิ่งเตลิดไปชนระฆังใหญ่ในวัดไทร ทําให้เกิดเสียงดังอย่างมาก และทําให้โอ่ง (อายุ 15 ปี) ที่ยืนเล่นอยู่ใกล้ระฆังมากถึงกับอาการหูอักเสบและกลายเป็นคนหูหนวกถาวร ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยง รับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่สุนัขดุของแก้ววิ่งเข้าไปในบ้านของขวดเพื่อไปขโมยเนื้อย่างในครัวของขวดนั้น ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์คือสุนัขของแก้ว ซึ่งตามกฎหมายแก้วผู้เป็นเจ้าของสัตว์จะต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ขวดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง และตามข้อเท็จจริงแก้วก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสุนัขดุนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้ขวดจึงมีสิทธิเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้

ประเด็นที่ 2 การที่ขวดได้ใช้ไม้ตีสุนัขของแก้วทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทําของขวด ถือเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน จึงถือว่าขวดได้กระทําละเมิดต่อแก้วตามมาตรา 420 แต่อย่างไรก็ตาม ขวดก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสามได้

เนื่องจากเป็นการกระทําเพื่อป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์คือสุนัขดุนั้นเองเป็นต้นเหตุให้ตนต้อง ป้องกัน และเมื่อความเสียหายอันเกิดแก่สุนัขนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ขวดจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่แก้ว ดังนั้น กรณีนี้แก้วจึงเรียกให้ขวดรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนไม่ได้

ประเด็นที่ 3 การที่สุนัขของแก้ววิ่งเตลิดไปชนระฆังใหญ่ในวัดไทร ทําให้เกิดเสียงดังมากและทําให้ โอ่งที่เล่นอยู่ใกล้ระฆังมากถึงกับอาการหูอักเสบและกลายเป็นคนหูหนวกถาวรนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโอ่งนั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ แก้วซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์คือสุนัขจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โอ่งตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรณีนี้โอ่งจึงเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้

สรุป ขวดและโอ่งสามารถเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้ แต่แก้วจะเรียกให้ขวด รับผิดในเหตุละเมิดกับตนไม่ได้

 

ข้อ 2 จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1 หากปรากฏว่า

(ก) โอ่งถูกพาส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาสามวัน จากนั้นเกิดการติดเชื้อจากหูเข้าเส้นโลหิต และโอ่งทนบาดเจ็บไม่ไหวได้ถึงแก่ความตาย และถ้าหากว่าโอ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของอ่าง เป็นบุตรบุญธรรมของไห และเป็นลูกจ้างของเหยือก ให้วินิจฉัยว่าอ่าง ไห และเหยือก จะมีสิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่โอ่งถึงแก่ความตายได้หรือไม่ อย่างไร

(ข) สุนัขของแก้วได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการ แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหาย ที่ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 416 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยโซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 445 “ในกรณีทําให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”

มาตรา 446 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้เขา เสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีก ก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือ ได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ข้อ

1 แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โอ่งถูกพาส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเกิดการติดเชื้อจากหูเข้าเส้นโลหิต และโอ่งทนบาดเจ็บไม่ไหวได้ถึงแก่ความตายนั้น สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน (โดยผู้เสียหายทางอ้อม) จะมีขึ้น ตามมาตรา 443 ได้แก่ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ (มาตรา 443 วรรคหนึ่ง) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ก่อนตาย (มาตรา 443 วรรคสอง) และค่าขาดไร้อุปการะ (มาตรา 443 วรรคสาม) รวมทั้งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน คือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและในอุตสาหกรรมตาม มาตรา 445 ด้วย

ส่วนอ่าง ไห และเหยือก จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของอ่าง เมื่ออ่างเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของโอ่ง ดังนั้น อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนใด ๆ ตามมาตรา 443 เพราะผู้มีสิทธิในการเรียกค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการ ปลงศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ก่อนตาย ตามมาตรา 443 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่ออ่างไม่ใช่บิดาโดยชอบ ด้วยกฎหมายของโอ่ง อ่างจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ดังนั้น อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว

ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสามนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ได้แก่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมด้วย ดังนั้นเมื่ออ่างมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของโอ่ง อ่างจึงไม่มีสิทธิ เรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม และเมื่ออ่างมิใช่ผู้ใช้อํานาจปกครองบุตร (เนื่องจากอ่างมิใช่บิดา โดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งโอ่งอยู่ภายใต้อํานาจปกครองของให้ผู้รับบุตรบุญธรรม) อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา 445

กรณีของไห เมื่อโอ่งเป็นบุตรบุญธรรมของไห โอ่งจึงอยู่ภายใต้อํานาจปกครองของไห และถือว่าไหเป็นผู้ใช้อํานาจปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายครอบครัว บุตรบุญธรรมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น ไหจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม และค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา 445 ได้ แต่ไหไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ และค่ารักษาพยาบาลก่อนตายตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพราะไม่ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของโอ่ง

กรณีของเหยือก เมื่อเหยือกมิใช่บิดาหรือทายาทของโอ่ง เป็นเพียงนายจ้างของโอ่งเท่านั้น ดังนั้น เหยือกจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 และจะเรียกค่าขาดแรงงานในอุตสาหกรรม ตามมาตรา 445 ก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อโอ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว สัญญาจ้างย่อมระงับสิ้นไป สิทธิของนายจ้างในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 445 จึงหมดไปด้วย

(ข) การที่สุนัขของแก้วได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการนั้น แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ เพราะการเรียกค่าสินไหม ทดแทนตามมาตรานี้ ใช้เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนและทําให้คนได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรือ อนามัยหรือเสียเสรีภาพเท่านั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสัตว์

สรุป

(ก) ไหมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะตามมาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 445 เท่านั้น จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสองไม่ได้ส่วนอ่างและเหยือกไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ได้เลย

(ข) แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ไม่อาจตีราคาได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

 

ข้อ 3 นายทะเลได้เข้าฟังการชุมนุมเลือกตั้งสมาชิกสหกรณ์ของตําบล นายทะเลพบว่านายหิน คู่อริ ของตนได้ลงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานสหกรณ์ด้วย และพบว่าพรรคพวกของนายหินอีก 6 คน ก็ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นายทะเลไม่พอใจจึงตะโกนขึ้นมาท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” เมื่อนายหินและพรรคสืบทราบว่านายทะเลเป็นคนตะโกน จึงดําเนินการ ฟ้องคดีต่อศาล ให้วินิจฉัยว่าการกระทําของนายทะเลมีความผิดหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทํามาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตน มิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทําให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลได้เข้าฟังการชุมนุมเลือกตั้งสมาชิกสหกรณ์ของตําบล นายทะเล พบว่านายหิน คู่อริของตนได้ลงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานสหกรณ์ด้วย และพบว่าพรรคพวกของนายหินอีก 6 คน ก็ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นายทะเลไม่พอใจจึงตะโกนขึ้นมาท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” นั้น แม้คํากล่าวของนายทะเลดังกล่าวจะเป็นการกล่าวกระทบถึงนายหินและพรรคพวก แต่ก็มิใช่การนําความเท็จ หรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวนายหินและพรรคพวกมากล่าว หากแต่เป็นการด่าด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่านายหินและพรรคพวกเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนําข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จึงไม่ถือว่านายทะเลได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็น ความผิดตามมาตรา 423 แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ดี การพูดด้วยถ้อยคําดังกล่าวต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุมนั้น ประชาชนที่ฟัง ย่อมรู้สึกได้ว่านายหินและพรรคพวกเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมกับตําแหน่งประธานสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ อันเข้าลักษณะเป็นการกระทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดต่อกฎหมายตามมาตรา 420 ทําให้นายหินและพรรคพวก เสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง จึงถือได้ว่านายทะเลได้กระทําละเมิดต่อนายหินและพรรคพวก และจําต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 891/2557)

สรุป

การกระทําของนายทะเลมีความผิดฐานละเมิดตามมาตรา 420 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 423

 

ข้อ 4 นายเทืองและนางขวัญ เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยนายเทืองรับราชการอยู่ในหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง วันเกิดเหตุ นายเทืองขับรถยนต์เดินทางไปราชการที่จังหวัดนครสวรรค์

ปรากฏว่าด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายเท่งซึ่งขับรถบรรทุกชนท้ายรถยนต์ ของนายเทือง ทําให้นายเทืองได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน

ต่อมานายเทืองถึงแก่ความตาย ดังนี้ หากนายเทืองได้เบิกค่ารักษาพยาบาลของนายเทืองก่อนตายจากหน่วยงานที่นายเทืองทํางานอยู่เนื่องจากมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้ได้ จงวินิจฉัยว่า นางขวัญสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายในกรณีของนายเทืองจากนายเท่ง ได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเท่งขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงชนท้ายรถยนต์ของนายเทือง ทําให้นายเทืองได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน และ ต่อมานายเทืองถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าความตายของนายเทืองเกิดจากการกระทําละเมิดของนายเท่งตาม มาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น นายเท่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ เป็นต้น

และจากข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่า นายเทืองมิได้ตายในทันที ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่นายเท่งจะต้องใช้ให้แก่ทายาทของนายเทืองให้รวมถึงค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วยตามมาตรา 443 วรรคสอง โดยไม่ต้องคํานึงว่าผู้ตายจะมีสิทธิเบิก ค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานของตนได้หรือไม่ ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายเทืองได้เบิกค่ารักษาพยาบาลของนายเทืองก่อนตายจากหน่วยงานที่นายเทืองทํางานอยู่เนื่องจากมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ในส่วนนี้ได้ก็ตาม นางขวัญซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทของนายเทืองผู้ตายสามารถเรียก ค่ารักษาพยาบาลก่อนตายจากนายเท่งได้อีก เพราะถือว่าเป็นสิทธิตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้

สรุป นางขวัญสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายในกรณีของนายเทืองจากนายเท่งได้

LAW2103 (LAW2003)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด s/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายดําหลงรักนางสาวขาวมานาน แต่นางสาวขาวได้คบหากับนายเขียวอยู่แล้วไม่ได้ชื่นชอบนายดํานางสาวขาวจึงพยายามหลบหน้านายดํามาโดยตลอด นายดําพยายามติดตามตื้อให้นางสาวขาวรับความรัก โดยเข้าใจไปเองว่าที่นางสาวขาวไม่รับความรักเนื่องจากนายฟ้าซึ่งเป็นบิดาของนางสาวขาวกีดกันเพื่อให้นางสาวขาวคบหากับนายเขียว วันเกิดเหตุนายดําถืออาวุธปืนติดตัวออกมาเพื่อเจอกับนายฟ้า และนายดําได้พูดขู่เข็ญนายฟ้าว่า “มึงอยากตายหรือ” ทําให้นายฟ้าตกใจกลัวเป็นอย่างมาก แต่นายดําก็มิได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายฟ้าแต่อย่างใด หลังจากนั้นนายดําได้เดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางพบนายเขียวโดยบังเอิญ จึงใช้ปืนยิงนายเขียว นายเขียวกระโดดหลบกระสุน โดยกระสุนปืนของนายดําไม่ถูกนายเขียวแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าขณะกระโดดหลบนั้นศีรษะของ นายเขียวได้กระแทกพื้นจนนายเขียวถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยว่า

(ก) กรณีนายห้านั้น หากต่อมานายฟ้าได้ยื่นฟ้องนายดําว่าได้กระทําละเมิด นายดําต่อสู้ว่า ตนมิได้ใช้ปืนยิงนายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของ นายดําฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

(ข) กรณีนายเขียวนั้น นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียวหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายฟ้าได้ยื่นฟ้องนายดําว่าได้กระทําละเมิด แต่นายดําได้ต่อสู้ว่าตนมิได้ใช้ปืนยิงนายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของนายดําฟังขึ้นหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริง ฟังได้ความว่า นายดําถืออาวุธปืนติดตัวออกมาเพื่อพบกับนายฟ้า และนายดําได้พูดขู่เข็ญนายฟ้าว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทําของนายดําดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทําโดยจงใจทําให้นายฟ้าเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทํา ละเมิดต่อนายฟ้าตามมาตรา 420 แล้ว เพราะแม้ว่านายดําจะมิได้ยิงอาวุธปืนก็ตาม แต่การที่นายดําใช้อาวุธปืน ข่มขู่นายฟ้าเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของนายฟ้าแล้ว เพราะเป็นการทําให้นายฟ้าตกใจกลัวอันเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายดํา ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 4571/2556)

(ข) นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียวหรือไม่ อย่างไร กรณีนี้เห็นว่า การที่นายดําใช้อาวุธปืนยิงนายเขียว นายเขียวกระโดดหลบกระสุนทําให้กระสุนปืนของนายดําไม่ถูกนายเขียว

แต่ปรากฏว่าขณะกระโดดหลบนั้นศีรษะของนายเขียวได้กระแทกพื้นจนนายเขียวถึงแก่ความตายนั้น ความตายของนายเขียวถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทําโดยจงใจของนายดําที่กระทําต่อนายเขียวโดยผิดกฎหมาย ทําให้นายเขียวเสียหายต่อชีวิต และผลที่เกิดขึ้นคือความตายของนายเขียวนั้นมีความสัมพันธ์กับการกระทําของนายดํา เพราะการที่นายเขียวได้กระโดดหลบกระสุนจนศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นการกระทําเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายเฉพาะหน้าเนื่องจากการที่นายดําใช้อาวุธปืนยิงตน ดังนั้น จึงถือว่านายดําได้กระทําละเมิด ต่อนายเขียวตามมาตรา 420 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความตายของนายเขียว (เทียบเคียง คําพิพากษาฎีกาที่ 895/2509, 1436/2511)

สรุป

(ก) ข้อต่อสู้ของนายดําฟังไม่ขึ้น

(ข) นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียว

 

ข้อ 2 ด.ช.ซน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหล่อและนางสวย มีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดอุดรธานี นายหล่อและนางสวยได้ส่ง ด.ช.ซนมาเรียนหนังสือที่จังหวัดชัยภูมิ โดยฝากให้พักอาศัยอยู่กับนายซวย ซึ่งเป็นตาของ ด.ช.ซน ด.ช.ซนชอบเล่นปืนของนายซวยเป็นอย่างมากและแอบนําปืนไปยิงต้นไม้เล่นอยู่เป็นประจํา โดยนายซวยเก็บปืนไว้ใต้หมอนในห้องนอน โดยมิได้ถอดแมกกาซีนออกและมิได้ห้ามปรามมิให้ ด.ช.ซนเข้าไป วันหนึ่ง ด.ช.ซนแอบเอาปืนดังกล่าวไปยิงต้นไม้เล่นในทุ่งนา กระสุนปืนพลาดเลยไปถูกนายเฮงซึ่งกําลังเดินอยู่กลางทุ่งนาถึงแก่ความตาย ดังนี้ นายเฮงจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใดได้บ้าง อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ด.ช.ซน เอาปืนไปยิงต้นไม้เล่นในทุ่งนา แต่กระสุนพลาดไปถูกนายเฮง ถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของ ด.ช.ซน ถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของ ด.ช.ซน จึงถือว่า ด.ช.ซนได้กระทําละเมิดต่อ นายเฮงตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฮง แม้ว่า ด.ช.ซนจะเป็นผู้เยาว์อันถือว่า เป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม (มาตรา 429)

และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ ด.ช.ซนทําละเมิดนั้น ด.ช.ซนอยู่ในความดูแลของนายซวยคุณตาของตน นายซวยจึงถือว่าเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา 430 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายซวยได้รู้ว่า ด.ช.ซนหลานของตนชอบเล่นปืนและเอาปืนไปยิงต้นไม้เล่นเป็นประจํา แต่นายซวยได้กระทําเพียงเก็บปืนไว้ ใต้หมอนในห้องนอนโดยมิได้ถอดแมกกาซีนออก และมิได้ห้ามปรามมิให้ ด.ช.ซนเข้าไปเพื่อป้องกันเหตุร้าย อันอาจจะเกิดจากอาวุธปืนนั้นย่อมถือว่านายซวยมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล นายซวยจึงเป็นผู้ที่ขาดความระมัดระวังในการดูแลหลานซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้ไร้ความสามารถ ดังนั้น นายซวยจึงต้อง ร่วมกันรับผิดกับ ด.ช.ซนตามมาตรา 430 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 985/2515)

ส่วนกรณีของนายหล่อและนางสวย บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.ซน แม้จะมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอบรม ดูแลว่ากล่าวสั่งสอนบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่ในขณะเกิดเหตุนั้น ด.ช.ซนซึ่งเป็นบุตร ได้อยู่ในความดูแลของนายซวยซึ่งเป็นคุณตา นายหล่อและนางสวยมิได้ปกครองดูแลอยู่ ดังนั้น จะถือว่านายหล่อ และนางสวยขาดความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้นมิได้ นายหล่อและนางสวยจึงไม่ต้อง ร่วมรับผิดกับ ด.ช.ซนในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 429

สรุป

นายเฮงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก ด.ช.ซนและนายซวยได้ แต่จะเรียกร้องจากนายหล่อและนางสวยไม่ได้

 

ข้อ 3 นางแหวนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์สีดําชื่อน้องน้ำหวาน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย วันเกิดเหตุ นางแหวนได้พาน้องน้ำหวานมาเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยมิได้ทําการล่ามโซ่ หรือผูกเชือกไว้แต่อย่างใด น้องน้ำหวานเกิดอาการตื่นคนจึงวิ่งเข้าไปชนนางเพชรจนล้มลงศีรษะกระแทกพื้น เป็นเหตุให้นางเพชรได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟันเฟือนไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป นางเพชรมีบุตรสาวอยู่ 1 คน ชื่อ ด.ญ.พลอย ซึ่งเกิดมาพิการแต่กําเนิดไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ด.ญ.พลอยจึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนางแหวนเจ้าของสุนัข ให้วินิจฉัยว่า นางแหวน จะต้องรับผิดเพื่อละเมิด และต้องใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่ ด.ญ.พลอยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 443 วรรคสาม “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะ ตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแหวนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์สีดําชื่อน้องน้ำหวานซึ่งมีนิสัยดุร้าย ได้พาน้องน้ำหวานมาเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยมิได้ทําการล่ามโซ่ หรือผูกเชือกไว้แต่อย่างใด และน้องน้ำหวานเกิดอาการตื่นคนจึงวิ่งเข้าไปชนนางเพชรจนล้มลงศีรษะกระแทกพื้น เป็นเหตุให้นางเพชร ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟันเฟือนไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไปนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นางเพชรดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ นางแหวนซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์และมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่นางเพชรตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง

ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้น ทายาทของผู้ถูกทําละเมิดจะมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้ อุปการะได้ก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ถูกทําละเมิดจนเสียชีวิตเท่านั้น (ตามมาตรา 443 วรรคสาม) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางเพชรนั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายเท่านั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ดังนั้น ด.ญ.พลอยจึงไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนางแหวนได้

สรุป นางแหวนจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อนางเพชร แต่ไม่ต้องใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่ด.ญ.พลอย

 

ข้อ 4 นายร้อยและนางพันอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายสิบ เมื่อนางพันคลอดเด็กชายสิบแล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย นายร้อยได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสิบตลอดมา นายร้อยยินยอมให้เด็กชายสิบใช้นามสกุล และส่งเสียเด็กชายสิบให้ได้เรียนหนังสือ วันเกิดเหตุ นายเมาขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายร้อยถึงแก่ความตาย ดังนี้ เด็กชายสิบจะเรียกร้อง ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาด ประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมาขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายร้อยถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเมาถือเป็นการทําละเมิดต่อนายร้อยตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายเมาสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายร้อย ดังนั้น นายเมาจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมาคือ เด็กชายสิบจะเรียกร้องค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาได้หรือไม่

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพ จากผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 จากข้อเท็จจริง การที่นายร้อยและนางพันอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายสิบนั้น ถือว่าเด็กชายสิบเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายร้อย แต่เมื่อนายร้อยยินยอมให้ เด็กชายสิบใช้นามสกุลและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ ย่อมถือว่าเด็กชายสิบเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัยแล้ว จึงส่งผลให้เด็กชายสิบเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนายร้อยผู้ตายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1) ดังนั้น เมื่อนายเมาได้ทําละเมิดจนทําให้นายร้อยถึงแก่ความตาย เด็กชายสิบจึงเรียกร้อง ค่าปลงศพจากนายเมาได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายร้อยมิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายสิบผู้เยาว์ นายร้อยจึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสิบซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เด็กชายสิบจึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาตามมาตรา 443 วรรคท้าย

สรุป เด็กชายสิบเรียกร้องค่าปลงศพจากนายเมาได้ แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาไม่ได้

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางบุญปิดป้ายประกาศหน้าบ้านว่า “ห้ามจอดรถขวางทางเข้าบ้าน” วันเกิดเหตุนางศรีขับรถมาจอด บนถนนสาธารณะแต่ขวางทางเข้าบ้านของนางบุญ และล็อคเกียร์ไว้ทําให้ไม่สามารถเคลื่อนรถออกจากที่ได้ นางบุญจึงบีบแตรเสียงดังเป็นเวลาสิบนาทีติดต่อกัน ทําให้นายแสงซึ่งกําลังนอนหลับอยู่บริเวณ ข้างบ้านของนางบุญต้องตื่นและเกิดความไม่พอใจ จึงลุกขึ้นเดินไปบอกนางบุญว่า “จะบีบแตรทําไม หนวกหูน่ารําคาญ เอาขวานนี้ไปจามรถมันเลย” นางบุญกําลังโมโหอยู่ จึงนําขวานนั้นไปจามที่รถของนางศรี ทําให้รถของนางศรีได้รับความเสียหาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครทําละเมิดต่อใครบ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

มาตรา 449 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ ค่าสินไหมทดแทนไม่”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน” คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่า สิทธิที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทําที่บุคคลผู้กระทํามีสิทธิที่จะกระทําได้ตามกฎหมาย แต่ได้ใช้สิทธินั้นเกิน ส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิด ความรําคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางศรีใช้สิทธิจอดรถบนถนนสาธารณะแต่ขวางทางเข้าบ้านของนางบุญ และล็อคเกียร์ไว้ทําให้ไม่สามารถเคลื่อนรถออกจากที่ได้นั้น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิด ความเสียหายแก่ผู้อื่นซึ่งเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421 แล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

เนื่องจากรู้อยู่ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงถือว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน และเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ว่าเป็นผู้ผิดละเมิด จึงต้องรับผิดต่อนางบุญ

การที่นางบุญใช้ขวานจามไปที่รถของนางศรีนั้น ถือว่าเป็นการกระทําโดยจงใจเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนางศรี จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 และนางบุญจะอ้างว่าเป็น การป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 วรรคหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ และได้กระทําไปเกินสมควรแก่เหตุ

ส่วนนายแสงซึ่งได้บอกกับนางบุญว่า “จะบีบแตรทําไม หนวกหูน่ารําคาญ เอาขวานนี้ไปจามรถมันเลย” ทําให้นางบุญซึ่งกําลังโมโหอยู่ จึงนําขวานไปตามที่รถของนางศรีนั้น ถือว่านายแสงเป็นผู้ยุยงให้นางบุญ กระทําละเมิดต่อนางศรีตามมาตรา 432 วรรคสอง จึงต้องร่วมกันรับผิดกับนางศรีตามมาตรา 432 วรรคหนึ่ง

สรุป นางศรีได้กระทําละเมิดต่อนางบุญตามมาตรา 421 ประกอบมาตรา 420 นางบุญได้กระทําละเมิดต่อนางศรีตามมาตรา 420 นายแสงได้กระทําละเมิดร่วมกับนางบุญต่อนางศรีตามมาตรา 432

 

ข้อ 2 จากเหตุการณ์ในข้อ 1 หากปรากฏว่านางบุญนํารถออกจากบ้านไม่ได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถพา นายหยก (อายุ 15 ปี) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนที่กําลังป่วยหนักอยู่นั้นไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ทันเวลา และในเวลานั้นก็ไม่สามารถหารถรับจ้างไปส่งได้ นายหยกจึงได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านางบุญจะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของนายหยกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย”

มาตรา 1598/29 “การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะ ทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการรับบุตรบุญธรรมนั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับ การปลงศพนั้น จะต้องเป็นทายาทของผู้ตายและเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 จากเหตุการณ์ในข้อ 1 แม้การกระทําของนางศรีจะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน และการกระทําดังกล่าวเป็นเหตุให้นายหยกซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนางบุญถึงแก่ความตายเพราะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลไม่ทันนั้น นางบุญซึ่งเป็นผู้รับบุตรธรรมก็จะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของ นายหยกจากนางศรีไม่ได้ เพราะนางบุญมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (มาตรา 1598/29)

สรุป นางบุญจะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพของนายหยกไม่ได้

 

ข้อ 3 นายหมื่นได้จดทะเบียนรับ ด.ญ.จันทร์ไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุ นายหมื่นถูกนายเถื่อน อายุ 17 ปี ยิงเข้าที่กลางอกจนถึงแก่ความตาย นายเถื่อนเป็นบุตรนอกสมรสของนายโหด นายโหดก็ทราบว่าบุตรชายของตนมีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจําแต่ก็ไม่เคย ว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปราม ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดต่อความตายของนายหมื่นบ้าง และ ด.ญ.จันทร์สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเถื่อนอายุ 17 ปี ใช้ปืนยิงนายหมื่นถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเถื่อนถือเป็นการทําละเมิดต่อนายหมื่นตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดย ผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายต่อชีวิต ดังนั้น นายเถื่อนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สําหรับนายโหดนั้น แม้นายโหดจะเป็นบิดานอกกฎหมายของนายเถื่อนซึ่งเป็นผู้เยาว์ จะไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายเถื่อนตามมาตรา 429 ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามถือว่านายโหดเป็นผู้ดูแลนายเถื่อนตามความเป็นจริง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายโหดมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเนื่องจากนายโหดทราบอยู่แล้วว่าบุตรชายของตนมีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจํา แต่ก็ไม่เคยว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปรามนายเถื่อนเลย

ดังนั้น นายโหดจึงต้องร่วมกันรับผิดกับนายเถื่อนในผลแห่งละเมิดที่นายเถื่อนได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา 430

ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้น ตามมาตรา 443 วรรคท้ายได้กําหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว ซึ่งในกรณีของ ด.ญ.จันทร์นั้น เมื่อนายหมื่นได้จดทะเบียนรับ ด.ญ.จันทร์ไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย

และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28 วรรคท้าย ได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพ 5 มาใช้บังคับระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย กล่าวคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู บุตรบุญธรรมตามมาตรา 1564 ประกอบมาตรา 1598/28 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อนายหมื่นถูกกระทําละเมิด ถึงแก่ความตาย ด.ญ.จันทร์ ย่อมขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ด.ญ.จันทร์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา 443 วรรคท้าย

สรุป นายเถื่อนและนายโหดต้องร่วมกันรับผิดต่อความตายของนายหมื่น และ ด.ญ.จันทร์สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

 

ข้อ 4 นายปรีชาและนางเพ้อฝันเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันสองคนคือนางสาวแจง อายุ 21 ปี และนายเท่ง อายุ 18 ปี แต่นางสาวแจงนั้นพิการทางสมองมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต่อมานายปรีชาและนางเพ้อฝันหย่าขาดจากกัน นายเจริญสงสารจึงได้จดทะเบียนรับ นางสาวแจงไปเป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย วันเกิดเหตุนายเอี่ยมได้ขับรถบรรทุก ไปส่งของที่จังหวัดนครสวรรค์ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทําให้นายเอี่ยมขับรถไปชนนายปรีชา และนายเจริญที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วยกันถึงแก่ความตาย และรถบรรทุกยังได้เสียหลักไปชน บริเวณที่นายแหลมผูกวัวซึ่งเช่ามาจากนางบ้าบิ่น ทําให้เชือกที่ผูกวัวเอาไว้ขาด วัววิ่งหนีเตลิดเข้าไปในไร่ข้าวโพดของนางบ้าบิ่นจนข้าวโพดในไร่ล้มเสียหาย นางบ้าบิ่นจึงได้จับวัวดังกล่าวไว้เพื่อยึดไว้เป็นประกันในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแหลมในความเสียหายที่เกิดขึ้น จงวินิจฉัยว่า

(1) ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยม

(2) นายแหลมต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้น ทําละเมิดจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 452 วรรคหนึ่ง “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจําเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทําได้”

วินิจฉัย

1 กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอี่ยมได้ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายปรีชา และนายเจริญถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเอี่ยมเป็นการทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทํา โดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายเอี่ยมสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายปรีชาและนายเจริญ นายเอี่ยมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

สําหรับประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ ใครบ้างที่เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยมนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629

กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพ หาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น

(1) ในกรณีความตายของนายปรีชา ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ คือนางสาวแจงและนายเท่งซึ่งเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ส่วนผู้มีสิทธิเรียก ค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงซึ่งเป็นบุตรที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ และนายเท่งซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์

(2) ในกรณีความตายของนายเจริญ ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพ คือนางสาวแจงซึ่งเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกของนายเจริญตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627

ส่วนผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะคือนางสาวแจงซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้

2 การที่รถบรรทุกที่นายเอี่ยมขับได้เสียหลักไปชนบริเวณที่นายแหลมผูกวัวซึ่งเช่ามาจาก นางบ้าบิน ทําให้เชือกที่ผูกวัวเอาไว้ขาด และวัวได้วิ่งเข้าไปในไร่ข้าวโพดของนางบ้าบิ่นจนข้าวโพดในไร่ล้มเสียหายและนางบ้าบินได้จับวัวไว้เพื่อยึดไว้เป็นประกันในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแหลมในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น นายแหลมไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่น เนื่องจากไม่ต้องด้วยมาตรา 452 วรรคหนึ่ง เพราะวัวซึ่งเป็นสัตว์ที่เข้ามาทําความเสียหายแก่ไร่ข้าวโพดของนางบ้าบินนั้นไม่ใช่สัตว์ของผู้อื่นแต่เป็นสัตว์ของนางบ้าบิ่นเอง อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากการทําละเมิดของนายแหลมแต่อย่างใด

สรุป

1 ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากนายเอี่ยม ในกรณีความตายของนายปรีชาคือนางสาวแจง และนายเก่ง ส่วนในกรณีความตายของนายเจริญคือนางสาวแจง

ผู้มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายเอี่ยม ในกรณีความตายของนายปรีชาคือ นางสาวแจงและนายเท่ง ส่วนในกรณีความตายของนายเจริญคือนางสาวแจง

2 นายแหลมไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางบ้าบิ่น

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2102 (LAW 2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่า อังคารเป็นเจ้าหนี้ สัญญาเช่ากําหนดให้จันทร์ชําระค่าเช่าจํานวน เงินสองหมื่นบาทให้แก่อังคารในวันที่ 30 มกราคม 2564 โดยชําระที่บ้านของอังคาร เมื่อถึงกําหนดวันที่ 30 มกราคม 2564 ปรากฏว่าจันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสองหมื่นบาทด้วยเงินสด แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับโดยอ้างว่าไม่สะดวกจะรับ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าอังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ

2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่า และอังคารเป็นเจ้าหนี้ โดยสัญญาเช่า กําหนดให้จันทร์ชําระค่าเช่าเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท ให้แก่อังคารในวันที่ 30 มกราคม 2564 โดยชําระที่บ้านของอังคารนั้น เมื่อถึงกําหนดวันที่ 30 มกราคม 2564 ปรากฏว่าจันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวน 20,000 บาท ด้วยเงินสด ย่อมถือว่าจันทร์ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งแล้ว การที่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับโดยอ้างว่าไม่สะดวกจะรับนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง

สรุป อังคารเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2 จันทร์เช่าปั๊มน้ำมันของอังคารมาดําเนินกิจการ พุธทําละเมิดให้หลังคาปั๊มน้ำมันเสียหาย จันทร์ ได้ใช้ค่าซ่อมแซมจํานวนเงินสองแสนบาทให้แก่อังคารแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียจํานวนสองแสนบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้ มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่ง เป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติความหมายของการรับช่วงสิทธิไว้ แต่เมื่อพิจารณาจาก บทบัญญัติมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 227 แล้ว อาจให้ความหมายของการรับช่วงสิทธิได้ว่า หมายถึงการที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้และมีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้มีผลทําให้บุคคลภายนอกดังกล่าวได้รับสิทธิหรือเข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยอํานาจแห่งกฎหมาย และเมื่อเข้ารับช่วงสิทธิแล้วก็ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ดังนั้น การรับช่วงสิทธิจึงมิได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ (ฎีกาที่ 2766/2551)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เช่าปั๊มน้ำมันของอังคารมาดําเนินกิจการ จันทร์ย่อมเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดา ไม่มีหน้าที่ใดที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า ในกรณีที่พุธได้ทําละเมิดให้หลังคาปั๊มน้ำมันเสียหาย ดังนั้น แม้จันทร์จะได้ใช้ค่าซ่อมแซมจํานวน 200,000 บาท ให้แก่อังคารแล้ว จันทร์ก็ไม่อยู่ในฐานะลูกหนี้ที่จะเข้ารับช่วง สิทธิของอังคารเจ้าของปั๊มน้ำมันที่จะไปเรียกร้องให้พุธรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 227 นั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีนี้คืออังคารเจ้าของปั๊มน้ำมัน

สรุป จันทร์ไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่สามารถเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่า สินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 200,000 บาท ให้แก่ตนได้

 

ข้อ 3 ต้นเป็นหนี้เอกหนึ่งล้านบาท ทรัพย์สินของต้นมีไม่พอชําระหนี้ ต่อมาต้นได้รับมรดกที่ดินมา 10 ไร่ ต้นกลับยกที่ดินดังกล่าวให้กลางและปลาย ซึ่งเป็นน้องของตนโดยเสน่หา กลางและปลายแยกส่วน ของตนได้คนละ 5 ไร่ กลางนําส่วนของตนไปจํานองไก่ ไก่รับจํานองไว้โดยสุจริต ส่วนของปลาย นําเอาไปขายให้ไข่ ไข่รับซื้อไว้โดยรู้ว่ามีหนี้ผูกพันกันอยู่ เอกจะบังคับชําระหนี้เอากับต้นลูกหนี้ ได้อย่างไรบ้าง ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 238 “การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของ บุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่ง ความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านห้ามมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา”

มาตรา 239 “การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ต้นเป็นหนี้เอก 1 ล้านบาท และทรัพย์สินของต้นมีไม่พอชําระหนี้ ต่อมา ต้นได้รับมรดกเป็นที่ดินมา 10 ไร่ ต้นกลับยกที่ดินดังกล่าวให้แก่กลางและปลายซึ่งเป็นน้องของตนโดยเสน่หา โดยกลางและปลายแยกส่วนของตนได้คนละ 5 ไร่นั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ต้นลูกหนี้ได้ทํานิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน และทําให้เจ้าหนี้คือเอกเสียเปรียบเนื่องจากต้นไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว อีกทั้งเป็นนิติกรรมการให้ โดยเสน่หา ดังนั้น เอกเจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 แต่เอกจะต้องฟ้องต้นลูกหนี้รวมทั้งกลางและปลายผู้ได้ลาภงอกเป็นจําเลยร่วมกันด้วย และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ได้ลาภงอกได้ทํานิติกรรมหรือโอนทรัพย์ไปยังบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งกรณีนี้คือไก่และไข่ ดังนั้น เอกจึงต้องฟ้องไก่และไข่เข้ามาเป็นจําเลยร่วมด้วยตามมาตรา 238

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เอกจะมีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ได้ก็ตาม แต่การเพิกถอน ดังกล่าวจะไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของไก่ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจํานองที่ดินจากกลางโดยสุจริตก่อนฟ้องคดีขอเพิกถอนตามมาตรา 238 ดังนั้น เมื่อมีการเพิกถอนย่อมมีผลทําให้ที่ดินกลับมาเป็นของต้นโดยติดภาระจํานองมาด้วย ส่วนการที่ปลายนําที่ดินไปขายต่อให้ไข่ และไข่ซื้อไว้โดยรู้ว่ามีหนี้ผูกพันอยู่ จึงถือว่าไข่ได้รับทรัพย์สินมา โดยไม่สุจริต เมื่อมีการเพิกถอนทําให้ที่ดินกลับมาเป็นของต้น ทําให้เอกเจ้าหนี้สามารถขอบังคับชําระหนี้เอากับที่ดินของต้นต่อไปได้ตามมาตรา 239

สรุป เอกจะบังคับชําระหนี้เอากับต้นได้โดยการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉล (นิติกรรมการให้) เพื่อให้ทรัพย์สิน (ที่ดิน) กลับมาเป็นของต้นลูกหนี้ และขอบังคับชําระหนี้เอากับที่ดินดังกล่าวต่อไป

 

ข้อ 4 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์มือสองจากเต็นท์รถยนต์ของนายเม้งในราคา 300,000 บาท โดยนายหล่อและนางสวยได้ตกลงเลือกรถยนต์ ฮอนด้าซีวิค สีดํา รุ่นปี 2018 เลขทะเบียน กก 2244 จากรถยนต์มือสองสภาพดีกว่า 500 คัน ตกลง ส่งมอบรถยนต์วันที่ 7 มกราคม 2565 ตามฤกษ์ที่หมอดูชื่อดังแนะนํา โดยไม่ได้มีการกําหนดสถานที่ส่งมอบไว้แต่อย่างใด พร้อมกับที่นายหล่อและนางสวยจะได้ชําระราคารถยนต์ทั้งหมดให้กับนายเม้งในการซื้อรถยนต์ดังกล่าวนั้นนายหล่อและนางสวยได้ทําข้อตกลงระหว่างกันเองไว้ว่านางสวยไม่ต้อง รับผิดแต่อย่างใดเลยในหนี้จํานวนนี้ เมื่อถึงกําหนดนัด นายเม้งได้แจ้งให้นางสวยมารับรถยนต์ คันดังกล่าวที่เต็นท์รถยนต์ของนายเม้งพร้อมชําระราคาค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตน นางสวยปฏิเสธอ้างว่านายเม้งจะต้องนํารถยนต์คันดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่ตนและนายหล่อที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันตามที่อยู่ซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญา อีกทั้งนางสวยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ในหนี้ค่ารถยนต์จํานวน 300,000 บาท เนื่องจากได้ทําข้อตกลงไว้กับนายหล่อตั้งแต่ต้นว่านางสวย ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดเลยในหนี้จํานวนนี้ นายเม้งจึงต้องทวงถามค่ารถยนต์ค้างชําระจากนายหล่อ เท่านั้น ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า

(ก) นายเม้งจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ สถานที่ใด

(ข) นายเม้งมีสิทธิเรียกร้องให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 324 “เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชําระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชําระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชําระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์มือสองจาก เต็นท์รถยนต์ของนายเม้งในราคา 300,000 บาท โดยตกลงส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 7 มกราคม 2565 โดยไม่ได้ มีการกําหนดสถานที่ส่งมอบไว้แต่อย่างใดนั้น เมื่อนายเม้งผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้กับนายหล่อและนางสวยผู้ซื้อ นายเม้งจึงต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ เต็นท์รถยนต์ของ นายเม้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้นั้น ตามมาตรา 324

(ข) เมื่อนายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายเม้ง นายหล่อ และนางสวยจึงตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมโดยต้องร่วมกันรับผิดในค่ารถยนต์จํานวน 300,000 บาท โดยนายเม้งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้นายหล่อและนางสวยลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งรับผิดชําระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือโดยส่วนก็ได้ ตามแต่ละเลือกตามมาตรา 291 และแม้ว่านายหล่อและนางสวยลูกหนี้ร่วมจะได้ทําข้อตกลงระหว่างกันเองว่า นางสวยจะไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด ๆ เลยในหนี้จํานวนนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้ได้ ดังนั้น นายเม้งเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้

สรุป

(ก) นายเม้งจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ เต็นท์รถยนต์ของนายเม้ง

(ข) นายเม้งมีสิทธิเรียกให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายกิตติทําสัญญาจ้างนายธรรม ซึ่งมีอาชีพทนายความ เพื่อฟ้อง นายพฤกษ์ให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาท แก่นายกิตติ โดยตกลงว่าจะชําระค่าจ้างทั้งหมด จํานวน 50,000 บาท ในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษา ต่อมานายธรรมก็ดําเนินการฟ้องคดีและสืบพยานจนคดีเสร็จการพิจารณาและศาลชั้นต้นนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เมื่อถึงวันนัดฟังคําพิพากษา นายธรรมไปฟังคําพิพากษา ส่วนนายกิตติไม่ไป ปรากฏว่าศาลชั้นต้น มีคําพิพากษาให้นายกิตติชนะคดี หลังจากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายธรรมได้แจ้งผลคดีให้ นายกิตติทราบและขอให้ชําระค่าจ้าง แต่นายกิตติก็ไม่ยอมชําระเงิน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายกิตติ ต้องรับผิดชําระค่าจ้างและต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรมหรือไม่ นับตั้งแต่เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติทําสัญญาจ้างนายธรรม ซึ่งมีอาชีพทนายความ เพื่อฟ้องนายพฤกษ์ ให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาท แก่นายกิตติ โดยตกลงว่าจะชําระค่าจ้างทั้งหมดจํานวน 50,000 บาท ในวันที่ ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษานั้น ข้อตกลงที่กําหนดว่าจะชําระค่าจ้างในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษานั้น ถือเป็น หนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระแต่มิใช่กําหนดเวลาชําระตามวันแห่งปฏิทินที่คู่สัญญาจะรู้ได้เลยในขณะตกลงกันว่าหมายถึงวันใดตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้น นายกิตติจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ และนายธรรม เจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนแล้ว

ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคําพิพากษาให้นายกิตติชนะคดีในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และนายธรรม ได้แจ้งผลคดีให้นายกิตติทราบ และขอให้ชําระค่าจ้างในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่นายกิตติไม่ยอมชําระเงิน กรณีนี้ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวได้ถึงกําหนดชําระแล้ว และเจ้าหนี้ได้เตือนให้ลูกหนี้ชําระหนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อ นายกิตติลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ จึงถือว่านายกิตติตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเข้าเตือนแล้ว ตามมาตรา 203 วรรคสอง ประกอบมาตรา 204 วรรคหนึ่ง นายกิตติจึงต้องรับผิดชําระค่าจ้าง และต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรม ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

สรุป นายกิตติต้องรับผิดชําระค่าจ้าง และต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรมตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

 

ข้อ 2 นายทะเลได้ยืมรถยนต์ของนายรวยเพื่อขับไปทํางานเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน หลังจากยืมได้เพียง หนึ่งสัปดาห์ นายมึนได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่นายทะเลยืมมา เป็นเหตุให้กระโปรงท้ายและไฟท้ายของรถยนต์เสียหาย นายทะเลรีบนํารถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมให้เรียบร้อยก่อนจะส่งคืนให้แก่นายรวยตามสัญญา เสียค่าซ่อมไปจํานวน 30,000 บาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายทะเลจะสามารถเรียกเงินค่าซ่อมคืนจากนายมึนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้ มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติความหมายของการรับช่วงสิทธิไว้ แต่เมื่อพิจารณาจาก บทบัญญัติมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 227 แล้ว อาจให้ความหมายของการรับช่วงสิทธิได้ว่า หมายถึง การที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้และมีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้ มีผลทําให้บุคคลภายนอกดังกล่าวได้รับสิทธิหรือเข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยอํานาจแห่งกฎหมาย และเมื่อเข้ารับช่วงสิทธิแล้วก็ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

ดังนั้น การรับช่วงสิทธิจึงมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ (ฎีกาที่ 2766/2551)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลได้ยืมรถยนต์ของนายรวยเพื่อขับไปทํางานเป็นระยะเวลา หนึ่งเดือนนั้น การยืมรถยนต์ดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูป ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมก็ต่อเมื่อผู้ยืมได้เอาทรัพย์ ที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไป ให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 643) แต่ตามข้อเท็จจริง นายทะเล ซึ่งเป็นเพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชน ไม่ได้เป็นเจ้าของรถและไม่ปรากฏเหตุใด ๆ ที่นายทะเลผู้ยืมจะต้องรับผิด นายทะเล ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายรวย ดังนั้น แม้ว่านายทะเลจะได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมและเสียค่าซ่อม ไปจํานวน 30,000 บาท นายทะเลก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะไปเรียกร้องให้นายมึน รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 227 นั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิ มีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีนี้คือ นายรวยเจ้าของรถ

สรุป นายทะเลไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่สามารถเรียกเงินค่าซ่อมคืนจากนายมึนได้

 

ข้อ 3 นายมั่งมีให้นายหินและนายปูนกู้ยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาท เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายหินได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวให้แก่นายซ่าในราคา 500,000 บาท ซึ่งนายซ่ารู้อยู่แล้วว่านายหินเป็นหนี้นายมั่งมี ต่อมานายมั่งมีทราบเรื่องจึงต้องการ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว แต่นายหินต่อสู้ว่านายปูนซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีก คนหนึ่งมีทรัพย์สินเพียงพอชําระหนี้ให้แก่นายมั่งมี เนื่องจากนายปูนมีเงินสดจํานวน 300,000 บาท และมีบ้านพร้อมที่ดินรวมมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท นายมั่งมีจึงไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายมั่งมีจะสามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมั่งมีให้นายหินและนายปูนกู้ยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาทนั้น ย่อมถือว่านายหินและนายปูนตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมของนายมั่งมี และนายมั่งมีเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบังคับชําระ หนี้เอาจากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ ตามมาตรา 291

การที่นายหินลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวให้แก่นายซ่าในราคา 500,000 บาท ซึ่งนายซ่ารู้อยู่แล้วว่านายหินเป็นหนี้นายมั่งมี การกระทําของนายหินจึงถือ เป็นการทํานิติกรรมที่นายหินลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นนิติกรรมอันเป็น การฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 ดังนั้น นายมั่งมีเจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างนายหิน กับนายซ่าได้ นายหินจะต่อสู้ว่านายปูนลูกหนี้ร่วมอีกคนมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชําระหนี้ให้แก่นายมั่งมีหาได้ไม่

สรุป นายมั่งมีสามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 237 ประกอบมาตรา 291

 

ข้อ 4 ในวันที่ 1 มกราคม 2564 นายโชคซึ่งเป็นเจ้าของสวนสัตว์ ได้ตกลงซื้อขายช้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ ร่วมกันของนายเมฆและนายหมอก ซึ่งทั้งสองฝ่ายทําถูกต้องตามแบบของกฎหมายทุกประการ โดยมิได้กําหนดเวลาส่งมอบกันไว้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2564 นายโชคได้ทําการทวงถามให้นายเมฆส่งมอบช้างตัวดังกล่าวให้แก่ตน แต่นายเมฆเพิกเฉย ไม่ยอมส่งมอบช้างให้แก่นายโชค โดยนายหมอกไม่ทราบเรื่องการทวงถามดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายเมฆและนายหมอกตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่อง ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”

มาตรา 301 “ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชําระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโชคซึ่งเป็นเจ้าของสวนสัตว์ได้ตกลงซื้อขายช้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ของนายเมฆและนายหมอกนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชําระมิได้ เนื่องจากช้างดังกล่าว เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ซึ่งตามมาตรา 301 ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น นายเมฆและนายหมอกจึงต้องร่วมกันรับผิดในการส่งมอบช้างให้แก่นายโชค และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มิได้มีกําหนดเวลาส่งมอบกันไว้ การที่นายโชคได้ทวงถามให้นายเมฆส่งมอบช้างตัวดังกล่าวให้แก่ตน แต่นายเมฆเพิกเฉยไม่ยอมส่งมอบช้างให้แก่นายโชค ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ทําการเตือนให้นายเมฆลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง ชําระหนี้ เมื่อนายเมฆไม่ชําระหนี้ จึงถือว่านายเมฆลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง)

และโดยหลักแล้ว การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งตกเป็นผู้ผิดนัดย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อคุณและโทษ แต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่สามารถจะแบ่งกันชําระได้ จึงเป็นการขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง ดังนั้น การที่นายเมฆลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตกเป็นผู้ผิดนัด จึงส่งผลถึง ลูกหนี้ร่วมคนอื่นคือนายหมอกด้วย กล่าวคือ ให้ถือว่านายหมอกตกเป็นผู้ผิดนัดด้วยตามมาตรา 295

สรุป นายเมฆและนายหมอกตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์เป็นลูกหนี้อังคารเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินกู้ยืมสองแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 20 มกราคม 2563 เมื่อถึงกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2563 จันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสองแสนบาท โดยวิธีโอนเงินทางโทรศัพท์เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของอังคาร ซึ่งอังคารเองก็ยอมรับว่ามีการโอนเงินจํานวนดังกล่าวเข้าบัญชีของอังคารจริง แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับการชําระหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าว โดยอ้างว่าต้องชําระด้วยเงินสด ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

มาตรา 320 “อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชําระหนี้เป็นอย่างอื่น ผิดไปจากที่จะต้องชําระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ

2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นหนี้เงินกู้ยืมอังคารจํานวน 200,000 บาท และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวน 200,000 บาท โดยขอชําระด้วยวิธีโอนเงินทางโทรศัพท์ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของอังคารนั้น ถือว่าเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชําระให้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ได้ และลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 320

ดังนั้น เมื่อจันทร์ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบ และอังคารเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ โดยมีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง และมาตรา 320 การปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ของอังคาร จึงไม่ทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

สรุป การปฏิเสธไม่รับชําระหนี้ของอังคาร ไม่ทําให้อังคารตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2 บริษัทฯ เป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากรอยู่สองล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็เป็นเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นในมูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบอยู่ร้อยละเจ็ดสิบ แต่กรรมการบริษัทฯ ก็ขัดขืน เพิกเฉย ไม่เรียกเอามูลค่าหุ้นดังกล่าวมาชําระหนี้ภาษี กรมฯ จึงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องบริษัทฯ เป็นจําเลยที่ 1 และใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ ฟ้อง สอง สาม สี่ ห้า หก ผู้ถือหุ้นเป็นจําเลยที่ 2 – 6 ตามลําดับ ขอบังคับเอามูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบมาชําระหนี้ภาษีแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 — 4 ทําสัญญา ประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จําเลยที่ 5 ต่อสู้ว่าเมื่อมีการทําสัญญาประนีประนอมฯ ตนไม่ต้อง รับผิดต่อโจทก์อีก ส่วนจําเลยที่ 6 อ้างว่าตนได้ชําระค่าหุ้นที่ค้างชําระให้กับบริษัทฯไปครบถ้วนแล้ว ตนไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกเช่นกัน ข้อต่อสู้และข้ออ้างของจําเลยที่ 5, 6 ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุ ให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”

ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิ

มาตรา 234 “เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย”

มาตรา 235 “เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจํานวนที่ยังค้างชําระแก่ลูกหนี้ โดย ไม่ต้องคํานึงถึงจํานวนที่ค้างชําระแก่ตนก็ได้ ถ้าจําเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจํานวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชําระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วน จํานวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจํานวนที่ค้างชําระแก่ตนนั้นเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทฯ เป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มกรมสรรพากรอยู่ 2 ล้านบาท และในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็เป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นในมูลค่าหุ้นที่ส่งใช้ยังไม่ครบอยู่ร้อยละ 70 แต่กรรมการบริษัทฯ ก็ขัดขืนเพิกเฉย ไม่เรียกเอามูลค่าหุ้นดังกล่าวมาชําระหนี้ภาษีนั้น การที่กรมสรรพากรใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ ฟ้องจําเลยที่ 2 – 6 นั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของจําเลยที่ 1 ตามมาตรา 233 และการที่โจทก์ได้ฟ้องบริษัทฯ ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นจําเลยที่ 1 ด้วยนั้น ถือว่าเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีแล้วตามมาตรา 234

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลยที่ 1 – 4 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และ จําเลยที่ 5 ต่อสู้ว่าเมื่อมีการทําสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ตนก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกนั้น ข้อต่อสู้ ของจําเลยที่ 5 ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะการประนีประนอมยอมความของโจทก์นั้นไม่ทําให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ จําเลยที่ 1 ที่มีต่อจําเลยที่ 5 ระงับสิ้นไป จําเลยที่ 5 จะหลุดพ้นไม่ต้องชําระหนี้ก็ต่อเมื่อได้ส่งใช้ค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว เท่านั้น ส่วนจําเลยที่ 6 อ้างว่าตนได้ชําระค่าหุ้นที่ค้างชําระให้บริษัท ฯ ครบถ้วนแล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ข้ออ้างของจําเลยที่ 6 จึงฟังขึ้น ตามมาตรา 235

สรุป ข้อต่อสู้ของจําเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้ออ้างของจําเลยที่ 6 ฟังขึ้น

 

ข้อ 3 นายหล่อทําสัญญากู้เงินนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ต่อมาบิดาของนายหล่อซึ่งเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พันล้านประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอย่างกะทันหัน นายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวและเป็นผู้ได้รับ มรดกทั้งหมดของบิดา นายหล่อจึงได้ทําหนังสือปลดหนี้จํานวน 1,000,000 บาท ให้แก่นายโชค คนขับรถเก่าแก่ประจําตระกูล โดยที่นายโชคก็มิได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายหล่อที่มีต่อนายรวย แต่อย่างใด ต่อมาความจริงปรากฏว่า บิดาของนายหล่อได้ทําพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด ให้แก่วัดโดยมีนายโชคลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น ครั้นเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระนายหล่อ ไม่สามารถชําระหนี้ให้แก่นายรวยได้ และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว นอกจากรถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ 500,000 บาท

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายรวยจะสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายหล่อลูกหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายหล่อลูกหนี้ได้หรือไม่ อย่างไรนั้น เห็นว่า การที่นายหล่อลูกหนี้ทําสัญญากู้เงินจากนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 ต่อมาบิดาของนายหล่อเสียชีวิต ซึ่งนายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่า ตนเองเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียว และจะเป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของบิดา จึงได้ทําหนังสือปลดหนี้จํานวน 1,000,000 บาทให้แก่นายโชคนั้น ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ทํานิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินและทําให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบเนื่องจากนายหล่อไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว นอกจากรถยนต์ 1 คัน ราคา 500,000 บาทเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะทํานิติกรรมปลดหนี้ให้แก่นายโชคดังกล่าวนั้น นายหล่อเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองเป็นทายาทเพียงคนเดียว และเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดของบิดา โดย นายหล่อลูกหนี้มิได้รู้ว่านิติกรรมที่ตนเองได้กระทําลงไปนั้น เป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด ดังนั้น นายรวยเจ้าหนี้จึงไม่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้ของนายหล่อตามมาตรา237 ได้

สรุป นายรวยไม่สามารถใช้มาตการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายหล่อลูกหนี้ได้

 

ข้อ 4 นายกิตติ นายรุ่ง และนายเรืองร่วมกันทําสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น เนื้อที่ 120 ตารางเมตร จากนายมั่งมีโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคาร ต่อมานายกิตตินําอาคารบางส่วนไปให้นายพฤกษาเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายมั่งมี ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า นายมั่งมี จึงบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายกิตติ นายรุ่ง และนายเรือง และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคาร ที่เช่า นายกิตติให้การยอมรับว่าให้เช่าช่วงไปจริง ส่วนนายรุ่งและนายเรืองต่อสู้ว่า นายมั่งมีไม่มีสิทธิ เลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ เพราะนายรุ่งกับนายเรืองไม่ได้มีส่วนทําผิดสัญญา

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายรุ่งกับนายเรืองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึง ตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติ นายรุ่ง และนายเรืองร่วมกันทําสัญญาเช่าอาคารตึกแถวสามชั้น จากนายมั่งมีโดยมิได้แบ่งแยกว่าคนใดเช่าส่วนใดของอาคารนั้น ถือได้ว่าทั้งสามคนเป็นผู้เช่าร่วมกัน และเป็นลูกหนี้ ร่วมกันตามมาตรา 291 ต่อมาการที่นายกิตตินําอาคารบางส่วนไปให้นายพฤกษาเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอม จากนายมั่งมี ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่า ทําให้นายมั่งมีบอกเลิกสัญญาเช่านั้น แม้ตามมาตรา 295 จะถือว่าเป็น ข้อความจริงที่ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งและเป็นโทษแก่นายกิตติเพียงคนเดียวก็ตาม แต่เมื่อการเช่ารายนี้ มีสภาพแห่งหนี้ที่มีลักษณะไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครเช่าพื้นที่ส่วนใด จึงย่อมถือได้ว่านายรุ่งและนายเรืองเป็นผู้ผิด สัญญาเช่าด้วย ตามมาตรา 295 วรรคหนึ่งตอนท้าย นายมั่งมีจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่นายรุ่งและนายเรืองได้ ดังนั้น เมื่อนายมั่งมีบอกเลิกสัญญาเช่าต่อนายกิตติ นายรุ่งและนายเรือง และฟ้องขับไล่ทั้งสามคนออกจากอาคารเช่า นายรุ่งและนายเรืองจะต่อสู้ว่านายมั่งมีไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่ โดยอ้างว่าทั้งสองไม่ได้มีส่วนทําผิดสัญญาเช่านั้นไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของนายรุ่งและนายเรืองดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์จะจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมด แล้วจันทร์จะกระทําการส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกําหนด 6 เดือน นับแต่วันทําสัญญา และอังคารจะทําการสร้างอาคารสิบชั้นทันที เมื่อครบกําหนด 6 เดือนตามสัญญา ปรากฏว่าจันทร์ไม่ได้ไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารได้ตามสัญญา แต่อังคารก็ไม่ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่อจันทร์แต่ประการใด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชําระหนี้นั้นจะต้องทําก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทําการอันนั้นภายในเวลากําหนด”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทําการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กําหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ และถือว่า เจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชําระหนี้หรือขอปฏิบัติการชําระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารสิบชั้นในที่ดินของตน โดยมีข้อตกลงกันว่า จันทร์จะต้องจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมด และส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารภายในกําหนด 6 เดือน นับแต่วันทําสัญญานั้น ถือเป็นเรื่องการชําระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชําระหนี้ โดยมีการตกลงกําหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการไว้เป็นที่แน่นอน ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าจันทร์ เจ้าหนี้ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้แก่อังคารได้ตามสัญญา จันทร์เจ้าหนี้ย่อมเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกําหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้หาจําต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่ประการใดไม่

สรุป จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท สัญญากําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันกู้ยืม ปรากฏว่าภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้นมาขอชําระหนี้คืน ให้แก่อังคาร

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า จันทร์มีสิทธิชําระเงินคืนให้แก่อังคารได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 203 ได้วางหลักไว้ว่า ถ้าเวลาในการชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ได้ทันที และลูกหนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะชําระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ได้ทันทีเช่นเดียวกัน (มาตรา 203 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเวลาในการชําระหนี้นั้นได้กําหนดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน แต่กรณีเป็นที่สงสัยว่ากําหนดเวลาดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้หรือฝ่ายเจ้าหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายลูกหนี้ฝ่ายเดียว ซึ่งทําให้เจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ก่อนกําหนดเวลาไม่ได้ แต่ฝ่ายลูกหนี้สามารถชําระหนี้ก่อนกําหนดเวลาได้ (มาตรา 203 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไป 1 ล้านบาท กําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันกู้ยืมนั้น ถือว่าได้มีการกําหนดเวลาในการชําระหนี้ไว้ และกําหนดเวลาดังกล่าวถือว่า เป็นประโยชน์แก่จันทร์ลูกหนี้ ดังนั้น จันทร์ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะชําระหนี้อังคารเจ้าหนี้ก่อนครบกําหนดเวลาได้ คือ จันทร์สามารถชําระเงินคืนให้แก่อังคารก่อนครบกําหนด 1 ปีได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง

สรุป จันทร์มีสิทธิชําระเงินคืนให้แก่อังคารได้

 

ข้อ 3 พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง บ้านหลังนี้มีราคาหนึ่งล้านบาท พุธจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ซึ่งพฤหัสก็รับไว้

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวนหนึ่งล้านบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ โดยผลของกฎหมาย ทําให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ของ การรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้

1 ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

2 ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชําระก่อน

3 ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชําระหนี้กัน ส่งผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ได้ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ทําให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังโดยบ้านหลังนี้มีราคา 1 ล้านบาทนั้น ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ พฤหัสโดยการกระทําของศุกร์ และความเสียหายดังกล่าวพุธซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้อง รับผิดชอบในความเสียหายต่อพฤหัสผู้ให้เช่า ดังนั้น พุธจึงมิใช่ลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 227 การที่พุธได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ก่อให้เกิด การรับช่วงสิทธิใด ๆ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 227 พุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนได้

สรุป

พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนไม่ได้

 

ข้อ 4 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท อังคารมีที่ดินอยู่หนึ่งแปลงราคาประมาณห้าแสนบาท จดจํานองเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้รายนี้ไว้ นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้วไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลย ก่อนที่หนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารจะถึงกําหนดชําระ อังคารได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่พุธโดยเสน่หา โดยพุธรู้เรื่องหนี้สินระหว่างจันทร์กับอังคารเป็นอย่างดี

ดังนี้ จันทร์จะสามารถใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมทรัพย์สินของอังคารได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 702 วรรคสอง “ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงนั้น ไม่ได้ทําให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใดแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อังคารเป็นลูกหนี้จันทร์อยู่ 5 แสนบาท โดยได้นําที่ดินซึ่งอังคารมีอยู่เพียงแปลงเดียวจดทะเบียนจํานองเป็นหลักประกันหนี้รายนี้ไว้ นอกนั้นไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลย และก่อนที่หนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารจะถึงกําหนดชําระ อังคารได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่พุธโดยเสน่หานั้น แม้การทํานิติกรรม การโอนที่ดินให้แก่พุธได้กระทําภายหลังที่อังคารเป็นหนี้จันทร์ โดยที่พุธก็รู้เรื่องหนี้สินระหว่างจันทร์กับอังคาร เป็นอย่างดีก็ตาม แต่การโอนที่ดินที่ติดจํานองไปให้แก่พุธนั้น ภาระจํานองก็ต้องโอนตามไปด้วย โดยพุธผู้รับโอน ก็จะต้องรับภาระจํานองนั้นด้วย และจันทร์ผู้รับจํานองมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 702 วรรคสอง ดังนั้น การที่อังคารได้โอนที่ดินให้แก่พุธจึงมิใช่การทํานิติกรรมที่จะทําให้เจ้าหนี้คืออังคารเสียเปรียบแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จันทร์จะใช้มาตรการ ทางกฎหมายเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธไม่ได้

สรุป จันทร์จะใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ ไม่ได้

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สัญญากําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปี ปรากฏว่าภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย 2 เดือน มาขอชําระหนี้คืนให้แก่อังคาร แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับเงินต้นคืน โดยอ้างว่ายังไม่ครบ 1 ปี อังคารต้องการดอกเบี้ยครบ 1 ปี ให้วินิจฉัยว่า อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 192 วรรคสอง “ถ้าเงื่อนเวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้

หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น”

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ

2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปี โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 2 เดือนมาขอชําระหนี้ให้แก่อังคาร แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับเงินต้นคืนโดยอ้างว่ายังไม่ครบ 1 ปี อังคารต้องการ ดอกเบี้ยครบ 1 ปีนั้น แม้การกระทําของจันทร์จะเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 207 และ มาตรา 203 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของจันทร์โดยการขอชําระหนี้ก่อนครบกําหนด 1 ปี โดยการขอชําระดอกเบี้ยเพียง 2 เดือนนั้น ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่กระทบกระเทือน ถึงประโยชน์ของอังคารเจ้าหนี้ที่จะพึงได้รับดอกเบี้ยจากเงื่อนเวลา 1 ปีนั้นตามมาตรา 192 วรรคสอง ดังนั้น การที่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับชําระหนี้ การปฏิเสธของอังคารจึงถือว่ามีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารจึง ไม่ตกเป็นผู้ผิดนั้นตามมาตรา 207

สรุป อังคารไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 นางลําไยมารดาของเด็กหญิงสละได้ทําหนังสือสัญญาจะขายที่ดินของเด็กหญิงสละให้แก่นายปอง ตกลงจดทะเบียนโอนและชําระราคาที่ดินทั้งหมดในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถ้านางลําไยจดทะเบียนโอนขายไม่ได้ยอมให้นายปองปรับ 100,000 บาท ขณะตกลงจะซื้อขายกันนายปองซึ่งมีอาชีพทนายความทราบดีว่าที่ดินเป็นของบุตรผู้เยาว์ของ นางลําไย การจดทะเบียนโอนขายที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน นายปองและนางลําไย จึงตกลงกันด้วยวาจาว่า นางลําไยจะต้องไปยื่นคําร้องขออนุญาตขายที่ดินต่อศาล วันที่ 25 มกราคม 2562 นางลําไยยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขออนุญาตขายที่ดินของเด็กหญิงสละให้นายปอง นางลําไย แถลงถึงเหตุผล ความจําเป็นและความเหมาะสมที่จะขายที่ดินแปลงนี้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อศาลชั้นต้น ไต่สวนแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ขาย คดีถึงที่สุด นายปองจึงฟ้องนางลําไยต่อศาลชั้นต้นฐานผิดสัญญา จะซื้อขายเรียกเบี้ยปรับ 100,000 บาทตามสัญญา ให้วินิจฉัยว่า นางลําไยต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางลําไยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงสละได้ทําหนังสือสัญญา จะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กหญิงสละให้แก่นายปองในวันที่ 11 มกราคม 2562 และได้กําหนดวันจดทะเบียนและ ชําระราคาที่ดินกันในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ตกลงซื้อขายที่ดินกัน นายปอง ซึ่งมีอาชีพทนายความทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของเด็กหญิงสละบุตรผู้เยาว์ของนางลําไย ซึ่งตามกฎหมาย เกี่ยวกับผู้เยาว์จะต้องมีคําสั่งศาลอนุญาตให้ขายได้เสียก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ นายปองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงตามปัญหาก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่นางลําไยนําเข้าไต่สวนในคดีดังกล่าวนั้นว่า นางลําไยจงใจจะให้ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนขายที่ดินให้แก่นายปองแต่อย่างใด การที่ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นไปตามดุลพินิจของศาล ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ เป็นพ้นวิสัย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และเป็นพฤติการณ์ที่นางลําไยไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นางลําไย จึงหลุดพ้นจากการชําระหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง และไม่ถือว่านางลําไยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินต่อนายปอง ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายปองแต่อย่างใด

สรุป นางลําไยไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายปอง

 

ข้อ 3 นายอารีย์หลงรักนางสาวแสนดี ในวันที่ 10 มกราคม 2558 นายอารีย์จึงได้ทําสัญญาให้นางสาวแสนดี กู้ยืมเงินไป 500,000 บาท โดยมิได้มีการกําหนดเวลาชําระหนี้ลงไว้ และได้ทําสัญญายกรถยนต์ ของตนให้นางสาวแสนดีโดยเสน่หาด้วย นอกจากรถยนต์คันดังกล่าวนายอารีย์มีทรัพย์สินอีกเพียง ชิ้นเดียวคือพระเครื่อง 1 องค์ ราคาประมาณ 500,000 บาท ต่อมานายอารีย์กิจการค้าขายขาดทุน จึงได้ไปทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 1,000,000 บาท จากนายรวยเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กําหนด ชําระคืนในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ก่อนหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นางสาวแสนดีได้แวะมาเยี่ยม นายอารีย์และได้เล่าถึงความทุกข์ยากของตนให้นายอารีย์ฟัง ด้วยความสงสารนายอารีย์จึงได้ทําหนังสือปลดหนี้เงินกู้จํานวน 500,000 บาทให้แก่นางสาวแสนดี โดยที่นางสาวแสนดีก็มิได้รู้ถึง ภาระหนี้สินของนายอารีย์ที่มีต่อนายรวยแต่อย่างใด เมื่อนายรวยทราบเรื่องจึงโกรธมากที่นายอารีย์ ยกทรัพย์สินให้นางสาวแสนดีจนเกือบหมดตัว

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายอารีย์ลูกหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักฐานประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้

ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายอารีย์ลูกหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่นายอารีย์ได้ทําสัญญาให้นางสาวแสนดีกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท ในวันที่ 10 มกราคม 2558 แล้วต่อมานายอารีย์ได้ไปทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 แต่ก่อนหนี้เงินกู้กับนายรวยจะถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นายอารีย์ได้ทําหนังสือปลดหนี้เงินกู้ จํานวน 500,000 บาทให้แก่นางสาวแสนดีนั้น แม้นางสาวแสนดีจะมิได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายอารีย์ที่มีต่อ นายรวยแต่อย่างใดก็ตาม แต่การทํานิติกรรมปลดหนี้ของนายอารีย์ดังกล่าว ถือเป็นการทํานิติกรรมทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้คือนายรวยเสียเปรียบ เนื่องจากนายอารีย์มีทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียวคือพระเครื่อง 1 องค์ ราคาประมาณ 500,000 บาท อีกทั้งการปลดหนี้ดังกล่าวนั้นเป็นการแสดงเจตนาระงับสิทธิเรียกร้อง โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือโดยเสน่หา ดังนั้น เพียงนายอารีย์รู้ว่าทําให้นายรวยเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านี้ก็พอที่จะ ทําให้นายรวยเพิกถอนได้แล้วตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง

2 การที่นายอารีย์ได้ทําสัญญายกรถยนต์ของตนให้แก่นางสาวแสนดีโดยเสน่หาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 นั้น เป็นการกระทําลงก่อนที่นายอารีย์จะได้ก่อหนี้กับนายรวย จึงไม่ถือว่าเป็นการที่นายอารีย์ ได้กระทําลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถือว่าเป็นการฉ้อฉล ดังนั้น

นายรวยจะใช้มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอารีย์โดยการเพิกถอนนิติกรรมให้ดังกล่าวไม่ได้

สรุป นายรวยสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอารีย์ลูกหนี้ได้โดยการเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้แก่นางสาวแสนดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

ข้อ 4 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 นายหินขับรถยนต์ที่ทําประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์ของนายทะเลได้รับความเสียหาย ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 นายทะเลยื่นฟ้องนายหินให้รับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดและให้บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต่อมาบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ให้การต่อสู้ว่า แม้สัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อนายทะเลฟ้องนายหินเกิน 1 ปีนับแต่วันละเมิดและรู้ตัวผู้กระทําละเมิดฟ้องของนายทะเล ในส่วนของนายหินจึงขาดอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้การฟ้องในส่วนของ บริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมขาดอายุความด้วยเช่นกัน บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่อง ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหินได้ขับรถยนต์ที่ทําประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์ของนายทะเลได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 และต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 นายทะเลได้ยื่นฟ้องนายหินให้รับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดและให้บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้น เมื่อกรณีที่นายหินจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ทําละเมิดมีอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตาม สัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า อายุความในส่วนของนายหิน และของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด สามารถแยกออกจากกันได้

และเมื่อตามมาตรา 295 ได้บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การที่นายทะเลฟ้องร้องไห้นายหินรับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปีนั้น ย่อมเป็นคุณเฉพาะ แต่นายหิน ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้บริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยแต่อย่างใด และคดีนี้เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 และนายทะเลฟ้องบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เป็นการฟ้องภายในเวลา 2 ปีนับแต่ วันวินาศภัย การฟ้องบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด จึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายทะเล ดังนั้น ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ที่ว่าเมื่อฟ้องในส่วนของนายหินขาดอายุความย่อมส่งผลให้การฟ้องในส่วนของบริษัทฯ ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมขาดอายุความด้วยเช่นกัน บริษัทฯ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายทะเลนั้น จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายหมอกโดยมีคําพิพากษาถึงที่สุดของแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา นายหมอกรีบทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายฟ้า โดยนายฟ้าไม่รู้ว่าศาลพิพากษาให้นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว นายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินให้นายหมอกไม่ครบ เพิ่งจ่ายแค่ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะจ่ายให้หมดภายใน 6 เดือนหลังวันโอน ต่อมานายฟ้าจะเข้าไปทําประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมา ก็พบว่านายเมฆปลูกบ้านและทําสวนอยู่ในที่ดินแปลงนี้แล้ว นายเมฆและนายฟ้าต่างก็อ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ แต่นายเมฆ โต้แย้งว่านายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินไม่ครบ ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายเมฆ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายเมฆกับนายฟ้าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากันเพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายหมอกโดยมีคําพิพากษา ถึงที่สุดของศาลนั้น ถือว่านายเมฆเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายเมฆยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายเมฆจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายเมฆจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่นายเมฆยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น นายหมอกได้ทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายฟ้า ซึ่งนายฟ้าได้ซื้อที่ดินจากนายหมอกโดยไม่รู้ว่าศาลพิพากษาให้นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว ย่อมถือว่านายฟ้าได้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริต และแม้ว่านายฟ้าจะได้จ่ายค่าที่ดินให้นายหมอกเพียงแค่ครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หมดภายใน 6 เดือนหลังจากวันโอนก็ตาม

ก็ถือว่านายฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทรัพย์สินมาโดยเสียค่าตอบแทนแล้ว ดังนั้น การที่นายเมฆโต้แย้งว่านายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินไม่ครบย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายเมฆนั้น ข้อโต้แย้งของนายเมฆจึงฟังไม่ขึ้น นายฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิ โดยสุจริตแล้ว จึงมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเมฆ

สรุป นายฟ้ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเมฆ

 

ข้อ 2 นายวุฒิซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดในราคาสองแสนบาทโดยไม่รู้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวนั้น ห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดเช่าซื้อจากบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด ซึ่งชําระราคาเช่าซื้อได้เพียง 10 งวด ยังค้างชําระราคาเช่าซื้ออีก 30 งวด หลังจากนั้นห้างหุ้นส่วน ประชากรจํากัดได้ปิดกิจการลง บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดต้องการติดตามยึดรถยนต์คืนจากนายวุฒิ

ดังนี้ ระหว่างนายวุฒิกับบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะมีสิทธิเรียกร้องใดๆ ต่อกันได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง จะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวุฒิซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัด ในราคา 2 แสนบาท โดยไม่รู้ว่ารถยนต์ดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนฯ เช่าซื้อจากบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด ซึ่งชําระราคา เช่าซื้อได้เพียง 10 งวด ยังค้างชําระราคาเขาซื้ออีก 30 งวดนั้น เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดยังชําระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ดังนั้น บริษัทซุปเปอร์คาร์ จํากัด ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของตน (รถยนต์) คืนจากนายวุฒิได้ตามมาตรา 1336

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายวุฒิได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวโดยสุจริตจากการขาย ทอดตลาด ดังนั้น นายวุฒิจึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1332 กล่าวคือ นายวุฒิไม่จําต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าว ให้แก่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะชดใช้ราคาที่นายวุฒิซื้อมาคือ 2 แสนบาท

สรุป แม้บริษัทซุปเปอร์คาร์ จํากัดซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงจะมีสิทธิติดตามเอารถยนต์คืนจาก นายวุฒิ แต่นายวุฒิก็ไม่จําต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าว เว้นแต่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะชดใช้ราคาที่นายวุฒิซื้อมาคือ 2 แสนบาท

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นายเอกและนายโทได้ตกลงเข้าทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ที่ดินมีเนื้อที่ 10 ไร่ ตกลงราคา 500,000 บาท ด้วยการที่นายเอกและนายโทเข้าใจว่าที่ดิน แปลงดังกล่าวเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า (น.ส. 3) ไม่ใช่ที่ดินที่มีโฉนดมีกรรมสิทธิ์ สัญญาซื้อขายที่ดิน ระหว่างนายเอกและนายโทจึงทําขึ้นเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับ แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้แต่อย่างใด แต่เมื่อนายเอกได้ส่งมอบที่ดินให้นายโทในวันที่ 12 มกราคม 2555 แล้ว นายโทได้เข้าทําประโยชน์ในที่ดินด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสพร้อมได้แสดงอาณาเขตแห่งการยึดถือที่ดินต่อบุคคลทั่วไปด้วยการล้อมรั้วลวดหนามตลอดแนวเขตที่ดิน

อยากทราบว่านายโทได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”

มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง”

มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทําได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า (น.ส.3) โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ และเมื่อที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินมือเปล่า (น.ส.3) นายเอกจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนายเอกได้ส่งมอบที่ดินให้นายโทแล้ว การครอบครองที่ดินของนายเอกจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1377 วรรคหนึ่ง เพราะถือว่านายเอกได้สละเจตนา ครอบครองและไม่ได้ยึดถือที่ดินนั้นต่อไปแล้ว และเมื่อนายโทได้เข้าครอบครองที่ดินโดยการโอนการครอบครอง และส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองจากนายเอกตามมาตรา 1378 และเข้ายึดถือทําประโยชน์เพื่อตนตามมาตรา 1367 โดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินที่ครอบครองพร้อมแสดงอาณาเขตแห่งการยึดถือครอบครองต่อบุคคลทั่วไป ด้วยการล้อมรั้วลวดหนามตลอดแนวเขตที่ดินแล้ว ถือว่านายโทได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินนั้นตา ความเป็นจริง ดังนั้น นายโทย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง

สรุป นายโทได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว

 

ข้อ 4 นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกัน ที่ดินของนายหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศ ตะวันตก ส่วนที่ดินของนายสองตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงติดถนนสาธารณะ ที่ดินของนายหนึ่งบริเวณซึ่งติดกับที่ดินของนายสองมีทางภาระจํายอมที่นายหนึ่งยินยอมให้นายสามผ่านเข้าออกไปยังที่ดินของนายสามซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินนายหนึ่งได้ โดยต้องเสียเงินให้แก่นายหนึ่งเป็นรายปี ปีละ 10,000 บาท เมื่อปี 2554 นายสองได้เปิดร้านขายไม้ด่างมงคล ทุกเช้านายสองให้ลูกจ้างนํากระถางไม้ด่างวางล้ำเข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งประมาณ 1 เมตร ในทางซึ่งกว้าง 4 เมตรที่นายหนึ่งยอมให้นายสามผ่านเข้าออกอย่างภาระจํายอม และจะนํากระถางไม้ด่างเก็บเข้าร้านตอนเย็น โดยนายสองไม่ได้รับความยินยอมจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่ง ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน เมื่อปี 2565 นายสามย้ายออกจากที่ดินไป เป็นเหตุให้นายหนึ่งขาดรายได้ปีละ 10,000 บาท นายหนึ่งจึงเรียกให้นายสองจ่ายค่าตอบแทนจากการที่นายสองได้รับประโยชน์บนทาง ด้วยการนําสินค้าของตนมาวางขาย แต่นายสองกลับปฏิเสธ อ้างว่าตนได้ภาระจํายอมโดยอายุความ ในที่ดินของนายหนึ่งแล้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอม อาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

โดยหลัก การได้ภาระจํายอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ (เจตนาปรปักษ์) และครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจํายอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่า สามยทรัพย์เท่านั้นตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกัน นานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทําให้เกิดภาระจํายอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกัน เมื่อปี 2554 นายสองได้เปิดร้านขายไม้ด่างมงคล โดยทุกเช้านายสองจะให้ลูกจ้างนํากระถางไม้ด่างวางล้ำเข้าไปในที่ดินของ นายหนึ่งประมาณ 1 เมตร ในทางซึ่งกว้าง 4 เมตร และจะนํากระถางไม้ต่างเก็บเข้าร้านตอนเย็น โดยนายสองไม่ได้รับความยินยอมจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่งก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายสองเป็นเจ้าของที่ดินและได้ใช้ที่ดินของนายหนึ่งเป็นที่วางสินค้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยก็ตาม

แต่การใช้ที่ดินของนายสองนั้นเป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายสองเองโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ ตามความหมายของมาตรา 1387 ดังนั้น นายสองจึงไม่ได้ภาระจํายอมในที่ดินของนายหนึ่งโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401

และ 1382 ข้อกล่าวอ้างของนายสองที่อ้างว่าตนได้ภาระจํายอมโดยอายุความในที่ดินของนายหนึ่งแล้วจึงรับฟังไม่ได้

สรุป ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังไม่ได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!