การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายหมอกโดยมีคําพิพากษาถึงที่สุดของแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มา นายหมอกรีบทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายฟ้า โดยนายฟ้าไม่รู้ว่าศาลพิพากษาให้นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว นายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินให้นายหมอกไม่ครบ เพิ่งจ่ายแค่ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะจ่ายให้หมดภายใน 6 เดือนหลังวันโอน ต่อมานายฟ้าจะเข้าไปทําประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมา ก็พบว่านายเมฆปลูกบ้านและทําสวนอยู่ในที่ดินแปลงนี้แล้ว นายเมฆและนายฟ้าต่างก็อ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ แต่นายเมฆ โต้แย้งว่านายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินไม่ครบ ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายเมฆ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างนายเมฆกับนายฟ้าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากันเพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายหมอกโดยมีคําพิพากษา ถึงที่สุดของศาลนั้น ถือว่านายเมฆเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายเมฆยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายเมฆจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายเมฆจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่นายเมฆยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น นายหมอกได้ทําการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้นายฟ้า ซึ่งนายฟ้าได้ซื้อที่ดินจากนายหมอกโดยไม่รู้ว่าศาลพิพากษาให้นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แล้ว ย่อมถือว่านายฟ้าได้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริต และแม้ว่านายฟ้าจะได้จ่ายค่าที่ดินให้นายหมอกเพียงแค่ครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หมดภายใน 6 เดือนหลังจากวันโอนก็ตาม

ก็ถือว่านายฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทรัพย์สินมาโดยเสียค่าตอบแทนแล้ว ดังนั้น การที่นายเมฆโต้แย้งว่านายฟ้ายังจ่ายเงินค่าที่ดินไม่ครบย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายเมฆนั้น ข้อโต้แย้งของนายเมฆจึงฟังไม่ขึ้น นายฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิ โดยสุจริตแล้ว จึงมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเมฆ

สรุป นายฟ้ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายเมฆ

 

ข้อ 2 นายวุฒิซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดในราคาสองแสนบาทโดยไม่รู้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวนั้น ห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดเช่าซื้อจากบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด ซึ่งชําระราคาเช่าซื้อได้เพียง 10 งวด ยังค้างชําระราคาเช่าซื้ออีก 30 งวด หลังจากนั้นห้างหุ้นส่วน ประชากรจํากัดได้ปิดกิจการลง บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดต้องการติดตามยึดรถยนต์คืนจากนายวุฒิ

ดังนี้ ระหว่างนายวุฒิกับบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะมีสิทธิเรียกร้องใดๆ ต่อกันได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง จะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวุฒิซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดของห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัด ในราคา 2 แสนบาท โดยไม่รู้ว่ารถยนต์ดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนฯ เช่าซื้อจากบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด ซึ่งชําระราคา เช่าซื้อได้เพียง 10 งวด ยังค้างชําระราคาเขาซื้ออีก 30 งวดนั้น เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัด เนื่องจากห้างหุ้นส่วนประชากรจํากัดยังชําระค่าเช่าซื้อไม่ครบ ดังนั้น บริษัทซุปเปอร์คาร์ จํากัด ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของตน (รถยนต์) คืนจากนายวุฒิได้ตามมาตรา 1336

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายวุฒิได้ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวโดยสุจริตจากการขาย ทอดตลาด ดังนั้น นายวุฒิจึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1332 กล่าวคือ นายวุฒิไม่จําต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าว ให้แก่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะชดใช้ราคาที่นายวุฒิซื้อมาคือ 2 แสนบาท

สรุป แม้บริษัทซุปเปอร์คาร์ จํากัดซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงจะมีสิทธิติดตามเอารถยนต์คืนจาก นายวุฒิ แต่นายวุฒิก็ไม่จําต้องคืนรถยนต์คันดังกล่าว เว้นแต่บริษัทซุปเปอร์คาร์จํากัดจะชดใช้ราคาที่นายวุฒิซื้อมาคือ 2 แสนบาท

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นายเอกและนายโทได้ตกลงเข้าทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ที่ดินมีเนื้อที่ 10 ไร่ ตกลงราคา 500,000 บาท ด้วยการที่นายเอกและนายโทเข้าใจว่าที่ดิน แปลงดังกล่าวเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า (น.ส. 3) ไม่ใช่ที่ดินที่มีโฉนดมีกรรมสิทธิ์ สัญญาซื้อขายที่ดิน ระหว่างนายเอกและนายโทจึงทําขึ้นเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับ แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้แต่อย่างใด แต่เมื่อนายเอกได้ส่งมอบที่ดินให้นายโทในวันที่ 12 มกราคม 2555 แล้ว นายโทได้เข้าทําประโยชน์ในที่ดินด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสพร้อมได้แสดงอาณาเขตแห่งการยึดถือที่ดินต่อบุคคลทั่วไปด้วยการล้อมรั้วลวดหนามตลอดแนวเขตที่ดิน

อยากทราบว่านายโทได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”

มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง”

มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทําได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า (น.ส.3) โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ และเมื่อที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินมือเปล่า (น.ส.3) นายเอกจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนายเอกได้ส่งมอบที่ดินให้นายโทแล้ว การครอบครองที่ดินของนายเอกจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1377 วรรคหนึ่ง เพราะถือว่านายเอกได้สละเจตนา ครอบครองและไม่ได้ยึดถือที่ดินนั้นต่อไปแล้ว และเมื่อนายโทได้เข้าครอบครองที่ดินโดยการโอนการครอบครอง และส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองจากนายเอกตามมาตรา 1378 และเข้ายึดถือทําประโยชน์เพื่อตนตามมาตรา 1367 โดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินที่ครอบครองพร้อมแสดงอาณาเขตแห่งการยึดถือครอบครองต่อบุคคลทั่วไป ด้วยการล้อมรั้วลวดหนามตลอดแนวเขตที่ดินแล้ว ถือว่านายโทได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินนั้นตา ความเป็นจริง ดังนั้น นายโทย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง

สรุป นายโทได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว

 

ข้อ 4 นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกัน ที่ดินของนายหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศ ตะวันตก ส่วนที่ดินของนายสองตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงติดถนนสาธารณะ ที่ดินของนายหนึ่งบริเวณซึ่งติดกับที่ดินของนายสองมีทางภาระจํายอมที่นายหนึ่งยินยอมให้นายสามผ่านเข้าออกไปยังที่ดินของนายสามซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินนายหนึ่งได้ โดยต้องเสียเงินให้แก่นายหนึ่งเป็นรายปี ปีละ 10,000 บาท เมื่อปี 2554 นายสองได้เปิดร้านขายไม้ด่างมงคล ทุกเช้านายสองให้ลูกจ้างนํากระถางไม้ด่างวางล้ำเข้าไปในที่ดินของนายหนึ่งประมาณ 1 เมตร ในทางซึ่งกว้าง 4 เมตรที่นายหนึ่งยอมให้นายสามผ่านเข้าออกอย่างภาระจํายอม และจะนํากระถางไม้ด่างเก็บเข้าร้านตอนเย็น โดยนายสองไม่ได้รับความยินยอมจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่ง ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน เมื่อปี 2565 นายสามย้ายออกจากที่ดินไป เป็นเหตุให้นายหนึ่งขาดรายได้ปีละ 10,000 บาท นายหนึ่งจึงเรียกให้นายสองจ่ายค่าตอบแทนจากการที่นายสองได้รับประโยชน์บนทาง ด้วยการนําสินค้าของตนมาวางขาย แต่นายสองกลับปฏิเสธ อ้างว่าตนได้ภาระจํายอมโดยอายุความ ในที่ดินของนายหนึ่งแล้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอม อาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

โดยหลัก การได้ภาระจํายอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ (เจตนาปรปักษ์) และครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจํายอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่า สามยทรัพย์เท่านั้นตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกัน นานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทําให้เกิดภาระจํายอมโดยอายุความขึ้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกัน เมื่อปี 2554 นายสองได้เปิดร้านขายไม้ด่างมงคล โดยทุกเช้านายสองจะให้ลูกจ้างนํากระถางไม้ด่างวางล้ำเข้าไปในที่ดินของ นายหนึ่งประมาณ 1 เมตร ในทางซึ่งกว้าง 4 เมตร และจะนํากระถางไม้ต่างเก็บเข้าร้านตอนเย็น โดยนายสองไม่ได้รับความยินยอมจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่งก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายสองเป็นเจ้าของที่ดินและได้ใช้ที่ดินของนายหนึ่งเป็นที่วางสินค้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยก็ตาม

แต่การใช้ที่ดินของนายสองนั้นเป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายสองเองโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ ตามความหมายของมาตรา 1387 ดังนั้น นายสองจึงไม่ได้ภาระจํายอมในที่ดินของนายหนึ่งโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401

และ 1382 ข้อกล่าวอ้างของนายสองที่อ้างว่าตนได้ภาระจํายอมโดยอายุความในที่ดินของนายหนึ่งแล้วจึงรับฟังไม่ได้

สรุป ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังไม่ได้

Advertisement