การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายดําหลงรักนางสาวขาวมานาน แต่นางสาวขาวได้คบหากับนายเขียวอยู่แล้วไม่ได้ชื่นชอบนายดํานางสาวขาวจึงพยายามหลบหน้านายดํามาโดยตลอด นายดําพยายามติดตามตื้อให้นางสาวขาวรับความรัก โดยเข้าใจไปเองว่าที่นางสาวขาวไม่รับความรักเนื่องจากนายฟ้าซึ่งเป็นบิดาของนางสาวขาวกีดกันเพื่อให้นางสาวขาวคบหากับนายเขียว วันเกิดเหตุนายดําถืออาวุธปืนติดตัวออกมาเพื่อเจอกับนายฟ้า และนายดําได้พูดขู่เข็ญนายฟ้าว่า “มึงอยากตายหรือ” ทําให้นายฟ้าตกใจกลัวเป็นอย่างมาก แต่นายดําก็มิได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายฟ้าแต่อย่างใด หลังจากนั้นนายดําได้เดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางพบนายเขียวโดยบังเอิญ จึงใช้ปืนยิงนายเขียว นายเขียวกระโดดหลบกระสุน โดยกระสุนปืนของนายดําไม่ถูกนายเขียวแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่าขณะกระโดดหลบนั้นศีรษะของ นายเขียวได้กระแทกพื้นจนนายเขียวถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยว่า

(ก) กรณีนายห้านั้น หากต่อมานายฟ้าได้ยื่นฟ้องนายดําว่าได้กระทําละเมิด นายดําต่อสู้ว่า ตนมิได้ใช้ปืนยิงนายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของ นายดําฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร

(ข) กรณีนายเขียวนั้น นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียวหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายฟ้าได้ยื่นฟ้องนายดําว่าได้กระทําละเมิด แต่นายดําได้ต่อสู้ว่าตนมิได้ใช้ปืนยิงนายฟ้า นายฟ้าจึงมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของนายดําฟังขึ้นหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริง ฟังได้ความว่า นายดําถืออาวุธปืนติดตัวออกมาเพื่อพบกับนายฟ้า และนายดําได้พูดขู่เข็ญนายฟ้าว่า “มึงอยากตายหรือ” การกระทําของนายดําดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทําโดยจงใจทําให้นายฟ้าเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทํา ละเมิดต่อนายฟ้าตามมาตรา 420 แล้ว เพราะแม้ว่านายดําจะมิได้ยิงอาวุธปืนก็ตาม แต่การที่นายดําใช้อาวุธปืน ข่มขู่นายฟ้าเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยของนายฟ้าแล้ว เพราะเป็นการทําให้นายฟ้าตกใจกลัวอันเป็นความเสียหายเกี่ยวกับความรู้สึกทางด้านจิตใจ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายดํา ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 4571/2556)

(ข) นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียวหรือไม่ อย่างไร กรณีนี้เห็นว่า การที่นายดําใช้อาวุธปืนยิงนายเขียว นายเขียวกระโดดหลบกระสุนทําให้กระสุนปืนของนายดําไม่ถูกนายเขียว

แต่ปรากฏว่าขณะกระโดดหลบนั้นศีรษะของนายเขียวได้กระแทกพื้นจนนายเขียวถึงแก่ความตายนั้น ความตายของนายเขียวถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทําโดยจงใจของนายดําที่กระทําต่อนายเขียวโดยผิดกฎหมาย ทําให้นายเขียวเสียหายต่อชีวิต และผลที่เกิดขึ้นคือความตายของนายเขียวนั้นมีความสัมพันธ์กับการกระทําของนายดํา เพราะการที่นายเขียวได้กระโดดหลบกระสุนจนศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นการกระทําเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายเฉพาะหน้าเนื่องจากการที่นายดําใช้อาวุธปืนยิงตน ดังนั้น จึงถือว่านายดําได้กระทําละเมิด ต่อนายเขียวตามมาตรา 420 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความตายของนายเขียว (เทียบเคียง คําพิพากษาฎีกาที่ 895/2509, 1436/2511)

สรุป

(ก) ข้อต่อสู้ของนายดําฟังไม่ขึ้น

(ข) นายดําต้องรับผิดเพื่อละเมิดในความตายของนายเขียว

 

ข้อ 2 ด.ช.ซน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหล่อและนางสวย มีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดอุดรธานี นายหล่อและนางสวยได้ส่ง ด.ช.ซนมาเรียนหนังสือที่จังหวัดชัยภูมิ โดยฝากให้พักอาศัยอยู่กับนายซวย ซึ่งเป็นตาของ ด.ช.ซน ด.ช.ซนชอบเล่นปืนของนายซวยเป็นอย่างมากและแอบนําปืนไปยิงต้นไม้เล่นอยู่เป็นประจํา โดยนายซวยเก็บปืนไว้ใต้หมอนในห้องนอน โดยมิได้ถอดแมกกาซีนออกและมิได้ห้ามปรามมิให้ ด.ช.ซนเข้าไป วันหนึ่ง ด.ช.ซนแอบเอาปืนดังกล่าวไปยิงต้นไม้เล่นในทุ่งนา กระสุนปืนพลาดเลยไปถูกนายเฮงซึ่งกําลังเดินอยู่กลางทุ่งนาถึงแก่ความตาย ดังนี้ นายเฮงจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใดได้บ้าง อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ด.ช.ซน เอาปืนไปยิงต้นไม้เล่นในทุ่งนา แต่กระสุนพลาดไปถูกนายเฮง ถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของ ด.ช.ซน ถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตและผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของ ด.ช.ซน จึงถือว่า ด.ช.ซนได้กระทําละเมิดต่อ นายเฮงตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเฮง แม้ว่า ด.ช.ซนจะเป็นผู้เยาว์อันถือว่า เป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม (มาตรา 429)

และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ ด.ช.ซนทําละเมิดนั้น ด.ช.ซนอยู่ในความดูแลของนายซวยคุณตาของตน นายซวยจึงถือว่าเป็นผู้รับดูแลตามมาตรา 430 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายซวยได้รู้ว่า ด.ช.ซนหลานของตนชอบเล่นปืนและเอาปืนไปยิงต้นไม้เล่นเป็นประจํา แต่นายซวยได้กระทําเพียงเก็บปืนไว้ ใต้หมอนในห้องนอนโดยมิได้ถอดแมกกาซีนออก และมิได้ห้ามปรามมิให้ ด.ช.ซนเข้าไปเพื่อป้องกันเหตุร้าย อันอาจจะเกิดจากอาวุธปืนนั้นย่อมถือว่านายซวยมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล นายซวยจึงเป็นผู้ที่ขาดความระมัดระวังในการดูแลหลานซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้ไร้ความสามารถ ดังนั้น นายซวยจึงต้อง ร่วมกันรับผิดกับ ด.ช.ซนตามมาตรา 430 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 985/2515)

ส่วนกรณีของนายหล่อและนางสวย บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช.ซน แม้จะมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอบรม ดูแลว่ากล่าวสั่งสอนบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่ในขณะเกิดเหตุนั้น ด.ช.ซนซึ่งเป็นบุตร ได้อยู่ในความดูแลของนายซวยซึ่งเป็นคุณตา นายหล่อและนางสวยมิได้ปกครองดูแลอยู่ ดังนั้น จะถือว่านายหล่อ และนางสวยขาดความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้นมิได้ นายหล่อและนางสวยจึงไม่ต้อง ร่วมรับผิดกับ ด.ช.ซนในผลแห่งละเมิดนั้นตามมาตรา 429

สรุป

นายเฮงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก ด.ช.ซนและนายซวยได้ แต่จะเรียกร้องจากนายหล่อและนางสวยไม่ได้

 

ข้อ 3 นางแหวนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์สีดําชื่อน้องน้ำหวาน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย วันเกิดเหตุ นางแหวนได้พาน้องน้ำหวานมาเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยมิได้ทําการล่ามโซ่ หรือผูกเชือกไว้แต่อย่างใด น้องน้ำหวานเกิดอาการตื่นคนจึงวิ่งเข้าไปชนนางเพชรจนล้มลงศีรษะกระแทกพื้น เป็นเหตุให้นางเพชรได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟันเฟือนไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไป นางเพชรมีบุตรสาวอยู่ 1 คน ชื่อ ด.ญ.พลอย ซึ่งเกิดมาพิการแต่กําเนิดไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ด.ญ.พลอยจึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนางแหวนเจ้าของสุนัข ให้วินิจฉัยว่า นางแหวน จะต้องรับผิดเพื่อละเมิด และต้องใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่ ด.ญ.พลอยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 443 วรรคสาม “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องขาดไร้อุปการะ ตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแหวนเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์สีดําชื่อน้องน้ำหวานซึ่งมีนิสัยดุร้าย ได้พาน้องน้ำหวานมาเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยมิได้ทําการล่ามโซ่ หรือผูกเชือกไว้แต่อย่างใด และน้องน้ำหวานเกิดอาการตื่นคนจึงวิ่งเข้าไปชนนางเพชรจนล้มลงศีรษะกระแทกพื้น เป็นเหตุให้นางเพชร ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสมองฟันเฟือนไม่สามารถประกอบการงานได้อีกต่อไปนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นางเพชรดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ นางแหวนซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์และมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่นางเพชรตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง

ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้น ทายาทของผู้ถูกทําละเมิดจะมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้ อุปการะได้ก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ถูกทําละเมิดจนเสียชีวิตเท่านั้น (ตามมาตรา 443 วรรคสาม) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางเพชรนั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายเท่านั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ดังนั้น ด.ญ.พลอยจึงไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนางแหวนได้

สรุป นางแหวนจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อนางเพชร แต่ไม่ต้องใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่ด.ญ.พลอย

 

ข้อ 4 นายร้อยและนางพันอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายสิบ เมื่อนางพันคลอดเด็กชายสิบแล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย นายร้อยได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสิบตลอดมา นายร้อยยินยอมให้เด็กชายสิบใช้นามสกุล และส่งเสียเด็กชายสิบให้ได้เรียนหนังสือ วันเกิดเหตุ นายเมาขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายร้อยถึงแก่ความตาย ดังนี้ เด็กชายสิบจะเรียกร้อง ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาด ประโยชน์ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมาขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนนายร้อยถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายเมาถือเป็นการทําละเมิดต่อนายร้อยตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายเมาสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายร้อย ดังนั้น นายเมาจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมาคือ เด็กชายสิบจะเรียกร้องค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาได้หรือไม่

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพ จากผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 จากข้อเท็จจริง การที่นายร้อยและนางพันอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายสิบนั้น ถือว่าเด็กชายสิบเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายร้อย แต่เมื่อนายร้อยยินยอมให้ เด็กชายสิบใช้นามสกุลและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ ย่อมถือว่าเด็กชายสิบเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัยแล้ว จึงส่งผลให้เด็กชายสิบเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทของนายร้อยผู้ตายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1) ดังนั้น เมื่อนายเมาได้ทําละเมิดจนทําให้นายร้อยถึงแก่ความตาย เด็กชายสิบจึงเรียกร้อง ค่าปลงศพจากนายเมาได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายร้อยมิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายสิบผู้เยาว์ นายร้อยจึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสิบซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เด็กชายสิบจึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาตามมาตรา 443 วรรคท้าย

สรุป เด็กชายสิบเรียกร้องค่าปลงศพจากนายเมาได้ แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากนายเมาไม่ได้

Advertisement