การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2102 (LAW 2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่า อังคารเป็นเจ้าหนี้ สัญญาเช่ากําหนดให้จันทร์ชําระค่าเช่าจํานวน เงินสองหมื่นบาทให้แก่อังคารในวันที่ 30 มกราคม 2564 โดยชําระที่บ้านของอังคาร เมื่อถึงกําหนดวันที่ 30 มกราคม 2564 ปรากฏว่าจันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสองหมื่นบาทด้วยเงินสด แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับโดยอ้างว่าไม่สะดวกจะรับ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าอังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Advertisement

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

Advertisement

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

Advertisement

1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ

2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่า และอังคารเป็นเจ้าหนี้ โดยสัญญาเช่า กําหนดให้จันทร์ชําระค่าเช่าเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท ให้แก่อังคารในวันที่ 30 มกราคม 2564 โดยชําระที่บ้านของอังคารนั้น เมื่อถึงกําหนดวันที่ 30 มกราคม 2564 ปรากฏว่าจันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวน 20,000 บาท ด้วยเงินสด ย่อมถือว่าจันทร์ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งแล้ว การที่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับโดยอ้างว่าไม่สะดวกจะรับนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง

สรุป อังคารเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2 จันทร์เช่าปั๊มน้ำมันของอังคารมาดําเนินกิจการ พุธทําละเมิดให้หลังคาปั๊มน้ำมันเสียหาย จันทร์ ได้ใช้ค่าซ่อมแซมจํานวนเงินสองแสนบาทให้แก่อังคารแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียจํานวนสองแสนบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้ มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่ง เป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติความหมายของการรับช่วงสิทธิไว้ แต่เมื่อพิจารณาจาก บทบัญญัติมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 227 แล้ว อาจให้ความหมายของการรับช่วงสิทธิได้ว่า หมายถึงการที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้และมีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้มีผลทําให้บุคคลภายนอกดังกล่าวได้รับสิทธิหรือเข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยอํานาจแห่งกฎหมาย และเมื่อเข้ารับช่วงสิทธิแล้วก็ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง ดังนั้น การรับช่วงสิทธิจึงมิได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ (ฎีกาที่ 2766/2551)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เช่าปั๊มน้ำมันของอังคารมาดําเนินกิจการ จันทร์ย่อมเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดา ไม่มีหน้าที่ใดที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า ในกรณีที่พุธได้ทําละเมิดให้หลังคาปั๊มน้ำมันเสียหาย ดังนั้น แม้จันทร์จะได้ใช้ค่าซ่อมแซมจํานวน 200,000 บาท ให้แก่อังคารแล้ว จันทร์ก็ไม่อยู่ในฐานะลูกหนี้ที่จะเข้ารับช่วง สิทธิของอังคารเจ้าของปั๊มน้ำมันที่จะไปเรียกร้องให้พุธรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 227 นั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีนี้คืออังคารเจ้าของปั๊มน้ำมัน

สรุป จันทร์ไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่สามารถเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่า สินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 200,000 บาท ให้แก่ตนได้

 

ข้อ 3 ต้นเป็นหนี้เอกหนึ่งล้านบาท ทรัพย์สินของต้นมีไม่พอชําระหนี้ ต่อมาต้นได้รับมรดกที่ดินมา 10 ไร่ ต้นกลับยกที่ดินดังกล่าวให้กลางและปลาย ซึ่งเป็นน้องของตนโดยเสน่หา กลางและปลายแยกส่วน ของตนได้คนละ 5 ไร่ กลางนําส่วนของตนไปจํานองไก่ ไก่รับจํานองไว้โดยสุจริต ส่วนของปลาย นําเอาไปขายให้ไข่ ไข่รับซื้อไว้โดยรู้ว่ามีหนี้ผูกพันกันอยู่ เอกจะบังคับชําระหนี้เอากับต้นลูกหนี้ ได้อย่างไรบ้าง ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 238 “การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของ บุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่ง ความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านห้ามมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา”

มาตรา 239 “การเพิกถอนนั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้หมดทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ต้นเป็นหนี้เอก 1 ล้านบาท และทรัพย์สินของต้นมีไม่พอชําระหนี้ ต่อมา ต้นได้รับมรดกเป็นที่ดินมา 10 ไร่ ต้นกลับยกที่ดินดังกล่าวให้แก่กลางและปลายซึ่งเป็นน้องของตนโดยเสน่หา โดยกลางและปลายแยกส่วนของตนได้คนละ 5 ไร่นั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ต้นลูกหนี้ได้ทํานิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน และทําให้เจ้าหนี้คือเอกเสียเปรียบเนื่องจากต้นไม่มีทรัพย์สินใด ๆ แล้ว อีกทั้งเป็นนิติกรรมการให้ โดยเสน่หา ดังนั้น เอกเจ้าหนี้ชอบที่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 แต่เอกจะต้องฟ้องต้นลูกหนี้รวมทั้งกลางและปลายผู้ได้ลาภงอกเป็นจําเลยร่วมกันด้วย และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ได้ลาภงอกได้ทํานิติกรรมหรือโอนทรัพย์ไปยังบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งกรณีนี้คือไก่และไข่ ดังนั้น เอกจึงต้องฟ้องไก่และไข่เข้ามาเป็นจําเลยร่วมด้วยตามมาตรา 238

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เอกจะมีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ได้ก็ตาม แต่การเพิกถอน ดังกล่าวจะไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของไก่ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจํานองที่ดินจากกลางโดยสุจริตก่อนฟ้องคดีขอเพิกถอนตามมาตรา 238 ดังนั้น เมื่อมีการเพิกถอนย่อมมีผลทําให้ที่ดินกลับมาเป็นของต้นโดยติดภาระจํานองมาด้วย ส่วนการที่ปลายนําที่ดินไปขายต่อให้ไข่ และไข่ซื้อไว้โดยรู้ว่ามีหนี้ผูกพันอยู่ จึงถือว่าไข่ได้รับทรัพย์สินมา โดยไม่สุจริต เมื่อมีการเพิกถอนทําให้ที่ดินกลับมาเป็นของต้น ทําให้เอกเจ้าหนี้สามารถขอบังคับชําระหนี้เอากับที่ดินของต้นต่อไปได้ตามมาตรา 239

สรุป เอกจะบังคับชําระหนี้เอากับต้นได้โดยการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉล (นิติกรรมการให้) เพื่อให้ทรัพย์สิน (ที่ดิน) กลับมาเป็นของต้นลูกหนี้ และขอบังคับชําระหนี้เอากับที่ดินดังกล่าวต่อไป

 

ข้อ 4 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์มือสองจากเต็นท์รถยนต์ของนายเม้งในราคา 300,000 บาท โดยนายหล่อและนางสวยได้ตกลงเลือกรถยนต์ ฮอนด้าซีวิค สีดํา รุ่นปี 2018 เลขทะเบียน กก 2244 จากรถยนต์มือสองสภาพดีกว่า 500 คัน ตกลง ส่งมอบรถยนต์วันที่ 7 มกราคม 2565 ตามฤกษ์ที่หมอดูชื่อดังแนะนํา โดยไม่ได้มีการกําหนดสถานที่ส่งมอบไว้แต่อย่างใด พร้อมกับที่นายหล่อและนางสวยจะได้ชําระราคารถยนต์ทั้งหมดให้กับนายเม้งในการซื้อรถยนต์ดังกล่าวนั้นนายหล่อและนางสวยได้ทําข้อตกลงระหว่างกันเองไว้ว่านางสวยไม่ต้อง รับผิดแต่อย่างใดเลยในหนี้จํานวนนี้ เมื่อถึงกําหนดนัด นายเม้งได้แจ้งให้นางสวยมารับรถยนต์ คันดังกล่าวที่เต็นท์รถยนต์ของนายเม้งพร้อมชําระราคาค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตน นางสวยปฏิเสธอ้างว่านายเม้งจะต้องนํารถยนต์คันดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่ตนและนายหล่อที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันตามที่อยู่ซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญา อีกทั้งนางสวยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ในหนี้ค่ารถยนต์จํานวน 300,000 บาท เนื่องจากได้ทําข้อตกลงไว้กับนายหล่อตั้งแต่ต้นว่านางสวย ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดเลยในหนี้จํานวนนี้ นายเม้งจึงต้องทวงถามค่ารถยนต์ค้างชําระจากนายหล่อ เท่านั้น ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า

(ก) นายเม้งจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ สถานที่ใด

(ข) นายเม้งมีสิทธิเรียกร้องให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 324 “เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชําระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชําระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชําระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์มือสองจาก เต็นท์รถยนต์ของนายเม้งในราคา 300,000 บาท โดยตกลงส่งมอบรถยนต์กันในวันที่ 7 มกราคม 2565 โดยไม่ได้ มีการกําหนดสถานที่ส่งมอบไว้แต่อย่างใดนั้น เมื่อนายเม้งผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้กับนายหล่อและนางสวยผู้ซื้อ นายเม้งจึงต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ เต็นท์รถยนต์ของ นายเม้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้นั้น ตามมาตรา 324

(ข) เมื่อนายหล่อและนางสวยได้ร่วมกันทําสัญญาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากนายเม้ง นายหล่อ และนางสวยจึงตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมโดยต้องร่วมกันรับผิดในค่ารถยนต์จํานวน 300,000 บาท โดยนายเม้งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้นายหล่อและนางสวยลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งรับผิดชําระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือโดยส่วนก็ได้ ตามแต่ละเลือกตามมาตรา 291 และแม้ว่านายหล่อและนางสวยลูกหนี้ร่วมจะได้ทําข้อตกลงระหว่างกันเองว่า นางสวยจะไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด ๆ เลยในหนี้จํานวนนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างลูกหนี้ร่วมเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้ได้ ดังนั้น นายเม้งเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้

สรุป

(ก) นายเม้งจะต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายหล่อและนางสวย ณ เต็นท์รถยนต์ของนายเม้ง

(ข) นายเม้งมีสิทธิเรียกให้นางสวยเพียงคนเดียวชําระหนี้ค่ารถยนต์ทั้งหมดจํานวน 300,000 บาท ให้แก่ตนได้

Advertisement