LAW 2009 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1 เอกยืมรถของโทมาใช้งานตามปกติ  ขณะจอดอยู่ริมถนนถูกรถอื่นชนไฟท้ายแตก  ค่าเสียหายประมาณห้าพันบาท  แต่คนที่ขับรถชนนั้นหลบหนีไม่อาจติดตามมารับผิดได้  ดังนี้  โทเจ้าของรถจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกยืมรถของโทมาใช้งานตามปกตินั้น  สัญญายืมระหว่างเอกและโทเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ดังนั้นเอกผู้ยืมจึงมีหน้าที่ตามมาตรา  643  และมาตรา  644  กล่าวคือ  เอกผู้ยืมจะต้องไม่นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  ไม่เอาทรัพย์สินนั้นไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาทรัพย์สินนั้นไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  รวมทั้งจะต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง  ซึ่งถ้าหากเอกผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  โทผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องให้อกผู้ยืมรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เมื่อเอกได้ยืมรถของโทมาใช้นั้น  เอกได้ใช้งานตามปกติมิได้กระทำการใดๆ  อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นเลย  ดังนั้นเมื่อขณะที่เอกได้จอดรถอยู่ริมถนนและถูกรถอื่นชนไฟท้ายแตก  ค่าเสียหายประมาณห้าพันบาทนั้น  โทเจ้าของรถจึงมิอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมได้  ทั้งนี้เพราะเอกผู้ยืมมิได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  643  และมาตรา  644  แต่อย่างใด

สรุป  โทเจ้าของรถจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมไม่ได้

 

ข้อ  2  เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย  นายอินเสียหายอย่างหนักจึงได้ยืมเงินนายอ้นเป็นจำนวนเงิน  5,000  บาท  โดยทำเป็นหนังสือ  ในหนังสือระบุว่านายอินต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนร้อยละ  20  บาทต่อปี  เมื่อครบกำหนดชำระเงิน  1  ปีแล้ว  นายอินไม่มีเงินสดมาจ่าย  จึงนำรถจักรยานยนต์ของตนตามราคาท้องตลาดมีมูลค่า  6,000  บาท  มาคืนแทนเงิน  ดังนี้  การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสดมีผลหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

มาตรา  656  วรรคสอง  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายอินและนายอ้น  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา  650  และเมื่อสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีจำนวนเงินเกินกว่า  2,000  บาท  และได้ทำกันเป็นหนังสือ  จึงเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  ตามนัยของมาตรา  653  วรรคแรก  จึงสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายอินได้กู้ยืมเงินนายอ้นนั้นเป็นจำนวนเงินเพียง  5,000  บาท  และแม้ในหนังสือกู้ยืมเงินจะระบุว่านายอินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนร้อยละ  20  บาท  ต่อปีก็ตาม  ในส่วนของดอกเบี้ยซึ่งเกินอัตราร้อยละ  15  ต่อปีนั้น  ถือว่าเป็นการเรียกอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด  นายอ้นจะเรียกเอาส่วนที่เป็นดอกเบี้ยไม่ได้  ทั้งนี้เพราะแม้มาตรา  644  จะได้กำหนดว่าถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15  ต่อปี  ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ  15  ต่อปีก็ตาม  แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราใช้บังคับ  ทำให้การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ  15  ต่อปีมีผลทำให้ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ  จะนำมาตรา  644  มาใช้บังคับไม่ได้  ดังนั้นนายอินจึงต้องคืนเฉพาะเงินต้น  5,000  บาท  ให้แก่นายอ้น

เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวครบกำหนด  และนายอินไม่มีเงินสดมาจ่ายจึงได้นำรถจักรยานยนต์ของตนตามราคาท้องตลาดซึ่งมีมูลค่า  6,000  บาท  มาชำระหนี้แทนเงินและนายอ้นตกลงรับไว้นั้น  สามารถที่จะกระทำได้ตามมาตรา  656  วรรคสอง  ซึ่งจะมีผลทำให้หนี้ระหว่างนายอินและนายอ้นเป็นอันระงับไป  แต่นายอ้นจะต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอินเป็นเงิน  1,000  บาทด้วย

สรุป  การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสดมีผลทำให้หนี้ระหว่างนายอินและนายอ้นเป็นอันระงับไป  แต่นายอ้นต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอิน  1,000  บาท

 

ข้อ  3  นายแดงฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  จำนวน  10,000  บาท  ต่อมาเกิดการจลาจลขึ้นในบริเวณใกล้ธนาคาร  และมีการวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกไฟไหม้ทรัพย์สินและเงินสดเสียหาย  ต่อมานายแดงไปขอถอนเงินจากธนาคาร  ดังนี้  ธนาคารจะปฏิเสธไม่รับผิด  โดยต่อสู้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย  และธนาคารในฐานะผู้รับฝากได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนรักษาทรัพย์ตามหน้าที่ของตนแล้ว  ข้อต่อสู้ของธนาคารฟังขึ้นหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงฝากเงินไว้กับธนาคาร  ซึ่งธนาคารผู้รับฝากย่อมมีสิทธิจะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ตามมาตรา  672  แต่จะต้องคืนเงินให้แก่นายแดงครบจำนวน  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า  เมื่อนายแดงได้ฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว  ต่อมาได้เกิดการจลาจลขึ้นในบริเวณใกล้ธนาคาร และมีการวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกไฟไหม้ทรัพย์สินและเงินสดเสียหาย  ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย  ดังนี้เมื่อนายแดงไปขอถอนเงินจากธนาคาร  ธนาคารก็จะต้องยอมให้นายแดงถอนเงินคือต้องคืนเงินให้แก่นายแดง  ธนาคารจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบ  โดยต่อสู้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยและธนาคารในฐานะผู้รับฝากได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนรักษาทรัพย์ตามหน้าที่ของตนแล้วไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของธนาคารดังกล่าวฟังไม่ขึ้น  ธนาคารจะต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้แก่นายแดง

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สามชุกยืมรถยนต์ของกระเสียวไปใช้มีกำหนดหนึ่งปี  ขณะที่สามชุกใช้สอยอยู่นั้นมีกระเจียวขอเอารถคันดังกล่าวไปใช้  แต่กระเจียวเอารถยนต์ไปใช้ได้ไม่นาน  สามชุกกลัวว่ากระเสียวรู้แล้วจะเลิกสัญญาเอารถยนต์คืน  สามชุกจึงให้กระเจียวนำรถยนต์มาคืนให้กับตนก่อนที่กระเสียวจะรู้ถึงการที่กระเจียวเอารถไปใช้สอย  ดังนี้ถ้ากระเสียวทราบถึงเหตุดังกล่าว  จะเลิกสัญญาให้สามชุกเอารถมาคืนก่อนที่จะครบหนึ่งปีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สามชุกยืมรถยนต์ของกระเสียวไปใช้มีกำหนดหนึ่งปีนั้น  เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  สามชุกผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  645  ได้กำหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมได้  ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  645  เช่น  การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สามชุกได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้กระเจียวใช้งาน  กรณีนี้จึงถือว่าสามชุกได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  แล้ว  คือ  เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  แม้ว่าสามชุกจะให้กระเจียวนำรถมาคืนให้กับตนก่อนที่กระเสียวจะรู้ถึงการที่กระเจียวเอารถไปใช้สอยก็ตาม  ดังนั้นเมื่อกระเสียวผู้ให้ยืมได้ทราบถึงเหตุดังกล่าว  ย่อมมีสิทธิตามมาตรา  645  คือ  บอกเลิกสัญญาและเรียกให้สามชุกเอารถยนต์มาคืนก่อนที่จะครบหนึ่งปีได้

สรุป  กระเสียวสามารถบอกเลิกสัญญา  และเรียกให้สามชุกเอารถมาคืนก่อนที่จะครบกำหนดหนึ่งปีได้

 

ข้อ  2  นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ได้ขอยืมเงินจากนางเกดเป็นเงิน  50,000  บาท  โดยปากเปล่า  และนางเกดได้ตีเช็คให้ยืมไป  ต่อมานายเล็กเดียวดาย  ได้มีจดหมายมาหานางเกดความว่าเงินที่ได้รับมา  50,000  นี้ขอบคุณมาก  ถือเป็นหนี้ล้นพ้นประมาณ  จะนำมาชำระให้ในภายหลังโดยเร็ว  และจะให้ดอกเบี้ยตอบแทนอย่างสูงร้อยละ  16  ท้ายของหนังสือได้ลงลายมือชื่อเล่นของตนที่พ่อแม่เรียกว่าชายเล็ก  พร้อมทั้งให้เด็กฝาแฝดอายุ  7  ขวบ  ลงลายมือชื่อเป็นพยาน  ทั้งๆที่เด็กทั้งสองอ่านหนังสือไม่ออก  และไม่รู้ว่าการยืมเงินคืออะไร  แต่เขียนชื่อของตนได้เท่านั้น  ดังนี้หลักฐานดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่  เพียงใด  และหากต่อมานางเกดเจ้าหนี้ได้เติมตัวเลข  1  หน้าจำนวนตัวเลข  50,000  เพื่อให้เป็นจำนวน  150,000  บาท  ดังนี้จำเป็นหรือไม่ที่ลูกหนี้จะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนให้จะต้องชำระเท่าไร  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไปนั้น  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืม  ซึ่งลายมือชื่อผู้ยืมนี้จะเป็นชื่อตัว  ชื่อสกุล  หรือชื่อเล่นก็ได้  และหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้  แต่จะต้องมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  เช่น  มีการระบุจำนวนเงินที่กู้ยืม  มีข้อความว่าได้รับเงินไปตามจำนวนที่ระบุไว้  เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ได้ขอยืมเงินจากนางเกดเป็นเงิน  50,000  บาท  และต่อมาได้มีจดหมายมาหานางเกดความว่าเงินที่ได้รับมา  50,000  นี้ขอบคุณมาก  ถือเป็นหนี้ล้นพ้นประมาณ  จะนำมาชำระให้ในภายหลังนั้น  ดังนี้  จดหมายฉบับดังกล่าวถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว  เพราะมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าตอนท้ายของหนังสือได้ลงลายมือชื่อเล่นของนายเล็กเดียวดาย  ย่อมถือว่าการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเล็กเดียวดายและนางเกด  มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมแล้ว  จึงสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  653  วรรคแรก  แม้ว่าการลงลายมือชื่อของพยานทั้งสองคนจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม  เพราะกฎหมายบังคับเพียงแต่ให้มีลายมือชื่อผู้ยืมเท่านั้น

ส่วนกรณีดอกเบี้ยนั้น  การที่นายเล็กเดียวดายตกลงจะให้ดอกเบี้ยตอบแทนอย่างสูงร้อยละ  16  ต่อปี  ย่อมถือเป็นการขัดต่อกฎหมายมาตรา  654  ที่กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปี  และยังขัดต่อ  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด

และกรณีที่นางเกดเจ้าหนี้ได้เติมตัวเลข  1  หน้าจำนวนตัวเลข  50,000  เพื่อให้เป็นจำนวน  150,000  บาทนั้น  การเติมตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการปลอมเอกสาร  ข้อความที่ปลอมขึ้นจึงใช้ไม่ได้  แต่ก็ไม่ทำให้ข้อความเดิมก่อนที่จะมีการปลอมเสียไปแต่อย่างใด

ดังนั้น  นางเกดจึงสามารถฟ้องร้องให้นายเล็กเดียวดาย  นะยุดยา  ลูกหนี้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวได้โดยสามารถฟ้องเอาได้เฉพาะเงินต้นจำนวน  50,000  บาทเท่านั้น  จึงจำเป็นที่ลูกหนี้จะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนจะต้องชำระเป็นจำนวน  50,000  บาท

สรุป  หลักฐานดังกล่าวใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้  และลูกหนี้จำเป็นจะต้องชำระเงินคืน  และหากลูกหนี้ต้องการชำระหนี้ด้วยเงินสดคืนจะต้องชำระเป็นจำนวน  50,000  บาท

 

ข้อ  3  นายแดงเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น  โดยมีนายเล้งเป็นเจ้าสำนักและผู้ประกอบกิจการโรงแรม  ก่อนเข้าพักนายแดงได้นำพระเครื่อง  1  องค์  มูลค่า  8,000  บาท  ไปขอฝากไว้ให้โรงแรมเก็บรักษา  เกรงว่าจะสูญหายระหว่างที่ตนเข้าพักอยู่ในโรงแรม  นายเล้งผู้เป็นเจ้าสำนักรับไปดูแล้วคืนพระเครื่องกลับไปให้นายแดง  โดยบอกว่า  “ขอให้นายแดงเป็นผู้เก็บพระเครื่องราคา  8,000  บาทไว้แทนโรงแรม  ทางโรงแรมเป็นผู้เก็บหรือนายแดงเก็บก็เหมือนคนคนเดียวกัน”  ต่อมาในตอนดึกมีคนร้ายเข้าไปขโมยของในห้องพักของโรงแรม  และได้ขโมยพระเครื่องไป  นายแดงรีบแจ้งให้นายเล้งทราบทันที  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์ของนายแดง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

โดยหลัก  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674  ประกอบมาตรา  675  วรรคแรก

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น  เป็นของมีค่า  เช่น  นาฬิกา  แหวนเพชร  หรือพระเครื่องฯ  กฎหมายกำหนดให้เจ้าสำนักรับผิดเพียงห้าพันบาท  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนำไปฝากไว้แก่เจ้าสำนักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง  ตามมาตรา 675  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงเข้าพักในโรงแรมโดยนำพระเครื่องซึ่งถือเป็นของมีค่าติดตัวเข้ามาด้วยนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายแดงได้นำพระเครื่องไปขอฝากไว้ให้ทางโรงแรมเก็บรักษาและนายเล้งผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรมได้รับไปดูแล้วคืนพระเครื่องให้นายแดง  โดยบอกว่า  ให้นายแดงเป็นผู้เก็บรักษาพระเครื่องราคา  8,000  บาทไว้แทนโรงแรม  กรณีนี้ย่อมถือได้ว่า  นายแดงได้นำพระเครื่องไปฝากไว้แก่เจ้าสำนักโรงแรมและบอกราคาชัดแจ้งแล้ว  แม้ว่านายแดงจะเป็นผู้เก็บรักษาพระเครื่องไว้เองก็ตาม

ดังนั้น  เมื่อมีคนร้ายเข้าไปขโมยพระเครื่องของนายแดงไป  และนายแดงได้รีบแจ้งให้นายเล้งเจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที

ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายแดงตามราคาพระเครื่องที่ถูกขโมยไปคือ  8,000  บาท  ตามมาตรา  674  มาตรา  675  วรรคแรกและวรรคสอง

สรุป  ทางโรงแรมต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายแดงตามราคาพระเครื่อง  คือ  8,000 บาท

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม S/2554

 

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอกพรยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้งานหนึ่งปี  โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน  ขณะที่ใช้งานตามปกตินั้นถูกบุญดีขับรถมาชนท้าย  ถ้าจะซ่อมต้องใช้เงินประมาณ  10,000  บาท  แต่บุญดีไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม  ดังนี้  ทองไทยผู้ให้ยืมจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกพรยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้งาน  1  ปี  โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนนั้น  สัญญายืมระหว่างเอกพรและทองไทยเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ดังนั้น  เอกพรผู้ยืมจึงมีหน้าที่ตามมาตรา  643  และมาตรา  644  กล่าวคือ  เอกพรจะต้องไม่นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  และไม่เอาทรัพย์สินนั้นไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาทรัพย์สินนั้นไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  รวมทั้งจะต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองด้วย  ซึ่งหากเอกพรผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  ทองไทยผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  และเรียกร้องให้เอกพรผู้ยืมรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เมื่อเอกพรได้ยืมรถมอเตอร์ไซค์ของทองไทยมาใช้นั้น  เอกพรได้ใช้งานตามปกติมิได้กระทำการใดๆ  อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นเลย  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าขณะที่เอกพรใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ตามปกติได้ถูกบุญดีขับรถมาชนท้าย  ซึ่งถ้าจะซ่อมรถมอเตอร์ไซค์จะต้องใช้เงินประมาณ  10,000  บาท  และบุญดีไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม  ทองไทยผู้ให้ยืมจึงมิอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมได้  ทั้งนี้  เพราะเอกพรผู้ยืมมิได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  643  และมาตรา  644  แต่อย่างใด

สรุป  ทองไทยผู้ให้ยืมจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกพรผู้ยืมไม่ได้ 

 

ข้อ  2  นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันมีใจความว่า  “ตอนนี้เดือดร้อนมากเลย  อยากจะขอยืมเงินสักสองหรือสามหมื่นบาท  ถ้ามีก็ขอให้ส่งเงินมาให้ด้วยขอบคุณมากๆ”  ลงชื่อนายเอก  นายโทจึงฝากเงินจำนวนสามหมื่นมากับนายตรีเพื่อส่งมอบให้กับนายเอก  ผ่านไป  1  ปี  นายโทเห็นนายเอกเงียบเฉยไม่ชำระหนี้เงินที่ยืมไป  จึงขอให้นายจัตวาไปทวงหนี้ให้  นายเอกจึงเขียนจดหมายฝากนายจัตวามาถึงนายโท  ดังนี้  “โทที่รักยิ่ง  เราไม่เคยยืมเงินนายเลยทำไมมาทวงกันอย่างนี้  เป็นการดูถูกกันอย่างร้ายแรงนายต้องรับผิดชอบด้วย”  ลงชื่อ  เอก  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายโทจะใช้จดหมายดังกล่าวและให้นายตรีและนายจัตวาเป็นพยานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาท  ขึ้นไป  จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ย่อมถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  จดหมายฉบับแรกที่นายเอกเขียนถึงนายโทนั้น  มีข้อความเพียงว่า  นายเอกจะขอยืมเงินนายโทสักสองหรือสามหมื่นบาท  แต่นายโทจะส่งมอบเงินจำนวนนั้นให้กับนายเอกหรือไม่  ไม่มีข้อความกล่าวถึง  ส่วนจดหมายฉบับที่สอง  ก็ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่านายเอกยอมรับว่าเป็นหนี้นายโท  ดังนั้น  จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปแต่อย่างใด  แม้จะมีลายมือชื่อนายเอกผู้กู้ยืมก็ตาม  นายโทจึงมิอาจใช้จดหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลบังคับนายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สำหรับกรณีนายตรีและนายจัตวานั้น  แม้จะรู้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเอกกับนายโท  แต่ก็ถือเป็นพยานบุคคล  ดังนั้นนายโทจึงไม่สามารถนำมาสืบว่ามีการส่งมอบเงินกันแล้วได้  เพราะกรณีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น

สรุป  นายโทจะใช้จดหมายทั้งสองฉบับ  และให้นายตรีและนายจัตวาเป็นพยานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินสามหมื่นที่ยืมไปไม่ได้

 

ข้อ  3  นายเอกไปเที่ยวที่จังหวัดเพชรบุรี  พักที่บ้านของฟ้าสวยที่ตกแต่งเป็นห้องพักรับนักท่องเที่ยวเข้าพัก  คิดค่าห้องเป็นรายวัน  วันละห้าร้อยบาท  ที่ประตูห้องด้านในของห้องพัก  มีป้ายติดประกาศไว้มีใจความว่า  “ผู้พักทุกท่านโปรดระมัดระวังทรัพย์สินของท่านด้วย  ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบในกรณีที่ทรัพย์สินของท่านเกิดเสียหายหรือสูญหายไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้น”  ตอนค่ำนายเอกไปดื่มกาแฟที่โรงแรมเกษมสุขพบกับนางสาวสุดสวยคนคุ้นเคยกัน  นางสาวสุดสวยแอบล้วงกระเป๋าเอาเงินของนายเอกไปห้าหมื่นบาท  เมื่อนายเอกกลับมาที่บ้านของฟ้าสวยจึงรู้ว่าเงินสูญหายไปจึงแจ้งให้ฟ้าสวยทราบทันที  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ฟ้าสวยต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับนายเอกหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675

และหากมีป้ายประกาศยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักปิดไว้ในโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ป้ายประกาศดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ  ถ้าคนเดินทางหรือแขกอาศัยมิได้ตกลงด้วยอย่างชัดแจ้งตามมาตรา  677

กรณีตามอุทาหรณ์  บ้านของฟ้าสวยตกแต่งเป็นห้องพักรับนักท่องเที่ยวเข้าพัก  คิดค่าห้องเป็นรายวัน  วันละห้าร้อยบาท  จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่อื่นทำนองเดียวกับโรงแรมหรือโฮเต็ล  ดังนั้น  การที่นายเอกเข้าพักที่บ้านของฟ้าสวย  ฟ้าสวยซึ่งเป็นเจ้าสำนักโรงแรมจะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินของนายเอกหากได้พามาไว้ในสถานที่นั้น  ตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675  แม้ด้านในห้องพักของฟ้าสวยจะติดป้ายประกาศยกเว้นความรับผิดของตนไว้ก็ตาม  เพราะเมื่อไม่ปรากฏว่านายเอกได้ตกลงด้วยแต่อย่างใด  ป้ายประกาศดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา  677

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกไปดื่มกาแฟที่โรงแรมเกษมสุขพบกับนางสาวสุดสวย  และนางสาวสุดสวยได้แอบล้วงกระเป๋าเอาเงินของนายเอกไปห้าหมื่นบาทนั้น  เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายนอกบ้านของฟ้าสวย  ดังนั้น  ฟ้าสวยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเอก

สรุป  ฟ้าสวยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับนายเอก

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมบ้านของปลาดาวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย  มีกำหนดสองปีแต่ปลาม้าแบ่งห้องๆหนึ่งให้ชะเมาเช่า  ระหว่างที่ชะเมาเช่าอยู่นั้น เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลที่บ้านของปลาดาวตั้งอยู่เป็นเวลาสองเดือนทำให้บ้านเสียหาย  ดังนี้ปลาดาวจะบอกเลิกสัญญา  ให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกำหนดและเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  คำว่า  “เหตุสุดวิสัย”  หมายความว่า  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ปลาม้าผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยบ้านเป็นที่อยู่อาศัยได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าเอาบ้านที่ยืมมาแบ่งให้ชะเมาเช่า  ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  ซึ่งเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ตามมาตรา  643  ย่อมเป็นเหตุให้ปลาดาวผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมได้ตามมาตรา  645  และให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนครบกำหนดได้

และในกรณีที่ผู้ยืมเอาบ้านที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วถูกน้ำท่วมซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย  ตามมาตรา  8  นั้น  โดยหลักแล้วผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ปลาม้าผู้ยืมสามารถพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร  ทรัพย์สินคือบ้านที่ให้ยืมนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง  ดังนั้นปลาดาวจะเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายที่บ้านถูกน้ำท่วมไม่ได้  (มาตรา  643)

สรุป  ปลาดาวจะบอกเลิกสัญญาและให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกำหนดได้  แต่จะเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายไม่ได้ 

 

ข้อ  2  นายกังนัมสไตร์  น้องชายแท้ๆของนายชังนำหน้า  ได้ขอยืมเงินพี่ชายของตนเป็นจำนวน  2,000  บาท  โดยได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้  และได้มีข้อกำหนดในสัญญาว่านายกังนัมสไตร์จะผ่อนส่งหนี้ให้เดือนละ  200  บาท  เป็นจำนวน  10  ครั้ง  พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ  15.01  บาทต่อปี  ให้กับพี่ชายของตนซึ่งเป็นเจ้าหนี้  ต่อมานายชังนำหน้าพี่ชายแอบแปลงสัญญาเงินกู้โดยเติมตัวเลข  1 ใส่ข้างหน้าจำนวนเงินกู้เดิมจาก  2,000  บาท  เป็น  12,000 บาท  ดังนี้  นายกังนัมสไตร์ลูกหนี้  ต้องรับผิดตามสัญญาหรือไม่  อย่างใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการกู้ยืมเงินไม่เกิน  2,000  บาท  แม้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  การกู้ยืมเงินนั้นก็มีผลสมบูรณ์และสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้  (มาตรา  653  วรรคแรก)  แต่อย่างไรก็ตาม  กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายกังนัมสไตร์ได้ยืมเงินนายชังนำหน้าซึ่งเป็นพี่ชายจำนวน  2,000  บาท  โดยได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้  ก็ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพียงแต่ข้อกำหนดในสัญญาที่ตกลงดอกเบี้ยกันร้อยละ  15.01  บาทต่อปีนั้น  ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย  ดอกเบี้ยนั้นถือเป็นโมฆะทั้งหมด  มีเพียงเงินต้นเท่านั้นที่จะต้องส่งคืน

และตามอุทาหรณ์  การที่นายชังนำหน้าได้แอบแปลงสัญญาเงินกู้โดยเติมตัวเลข  1  ใส่ข้างหน้าจำนวนเงินกู้เดิมจาก  2,000  บาท  เป็น  12,000  บาทนั้น  ก็ถือว่าจำนวนเงินกู้ยืมเดิมนั้นเป็นจำนวนเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นนายกังนัมสไตร์ยังคงต้องรับผิดชอบในจำนวนหนี้ดังกล่าว  คือ  2,000  บาท  และการใช้เงินนั้นก็จะต้องทำเป็นหนังสือด้วยตามมาตรา  653  วรรคสอง

สรุป  นายกังนัมสไตร์ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาในจำนวนหนี้เดิม  คือ  2,000  บาท  แต่ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเพราะในส่วนดอกเบี้ยถือเป็นโมฆะทั้งหมด

 

ข้อ  3  นายเอกเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  มีนายโทเป็นเจ้าสำนักและผู้ควบคุมกิจการโรงแรม  นายเอกได้ถอดสร้อยคอทองคำหนัก  3  บาท  วางไว้ในห้องพัก  (คิดเป็นมูลค่าประมาณ  72,000  บาท)  ที่สร้อยคอแขวนพระสมเด็จ  1  องค์  (พระสมเด็จมีมูลค่า  10,000  บาท)  ต่อมานายเอกออกไปรับประทานอาหารเย็นนอกโรงแรมกลับมาตอนดึกพบว่าสายสร้อยทองคำและพระหายไป  จึงแจ้งนายโทผู้เป็นเจ้าสำนักให้ชดใช้ราคาของที่หายรวม  82,000  บาท  แก่ตนทันที  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  โรงแรมจะต้องรับผิดต่อทรัพย์ที่หายไปนี้หรือไม่  เพียงไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกเข้าพักที่โรงแรมที่มีนายโทเป็นเจ้าสำนัก  เมื่อทรัพย์สินของนายเอกแขกอาศัยซึ่งนำมาด้วยนั้นสูญหายไป  นายโทเจ้าสำนักย่อมต้องรับผิดชอบต่อนายเอกตามมาตรา  674  และมาตรา  675  วรรคแรก  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อทรัพย์สินของนายเอกที่สูญหายไปนั้น  คือสร้อยคอทองคำหนัก  3  บาท  (ราคาประมาณ  72,000  บาท)  และพระสมเด็จซึ่งแขวนอยู่ที่สร้อยราคา  10,000  บาท  ซึ่งทั้งสร้อยคอทองคำและพระสมเด็จนั้นอยู่ในความหมายของ  “ของมีค่า”  ตามมาตรา  675  วรรคสอง  ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกผู้เข้าพักในโรงแรมไม่ได้นำฝาก  และบอกราคาทรัพย์ให้ชัดแจ้ง  โรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายเอกเพียง  5,000  บาท

สรุป  โรงแรมจะต้องรับผิดต่อทรัพย์ของนายเอกที่หายไป  แต่จะรับผิดชอบเพียง  5,000  บาท

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมรถยนต์ปิกอัพของปลาดาวเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของ  ระหว่างที่ปลาม้าใช้งานอยู่นั้น  ปลาม้าได้เอารถให้ชะเมาเพื่อนบ้านใช้งานด้วย  ระหว่างที่ชะเมาใช้รถอยู่นั้น  เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลเป็นเวลาสองเดือน  ทำให้รถที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาท  ดังนี้  ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมรถได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  8  คำว่า  “เหตุสุดวิสัย”  หมายความว่า  เหตุใดๆ  อันจะเกิดขึ้นก็ดี  จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร  อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  646  วรรคแรก  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา  แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมรถยนต์ปิกอัพระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ที่มีกำหนดว่าจะเอาไปใช้เพื่อการใด  แต่มิได้กำหนดเวลาส่งคืนไว้  ซึ่งปลาม้าผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ปิกอัพได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย  แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย  ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าได้เอารถที่ยืมให้ชะเมาเพื่อนบ้านใช้งานด้วย  ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

และกรณีตามอุทาหรณ์  ในระหว่างที่ปลาม้าได้เอารถให้ชะเมาใช้งานอยู่นั้น  ได้เกิดน้ำท่วมทั้งตำบลเป็นเวลาสองเดือน  ทำให้รถที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาท  ซึ่งกรณีเช่นนี้ปลาม้าผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้ว่าการเกิดน้ำท่วมจะเป็นเหตุสุดวิสัย  ตามมาตรา  8  ก็ตาม  ทั้งนี้เพราะตามมาตรา  643  ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่เกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  หากผู้ยืมได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ยืม  หรือความเสียหายนั้นจะได้เกิดขึ้นเพราะแหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตาม  มาตรา  643  ตอนท้าย  ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า  ผู้ยืมอาจหลุดพ้นความรับผิดได้หากผู้ยืมพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง  กล่าวคือ  หากปลาม้าพิสูจน์ได้ว่า  แม้ตนจะไม่ได้เอารถให้ชะเมาใช้งาน  หรือได้คืนรถให้แก่ปลาดาวแล้ว  รถยนต์คันดังกล่าวก็คงจะได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำท่วมอยู่ดี  เช่นนี้ปลาม้าอาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้

สรุป  ปลาดาวสามารถเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมรถได้ตามมาตรา  643  เว้นแต่ปลาม้าจะพิสูจน์ได้ว่า  ถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องได้รับความเสียหายอยู่นั่นเอง

 

ข้อ  2  นายจันทร์ยืมเงินนายอังคารเป็นเงิน  2,000.01  บาท  โดยทำเป็นหนังสือการยืมเงินที่ลงลายมือชื่อนายจันทร์แต่เพียงผู้เดียว  และไม่มีใครลงลายมือชื่อรับรองหรือเป็นพยานแต่อย่างใด  ต่อมานายอังคารได้นำหลักฐานหนังสือดังกล่าวไปไว้ในลิ้นชักที่บ้านของตน  หลังจากนั้นได้มีนางอินญาติของนายจันทร์เข้าไปทำงานในบ้านของนายอังคารมาพบหนังสือการยืมเงินแล้วได้ขโมยไปเพื่อช่วยนายจันทร์  ดังนี้  ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก)    การยืมเงินดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

(ข)   เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง  และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา  650  เพียงแต่ตามมาตรา  653  วรรคแรก  ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาทขึ้นไป  จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี  คือ

1       มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น  เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการกู้ยืมเงินกัน  และมีการระบุถึงจำนวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้  แต่ที่สำคัญจะต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ  ส่วนผู้ให้ยืมและพยานจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญ 

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้

 ก.       เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารได้ทำเป็นหนังสือการยืมเงินโดยได้ระบุจำนวนเงินไว้ชัดเจนคือ  2.000.01  บาท  แม้นายจันทร์จะลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียว  โดยไม่มีใครลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานแต่อย่างใด  การกู้ยืมเงินดังกล่าวก็มีผลถูกต้องและสมบูรณ์ทุกประการ

 ข.      เมื่อการกู้ยืมเงินนั้นได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  และมีการลงลายมือชื่อของนายจันทร์ผู้ยืมถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นแม้ต่อมาหลักฐานการกู้ยืมเงินจะถูกขโมยไป  เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องผู้กู้ยืมได้โดยการนำพยานบุคคลมาสืบว่าเคยมีหลักฐานการกู้ยืมจริง  (ฎ. 34/2476)

สรุป

ก.       การยืมเงินดังกล่าวถูกต้อง

ข.      เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง  โดยนำกระเป๋าเดินทางและเงินสดจำนวน  10,000  บาท  และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก  1  ตัว ราคาหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  เข้าไปในห้องพัก  ต่อมานายอาทิตย์ออกไปทำธุระนอกห้อง  เมื่อกลับมาพบว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหายไป  นายอาทิตย์รีบแจ้งนายจันทร์ผู้เป็นเจ้าสำนักทราบทันทีเพื่อให้รับผิดตามราคาทรัพย์ที่สูญหาย  คือหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แต่นายจันทร์ต่อสู้ว่าโรงแรมได้ปิดประกาศไว้ในห้องพักทุกห้องว่าหากเกิดความเสียหายใดๆแก่ทรัพย์สินของผู้เข้าพัก  ทางโรงแรมจะรับผิดชอบไม่เกินราคาของห้องพักคือห้องละ  1,000  บาท  เมื่อผู้เข้าพักอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว  ย่อมถือได้ว่ายินยอมตกลงในข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรม  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของเจ้าสำนักโรงแรมที่มีต่อทรัพย์ของนายอาทิตย์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา  674  ประกอบมาตรา  675  วรรคแรก  ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคา  15,000  บาท  ของนายอาทิตย์ซึ่งได้เข้าพักที่โรงแรมนั้นได้สูญหายไป  และนายอาทิตย์ก็ได้แจ้งให้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที  ดังนี้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายอาทิตย์ในความสูญหายของทรัพย์สินดังกล่าว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือ  ความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์นั้น  ทางโรงแรมจะต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สิน  คือ  15,000  บาท  หรือจะต้องรับผิดจำกัดเพียง  5,000  บาท  ตามมาตรา  675  วรรคสอง  กรณีนี้เห็นว่าเมื่อทรัพย์สินที่สูญหายไปเพราะถูกขโมยคือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  675  วรรคสอง  ดังนั้น  ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปนั้นคือ  15,000  บาท

ส่วนกรณีที่นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมจะรับผิดชอบไม่เกินราคาของห้องพักคือ  1,000  บาท  โดยอ้างข้อความที่ประกาศในห้องพักว่า โรงแรมได้ปิดประกาศให้แขกรับทราบถึงข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรมแล้วนั้น  ข้ออ้างของนายจันทร์ฟังไม่ขึ้น  ทั้งนี้เพราะตามมาตรา  677  ได้บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่โรงแรมได้มีข้อความปิดประกาศไว้ในทำนองเป็นข้อจำกัดความรับผิดของโรงแรมนั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นโมฆะ  และกรณีตามอุทาหรณ์  ก็ไม่ปรากฏว่านายอาทิตย์ได้ตกลงด้วยกับข้อความรับผิดนั้นแต่อย่างใด

สรุป  เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์ที่สูญหายไปตามราคาทรัพย์สินนั้นคือ  15,000  บาท          

LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม S/2555

การสอบไล่ภาคฤดุร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดหกเดือน  ระหว่างนั้นมีชะเมาเพื่อนบ้านมาขอเช่ามอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาจากปลาดาวเฉพาะตอนหลังเลิกงานไปใช้รับจ้าง  รับคนโดยสารงานมีกำหนดสามเดือน  ระหว่างที่ชะเมาเช่าอยู่นั้นเกิดน้ำท่วมเป็นเวลาสองเดือน  ทำให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าพันบาท  ดังนี้ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานมีกำหนดเวลาหกเดือน  เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ประกอบมาตรา  641  ปลาม้าผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถมอเตอร์ไซค์ตามที่ตกลงไว้กับปลาดาว  คือ  เอาไปใช้ขับขี่ไปทำงานเท่านั้น

และตามมาตรา  645  กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมได้  ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  เช่น  การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ปลาม้าได้นำรถมอเตอร์ไซค์ไปให้ชะเมาเช่ารับจ้างรับคนโดยสาร  กรณีนี้จึงถือว่าปลาม้าได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  แล้ว  คือ  เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  ดังนั้น  เมื่อเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินที่ยืม  คือ  รถมอเตอร์ไซค์  ปลาม้าผู้ยืมจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น  ถึงแม้ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย  คือ  น้ำท่วมก็ตาม  ดังนั้น  ปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา  645  คือ  เรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมและบอกเลิกสัญญาให้ปลาม้านำรถมอเตอร์ไซค์มาคืนก่อนครบกำหนดได้

สรุป  ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมได้

 

ข้อ  2  นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันโดยให้นายตรีบุตรชายเป็นผู้ถือจดหมายไปมีใจความว่า  “ตอนนี้เดือดร้อนมากๆ  ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัวและแบ่งให้ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป  ต้องรบกวนจริงๆนะ  หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้”  ลงชื่อเอก  นายโทเอาเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทตามที่นายเอกขอยืม  1  ปีผ่านไป  นายเอกหายจากโรคร้าย  นายตรีค้าขายมีกำไรมากแต่ไม่นำเงินไปใช้คืนให้กับนายโท  แม้ว่านายโทมาทวงถามก็ไม่ยอมใช้คืน 

ดังนี้  นายโทจะอ้างนายตรีเป็นพยานและใช้บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  653  วรรคแรก  บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า  2,000  บาท  ขึ้นไป  จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี  คือ

1       หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  และ

2       ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ

สำหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้  ต้องมีสาระสำคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน  และต้องมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่กันแล้วด้วย  ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จำเป็นจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน  อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลายๆฉบับก็ได้  เมื่อนำเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน  หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว  ย่อมถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกเขียนจดหมายไปหานายโทเพื่อขอยืมเงินโดยให้นายตรีเป็นผู้ถือจดหมายไป  มีใจความว่า  “ตอนนี้เดือดร้อนมากๆ  ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัวและแบ่งให้ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป  ต้องรบกวนจริงๆนะ  หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้”  ลงชื่อเอก  และนายโทมอบเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทแล้วนั้น  ข้อความของจดหมายที่นายเอกลงลายมือชื่อแล้วดังกล่าว  เป็นเพียงการเสนอขอยืมเงินจำนวนแปดหมื่นบาท  เนื้อความในจดหมายยังไม่อาจยืนยันได้ว่านายโทส่งมอบเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทตามที่นายเอกขอยืม  แม้ว่าจะมีการส่งมอบเงินกันจริงแล้วก็ตาม  ดังนั้น  จดหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานเป็นหนังสือที่แสดงถึงการกู้ยืมแปดหมื่นบาท  ที่จะใช้เป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีตามมาตรา  653  วรรคแรกได้

สำหรับกรณีนายตรีนั้น  แม้จะรู้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันระหว่างนายเอกกับนายโท  แต่ก็ถือเป็นพยานบุคคล  ดังนั้น  นายโทจึงไม่สามารถอ้างนายตรีเป็นพยานเพื่อนำสืบว่ามีการส่งมอบเงินกันแล้วเพื่อบังคับให้นายตรีคืนเงินแปดหมื่นบาทได้  เพราะกรณีการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  กฎหมายบังคับให้ต้องนำพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น  ห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร (ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  94)

สรุป  นายโทจะใช้บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีและอ้างนายตรีเป็นพยานบุคคลเพื่อขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทไม่ได้

 

ข้อ  3  “สัญญาฝากทรัพย์ผู้รับฝากต้องทำให้เปล่าเท่านั้นจะเรียกบำเหน็จค่าฝากมิได้”  คำกล่าวนี้ถูกต้องตามหลักกฎหมายฝากทรัพย์หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  657  อันว่าฝากทรัพย์นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

สัญญาฝากทรัพย์นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  “ผู้ฝาก”  ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  “ผู้รับฝาก”  และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในความดูแลของตนแล้ว  จะส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ฝาก  เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการรับฝากหรือเมื่อผู้ฝากเรียกคืน  ตามมาตรา  657

โดยปกติแล้ว  สัญญาฝากทรัพย์นั้น  จะเป็นสัญญาที่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ได้  กล่าวคือ  อาจจะเป็นกรณีที่ผู้รับฝากทำให้เปล่า  หรืออาจจะเป็นกรณีที่ผู้รับฝากคิดเอาค่าบำเหน็จจากผู้ฝากก็ได้  เพราะตามมาตรา  657  มิได้บัญญัติว่าการรับฝากทรัพย์นั้นจะต้องเป็นการทำให้เปล่าแต่อย่างใด  และจากบทบัญญัติในมาตรา  659  ซึ่งบัญญัติหลักไว้ว่า  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีค่าบำเหน็จ  ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง  แต่ถ้าหากการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ผู้รับฝากจะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้น  เหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  รวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย  หรือหากผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น  ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัญญาฝากทรัพย์นั้นอาจเป็นการทำให้เปล่า  หรืออาจจะเรียกบำเหน็จค่าฝากก็ได้

ดังนั้น  คำกล่าวที่ว่า  “สัญญาฝากทรัพย์ผู้รับฝากต้องทำให้เปล่าเท่านั้นจะเรียกบำเหน็จค่าฝากมิได้”  จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายฝากทรัพย์  ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ ภาคซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงผู้ให้เช่าได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายได้เขียนไว้ว่า  ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปีแล้ว  แดงให้คำมั่นว่าต้องให้ผู้เช่าเช่าต่อได้อีก 3  ปี  และหากสัญญาเช่าสิ้นสุดลง  ผู้ให้เช่าต้องให้เงินกับผู้เช่า  50,000  บาท  เพื่อเป็นเงินค่าขนย้ายของต่างๆออกจากบ้านเช่า  โดยผู้เช่าต้องทำบ้านเช่าให้เรียบร้อยด้วย  ขาวเช่าบ้านได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น  แดงก็ยกบ้านหลังนี้ให้กับเขียวพี่ชายของตนเพื่อเป็นของขวัญวันแต่งงานและการยกให้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย  ปรากฏว่าสัญญาเช่าบ้านหลังนี้จะครบ  3  ปีในวันที่  25  มกราคม  2550  ครั้นถึงวันที่  20 มกราคม  2550  ขาวได้แจ้งให้เขียวทราบว่า  ขาวมีความประสงค์จะเช่าบ้านหลังนี้ต่อไปอีก  3  ปี  เขียวไม่ยินยอมให้ขาวเช่าต่อ  ดังนี้ในวันที่  26  มกราคม  2550  ถ้าขาวมาปรึกษาท่านเพื่อจะบังคับผู้ให้เช่าให้ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อสุดท้ายของสัญญาเช่าฉบับนี้ทั้งหมด  ท่านจะให้คำปรึกษาขาวว่าอย่างไรบ้างธงตำตอบมาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปีมาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ลงลาบมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดย่อมบังคับกันได้  3  ปี  เพราะทำถูกต้องตามมาตรา  538

เมื่อขาวเช่าบ้านมาเพียง  1  ปี  แดงยกบ้านให้เขียวโดยชอบด้วยกฎหมาย  ทำให้สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงและขาวไม่ระงับสิ้นไป  สัญญาเช่าจึงต้องผูกพันมายังเขียว  ตามมาตรา  569  แต่คำมั่นที่ปรากฏในสัญญาข้อสุดท้ายไม่ใช่สัญญาเช่าจึงทำให้คำมั่นของแดงระงับสิ้นไปประการหนึ่ง  และอีกประการหนึ่งข้อตกลงที่ผู้ให้เช่าต้องให้เงินกับผู้เช่า  50,000  บาทก็มิใช่สัญญาเช่า  แต่เป็นสัญญาอื่นจึงต้องระงับไปตามมาตรา  569  เช่นกัน

สรุป  สัญญาข้อสุดท้ายแม้จะปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าบ้านหลังนี้ก็ไม่สามารถบังคบเขียวให้ปฏิบัติตามได้  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

 

ข้อ  2   ก.  มืดได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านหลังหนึ่ง มีกำหนดเวลา  3  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อหนึ่งเขียนไว้ว่า  ผู้เช่าตกลงเช่าบ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมาย  ปรากฏว่าเช่าบ้านมาได้เพียง  6  เดือน  ม่วงนำน้ำมันเบนซินและสารเคมีที่มีอันตรายต่างๆ  มาเก็บไว้ในบ้านโดยผู้เช่าได้เลิกกิจการสำนักงานกฎหมายที่ตนทำอยู่ด้วย  มืดพบเหตุการณ์ดังกล่าวมืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเพราะถือว่าม่วงผิดสัญญา  ดังนี้การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

ก 

มาตรา  552  อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

มาตรา  554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา  552  มาตรา  553  หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา  ผู้ให้เช่าจะ

บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้  ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

มืดทำสัญญาให้ม่วงเช่าบ้านมีกำหนดเวลา  3  ปี  โดยสัญญาเช่าข้อหนึ่งเขียนว่า  ผู้เช่าตกลงเช่าบ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมาย  แต่ปรากฏว่าม่วงได้นำน้ำมันเบนซินและสารเคมีต่างๆมาเก็บไว้ในบ้านและยังได้เลิกกิจการสำนักงานกฎหมายที่ตนทำอยู่ด้วยจึงเป็นการผิดสัญญาเช่า  แต่อย่างไรก็ตามมืดจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  แม้ม่วงจะใช้ทรัพย์ไม่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา  ตามมาตรา  552  มืดต้องบอกกล่าวให้ม่วงใช้ทรัพย์ตามสัญญาเสียก่อน  ถ้าหากม่วงไม่ปฏิบัติตามมืดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ตามมาตรา  554  ดังนั้นการที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น  ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

วินิจฉัย

ถ้าเป็นสัญญาเช่าซื้อมืดก็จะบอกเลิกสัญญาไม่ได้  เพราะไม่ถือว่าม่วงผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญตามมาตรา  574

สรุป  ก  การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

         ข  มืดบอกเลิกสัญญาไม่ได้  คำตอบจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  ก.  นายบวรทำสัญญาจ้างนายมานะเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา  1  ปี  และทำสัญญาจ้างนายมาโนชน์เป็นลูกจ้างไม่มีกำหนดเวลา  ตกลงจ่ายสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือนๆละ  7,500  บาท  เมื่อนายมานะและนายมาโนชน์ทำงานครบกำหนด  1  ปี  ในวันที่  31  มกราคม  2550  นายบวรได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายมานะและนายมาโนชน์ทันที  แต่นายมานะและนายมาโนชน์ต่อสู้ว่ายังบอกเลิกสัญญาไม่ได้  เช่นนี้  นายบวรบอกเลิกสัญญาทันทีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ข.      นายดำทำสัญญาจ้างนายแก้วให้ทำการซ่อมทำสีรถยนต์ของตน  จำนวน  2  คัน  ใหม่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จในวันที่  31  มกราคม  2550  ตกลงจ่ายสินจ้างเป็นจำนวนเงิน  80,000  บาท  ต่อมาพี่ชายนายดำได้ยกรถยนต์ให้นายดำ  1  คัน  นายดำจึงบอกเลิกสัญญาที่ทำกับนายแก้วที่ให้ซ่อมทำสีรถยนต์ในวันที่  30  มกราคม  2550  แต่นายแก้วได้ทำการซ่อมทำสีรถยนต์เสร็จแล้วจำนวน  1  คัน  และกำลังซ่อมทำสีอีกคันหนึ่งอยู่จึงไม่ยินยอมที่จะมาบอกเลิกสัญญา  เช่นนี้นายดำจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายแก้วได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

สัญญาจ้างแรงงานนายมานะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลา  1  ปี  เมื่อครบกำหนดเวลา  1  ปี  ในวันที่  31  มกราคม  2550  นายบวรนายจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที  เพราะสัญญามีกำหนดเวลา  ครบกำหนดเวลาแล้ว  ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

สัญญาจ้างแรงงานนายมาโนชน์เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  582  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาก็ได้  โดยดำเนินการตามมาตรา  582  วรรคแรก  ซึ่งจะต้งอบอกกล่าวก่อนและให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  คือในวันที่  31  มกราคม  2550  จะต้องบอกกล่าวก่อนว่าจะเลิกสัญญาและบอกเลิกสัญญาได้ในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2550

แต่ถ้านายบวรจะเลิกสัญญาจ้างทันที  ในวันที่  31  มกราคม  2550  ก็ได้  โดยดำเนินการตามมาตรา  582  วรรคสอง  คือ  จ่ายสินจ้างให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วให้ออกจากงานได้ทันที  กล่าวคือ  ให้จ่ายค่าจ้างให้นายมาโนชน์เป็นจำนวนเงิน  15,000  บาท  ในวันที่  31  มกราคม  2550  แล้วให้ออกจากงานได้ทันที

   สัญญาจ้างทำของนั้นตามมาตรา  605  ถ้าการจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้าง  เมื่อนายแก้วทำการซ่อมสีรถยนต์เสร็จเพียง  1  คัน  จากทั้งหมด  2  คัน  จึงถือว่าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จตามมาตรา  605  นายดำผู้ว่าจ้างจึงสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายแก้วในวันที่  30  มกราคม  2550  ได้

แต่นายดำต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลิกสัญญานั้นให้แก่นายแก้วด้วยตามมาตรา  605

สรุป  ก  กรณีนายมานะ  นายบวรบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที

กรณีนายมาโนชน์  นายบวรจะบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีไม่ได้  ต้องบอกกล่าวก่อน

ข  ดำบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 
 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ
 
ข้อ  1  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2540  แดงได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา  5  ปี  แต่มิได้จดทะเบียนการเช่า  ขาวเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้เพียง  1  ปี  แดงได้ยกตึกแถวนี้ให้กับมืดโดยเสน่หาเมื่อวันที่  1  มกราคม  2541  สัญญาเช่าที่แดงทำกับขาวไว้นั้นระบุชัดเจนว่าต้องชำระค่าเช่าทุกๆ  6  เดือน  คือจะต้องชำระค่าเช่าตรงกับวันที่  30  มิถุนายน  และ  31  ธันวาคมของแต่ละปี 
 แม้สัญญาเช่าครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  1  มกราคม  2545  แต่ขาวก็ยังคงอยู่ในตึกแถวนี้มาจนถึงปัจจุบันและได้จ่ายค่าเช่าให้กับมืดมาตลอดโดยมืดมิได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับขาวเลย  แม้ว่าขาว  จะไม่เคยผิดสัญญาแต่มืดต้องการตึกแถวคืน  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวในวันที่  31  สิงหาคม  2549  และให้เวลาขาวส่งมอบตึกคืนในวันที่  30  กันยายน  2549  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
 
มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
 
มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน
 
มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
 
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
 
มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา
 
วินิจฉัย
 
สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้  3  ปี  ตามมาตรา  538  เมื่อเช่ามา  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้มืด  สัญญาเช่าไม่ระงับ  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  ส่วนการเช่าหลังจากครบ  3  ปี  เป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570  ข้อตกลงต่างๆ  จึงเป็นไปตามสัญญาเดิม
 
มืดบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  566  แม้ขาวจะไม่ผิดสัญญา  แต่การบอกเลิกจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน  เมื่อมืดบอกเลิกวันที่  31  สิงหาคม  2549  จะต้องให้เวลาถึงวันที่  31  ตุลาคม  2549  การที่มืดให้ขาวส่งมอบตึกคืนในวันที่  30  กันยายน  2549  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
สรุป  การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อ  2  ก.  เขียวทำสัญญาเป็นหนังสือให้ดำเช่าโกดังเก็บสินค้ามีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าระบุไว้ว่า  “ห้ามนำวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเข้ามาเก็บไว้ในโกดัง  ถ้าหากผู้เช่าฝ่าฝืนผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที”  การเช่าดำเนินมาเพียง  6  เดือนเท่านั้น  ดำฝ่าฝืนข้อสัญญานำน้ำมันเบนซินจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้ในโกดังเก็บสินค้า  เขียวทราบจึงบอกเลิกสัญญาทันที  ดังนี้เขียวมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด
 
ข   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด
 
ธงคำตอบ 
 
มาตรา  552  อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
 
มาตรา  554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา  552  มาตรา  553  หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา  ผู้ให้เช่าจะ
 
บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้  ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
 
ก 
 
วินิจฉัย
 
เขียวทำสัญญาเช่ากับดำโดยให้ดำเช่าโกดังเก็บสินค้ามีกำหนดเวลา  3  ปี  และสัญญาเช่าระบุไว้ว่า  “ห้ามนำวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเข้ามาเก็บไว้ในโกดัง  ถ้าหากผู้เช่าฝ่าฝืนผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที”  การที่ดำฝ่าฝืนข้อสัญญานำน้ำมันเบนซินจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้ในโกดัง  เขียวย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญา  ไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญาก่อนตามมาตรา  554  แต่อย่างใด  เพราะมาตรา  554  ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  คู่สัญญาสามารถตกลงยกเว้นได้
 
 
มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
 
อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น  ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง
 
วินิจฉัย
 
ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อจะไม่ถือว่าดำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญตามมาตรา  574  คำตอบจึงแตกต่างกัน  เขียวจะบอกเลิกสัญญายังไม่ได้
 
สรุป  ก  เขียวบอกเลิกสัญญาได้
 
ข  เขียวบอกเลิกสัญญาไม่ได้
 
ข้อ  3  มานะทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือกับนิพรซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำการก่อสร้างอาคาร  5  ชั้น  ตกลงใช้เวลาก่อสร้าง  10  เดือน  และตกลงจะชำระสินจ้างเป็นงวดๆ  รวมทั้งหมด  เป็นจำนวนเงิน  6  ล้านบาท  นิพรเห็นว่ามีงานที่ต้องก่อสร้างมากขึ้นจึงทำสัญญาจ้างหนึ่งเป็นหัวหน้าคนงาน  มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ  9,000  บาท และทำสัญญาจ้างสองและสามเป็นลูกจ้างทั่วไปไม่มีกำหนดเวลา  ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ  7,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้
 
ก.       ถ้าหากนิพรก่อสร้างอาคารไปแล้ว  3  เดือน  มานะประสบปัญหาทางการเงินจึงบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร  แต่นิพรต่อสู้ว่าสัญญาจ้างมีหลักฐานชัดเจนเป็นหนังสือให้ก่อสร้างอาคารในระยะเวลา  10  เดือน  จึงต้องปฏิบัติตามสัญญา  เช่นนี้ท่านเห็นว่านิพรจะต่อสู้ได้หรือไม่เพราะเหตุใด  จงอธิบาย
 
ข.      ถ้าหากนิพรเห็นว่าการงานลดน้อยลง  จึงบอกกล่าวสองและสามว่าจะบอกเลิกสัญญาในวันที่  15  กันยายน  และบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  25  ตุลาคม  แต่สองและสามต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นนี้ทำไม่ได้  เช่นนี้  ท่านเห็นว่าสองและสามจะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย
 
ธงคำตอบ
 
มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
 
อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้
มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
 
มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
 
วินิจฉัย
 
 
มานะทำสัญญาจ้างนิพรให้ก่อสร้างอาคาร  5  ชั้น  ภายในกำหนดเวลา  10  เดือน  เป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา  587  เมื่อก่อสร้างได้เพียง  3  เดือน  ซึ่งการจ้างยังทำไม่เสร็จ  ตามมาตรา  605  นั้น  ให้สิทธิผู้ว่าจ้าง  (มานะ)  ที่จะบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นิพรที่จะได้รับความเสียหายจากการเลิกสัญญานี้  ดังนั้นนิพรต่อสู้ไม่ได้
สัญญาจ้างสองและสามเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดเวลา  จึงสามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  582  กำหนดไว้  คือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  ดังนั้นการที่มานะบอกกล่าววันที่  15  กันยายน  และบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  25  ตุลาคม  จึงไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือการบอกกล่าววันที่  15     กันยายน  ถือว่าเป็นการบอกกล่าวของงวดวันที่  30  กันยายน  และมีผลบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  31  ตุลาคม  ดังนั้นสองและสามต่อสู้ได้
สรุป  ก  นิพรต่อสู้ไม่ได้
 
ข  สองและสามต่อสู้ได้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงและขาวทำสัญญาเช่าบ้านเป็นหนังสือ  โดยแดงผู้ให้เช่าตกลงให้ขาวผู้เช่าบ้านมีบริเวณและโรงรถด้วยมีกำหนดเวลา  3  ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆสิ้นเดือน  เดือนละ  10,000  บาท  สัญญาเช่าข้อ  5  ระบุไว้ว่า  เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปี  ผู้เช่าตกลงจะรื้อโรงรถเดิมที่ทำด้วยไม้และผู้เช่าจะต้องสร้างโรงรถใหม่ที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้กับผู้ให้เช่า  ดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำโรงรถใหม่นี้ด้วย  ขาวเช่าบ้านนี้ได้เพียง  1  ปี  แดงได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  ปรากฏว่าขาวเช่าบ้านมาจนครบ  3  ปีพอดี  ซึ่งตรงกับสิ้นปี  2549  ขาวยังคงอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน  และนำค่าเช่าไปชำระให้กับมืดทุกเดือนโดยมืดมิได้ทักท้วงแต่ประการใด  ปรากฏว่า  วันที่  19  มีนาคม  2550  มืดได้แจ้งให้ขาวปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาเช่าข้อที่  5  แต่ขาวไม่ยอมปฏิบัติตาม  ดังนี้ท่านเห็นว่าขาวจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

การเช่าระหว่างขาวและแดงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดไม่เกิน  3  ปี  เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่าจึงชอบด้วยกฎหมาย  สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามมาตรา  538  เมื่อขาวเช่าบ้านมาเพียง  1  ปี  แดงขายบ้านให้มืด  สัญญาเช่าระหว่างแดงและขาวไม่ระงับตามมาตรา  569  วรรคแรก  มืดต้องให้ขาวเช่าจนครบ  3  ปี  แต่ข้อตกลงในสัญญาข้อ  5  มืดไม่ต้องรับมา  มืดจะรับมาเฉพาะสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสองเท่านั้น  แต่สัญญาข้อ  5  เป็นสิทธิของมืดตามสัญญาอื่น  (ข้อตกลงอย่างอื่นไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องการเช่า)  มืดจึงไม่มีสิทธิบังคับให้ขาวปฏิบัติตาม  และสัญญาเช่าตั้งแต่เดือน  มกราคม  2550  ถึงปัจจุบันเป็นสัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา  570  ซึ่งจะต้องเอาหลักเกณฑ์ตามสัญญาเดิม  ซึ่งเป็นสัญญาเช่ามาผูกพันผู้รับโอนได้เท่านั้น

สรุป  ขาวไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว

 

ข้อ  2  ก.  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2550  ม่วงได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนในวันที่  31  มกราคม  2550  เหลืองไม่ชำระค่าเช่าเพราะเหลืองเห็นว่าเหลืองได้ชำระค่าเช่าให้กับม่วงล่วงหน้าแล้ว  2  เดือน  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2550  ม่วงจึงแจ้งให้เหลืองนำค่าเช่าซึ่งจะต้องชำระให้เหลืองเดือนละ  20,000  บาท  มาชำระโดยจะต้องนำมาชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่  18  กุมภาพันธ์  2550  แต่เหลืองก็ยังนิ่งเฉยเสีย  ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาทันที  ในวันที่  19  กุมภาพันธ์  2550 ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ข.       ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก. เป็นสัญญาเช่าซื้อและมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่  5  กุมภาพันธ์  2550  เหลืองนำรถยนต์ไปจำนำไว้กับดำโดยไม่คิดจะไถ่คืน  ม่วงจะบอกเลิกสัญญาทันทีในวันที่  6  กุมภาพันธ์  2550  ซึ่งม่วงได้ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ม่วงทำสัญญาเช่ารถยนต์กับเหลืองมีกำหนด  2  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ  สิ้นเดือนต่อมาในวันที่  31  มกราคม  2550  เหลืองไม่ชำระค่าเช่าเพราะเห็นว่าเหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้ว  2  เดือน  ดังนี้แม้ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2550  ม่วงจะแจ้งให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่  18  กุมภาพันธ์  2550  และเหลืองก็นิ่งเฉยไม่ชำระก็ตาม  ม่วงก็จะบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้เพราะแม้ม่วงจะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรา  560  มาใช้โดยถูกต้องก็ตาม  แต่เหลืองได้ชำระค่าเช่าไว้ล่วงหน้าถึง  2  เดือน  ดังนั้นเหลืองจึงนำค่าเช่าที่ให้ไว้ล่วงหน้ามาหักกลบลบกับค่าเช่าที่ยังไม่ชำระเพียงเดือนเดียวได้

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

หากข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  และเหลืองนำรถยนต์ไปจำนำโดยไม่คิดจะไถ่คืน  ถือว่าเหลืองผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เพราะเหลืองไม่เคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อม่วงจึงบอกเลิกสัญญาได้ทันทีในวันที่  6  กุมภาพันธ์  2550

สรุป  ก  การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข  ม่วงบอกเลิกสัญญาได้ทันที

 

ข้อ  3  ก.  นายรุจิได้ไปเที่ยว  จ. เชียงใหม่  และรู้จัก  น.ส. พรตา  ซึ่งทำอาหารเก่ง  นายรุจิได้ทำสัญญาจ้าง  น.ส.  พรตา  ให้มาเป็นแม่ครัวที่กรุงเทพฯ  เป็นเวลา  2  ปี  ตกลงจ่ายค่าจ้างให้เดือนละ  8,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  โดยให้ค่ารถเดินทางจาก  จ.  เชียงใหม่  มากรุงเทพฯด้วย  สัญญาจ้างมีกำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม  2548  ถึงเดือนกุมภาพันธ์  2550  น.ส.  พรตา  ทำงานเรื่อยมาจนถึงวันที่  28  กุภาพันธ์  2550  นายรุจิต้องการเปลี่ยนแม่ครัวคนใหม่จึงบอก  น.ส.พรตาว่าไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วในเดือนมีนาคม   น.ส. พรตาเห็นว่านายรุจิจะต้องบอกกล่าวให้ตนทราบก่อนหรือจ่ายให้เป็นเงินเดือนแทนหนึ่งเดือน  อีกทั้ง  น.ส.  พรตาต้องการกลับบ้านที่  จ.เชียงใหม่  แต่ไม่มีเงินจึงขอให้นายรุจิจ่ายค่ารถเดินทางกลับบ้านให้ด้วย  เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใดจงอธิบาย

ข.      นายวิกรมทำสัญญาจ้างนายกนกให้ก่อสร้างบ้าน  1  หลัง  ตกลงจ่ายสินจ้าง  3  ล้านบาทโดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ  ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตกลงว่าจะก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จในวันที่  31  มกราคม  ถ้าหากว่านายกนกมาสามารถส่งมอบบ้านได้ทันในวันที่  31  มกราคม  แต่ได้ส่งมอบบ้านให้นายวิกรมในวันที่  30  มีนาคม    เช่นนี้ตามกฎหมายนายวิกรมจะมีสิทธิดำเนินการกับนายกนกได้อย่างไรบ้าง  เพราะเหตุใด  และมีข้อยกเว้นตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่ที่นายกนกจะไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีการส่งมอบงานล่าช้า  กฎหมายกำหนดว่าอย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  586  ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้  เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง  และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว  ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้  แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้คือ

1       สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง  และ

2       ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

วินิจฉัย

นายรุจิได้ทำสัญญาจ้าง  น.ส.พรตา  เป็นแม่ครัวมีกำหนด  2  ปี  ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ  8,000  บาท  ทุกวัยสิ้นเดือน  โดยสัญญาจ้างดังกล่าวมีกำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม  2548  ถึงเดือนกุมภาพันธ์  2550  สัญญาจ้างระหว่างนายรุจิกับ  น.ส.พรตา  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลา  2  ปี  เมื่อครบกำหนดเวลา  2  ปี  ตามสัญญา  นายรุจิมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา

นายรุจิได้ให้ค่ารถเดินทางจาก  จ.เชียงใหม่   มากรุงเทพฯ  จึงเป็นกรณีตามมาตรา  586  ที่นายจ้างได้จ้างลูกจ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้  เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงนายจ้างจะต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้  นายรุจิจึงต้องจ่ายค่าเดินทางขากลับให้แก่  น.ส.พรตา

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา  596  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา  597  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน  ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

วินิจฉัย

นายวิกรมทำสัญญาจ้างนายกนกก่อสร้างบ้าน  1  หลัง  ตกลงจ่ายสินจ้าง  3  ล้านบาท  และตกลงว่าจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในวันที่  31  มกราคม  แต่นายกนกไม่สามารถส่งมอบบ้านได้ทันในวันที่  31  มกราคม  กลับส่งมอบบ้านให้นายวิกรมในวันที่  30  มีนาคม  ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญา  ดังนี้ตามสัญญาจ้างทำของ  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลงได้ตามมาตรา  596  เมื่อนายกนกส่งมอบบ้านล่าช้า  ในวันที่  30  มีนาคมเช่นนี้  นายวิกรมขอให้ลดสินจ้างลงบางส่วนได้

แต่นายกนกอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบในการส่งมอบงานล่าช้า  ซึ่งอาจเกิดขึ้น  2  กรณีคือ  กรณีตามมาตรา  591  หากความล่าช้าเกิดขึ้นเพราะสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้  หริเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างเอง  และมาตรา  597  หากผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ทำโดยมิได้อิดเอื้อน

สรุป  ก  นายรุจิต้องจ่ายค่าเดินทางขอกลับให้แก่  น.ส.พรตา

ข  นายวิกรมขอให้ลดสินจ้างลงบางส่วนได้  และข้อยกเว้นตามกฎหมายที่นายกนกไม่ต้องรับผิดเป็นไปตามมาตรา  591  และ  597

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหลังหนึ่งเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมายมีกำหนดเวลา  3  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ  50,000  บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อที่  10  มีข้อตกลงว่า  ขาวผู้เช่าเป็นผู้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในตึกแถวหลังนี้  โดยขาวเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด  ซึ่งเป็นเงิน  500,000  บาท  

และเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วผู้ให้เช่ายินยอมรับซื้อเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่ในตึกแถวหลังนี้ในราคา  300,000  บาท  ขาวเช่าตึกแถวนี้ได้เพียง  2  ปี  แดงได้ยกตึกแถวให้กับมืดโดยการยกให้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย  ขาวอยู่ในตึกแถวต่อมาโดยมิได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับมืด  ครั้นสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อขาวอยู่ในตึกแถวจนครบ  3  ปีแล้ว  ขาวจึงเรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาเช่าข้อที่  10  มืดปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงิน  300,000  บาทให้กับขาว  ท่านเห็นว่าการปฏิเสธของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

สัญญาเช่าตึกแถวเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือ  ตามมาตรา  538  สามารถบังคับกันได้  แดงผู้ให้เช่ายกตึกแถวให้มืดเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  มืดจึงต้องให้ขาวเช่าจนครบ  3  ปี  เพราะมืดเป็นผู้รับโอนยอมรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง  แต่ข้อตกลงข้อที่  10  มืดไม่ต้องรับเอาข้อตกลงนี้มาด้วย  เพราะข้อตกลงดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงตามสัญญาเช่า  (แต่เป็นข้อตกลงเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องเช่า)  คำปฏิเสธของมืดจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำปฏิเสธของมืดชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  ก.  เขียวทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านหลังหนึ่งมีกำหนดเวลา  5  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ  20,000  บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน  ม่วงเช่าบ้านมาเพียง  1  ปีเท่านั้น  ปรากฏเหตุการณ์ขึ้นกับบ้านเช่าหลังนี้คือกระเบื้องหลังคาแตกไปประมาณ  20  เซนติเมตร ทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาในบ้านหลังนี้  เขียวทราบเหตุการณ์ดังกล่าวจากม่วงแต่เขียวไม่ยอมซ่อมแซมให้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  เขียวกลับบอกให้ม่วงทำการซ่อมแซมให้เสร็จภายใน  15  วันแต่ม่วงกินิ่งเฉยเสียจนล่วงเลยเวลามาถึง  20  วัน  ดังนี้เขียวจึงบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับม่วงทันที  ท่านเห็นว่าการกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.      ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  553  ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง  และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

มาตรา  554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา  552  มาตรา  553  หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา  ผู้ให้เช่าจะ

บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้  ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กระเบื้องหลังคาแตกไปประมาณ  20  เซนติเมตร  ถือว่าเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อย  ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เช่าตามมาตรา  553  และเมื่อผู้ให้เช่าบอกกล่าวให้ซ่อมแซมคือบอกให้ทำให้ถูกต้องตามมาตรา  554  ผู้เช่าไม่ซ่อมแซม  จึงทำให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้  เขียวจึงบอกให้ม่วงซ่อมแซมได้เพราะเป็นหน้าที่ของม่วง

สรุป  การที่เขียวบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

มาตรา  572  อันว่าเช่าซื้อนั้น  คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า  และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น  หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า  โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว

สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

สัญญาเช่าซื้อบ้านทำเป็นหนังสือถูกต้องจึงบังคับระหว่างคู่สัญญาได้  5  ปี  แต่การกระทำของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะไม่ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  แม้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ซ่อมแซมเล็กน้อย  ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ซ่อมแซมจะถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญไม่ได้  เป็นเพียงผิดสัญญาธรรมดา  จึงบอกเลิกสัญญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  574  ไม่ได้

สรุป  เขียวบอกเลิกสัญญาไม่ได้

 

ข้อ  3  ก.  การคิดสินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของแตกต่างกันอย่างไร  จงอธิบาย

ข.      น้ำเงินจ้างเหลืองมาเป็นลูกจ้างประจำร้านขายของโดยไม่มีกำหนดเวลา  ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์  เหลืองได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ  3,000  บาท  โดยปกตกลูกจ้างของน้ำเงินจะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา  8.30  น.  แต่ปรากฏว่าเหลืองมาทำงาน  9.30  น.  ของวันจันทร์ในแต่ละสัปดาห์  เป็นประจำและหลายครั้ง  ครั้นในวันที่  28  พฤษภาคม  2550  เหลืองมาทำงานสายอีก  น้ำเงินจึงบอกเลิกไม่จ้างเหลือง  และให้เหลืองออกจากงานตั้งแต่วันที่  1  มิถุนายน  2550  ท่านเห็นว่าการบอกเลิกดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

–                    สัญญาจ้างแรงงาน  คิดสินจ้างให้ตลอดเวลา  ซึ่งอาจจะจ่ายสินจ้างเป็นรายวัน  รายเดือน  เป็นต้น

–                    สัญญาจ้างทำของ  คิดสินจ้างเมื่อทำงานเสร็จ

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

ลูกจ้างมาทำงานสายเป็นประจำ  แม้จะมาสายอาทิตย์ละครั้ง  ก็ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เหมาสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต  น้ำเงินจึงเลิกจ้างเหลืองได้เลย  เป็นการไล่ออกตามมาตรา  583  แม้เป็นสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่มีกำหนดเวลาก็ไม่จำต้องบอกเลิกตามมาตรา  582

สรุป  การบอกเลิกจ้างดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

WordPress Ads
error: Content is protected !!