การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา MCS 2201 การเขียนข่าว
คำแนะนำ ข้อสอบมีทั้งหมด 8 ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ
ข้อ 1 เหตุใดข่าวนักศึกษายกพวกตีกันจึงได้รับการนำเสนอเป็นข่าว และมีการรายงานอย่างต่อเนื่องในสื่อมวลชนนานหลายวัน จงอธิบายโดยใช้หลักการด้านคุณค่าเชิงข่าวประกอบการพิจารณา
แนวคำตอบ
เหตุการณ์ข้างต้นได้รับการนำเสนอเป็นข่าวและมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าเชิงข่าว (News Values)
1 ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร คือ เหตุการณ์ข้างต้นมีความเกี่ยวพันกับผู้รับสารในแง่เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ทำให้ผู้รับสารมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นลูกหลงเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
2 ความเปลี่ยนแปลง คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะถึงแม้ว่าการยกพวกตีกันของนักเรียน/นักศึกษาจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยกพวกตีกันทุกวันจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน
3 ความไม่คาดคิด คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดขึ้นในวัน – เวลาใด สถานที่ไหน
4 ความมีเงื่อนงำ คือ เหตุการณ์ข้างต้นยังไม่สามารถคลี่คลายได้ว่าจะจบลงอย่างไร ตำรวจจะจับตัวนักศึกษาที่ยกพวกตีกันได้หรือไม่ และจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
5 เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ เหตุการณ์ข้างต้นทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่างๆ เช่น รู้สึกสลดใจที่เห็นนักศึกษาทำตัวเป็นนักเลง ยึดถือค่านิยมผิดๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการตีกัน หรือเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตกเป็นลูกหลงในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นต้น
6 ความใกล้ชิด คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เพราะเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงทำให้ผู้อ่านให้ความสนใจมากกว่าเหตุการณ์ที่ไกลตัวและเกิดขึ้นไกลบ้าน
7 ความโดดเด่น / ดัง / ชื่อเสียง คือ เหตุการณ์ข้างต้นเกี่ยวข้องกับความมีชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา ซึ่งนักศึกษาที่ยกพวกตีกันเรียนอยู่ เพราะเป็นสถานที่ที่ประชาชนรู้จักกันโดยทั่วไป
8 ความขัดแย้ง / การเผชิญหน้า คือ เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ในลักษณะความขัดแย้งทั้งทางกายและทางความคิด รวมทั้งมีการเผชิญหน้าหรือปะทะกันระหว่างนักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน
9 ความทันต่อเวลา คือ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น เพิ่งเปิดเผยหรือเพิ่งรับรู้ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้อ่าน
ข้อ 2 ข่าวบันเทิงและข่าวอาชญากรรมมีคุณค่าเชิงข่าวด้านใดบ้าง ยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย
แนวคำตอบ
ข่าวบันเทิงมีคุณค่าเชิงข่าว (New Values) โดยรวม ดังนี้
1 ความโดนเด่น / ดัง / มีชื่อเสียง คือ ข่าวบันเทิงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นที่รู้จักของประชาชน เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง หรือบุคคลที่เด่นๆในวงการ
2 เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ข่างบันเทิงเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในแวดวงบันเทิง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเพศ เช่น พฤติกรรมความสัมพันธ์ส่วนตัวของดารา – นักร้องชาย/หญิง การแต่งงาน การหย่าร้าง เรื่องพวกเกย์ และเลสเบี้ยน เป็นต้น
3 ความทันต่อเวลา คือ ข่าวบันเทิงเป็นเหตุการณ์สดใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ หรือบางเรื่องก็เกิดขึ้นมานานแล้วแต่เพิ่งเปิดเผย เพิ่งรับรู้ เช่น ข่าวเรื่องคลิปหลุดดาราที่ถ่ายไว้นานแล้ว แต่เพิ่งปล่อยออกมาเผยแพร่ เป็นต้น
4 ความใกล้ชิด คือ ข่าวบันเทิงเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวเพราะเกิดขึ้นในสังคมไทย และยังเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งต้องการความบันเทิงเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น ละคร ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น วรรณกรรม งานศิลปะ เป็นต้น
ข่าวอาชญากรรมมีคุณค่าเชิงข่าว (News Value) โดยรวม ดังนี้
1 ความเกี่ยวพันกับผู้รับสาร คือ ข่าวอาชญากรรมเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้อ่าน เช่น การนำเสนอข่าวชิงทรัพย์อาจทำให้ผู้อ่านระมัดระวังไม่นำของมีค่าติดตัว หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่เปลี่ยวๆ เป็นต้น
2 ความเปลี่ยนแปลง คือ ข่าวอาชญากรรมเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ข่าวภัยพิบัติ ข่าวประท้วง จลาจล ฯลฯ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆทุกวัน เป็นต้น
3 ความไม่คาดคิด คือ ข่าวอาชญากรรมเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น เช่น ข่าวฆ่าตัวตายบางข่าวก็ใช้วิธีการที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อน เป็นต้น
4 ความมีเงื่อนงำ คือ ข่าวอาชญากรรมบางข่าวยังไม่รู้ว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร เช่น ข่าวข่มขืน ข่าวฆาตกรรม ซึ่งตำรวจยังไม่สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุได้ เป็นต้น
5 เร้าความสนใจของมนุษย์ คือ ข่าวอาชญากรรมทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ต่างๆ เช่น กลัว ตื่นเต้น โกรธ หดหู่ ฯลฯ
6 ความใกล้ชิด คือ เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น ข่าวปล้น – ฆ่า อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
7 ความขัดแย้ง / การเผชิญหน้า คือ ข่าวอาชญากรรมเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งทั้งทางกายและความคิด มีการเผชิญหน้าปะทะกัน เช่น ข่าวฆาตกรรม ข่าวประท้วง การจลาจล ฯลฯ
8 ความทันต่อเวลา คือ ข่าวอาชญากรรมเป็นข่าวที่สดใหม่ ทันเหตุการณ์ หรือบางข่าวก็เพิ่งเปิดเผย เช่น ข่าวข่มขืนที่มีการกระทำต่อเนื่องมานาน แต่เพิ่งนำเสนอเป็นข่าว เป็นต้น
ข้อ 3 ปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านองค์กร ได้แก่ ความเป็นเจ้าของสื่อ นโยบายด้านข่าว วัฒนธรรมองค์กร และจรรยาบรรณ ปัจจัยด้านการเมืองการปกครอง มีผลอย่างไรบ้างต่อการเสนอข่าวของสื่อมวลชน
แนวคำตอบ
สื่อมวลชนจะให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละชิ้นแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยมีมุมมองและประเด็นที่เน้นในการนำเสนอไม่เหมือนกัน เช่น หนังสือพิมพ์บางฉบับจะให้ความสำคัญกับข่าวอื้อฉาวของคนดัง บางฉบับเน้นข่าวการเมือง บางฉบับเน้นข่าวชาวบ้าน ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยที่มีผลต่อการประเมินคุณค่าข่าว”
1 ปัจจัยด้านบุคคล (ผู้สื่อข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการที่เกี่ยวข้อง) ได้แก่
– เชื้อชาติ ศาสนา คือ อคติเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติและศาสนา เพราะบุคคลที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน ก็ย่อมเกิดความลำเอียงในการเลือกแง่มุมของข่าวที่จะนำมาเสนอ
– ค่านิยม สำนึก และมุมมอง ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางการศึกษา
– ความเป็นวิชาชีพ คือ หนังสือพิมพ์จะต้องมีอุดมการณ์และวิญญาณแห่งวิชาชีพโดยต้องรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ ควรหรือไม่ควรลงข่าว
– การรับรู้และความสนใจของผู้รับสาร คือ การประเมินเรื่องที่คิดว่าผู้อ่านน่าจะให้ความสนใจมากที่สุด
2 ปัจจัยด้านองค์กร แบ่งออกเป็น
นโยบายของสื่อ ได้แก่
– ความเป็นเจ้าของสื่อ คือ หนังสือพิมพ์มีใครเป็นเจ้าของสื่อ หรือมีใครเป็นผู้โฆษณารายใหญ่ หนังสือพิมพ์นั้นก็อาจเน้นเสนอข่าวที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสื่อ หรือผู้โฆษณารายนั้นๆ
– นโยบายการบริหาร คือ หนังสือพิมพ์มีนโยบายเน้นทำกำไร เอาตัวรอดหรือเน้นชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งมีผลให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้ความสำคัญแก่ข่าวแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามนโยบายการบริหาร
– นโยบายด้านข่าว / เนื้อหา คือ หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะเน้นประเภทของข่าวที่จะนำเสนอ ความลึก ลีลาการเขียน ฯลฯ ที่แตกต่างกัน
วัฒนธรรมองค์กร คือ แบบปฏิบัติขององค์กรนั้นๆ ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ได้แก่
– จรรยาบรรณ คือ ข้อควรปฏิบัติของแต่ละองค์กร ซึ่งอาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
– การเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส หรือรากหญ้า
– การให้ความหมายกับข่าวบางประเภท เช่น ข่าวสังคม ข่าววัฒนธรรม ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวท้องถิ่น ฯลฯ ว่าจะเน้นนำเสนอหรือไม่
3 ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางการเมือง การปกครอง และสังคม ซึ่งมีผลทำให้บางเรื่องรายงานได้ แต่บางเรื่องรายงานไม่ได้ ได้แก่
– ความมั่นคง ผลประโยชน์ของชาติ
– ผลประโยชน์ทางการเมืองระดับประเทศ และนานาชาติ
ข้อ 4 การสัมภาษณ์บุคคลเพื่อรายงานข่าวมีหลักการอะไรบ้าง และผู้สื่อข่าวควรเตรียมการอย่างไรบ้างก่อนการสัมภาษณ์
แนวคำตอบ
หลักการสัมภาษณ์บุคคลเพื่อรายงานข่าว มีดังนี้
1 ผู้สื่อข่าวควรสัมภาษณ์บุคคลที่มีความเด่นและเป็นผู้รู้ในเรื่องนั้นจริงๆ สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องราวที่กำลังเป็นข่าว ซึ่งผู้ถูกสัมภาษณ์อาจเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ พยานรู้เห็น หรือเจ้าของกรณีก็ได้
2 ผู้สื่อข่าวต้องพยายามศึกษาหาเทคนิคสร้างความคุ้นเคย หรือรู้จักใช่จิตวิทยาการสื่อสารเพราะข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้อื่น จึงไม่ควรถูกบิดเบือนจากผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องระมัดระวังความรู้สึกที่เป็นอคติต่อเรื่องใดๆที่อาจเกิดขึ้น
3 ผู้สื่อข่าวพึงระมัดระวังเรื่องของความเป็นกลางเป็นพิเศษ ได้แก่ ข้อผิดพลาดอันเกิดจากการถูกชักจูงโดยแหล่งข่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสัมภาษณ์ และสูญเสียความเป็นกลางในการตั้งคำถาม ตลอดจนการเลือกเสนอข้อเท็จจริงในข่าว ดังนั้นในบางกรณีผู้สื่อข่าวอาจต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวอื่นๆรอบด้าน
4 ผู้สื่อข่าวควรเตรียมคำถามให้ตรงกับเป้าหมาย สามารถดึงคำตอบจากผู้ถูกสัมภาษณ์ได้มากที่สุด โดยคำถามต้องรัดกุม เหมาะสม สั้น ชัดเจน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกถามตอบคำถามได้ยาวๆ มีใจความและแนวทางไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ แต่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำถามปิดที่ส่งผลให้ผู้ตอบตอบรับหรือปฏิเสธเท่านั้น
5 ในการจบการสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวควรสร้างเยื่อใยความสัมพันธ์ที่ดีไว้สำหรับการติดต่อกับแหล่งข่าวในคราวต่อๆไป ควรมีมารยาท และสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ประทับใจผู้ถูกสัมภาษณ์ไว้ด้วยคุณลักษณะการอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างกัน
การเตรียมการก่อนการสัมภาษณ์
1 ศึกษาภูมิหลังของบุคคลที่ผู้สื่อข่าวจะไปสัมภาษณ์ล่วงหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งศึกษาภูมิหลังรายละเอียดของเรื่องราวที่ผู้สื่อข่าวตั้งใจจะไปสัมภาษณ์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน
2 เตรียมคำถามซึ่งผู้สื่อข่าวคาดว่าจะได้รับคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงเผื่อไว้สัก 1 ชุด เพื่อให้เป็นเสมือนกรอบสำหรับการดำเนินการสัมภาษณ์
3 ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งผู้สื่อข่าวจะต้องใช้ในการสัมภาษณ์ให้อยู่ในสภาพที่จะใช้การได้ทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ตรวจสอบดูว่าเครื่องบันทึกเสียงที่จะใช้นั้นมีแบตเตอรี่เต็ม มีตลับแถบบันทึกเสียงพร้อม สามารถบันทึกเสียงได้ชัดเจน ตรวจสอบกล้องถ่ายรูปว่าได้ใส่ฟิล์มและมีแฟลชพร้อมที่จะใช้งานแล้ว เป็นต้น
4 ไปถึงที่นัดหมายกับบุคลผู้ให้สัมภาษณ์ให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลา หากผู้สื่อข่าวไปถึงที่นัดหมายช้ากว่ากำหนดนัด แหล่งข่าวมักจะแสดงท่าทีไม่ใคร่พอใจ แม้ว่าระหว่างที่รอคอยผู้สื่อข่าวอยู่ แหล่งข่าวจะมิได้มีกิจธุระต้องทำเลยก็ตาม
ข้อ 5 ในการรายงานข่าวมรณกรรมของอดีตรัฐมนตรีผู้หนึ่ง
5.1 ควรจะต้องรายงานประเด็นเนื้อหาอะไรบ้าง และ/หรือสัมภาษณ์ใครบ้างเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว
แนวคำตอบ
การรายงานข่าวมรณกรรมของอดีตรัฐมนตรีผู้หนึ่งควรนำเสนอประเด็นเนื้อหา
1 ประเด็นสำคัญในความนำ ควรเริ่มต้นด้วยการสรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดของผู้เสียชีวิต คือ ชื่อ – นามสกุล อาชีพ หรือตำแหน่งสูงสุด อายุ สาเหตุการเสียชีวิต วันที่ เวลา และสถานที่ที่เสียชีวิต
2 ประเด็นในเนื้อเรื่อง
– ย่อหน้าแรก สรุปลำดับเหตุการณ์ก่อนการเสียชีวิตอย่างสั้นๆ ถ้าป่วยเป็นโรคเริ่มป่วยมาตั้งแต่เมื่อไร มีอาการเป็นอย่างไร รักษาโรงพยาบาลไหน จากนั้นจึงระบุเหตุการณ์ตื่นเต้นขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต หรือเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ตายก่อนจะเสียชีวิต โดยอาจเล่าเหตุการณ์แบบนาทีต่อนาทีหรืออาจอ้างคำพูดของแพทย์ หรือผู้ใกล้ชิดที่เห็นเหตุการณ์ก็ได้
– ย่อหน้าต่อไป จะเป็นรายละเอียดของพิธีศพและพิธีสวดพระอภิธรรมว่าจัดที่ใด ใช้เวลากี่วัน ผู้ใดเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม กำหนดการบรรจุศพ และกำหนดดารฌาปนกิจ
– ย่อหน้าสุดท้าย เป็นส่วนของภูมิหลังหรือประวัติของผู้ตายว่าเป็นชาวจังหวัดใด จบการศึกษาจากที่ใดบ้าง มีชื่อเสียงในฐานะอะไร ซึ่งอาจเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพการงาน ตำแหน่งในสังคมที่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง มีผลงานดีเด่นอะไรที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป รวมทั้งผู้เสียชีวิตมีภรรยาและบุตรธิดากี่คน ชื่ออะไรบ้าง มีบุพการีและญาติพี่น้องที่มีชื่อเสียงเป็นใครบ้าง
แหล่งข่าวที่ผู้สื่อข่าวควรไปสัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการรายงานข่าว มีดังนี้
– บุตรธิดา สามี/ภรรยาของผู้ตาย
– ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ตายใกล้จะเสียชีวิต
– แพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้ (ในกรณีที่เสียชีวิตเพราะเจ็บป่วย)
– เพื่อนร่วมงาน และผู้ใกล้ชิดคนอื่นๆ ที่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง
5.2 ควรมีการระบุคุณลักษณะอะไรบ้างในเนื้อหาของข่าวดังกล่าว
แนวคำตอบ
คุณลักษณะที่ต้องระบุในเนื้อหาข่าวดังกล่าว มีดังนี้
1 คุณลักษณะของบุคคล ได้แก่ ชื่อ- นามสกุล อายุ ยศหรือตำแหน่ง เกียรติภูมิหรือชื่อเสียง (เช่น เป็นอดีตรัฐมนตรี) และยังต้องอ้างถึงญาติหรือคนใกล้ชิดที่เป็นคนดังอีกด้วย
2 คุณลักษณะของสถานที่ ได้แก่ สถานที่ที่เสียชีวิต ซึ่งต้องระบุคุณลักษณะโดยการบอกที่ตั้ง เลขที่ ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด หลัก กม. ที่ บนถนนสาย…(กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ) และอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการใด หรือเป็นที่ที่รู้จักกันดี เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพกว้างๆ ว่าสถานที่ที่เป็นข่าวนั้นอยู่ที่ใด และอยู่ห่างจากผู้อ่านเพียงใด
3 คุณลักษณะของเหตุการณ์ ได้แก่ ลำดับเหตุการณ์การเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างไร จบลงอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จบลงแล้ว
ข้อ 6 การรายงานข่าวการเมืองและข่าวเศรษฐกิจควรนำเสนอประเด็นข่าวใดบ้าง
แนวคำตอบ
การายงานข่าวการเมืองควรนำเสนอประเด็นข่าว ดังนี้
– กิจกรรมและความเคลื่อนไหวของรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
– การปฏิบัติงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ
– การพิจารณาการเสนอและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย นโยบายใหม่ และการยื่นกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
– ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อสภาวการณ์ทางการเมือง
– ปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อนโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้
– ความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นักวิชาการทางการเมือง ฯลฯ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ
– การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง ข้อราชการประจำ องค์กรอิสระต่างๆ
การรายงานข่าวเศรษฐกิจควรนำเสนอประเด็นข่าว ดังนี้
– ความเคลื่อนไหวทางการเงินและการคลังของรัฐ
– ความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินต่างๆ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ ฯลฯ
– มาตรการต่างๆของรัฐที่นำมาใช้ควบคุมและการแก้ปัญหาทางการเงินของประเทศ
– ราคาหุ้น ราคาน้ำมัน ราคาทอง
– การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษี
– สภาวะตลาดพืชผลทางการเกษตร ราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า
– วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาวการณ์ส่งออกของไทย
– อัตราการว่างงาน การเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน และการประท้วงของแรงงาน
ข้อ 7 ในการเขียนข่าวกีฬา ควรใช้ลีลา (Style) แบบใด
แนวคำตอบ
ในการเขียนข่าวกีฬาข่าวหนึ่งสามารถใช้ลีลาการเขียนข่าวได้หลายแบบในข่าวเดียวกัน เพราะหากข้อมูลข่าวนั้นได้มาจากการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าว ก็ต้องมีการอ้างอิงคำพูดของบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ หรือบุคคลที่แถลงทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าข้อมูลข่าวที่ได้มาเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีความคืบหน้าตลอดเวลา ก็ควรรายงานตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิด แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วไป ก็อาจเขียนในลักษณะเรียบง่าย
ลีลาการเขียนข่าว (Style) มีอยู่ 3 แบบ
1 การเขียนข่าวจากข้อเท็จจริงทั่วไป (Fact Story) มักใช้กับเรื่องที่มีเนื้อหาง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน อาจมีตัวเลข สถิติ หรือเป็นข่าวสั้น ข่าวประกอบภาพก็ได้
2 การเขียนข่าวจากเหตุการณ์ที่เคลื่อนไหว (Action Story) เป็นการรายงานเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเหตุการณ์ที่มีการกระทำ ความคืบหน้า และความเคลื่อนไหว ซึ่งผู้เขียนข่าวต้องการรายงานให้ผู้อ่านทราบโดยละเอียดทุกขั้นตอน เหมือนกับผู้อ่านได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ได้รับความตื่นเต้น ดีใจ สลดใจไปกับบุคคลในข่าว ส่วนใหญ่มักเขียนเรื่องและลำดับรายละเอียดตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบความเคลื่อนไหว พัฒนาการของเหตุการณ์ดังกล่าว
3 การเขียนข่าวจากคำพูดหรือคำปราศรัย (Quote Story) เป็นข้อมูลข่าวหรือข้อเท็จจริงที่ได้มาจากคำพูด การแสดงความคิดเห็น การแถลง การให้สัมภาษณ์หรือคำปราศรัยของบุคคลสำคัญ รวมทั้งประกาศ หรือแถลงการณ์ที่เป็นข้อเขียน โดยคัดเฉพาะถ้อยคำที่สำคัญและน่าสนใจมาเขียนเท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
การยกคำพูดมาโดยตรง (Direct Quote) โดยมีเครื่องหมายคำพูดหรือเลขในกำกับ ต้องระบุแหล่งที่มาของคำพูดหรือข้อความเพื่อผู้อ่านทราบว่าเป็นคำพูดของใคร
การสรุปคำพูดหรือข้อความโดยใช้ภาษาของผู้เขียนเอง และมีเครื่องหมายคำพูดกำกับ (Indirect Quote) แต่จะต้องรักษาข้อเท็จจริงเดิมของผู้พูดเอาไว้ โดยไม่มีการแต่งเติมใดๆทั้งสิ้น และระบุแหล่งที่มาของคำพูดเช่นเดียวกัน
ข้อ 8 จงกล่าวถึงหลักการเขียนความนำและเนื้อข่าว
แนวคำตอบ
หลักการเขียนความนำ มีดังนี้
1 ก่อนเขียนความนำ ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าตัวข่าวเป็นเรื่องอะไร จากนั้นก็เน้นรายละเอียดที่สำคัญและน่าสนใจ หรือสรุปข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ต้องตอบทุกคำถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
2 เมื่อลงมือเขียนความนำ ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
– ประเด็นหลักหรือหัวใจของเรื่องคืออะไร
– ข้อเท็จจริงใดสำคัญที่สุด
– เกิดอะไรขึ้น มีการกระทำหรือมีคำพูดใดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของเรื่อง
– อะไรคือความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องดังกล่าว
– ข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบต่อผู้อ่าน หรือเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน
– ข้อเท็จจริงใดที่ผิดปกติธรรมดา หาทางสร้างสีสันให้ข่าว
– เขียนแบบตรงไปตรงมา กระชับ กะทัดรัด
– เขียนรวมเป็น 1 ย่อหน้า เป็นประโยคเดียว (หรือไม่เกิน 2 ประโยค)
– เขียนประโยคสั้นและเข้าใจง่าย ไม่ต้องเน้นหลักไวยากรณ์มากนัก
– ถ้าต้องเขียนเกี่ยวกับคำพูดของบุคคล ควรระบุตัวและความสำคัญของผู้พูด
หลักการเขียนเนื้อข่าว มีดังนี้
1 ควรระบุคุณลักษณะ (Indentification) ของแหล่งข่าว คือ ตัวตน รูปพรรณสัณฐานและคุณสมบัติของแหล่งข่าวทั้งที่เป็นบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์
2 ต้องมีการอ้างแหล่งข่าวหรือที่มาของข่าวเพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล ได้แก่
– บุคคลที่ให้ข้อมูลเป็นใคร ชื่อ – สกุล ยศตำแหน่ง ฯลฯ
– เป็นองค์กร / นิติบุคคล / หน่วยราชการใด
– ใช้คำกริยาประกอบการอ้างอิง เช่น กล่าวว่า แถลงว่า ให้สัมภาษณ์ว่า ฯลฯ
– อ้างถึงแหล่งข่าวทุกครั้งทุกย่อหน้า อาจอ้างในตอนต้นหรือท้ายย่อหน้าก็ได้
3 ใช้คำเชื่อม คือ ถ้อยคำ สำนวน ที่เชื่อมต่อหรือโยงข้อมูลข่าวแต่ละเรื่องให้ต่อกัน โดยควรใช้ให้ถูกเพื่อให้ภาษาที่ใช้ราบรื่น สละสลวย ได้แก่
– ขณะเดียวกัน ต่อมา ในเวลาเดียวกัน
– หลังจากนั้น ก่อนหน้านี้
– แต่ และ รวมทั้ง อย่างไรก็ตาม ดังนั้น นอกจากนั้น ตรงกันข้าม