การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา LA 401 (รหัส 52 เป็นต้นไป) ให้ทําข้อ 1 – 3

นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา LW 406 (รหัส 51. ลงไป) ให้ทําข้อ 1 – 4

ข้อ 1 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 นายเอกราช ผู้มีเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย ได้เดินทางไปทํางานเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านเครื่องกลให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับค่าตอบแทนจํานวน 2 ล้านบาท และได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยที่สถานทูตไทยกับนางเฮเลนสัญชาติอเมริกัน โดยซื้อบ้านอยู่อาศัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายเอกราช ได้โอนเงินจํานวน 2 ล้านบาทดังกล่าว เข้ามาฝากไว้กับธนาคารฯ ในประเทศไทย จงวินิจฉัยว่า เงินจํานวน 2 ล้านบาท ของนายเอกราชที่โอนเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก หน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตาม บทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)

ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศ หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี ภาษีเดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)

ตามอุทาหรณ์ เงินจํานวน 2 ล้านบาทที่นายเอกราชได้รับจากการทํางานเป็นวิศวกรที่ปรึกษา ด้านเครื่องกลให้กับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทํา ในต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศมิได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นนายเอกราช จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคแรก

และเงินได้จํานวน 2 ล้านบาทดังกล่าวที่นายเอกราชได้โอนเข้ามาฝากไว้กับธนาคารฯ ใน ประเทศไทยนั้น แม้จะถือว่านายเอกราชได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อนายเอกราชมิได้เป็นผู้อยู่ ในประเทศไทย เพราะนายเอกราชไม่ได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี ดังนั้นนายเอกราชจึงไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม

สรุป

เงินจํานวน 2 ล้านบาท ของนายเอกราชที่โอนเข้ามานั้น ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2. ในปีภาษี 2554 นายดําอายุ 25 ปี เป็นคนโสด แต่มีความขยันในการประกอบอาชีพหลายประเภทดังนี้

1 เป็นนายหน้าขายที่ดิน ได้รับค่านายหน้า จํานวน 5 ล้านบาท

2 เขียนหนังสือเทคนิคการเป็นนายหน้า ได้รับค่าลิขสิทธิ์ จํานวน 2 แสนบาท

3 มีอาคารชุดย่านศูนย์การค้าให้เช่า ได้รับค่าเช่าตลอดทั้งปี จํานวน 3 แสนบาท

4 เปิดร้านมินิมาร์ทขายของอุปโภค/บริโภคได้รับเงินตลอดทั้งปี จํานวน 2 ล้านบาท

จงวินิจฉัยว่า

(1) ในปีภาษี 2554 นายดํามีเงินได้พึงประเมินประเภทใดบ้างตามประมวลรัษฎากร และ

(2) นายดํามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 จากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในประเภทใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ 3 คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว

(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปี อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคําพิพากษาของศาล

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 56 ทวิ วรรคแรก “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกําหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดี กําหนด แสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี”

วินิจฉัย

(1) เงินได้พึงประเมินที่นายดําได้รับในปีภาษี 2554 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทดังต่อไปนี้

1 ค่านายหน้าขายที่ดิน จํานวน 5 ล้านบาท ถือเป็นเงินได้จากการรับทํางานให้ จึง เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

2 เงินได้จากค่าแห่งลิขสิทธิ์ จากการเขียนหนังสือเทคนิคการเป็นนายหน้า จํานวน 2 แสนบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร

3 เงินได้จากการให้เช่าอาคารชุดฯ จํานวน 3 แสนบาท เป็นเงินได้เนื่องจากการให้เช่า ทรัพย์สิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

4 เงินได้จากการเปิดร้านมินิมาร์ทขายของอุปโภค/บริโภคจํานวน 2 ล้านบาท ถือเป็น เงินได้พึงประเมินจากการธุรกิจ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

(2) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 56 ทวิ วรรคแรก ได้กําหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) จะต้องนําเงินได้ดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ นายดํามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภายในเดือนกันยายน 2554 จากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) และมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้ จากการให้เช่าอาคารชุดฯ จํานวน 3 แสนบาท และเงินได้จากการเปิดร้านมินิมาร์ทขายของอุปโภค/บริโภคจํานวน 2 ล้านบาท ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

 

ข้อ 3. บริษัท สายการบินสยาม จํากัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้ประกอบธุรกิจเฉพาะการขนส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศไทย ปรากฎว่าในรอบระยะเวลาบัญชี 2554 มีรายได้ จากการขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ จํานวน 100 ล้านบาท และจาก ประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย จํานวน 200 ล้านบาท

จงวินิจฉัยว่า บริษัท สายการบินสยาม จํากัด

ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ดังกล่าวอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 วรรคแรก “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”

มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทํากิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”

วินิจฉัย

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก ได้บัญญัติให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ไม่ว่าบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะกระทํากิจการในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่ารายได้นั้นจะได้รับในประเทศไทย หรือไม่

ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท สายการบินสยาม จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้จดทะเบียนตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี 2554 จากการขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังประเทศ สิงคโปร์จํานวน 100 ล้านบาท และจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยจํานวน 200 ล้านบาท นั้น บริษัท สายการบินสยาม จํากัด จะต้องนํารายได้ทั้งหมดจํานวน 300 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 65 วรรคแรก

สรุป

บริษัท สายการบินสยาม จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร จากรายได้ทั้งหมดจํานวน 300 ล้านบาท

 

ข้อ 4. บริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี ไม่มีสาขาหรือกิจการใด ๆ ในประเทศไทย ประกอบธุรกิจด้านการผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขาย ปรากฏว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2554 บริษัท ไทยคอม จํากัด ได้ตกลงทําสัญญาซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในราคา 200 ล้านบาท โดยเซ็นสัญญาซื้อขายกันที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น บริษัท ไทยคอม จํากัด จะโอนเงินผ่านบัญชีจากประเทศไทยไปให้ที่ประเทศเยอรมนี จงวินิจฉัยว่า บริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 70 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือ ในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จาย ตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นํามาตรา 54 มา บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้ หรือผลกําไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่า บุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็น ตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และ ความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกําไรที่กล่าวแล้ว”

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่มีสาขาใน ประเทศไทย หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก กําหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2 มีลูกจ้าง หรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในประเทศไทย

3 ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกําไรในประเทศไทย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ของประเทศเยอรมนี และไม่มีสาขาหรือกิจการใด ๆ ในประเทศไทยได้ตกลงทําสัญญาขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ราคา 200 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ไทยคอม จํากัด โดยได้ทําการเซ็นสัญญาซื้อขายกันที่ประเทศอังกฤษนั้น กรณี ดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 76 ทวิ เพราะแม้ว่าเงินจํานวน 200 ล้านบาทนั้น จะได้จ่ายจากหรือใน ประเทศไทย แต่เมื่อไม่ถือว่าบริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้มี ลูกจ้างหรือผู้ทําการแทน หรือผู้ทําการติดต่อในประเทศไทยอีกทั้งสัญญาซื้อขายก็มิได้ทําในประเทศไทย ดังนั้น บริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกําไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรก

และเงินได้จากการขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จํานวน 200 ล้านบาทนั้น เมื่อเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) เพราะเป็นเงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์ จึงไม่ต้องด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก ซึ่งกําหนดให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เฉพาะตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ประเทศไทย ดังนั้นบริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก

สรุป

บริษัท ยูโรคอมพิวเตอร์ จํากัด ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ของประเทศไทย ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement